pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Monday, July 25, 2005

01002

ไม่ใช่เลขใบ้หวย แต่ 01002 คือรหัสไปรษณีย์ของ Amherst เมืองที่ผมเรียกขานมันว่า 'บ้านนอก'

ตอนผมเห็นครั้งแรก ก็ว่าเลขมันแปลกดี เพิ่งมาอ่านหนังสือประวัติเมือง Amherst ถึงได้รู้ความหมายของ ZIP code ห้าตัวที่เราใช้จ่าหน้าซองจดหมายบ่อยๆ

หลักของ ZIP code ในอเมริกา เป็นอย่างนี้ครับ

ตัวหน้าสุด เรียงตั้งแต่ 0-9 หมายถึงเขตพื้นที่อย่างหยาบ อย่าง 0 คือบริเวณภาคอีสาน (New England ทั้ง 6 รัฐ), 9 คือบริเวณฝั่งตะวันตก (West coast) เป็นต้น

2 ตัวถัดมา เริ่มต้นด้วย 10 หมายถึงเขตพื้นที่ย่อยลงไปอีกชั้น อย่าง 10 ของผมนี่คือบริเวณรอบๆ Springfield ในรัฐ Massachusetts

2 ตัวสุดท้าย หมายถึงที่ทำการไปรษณีย์ระดับเมืองเล็ก ๆ กรณีนี้ 02 ก็คือ Amherst นั่นเอง

ถ้าเรียงตามหลักนี้ รหัสไปรษณีย์แรกสุดของสหรัฐอเมริกาก็คือ 01001 นั่นคือ เมือง Agawam ในรัฐ Massachusetts

Amherst ของผม นับว่าเป็นเมืองอันดับสองหากนับตาม ZIP code

ก่อนกลับเมืองไทย ขออวดหน้าตาบ้านนอกของผมหน่อยแล้วกันนะครับ




เมืองเล็กๆ ของผม Downtown มีเพียงหนึ่งแยกไฟเขียวไฟแดง มองจากต้นก็เห็นสุดปลายถนนแล้ว (รูปนี้ถ่ายตรงสี่แยก)







ที่บ้านนอก ย่านการค้าไม่เป็นตึกธุรกิจสมัยใหม่ แต่เป็นตึกอายุเก่าแก่บ้าง เป็นบ้านปรับเป็นร้านบ้าง ทั้งเมืองเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่สีเขียวสด ถ้าขึ้นบนที่สูง มองลงมาจะไม่เห็นเมืองและผู้คน เห็นก็แต่สีเขียวของแมกไม้





ตัวอย่างของร้านค้า และบริษัทในเมือง ช่วงนี้ปิดเทอม เมืองก็เงียบเหงา เพราะเมืองนี้คือเมืองมหาวิทยาลัย นอกจาก UMAss Amherst แล้ว รอบๆ Amherst ยังมีอีก 4 College ได้แก่ Amherst College, Hampshire College, Smith College และ Mount Holyoke College รวมกันเป็น Five College Consortium สามารถเรียนข้ามกันไปมาได้



ตึกที่สูงที่สุดในเมือง Amherst คงจะเป็นโบสถ์แห่งนี้ละมั้ง








แต่ก็ไม่แน่เพราะ Town Hall ก็สูงสูสีกัน บ้านนอกของผมไม่มี Mayor แต่มีคณะกรรมการบริหารเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และยังใช้ระบบ Town Meeting อยู่เลย







ถ้าชีวิตของนิติรัฐขาดสาวๆ ไม่ได้ ชีวิตผมก็ขาดไอติมไม่ได้ นี่คือ Barts ร้านไอติมท้องถิ่นของ Amherst มีหลากหลายรสชาติ ทำจากส่วนผสมธรรมชาติล้วนๆ





ต่อด้วย ร้านไอติม New England ที่มีสาขาทั่วโลก อย่าง Ben&Jerry รกรากอยู่ที่ Vermont ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวโรงงานไอติม Ben&Jerry เลย ที่โรงงานมีบริเวณหลุมศพไอติมด้วยนะครับ เอาไว้ฝังรสชาติที่ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว ตอนนี้ Ben&Jerry กำลังมีโครงการให้โหวตคืนชีพไอติมอยู่ว่าต้องการให้รสไหนในอดีตกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง




เสน่ห์ของบ้านนอกอีกอย่างก็คือ แม้ Downtown จะเป็นเพียงแค่ถนนเล็กๆ สั้นๆ แต่มีร้านหนังสือเรียงรายกันถึง 5 ร้าน อย่างร้าน Food for Thought นี้ เป็นร้านหนังสือในรูปสหกรณ์ คนงานร่วมกันเป็นเจ้าของ





Antonio Pizza ร้านพิซซ่าท้องถิ่นชื่อดัง เป็นร้านแรกๆ ที่เป็นร้าน Pizza-by-the-slice ของเมือง

