pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Thursday, June 30, 2005

จาก StrawHat ถึง 'อยากตอบ' ภาคพิสดาร

ตอนนี้ผมกลับมาบ้านนอกแล้วครับ

ออกจากเมืองกรุงตอน 10 โมงเช้า ไปต่อรถต่อแรกที่บ้านสไปเดอร์แมน ต่อที่สองและสามที่ Hartford และ Springfield กว่าจะมาถึงบ้านนอกก็ปาเข้าไปสองทุ่มครึ่ง คราวนี้ไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้นเหมือนขาไป ขนาดรถจากนิวยอร์กเดินทางมาถึงช้ากว่ากำหนดสี่สิบนาทีเพราะรถติดเหลือเกิน รถคันต่อไปยังอุตส่าห์รออดีตผู้โดยสารตกยากอย่างผม

ที่บ้านนอกตอนนี้ร้อนเหลือเกิน ทำเอาคิดถึงห้องนอนแอร์เย็นๆ ของคุณกุ๊ เพื่อนน้ำเงิน-ขาวตั้งแต่สมัยประถม 5 ผู้ให้ที่ซุกหัวนอนแก่ผมยามอยู่เมืองกรุงตลอดเกือบสองอาทิตย์ หอผมที่บ้านนอกไม่มีแอร์ ต้องนอนเหงื่อไหลทุกวัน แถมห้องผมยังหันสู้ดวงอาทิตย์ หน้าต่างที่หอก็บานแคบ รู้สึกอึดอัดเอาเรื่อง ไปซื้อพัดลมมาก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่

ช่วงหน้าร้อน ผมเลยมาใช้ชีวิตอยู่ที่ออฟฟิศที่เปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืนเป็นหลัก มาหลบร้อนถึงตีสามตีสี่ แล้วค่อยกลับไปนอน ทำงานบ้าง ดูหนังบ้าง ถ้าไม่ติดที่ห้องทำงานผม เป็นที่วาง printer รวมของเหล่านักวิจัยที่สถาบัน ผมคงหอบผ้าผ่อนมานอนที่นี่แล้ว

......

กลับมาแล้ว ยังไม่ทันทำอะไร StrawHat เพื่อนรักเปิด blog ทั้งที เลยต้องเข้าไปแจมแสดงความเห็นให้คึกคักเสียหน่อย จ้องมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนไปเที่ยวเมืองกรุง

ใครสนใจตามเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง การปรับหลักสูตรคณะเศรษฐศาสตร์ กันได้ครับ มี StrawHat ปริเยศ Kickoman และผม สนุกสนานกันอยู่ ผมเลยยังไม่ได้อัพ blog ตัวเอง เขียนเถียงกับ StrawHat ยาวแล้ว

ไม่ได้มองซ้ายมองขวาด้วยกันมาครึ่งปีแล้วน่ะครับ ต้องขอสักหน่อย ปีหน้าฟ้าใหม่ มองซ้ายมองขวาอาจจะกลับมาในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง

......

เมื่อเช้า พี่พิชญ์ส่งอะไรสนุกๆ มาให้อ่าน รับกับกระแสข่าว A Day Weekly ปิดตัวเป็นอย่างดี ผมขอถือวิสาสะนำมาให้อ่านกัน

ถ้าผมเข้าใจที่มาของงานชิ้นนี้ไม่ผิด เรื่องราวมีอยู่ว่า ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ส่งคำถามถึงพี่พิชญ์ 3 คำถาม

และข้างล่างนี้ คือคำตอบที่พี่พิชญ์ส่งกลับไปครับ

อ่านแล้วมีอะไรให้คิดต่อเยอะดี ช่วยกันคิดดังๆ ก็ได้นะครับ จะได้ส่งคอมเม้นต์กลับไปให้แก เผื่อแกจะเปลี่ยนใจให้ของแจกเหมือน 'อยากตอบ' ใน A Day Weekly

ปีนี้คอลัมนิสต์ตกงานกันระนาว พี่พิชญ์นี่สองเล่มซ้อนแล้วนา สักวันอาจได้เห็น 'เพี้ยน นักเรียนนอก' หนีร้อนมาพึ่งเย็น เปิด blog กับเขาอีกคน (ฮา)

......

อยากตอบภาคพิสดาร สำหรับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

-พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ -


คำถามถึง อ.พิชญ์ ครับ

1. อะเดย์วิคลี่ย์ ถือเป็นสื่อทางเลือกไหมครับ?

อยากตอบ: อะเดย์วีคลี่ย์ถือเป็นสื่อทางเลือกอย่างแน่นอนที่สุดครับ เพราะอะเดย์วีคลี่ย์เป็นสื่อที่คนเลือกที่จะ(ไม่)ซื้อตั้งหลายเปอร์เซ็นต์เชียวนะ และคนทำก็เลือกที่จะ(ไม่)ผลิต(ต่อ) ... กร๊าก เห็นมะ อะเดย์วีคลี่ย์นี่แหละเป็นสื่อทางเลือกเห็นๆ แม้ว่าตอนนี้อะเดย์วีคลี่จะเป็นสื่อทางเลือกประเภททางใครทางมันไปแล้วก็ตาม

2. สื่อทางเลือกของไทยมีมากน้อยเพียงใด และพอจะจุดประกาย มีพลังในการชี้นำสังคมได้แค่ไหนครับ

อยากตอบ: ปัญหาสำคัญของสื่อทางเลือกทั้งหลายไม่ว่าจะมีมากมีน้อยเท่าไหร่ก็ตามเห็นจะอยู่ตรงที่เชื่อว่าตัวเองเป็นพลังชี้นำสังคมนั่นแหละครับ บางทีผมก็ออกจะสงสัยอยู่บ้างว่าสื่อทางเลือกจะเอาอะไรไปนำสังคมกันนักกันหนา และสื่อทางเลือกมีความเข้าใจในเรื่องของการ "ชี้นำ" และ "การนำ" ขนาดไหน ... ในสังคมที่ต้องการแต่จะ "อินเทรนด์" กันขนาดนี้

สื่อกระแสหลักนั้นบางทีอาจจะไม่ได้คิดในเรื่องของการชี้นำสังคมสักเท่าไหร่ ทั้งที่เขากำลังชี้นำสังคมอยู่แท้ๆ แต่เขาไม่ออกมาวางตัวว่าเขาเป็นผู้ชี้นำหรอกครับ เพราะมันไม่ใช่ทางของเขา

ที่พูดมานี้มิได้เจตนาจะเล่นคำ หากแต่ต้องการนำเสนอความเห็นว่าโลกสมัยนี้มีคนจำนวนมาก ที่ระแวงการนำ และกลัวจะถูกชี้นำ ทั้งที่ความจริงแล้วก็ถูกนำและถูกชี้นำโดยตลอดนั่นแหละครับ

สื่อทางเลือกของไทยมีมาก แต่จำนวนที่มากไม่ได้หมายความว่าจะต่อติดและต่อรองกับความยินยอมพร้อมใจที่คนจำนวนมากมีให้กับระบอบการเมืองเศรษฐกิจและสังคมได้

สื่อทางเลือกอาจทำหน้าที่รองรับความต้องการของคนที่ต้องการทางเลือก แต่สื่อทางเลือกจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่ต้องการทางเลือก หรือเชื่อว่าไม่มีทางเลือก? ... อันนี้แหละสำมะคัญนัก

สำมะคัญเพราะเราอาจรู้สึกว่าสื่อทางเลือกในปัจจุบันนั้นมีด้วยกันสองแบบ คือสื่อทางเลือกในแบบของการโต้ตอบ ท้าทายอำนาจรัฐและทุน กับสื่อทางเลือกในแบบของการใช้ชีวิต ซึ่งไม่ได้ฉายภาพว่าท้าทายใคร

ลองคิดให้กว้างขึ้นก็จะเห็นว่าคำว่าสื่อทางเลือกนั้นมิใช่เรื่องเล็กๆอีกต่อไป เพราะเรากำลังเจอสิ่งที่เรียกว่าคนละเรื่องเดียวกันนั่นแหละครับ ... ใครๆก็อยากเป็นทางเลือกทั้งนั้น

นอกเหนือไปจากนี้ สิ่งที่เรามักจะต้องเผชิญก็คือความเชื่อที่ว่าโลกนี้ต้องประกอบไปด้วยคู่ขัดแย้ง ดังนั้นทางเลือกจึงหมายถึงความขัดแย้งและการเผชิญหน้า ทั้งที่เรากำลังพบว่าทางเลือกอีกหลายๆทางนั้นอาจไม่ใช่เรื่องของการเผชิญหน้า หรือการทำให้คนอื่นดูด้อยกว่าเรา หรือผิดไปจากเรา หากแต่เป็นเรื่องของการหนีไปจากประเด็นความขัดแย้งก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่าแม้ว่าจะพูดกันเรื่องทางเลือก แต่ทางเลือกก็มีความเข้มข้นและเนื้อหาที่ต่างกันเช่นกัน

3. อาจารย์ช่วยชี้ช่องในการพัฒนาสื่อทางเลือกในยุคนายกฯทักษิณได้ไหมครับ

ผมเห็นว่าเราไม่ค่อยให้น้ำหนักกับเรื่องของการบริหารสื่อทางเลือกสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องของการแสวงหารายได้และการเลี้ยงตัวเองของสื่อทางเลือก พูดง่ายๆก็คือเรายังไม่กล้าลุยเข้าไปจริงๆว่าถ้าไม่อยากวัดความสำเร็จของสื่อด้วยยอดขายและยอดโฆษณา เราจะวัดความสำเร็จของสื่อผ่านอะไร (ทางที่นิยมในสื่อทางเลือกก็คือ วัดด้วย "ความทรงจำและความคิดถึง" ว่าเคยมีหนังสือดีๆอยู่ในโลกแล้วก็หายไปจากแผง ... หรือบางทีผมว่าทางออกที่ดีก็คือการกำหนดระยะเวลาออกมาให้ชักเจนไปเลย อาทิ เราจะทำสื่อทางเลือกออกมาแค่สองปี หรือปีเดียว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจบางอย่าง แล้วหลังจากนั้นเราก็ลองดูต่อว่าเราจะทำอะไร ความคิดเช่นนี้อาจจะดีกว่าความเชื่อว่าสื่อและสื่อทางเลือกนั้นจะต้องอยู่คู่คนไทยเหมือนสบู่นกแก้วอะไรทำนองนั้น (ระวังโฆษณาแฝงแบบแอดเวอร์ทอเรี่ยลเช่นนี้ด้วยจะเป็นมันส์)

ทางเลือกต่อไปก็คือ เราจะมีวิธีอย่างไรในการสื่อสารกับคนจำนวนมากที่อยากอินเทรนแต่ไม่อยากถูกชี้นำ? เราจะข้ามพ้นเรื่องของคำว่า "หนักและไม่บันเทิง" ได้อย่างไร? ... เรื่องที่น่าเศร้าใจพอประมาณในวงการสื่อก็คือสื่อจำนวนไม่น้อยมักถูกกล่าวหาว่าเนื้อหาหนักไป ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าแปลกใจ ราวกับว่าการมีเนื้อหาที่หนักไปนั้นเป็นความผิดของสื่อ และราวกับว่าเรื่องทุกอย่างในโลกนั้นต้องง่ายและบันเทิงเข้าไว้ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เลยนึกถึงว่าสงสัยคงจะมีตำราเรียนอย่างเดียวกระมังที่สังคมอนุญาตให้พิมพ์ได้ (เอ่อ ... มีหนังสือธรรมะอีกอย่างที่พิมพ์ด้วยความศรัทธา และการบริจาคครับ)

สิ่งท้าทายประการสุดท้ายก็คือ เรื่องของการทำสื่อให้เป็นธุรกิจและการตั้งหลักว่าต้องไม่หนัก ต้องอ่านง่าย นำไปสู่เรื่องของการเซ็นเซอร์ตัวเองได้เช่นกัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูด เพราะมักจะมองว่าการเซ็นเซอร์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากอำนาจภายนอกองค์กร ขณะที่การเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นเกิดขึ้นภายใน เกิดขึ้นในหลายระดับ และเกิดขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุดท่ามกลางสภาวะตีบตัน

สิ่งที่เขียนมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าเรามิได้เผชิญกับปัญหาการแทรกแซงสื่อในแบบเดิมทั้งในเรื่องของทุนและอำนาจรัฐ (ไอ้ส่วนนี้มันเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้ว) หากแต่การเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยความบันเทิงและยอดขาย และการยังไม่สามารถแสวงหาทางออกในการอยู่รอดในการระดมทุนและบริหารจัดการทุนได้มากกว่าเงินบริจาคยังเป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญต่อไป

และในประการสุดท้ายผมเองก็อยากเห็นคำว่า "เครือข่าย" ของบรรดา "ภาคประชาชน" นั้นจะเป็นแค่ราคาคุย หรือ เป็นไปได้จริงในฐานะของทางเลือก ที่จะมีต่อเครือข่ายสื่อขนาดใหญ่ที่สามารถระดมทุนและสร้างยอดขายได้ ... ทุกที่ ... ทุกเวลาเช่นนี้ครับผม

หมายเหตุ: อยากตอบชิ้นนี้ไม่มีของรางวัลจะแจก เพราะช่วงนี้เป็นคอลัมนิสต์ตกยากครับ (อย่าไปเหมาว่าผมเป็นคอลัมนิสต์ทางเลือกเป็นอันขาด เพราะผมไม่ได้เลือกกับเขาเลยคร้าบ ...)

......

Sunday, June 26, 2005

Meet the Bloggers II

The strong force, I feel.

ถ้าปรมาจารย์โยดายังมีชีวิตอยู่ คงต้องพูดประโยคข้างต้น หากพลัดหลงเข้ามาในชุมชน bloggers ละแวกนี้

ใครที่แวะเวียนอ่าน blog ของผมอยู่บ้าง คงสังเกตเห็นว่ารายชื่อสมาชิกในชุมชน bloggers ทางขวามือเพิ่มขึ้นไม่หยุด

ทุกวันนี้ แวะมาที่ blog ทีไร เป็นต้องติดหนึบอยู่พักใหญ่ กว่าจะไล่เคาะประตูบ้านแต่ละคนจนครบก็ต้องใช้เวลาพอดูทีเดียว ยิ่งช่วงนี้ผมออกเดินทางท่องเที่ยว เวลาหน้าจอน้อยลง ยิ่งแทบจะไม่มีสิทธิไปร่วมแลกเปลี่ยนหรือโต้เถียงอะไรกับใครเขาอย่างจริงจัง ทั้งที่ใจอยากและตาเห็นวงสนทนามันๆ อยู่ 2-3 วง โดยเฉพาะเรื่องเด็กหนีทุน ใน blog ของปริเยศ ที่ทำเอาใครหลายคนกลายเป็นเจ้าประทับทรงไปตามๆ กัน ใครยังไม่ได้เข้าไปอ่าน เชิญนะครับ ได้คิดต่อเยอะทีเดียว โดยเฉพาะในแง่นิติปรัชญาจากการถกกันของก๊วนนักกฎหมายประจำชุมชน

ว่าไป ชุมชน bloggers ละแวกนี้ ผลิตวงถกเถียงกันหลายวงแล้ว ตั้งแต่เรื่องบทบาทนักวิชาการ, ระบบทุนนิยม, การค้าเสรี, รัฐธรรมนูญ ฯลฯ อ่านข้าม blog เรียนรู้ข้ามศาสตร์ กันไปมาเป็นที่สนุกสนาน บันเทิงสมอง

คงไม่เกินเลย หากจะกล่าวว่า นี่เป็นชุมชนในอุดมคติที่น่าสนใจ หลากหลาย บรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ มีพลวัตสูง และมีพัฒนาการที่น่าจับตามอง


......


อย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า ผมเริ่มเขียน blog ครั้งแรกกลางเดือนมีนาคมหลังกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ที่บ้านนอกอีกครั้ง เริ่มต้นจากได้อ่าน blog อันสนุกสนานของ BF Pinkerton ซึ่งตอนนี้เพิ่งจบปริญญาโทจากชิคาโกสดๆร้อนๆ และกำลังจะย้ายฟากไปต่อปริญญาเอกที่สแตนฟอร์ด ตอนนั้นอ่านแล้วก็นึกสนุกอยากลงมือเขียนบ้าง

จำได้ว่า เมื่อ blog ผมออกสู่ cyberspace ครั้งแรก ลิงก์ข้างๆ มีเพียงแค่เวปส่วนตัวของปกป้อง, blog ของ BF และ Yeebud Diary ของคุณแทนไท ประเสริฐกุล ซึ่งคนหลัง ผมไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ได้อ่านเพราะ BF ส่งลิงก์มาให้ จนผมติดใจ สดสนุกจนต้องอ่านไล่หลังรวดเดียว นั่งหัวเราะท้องแข็ง และรู้สึกประทับใจลีลาการเขียน รวมถึงตัวตนของครูทีเด็ดอย่างแทนไทมาก

ใครรู้จักฝากชื่นชมด้วยนะครับ

พอมี blog ของตัวเองแล้ว ผมก็ส่งอีเมลไปบอกเพื่อนฝูงที่สนิทสนมกลุ่มหนึ่งและเอาลิงก์ไปแปะไว้ในเวปไซต์ของปกป้อง กะอ่านกันในวงแคบๆ เขียนไปสนุกๆ เป็นงานอดิเรกแก้เหงาตามประสาคนชอบขีดชอบเขียน

ไม่กี่วันให้หลัง blogger หน้าใหม่อีกสองคนก็เข้าสู่วงการ

คนหนึ่งคือ One Life จอมอวดแฟน One Life เป็นเพื่อนร่วมทำ 'เช้าใหม่' ด้วยกัน ตั้งแต่ตอนขึ้นปี 2 ตอนนั้นมีกันอยู่ 5 คน คิดสนุกทำหนังสือขายกันเองตามประสาเพื่อนสนิทคอเดียวกัน

One Life ในฐานะ blogger เล่าเรื่องส่วนตัวตามประสาอาจารย์รุ่นหนุ่มมากพลังอารมณ์ดีรักเสียงเพลงแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ผู้สนใจเรื่องทุนสังคม และมีวิญญาณ activist แฝงอยู่ในตัวอย่างล้นเหลือ เมื่อก่อนเป็นอย่างไร วันนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นอกจาก มีแฟนสวยอยู่ข้างกาย (ฮา)

ส่วนอีกคนหนึ่งคือ Corgiman เพื่อนรักต่างวัยของผม

ผมเป็นแฟนการเขียนของ Corgiman มาช้านาน ตั้งแต่ลีลาการเขียนจดหมายไฟฟ้า จนถึงบทความเศรษฐศาสตร์ เพราะ Corgiman มีลีลาการเขียนพลิ้วไหว เฉียบคม ประเด็นเยี่ยม อารมณ์ขันยอดและยวน แต่พลังแฝงที่ไม่มีใครรู้คือ Corgiman เขียนวิจารณ์บอลได้เหนือกว่าคอลัมนิสต์กีฬาตามหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ ด้วยงานเขียนแนวใหม่ที่ตอนนี้ยังปราศจากคำนิยาม แถมวันดีคืนดียังย้อนอดีตเล่าถึงวงการเพลง ตามประสาสาวก Rock n' Roll

Corgiman ยังเป็น blogger ในตำนาน ด้วยการยื่นข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้อย่างอหังการ ในช่วงหงส์แดงลุ้นแชมป์ยุโรป ทำเอาแฟนหงส์ แฟนผี แฟนปืน แฟนยูเว่ (กระทั่งคนไม่ดูบอล) ทุกทวีปทั่วโลก รวมใจเป็นหนึ่งส่งหงส์ขึ้นแท่นเจ้ายุโรปอย่างมหัศจรรย์ ถือเป็นแชมป์ยุโรปทีมแรกที่ต้องกระเสือกกระสนเตะรอบคัดเลือกรอบแรก และเป็นเจ้ายุโรปที่มีคะแนนในลีกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ (ฮา)

ต่อมาอีกไม่กี่อึดใจ บุคคลที่น่าสะพรึงกลัวของผมก็ปรากฏตัว หลังจากกัดกินเหยื่ออย่างไร้ปราณีใน blog ของ BF ท่านก็เริ่มหาแหล่งอาหารใหม่ หันซ้ายหันขวา ก็มาเจอ blog ผมนี่แหล่ะ ท่านเริ่มจากเข้ามา comment ก่อน หลอกให้ตายใจชวนคุยเรื่องง่ายๆ อย่าง Golden Rule ของการรอรถเมล์ แต่ไม่นานท่านก็เริ่มเล่นของหนักขึ้นเรื่อยๆ ผมเถียงจนเก็บปริเยศไปฝัน คิดดูเถิด

จริงๆ แล้ว ผมได้ยินชื่อ ปริเยศ ในโลก cyberspace มานานแล้ว นานพอจะสัมผัสได้ถึงรังสีอำมหิตต่อนักวิชาการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ไม่มีบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับ และผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการมาตั้งนาน แต่ไปไม่ถึงศาสตราจารย์เสียที ไม่นับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษนะครับ อ้อ ศาสตราจารย์หลังเกษียณก็ไม่นับนะ (ฮา)

จริงๆ ผมเกือบมีโอกาสได้คุยกับปริเยศแล้วรอบหนึ่ง ตอนที่ปริเยศระเบิดอารมณ์อัดนักเศรษฐศาสตร์ทั่วฟ้าเมืองไทยใน blog ของ BF นั่นแหล่ะ ค่ำวันหนึ่ง BF บอกผมว่ากำลังคุย msn กับปริเยศอยู่ แล้วถามผมว่า จะร่วมแจมไหม แต่แค่ได้ยินชื่อ หัวใจผมก็สั่นไหวแล้ว เลยมิกล้า แต่ช่วงหลัง มาเห็นปริเยศฟอร์มใหม่เวลาเข้าไปคุยใน blog สาวๆ แล้ว ผมเปลี่ยนจากความรู้สึกหวาดกลัว เป็นคันมือคันไม้แทน (ฮา)

ระหว่างนี้ ก็มี blogger เกิดใหม่ เขียนส่งตรงมาจากอังกฤษหนึ่งคน เขาคือ Amore Vincit นักเศรษฐศาสตร์หนุ่ม ผู้เปลี่ยวเหงา นี่ก็เล่นของหนักไม่แพ้กัน หนักกว่าด้วยซ้ำเพราะว่าด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เอาเลยทีเดียว แถมยังชอบตั้งคำถามตอบยากอย่างเสมอต้นเสมอปลาย Amore Vincit เพิ่มความหลากหลายให้ชาว blog โดยพกไม้บรรทัดคู่ใจติดมือเสมอ ซึ่งไม้บรรทัดของเขาต่างจากของผมมากทีเดียว

ชุมชนแถวนี้จึงเริ่มต้นด้วยการเป็นชุมชนนักเศรษฐศาสตร์ ... กระทั่งวันหนึ่ง ...