แต่ละวันมีรสชาติให้เลือกมากมายกว่า 20 หน้าได้ มีหน้าพิซซ่าแปลกๆ ผลัดกันมาให้ชิมเสมอ เช่น พิซซ่าเทริยากิ พิซซ่ามีตพาย ฯลฯ





บ้านนอกยังเป็นที่อยู่ของสองมหากวีแห่งอเมริกา Emily Dickinson และ Robert Frost รายแรกเกิด โต และตาย ที่ Amherst รายหลังย้ายมาอยู่บ้านนอกช่วงหนึ่งของชีวิต เคยสอนใน Amherst College

จากรูปคือแผ่นรูปสองมิติของทั้งคู่ในสวนสาธารณะ ข้างตัวเขามีแผ่นเล่าประวัติและบทกวีของเจ้าตัว


เอารูปมาอวดกันพอหอมปากหอมคอครับ ไว้วันหลังจะเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของบ้านนอกให้อ่านกันต่อ รวมทั้งจะโพสต์รูปสำนักหลังเขาให้ชมกันด้วย

รูปใน blog ผมไม่ได้ถ่ายเองนะครับ แต่เป็นฝีมือของนายกฤษฎา เพื่อนเก่าน้ำเงิน-ขาวของผมเอง ใครอยากชมฝีมือถ่ายภาพของยอดตากล้องรายนี้ เชิญชมต่อได้ที่ http://www.pbase.com/krisada มีภาพสวยๆ จากทั่วอเมริกาให้ชมกัน

Saturday, July 23, 2005

โรคภูมิแพ้

ผมมีโรคประจำตัวอยู่โรคหนึ่งคือ โรคภูมิแพ้

สมัยอยู่เมืองไทยก่อนมาเรียนต่อที่บ้านนอก อาการกำเริบเสิบสานขนาดหนัก หมดเงินรักษาไปหลาย เปลี่ยนหมอก็หลายหมอ รักษายังไงก็ไม่ยอมหายเสียที กระทั่งเกิดดวงตาเห็นธรรม เมื่อคุณหมอท่านหนึ่งประกาศเสียงดังฟังชัดว่า หนทางเดียวที่ผมจะหายขาดได้ คือย้ายออกไปจากกรุงเทพซะ !

บังเอิญผมต้องจากสยามเมืองดุไปฝึกวิชาที่บ้านนอกพอดี

มาอยู่ที่บ้านนอกช่วงแรก ไม่มีอาการภูมิแพ้ให้เห็นเลยแม้แต่น้อย เพราะที่นี่อากาศดี ไร้ฝุ่น ไร้ควันพิษ ฟ้าใสสีฟ้าสด

แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อผมหวนกลับมารอบนี้

กลับบ้านนอกรอบนี้ ภูมิแพ้รังควานผมตั้งแต่วันแรกที่เครื่องบินแตะพื้นจนถึงปัจจุบัน เดิมคิดว่าเป็นเพราะอากาศหนาวจัดช่วงหน้านรก แต่แล้ว แม้ย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ จนถึงหน้าร้อน อาการภูมิแพ้ก็ยังป้วนเปี้ยนอยู่กับผมไม่หาย เป็นที่น่ารำคาญใจยิ่งนัก

ผมเป็นภูมิแพ้ที่ระบบทางเดินหายใจ เมื่อร่างกายปะทะเกิดอาการภูมิแพ้ เยื่อจมูกก็จะบวม เหลือช่องสำหรับหายใจนิดเดียว หายใจลำบาก น้ำมูกคั่งอยู่ข้างใน กว่าจะระบายออกมาได้ก็ยากเย็น นานวันเข้า ก็สะสมหมักหมม จนไซนัสอักเสบ พาลปวดขมับได้ง่ายๆ

ในรอบห้าเดือนมานี้ ผมเลยต้องเดินเข้าเดินออก Health Service Center หลายรอบ

คุณหมอบอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากที่สุดของคนเป็นภูมิแพ้ ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาเพิ่มจำนวนสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ กระทั่งตัวหมอเอง ที่เป็นภูมิแพ้เหมือนกัน ยังบอกว่า ปีนี้อาการเขาแย่ที่สุดในรอบสิบปีทีเดียว

บริเวณบ้านนอกของผมมีภูมิประเทศเป็นแอ่ง ล้อมรอบด้วยภูเขาสี่ด้าน สิ่งต่างๆตามธรรมชาติสารพัดที่จะทำให้คนแพ้เลยถูกพัดพาจากทั่วทุกด้านมากองรวมกันที่แอ่งตรงนี้

วันนี้ผมก็เพิ่งไปหาหมอมาเพื่อเกาะติดอาการ หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว คุณหมอเปลี่ยนยาชุดใหม่มาให้ลอง เพราะยาชุดเก่าที่กินมาหลายเดือนไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นดังหวัง ยาชุดใหม่นี่ทั้งเยอะกว่า เม็ดใหญ่กว่า ที่สำคัญโคตรแพงกว่า !

ขณะที่เขียน blog อยู่นี้ ก็ยังไอแห้งๆ ไป สั่งน้ำมูกไป เสลดติดคออยู่

เดิมอยู่กรุงเทพ ผมรู้ว่าผมแพ้ฝุ่น แพ้อากาศเสีย เพราะขึ้นรถเมล์ขาวแดงทีไร เป็นต้องได้เรื่อง อาการภูมิแพ้กำเริบง่ายดาย หลังๆ เลยต้องดัดจริต แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เลี่ยงฝุ่นเลี่ยงควันพิษได้เป็นเลี่ยง ถ้าช่วงไหน มีรายได้ไหลเข้ามาก ก็นั่ง Taxi เดินทาง ช่วงไหนได้แต่เงินเดือนปกติ ก็นั่งรถเมล์แอร์ ไม่งั้นไม่คุ้มค่ายา หากไม่จำเป็นก็ไม่ขึ้นรถเมล์ขาวแดง นอกจากเดินทางสั้นๆ ไม่กี่ป้าย

แต่ที่บ้านนอกนี่ ยังงงๆ อยู่ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองแพ้อะไร ต่อสู้กับอะไรอยู่ เลยไม่รู้จะป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่รู้ว่าควรจะหลีกเลี่ยงอะไร พอไม่รู้จักศัตรูก็แก้ปัญหาไม่ได้ อัดยาเข้าไปมากๆ ก็ได้แค่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เปลืองเงิน แถมนานเข้าอาจจะดื้อยาได้ง่ายๆ คราวนี้อาจเป็นแนวร่วมให้กับพี่ๆ เชื้อโรคไปอีกโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่คุณหมอหวังดีแท้ๆ แต่หวังดีอาจกลายเป็นร้าย

คุณหมอว่าคราวก่อนก็ให้ยาแรงขึ้นแล้ว ทำไมยังไม่หายไออีก (แต่จมูกโล่งขึ้น มีทางหายใจกว้างขึ้นแล้ว) คราวนี้แกเลยออกใบสั่งยาใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ฉุกเฉิน เอ๊ย เรื้อรังของโรคภูมิแพ้ผม แกว่า ตอนนี้อาการผมไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ต้องเพิ่มยาฆ่าเชื้ออีกตัว วินิจฉัยแล้วก็สั่ง Antibiotic ให้กิน เรียกว่าเล่นของหนักขึ้นอีก

ไอ้ผมก็พวกไม่ค่อยชอบกินยา และจริงๆ ก็ไม่คิดว่าตัวเองติดเชื้อ เพราะหมอคนเก่าเคยเทสต์แล้วไม่พบว่าติดเชื้อในคอ แต่ไม่รู้จะเถียงยังไง เพราะเดี๋ยวแกด่าเอาว่า รู้น้อยอย่าพูด แล้วพาลด่าต่อว่า ไม่รักตัวเอง ไม่รักครอบครัวที่ต้องเห็นเราต้องลำบากไอค่อกๆแค่กๆทั้งปี ต้องมาทนเห็นภาพผมน้ำมูกคั่งตลอด

ผมก็เลยจนใจต้องรับยามากิน ได้แย้งหมอไว้บ้าง แต่ก็ไม่รู้จะทำไงได้มากกว่านี้ แกไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ว่าผมเองต้องการอะไร อยากกินยาหรือเปล่า แกว่าให้เชื่อแกเหอะ เดี๋ยวหายๆ

ขณะเดินกลับบ้าน ผมก็นึกเล่นๆ ว่า แล้วถ้าไม่หาย หมอจะรับผิดชอบมั้ยวะ สุดท้ายก็ลอยนวลทุกที เผลอๆ ถ้าทำเราแพ้ยาอีก จะรับผิดชอบไหมเนี่ย ในอนาคตยิ่งรักษาลำบากขึ้นอีก

นึกไปนึกมา ก็ระลึกคำพูดอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยแนะนำผมไว้

แกว่า ทางออกที่ดีในอุดมคติน่าจะต้องแก้ปัญหาด้วยการออกกำลังกาย สร้างภูมิคุ้มกันพื้นฐาน ให้ร่างกายแข็งแรงไม่ว่าจะเผชิญกับอะไรก็ตาม วิธีนี้น่าจะดีกับร่างกายในระยะยาวมากกว่า ผลข้างเคียงก็น้อย เสียก็แต่มันไม่เห็นผลเฉพาะหน้า รักษาอาการฉาบฉวยระยะสั้นไม่ได้เร็วทันใจ แต่ต้องอดทน อาศัยความสม่ำเสมอ เผลอนิดเดียว ขี้เกียจเมื่อไหร่ เป็นต้องนับหนึ่งใหม่