กระทั่งวันหนึ่ง comment ลึกลับจาก Etat de droit หรือนายนิติรัฐของผม ก็โผล่ขึ้นมา มาพร้อมกับลิงก์ไปยัง blog ของเขา ผมว่านี่เป็นจุดพลิกผันสำคัญของชุมชน จากที่เคยเวียนอ่านกันในหมู่คนที่ผมรู้จัก (ยกเว้นปริเยศ ที่รู้จักแต่ชื่อ ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ชักระแคะระคายว่าคงหัวล้านเช่นกัน)

มารู้เอาตอนหลังว่า นิติรัฐเป็นอาจารย์หนุ่มที่นิติ ธรรมศาสตร์ แกโผล่มาก็เขียนๆๆๆๆๆๆ ติดกัน 7-8 วันแบบม้าหนุ่มบ้าพลัง เป็นมิดฟิลด์ฮาร์ดแมนจอมขยันอีกคนหนึ่ง ต้องสารภาพว่า blog ของนิติรัฐเป็น blog ที่ผมชอบที่สุด นิติรัฐเขียนหนังสือได้ถูกจริตผมมาก อ่านแล้วอยากทำงานด้วย และผมเองก็สนใจกฎหมายมหาชนเป็นทุนเดิม แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนจริงจัง ยิ่งเนติบริกร (1) และเนติบริกร (2) แข่งกันโชว์ฟอร์มมากเท่าไหร่ ผมยิ่งอยากมีความรู้ด้านกฎหมายมหาชน

ตามประสาหนุ่มขี้เหงา นิติรัฐมิอาจมาคนเดียวได้ แต่พาเพื่อนตามมาอีกเป็นโขยง ช่วยเปิดประตูคนแถวนี้ไปสู่โลกของเหล่า bloggers นักกฎหมายหนุ่มชั้นยอด ผู้เป็นเนติบริกรประชาชนและยึดมั่นหลักนิติธรรม ไม่ใช่เนติบริกรผู้มีอำนาจ ดังพฤติกรรมของเนติบริกร (1) ผู้ทำให้วงการกฎหมายเสื่อมเสียชื่อเสียงในสายตาประชาชนทั่วไป

ผมได้รู้จัก Ratioscripta คู่หูวิชาการของนิติรัฐ ผ่านข้อเขียน สำหรับผม blog นี้เป็น blog ที่มีพัฒนาการการเขียนสูงสุด คุณ Ratio ยิ่งเขียน ยิ่งดี แรกๆ ยังขัดๆเขินๆ แต่ไม่นานก็ปล่อยลีลาได้หมดจด เนื้อหาแน่น มีอารมณ์ขันกำลังน่ารัก สาวๆคนไหนยังไร้คู่ โปรดพิจารณา (ฮา)

โชคดีของผมยังไม่หมด เพราะได้รู้จักพี่บุญชิต ฟักมี ผ่านทางกลุ่ม bloggers นิติศาสตร์ ผมเห็นหน้าเห็นหลังพี่เขาตามผู้จัดกวน และ Mars มาพักใหญ่ และได้ยินชื่อเสียงของอีกร่างหนึ่งในฐานะดาวรุ่งแห่งศาลไคฟง พี่บุญชิตเขียนหนังสือได้ยอดเยี่ยม หลากอารมณ์ อ่านสนุก เพลิดเพลิน กวนแบบขำๆ คมๆ เสียจนทำให้ผมนึกถึงพี่พิชญ์อยู่บ่อยๆ ยิ่งได้ยินมาว่าหุ่นใกล้เคียงกันด้วยแล้ว

นอกจาก blog ของพี่บุญชิตแล้ว ในเวป Chez players ของเจ้าตัว ยังหนีบเอางานเขียนของคุณมิ้ม Carre de mim ที่เขียนหนังสือได้น่าร้ากมาก มาด้วยอีกคน

ชุมนุม blogger เริ่มคึกคักขึ้นเรื่อยๆ หลังจากหายเอียงอายระหว่างกัน ก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันจนตอนนี้กลายเป็นเพื่อนกันหมดแล้ว

ต่อมาไม่นาน วันดีคืนดีคุณ Grappa ยอดบรรณาธิการแห่ง Hemlock ก็แวะมาเยี่ยมแบบ surprise ทำเอาผมทั้งตะลึงทั้งดีใจ เพราะไม่รู้มาก่อนว่าท่านพี่ก็เป็น blogger กับเขาเหมือนกัน blog คุณ Grappa ว่าด้วยหนังสือ บทเพลง และหนัง มีเพลงเพราะๆ และคำคมเด็ดๆ ให้เราฟังและอ่านเสมอ โดนผมทำลิงก์ไปอีกคน

blog ของคุณ Grappa ยังเป็นประตูสู่โลกของหนังสือ หนัง และเพลง ที่น่าค้นหา เพราะเต็มไปด้วยสมาชิกในชุมชนที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ blog ของ Merveillexxx นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปริญญาตรี ที่วิจารณ์หนัง เพลง และหนังสือ ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมอยากคุยด้วยเรื่องการเขียนหนังสือและแรงบันดาลใจ นานๆ ทีจะเห็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์เขียนหนังสือได้ดีปานนี้ น่าทึ่งมาก

พี่ Grappa ปรากฎตัวมาพร้อมๆ กับ ยอดมนุษย์หญิง ที่ปลีกเวลาจากการเรียนปริญญาเอกปรัชญา ที่อังกฤษ มาคุยกับเราๆ เป็นระยะๆ คุณหญิงเป็นอีกคนที่เขียนหนังสือได้น่ารักและน่าสนใจ มีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่ในไดอารี่เล่าเรื่องส่วนตัวให้เราคิดเสมอ นักปรัชญาอ่ะ จะเทศนากันตรงๆได้ไง ฮิฮิ

ชุมชน bloggers คึกคักขึ้นอีกคำรบเมื่อ เหล่าสมาชิกรุ่นน้องรุ่นศิษย์ยกพลมาสมทบ เพิ่มความสด ความเยาว์ และพลังหนุ่มให้กับพี่ๆ ป๋าๆ และป้าๆ ใครเป็นใครรับกันเอาเอง (ฮา)

เริ่มจากคุณ Steelers อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ที่กำลังจะออกเดินทางครั้งใหม่ไปสหรัฐอเมริกาเร็ววันนี้ Steelers เขียนเรื่องการศึกษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ ทั้งที่เป็นเจ้าของสถิติเดินทางไปกลับ ญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ มากที่สุดในโลกในรอบหนึ่งปี (ฮา) ลิงก์ใน blog ของ Steelers ยังพาเราไปสู่โลกของนักเรียนไทยในญี่ปุ่น กลุ่มศิษย์เก่าบีอี และกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

ตามมาด้วย กระต่ายน้อย น้องรักของผม ที่ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรเพิ่มอีก เขียนถึงบ่อยจนเบื่อแล้ว

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นักเขียนหนุ่มขวัญใจผมก็ปรากฎตัว David Ginola นักเรียนเศรษฐศาสตร์หนุ่มอนาคตไกล อุดมการณ์สูง ที่เขียนหนังสือโคตรดี ดีอย่างน่าทึ่งมาตั้งแต่ปีหนึ่ง ดี (หรือแก่กันแน่วะเนี่ย) จน BF คิดว่าเป็นนักศึกษาปริญญาเอก (ฮา) ทั้งที่เจ้าตัวเพิ่งกำลังจะขึ้นปีสี่ปริญญาตรีเท่านั้นเอง

หลังจากนั้น ชล บุนนาค ก็เข้าสู่วงการ ชลเป็นบัณฑิตใหม่หมาดของคณะผม เป็นนักกิจกรรมตัวยง ครบเครื่องทั้งวิชาการและกิจกรรม ผมอยู่คณะเศรษฐศาสตร์มาสิบปี เรื่องกิจกรรมไม่มีใครเกินชล ยกให้เป็นเบอร์หนึ่งในรอบทศวรรษเลย

ไม่นาน นักเขียนหนุ่มขวัญใจผมอีกคน ก็นึกครื้มเปิด blog กับเขาด้วย ผมอ่านคอลัมน์ การเดินทางครั้งนี้ไม่ธรรมดา ของเขาในผู้จัดการออนไลน์แล้วได้แต่ทึ่ง อาทิตย์เป็นรุ่นพี่สุดนับถือของกระต่ายน้อยในรั้วโรงเรียน ตอนนี้ได้ทุนฟุลไบรท์มาเรียนอยู่ที่นิวยอร์ก อาทิตย์เป็นนักเขียนความเรียงที่ยอดเยี่ยม อ่านแล้วอิ่มและอบอุ่น blog เขาใช้ชื่อ Tihtra เป็น blog ที่ไม่เหมือนใคร เพราะว่าด้วยเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลา งานอดิเรกสุดรักของเขา

ช่วงนี้ เหล่า bloggers ก็สนิทสนมกันมากขึ้น จนสนทนากันทาง msn บ่อยๆ ยังจำคืนวันที่คุยกับอาทิตย์ครั้งแรกได้ คุยไปคุยมา ตอนเกือบตีหนึ่ง จู่ๆ อาทิตย์ก็บอกว่า พรุ่งนี้ผมไปหาพี่ดีกว่า ว่าแล้วก็จองตั๋วรถเดินทางจากเมืองกรุงมาบ้านนอกในวันรุ่งขึ้น พลัง blog แท้ๆ เลยครับ

ตอนหลังนึกสนุกกันจน กระต่ายน้อยและอาทิตย์ เปิด ร้านลาว เป็นที่พักผ่อนนั่งจิบเหล้าขาวในขวดไวน์ฝรั่งเศสคุยกันโปกฮา โดยมีพี่บุญชิตเป็นหัวหน้าเด็ก

ต่อมา พี่พล นายตำรวจนักวิชาการ ที่ได้ทุนมาเรียนเอกอยู่ที่อเมริกา ก็เข้ามาร่วมแจมละแวกนี้ พร้อมพกพาความรู้ทางกฎหมาย การเมือง และอาชญวิทยามาด้วย พี่พลนี่แฟน blog มหาศาลนะครับ เขียนหนังสืออ่านสนุก เป็นนายตำรวจหัวก้าวหน้าที่ผมชื่นชม แม้ความคิดบางด้านเราจะไม่ตรงกันบ้าง ผมประทับใจพี่พลมากตรงความใจกว้าง สมเป็นนักวิชาการ น่าอิ่มใจแทนประเทศไทยที่มีตำรวจดีๆ อย่างพี่พล รู้สึกดีอักโขที่คนสองคนคุยกันได้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเมื่อคนหนึ่งเรียกพี่ทักษิณ ส่วนอีกคนหนึ่ง วิจารณ์ท่านผู้นำหนักบ่อยครั้ง

ยังมี bird almighty นักเขียน blog ที่อ่านแล้วเหนื่อยที่สุดอีกคน เหนื่อยอย่างไร ลองเข้าไปอ่านกันดูเองครับ ผมเหนื่อยแล้ว (ฮา)

แล้วหลังกลับจากทัวร์ยุโรป คุณ Felice Farfalla ก็เจียดเวลาทำวิทยานิพนธ์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ศิลปอันมีค่า มาร่วมเปิด blog กับเขาบ้าง หลังจากแวะมาแจมอย่างสม่ำเสมอ แม้จะแว่บจากโอเพ่นไปเรียนต่อที่อังกฤษ คุณปุ๊กยังเขียนหนังสือได้น่าอ่านอยู่เช่นเคย

เช่นเดียวกับคุณ Kopok ขวัญใจชมรม bloggers ที่แวะเข้ามาทักทาย blog ขาโหดอย่างปริเยศ ขาอ้อนอย่างนิติรัฐ ขาโจ๋อย่างบุญชิต จนทำให้ผมมีโอกาสได้รู้จักไปด้วย

ปิดท้ายที่ สีฝุ่น หลังมาอ่านอยู่เรื่อยๆ ก็หายเขิน ยอมให้ผมทำลิงก์ร่วมแจมกับเพื่อนๆ อีกคน รายนี้เขียนหนังสือนุ่มสะอาดสวยงามมากนะครับ แต่งเพลงก็เพราะ เจ้าตัวเพิ่งย้ายงานข้ามรัฐจากเดนเวอร์ไปชิคาโก หวังว่าชีวิตลงตัวเมื่อไหร่ คงมีเวลาสะบัดปากกาครั้งใหม่ให้ได้อ่านกัน

กว่าจะเขียนครบ เล่นเอาเหนื่อยหอบทีเดียว

......


การเติบโตโดยธรรมชาติของชุมชน bloggers เป็นเรื่องน่าคิดมากนะครับ ผมคิดว่าเราได้ช่วยกันสร้างสรรค์ชุมชนในอุดมคติตัวอย่างขึ้นมาชุมชนหนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่มีใครนึกฝันมาก่อน

ชุมชนที่แต่ละคนแสดงตัวตนและความคิดได้อย่างอิสระ ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเต็มที่เสรี โต้กันด้วยเหตุผลโดยไม่เจ็บแค้นเคืองโกรธ ยกเอาแว่นตาที่ตัวเองถนัดมาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อบรรยากาศแห่งการถกเถียงเรียนรู้เปิดกว้าง เราจึงก็ได้เห็นแต่ละคนงัดศักยภาพที่ตนมีออกมาสำแดงได้อย่างเต็มที่ และการถกเถียงแลกเปลี่ยนก็ยิ่งช่วยให้แต่ละฝ่ายต่างพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นไปอีก

ผมคิดว่า บรรยากาศในชุมชนนี้ดีกว่าบรรยากาศวิชาการในมหาวิทยาลัยไทยเสียอีก ดีเสียจนเติมพลังให้ผมกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากงอนสังคมไทยในช่วงปลายปีที่แล้วจากปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ จนเลิกเขียนคอลัมน์ไป

สัมผัสได้ถึงบรรยากาศมองซ้ายมองขวารอบๆตัวอีกครั้ง

คนชอบเถียงชอบอ่านชอบเรียนรู้อย่างผม เลยตกหลุมรักชุมชนนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ที่สำคัญคือ ชุมชน blogger มีพลวัตมากเหลือเชื่อ ในชั่วเวลาเพียงสองเดือน ผมรู้สึกว่า 'พลัง' ที่ไหลเวียนอยู่ในชุมชนนี้สูงมาก และเป็น 'พลัง' สร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตัวเองและสังคม เป็น 'พลัง' ที่เกิดจากสมาชิกในชุมชน ที่แบ่งถ่าย 'พลัง' ให้แก่กัน ผมไม่พบเห็น 'พลัง' ทำลายล้างรอบๆนี้เลย มีแต่พลังแห่งมิตรภาพ

พลังจากเพื่อนสู่เพื่อนนี้เองที่ขับดันชุมชน bloggers ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งสูง จนไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ตรงไหน

ท่านที่เข้ามาอ่าน blog ของเหล่าสมาชิกอยู่เนืองๆ โปรดลงมือเขียน blog เสียแต่วันนี้เลยครับ แล้วจะสนุกสนานที่ได้สัมผัสพลังเช่นว่าด้วยตัวเอง อย่ามัวแต่เฝ้าดูอยู่วงนอกเลย ไสช้างมาร่วมก๊วนกันเถิด


......


ดังเช่น เพื่อนรักของผมอีกสามคน ที่ในที่สุดก็ตัดสินใจมาร่วมชุมชนนี้เสียที

ไปๆมาๆ แถวนี้กำลังจะกลายเป็นชุมเสือแดนสิงห์ไปเสียแล้ว

ขอแนะนำเสืออีกสามตัวที่เคยอยู่ถ้ำเดียวกันมาแล้วตรงนี้เลยนะครับ

ผมภูมิใจเสนอ

คนแรก เป็นคู่หูมองซ้ายมองขวา เพื่อนรักของผมในสำนักท่าพระจันทร์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคต้นตระกูลไทย หลังจากเล่นตัวอยู่นาน เสือร้ายแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ที่ตอนนี้ไปวิ่งจับจิงโจ้อยู่ที่ออสเตรเลียก็กลับมาจับปากกาอีกครั้ง

ด้วยความรักในตัวลูฟี่ โจรสลัดหนุ่ม ผู้มีสัญลักษณ์ชอบสวมหมวกฟาง แห่งการ์ตูน One Piece blog ของเขาเลยตั้งชื่อว่า StrawHat ใครเป็นแฟน One Piece คงรู้ว่า ลูฟี่กินผลประหลาดเข้าไป ทำให้มีพลังเหนือมนุษย์อย่างหนึ่ง พลังที่ว่านั้นคือ ความสามารถในการยืดได้หดได้ของร่างกาย นับว่าเหมาะสมกับเจ้าของ blog ยิ่งนัก

วันรุ่งขึ้น Kickoman ก็เปิด blog กับเขาบ้าง หลังจากสองวันก่อนหน้า มากินหมูย่างเนื้อย่างเกาหลีด้วยกันที่บ้านเพื่อนผม ระหว่างจิบไวน์ ผมอวดชุมชน bloggers ให้ชม แกเกิดติดใจ ลงมือขีดเขียนโดยพลัน Kickoman เขียนหนังสือสนุกมากนะครับ

Kickoman เป็นด็อกเตอร์ใหม่หมาดจากมหาลัยหมีน้อยของพี่พิชญ์ หวังว่ายามว่างเว้นจากการผลิต Washington Consensus จะมาเขียน blog ให้เพื่อนสมาชิกได้อ่านบ่อยๆ Kickoman จับปากกาถือว่ามา DC งวดนี้ ผมไม่เสียเที่ยวแล้ว

คนสุดท้ายคือ November Seabreeze ยอดนักเศรษฐศาสตร์แห่งอนาคต NS กำลังจะไปเรียนต่อที่ Oxford ประเทศอังกฤษ ในอีกไม่กี่เดือน ไม่แน่ชัดว่าจะกลับมาร่วมแก๊งค์กับหล่อใหญ่ หล่อเล็ก และหล่อจิ๋วหรือไม่ แต่แน่ชัดว่า จะเป็นกำลังสำคัญให้วงการเศรษฐศาสตร์บ้านเราในอนาคตเป็นแน่แท้ ว่ากันว่านี่เป็น blog ที่แฟนๆรออ่านมากที่สุด

ขอเชิญติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน

ไม่นานมานี้ พี่บุญชิตเคยเขียนเรื่อง โลกแบนจริงๆด้วย

โลกแบนหรือกลม ผมไม่รู้ ตอนนี้รู้แต่เพียงว่า โลกของ bloggers ช่างงดงามเหลือเกิน

......

Wednesday, June 22, 2005

Smithsonian

James Smithson (1765-1829) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก Oxford ทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางด้านธรณีวิทยา แร่วิทยา และเคมี



Smithson โชคดีที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง เพราะแม่มีเชื้อสายชาววัง เลยสามารถใช้ชีวิตวิ่งตามความฝันของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ตลอดชีวิตของเขา Smithson มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสายวิทยาศาสตร์หลายชิ้น ผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของเขาคือการล้มล้างความเชื่อเดิมของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปเกี่ยวกับแร่ชนิดหนึ่ง จนภายหลังนักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนมาเรียกแร่ชนิดนั้นว่า Smithsonite เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

ในปี 1826 ก่อน Smithson เสียชีวิต 3 ปีด้วยวัยเพียง 64 ปี เขาได้เขียน พินัยกรรม โดยระบุว่า จะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ Henry James Hungerford หลานชาย แต่ Smithson ยังเขียนเงื่อนไขต่อไว้ด้วยว่า หากหลานชายเสียชีวิตโดยไร้ทายาท ให้ยกทรัพย์สมบัติทั้งหมด "ให้แก่สหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างสถาบันเพื่อเพิ่มพูนและกระจายความรู้สู่มนุษยชาติ ภายใต้ชื่อ Smithsonian Institution โดยให้ตั้งอยู่ ณ กรุง Washington"

เหมือนโชคชะตาเล่นตลก ปี 1835 Hungerford หลานชายทายาทมรดกก็เสียชีวิตโดยไร้ทายาท ทำให้ทรัพย์สมบัติของ Smithson ซึ่งโดยมากเป็นทองคำ รวมมูลค่าถึง 508,138 เหรียญสหรัฐ (มูลค่า ณ ขณะนั้น)ตกเป็นของสหรัฐอเมริกาโดยปริยาย

เบื้องหลังการตัดสินใจของ Smithson ยังคงเป็นความลับดำมืดว่าทำไมเขาจึงต้องการยกทรัพย์สมบัติให้แก่สหรัฐอเมริกา ทั้งที่เจ้าตัวใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปทั้งชีวิต โดยที่ไม่เคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกาแม้แต่ครั้งเดียว !!!