แต่วิธีนี้ มันขัดสันดานหมอ ที่เห็นโรคทีไร เป็นต้องนึกถึงยาก่อนทุกที อัดยาเข้าไป เน้นปราบโรค มากกว่าป้องกัน เน้นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าขจัดเงื่อนไขไม่ให้เกิดโรค

ผมก็ไม่ได้โทษหมอหรอก ไม่ได้กล่าวหาว่าหมอนิสัยไม่ดีเลี้ยงไข้ผม ไม่ได้มีอคติกับหมอ แต่หมอก็มีสันดานหมอ เหมือนที่ครูก็มีสันดานครู ทหารก็มีสันดานทหาร นักการเมืองก็มีสันดานนักการเมือง เคยชินอะไร ทำอะไรบ่อยๆ ก็ติดไปอย่างนั้น หล่อหลอมเป็นตัวตน จนบ่อยครั้งลืมตัวกลายเป็นหุ่นยนต์เวลาตอบสนองกับสถานการณ์เฉพาะหน้า

จริงๆ แล้ว จะว่าไป การออกกำลังกายก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องยากลำบากอะไรหนักหนา แต่ที่ผ่านมาผมมักทำไม่สำเร็จ เพราะความขี้เกียจ บางทีก็คิดเข้าใจตัวเองแบบชุ่ยๆ ว่า เออ ... ยอมรับความจริงเหอะ เรามันขี้เกียจ ออกไปได้ไม่กี่น้ำ เดี๋ยวก็เลิก กินยาไปนั่นแหล่ะ

แต่ถ้านั่งตรองตอนมีสติ กลับคิดอีกแบบ เพราะถ้ามัวแต่ยอมรับความจริงว่าตัวเองมันขี้เกียจ ไม่คิดเปลี่ยนอะไรทำอะไรให้ตัวเองดีขึ้น ยอมรับมันง่ายๆซะงั้น ก็ต้องดักดานรับกรรมเผชิญภูมิแพ้ ต้องอัดยามันต่อไป จะรักษาหายหรือเปล่าก็ไม่แน่ แถมอาจเกิดผลข้างเคียง เป็นใจให้เชื้อโรคไปอีก

คิดไปคิดมา อ้าว ดันเห็นหน้าท่านนายกกับเนติบริกร(1) ดันทะลึ่งไปนึกถึงพระราชกำหนดอะไรนั่นสักฉบับหนึ่งเฉยเลย สงสัยอัดยาไปมากเกิน เลยเพี้ยนได้ซะขนาดนี้

ช่วงเจ็บไข้ได้ป่วย 1-2 อาทิตย์นี้ พักผ่อนนั่งเล่นเน็ต อ่านข่าวตามเวป อ่านกระทู้ตามบอร์ด แวะอ่าน blog ไม่รู้ทำไมช่วงนี้อาการภูมิแพ้เหมือนยิ่งกำเริบ อ่านกระทู้ อ่าน blog บางที่แล้ววิงเวียน ไอแค่กๆขื่นๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว น้ำหูน้ำตาจะไหลเอา บางทีถึงกับคลื่นไส้อาเจียนเอาเลยก็มี

ว่าแล้วก็ไปนอนดีกว่า ท่าทางจะป่วยการเมืองแทรกซ้อนอีกโรคหนึ่งแล้ว

Tuesday, July 19, 2005

มองมุมซ้ายจากสำนักหลังเขา

แม้อยู่ระหว่างปิดเทอมภาคฤดูร้อน แต่เวลานี้ ศิษย์เพื่อนและศิษย์พี่ของผมต่างเรียงหน้ากันสอบไล่วิทยานิพนธ์ราวกับเป็นเทศกาล

นี่เป็นสัญญาณเตือนว่า เพื่อนฝูงที่สนิทสนม 3 คน กำลังจะอำลาสำนักหลังเขาแห่งนี้ไป

ต้นสัปดาห์หน้า Arjun เพื่อนชาวอินเดียจะลงสนามครั้งสุดท้าย หลังจากฝึกวิชาที่นี่รวม 7 ปีเต็ม เจ้าตัวได้งานเรียบร้อยแล้ว กำลังจะย้ายไปสอนวิทยายุทธ์ต่อที่ UMass Boston Arjun ถือเป็นศิษย์คุณภาพเลิศของสำนักหลังเขา เป็นที่นับถือของเพื่อนฝูง มีความครบเครื่องทั้งความรู้ ความคิด ความรับผิดชอบ และนิสัยใจคอ

ย้อนกลับไปสัปดาห์ก่อนหน้า Andong สหายจีนสอบไล่วิทยานิพนธ์สำเร็จ รายนี้อยู่มา 6 ปี กำลังจะบินกลับเมืองจีนสัปดาห์หน้า เข้าใจว่าได้งานที่สถาบันวิจัย Marxism ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง

ผมไปนั่งให้กำลังใจ Andong สอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์มาด้วย นอกจากอยากเชียร์เพื่อนแล้ว ยังอยากไปดูเชิงการสอบไล่วิทยานิพนธ์ของสำนักหลังเขาด้วย เพื่อเตรียมขึ้นสังเวียนในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกล

การสอบจะเริ่มต้นด้วยการให้เจ้าตัวนำเสนองานที่ตัวเองนั่งทำอยู่กว่า 3 ปี ในเวลาครึ่งชั่วโมง จากนั้น คณะกรรมการทั้งสามก็ผลัดกันถามคำถามและออกความเห็นต่ออีกประมาณชั่วโมงครึ่ง โดยมากจะให้เกียรติกรรมการที่มาจากนอกคณะถามก่อนคนแรก การสอบของสหาย Andong มีเรื่องตื่นเต้นบ้าง ต้องเผชิญบทโหดเป็นระยะๆ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี บทสนุกเห็นจะเป็นตอนที่อาจารย์เถียงกันเองมากกว่า

หลังถามคำถามจนหายอยาก อาจารย์ที่ปรึกษาก็ส่งมอบกุญแจห้องทำงานให้ Andong และเพื่อนมิตรเข้าไปนั่งรอ ส่วนกรรมการปิดห้องคุยกันต่อ จากนั้นประมาณ 15-20 นาที อาจารย์ที่ปรึกษาเดินมาเปิดประตูห้องทำงาน ตรงเข้าจับมือและสวมกอดว่าที่ ดร. คนใหม่ แล้วเอ่ยปากชวน Dr.Andong และผองเพื่อนเข้าห้องไปเปิดแชมเปญฉลองร่วมกัน เรามีกัน 6 คน อาจารย์อีก 3 คน หมดเชมเปญขวดใหญ่ไป 2 ขวด รินฉลองกันด้วยถ้วยพลาสติกนี่ละ

งานเลี้ยงยังไม่เลิกรา เย็นวันเดียวกัน อาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิมเปิดบ้านทำอาหารเลี้ยงฉลอง ดร.ใหม่หมาด พวกเราก็ยกพลไปกินฟรีกันต่อ คุยกันสนุกสนานถึงดึกดื่น

จนถึงวันนี้ งานเลี้ยงก็ยังไม่เลิกรา คืนนี้ ท่าน ดร.Andong ผู้มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือเข็มกลัดประธานเหมาสีแดงสดที่อกเสื้อ จะเปิดบ้านทำบาร์บีคิวแบบเสฉวนให้พวกเราได้ลิ้มชิมรสก่อนเหินฟ้ากลับบ้าน

เจาะเวลาหาอดีตเมื่อกลางเดือนที่แล้ว Edsel เพื่อนสนิทชาวฟิลิปปินส์ร่วมรุ่นผมก็เพิ่งสอบไล่วิทยานิพนธ์ ได้ ดร. เรียบร้อยเป็นคนแรกของรุ่น โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปี เท่านั้น เจ้าตัวได้งานที่ UNDP กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา

......

ความรวดเร็วปานกามนิตหนุ่มของนาย Ed เป็นข่าวโด่งดังโจษขานทั่วสำนักหลังเขา เพราะพ่อคุณเป็นรายแรกในรอบทศวรรษหรือสองทศวรรษที่ใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี หากนับย้อนไปสัก 30 ปี คงมีเพียง 2-3 คนเท่านั้น ที่คว้าปริญญาเอกได้ฉับไวเช่นนี้

อย่างที่ผมเคยเกริ่นให้ฟัง นักเรียนเอกสำนักหลังเขา ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี กว่าจะจบปริญญาเอก โดยมากจะลงสนามสอบข้อเสนอวิทยานิพนธ์กันประมาณปีที่ 5

7 ปี อย่างสหายอินเดียถือว่าปกติธรรมดา 6 ปีอย่างทายาทประธานเหมาถือว่าขยันขันแข็งกว่าคนอื่น ยิ่งมาเจอ 4 ปีอย่างเพื่อน Ed นี่ outlier ไปเลยครับท่าน

วันก่อนผมไปกินข้าวดวดเบียร์กับเพื่อนร่วมสำนัก เลยนั่งไล่กันว่า ศิษย์ร่วมสำนักคนไหนควรรับตำแหน่ง 'พี่ใหญ่' ที่ใช้ชีวิตที่สำนักยาวนานที่สุด นับไปนับมา พวกเรายกตำแหน่งศิษย์พี่ใหญ่ให้ ท่านพี่ Tony ครับ

เอกสารประวัติศาสตร์ชี้ว่า พี่ Tony เรียนที่สำนักมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s !!!