กระนั้น ความประสงค์ของ Smithson ก็หาใช่จะสำเร็จลงอย่างราบรื่น เพราะกว่า Smithsonian Institution จะจัดตั้งขึ้นได้ ต้องผ่านการเดินทางอีกยาวไกล ซึ่งเต็มไปด้วยข้อถกเถียงระหว่างทางมากมาย เหมือนเช่นที่มีใครเคยกล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์ทั้งหลายล้วนมีประวัติศาสตร์ในตัวของมันเอง

ประเด็นแรกก็คือ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะมีท่าทีต่อของขวัญชิ้นใหญ่นี้อย่างไร ฝ่ายประธานาธิบดี Andrew Jackson ก็ไม่มั่นใจว่าตนมีอำนาจรับเงินให้เปล่าก้อนนี้หรือไม่ ฝ่ายสมาชิกรัฐสภาบางคนก็วิจารณ์ว่าควรมีศักดิ์ศรีโดยไม่รับเงินบริจาคจากต่างชาติ

กระทั่งปี 1836 รัฐสภาสหรัฐอเมริกาจึงออกกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารยอมรับเงินบริจาคก้อนนี้

เรื่องยังไม่จบ เพราะคำถามสำคัญต่อมาคือ แล้วจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้ทำอะไรให้สมเจตนารมณ์ของ Smithson ที่ต้องการเพิ่มพูนและกระจายความรู้สู่มนุษยชาติ และจะบริหารสถาบันด้วยรูปแบบใด

รัฐสภาสหรัฐอเมริกาถกเถียงประเด็นว่าด้วยการออกแบบสถาบันของ Smithsonian Institution อยู่เป็นสิบปี ตั้งแต่ 1838-1846 ความคิดอันหลากหลายมีตั้งแต่นำเงินมาสร้างมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สร้างวิทยาลัยครู สร้างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ หอสมุด ฯลฯ

จนสุดท้ายการถกเถียงอันยาวนานก็สิ้นสุด 10 สิงหาคม 1846 ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง Smithsonian Institution ก็กลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ ในสมัยประธานาธิบดี James K. Polk

ในที่สุด Smithsonian Institution ถูกออกแบบให้เป็น Museum and Research Complex โดยประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และสถาบันวิจัยหลายแห่งอยู่ภายใต้ตัวสถาบัน

ที่น่าสนใจคือ ผู้ร่างกฎหมายว่าด้วย Smithsonian Institution คือนาย Robert Dale Owen ส.ส.แห่ง Indiana ซึ่งเป็นลูกชายของ Robert Owen นักคิดสังคมนิยมอุดมคติว่าด้วยชุมชนสหกรณ์

Smithsonian Institution จัดตั้งขึ้นในรูปกองทุน ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดรัฐบาล แต่กำกับดูแลโดย Board of Regents และบริหารงานโดยสำนักเลขาธิการสถาบัน (Secretary of Smithsonian)

Board of Regents มีองค์ประกอบที่น่าสนใจคือ มีประธานศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาเป็นประธาน มีสมาชิกประกอบด้วย รองประธานาธิบดี วุฒิสมาชิก 3 คน สมาชิกสภาผู้แทน 3 คน (จากทั้งสองพรรค) และภาคประชาสังคมอีก 9 คน

ปัจจุบัน Smithsonian Institution ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ทั้งสิ้น 18 แห่ง มีสวนสัตว์ขนาดใหญ่ 1 แห่ง มีวัตถุจัดแสดง 143.7 ล้านชิ้น และขยายวงความร่วมมือสู่พิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศอีกกว่า 140 แห่ง มีสถาบันวิจัย 9 แห่ง มีนักวิชาการของตัวเอง มีวารสาร Smithsonian ออกทุกเดือน จำนวนผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เฉพาะส่วนของ Smithsonian เองปีละกว่า 20.4 ล้านคน มีสมาชิกสถาบัน 2 ล้านคน และมีการเดินสายจัดแสดงนิทรรศการอย่างสม่ำเสมอ

ที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ Smithsonian ทุกแห่ง เข้าชมฟรี ตามเจตนารมณ์ของ Smithson ที่ต้องการกระจายความรู้สู่สังคมวงกว้างให้มากที่สุด

......


หัวใจของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ Smithsonian อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า The Mall ใจกลางกรุง Washington DC เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา





จากรูป ปลายด้านหนึ่งที่เป็นตึกโดมสีขาวคือ อาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (US Capitol) สุดอีกปลายรูปคือ Washington Monument (แท่งสีขาวสูง 169 เมตร ที่ตั้งตระหง่านชี้ขึ้นฟ้า)ได้ ระหว่างสถานที่ทั้งสอง มีสนามหลวงอยู่ตรงกลางความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร สองฝากฝั่งสนามหลวงเรียงรายด้วยพิพิธภัณฑ์ในสังกัด Smithsonian นับสิบแห่ง แต่ละแห่งก็มีตึกอาคารของตัวเอง

ที่โด่งดังเป็นพระเอกต้อนรับนักเดินทางทั่วโลกคือ National Museum of Natural History และ National Air and Space Museum

สถานที่แรกจัดแสดงโครงกระดูก T-Rex และไดโนเสาร์ตัวอื่นอีกหลายตัว พร้อมกับนิทรรศการว่าด้วยธรรมชาติของโลกและมนุษย์ ตั้งแต่ต้นกำเนิดโลก กำเนิดสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตยุคต่างๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก แมลง และความรู้เกี่ยวกับ 'โลก' ด้านธรณีวิทยา แร่ เพชร รวมไปถึง ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมในโลกซีกต่างๆ ฯลฯ จุดสนใจอีกอันหนึ่งคือ Hope Diamond เพชรขนาด 45.52 กะรัตที่ว่ากันว่าเป็น Blue Diamond ที่ใหญ่และสวยงามที่สุด

ส่วนสถานที่หลัง แสดงประวัติการบินของมนุษยชาติ ตั้งแต่จัดแสดงเครื่องบินลำแรกของพี่น้องตระกูลไรท์ ไปจนถึงประวัติการสำรวจอวกาศ เครื่องควบคุมยานอพอลโล 11 ภาคพื้นดินก็อยู่ที่นี่ และยังมีเครื่องบินที่ Charles Lindbergh บินข้ามแอตแลนติกในปี 1927 ไปจนถึงพื้นผิวดวงจันทร์ที่ยานอพอลโล 17 จิ๊กกลับมา ฯลฯ

ส่วนพิพิธภัณฑ์ใหม่ล่าสุดคือ National Museum of American Indian (รูปใน blog เป็นรูปเก่า ยังไม่มีในรูป) ว่าด้วยประวัติชุมชนอเมริกันอินเดียนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องราวความเชื่อว่าด้วยจักรวาลและดวงดาวของอเมริกันอินเดียน

พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในบริเวณ The Mall ก็มี National Museum of American History, Hirshhorn Museum and Sculpture Garden, Freer Gallery of Art, National Museum of African Art เป็นต้น ที่พ้นจากบริเวณ The Mall ก็มี National Postal Museum และ National Zoological Park

ในบริเวณ The Mall ยังมี Natural Gallery of Art, Holocaust Memorial Museum ที่บันทึกประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว, US National Archives ที่เก็บเอกสารประวัติศาสตร์อย่างคำประกาศอิสรภาพอเมริกา 1776 ฯลฯ

ยังไม่หมดเพราะหากเดินต่อไปทางทิศตะวันออก ก็จะเจอบริเวณ Capitol Hill มีทั้งอาคารรัฐสภา ศาลสูงสุด หอสมุดรัฐสภา อาคารสำนักงานวุฒิสภาและสภาผู้แทน ฯลฯ รวมถึงสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ Botanic Garden ด้วย

ส่วนทางฝั่งตะวันตกของ DC เลย Washington Monument ก็เป็นอนุสรณ์สถาน Lincoln ที่ Martin Luther King เคยกล่าวคำปราศรัยอันโด่งดัง "I have a dream." (1963) ระหว่างการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมในสังคมอเมริกันครั้งใหญ่ เมื่อ 28 สิงหาคม 1963

นับแต่ก้าวขาเหยียบ Washington DC ผมก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก จนไม่สามารถกลับบ้านนอกได้โดยง่าย เพราะที่นี่มีสถานที่ให้จมดิ่งกับการค้นหาความรู้ และก้าวเดินย่ำรอยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เต็มไปหมด พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งล้วนใหญ่โต และสวยงามมาก หากตั้งใจเดินชมอย่างจริงจัง หลายแห่งใช้เวลาทั้งวันก็ไม่หมด ผมไปได้อย่างมากก็วันละสองแห่ง แต่ถ้าอันไหนสนใจมากๆ อย่าง Museum of American History วันหนึ่งยังเดินชมเดินอ่านไม่ทั่วเลย

ผมชอบพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกามากนะครับ เรื่องมีอคติเอนเอียงไปทางสังคมอเมริกันในบางเรื่องหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การจัดแสดงของเขา มันสนุกเหลือเกิน ไม่รู้เบื่อ เต็มไปด้วยข้อมูลความรู้ที่ย่อยได้อย่างน่าสนใจ ตรงประเด็น ตอบคำถามที่เราสงสัยใคร่รู้ ช่างเก็บเอกสารเก่าๆ สิ่งของเก่าๆ ในประวัติศาสตร์ และมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมาย ลีลาการนำเสนอก็สุดยอดและสนุกสนาน ใช้มัลติมีเดียเข้าช่วยอย่างเต็มที่ มีโรงหนังอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ มีแบบจำลองเหมือนจริงประกอบ ฯลฯ กระทั่งในหอศิลป์ นอกจากมีการแสดงภาพ งานปั้น แล้วยังมีห้องชมงานภาพเคลื่อนไหว และ Visual Music ด้วย

เรียกว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ มีองค์ประกอบครบทั้งเนื้อหาที่ดีและกลวิธีนำเสนอ รวมถึงการจัดวางความรู้ ที่ยอดเยี่ยม ไม่มีวันไหน ที่ผมไม่ได้เป่าปากร้อง โอ้โห !!! ด้วยความทึ่งสักวันเดียว

ใครรักชอบพิพิธภัณฑ์ ห้ามพลาดโอกาสเยี่ยมชมเครือข่าย Smithsonian ครับ แล้วจะต้องมนต์สะกดแบบผม

มองบ้านเขาแล้วย้อนมามองบ้านเรา ก็อดเปรียบเทียบไม่ได้

ผมยังไม่กล้าจินตนาการถึงพิพิธภัณฑ์ในฝันหรอกครับ ไม่ว่าจะเป็นแห่งชาติหรือแห่งชุมชนก็ตาม

แต่เห็นประวัติของ Smithsonian แล้วอดนึกถึงเศรษฐีหุ้นหมื่นล้านของบ้านเราไม่ได้ ที่ปากก็บอกว่า พอแล้ว ไม่หวัง 'เอา' อะไรจากประเทศชาติอีกแล้ว (แต่ยังหรี่ตาเวลาคนรอบตัวสวาปามไม่เลือก) รวยขนาดนี้แล้ว น่าจะคิด 'ให้' อะไรกับประเทศชาติแบบให้เปล่าอย่าง Smithson บ้างนะครับ ไม่ใช่ใช้แต่เงินรัฐ แต่เอาทุกอย่าง ทั้งชื่อเสียงและผลประโยชน์เข้าตัวเอง ส่วนเงินส่วนตัว กอดไว้ให้ลูกให้เมียให้พรรคให้คนรอบกายซะแน่น

บ่นบ้าไปอย่างงั้นแหล่ะครับ งาช้างย่อมไม่งอกจากปากหมาฉันใด ......

Monday, June 20, 2005

ใจแตกเสียแล้ว

เนื่องจาก ผมสนุกสนานกับ Washington DC เป็นอย่างยิ่ง จากแผนการตอนแรกที่กะจะอยู่ถึงแค่วันอาทิตย์ที่เพิ่งผ่านไป ตอนนี้ผมเปลี่ยนใจอยู่ต่ออีกอาทิตย์หนึ่งแล้วครับ

สนุกกับสมิธโซเนียน และผู้คนแถบนี้เหลือเกิน !!!

ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟังนะครับ แต่ช่วงนี้เดินมิวเซียมทั้งวันก็เหนื่อยเสียแล้ว

Wednesday, June 15, 2005

การเดินทางครั้งนี้ไม่ธรรมดา

เป็นดังที่กระต่ายน้อยว่าไว้ ผมเป็นนักเดินทางแบบด้นสดไร้ระเบียบ หลังจากเมื่อวานตอนเที่ยงคืนตัดสินใจแบบฉุกละหุกว่าจะเดินทางไปเยือน Boston และ Washington DC ในวันรุ่งขึ้น วันนี้หลังตื่นนอนตอนเที่ยง ชีวิตผมก็เลยต้องวุ่นวายไม่หยอก เพราะยังไม่ได้เตรียมตัวทำอะไรสักอย่าง

ลุกจากเตียงปุ๊บ ผมตรงไปห้องซักผ้าก่อนเลย เพราะเสื้อผ้าหมดแล้ว ระหว่างเครื่องทำงาน ผมก็เช็คอีเมล์ อ่านข่าว อ่าน blog ไปเรื่อย ครบ 33 นาที ก็ย้ายผ้าจากเครื่องซักไปเครื่องอบ ระหว่างรอ 1 ชั่วโมง ก็ออกไปซื้อตั๋วรถบัส หาข้าวกิน และไปเอาเอกสารเรื่องภาษี แล้วรีบกลับมาที่หอให้ทันพอดีผ้าอบเสร็จ จากนั้นก็ไปล้างจานที่หมกไว้หลายวัน (ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิด) จัดห้อง ทิ้งขยะ จัดกระเป๋า คุยกับผู้คนบ้าง จัดหนังสือ อาบน้ำอาบท่า โกนหนวด เสร็จเอาพอดีรถบัสใกล้ออกพอดี

คราวนี้ก็เช่นเดียวกับคราวก่อนๆ หลังจากอาบน้ำเสร็จ ผมต้องรีบวิ่งกุลีกุจอไปที่หน้า Fine Art Center ซึ่งเป็นจุดปล่อยรถออกจากมหาวิทยาลัย

ไปถึงป้าย พอดี 4.45 น. เวลารถออกเป๊ะเลย

แต่ยังไม่เห็นวี่แววรถบัสเลยครับ

ข้างกายผมมีหญิงสาวอีกสองคน ที่รอรถไปบอสตันเช่นกัน รอกันจนถึง 5 โมงเย็น ก็เริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะปกติรถราที่เมืองนอกมักตรงต่อเวลา ไม่น่าจะสายขนาดนี้

หญิงสาวคนหนึ่งกระสับกระส่ายมากทีเดียว เธอรีบโทรไปถามที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถ ปรากฏว่ารถเจ้ากรรมที่เรารอกันอยู่ออกจากบ้านนอกของผม ไปถึงเมืองข้างๆแล้ว

เธอหัวเสียมากทีเดียว เพราะเธอมาก่อนเวลารถออกประมาณ 10 นาที ก็ไม่เห็นวี่แววรถคันนั้นแล้ว พวกเราไม่ได้ตกรถเพราะมาสาย แต่เป็นเพราะพี่คนขับออกรถเร็วกว่าปกติมาก

ผมเริ่มได้กลิ่นแล้วว่าท่าทางการเดินทางครั้งนี้จะไม่ธรรมดาเสียแล้ว

ขณะที่เธอกำลังบริภาษบริษัทเดินรถ Peter Pan อย่างหัวเสียทางโทรศัพท์ พลันรถบัสอีกคันหนึ่งก็มาจอดเทียบท่า ณ เวลาประมาณ 5.10 น.

พวกเรารู้สึกโล่งอก เธอวางโทรศัพท์ เราจะขนของขึ้นรถ แต่ปรากฏว่า พี่คนขับรถคันใหม่ไม่ให้เราขึ้น บอกว่า รถของเขาเป็นรอบ 5.45 น. รถรอบ 4.45 น. ที่เรารอมันออกไปนานแล้ว เขาไม่รู้เรื่องด้วย

ซึ่งหากออก 5.45 น. จริง แล้วหยุดรับผู้โดยสารตามจุดจอดปกติ เราไม่มีทางไปต่อรถที่เมือง Springfield เวลา 6.15 น. ให้ทันเดินทางต่อไปยัง Boston แน่นอน

ผมพยายามเจรจากับพี่คนขับว่า ให้บอกศูนย์ว่า ให้เขาเก็บตกพวกเราไปก่อน แล้วให้ศูนย์ส่งรถคันใหม่มาให้ทันรอบ 5.45 น. แต่แกก็ยืนยันหนักแน่นว่ายังไงก็ตาม ล้อหมุน 5.45 น. เท่านั้น เขาไม่รู้ไม่เห็นไม่สนด้วย และถ้าศูนย์ไม่ได้สั่งอะไรเป็นอื่น เขาก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

เมื่อสิ้นหวัง ผมก็กลับมานั่งเฝ้ากระเป๋าเหมือนเดิม ถือว่าเป็นเพราะสายลมแห่งชะตากรรมแล้วกัน เวลาล่วงไปสักพัก จนประมาณ 5.25 น. ผมก็ฉุกคิดว่า ไหนๆ ก็ต้องรอถึง 5.45 น. แล้ว งั้นรีบไปซื้ออาหารเย็นไปกินบนรถดีกว่า เพราะกำลังหิวพอดีเชียว ผมเลยฝากเพื่อนร่วมทางสองสาวเฝ้ากระเป๋าผมที่ป้ายรถ แล้วผมรีบกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปที่ Campus Center เพื่อซื้อแซนวิชไปกินระหว่างทาง

ทำเวลาสำเร็จแบบเหนื่อยหอบ กลับมาถึงป้ายรถอีกครั้งเวลา 5.42 น. ทันเวลารถออกเฉียดฉิว

แต่แล้วเบื้องหน้า กลับต้องพบภาพบาดตาบาดใจ

มันคือภาพแห่งความว่างเปล่า !!!

ปรากฏว่า สสารทุกอย่างสูญหายไปจากโลกเสียสิ้นเลยครับ เหลือแต่กระเป๋าของผมสองใบถูกวางทิ้งอยู่ที่ป้ายรถ รถบัส Peter Pan หาย เพื่อนร่วมทางสาวทั้งสองหาย

ถูกหักหลังครับท่าน !!!

พี่คนรถครับ พี่บอกผมว่าล้อหมุน 5.45 น. ไงครับ ทำไมพอผมไปซื้อของ แล้วเสือกเปลี่ยนใจล่ะครับ คุณผู้หญิงครับ อุตส่าห์ร่วมทุกข์ร่วมสุขตกรถมาด้วยกัน แถมผมฝากกระเป๋าให้ช่วยดู และผมก็รับปากแล้วว่ากลับมาทันแน่ ทำไมเล่นทิ้งกันดื้อๆอย่างนี้เลยล่ะครับเพ่

ใจร้ายกันเหลือเกิน รู้อยู่แก่ใจว่า ยังเหลือผมอีกคน เหตุไฉนใยทิ้งหนุ่มน้อยผู้น่าสงสารให้ตกรถรอบสองอยู่คนเดียว ด้วยความผิดที่ตัวไม่ได้ก่อ

เท่ไหมครับ ตกรถสองคันซ้อน เพราะคนขับออกเดินทางเร็วกว่ากำหนดทั้งคู่ รอบหลังนี่ยิ่งเจ็บใจ เพราะทั้งคนขับ ทั้งเพื่อนร่วมทางรู้อยู่แก่ใจ แต่ก็ยังทิ้งผม

ถูกทิ้งมาทั้งชีวิต ...