ถึงวันนี้วิทยานิพนธ์ยังไม่แล้วเสร็จ ตอนนี้ท่านก็อยู่ที่สำนัก ถ่ายทอดวิชาให้นักเรียนปริญญาตรีที่สำนัก ควบกับตำแหน่งอาจารย์ที่ปรึกษาของเหล่าเด็กปริญญาตรี ผมเจอแกที่คณะบ่อยๆ เพิ่งรู้วันก่อนนี่เองว่า ท่านยังมีชื่อเป็นนักเรียนอยู่ นึกว่าแกจบแล้วมาสมัครเข้าทำงาน

ถัดจากพี่ Tony ก็มาพี่ Mark ครับ ผมเคยมีบุญได้เจอตัวเป็นๆ 2 ครั้ง ท่านเป็นเพื่อนร่วมออฟฟิศของคุณ Ed ผมเคยจิ๊กหนังสือ Game Theory ของแกที่วางฝุ่นจับในออฟฟิศมาใช้เรียนเทอมหนึ่ง พี่ Mark นี่อยู่มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990s ช่วงต้น แหล่งข่าวรายงานว่า พี่ท่านเปลี่ยนหัวข้อวิทยานิพนธ์มาหลายหัวข้อแล้ว จนตอนนี้อาจารย์ที่ปรึกษาเกษียณพ้นคณะไปแล้ว แต่ท่านพี่ยังเฝ้าคณะอยู่ ไม่ไปไหน

ศิษย์พี่ในตำนานมิได้มีแค่ท่านทั้งสองนะครับ แต่พวกเราจนใจจะเอ่ยชื่อ เพราะท่านเหล่านั้นหายสาบสูญไป และกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก วันดีคืนดี ปู่คณะในตำนานเหล่านี้ก็ปรากฏตัวมาให้ได้เห็นกระจ่างเป็นบุญตา

ดังเช่นกรณีคลาสสิกของศิษย์พี่ท่านหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้)

ท่านพี่รายนี้ทำวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดียวกับสหาย Ed แกได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนสำนักหลังเขามา 16 ปีแล้ว ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าพี่แกเกิดทำลูกติดขึ้นมาตั้งแต่ตอนเรียนปี 1 ตอนนี้ลูกก็โตอายุ 16 ขวบ ใกล้บรรลุนิติภาวะเต็มแก่ จะเลือกตั้งได้แล้ว พ่อยังไม่ได้ ดร. เลย

เรื่องของเรื่องคือ แกหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยเป็นเวลา 5 ปีเต็ม ไม่มีใครสักคนรู้ว่าเขายังมีชีวิตหรือไม่ อยู่อย่างไร ทำมาหาเลี้ยงชีพเช่นใด แม้กระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ได้รับการติดต่อจากเขาอีกเลย วันดีคืนดี ท่านก็มาปรากฏตัวที่คณะซะงั้น เขากลับมาแล้ว กลับมาพร้อมทำวิทยานิพนธ์ต่อแล้วครับ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันอย่างยิ่ง

พวกรุ่น 15 ปี up ผมไม่รู้จักไม่กี่คนเอง แต่รุ่น 10 ปีนี่ รู้จักหลายคนทีเดียว

ปรัชญาการเรียนการสอนในคณะผมถือว่าแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ มากทีเดียว

ที่นี่ เราเรียนสอนกันอย่างเสรี แต่ละปี สำนักผมรับนักศึกษาประมาณ 10-14 คน เมื่อรับมาแล้ว ไม่มีการคัดคนออก ถือว่าหากคณะรับคนไหนแสดงว่าคนนั้นมีศักยภาพที่จะเรียนจบได้ ไม่ได้คิดประเภทรับมากก่อนแล้วไล่ออกคัดทิ้งภายหลัง แต่ก็มีบ้างที่ไม่ชอบแล้วลาออกไปเอง ใครสอบประมวลไม่ผ่าน ก็สอบกันไปเรื่อยจนผ่าน ใครอยากอยู่นานก็อยู่ไป ไม่มีเกณฑ์ขั้นสูงว่าต้องจบภายในกี่ปี

ถ้าคณะรับใครแล้ว นักเรียนทุกคนมีสิทธิจะเข้ามาอยู่ใน pool TA (ผู้ช่วยสอน) และ TO (สอนเองทั้งคอร์ส) ทุกคน ไม่ว่าเรียนอยู่ปีไหน แก่ขนาดไหนก็ตาม เรื่องนี้ผมเคยเล่าให้บ้างแล้วในตอน สำนักหลังเขาของผม (1) (ส่วนถ้าอยากอ่านตอนสองประกอบ ก็อ่าน ที่นี่ )

โดยทั่วไป เมื่อนักเรียนที่สำนักเรียนจบ Coursework และสอบประมวลวิชาได้เป็น Ph.D.Candidate แล้ว ก็อาจจะอยู่ที่สำนักต่ออีกสัก 1-2 ปี โดยสอนบ้าง นั่ง sit-in วิชาอื่นที่ตนไม่เคยเรียน คุยกับอาจารย์ เขียนเปเปอร์กับอาจารย์ เมียงมองหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ ล่าอาจารย์ที่ปรึกษาไปเรื่อย แล้วจากนั้น ก็โบยบินครับ บ้างก็กลับประเทศไปทำงาน บ้างก็หางานในอเมริกาทำ เป็นอาจารย์บ้าง เป็นนักวิจัยบ้าง เป็น NGOs บ้าง เป็นบรรณาธิการบ้าง มีจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ตั้งหน้าตั้งตาทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียวให้รีบจบๆ ไป