การเดินทางครั้งนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ

ยืนเซ็งแป๊บหนึ่ง ก็เห็นว่าเซ็งไปไร้ประโยชน์ ผมเลยเดินกลับหออีกรอบพร้อมกระเป๋าสองใบ โน้ตบุ๊คหนึ่งเครื่อง รถรอบต่อไปจากบ้านนอกต้องรอ 2 ทุ่มโน่น กว่าจะถึง Boston ก็ตั้ง 5 ทุ่ม 20 นาที แทนที่ผมจะไปถึง 2 ทุ่มตามกำหนดการที่นัดหมายกับเพื่อนไว้

เดินกลับหอไปได้เกือบครึ่งทาง จู่ๆ สายตาเหลือบกลับหลังไปเห็น Peter Pan มาอีกคันแล้วครับ ... นี่มันวันอะไรกันนี่ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ารถคันนี้จะไปไหน แต่มีลางสังหรณ์อะไรบางอย่าง

ผมตัดสินใจเสี้ยววินาที วิ่งย้อนกลับไปทางเก่า เผื่อฟลุ๊คเป็นรถเก็บตกอีกคัน ไปถึงรถก็เกือบไม่ทันเสียแล้ว เพราะลุงคนขับวนรอบหนึ่งจนจะเลี้ยวกลับอยู่แล้ว ผมต้องโบกมือให้หยุดรอ แกก็ใจดีหยุดรอผมริมถนน

และแล้วมันก็เป็นรถไป Springfield จริงๆ ครับ ... เชื่อหรือยังว่า การเดินทางครั้งนี้ไม่ธรรมดา

ถามไถ่ลุงคนขับ ปรากฏว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้

พี่คนขับรถคันแรก ที่ควรจะออก 4.45 น. แกดันออกจากมหาวิทยาลัยผมตั้งแต่ 4.20 น. ด้วยเกิดอาการนึกครึ้มประการใดไม่ทราบได้ นับเป็นความมหัศจรรย์ของโลกและจักรวาลประการหนึ่งที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป ส่วนพี่คนที่สอง แกมาถึงเร็ว แต่เขาขับสำหรับรอบต่อไป คือเวลา 5.45 น. ตามที่เขาบอกจริง

แต่หลังจากมีเสียงคนตกรถคันแรกตามจุดจอดต่างๆ โทรด่ากันกระหึ่ม ทางศูนย์เลยมาเปลี่ยนใจตอนหลัง ให้พี่คนที่สองทำหน้าที่เป็นรถเก็บตกในที่สุด แล้วส่งคันใหม่ คือคุณลุงที่มารับผม มาทำหน้าที่เป็นรถรอบ 5.45 แทน แต่คุณลุงเพิ่งได้รับคำสั่งระหว่างเดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจอื่น เลยต้องเดินทางมาจากนอกเส้นทาง จนมาสายกว่าปกติ มาถึงเกือบ 6 โมงเย็น

ซึ่งจังหวะที่เจ้าหน้าที่ศูนย์เปลี่ยนใจ ก็คือจังหวะที่ผมเดินออกไปซื้อข้าวเย็นนั่นเอง เจ๋งไปกว่านั้น ศูนย์สั่งให้รถพี่คนทีสองหมุนล้อทันที เดี๋ยวนั้น ขณะผมกำลังซื้อข้าวอยู่

ยอด !!!

แต่อย่านึกนะครับว่า ชีวิตผมจะราบรื่น เพราะรถเก็บตกของผมมาไม่ทันรถต่อไป Boston ผมเลยต้องมานั่งรอรถไป Boston คันต่อไปเวลา 9.15 น. ซึ่งไม่ต่างอะไรหากผมจะมาพร้อมกับรถเที่ยวสองทุ่มจากบ้านนอก

ด้วยเหตุนี้ ผมเลยต้องนั่งรอรถที่สถานี Springfield สองชั่วโมงกว่า ได้นั่งเขียน blog แทนที่ตอนนี้จะนั่งดวดเบียร์กับเพื่อนที่ Boston แล้ว ต้องรอถึง 5 ทุ่ม 20 นาที กว่าจะได้เห็นหน้าเพื่อน

แต่ยังดี ที่พอไปถึงสถานี ผมเรียกร้องความเป็นธรรมสำเร็จ จนสุดท้าย เขาคืนเงินค่าตั๋วให้เต็มจำนวน เหมือนได้เดินทางฟรี :)



ปิ่น ปรเมศวร์ รายงานสดจากสถานี Springfield เวลา 2 ทุ่ม 40 นาที


แค่เริ่มต้น การเดินทางครั้งนี้ก็ไม่ธรรมดาเสียแล้ว !!!

Tuesday, June 14, 2005

พักร้อนฉุกเฉิน

เมื่อสักครู่เพิ่งคุย MSN กับเพื่อนโรงเรียนเก่าน้ำเงิน-ขาวคนหนึ่ง หลังจากไม่ได้ทักกันหลายเดือน

จู่ๆ เพื่อนก็ถามว่า ใกล้กลับแล้วอยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า?

ผมก็บอกว่า อยากไป DC อยู่เมกามาตั้งนานยังไม่เคยไปเลย อยากไปสมิธโซเนียนมาก

คุยไปคุยมา อ้าว ! สุดท้ายจะไปกันจริงๆ ...

คุยไปคุยมา อ้าว ! จะไปกันอาทิตย์นี้เลย ...

โอ้ รวดเร็ว เหมือนตอนอกหัก !

จริงๆแล้ว Happening Travel เที่ยวนี้มีผมเป็นตัวยุเองแหล่ะ เพราะโดยปกติแล้ว เพื่อนผมคนนี้เป็นนักวางแผนการท่องเที่ยวตัวยง จะทำการสิ่งใดต้องมีหลักการและการเตรียมพร้อม ไม่ใช่พวกมักง่ายไร้ระเบียบอย่างกระผม อันนี้คุณกระต่ายน้อยรู้ดี เพราะเราสามคนเคยไปเที่ยวนิวยอร์กร่วมกันมาแล้วเมื่อเกือบสองปีก่อน

ฉะนั้น ตั้งแต่พรุ่งนี้ ผมจะไปหาเพื่อนผมที่บอสตัน อยู่สัก 1-2 วัน แล้วผมก็จะเดินทางต่อไป Washington DC ไปเจอเพื่อนโรงเรียนเก่าอีกคนที่มาตั้งถิ่นฐานจนมีบ้านช่องอยู่ที่นั่น กะจะอยู่สัก 3 วัน แต่จะเอาแน่เอานอนอะไรกับคนไร้ระเบียบไม่ค่อยเคารพกฎระเบียบและกำลังอยู่ในโหมดขี้เกียจอย่างกระผมเห็นจะไม่ได้ (แถมอาจารย์ที่ปรึกษายังหนีเที่ยวเช่นกัน) ถ้าผมติดใจหนักอาจอยู่ต่ออีกสักพัก และหากไม่รบกวนเพื่อนกระผมซึ่งมีงานมีการทำจนเกินไป

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเอ่ยลาชั่วคราวกับมิตรรักแฟน blog ทั้งหลาย จนกว่าจะได้พบกันใหม่

เหตุการณ์มันเกิดขึ้นรวดเร็วเสียจนไม่ทันเอ่ยคำร่ำลาได้ถ้วนทั่ว เดี๋ยวจะสงสัยว่าผมหายหัวไปไหนจนหาตัวไม่เจอ

ไปเดินทางครับ เอ๊ะ หรือไปท่องเที่ยวหว่า

ระหว่างนี้ก็ ... เยี่ยมชม blog ทางขวามือไปก่อนนะครับ สมาชิกเพียบ !!! ตอนนี้ฝีมือสุดยอดกันทั้งนั้น !!! จนเร็วๆ นี้ จะมีนักเขียนหน้าใหม่มาประดับบรรณพิภพอีกหลายคน ไว้จะบอกข่าวดีให้ฟังนะครับ ตอนนี้ขออุบไว้ก่อน

แล้วใครที่เคยสัญญากับผมว่าจะเปิด blog ก็ลงมือได้แล้ว ...

ผมหมายถึง ใครคนที่ชื่อ พ. นามสกุล บ. ชื่อเล่น น.น. คนที่เป็นอาจารย์อยู่สำนักท่าพระจันทร์ คนที่นามปากกา November Seabreeze คนที่เพิ่งไปบวชมา คนที่กำลังจะไปเป็นเด็ก Oxford คนที่ยังไม่แต่งงานแต่มีแฟน คนที่ .... , .... , ..... , etc.

ถ้าไม่รีบลงมือเขียนช่วงผมไม่อยู่ เมื่อผมก้าวขากลับมาเหยียบบ้านนอกเมื่อไหร่ ผมจะเขียนอธิบายจุดไข่ปลาที่เว้นว่างไว้อย่างละเอียด ทุกซอกทุกมุม ทุกดอก ทุกเม็ด แบบถึงลูกถึงคน ฮ่าฮ่าฮ่า

Credible Threat หรือไม่ ? อย่าเสี่ยงพิสูจน์เลยน้องชาย เลือกจิ้มแป้นคีย์บอร์ดจะดีกว่าน่า

... เพื่อชาติ

Monday, June 13, 2005

แผนที่แผ่นแท้ ? : การเมืองว่าด้วยแผนที่โลก

หากมีใครสักคนถามว่า 'โลก' ของเรามีหน้าตาอย่างไร ประเทศอะไรอยู่ตรงไหน ประเทศไหนมีขนาดใหญ่เล็กอย่างไร ผมเชื่อว่าหลายคนคงนึกจินตนาการไปถึง 'โลก' ที่มีหน้าตาและเนื้อหาดัง 'แผนที่โลก' ทั้งสองรูปข้างล่างนี้เป็นแน่

ก็เราเห็นแผนที่โลกหน้าตาเช่นนี้มาแต่เด็ก ทั้งในห้องเรียน และในหนังสือสังคมศึกษา จะมอง 'โลก' เป็นอื่นไปได้อย่างไรเล่า








แผนที่โลกที่แสดงให้ดูข้างบนถูกสร้างขึ้นจากระเบียบวิธีที่เรียกกันว่า The Mercator Projection (1569) โดย Gerardus Mercator แผนที่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อเด่นคือสามารถแสดงรูปร่างหน้าตาของแต่ละประเทศในโลกได้ใกล้เคียงกับรูปทรงจริงตามโลกที่เป็นทรงกลม

ความท้าทายสำหรับการเขียนแผนที่โลกคือ นักทำแผนที่จะคลี่ 'โลก' ทรงกลม ให้เป็น 'โลก' ทรงแบนอย่างไร โดยให้สามารถสะท้อน 'ความจริง' ของ 'โลก' ได้ดีที่สุด

ซึ่งการตอบโจทย์ดังกล่าว นักทำแผนที่ต้องเผชิญ 'ภาวะได้อย่าง-เสียอย่าง' (Trade-offs) ในระดับพื้นฐานคือ ต้องแลก 'ขนาดที่แท้จริง' กับ 'รูปทรงที่แท้จริง' ของแต่ละประเทศ นั่นคือ หากต้องการให้แผนที่โลกแสดงรูปทรงที่ถูกต้องของแต่ละประเทศมากขึ้น ก็ต้องยอมให้ขนาดของประเทศนั้นถูกต้องลดน้อยลง นั่นคือ สัดส่วนของประเทศนั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็จะถูกบิดเบือนเปลี่ยนขนาดไปจากสภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

เช่นนี้แล้ว เมื่อ Mercator World Map ซึ่งแพร่หลายจนกลายเป็นแผนที่มาตรฐานของคนทั่วโลก แสดงรูปทรงที่ใกล้เคียงกับความจริงได้ดี แผนที่โลกแบบดังกล่าวเลยบิดเบือน 'ขนาด' ของแต่ละประเทศไปมากทีเดียว สัดส่วนของขนาดประเทศหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศหนึ่ง ห่างไกลจาก 'ความจริง' ของ 'โลก'

ว่ากันให้ง่าย แผนที่โลกมาตรฐานที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และถูก 'ผลิตซ้ำ' มานับร้อยปี แพร่หลายไปทั่วโลกนั้น เอาเข้าจริง ไม่ได้แสดง 'ขนาด' ของแต่ละประเทศได้อย่างถูกต้อง หากในโลกความจริง ประเทศ A มีขนาดพื้นที่ผิวใหญ่กว่าประเทศ B เป็น 2 เท่า ขนาดของประเทศ A ในแผนที่ ก็ควรจะใหญ่กว่าประเทศ B เป็น 2 เท่า ด้วยเช่นกัน จึงจะบอกสัดส่วนของแต่ละประเทศในโลกได้ถูกต้องตรงตามจริงมากที่สุด

ซึ่งแผนที่โลกแบบสองรูปข้างบน ไม่มีคุณสมบัตินั้นแต่อย่างใด

ด้วยระเบียบวิธี Mercator projection เราจะพบว่า หากประเทศหนึ่งยิ่งมีพิกัดห่างไกลออกจากเส้นศูนย์สูตร (Equator)และเข้าใกล้กับขั้วโลก (poles)มากเท่าใด 'ขนาด' ที่แท้จริงของแต่ละประเทศ ยิ่งถูกบิดเบือนมากเท่านั้น

ดังนั้น ประเทศที่อยู่แถบเหนือของโลก (The Norths) ซึ่งโดยมากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป เลยดูใหญ่กว่าความเป็นจริง เมื่อเทียบกับประเทศแถบใต้ของโลก (The Souths) ที่โดยมากมักเป็นประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศในทวีปแอฟริกา และละตินอเมริกา

นอกจากนั้น Mercator World Map ยังจัดวางทวีปยุโรปไว้เป็นศูนย์กลางของโลก และเส้นศูนย์สูตร ซึ่งควรจะใช้แบ่งครึ่งโลกอย่างสมมาตรกันนั้น ก็มิได้อยู่ตรงกึ่งกลางของแผนที่ แต่อยู่ค่อนไปทางด้านล่างของแผนที่ ทำให้ประเทศแถบเหนือมีพื้นที่ในแผนที่มากถึงกว่า 60% ขณะที่พื้นที่ของประเทศแถบใต้ มีที่ทางในแผนที่เพียง 40% เท่านั้น ทั้งที่ในโลกความจริง มีขนาดใหญ่โตกว่ามาก

ไปๆมาๆ แผนที่โลก ซึ่งคนทั่วไปมักคิดว่าถูกจัดทำขึ้นด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงน่าจะสะท้อน 'ความจริง' ของ 'โลก' ได้แบบมีคำตอบหนึ่งเดียวและเป็นสากล เลยดูจะซ่อนเร้นความจริงบางด้าน และบิดเบือนความจริงบางด้านไป

......

ทราบไหมครับว่า Mercator World Map มิใช่แผนที่โลกหนึ่งเดียว ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น แต่แผนที่โลกถูกสร้างขึ้นมากมายหลายแบบ ด้วยระเบียบวิธีศึกษาที่ต่างกัน

วิธีที่แตกต่างจาก Mercator Map จนอาจเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้าม คือแผนที่โลกประเภทที่เรียกกันว่า Equal-Area Projection แผนที่โลกแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อให้แผนที่โลกแสดงสัดส่วน 'ขนาด' ของแต่ละประเทศที่ใกล้เคียงกับขนาดที่แท้จริงมากที่สุด

แผนที่โลกที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยระเบียบวิธีนี้ ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็น Peters World Map ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากแผนที่โลกในความทรงจำของเราทั้งหลาย ดังรูปข้างล่างนี้ครับ (หากต้องการดูรูปขนาดใหญ่ขึ้น ให้คลิกที่รูป)





Peters World Map เป็นผลงานการศึกษาของ Dr. Arno Peters นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ออกสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกเมื่อปี 1974 เฉพาะในประเทศเยอรมัน และตามมาด้วยฉบับภาษาอังกฤษ ในปี 1983 ซึ่งเป็นแผนที่โลกที่สร้างเสียงโต้เถียงในวงการแผนที่โลกได้ดังระงม

เนื่องจาก แผนที่โลกฉบับนี้ให้ความสำคัญกับ 'ขนาด' ที่ถูกต้องของแต่ละประเทศ เราจึงพบความแตกต่างระหว่าง Peters World Map และ Mercator World Map ดังเช่น

1. แผนที่มาตรฐานบิดเบือน 'ขนาด' ของ The Souths และ The Norths โดยแสดงพื้นที่ของประเทศแถบเหนือใหญ่โตกว่ามาก ทั้งที่ในความเป็นจริง ฝ่ายเหนือมีพื้นที่เพียง 18.9 million sq.miles ขณะที่ฝ่ายใต้มีพื้นที่ถึง 38.6 million sq.miles ดังนั้น ใน Peters World Map เราจะเห็นว่า แผนที่โลกสองมิติมีพื้นที่ให้ประเทศแถบใต้ในสัดส่วนใหญ่โตกว่าประเทศแถบเหนือมาก ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริง

2. ในแผนที่โลกฉบับมาตรฐาน ทวีบยุโรปมีขนาดในแผนที่ใหญ่กว่าทวีปอเมริกาใต้ ทั้งที่พื้นที่จริงของทวีปอเมริกาใต้มีขนาดใหญ่กว่าทวีปยุโรปเกือบ 2 เท่า (ยุโรปมีพื้นที่ผิว 3.8 million sq.miles ส่วนอเมริกาใต้มีพื้นที่ 6.9 million sq.miles) ที่สำคัญ แผนที่ดั้งเดิมจัดวางประเทศเยอรมัน ไว้ตรงกลาง ทั้งที่ประเทศเยอรมันอยู่ในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของโลก หากมองโลกจากมุมที่ใช้สร้างแผนที่ทั้งสองฉบับ

3. แผนที่โลกฉบับมาตรฐานแสดงรูปรัฐอลาสก้าของสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่า ของประเทศเม็กซิโก ทั้งที่ในความเป็นจริง ประเทศเม็กซิโกมีขนาดใหญ่กว่า (รัฐอลาสก้ามีขนาด 0.6 ส่วนเม็กซิโกมีขนาด 0.7 million sq.miles)

4. แผนที่โลกฉบับมาตรฐานแสดงรูปทวีปอเมริกาเหนือใหญ่กว่าทวีปแอฟริกา ทั้งที่ทวีปแอฟริกามีขนาดใหญ่กว่ามาก (ทวีปอเมริกาเหนือมีขนาด 7.4 million sq.miles ส่วนทวีปแอฟริกามีขนาด 11.6 million sq.miles)

5. แผนที่โลกฉบับมาตรฐานแสดงขนาดของกรีนแลนด์ใหญ่กว่าประเทศจีน ทั้งที่ ประเทศจีนมีขนาดถึง 3.7 million sq.miles ขณะที่กรีนแลนด์มีขนาดเพียง 0.8 million sq.miles เทียบกันไม่ได้เลย

6. เช่นเดียวกับประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ที่ดูใหญ่กว่าประเทศอินเดียในแผนที่ฉบับมาตรฐาน ทั้งที่สแกนดิเนเวียร์มีขนาดเพียง 0.4 million sq.miles ส่วนอินเดียใหญ่โตระดับ 1.3 million sq.miles

Peters World Map ปรับสัดส่วนที่ผิดส่วนตามตัวอย่างข้างต้น ให้ถูกต้องสอดคล้องกับโลกที่เป็นจริง


ผู้ที่ชื่นชอบแผนที่โลกฉบับ Peters ก็อ้างว่า แผนที่โลกฉบับนี้สะท้อนความเป็นจริงของโลกได้ถูกต้องกว่าฉบับหลักที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจาก แสดงขนาดพื้นที่ผิวของประเทศต่างๆ ได้ถูกต้องที่สุด ไม่มีประเทศมหาอำนาจไหน 'ใหญ่' เกินจริง อีกทั้ง แผนที่ฉบับนี้ส่งคืน 'ที่ทาง' ของประเทศกำลังพัฒนาแถบใต้ทั้งหลาย ให้มี 'พื้นที่' ใน 'โลก' ผืนนี้ ด้วยสัดส่วนที่ใหญ่โตขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

'แผนที่โลก' จึงกลายเป็นสมรภูมิของ 'การเมืองว่าด้วยการนิยาม' อีกสมรภูมิหนึ่ง เช่นเดียวกับ วาทกรรม ภาษา ฯลฯ

การเมือง อันเป็นศาสตร์ว่าด้วยการช่วงชิงอำนาจ รวมถึงอำนาจในการนิยาม จึงเวียนวนอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในแผนที่โลก

การ 'เลือก' ใช้แผนที่โลกแต่ละแบบ หรือ ชัยชนะของแผนที่โลกแบบหนึ่งเหนือแบบอื่นๆ จนกลายเป็นแผนที่โลกหลักมาตรฐาน ล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์เบื้องหลังแฝงซ่อนอยู่ มิใช่กระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ล้วน แบบไร้ตัวตน ไร้อำนาจ ไร้ความเชื่อ ไร้อุดมการณ์ แฝงอยู่เบื้องหลัง

ผู้นิยม Peters Map ให้เหตุผลว่า แผนที่โลกมาตรฐานจัดทำขึ้นสมัยยุโรปครอบงำเป็นมหาอำนาจโลก เต็มไปด้วยอาณานิยมทั่วโลก จึงแฝงไปด้วย 'อคติ' ที่เอนเอียงไปทางผลประโยชน์ของประเทศแถบเหนือ

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมแผนที่ฉบับมาตรฐาน Mercator Map ถึงถูก 'เลือก' ให้ผลิตซ้ำรุ่นแล้วรุ่นเล่า และเผยแพร่ทั่วโลก จนกลายเป็นแผนที่โลกทางการของหลายประเทศในโลก

การผลิตซ้ำแผนที่มาตรฐานเป็นกระบวนการ 'ผลิตซ้ำ' ภาพลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของประเทศฝ่ายเหนือ ฝังอคติว่ายุโรปเป็นศูนย์กลางของโลก (มี Eurocentric bias) เข้าไปในมุมองต่อโลก (world view) ของผู้คนทั่วไปที่ถูกหล่อหลอมอย่างไม่รู้ตัวภายใต้กระบวนการ 'ผลิตซ้ำ' ที่ว่า

แผนที่โลกสองมิติที่เราเห็นแต่เด็กในห้องเรียนจึง 'ลวงตา' เราระดับหนึ่ง

แผนที่โลกที่ท้าทาย 'นิยาม' ดั้งเดิมมิได้มีเพียง Peters World Map เท่านั้นนะครับ แต่มีการผลิตสร้างแผนที่โลกขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ภายใต้ข้อสมมติตั้งต้นที่แตกต่างกัน ภายใต้ระเบียบวิธีศึกษาที่แตกต่างกัน ภายใต้เป้าหมายที่ต่างกัน ภายใต้จุดเน้นที่ต่างกัน ซึ่งแผนที่โลกแต่ละแบบก็นำพาเราไปสู่ 'ภาพ' ของโลก และ 'มุมมอง' ต่อโลกที่แตกต่างกัน ตามแต่เงื่อนไขตั้งต้นที่กำหนด เช่น Mollweide Map, Goode Map เป็นต้น

หนักไปกว่านั้น มีนักทำแผนที่ผลิตสร้างแผนที่แบบ Upside-down Map ที่เอาทวีปออสเตรเลียไปอยู่ด้านบน เอาขั้วโลกเหนือลงด้านล่าง อ้าว ... ใครบอกละครับว่าขั้วโลกเหนือต้องอยู่ด้านบนของโลกเสมอ โลกมันทรงกลมนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเรามองโลกจากมุมไหนมิใช่เหรอ จะมองโลกแบบกลับหัวบ้างไม่ได้เหรอ แต่ เอ... ใครบอกได้ว่าหัวของโลกมันอยู่ทิศไหนกันแน่ ทิศที่เราคิดว่าใช่ มันใช่จริงเหรอ หรือเพราะเราเองก็ถูกแผนที่โลกฉบับมาตรฐาน Mercator Map หล่อหลอมวิธีการ 'มอง' โลก หรือ 'จินตนาการ' โลก เข้าให้แล้วเช่นกันโดยไม่รู้ตัว

ลองดูหน้าตาของแผนที่โลกฉบับ Upside-down Map ดูครับ




......


ถึงตรงนี้คงเห็นว่า แผนที่โลกฉบับมาตรฐาน ที่แพร่หลายกันมากที่สุด ก็มิใช่ 'ความจริงแท้' ที่ให้ 'ภาพ' ที่สมบูรณ์แบบของ 'โลก' ใบนี้ แต่ก็ถูกสร้างขึ้นก็ภายใต้ข้อสมมติบางอย่าง ระเบียบวิธีศึกษาบางอย่าง ซึ่งสะท้อน 'ความจริง' ด้านหนึ่ง และบิดเบือน 'ความจริง' อีกด้านหนึ่ง

นี่เป็นอีกตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้ว ระเบียบวิธีศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์สามารถสะท้อน 'โลก' แห่ง 'ความจริง' ได้มากเพียงใด เราสามารถขจัดคุณค่า ตัวตน การใช้วิจารณญาณ ความเชื่อ ค่านิยม ฯลฯ ออกไปจากการศึกษาได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ Subjectivity สามารถถูก 'กัน' ออกไปจากกระบวนการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้จริงหรือ?

โดยเฉพาะการ 'เลือก' ว่า จะกำหนดข้อสมมติอะไรในการศึกษาบ้าง ตัวแปรใดที่ถูก 'เลือก' เข้าใส่ในโมเดล ตัวแปรใดไม่ถูก 'เลือก' ทำไมถึง 'เลือก' ตัวแปรหนึ่ง แต่ตัดอีกตัวแปรหนึ่งทิ้ง ทำไมเราถึง 'เลือก' ระเบียบวิธีศึกษาหนึ่ง ไม่ 'เลือก' อีกระเบียบวิธีศึกษาหนึ่ง และทำไมระเบียบวิธีศึกษาแต่ละแบบนำมาซึ่ง 'ความจริง' หรือ 'หน้าตา'ของ 'ความจริง' ที่ต่างกัน ทั้งที่ระเบียบวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์มักถูกเอ่ยอ้างว่านำเราไปสู่ความจริงหนึ่งเดียวที่เป็นสากล แล้วเราจะ 'เลือก' โลกแบบใด เป็น 'โลก'แห่งความจริงของเราดี

'ภาพ' ของ 'โลก' แห่งความจริงที่ได้จากการศึกษา สุดท้ายก็มีส่วนหล่อหลอมมุมมองต่อโลกและวิถีคิดของเรา และหากกล่าวให้ถึงที่สุด 'ภาพ' ที่เรานึกว่าจริง มันก็มีที่มาจาก การ 'เลือก' หรือ การ 'สร้าง' มาด้วยตัวเรามีส่วนร่วมทั้งนั้น มันมิได้มี 'โลก' หน้าตาแบบนี้อยู่ก่อนแล้ว รอให้เราไปค้นหา แต่คนเรานี่แหละที่ไปสร้าง 'โลก' มันขึ้นมา จะด้วยอิทธิพลอะไรอยู่เบื้องหลังก็ตามแต่

และ 'โลก' ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการที่ต่างกัน ก็มีความหลากหลายมิได้มีหน้าตาและเนื้อหาเป็นหนึ่งเดียว ไม่มี 'โลก' ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

'โลก' แต่ละแบบที่ได้ ยังกลายเป็น 'กรอบ' ในการมองโลกของเราต่อไป ทั้งที่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่า 'แผนที่โลก' ที่ได้มันก็ล้วนเต็มไปด้วยข้อจำกัด และ 'โลก' ที่แตกต่างหลากหลายก็ยังมี implication สืบต่อไปในทางที่แตกต่างกัน เช่น ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อรับใช้อุดมการณ์ที่แตกต่างกัน

'แผนที่โลก' สอนอะไรแก่เราบ้างครับ?

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกอย่างไรกับประโยคในย่อหน้าที่สองของผมบ้างครับ ?

... ก็เราเห็นแผนที่โลกหน้าตาเช่นนี้มาแต่เด็ก ทั้งในห้องเรียน และในหนังสือสังคมศึกษา จะมอง 'โลก' เป็นอื่นไปได้อย่างไรเล่า

และหากใครบางคนเกิดอ่านเรื่อง 'แผนที่โลก' นี้ แล้วดันตั้งคำถามหรือเกิดจิตประหวัดไปถึง 'วิชาเศรษฐศาสตร์' แทนที่ 'แผนที่โลก' ขึ้นมา จะว่าคนนั้นเขา 'เพี้ยน' หรือเปล่าครับ ?

Friday, June 10, 2005

วิถีมังกรธรรม

วันนี้ขอนำงานเก่ามาเล่าใหม่หน่อยนะครับ

เผื่อคนแถวนี้ ยังไม่มีโอกาสได้อ่านกัน ไม่ใช่อะไรครับ เผอิญชอบงานเขียนชิ้นนี้ของตัวเองมาก (ฮา)

เนื้อหาที่ผมจะโพสต์ต่อจากส่วนเกริ่นนี้ คือคำนิยมที่ผมเขียนให้อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ในหนังสือ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก: แนวทางปฏิรูปเชิงบูรณาการในยุคหลังทักษิณ" (2548, openbooks) อันเป็นภาคสุดท้ายของไตรภาคของงานเขียนชุด Thaksinomics ของอาจารย์สุวินัย

ผมชอบหนังสือเล่มนี้นะครับ ทำไม? หาคำตอบได้ในคำนิยม

สำหรับแฟนข้อเขียนอาจารย์สุวินัย ตอนนี้อาจารย์เริ่ม series ใหม่ ว่าด้วยมูซาชิ ในวาระครบรอบสิบปีมูซาชิฉบับท่าพระจันทร์ series นี้ ผมยิ่งชอบหนักเข้าไปอีก สนุก คม เปี่ยมแง่คิด และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเองมากนะครับ โดยเฉพาะสำหรับสมาชิกแถวนี้ที่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญความเครียดจากการเรียนต่ออันหนักหนาสาหัส ผมชอบอ่านอาจารย์สุวินัยเขียนเรื่องปรัชญาตะวันออกมาก ยิ่งตอนหลังได้ฝึกมวยจีนภาคปฏิบัติกับอาจารย์ก็ยิ่งอ่านสนุกขึ้น

ลองเข้าไปอ่านดูตามลิงก์ข้างบนครับ เชื่อว่าหลายคนคงได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ สำหรับการต่อสู้ในสมรภูมิแห่งชีวิต

series ใหม่ เรื่องมูซาชิที่ว่านี้ เริ่มตั้งแต่ตอน พหุปัญญาของมูซาชิในคัมภีร์ห้าห่วง เป็นต้นไปครับ ส่วนตอนก่อนหน้านั้น เป็นบทความใน series Thaksinomics ที่รวมเป็นเล่มแล้วทั้งสามเล่ม

......

(คำนิยม)


- 1 -

จะว่าไป ผมรู้จักอาจารย์สุวินัยห่างๆ มาร่วมสิบสองปีแล้ว ครั้งแรกที่ผมกับอาจารย์เริ่มมีสัมพันธ์กันคือวันที่ผมซื้อหนังสือปรัชญาอภิมนุษย์มานั่งอ่านเมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย

ก่อนหน้านั้น ผมก็พอรู้จักอาจารย์บ้างผ่านบทบาทอาจารย์นักปฏิบัติการทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และในฐานะตัวตั้งตัวตีกลุ่มเพื่อนอานันท์ รวมถึงเจ้าของคอลัมน์มองอย่างตะวันออกในผู้จัดการรายวันยุคภูมิปัญญาเข้มข้น ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน

ด้วยความมุ่งมั่นอยากเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมเลยสนใจผลงานของอาจารย์คณะนี้เป็นพิเศษ เมื่อแรกอ่านหนังสือของอาจารย์สุวินัย นอกจากรู้สึกชื่นชมใน “วิถี” แบบสุวินัยแล้ว งานเขียนของอาจารย์ยัง “เปิด” โลกอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผม - ในฐานะเด็กบ้าการเมืองคนหนึ่งในขณะนั้น – ไม่เคย และ ไม่คิด ที่จะเข้าไปค้นหามาก่อน

จากปรัชญาอภิมนุษย์ ผมก็ตามอ่านงานเขียนของอาจารย์อีกหลายเล่ม จนถึงมูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์

สารภาพว่า ขณะนั้น ผมยังไม่รู้สึกดื่มด่ำลงลึกไปกับงานเขียนของอาจารย์มากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับงานเขียนของอาจารย์สาย “สมอง” คนอื่นๆ จะด้วยความเยาว์ หรือความสนใจส่วนตัว หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมรู้สึกตื่นเต้นกับการอ่านงานเศรษฐศาสตร์ งานรัฐศาสตร์ มากกว่างานเขียนสาย “จิตใจ” ของอาจารย์สุวินัย

เรียกได้ว่า อาจารย์สุวินัย “แง้ม” ประตูให้เข้าไปค้นหา “โลกภายใน” มาตั้งนานแล้ว แต่ผมยังไม่มีความกระหายพอที่จะเข้าไป ก็ได้แต่แอบดูอยู่ห่างๆ หน้าประตู แล้วโลดแล่นอยู่กับการพยายามเปลี่ยนแปลงโลกภายนอกตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ตลอดระยะเวลาสิบสองปีที่ผ่านมา


- 2 –

ผมห่างเหินจากการอ่านงานของอาจารย์สุวินัยไปพักใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่อาจารย์เขียนหนังสือชุดมังกรจักรวาล การถูกฝึกฝนให้เป็นนักสังคมศาสตร์ที่ใช้ระเบียบวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ และถูกสอนให้มีวิธีคิดแบบสมัยใหม่ ได้ “กัน” ผมออกจากอาจารย์ไปเรื่อยๆ แม้ความเคารพนับถือจะไม่ด้อยลงก็ตาม

แม้เมื่อผมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในฐานะนักศึกษา ก็ไม่ได้เรียนกับอาจารย์สุวินัย ทั้งที่ผมสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และตอนนั้น อาจารย์ก็สอนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่คณะ

โทษใครไม่ได้ เพราะผมเป็นคนเลือกที่จะไม่เรียนเอง ก็เมื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเมือง นักเรียนเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ย่อมต้องคิดถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิก เศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์ หรือเศรษฐศาสตร์สถาบัน ไม่ใช่บูรณาการศาสตร์ ที่ผสมผสานปรัชญาตะวันออก ตามวิถีแบบสุวินัย

เมื่อแรกเข้าเป็นอาจารย์ใหม่ ผมมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์สุวินัยบ้าง ตามโต๊ะอาหารและระเบียงทางเดิน แต่มิได้สนิทสนม เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางสังคมเสียมากกว่า นานๆ ครั้งจึงจะได้ถกเถียงกันเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ยิ่งเมื่ออาจารย์เผชิญวิกฤตใหญ่ จนเร้นกายจากสังคม ความสัมพันธ์ก็ดูห่างออกไป

เวลาผ่านไปสักพัก อาจารย์สุวินัยก็เริ่ม “กลับมา” ปรากฏการณ์ระบอบทักษิณทำให้เราได้คุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองไทย การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ภายใต้รัฐบาลทักษิณส่งผลให้อาจารย์เลือกที่จะหวนกลับมาสู่บทบาทคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันอีกครั้ง

และบัดนี้ งานเขียนทั้ง 3 ภาคได้ถูกนำมารวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ OPENBOOKS รวม 3 เล่มด้วยกัน โดยเล่มนี้ถือเป็นการปิดขบวนงานเขียนชุดนี้

เส้นทางเดินของหนังสือไตรภาคชุดนี้เอง ที่ทำให้อาจารย์สุวินัยและผม ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “คนร่วมทาง” ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จนในที่สุด ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส “โลก” และ “วิถี” แบบสุวินัย ด้วยประสบการณ์ตรง

ผมเคยเขียนไว้ในคำนิยมของหนังสือภาคสองว่า โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า หนังสือไตรภาคชุดนี้แสดงถึงการ “กลับมา” อย่างตกผลึก งดงามหมดจด และถึงพร้อม ของอาจารย์สุวินัย

ผมยังคงยืนยันประโยคดังกล่าว

อาจารย์เริ่มต้นภาคแรกของงานเขียนชุดนี้ด้วยการแกะรอยและชำแหละระบอบทักษิณ ซึ่งมิใช่เพียงตั้งคำถามในระดับความชอบธรรมเท่านั้น หากยังลงลึกถึงระดับความเป็นของแท้ของตัวระบอบและตัวตนของคุณทักษิณ ด้วยท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยความเมตตา และมุมมองที่แตกต่างเฉียบคม

ในภาคสอง อาจารย์พยายามอธิบายระเบียบวิธีคิดเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะกรอบวิธีคิดว่าด้วยการเมืองเชิงบูรณาการ และพื้นฐานที่สร้างมันขึ้นมา ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจระเบียบวิธีคิดที่อาจารย์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ระบอบทักษิณในเล่มแรกอย่างลึกซึ้งขึ้น บทสังเคราะห์ของอาจารย์สุวินัยถือเป็นความแปลกใหม่ที่ลึกซึ้ง และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาจารย์ช่วยถางทางนำพาสังคมไทยไปสู่ภูมิปัญญาใหม่

กระทั่งถึงภาคสุดท้าย อาจารย์สุวินัยได้เสนอทางออกต่อการเมืองไทย ด้วยข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึกของประเทศ ด้วยวิถีบูรณาการ โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับจิตวิญญาณของสังคมไทย เพื่อ “ข้ามพ้น” ระบอบทักษิณ

จริงๆ แล้ว ผมมีความเห็นว่า ข้อเสนอของอาจารย์สุวินัยก้าวไปไกลกว่าการข้ามพ้นระบอบทักษิณ หากเป็นการเตรียมตัวเพื่อข้ามพ้นระบบทุนนิยมด้วยซ้ำไป

น่าสนใจที่ทางออกของการเมืองไทยยุค “หลัง” ทักษิณ ในความเห็นของอาจารย์สุวินัย คือการหันกลับมาพัฒนาตัวคนที่ขั้นรากฐาน ซึ่งมิได้มีความหมายผิวเผินเพียงแค่การให้ความรู้ เพิ่มความสามารถในการใช้เหตุใช้ผล และยกระดับสติปัญญาเท่านั้น หากเป็นการพัฒนาถึงระดับจิตวิญญาณ ให้คนมีศักยภาพในการเข้าถึงความดี ความจริง และความจริง ในระดับจริงแท้ที่สุดให้ได้

สำหรับนักปฏิบัติการทางการเมืองระดับเข้มข้น เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้อาจดูเหินห่างไปจากชีวิตจริง ดูไกลตัวจนหลายคนละเลยไม่ให้ความสำคัญ เพราะคิดว่าโลกการเมืองกับโลกจิตวิญญาณไม่น่าจะประสานร่วมกันได้อย่างแนบแน่น

ผมเองก็เคยคิดเช่นนั้น จนถึงบ่ายวันหนึ่ง เมื่อสี่เดือนก่อน


- 3 –


หนังสือเล่มนี้มุ่งสร้างนักปฏิบัติการทางการเมืองในอุดมคติ ที่มีความเป็นพลเมือง มีจิตสำนึก มีสติปัญญา รู้จักตัวเอง รู้จักสังคม มีคุณธรรม ใจกว้าง ใส่ใจการพัฒนาจิตวิญญาณ มีโลกทัศน์แบบองค์รวม และพหุนิยม

ในฐานะที่ผมถือว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติการทางการเมืองคนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ได้เปิดโลกอีกด้านให้เราได้มีโอกาสสำรวจตัวเองถึงส่วนที่ยังพร่องและมักละเลย

ผมเองเป็นคนชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เคยมีความฝันอยากเป็นนักการเมือง ที่ผ่านมา ผมมักหมกมุ่นอยู่กับความพยายามจะเปลี่ยนโลกภายนอกรอบตัวให้ดีขึ้นมาตลอด แม้จะไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่หันเหมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ยังไม่ทิ้งบทบาทนักปฏิบัติการทางการเมือง เล่นการเมืองนอกสภาด้วยการเขียนบทความ สอนหนังสือ และวิจารณ์สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย ตามโอกาสอำนวย บางจังหวะก็ต้องลงมือเคลื่อนไหวเองด้วย

สมัยผมเริ่มติดตามการเมืองใหม่ๆ ก็เริ่มต้นจากการมองการเมืองในเชิงอุดมคติ และชอบเรียกร้องว่านักการเมืองที่ดี “ควร” จะเป็นอย่างไร ระบบการเมืองที่ดี “ควร” จะเป็นอย่างไร ต่อมา เมื่อมาสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเมืองและเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ มุมมองก็เริ่มเปลี่ยนมาสนใจหาคำอธิบายสภาพการเมืองแบบที่เป็นอยู่จริง ให้ความสนใจกับ “ระบบ” “กติกา” หรือ “สถาบัน” เหนือตัวบุคคล ด้วยคิดว่าระบบเป็นเหตุที่ส่งผลต่อไปยังพฤติกรรมของตัวละครในตลาดการเมือง

ต่อมาเมื่อได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันแนววิวัฒน์ ก็เริ่มคิดได้ว่า ลำพังสถาบันหรือกติกาที่ดีอย่างเดียวไม่พอ หากคุณภาพของความพอใจ (Preference) ของคนในสังคม รวมถึงค่านิยมและวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อความสำเร็จของสถาบันที่ดี ระบบที่ดีโดยเฉพาะกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ดีเพียงลำพังมิอาจนำพาไปสู่การเมืองที่ดีได้

ทั้งนี้ ตัวกติกาหรือสถาบัน ฝั่งหนึ่ง กับ พฤติกรรม ความพอใจ และค่านิยมของคน อีกฝั่งหนึ่ง จะวิวัฒน์ร่วมกัน และส่งผลกระทบกลับไปกลับมากระทบกันและกัน พูดง่ายๆ คือ กติกาที่ดีอาจช่วยให้คนที่ใช้กติกานั้นมีคุณภาพขึ้น เมื่อคนดีขึ้น กติกาก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น ดีขึ้นไปอีก ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การออกแบบสถาบันให้ดีแล้วจบ แต่ต้องศึกษาด้วยว่าภายใต้บริบทแบบใดที่ตัวกติกากับตัวคนจะวิวัฒน์ร่วมกันได้ เพื่อนำพาสังคมไปสู่ระดับที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถึงวันนี้ ผมยิ่งกลับมาคิดใหม่ว่า ตัวคนมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองอย่างยั่งยืน การยกระดับคุณภาพจิตใจ หรือจิตวิญญาณของคนในฐานะสัตว์การเมืองมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ระบบการเมืองที่มีคุณภาพต้องการทั้งกติกาที่มีคุณภาพ และคนใช้กติกาที่มีคุณภาพและถึงพร้อม

คนที่มีคุณภาพควรมีลักษณะอย่างไร?