อาจารย์ในสำนักเองก็ไม่ได้ใส่ใจว่าใครจะทำวิทยานิพนธ์ที่ไหน ไปนั่งทำที่บ้านเกิดหรือทำที่อเมริกา เวลาจะเดินทางไปมาก็ไม่ต้องคอยรายงานอาจารย์หรือ ฯพณฯ คณบดี เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด เขาให้เกียรติกัน ถือว่าโตแล้ว รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ รับผิดชอบตัวเองได้ และเข้าใจว่าชีวิตของแต่ละคนก็มีหนทางของตัวเอง เผชิญข้อจำกัดที่ต่างกัน ที่สำคัญ เขาฉลาดและโตพอที่จะแยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องงี่เง่า อะไรเป็นสารัตถะของการทำงานวิชาการ

4 ปีในสำนักหลังเขา ผมรู้สึกว่าที่นี่เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลกนี้ ที่นี่มีเสน่ห์ของมัน มีลักษณะเฉพาะตัวของชุมชน มีวัฒนธรรมวิชาการที่น่าสนใจ บรรยากาศก็เต็มไปด้วยกลิ่นไอ (สังคมนิยม+เสรีนิยม)ประชาธิปไตย ปัญหาที่ทำลายการเรียนของผมก็คือ สภาพอากาศของบ้านนอกที่โหดร้ายและแปรปรวน หากอากาศแถวนี้ดีตลอดทั้งปี ผมจะเรียนด้วยความสุขที่สุดในโลก

......

ประวัติศาสตร์สำนักหลังเขาของผมก็น่าสนใจมาก

เมื่อก่อนสำนักหลังเขาของผมก็เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์เกรดรองธรรมดาทั่วไป สอนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพิ่งมาเริ่ม 'หันซ้าย' เอาเมื่อช่วงปลายสงครามเวียดนาม ประมาณ 1973-1975 ในขณะที่บรรยากาศสีแดงร้อนระอุทั่วสังคมอเมริกา และมีความขัดแย้งทางสังคม โดยเฉพาะการต่อต้านสงคราม เลยไปจนถึงวิถีการใช้ชีวิต และตั้งคำถามต่อลัทธิเจ้าโลกของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นทั่วไป

จุดพลิกผันสู่โฉมใหม่ของสำนักอยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการ 'ยกเครื่อง' คณะเศรษฐศาสตร์เสียใหม่ให้มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากสำนักอื่น มาจบเอาที่ความต้องการปรับคณะเชิงสังคมศาสตร์ให้กลายเป็น Berkeley แห่งภาคตะวันออก ประมาณนั้น (ตอนนั้น Berkeley เอียงซ้าย อาจารย์รุ่นต่อมาของสำนักหลังเขาหลายคนก็จบจาก Berkeley)

ความต้องการด้าน Demand ดังกล่าว มาตัดกับ Supply พอดี

เพราะห้วงเวลานั้น Samuel Bowles ถูกปฏิเสธตำแหน่งถาวรที่ Harvard University จากกระแสกีดกันฝ่ายซ้ายในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอเมริกา (โปรดอ่าน วิบากกรรมนักเศรษฐศาสตร์นอกคอก ของปกป้องประกอบ จะพอเห็นภาพและรับรู้บรรยากาศและอารมณ์ของวงการเศรษฐศาสตร์อเมริกาในขณะนั้น)

เหตุการณ์นี้เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อาจารย์เศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายหลายคนของ Harvard University ลาออก

Bowles เป็นคน Massachusetts โดยกำเนิด เกิดในครอบครัวมีชาติตระกูล พ่อเคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศอินเดีย มีเกร็ดน่าสนใจว่า สมัย Bowles เรียนเอกที่ Harvard เขาเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับอาจารย์อัมมารของเราด้วย

หลังจากออกจาก Harvard Bowles ได้มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลังเขาโดยบังเอิญ ผมจำไม่ได้แล้วว่า เขาเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย หรือคณบดีวิทยาลัยสังคมศาสตร์ แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยหลังเขาของผมยื่นข้อเสนอให้ Bowles มาเป็น Professor ที่นี่ และสอนเศรษฐศาสตร์อย่างที่เขาอยากสอน