ถ้าฝันไปให้ไกลที่สุด ก็คือ คนที่มีวัตรปฏิบัติใกล้เคียงกับแก่นที่หนังสือเล่มนี้แนะนำ

ตั้งแต่เด็ก ผมมักชื่นชมคนที่มีบุคลิกเป็น “นักรบ” ต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างไม่กริ่งเกรง สู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ ไม่มุ่งหวังลาภยศเงินทอง ไม่แยแสเปลือกนอกจอมปลอมของสังคม มีความเป็นขบถอยู่ภายใน มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นและมีส่วนลงมือร่วมสร้างมัน มุ่งมั่นต่อสู้อย่างมืออาชีพ มีคุณธรรม และภาคภูมิใจในเกียรติของตัวเอง

น่าเศร้าที่ในสังคมอนุรักษ์นิยมเช่นสังคมไทย ต้นทุนของการเป็นนักรบสูงยิ่ง แทนที่จะได้รับคำชื่นชม กลับถูกมองด้วยสายตาแปลกแยก ถูกค่อนแคะว่าเป็นพวกงี่เง่า ไม่รู้รักษาตัวรอด ถูกมองว่าเป็นตัวสร้างปัญหาก่อความวุ่นวาย บ้างก็โดนตราหน้าและกลั่นแกล้งโดยผู้เสียประโยชน์หรือผู้เกลียดชังการเปลี่ยนแปลง เช่นนี้แล้ว การออกรบแต่ละครั้งย่อมเหนื่อยยากแสนเข็ญ

ผมเองก็ใฝ่ฝันอยากใช้ชีวิตตามวิถีของนักรบที่ดี แต่ที่ผ่านมายังนับว่าห่างไกลจากการเป็นนักรบที่ดี ยังเป็นไม่ได้ จะมีก็แต่ความมุ่งมั่น แต่ยังไม่ถึงพร้อมทางใจ และบางครั้งก็ใช้สมองในการต่อสู้ไม่มากนัก เพราะชอบแทงตรงแบบอาฮุย ไม่ต้องมีกระบวนท่าให้มากความ ที่สำคัญ มัวแต่สนใจทำศึกนอก แต่ไม่เคยให้เวลาเอาชนะศัตรูภายในใจตัวเองเลย

เพื่อนสนิทของผมรู้ดีว่า ผมมีปัญหาสุขภาพมาช้านาน แทบทุกครั้งที่ต้องออกศึกสู้รบ มักจบลงด้วยอาการล้มป่วย ด้วยความเป็นเด็ก ผมยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์บางเรื่องได้ มักเก็บความทุกข์ของสังคมเข้ามาแบกเป็นความทุกข์ส่วนตัว ง่ายที่จะรู้สึกผิดหวัง ล้มเหลวในการปล่อยวาง รับความกดดันไม่ค่อยได้ และเป็นโรคภูมิแพ้เวลาพายุขวาจัดคลั่งชาติพัดแรง และเวลาที่เห็นความขัดแย้งจบลงด้วยรอยเลือดแทนที่จะด้วยสันติ

ศัตรูในใจของผมคอยฉุดรั้งศักยภาพในการต่อสู้อยู่เนืองๆ ในอดีต เมื่อป่วยไข้ทางกาย ก็พึ่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่รักษาแบบแยกส่วน ซึ่งผมก็เข้าใจว่าไม่ใช่ทางออก เพราะไม่ได้รักษาเหตุแห่งทุกข์ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และจริงๆ ก็ชอบปล่อยผ่าน ไม่ค่อยใส่ใจดูแลตัวเองเท่าไหร่ จัดการความเครียดได้ไม่ดี ไม่ใส่ใจออกกำลังกาย จนช่วงหลังมีอาการผิดปกติทางกาย เช่น รู้สึกวิงเวียนโคลงเคลงบ่อยครั้ง แม้จะยังอายุไม่มาก

กระทั่งบ่ายวันหนึ่ง หลังเสร็จการทำศึกในสมรภูมิหนึ่ง ผมมีอาการเครียด เวียนศีรษะ จะเป็นลม ไปห้องพยาบาลที่ตึกโดม กินยา ก็ช่วยไม่ได้มาก ผมกลับมาที่ห้องทำงาน เดินสวนกับอาจารย์สุวินัยที่ริมระเบียงทางเดิน อาจารย์ทักทันทีว่าเป็นอะไร หน้าซีดมาก จับชีพจรและเลือดลมดูแล้ว เห็นท่าอาการไม่ค่อยดี เลยรีบแสดงท่ามวยจีนให้ผมทำตาม

ผมไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้เลยแม้แต่น้อย แม้ชอบดูหนังจีนแต่ก็ไม่เคยเชื่อในพลังของมัน ที่ไม่เชื่อก็เพราะไม่เคยเจอพลังของมันกับตัวเอง ตามสันดานนักวิชาการประสบการณ์นิยม สารภาพว่า ตอนแรก ผมก็ทำไปอย่างนั้น ด้วยท่าทีแหยงๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะช่วยอะไรได้ แต่ไม่อยากให้เสียน้ำใจความหวังดีของอาจารย์

แต่อาจารย์สุวินัยกลับเอาจริงเอาจัง คอยจับตาแก้ไขท่าให้ผมอย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการป่วย จนผมต้องเริ่มจริงจังและใส่แรงทุ่มเท ผมทำท่ามวยอยู่ประมาณหนึ่งธูป เหงื่อเริ่มออก เลือดลมสูบฉีด ผมหายจากอาการวิงเวียนเป็นปลิดทิ้ง จนไปร่วมงานเลี้ยงในคณะต่อได้ ท่ามกลางความประหลาดใจของเพื่อนอาจารย์จำนวนหนึ่งที่เพิ่งเห็นผมหน้าซีดตัวเย็นเมื่อไม่กี่นานมานี้

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสพลังมหัศจรรย์ของการฝึกมวยจีนเพื่อปรับสภาพภายในร่างกาย วันต่อมา ผมไปคุยกับอาจารย์สุวินัย เล่าอาการป่วยทางกาย ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพจิตใจ ที่มักเกิดขึ้นกับผมให้อาจารย์ฟัง

ด้วยความหวังดี กลัวผมอายุสั้น อาจารย์เลยกรุณาเปิดคอร์สเร่งรัดบำบัดจิตวิญญาณ ฟื้นฟูกำลังภายใน ให้ผมด้วยวิถีมวยจีนเชิงบูรณาการ ซึ่งเป็นการรักษาโรคแบบองค์รวม

อาจารย์บางท่านที่ได้เห็นอาการของผมดีขึ้นทันตาเมื่อบ่ายวันนั้น ก็ขอเข้าร่วมฝึกมวยจีนกันด้วย เราฝึกกันสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลาประมาณสี่เดือนก่อนที่ผมจะกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ต่อที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

ท่วงท่าที่อาจารย์สุวินัยสอนมิได้มีเป้าประสงค์เพื่อการบริหารกายภายนอกเท่านั้น แน่นอนว่าท่าเหล่านั้นถือเป็นท่าออกกำลังกายก็ได้ แต่ยังมีคุณค่าในการบริหารอวัยวะภายใน เสริมพลังภายในตัว และฝึกจิตใจด้วย นอกจากนั้น อาจารย์ยังสอนศิลปะในการหายใจ ฝึกลมปราณ การทำสมาธิ การบริหารสมอง การบริหารฝ่ามือและนิ้วที่เป็นศูนย์รวมระบบประสาทในร่างกาย การเดินช้า เปิดจุดสำคัญในร่างกาย ท่าป้องกันตัว ฯลฯ ช่วงท้าย ยังแนะนำให้เราได้รู้จักหมากล้อมและฝึกสมาธิหมากล้อมอีกด้วย

ประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมา เคล็ดจำนวนมากอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว

ดังเช่นที่อาจารย์สุวินัยได้เขียนไว้ ความรู้บางประเภทอาจได้จากการอ่านและใช้เหตุผล แต่ความรู้บางประเภทต้องเกิดจากการปฏิบัติ ฝึกตน ต้องเคยมีประสบการณ์ตรงจึงจะเข้าถึงได้ ความรู้ที่ผมได้เรียนตลอดช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างหลัง ถึงวันนี้ผมตระหนักรู้ชัดเจนว่า ทำไมนักปฏิบัติการทางการเมืองควรฝึกฝนตัวเองด้านใน และใส่ใจเรื่องจิตวิญญาณ แม้จะเป็นวัตรปฏิบัติที่ดูแปลกแยกจากผู้คนทั่วไป แต่มิใช่เรื่องตลกไร้สาระ หากมีคุณค่าลึกซึ้ง

สี่เดือนผ่านไป สุขภาพกายของผมดีขึ้นมาก อาการเครียดไม่มาเยือน อาการวิงเวียนโคลงเคลงหายไป ความสามารถในการฝึกจิตเพื่อจัดการภาวะความเครียดดีขึ้นกว่าเดิมมาก นิ่งจนต่อสู้กับศัตรูภายในได้สูสีมากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยไม่ถูกมันครอบงำ ด้านอาจารย์บางท่านที่เป็นโรคเบาหวาน สภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นจนคุณหมอร้องทักและสั่งลดยา

ผมเพิ่งเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก

พูดไปก็เท่านั้น ต้องลองลงมือทำด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจว่ามันช่วยเพิ่มความสมบูรณ์พร้อมในตัวอย่างไร และช่วยขับศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเราออกมาได้อย่างไร

“ความสามารถในการรบชนะ” ย่อมเกิดจากการขัดเกลาฝึกฝนตนเองอย่างถึงที่สุด และเอาชนะศัตรูภายในตัวเองก่อนเป็นเบื้องแรก ดังเช่นวิถีของมูซาชิ

แท้ที่จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้มิได้เพียงต้องการสร้างนักปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสร้างจุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ เพื่อปูทางให้กับการเมืองใหม่ยุคหลังทักษิณหรือหลังทุนนิยมเท่านั้น แต่ใครก็ตามที่เคยผ่านการเคี่ยวกรำด้วยวิถีเช่นนี้ย่อมมีคุณภาพ และยกระดับตัวเองมุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

และถ้าหากใครรู้จักอาจารย์สุวินัยและเฝ้ามองการใช้ชีวิตของอาจารย์อย่างใกล้ชิด คงไม่ลังเลที่จะกล่าวว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คือวัตรปฏิบัติและตัวตนที่แท้ของมังกรธรรมผู้นี้นั่นเอง


- 4 –


บทเรียนสำคัญบทหนึ่งในคัมภีร์ห้าห่วงของมูซาชิคือ จงต่อสู้เมื่อคิดว่าจะชนะ

ในช่วงที่เราคงคัดง้างกับการเมืองกระแสหลักในรัฐสภาไม่ได้มาก ด้านหนึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะหันหน้ามุ่งแสวงหาภูมิปัญญาใหม่ๆ โดยสนใจกับประเด็นฉาบฉวยทางการเมืองน้อยลง เข้าห้องสมุดกันมากขึ้น ฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองให้หนักขึ้น ติดตามพรมแดนความรู้ใหม่ๆ และค้นคว้าวิจัยแสวงหาทางเลือกเชิงนโยบายที่แตกต่าง

การออกรบต้องมีพักเป็นระยะ ไม่มีนักรบคนใดที่สามารถใช้กระบี่เล่มเดิม ท่วงทำนองเพลงดาบเดิมๆ แล้วรบชนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งรบมาก ดาบก็ยิ่งบิ่น คู่ต่อสู้จับทางได้ ทางกระบี่ก็ถูกแก้

เช่นนี้แล้ว สภาพการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่มาพร้อมกับชัยชนะถล่มทลายของพรรคไทยรักไทย นับเป็นช่วงที่เหมาะเจาะที่จะพักรบ กลับไปตีดาบเล่มใหม่ ฝึกฝนเพลงกระบี่ใหม่ๆ แสวงหาภูมิปัญญาใหม่ ฝึกจิตฝึกสมาธิให้เข้มแข็ง เพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการกลับมา

ไม่ใช่เรื่องตลก หากจะบอกว่า วิถีการต่อสู้ทางการเมืองที่ทรงพลังภายใต้สถานการณ์การเมืองเช่นนี้ อาจอยู่ที่การหวนย้อนคืนสู่โลกด้านใน จมดิ่งไปกับการเคี่ยวกรำตัวเอง ด้วยการฝึกมวยจีน ฝึกสมาธิ ฝึกลมหายใจ เล่นกู่เจิ้ง หรือเล่นหมากล้อม ก็เป็นได้

จะหยิบมุซาชิฉบับท่าพระจันทร์กลับมาอ่านใหม่อีกรอบเหมือนผม ก็เป็นความคิดที่ไม่เลว


มีนาคม 2548

......

Wednesday, June 08, 2005

เรื่องของเขาและผม

- 1 -

ผมจำได้แม่นว่า มันเป็นเช้าวันหนึ่ง ในห้วงเวลาประมาณห้าปีก่อน ในห้องเรียนสุดหัวมุมชั้นสอง ของอาคารเดือน บุนนาค ที่รังสิต

ผมจำได้แม่นว่า เช้าวันนั้น ผมกำลังทำหน้าที่ตามปกติ โดยอรรถาธิบายทฤษฎีการบริโภคกรอกหูนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคเบื้องต้นประมาณสี่สิบคนในห้องเรียนห้องนั้น เขาเหล่านั้นเป็นสี่สิบคนที่ผมคุ้นหน้าคุ้นชื่อมาระยะหนึ่งแล้ว

ผมจำได้แม่นว่า เสี้ยววินาทีหนึ่ง สายตาของผมพลันเหลือบเห็นบุคคลแปลกปลอมที่พลัดหลงเข้ามาเป็นบุรุษแปลกหน้าท่ามกลางหมู่คนหน้าเก่า

ผมจำได้แม่นว่า สันดานชอบแกล้งคนของผมทำงานทันทีด้วยการชี้นิ้วไปยังบุคคลแปลกปลอมคนนั้น แล้วหล่นคำถามบางประโยค

“ทำไมผมไม่คุ้นหน้าคุณเลย?” ผมถาม

“ผมเป็นเด็กบีอีครับ มาเก็บตัวซ้อมรักบี้ แล้วเพื่อนชวนมานั่งเรียนด้วยครับ” เขาตอบ

“เคยเรียนวิชานี้มาหรือยัง?” ผมถามต่อ

“เรียนเมื่อเทอมก่อนครับ” เขาตอบกลับ

“ดี ... งั้นคุณก็สอนแทนผมได้สิ ลองอธิบายเรื่อง .......”

นับจากวินาทีนั้น – อย่างไม่เคยคาดคิด - ชะตากรรมของผมและเขาก็ถูกผูกคล้องกันเรื่อยมา กระทั่งถึงวันนี้ ... วันที่เขาก้าวเดินสู่บทเรียนใหม่แห่งชีวิต เปลี่ยนฐานะมาเป็นเพื่อนร่วมงานร่วมสถาบันของผม และกำลังไล่ล่าไขว่คว้าอะไรบางอย่างอยู่ เพื่อมุ่งหน้ายังบทเรียนต่อไป

ผมจำได้แม่นว่า หลังชั้นเรียน ผมกับเขายืนคุยกันต่อแถวบอร์ดหน้าห้องพักอาจารย์รวมในอีกหลายเรื่อง

เวลานั้น ผมไม่รู้หรอกว่า เขาคือ “เจ้าชาย” แห่งบีอีดังสมญาที่ใครหลายคนร่ำลือ (จะมีใครรู้ไหมว่าชื่อของเขามาจากเสียงแตรรถ ไม่ใช่เจ้าชายดังที่ถูกสร้างภาพ ดุจเดียวกับที่ใช้ภาพกระต่ายมาบดบังความเป็นเสือ)

เวลานั้น ผมไม่รู้ว่า เขาคือเบอร์หนึ่งของบีอี ผู้เป็นที่กล่าวขานในหมู่อาจารย์ ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 ในปีแรก

ผมไม่รู้อะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับตัวเขา

ผมจำได้แม่นก็แต่เพียงชื่อพยางค์เดียวของเขา


- 2 -

หลังจากพบกันครั้งแรก เราปะหน้ากันบ่อยครั้งตามทางเดินบนตึกสำนักท่าพระจันทร์ คำทักทายช่วงแรกเป็นบทสนทนาขนาดสั้น ที่มีหน้าที่เพียงไต่ถามทุกข์สุขกันตามประสาคนเริ่มคุ้นหน้า

แล้วสายลมแห่งชะตากรรมก็พัดมา

เมื่อผมได้รับมอบหมายให้ทำวิจัยสำรวจและประเมินโครงการบีอี เขาเป็นคนแรกที่ผมนึกถึง ยามต้องการนักศึกษาบีอีมาช่วยงานและสัมภาษณ์สอบถามความคิดเห็น

นี่เป็นงานแรกที่เรามีส่วนร่วมลงมือทำด้วยกัน

ไม่นานนัก บทสนทนาระหว่างผมและเขาก็เปลี่ยนจากบทสนทนาขนาดสั้น เป็น บทสนทนาขนาดยาว เปลี่ยนจากคำทักทายที่มีหน้าที่เพียงไต่ถามทุกข์สุขกันตามประสาคนคุ้นหน้า เป็น การแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องคณะ การศึกษา การเมือง สังคม ความฝัน และชีวิต

แม้ผมไม่เคยเป็นอาจารย์สอนเขาอย่างเป็นทางการ แต่ผมกับเขามีโอกาสผลิตบทสนทนาขนาดยาวกันบ่อยครั้ง ... บทสนทนาที่นอกจากผมได้เรียนรู้จากเขา ยังได้เรียนรู้ความเป็นตัวเขาด้วย

ผมคุยกับเขาไม่นานก็ไปฝึกวิชาต่อที่บ้านนอก แต่ตลอดเวลาที่เทียวไปเทียวมา กลับเมืองไทยคราใดก็ได้พบปะพูดคุยกับเขาเสมอ

ผมกับเขาสนิทสนมกันมากขึ้น เมื่อเขาได้รับเลือกเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่วิสคอนซิน แมดิสัน ผมและเขาได้ผลิตบทสนทนาข้ามรัฐลอดรัฐผ่าน MSN กันแทบทุกสัปดาห์ ทั้งที่ว่าด้วยเรื่องหนักหัวและเบาสมอง กระทั่งเขาเดินทางมาเป็นแขกรายแรกที่บ้านนอกของผม แล้วบทสนทนาก็แผ่อาณาจักรขยายวงไปถึงโลกแห่งความรัก

... พร้อมกับจำนวนขวดเบียร์ที่เพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของผมและเขาคือ สองปีที่ผ่านมา ผมและเขาได้ไปร่วมทำตัวเป็น “คนปลูกต้นไม้” กัน ณ โรงเรียนเก่าของเขา

การสอนเด็กมัธยมที่โรงเรียนเก่าของเขา ร่วมกับอาจารย์วรากรณ์และเขา เป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดในปี 2546 ของผม พวกเราได้ตระหนักในพลังสร้างสรรค์แห่งความเป็นครูว่ายิ่งใหญ่เพียงใด

เมื่อเวลาผ่านไป เราได้มีโอกาส "ท่องยุทธจักร" ร่วมกันบ่อยครั้ง ขึ้นเวทีสัมมนาร่วมกัน เป็นบรรณาธิการหนังสือด้วยกัน ฯลฯ

ในงานเปิดตัวหนังสือเล่มแรกในชีวิตผม คนที่ผม "เลือก" ให้ขึ้นเวทีตั้งวงสนทนาร่วมกัน ก็มีอาจารย์วรากรณ์ ภาวิน และก็เขานี่แหล่ะ โดยมีพี่โญดำเนินรายการด้วยคำถามมหาโหด หลังกลับจากการปลีกวิเวก

ช่วงหลัง แม้เขายังคงเรียกผมว่า “อาจารย์” แต่คำคำนั้นคงไม่เพียงพอที่จะสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผมและเขาได้ครบถ้วนทุกมิติ สำหรับผม เขามิได้เป็นเพียงอดีตลูกศิษย์ ที่ผมต้องพบเจอตามหน้าที่ หากเป็นทั้งน้องชาย และเป็นทั้งเพื่อนรักต่างวัยของผม

ไม่บ่อยครั้งในชีวิตอาจารย์ ที่ – ท่ามกลางลูกศิษย์ที่เปลี่ยนหน้าเข้ามาในชีวิต ปีละร่วมร้อยคน ปีแล้วปีเล่า - จะมีใครสักคน ที่สามารถปักหลัก ผูกผัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้

ถึงเวลานี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีเหลือเกิน


- 3 -

มีสองประโยคที่ผมบอกกับเขาอยู่บ่อยครั้ง

ประโยคแรกคือ ผมสัมผัสได้ถึงพลังล้นเหลือในตัวเขา นับแต่วันแรกที่ผมได้เจอ

ผมไม่รู้ว่า พลังที่ว่ามันคือพลังอะไร บางครั้ง ผมแกล้งเรียกมันว่า “พลังดารา”

แทบทุกครั้งที่ผมกับเขาได้ผลิตบทสนทนาร่วมกัน หรือลงมือทำอะไรบางอย่างร่วมกัน พลังที่ว่ามักส่องสว่างผ่านประกายตาคู่นั้นของเขา และแสดงความหนักแน่นผ่านน้ำเสียงคุ้นหูที่สดใสกังวาน

ผมไม่รู้ว่า พลังที่ว่ามันคือพลังอะไร รู้แต่ว่า มันเป็นพลังใกล้ตัวที่ผมคุ้นเคย แต่หายากตามสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะหายากในหมู่คนรุ่นเขา แม้กระทั่งคนรุ่นผม

สัญชาติญาณส่วนตัวทำให้ผมมั่นใจว่า พลังที่ว่า - ซึ่งซ่อนฝังอัดแน่นอยู่ในตัวเขา - เป็นพลังที่เปี่ยมศักยภาพในการทำให้สังคมอันเต็มไปด้วยปัญหาสังคมนี้ น่าอยู่ และดีขึ้น เป็นพลังที่มิได้มุ่งรับใช้ตนเองมากไปกว่าสังคมส่วนรวม

ที่น่ามหัศจรรย์คือ ยิ่งเขาเติบโตขึ้น ผมกลับพบว่า พลังในตัวเขา สว่างแสงแรงเรื่อยเป็นลำดับ

พลังของเขา ก่อร่างความหวัง และแต่งแต้มภาพแห่งอนาคตที่งดงามในสายตาของผม ที่สำคัญ พลังของเขาช่วยเสริมเติมพลังในตัวผม ที่มอดลงตามวัย ให้กลับมามีชีวิตชีวาลุกโชนขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

ประโยคที่สอง ทุกครั้งยามผมมองลึกเข้าไปในตัวเขา ผมมองเห็นภาพเลือนรางของตัวผมในอดีต

แน่นอนว่า ภาพของผมและเขามิได้ซ้อนทับกันอย่างแนบสนิท ... เขาไม่ใช่ผม และผมไม่ใช่เขา ความข้อนี้เป็นจริงโดยไม่มีสิ่งใดต้องพิสูจน์

แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ผมกับเขาแบ่งปันลักษณะบางอย่างร่วมกัน เผชิญชะตากรรม ความคาดหวังจากผู้คนรอบข้าง และเหตุการณ์ท้าทายบางลักษณะร่วมกัน ทั้งยังมีเส้นทางชีวิตในบางมิติมิผิดแผกแตกต่างกัน

ผมจะหาญกล้าอวดอ้างว่า เขาเหมือนผมได้อย่างไร ในเมื่อหากคำนึงถึงช่วงอายุเดียวกัน เขาเหนือกว่าผม แทบจะทุกกระบวนท่า


- 4 -

คนหลายคนอาจตัดสินคุณค่าของเขาจากใบแสดงผลการเรียนระดับเอกอุ คนหลายคนอาจตัดสินคุณค่าของเขาจากการเป็นนักกีฬาและนักกิจกรรมตัวยง คนหลายคนอาจตัดสินคุณค่าของเขาจากหน้าตาระดับนายแบบนิตยสารสำหรับคนวัยสิบเจ็ด

เขาจะเชื่อผมหรือไม่ หากผมบอกว่า ความนับถือของผมต่อเขา ไม่เคยใส่ใจเปลือกนอกเหล่านั้นเลย

มิใช่ผมไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น แต่ประสบการณ์สี่ปีที่ได้รู้จักกัน เขามีคุณค่าสูงส่งกว่าเปลือกนอกที่สังคมให้คุณค่าเหล่านั้นมากมายนัก

ความเป็นเขาต่างหากที่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด

ความเป็นเขาควรถูกให้นิยามเช่นไร?

... ความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง

... ความเคารพตัวเอง

... ความถ่อมตัว

... ความมีจิตใจสาธารณะ

... ความเข้มแข็งทางวิชาการ

... ความครบเครื่องรอบด้าน

... ความเฉียบแหลม

... ความใฝ่รู้

... ความสามารถทั้งคิด พูด เขียน

... ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

... ความสดใสมีเสน่ห์

... หรืออื่นใด? หรือทั้งหมดนั่นรวมกัน?

ผมไม่รู้ และมิบังอาจให้คำนิยาม

รู้เพียงแต่ว่า บนเส้นทางก้าวแรกในชีวิตอาจารย์ของผม ตลอดเกือบหกปีที่ผ่านมา การได้มีโอกาสสัมผัสความเป็นเขาในระดับใกล้ชิด และการได้เฝ้าสังเกตความเป็นเขาที่เติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตอาจารย์ของผม


- 5 -

เมื่อผมนั่งนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเขา ผมมักชอบคิดไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์วรากรณ์

ผมนึกถึงวันที่อาจารย์วรากรณ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เขียนจดหมายด้วยลายมือไปหาผมตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษามัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ทั้งที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อาจารย์แนะนำวิชาเศรษฐศาสตร์ ส่งหนังสือมาให้อ่าน ปลุกเร้าให้อยากเรียนเศรษฐศาสตร์ พร้อมทั้งมอบเบอร์โทรศัพท์ที่บ้านให้ผมโทรไปคุย และชวนมาพบปะพูดคุยที่คณะเศรษฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผมนึกถึงบรรยากาศที่อาจารย์วรากรณ์แลกเปลี่ยนความคิดกับผมอย่างเป็นกันเอง อบอุ่น และมีเมตตา ตั้งแต่สมัยผมยังใส่ขาสั้นชุดนักเรียนมัธยม นึกถึงความให้เกียรติที่อาจารย์มีให้เด็กรุ่นหลังอย่างผม นึกถึงความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผมทำงานใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย นึกถึงความห่วงใยที่อาจารย์มีต่อผมทั้งเรื่องชีวิต เรื่องเรียน เรื่องครอบครัว กระทั่งเรื่องรัก ตลอด 12 ปีที่รู้จักกัน

อาจารย์วรากรณ์เป็นตัวอย่างที่สอนผมด้วยการกระทำเสมอว่า ครูมิใช่เพียงนักสอนในห้องเรียน แต่ความเป็นครูลึกซึ้งกว่านั้นมาก สำหรับผม อาจารย์มิใช่เป็นอาจารย์ที่ผมรักและเคารพเท่านั้น หากเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือสูงสุดคนหนึ่ง

ผมเข้าใจอาจารย์ชัดเจนขึ้น หลังจากที่ อีกหลายปีต่อมา ได้อ่านข้อเขียนของอาจารย์ในหนังสือ “72 ปี อาจารย์ป๋วย” ที่อาจารย์เล่าให้ฟังว่า อาจารย์ป๋วยให้ความปรารถนาดีในหัวใจต่ออาจารย์ในฐานะลูกศิษย์ ลูกน้อง และลูกเพื่อน มากเพียงใด เนื้อหาตอนหนึ่ง อาจารย์เขียนว่า

“... ผมได้แต่หวังว่าในชีวิตนี้ ผมคงจะได้มีโอกาสตอบแทนท่านบ้าง ด้วยการสืบทอดความปรารถนาดีในหัวใจเช่นนี้ให้แก่ผู้เป็นเด็กกว่าผมในอนาคต ผมรู้ดีว่าสิ่งนี้แหละคือ สิ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วยปรารถนากว่าสิ่งอื่นใด ...”

ที่ผมนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์วรากรณ์ มิบังอาจยกตัวเองไปเทียบเคียง แต่ผมเชื่อว่า ตลอดห้าปีที่ผมได้รู้จักเขา ผมได้ลงมือทำสิ่งที่อาจารย์วรากรณ์คงปรารถนากว่าสิ่งอื่นใดเช่นกัน

เชื้อพันธุ์แห่งความดี ไม่มีวันตาย หากแพร่พันธุ์ได้รุ่นต่อรุ่น ผมเชื่อเช่นนั้น – และยิ่งเชื่อเช่นนั้น - ทั้งผมยิ่งมั่นใจว่า มันยิ่งไม่มีวันตายเมื่ออยู่ในมือคนปลูกต้นไม้อย่างเขา


- 6 –

ผมเคยบอกกับเขาว่า อาจารย์ที่ดีต้องเป็นเสมือนโค้ชฟุตบอลที่สามารถดึงพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวของนักเตะแต่ละคนออกมาได้ และสร้างสิ่งแวดล้อม ให้พลังในตัวของนักเตะแต่ละคน ที่แตกต่างกัน ได้เติบโตพัฒนาบนเส้นทางความถนัดและความชอบของตัวเอง ให้เขาเหล่านั้นตระหนักในพลังที่ตนมี และใช้มันเป็น

ผมเคยบอกกับเขาว่า อาชีพอาจารย์เป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีโอกาสสร้าง “โลก” ใบใหม่จำนวนมากมาย อาจารย์ที่ดีต้องช่วยทำให้ลูกศิษย์สามารถค้นหา “โลก” ของตัวเองเจอ เห็นคุณค่าของการลงแรงสร้าง “โลก” ของตัวเอง กระทั่งอาจต้องแนะแนวทางหรือช่วยลงไม้ลงมือ ให้เขาสร้าง “โลก” ที่เขาอยากเห็นและอยากเป็นได้สำเร็จ

หากทำเช่นนี้ เราย่อมได้ “โลก” ใบใหม่ มากมาย ที่ต่างสวยงาม ในแบบเฉพาะ บนวิถีทางแห่งตน จักรวาลนี้สวยงามก็เพราะมี “โลก” ที่แตกต่างหลากหลาย ... หรือมิใช่ ?

ถึงวันนี้ ผมมั่นใจว่าเขาคงมีแบบแปลนของ “โลก” ส่วนตัวของเขา และคงมีแผนการสร้าง “โลก” ส่วนตัวของเขาให้งดงามขึ้นในอนาคต ทั้งยิ่งมั่นใจว่า “โลก” ของเขาคงเต็มไปด้วยพื้นที่กว้างเผื่อแผ่ไปยัง “โลก” ของคนอื่นๆ

เท่าที่ผมได้สัมผัส ... “โลก” ส่วนตัวของเขาเป็นโลกที่สวยงามที่สุด “โลก” หนึ่ง เท่าที่ผมเคยเห็น

สวยงามเสียจนไม่ต้องการเครื่องประดับอื่นใด ไม่ว่าเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จฉาบฉวย หรือเกียรติยศอื่นใด มาประดับประดาให้รกหูรกตาอีก

Monday, June 06, 2005

The Time 100

ทุกปีนิตยสาร Time จะออกฉบับพิเศษว่าด้วย 100 บุคคลทรงอิทธิพลของโลก ซึ่งคณะกรรมการจะเลือกบุคคลหลากหลายสาขา ตั้งแต่นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักคิด ศิลปิน ฯลฯ ที่ชีวิต ผลงาน และความคิดของพวกเขาเหล่านั้นมีอิทธิพลหรือสร้างแรงบันดาลใจต่อชีวิตของคนบนโลก ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา

เสน่ห์อย่างหนึ่งของฉบับพิเศษนี้ คือ ผู้ที่เขียนแนะนำประวัติของ 100 บุคคลที่ได้รับเลือกแต่ละคนก็เป็นคนที่ 'ไม่ธรรมดา' ในสาขานั้นๆ เช่นกัน หรือไม่ก็มีความเกี่ยวพันกับผู้ได้รับเลือกทางใดทางหนึ่ง (แต่บางคนก็เขียนแนะนำโดยกองบรรณาธิการเอง) เช่น ปีนี้มี Henry Kissinger เขียนถึง Condoleezza Rice, Amartya Zen เขียนแนะนำ Manmohan Singh นายกฯอินเดีย, Sean Penn เขียนถึง Clint Eastwood, Donald Trump เขียนแนะนำ Martha Stewart เป็นต้น

ผมเลยนั่งอ่านด้วยความสนุก นอกจากสนุกกับการลุ้นว่า Time เลือกใคร เพราะอะไร แล้ว ยังสนุกกับการอ่านข้อเขียนของคนดังถึงคนดังด้วยกันเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีลีลาการเขียนไม่เบาเลย

ใครสนใจว่ามีใครติดโผบ้างก็ลองไปหาอ่านดูในนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2005 นะครับ ผมหยิบมาคุยให้ฟังล่าช้าไปเสียหน่อย

เอาเป็นว่า ผมจะเลือกหยิบเอาคนอเมริกันที่ติดโผสัก 5 คน มาเล่าสู่กันฟังดีกว่า ทั้ง 5 เป็นคนที่เราไม่คุ้นหน้าคุ้นชื่อเอาเสียเลย แต่ล้วนมีความน่าสนใจในตัวเอง เนื้อหาทั้งหมดตัดตอน เรียบเรียง มาจากข้อเขียนในนิตยสาร Time ครับ

......

Amy Domini

Domini เป็นนักลงทุนเจ้าของแนวคิด 'การลงทุนคุณธรรม' (Ethical Investing) เธอเป็นเจ้าของและผู้บริหารกองทุนรวม Domini Social Equity Fund มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกติกาว่าจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ปี 1990 Domini คิด Domini 400 Social Index เพื่อจัดลำดับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุด เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจปัญหาสังคม โดยดัชนี Domini วัดจากประเภทสินค้าที่บริษัทนั้นๆขาย, การใส่ใจต่อพนักงานบริษัท และท่าทีต่อผู้ถือหุ้น

กองทุนของเธอเลือกลงทุนในบริษัทที่ติดอันดับดัชนีรับผิดชอบต่อสังคมเหล่านั้น และประสบความสำเร็จดึงดูดนักลงทุนให้มาซื้อหน่วยลงทุนได้มากมาย ทั้งยังให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ ดัชนีของ Domini บังคับทางอ้อมให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Ford และ Intel ต้องปรับตัวในประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

"นี่เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อสร้างความรับผิด (Accountability)ให้เกิดขึ้นในสังคม" เธอกล่าวอย่างมั่นใจ

......

Reed Hastings

ชายวัย 44 ปีคือผู้สร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการเช่า DVD ในสหรัฐอเมริกา

เขาเริ่มตั้งบริษัท Netflix เมื่อปี 1997 พร้อมกับกลยุทธใหม่ คือ ผู้ต้องการเช่าหนังเข้าไปในเวปไซต์ที่มีหนังให้เลือกกว่า 40,000 เรื่อง - เลือกหนังที่อยากดูเรียงลำดับก่อนหลังไว้ในลิสต์ - จ่ายเงินเหมาจ่ายรายเดือน ประมาณ 18 เหรียญ - บริษัทจะส่ง DVD ทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้าน พร้อมซองเปล่าให้ลูกค้าส่งกลับคืนฟรีๆ เมื่อชมเสร็จ - ในเดือนหนึ่งจะยืมหนังกี่เรื่องก็ได้ไม่จำกัด โดย DVD จะอยู่กับเราได้ครั้งละไม่เกิน 3 แผ่น แต่นานเท่าไหร่ก็ได้ - ดูเสร็จ ส่ง DVD กลับ เมื่อบริษัทได้รับคืน ก็จะส่งหนังเรื่องต่อไปที่เราเลือกเข้าคิวไว้มาให้ต่อทันที - ไม่มีค่าปรับ เพียงแต่ถ้าดองหนัง ก็อดดูเรื่องใหม่ก็เท่านั้น มันจะไม่คุ้มเงินเหมาจ่ายรายเดือนเอาน่ะสิ

นี่เป็นระบบสิ่งจูงใจที่ถูกออกแบบได้ยอดเยี่ยมโดนใจนักดูหนัง ถือว่าระบบนี้เป็น win-win situation ของทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า ขนาดนักดองหนังอย่างผมยังถึงกับต้องรีบดูรีบคืน แต่ก็คุ้มค่าได้ดูหนังเดือนละหลายเรื่อง ราคาต่อเรื่องก็ถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับค่าเช่าตามร้านเช่าทั่วไป

ตอนนี้ Netflix มีสมาชิกกว่า 3 ล้านคน และเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจเช่าหนังออนไลน์

เชื่อหรือไม่ว่าแรงจูงใจที่ทำให้ Hastings เปิดบริษัทให้เช่าหนังแบบไร้ค่าปรับ ซึ่งเป็นหนามยอกอกนักดูหนังเรื่อยมา ก็เนื่องจากเขาโดน Blockbuster เล่นงานให้จ่ายค่าปรับโทษฐานคืนหนังช้ารวมเป็นเงิน 40 เหรียญนั่นเอง !

......

Eliot Spitzer

"ไม่เป็นไรน่า ... ใครๆเขาก็ทำกัน" คำพูดคุ้นหูที่เรามักได้ยินจากปากนักธุรกิจ ยามสร้างความชอบธรรมให้มาตรฐานจริยธรรมต่ำต้อยของตัวเองเวลาเล่นไม่ซื่อกับลูกค้าหรือผู้บริโภค เช่น โฆษณาเกินจริง นำเงินลูกค้าไปลงทุนอย่างไม่โปร่งใส ฯลฯ

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ Spitzer อัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่ชาว Wallstreet ขนานนามเขาว่า 'ปีศาจร้าย'

หลายปีที่ผ่านมา Spitzer เล่นงานบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ใน Wallstreet อย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เรียกว่าทำลายวัฒนธรรมเทาๆ ในวงการธุรกิจการเงิน - ซึ่งถูกปล่อยปละละเลยมานานเพราะมักเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา - ลงอย่างย่อยยับ

เมื่อปี 2002 เขาเล่นงานบริษัทวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ 10 แห่ง โทษฐานหลอกลวงลูกค้า โดยผลิตรายงานวิจัยที่ยกย่องสรรเสริญบริษัทในธุรกิจไฮเทคเผยแพร่ต่อกลุ่มลูกค้า ทั้งที่ในอีเมลภายในบริษัทวาณิชธนกิจเหล่านั้น เรียกบริษัทไฮเทคเหล่านี้ด้วยความดูถูกว่า 'ขยะ' สุดท้ายศาลสั่งปรับและลงโทษบริษัททั้ง 10 เป็นมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญ

หลังจากนั้น เขาก็เข้าไปจัดการเล่ห์เหลี่ยมของผู้จัดการกองทุนรวมที่หลอกกินเงินลูกค้า ต่อด้วยงัดข้อกับบริษัทประกันที่เอาเปรียบผู้บริโภค เอาจริงอย่างที่ไม่เคยมีใครหน้าไหนเล่นงานเหล่าอัศวินตลาดการเงินพวกนี้มาก่อน

ไม่แปลกใจที่เขากลายเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของ Democrat ในตำแหน่งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในการเลือกตั้งปี 2006

......

Burt Rutan

มีคนเพียง 24 คนเท่านั้นที่เคยไปเหยียบดวงจันทร์ ในรอบ 33 ปีที่ผ่านมา แต่การท่องอวกาศกำลังเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อ Burt Rutan สามารถออกแบบยานอวกาศเอกชนลำแรกได้สำเร็จ และขึ้นบินเที่ยวแรกได้เมื่อปี 2004 ภายใต้ชื่อ SpaceShipOne

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อปี 1996 XPrize ท้าพนันแจกรางวัล 10 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ ใครก็ตามสามารถสร้างยานอวกาศที่สามารถพาผู้โดยสารเดินทางไปยังปากประตูอวกาศ ซึ่งอยู่เหนือพื้นผิวโลกขึ้นไป 100 กิโลเมตร แล้วกลับสู่พื้นผิวโลกอย่างปลอดภัย และสามารถปฏิบัติภารกิจซ้ำเป็นครั้งที่สองได้ภายในเวลาไม่เกินสองสัปดาห์

เกือบสิบปี Rutan ก็ทำได้สำเร็จ ยานรูปร่างโฉบเฉี่ยวของเขาบรรจุผู้โดยสารได้ 3 คน แตะขอบอวกาศครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2004 และปฏิบัติการคว้ารางวัล 10 ล้านเหรียญเมื่อ 4 ตุลาคม ปีเดียวกัน

นับเป็นครั้งแรกที่มีการเดินทางสู่อวกาศโดยไม่อาศัยเงินทุนของรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว นายทุนคนสำคัญของเขาก่อนคว้าเช็คก้อนโตคือ Paul Ellen แห่ง Microsoft

......

Karl Rove

ว่ากันว่าเขาคือนักยุทธศาสตร์การเมืองที่เก่งที่สุดในเวลานี้

เหตุผลน่ะเหรอ? เพราะเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนหาเสียงพาบุชกลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง ทั้งที่ต้องต่อสู้กับเสียงแห่งความเกลียดชังจากทุกสารทิศ

กลยุทธของเขาคือพาบุชออกจากการแข่งขันเรื่องนโยบาย และจุดยืนของบุช แต่พลิกเกมให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันว่าด้วย 'ความกล้าตัดสินใจ'

ใครจะชนะเลือกตั้งด้วยสารที่มีเนื้อความระหว่างบรรทัดทำนอง "แม้คุณจะไม่ชอบจุดยืนผม, แต่อย่างน้อย ผมก็เป็นคนที่มีจุดยืนมั่นคงเพื่ออะไรบางอย่างละน่า" ได้

Rove ทำได้ ... ไม่ใช่เพราะตัว Bush เก่งกว่าหรือดีกว่าตัว Kerry แต่เพราะมีนักวางกลยุทธอย่าง Rove อยู่ข้างกายต่างหาก
......

Sunday, June 05, 2005

วันนี้ไม่อัพ ... อ้าว ?!?!

วันนี้ตอนแรกว่าจะอัพเดท blog เรื่องใหม่ แต่เผอิญไปร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนสมาชิกในตอนที่แล้ว เขียนไปเขียนมาล่อเสียยาวยังกะเขียนตอนใหม่

แถมคุณนิติรัฐ และคุณพี่บุญชิต ให้คำมั่นว่าจะแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีก

เลยขอปล่อย blog เดิมไว้ก่อนแล้วกันนะครับ ขอเชิญผู้สนใจที่ผ่านไปมาร่วมวงถกเถียงด้านล่าง ซึ่งดูท่าอาจจะเปลี่ยนประเด็นไปว่าด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญไทยเสียแล้ว

อ้อ แล้วตอนว่าด้วย 'คำให้การของ Anakin' สมาชิกก็ตีความและแสดงความเห็นกันได้อย่างน่าสนใจ และน่าถกเถียง ใครที่ไม่ค่อยได้แวะเวียนตามกลับไปอ่านส่วนแสดงความเห็น ลองเข้าไปดูนะครับ

หลายต่อหลายครั้ง คน comment เขียนกันดีกว่าเจ้าของ blog เสียอีก

... จัดจ้านกันจะตายคนแถวนี้

มีครบทุกแบบ โหดเหี้ยมแบบปริเยศ, ขี้อ้อนอย่างนิติรัฐ, กล้าและกวนอย่างพี่บุญชิต, ใจดีมีแต่ให้อย่าง corgiman, เสือซุ่มอย่างกระต่ายน้อย, ช่างคิดช่างสงสัยอย่าง Amore Vincit

และแฟนสวยอย่าง One life (ฮา)

ซึ่งเจ้าตัวเชื้อเชิญให้ตามไปพิสูจน์ได้ด้วยตาของท่านเองที่บ้านใหม่ (มันมีอวด) คลิกลิงก์ใหม่ด้านขวามือเลยครับ เจ้าตัวฝากบอกเพื่อนสมาชิกว่าย้ายบ้านแล้ว

Friday, June 03, 2005

Filibuster

การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง (Federal Judge) กลายเป็นหนังการเมืองเรื่องยาวของประธานาธิบดีบุช ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาลเทอมแรก จนปัจจุบันก็ยังคั่งค้างคาราคาซังอยู่

ระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาถูกออกแบบให้มีการคานและดุลอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และฝ่ายตุลาการ อย่างโดดเด่นและขึงขัง

ตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง ประธานาธิบดีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้ง โดยเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาลงมติให้การรับรอง หากไม่ผ่าน ว่าที่ผู้พิพากษาที่ได้รับการเสนอชื่อก็จะไม่ได้รับการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ผู้พิพากษาศาลส่วนกลางมีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ซึ่งยาวนานกว่าวาระของฝ่ายบริหารและรัฐสภา และการถอดถอนผู้พิพากษาจะกระทำโดยรัฐสภา มิใช่ฝ่ายบริหาร ระบบเช่นนี้ทำให้ผู้พิพากษาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการตอบแทนทางการเมือง

เรื่องราวของหนังยาวเรื่องนี้มีอยู่ว่า ในช่วงปลายสมัยบุช 1 มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลส่วนกลางให้วุฒิสภารับรองจำนวนสูงถึง 218 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษาในศาลส่วนกลางระดับเขต (US District Courts) มีจำนวน 46 คนเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนกลาง (US Courts of Appeals)ซึ่งเป็นศาลที่มีความสำคัญสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา (US Supreme Court) ที่ผมต้องเรียกว่าศาล 'ส่วนกลาง' เพราะระบบศาลสหรัฐอเมริกานั้น แต่ละรัฐก็มีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาในแต่ละรัฐอยู่แล้ว

ในขณะนั้น พรรค Democrat คัดค้านผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนกลางจำนวน 10 คน อย่างแข็งขัน ด้วยข้อกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว (ในอเมริกาเขาเรียกว่า 'ขวาจัด') จนน่ากลัวเกินกว่าที่จะให้อยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต และผลิตคำพิพากษาที่จะเป็น 'บรรทัดฐาน' ในการตัดสินคดีในอนาคต

ทีนี้ เมื่อประธานาธิบดีเสนอชื่อเข้าสภา วุฒิสภาต้องลงมติรับรองผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทีละคน ก่อนลงมติก็ต้องมีการอภิปรายกันก่อน ซึ่งการอภิปรายในวุฒิสภานั้น จะให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภาอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการจำกัดเวลาในการอภิปรายของสมาชิก และไม่จำกัดขอบเขตเนื้อหาการอภิปรายของสมาชิก ตามกติกานั้น สมาชิกวุฒิสภาจะอภิปรายเรื่องอะไรก็ได้ ใช้เวลานานเท่าใดก็ได้

วุฒิสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นสภาที่ให้คุณค่ารัฐแต่ละรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารัฐนั้นจะใหญ่หรือเล็ก จะจนหรือรวย มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด มีประชากรมากหรือน้อย ทุกรัฐล้วนมีตัวแทนในวุฒิสภาเท่ากันคือ รัฐละ 2 คน รวมสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น 100 คน ซึ่งต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ที่มีจำนวนสมาชิกสภาเป็นสัดส่วนตามจำนวนประชากร รัฐใหญ่ที่มีประชากรมากก็มีที่นั่งในสภาผู้แทนฯมากตามไปด้วย

ในระบบการเมืองอเมริกัน การเลือกตั้งแต่ละระดับจึงสะท้อนความเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน สภาผู้แทนฯ เป็นตัวแทนของประชาชนตามเขตเลือกตั้งย่อย วุฒิสภาเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ระดับรัฐ ในขณะที่ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ระดับชาติ

ย้อนกลับมาเรื่องการอภิปรายในวุฒิสภาต่อ

เมื่อสมาชิกอภิปรายจนพอใจแล้ว หรือมีคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด (60 คน) เสนอปิดอภิปราย กระบวนการอภิปรายก็จะจบสิ้นลง แล้วเข้าสู่กระบวนการลงมติ

คราวนั้นเหล่าสมาชิกวุฒิสภาพรรค Democrat ซึ่งหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคนได้รับการอนุมัติผ่านรัฐสภา จึงเลือกใช้กลยุทธ 'Filibuster' หรือการพูดมาราธอน อภิปรายเรื่อยไปไม่ยอมหยุด เพื่อลากยาวไม่ให้มีการลงมติ โดยอาศัยช่องว่างที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายได้ไม่จำกัดเวลาและหัวข้อ เพราะหากลงมติจริงก็มีแนวโน้มที่จะแพ้สูง เนื่องจาก Republican มีเสียงข้างมากในสภา โดยมี 51 ที่นั่ง

การอภิปรายครั้งประวัติศาสตร์ในสภาเมื่อพฤศจิกายน 2003 เริ่มต้นตั้งแต่เย็นวันพุธไปจบเอาเช้าวันศุกร์ ถึงกับต้องนำเตียงมาหลับนอนกันในสภาทีเดียว

สงครามการเมืองรอบนั้นจบลงด้วยการต่อรอง จนฝ่ายรัฐบาลต้องยอมถอนชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคนออก ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลส่วนกลางจึงยังว่างอยู่หลายตำแหน่ง

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยบุช 1

จนกระทั่ง ประธานาธิบดีบุชเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สอง กลับมาคราวนี้ บุชมาพร้อมกับเสียงในวุฒิสภาที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม เป็น 55 จาก 100 ที่นั่ง บุชได้เสนอชื่อบุคคลเจ้าปัญหาเมื่อครั้งกระโน้น 7 คน จาก 10 คน กลับเข้าสู่การอนุมัติจากวุฒิสภาใหม่อีกรอบ ด้วยอาจจะมั่นใจในเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่เพิ่มมากขึ้นของตัว

แน่นอนว่า ฝ่ายพรรค Democrat ย่อมแสดงท่าทีต่อต้าน โดยเฉพาะต่อต้านผู้พิพากษาขวาสุดโต่งที่ขนานนามกันว่า Gang of three นั่นคือ Janice Rogers Brown, William Pryor และ Priscilla Owen ที่บุชเสนอชื่อกลับเข้ามาอีกรอบ โดยเฉพาะคนหลังเป็นที่จับตามอง เนื่องจากเคยเป็นผู้พิพากษาศาล Texas ถิ่นของบุช ทั้งยังเป็นเพื่อนบุชอีกด้วย

ในฐานะที่พรรค Democrat มีเสียงข้างน้อยในสภา ก็เลยต้องงัดกลยุทธ Filibuster มาใช้เป็นไม้ตายในการต่อสู้เสียงข้างมากของ Republican อีกรอบหนึ่ง

แม้ Republican จะมีเสียงข้างมาก แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะปิดการอภิปรายได้ (มีแค่ 55 เสียง แต่ต้องใช้ 60 เสียง) ทำให้ไม่สามารถแก้เกม Filibuster ตามวิถีปกติตามรัฐธรรมนูญได้

มาคราวนี้ Bill Frist ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาของพรรค Republican จึงตอบโต้โดยขู่ว่าจะใช้เสียงข้างมาก(และช่องว่างทางเทคนิคบางประการ ที่สหรัฐอเมริกาก็มีเนติบริกรเหมือนกัน) แก้กติกาการใช้ Filibuster ในกระบวนการรับรองผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง โดยจะเปลี่ยนให้สามารถใช้คะแนนเสียง 51 เสียงขึ้นไป (Simple majority voting rule) ปิดการอภิปรายได้ เพื่อนำไปสู่การลงมติ

โดยตั้งชื่อปฏิบัติการนี้ว่า Nuclear option

ดีเดย์คือ หาก Democrat ใช้ Filibuster กับนาง Priscilla Owen ผู้พิพากษาแห่ง Texas เพื่อนของบุช ที่บุชเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนกลาง Frist จะผลักดัน Nuclear option เพื่อพิฆาต Democrat

หาก Frist สามารถกดปุ่มยิงนิวเคลียร์ทำลาย Filibuster ได้สำเร็จ Filibuster ที่มีที่ทางยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันในฐานะเครื่องมือรับประกันคุณค่าของ 'เสียงข้างน้อย' ย่อมสูญสิ้นไป จากที่สมาชิกวุฒิสภาเพียงคนเดียวสามารถทำ Filibuster เพื่อขวางทางกฎหมายที่ตนไม่เห็นชอบอย่างรุนแรงได้ คราวนี้ เสียงข้างมากเกินครึ่งในวุฒิสภาก็สามารถลากไปไหนต่อไหนได้ตามใจชอบ เสียงข้างน้อยก็หมดความหมาย

การขู่ยกเลิก Filibuster จึงเป็นประเด็นถกเถียงที่เผ็ดร้อนในสังคมการเมืองอเมริกันเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว กระทั่งมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางของภาคประชาสังคม จัดตั้งกลุ่มและล่าลายเซ็นเพื่อ Save Filibuster ขึ้นมามากมาย

ที่หวาดกลัวกันที่สุดก็คือ เร็วๆ นี้คาดการณ์ว่า บุชจะได้เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศาลที่สำคัญที่สุด และทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญไปด้วยในตัว เพราะนาย William Rehnquist อาจจะลาออก เนื่องจากปัญหาสุขภาพที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง

นี่จะเป็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในรอบเกินสิบปี เพราะตำแหน่งนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต และมีองค์คณะเพียง 9 คน ซึ่งในอดีต การแต่งตั้งผู้พิพากษาแต่ละครั้ง เป็นการประลองกำลังครั้งสำคัญของ ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ตามนิยามอเมริกา) อย่างเข้มข้นดุเดือดทุกครั้ง และจะเป็นเครื่องชี้อนาคตของสังคมอเมริกันระดับหนึ่ง เพราะ 'ตัวตน' ของผู้พิพากษาที่ได้รับแต่งตั้งจะมีบทบาทสำคัญในการ 'ตีความ' กฎหมาย และ 'สร้าง' บรรทัดฐานใหม่ให้สังคมอเมริกัน ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกระทบวิถีชีวิตของผู้คนเดินถนนทั่วไป

เมื่อถึงวันนั้น Filibuster อาจเป็นทางออกสำคัญสำหรับการต่อรองทางการเมือง เพื่อแก้วิกฤตทางสังคมจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา

......


นักดูหนังคงรู้จักหนังการเมืองอารมณ์ดีคลาสสิกที่ชื่อ Mr.Smith goes to Washington (1939) ของ Frank Capra หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จัก Filibuster เพราะพระเอกในฐานะนักการเมืองมากคุณธรรมใช้ Filibuster หรือการพูดมาราธอนเป็นอาวุธต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสภา

ว่ากันง่ายๆ Filibuster คือ กลยุทธในการเตะถ่วงในชั้นอภิปรายพิจารณากฎหมาย เพื่อขวางไม่ให้เข้าสู่กระบวนการลงมติโดยใช้วิธีการต่างๆ โดยมากจะใช้การอภิปรายมาราธอน พูดไปเรื่อย ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับประเด็นอภิปราย เรียกว่าใช้การพูดฆ่าเวลาเพื่อฆ่ากฎหมาย

Filibuster ไม่ได้มีอยู่แค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังทำได้ในสหราชอาณาจักร แคนาดา ฯลฯ กระทั่งในเกาหลีใต้ ที่มีช่องทางการเตะถ่วงการลงมติ โดยให้สมาชิกรัฐสภาเดินออกไปยังที่ลงคะแนนโดยเคลื่อนไหวให้ช้าที่สุด เพื่อถ่วงเวลา ซึ่งเรียกว่า cow walk

สำหรับในสหรัฐอเมริกา การทำ Filibuster หลายครั้งถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ครั้งที่โด่งดัง เช่น

เมื่อปี 1935 นาย Huey Long ทำ Filibuster โดยเอาหนังสือ Shakespear คัมภีร์ไบเบิล สมุดโทรศัพท์ รวมไปถึงสูตรทำอาหาร มาอ่าน รวมเวลาทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง

ส่วนสถิติ Filibuster ยาวนานที่สุด เป็นของนาย Strom Thurmond ที่อภิปรายเตะถ่วง Civil Rights Act ในปี 1957 โดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง 18 นาที ว่ากันว่า นาย Thurmond ต้องเข้าห้องอบไอน้ำ เพื่อ dehydrate ตัวเองก่อนทำ Filibuster เพื่อให้ตัวเองสามารถพูดไปดื่มไป โดยไม่ต้องเข้าห้องน้ำ

กระบวนการทำ Filibuster ที่กินเวลายาวนานที่สุดอยู่ที่ 87 วัน โดยกลุ่มผู้คัดค้าน Civil Rights Act อีกฉบับหนึ่ง ผลัดกันพูดถ่วงเวลาในปี 1964

เมื่อปี 1992 นาย Alfonse D'Amato แอบมีแก่ใจร้องเพลง Deep in the Heart of Dixie ในห้องประชุมตอนตีห้า ขณะทำ Filibuster

อ่านเกร็ดเหล่านี้แล้วอาจรู้สึกขำขัน แต่แก่นของ Filibuster คือการเคารพความเห็นของเสียงส่วนน้อย เพื่อไม่ให้เกิดสภาพพวกลากมากไปในสภา ที่เสียงส่วนใหญ่ชนะทุกเรื่อง โดยที่ไม่ต้องใส่ใจเคารพความเห็นเสียงส่วนน้อยเลย

การทำ Filibuster ทำให้สมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างน้อย แม้เพียงเสียงเดียว สามารถขัดขวางกระบวนการออกกฎหมายหรือให้การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญได้ การมี Filibuster เป็นคำขู่ที่น่าเชื่อถือ (Credible threat) ของฝ่ายเสียงข้างน้อย ทำให้ฝ่ายเสียงข้างมากต้องประนีประนอมกับฝ่ายเสียงข้างน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Filibuster ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้โดยไม่เห็นหัวฝ่ายเสียงข้างน้อยเอาเสียเลย ไม่ใช่สอดไส้เสนอกฎหมายอะไรเข้าสภา หรือเอะอะไม่พอใจก็ยกมือขอปิดอภิปราย รวบรัดให้ลงคะแนน ซึ่งสุดท้ายตนก็ชนะทุกทีไป

วัฒนธรรมทางการเมืองที่ดูแปลกประหลาดอย่าง Filibuster กลับเป็นเครื่องมือที่บังคับให้นักการเมืองทั้งสองฝ่ายต้องทำงาน 'ร่วม' กัน ไม่สามารถหักหาญอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เห็นหัว แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการประนีประนอม แม้ฝ่ายตนจะมีเสียงข้างมากก็ตาม

ระบอบประชาธิปไตยมิใช่ระบอบของเสียงข้างมาก หากคือระบอบที่เสียงทุกเสียงควรได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน การเคารพคุณค่าของเสียงข้างน้อยสำคัญไม่แพ้การยอมรับในคำตัดสินของเสียงข้างมาก

คุณค่าเหล่านี้คือเหตุผลที่หลายคนพยายามจะรักษา Filibuster ไว้ ให้ปลอดภัยจาก Nuclear option

วิกฤต Filibuster มาคลี่คลายเอาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อสมาชิกสายกลางของทั้ง Republican และ Democrat พรรคละ 7 คน ประกาศรวมตัวกันตั้ง Group of 14 เพื่อ 'ผ่าทางตัน' วิกฤตการเมือง โดยลงสัตยาบรรณว่า จะขัดขวาง Nuclear Option แต่ก็จะสงวน Filibuster ไว้ใช้ในสถานการณ์พิเศษจริงๆ เท่านั้น โดยจะไม่ใช้ Filibuster กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการของวุฒิสภาอีก 3 คน (นั่นคือ กลุ่ม Gang of three ข้างต้น)

กลุ่ม 14 มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ฝ่าย Republican จะใช้เสียงข้างมากลากไป เพื่อใช้ Nuclear option ทำลาย Filibuster ได้ (Republican เหลือ 48 เสียง โดยหัก 7 เสียงของ Republican ออกไป) และยังมีขนาดใหญ่พอที่จะเสนอปิดอภิปราย หาก Democrat ดึงดันที่จะใช้ Filibuster พร่ำเพรื่อ (มีเสียง 62 เสียง ที่พร้อมจะเสนอปิดอภิปราย โดยเพิ่ม 7 เสียงของ Democrat เข้ามา)

สุดท้าย เมื่อดุลอำนาจในสภาเปลี่ยน อันเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของกลุ่มสิบสี่ ผู้นำของทั้งสองฝ่ายจึงตกลงร่วมกันปล่อย Gang of Three ให้เข้าสู่การลงมติ (ล่าสุด นาง Owen ได้รับการรับรองไปแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งสิ้นนับตั้งแต่บุชเสนอชื่อเธอครั้งแรกถึง 4 ปี กว่าจะได้รับการรับรอง) ส่วนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่ออีกสองคน คือ William Myers และ Harry Saad ซึ่งกำลังจะเข้าสู่กระบวนการของวุฒิสภาเร็ววันนี้ ยังไม่ได้ตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะเอาอย่างไร

......


ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาสามารถรักษามรดก Filibuster ที่มีอายุกว่า 200 ปี ไว้ได้ ในประเทศหนึ่งแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับเผชิญปรากฎการณ์ตรงกันข้าม

ฝ่ายค้านต้องควานหาสองเสียงอย่างยากลำบากเพื่อให้สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้

สมาชิกสภาผู้แทนฯฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ยื่นหนังสือแสดงความเห็นทางการเมืองในทางที่หัวหน้ารัฐบาลไม่ชอบใจ ต้องลุกลนกุลีกุจอถอนชื่อกันอย่างมือไม้สั่น เพียงแค่ท่านผู้นำออกมาส่งเสียงคำราม

ฯลฯ

นักออกแบบรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งใฝ่ฝันอยากเห็นระบบพรรคการเมืองสองพรรค ทั้งที่หลงลืมไปว่า ในประเทศตะวันตกที่เราชอบอ้างเขาหนักหนานั้น พรรคการเมืองมีสองพรรคใหญ่จากพัฒนาการที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่จากอคติของกฎหมายที่บั่นทอนพรรคเล็ก และทั้งสองพรรคก็มีความแตกต่างทางอุดมการณ์อย่างค่อนข้างชัดเจน ยากที่คนพรรคหนึ่งจะย้ายไปอีกพรรคหนึ่งได้โดยง่าย

ทั้งที่หลงลืมไปว่า ในประเทศที่มีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ ก็ยังเต็มไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากมาย ที่มีกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งกินความมากไปกว่าเพียงการแข่งกันเพื่อชนะเลือกตั้ง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สมัครเลือกตั้งลงสมัครอิสระ โดยไม่สังกัดพรรคได้ด้วย

ทั้งที่หลงลืมไปว่า แม้ ส.ส.ที่สังกัดพรรคก็มีอิสระที่จะแสดงความเห็นและลงคะแนนตามอุดมการณ์ความเชื่อของตน โดยไม่มีมติพรรคมาครอบงำเจตจำนงเสรี

หากกติกาทางการเมืองเอื้อให้เกิดระบบพรรคใหญ่สองพรรค แต่พรรคการเมืองทั้งสองหาได้มีความแตกต่างเชิงอุดมการณ์ แต่สมาชิกภายในพรรคไร้ซึ่งความเป็นอิสระ แต่อำนาจในพรรคถูกผูกขาดโดยผู้นำสูงสุดเพียงเท่านั้น แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่อยากสังกัดพรรคดำเนินการทางการเมืองได้อย่างอิสระ แต่ขาดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มแข็งและจริงจัง แต่รัฐมักบั่นทอนความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน ...

ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ภาพฝันของการเมืองในอุดมคติจักเกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง มิหนำซ้ำ การณ์อาจเลวร้ายลงกว่าเดิม