Bowles กลับไปนอนคิดแล้วนึกสนุก เขาเห็นว่า มาคนเดียวคงไม่สามารถสร้างคณะเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่หลากหลายได้ เลยคิดจะมากันเป็นทีม เริ่มจากไปชวน Herbert Gintis เพื่อนสนิทซึ่งเป็นอาจารย์ที่ Harvardด้วยกัน พร้อมทั้ง Richard Edwards ศิษย์เก่า Harvard อีกคนที่เพิ่งจบปริญญาเอกมาร่วมทีมปฏิวัติ เท่านั้นยังไม่พอ เขาไปชวน Steven Resnick และ Richard Wolff คู่หูจาก Yale University (ซึ่งต่อมาทั้งคู่ย้ายไปสอนที่ City College of New York ช่วงหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาสำนักหลังเขา)มาเสริมทัพ รวมเป็น 5 คน (ลองเข้าไปดูลิงก์ของ Resnick กับ Wolff จะเชื่อทันทีว่า เขาเป็นคู่หูกันจริงๆ)

ทั้งห้ามาคุยกันว่าจะเริ่มต้นสร้างคณะเศรษฐศาสตร์ในฝันของพวกเขาอย่างไร คุยเสร็จ Bowles ก็ไปเจรจากับทางมหาวิทยาลัยว่า หากจะให้เขารับตำแหน่ง Professor ที่นี่ ต้องรับพรรคพวกเขาอีก 4 คนด้วยทั้งทีม แผนการของทั้งห้าคือจะร่วมกันสร้างคณะให้เป็นแหล่งวิชาเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่หลากหลาย

สุดท้ายมหาวิทยาลัยก็ตอบรับ อาจารย์หนุ่มทั้งห้าเข้ามาเป็นอาจารย์ที่สำนักหลังเขา และพลิกโฉมคณะจนวิวัฒน์มาเป็นเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ 30 ปีให้หลัง

สงครามสำคัญแรกเริ่มที่เลือดใหม่ฝ่ายซ้ายทั้งห้าต้องเผชิญก็คือ การเมืองในคณะ เกิดการงัดข้อระหว่างฝ่ายขวาเดิมกับฝ่ายซ้ายที่เข้ามาใหม่ การสู้รบกินเวลาไม่นาน ฝ่ายขวาก็ปราชัย ทางหนึ่งก็เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสนับสนุนการ 'หันซ้าย' และอีกเหตุผลสำคัญคือ พวกอาจารย์ผมทั้งหลายนี้สอนหนังสือดีมากนะครับ แม้ลีลาจะแตกต่างกัน แต่สุดยอดทั้งนั้น ทุกคนล้วนเป็นขวัญใจของนักศึกษา ตีตลาดเก่าแตกกระจุย

Bowles เป็นอาจารย์ที่ดีที่สุดที่ผมเคยเรียนด้วยที่นี่ (และดังที่สุดในสำนักหลังเขา)มาดนิ่ง ทรงภูมิ คมกริบ ไวมาก intellectual มาก ผมเคยเรียนเศรษฐศาสตร์สถาบันกับเขาก่อนที่เขาจะอำลาสำนักไปในปีต่อมา เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม ยังจำเย็นวันหนึ่ง ในห้องเรียน หลังพักขณะ Bowles กำลังจะเริ่มสอน เพื่อนคนหนึ่งวิ่งขึ้นมาบอกว่า John Rawls ตายแล้ว Bowles ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ขอเวลาออกไปทำใจนอกห้อง แล้วกลับเข้ามาสอนต่อ โดยเริ่มจากเล่าเรื่อง John Rawls ให้ฟังจากประสบการณ์ตรงของเขา

ส่วน Gintis คู่หูของ Bowles เป็นคนมีความรู้เต็มเปี่ยม originality สูงมาก ความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ เก่งโมเดล แต่ไม่มีความเป็นระบบระเบียบเท่าไหร่ แต่สอนหนังสือมัน เทคนิคเยอะ สอนสไตล์พวกอัจฉริยะที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง อยู่ในโลกส่วนตัว หลังๆ แกไปทดลองเล่นเกมกับสัตว์แล้ว สนใจอ่านพวกชีววิทยา โยงเข้ากับทฤษฎี Evolutionary Game ทางเศรษฐศาสตร์

ว่ากันว่า ตอน Gintis ประกาศเลิกเป็น Marxist แกถึงกับเอาหนังสือ Marx มาเผาทิ้งเลยทีเดียวเชียว

Wolff กับ Resnick คู่หู Marxist นี่ไม่ต้องพูดถึง ขวัญใจนักเรียนตลอดกาล ผลิตลูกศิษย์ Marxist จำนวนมาก เป็นเจ้าสำนัก Overdeterminist Marxism ที่ทั้งคู่คิดค้นขึ้นมา ว่ากันง่ายๆ ก็คือใส่วิถีคิดแบบ Post-Modernism เข้าไปในทฤษฎี Marx นักเรียนปริญญาตรีจะชอบทั้งคู่มาก เพราะสอนหนังสือสนุก ตื่นตาตื่นใจ ลีลาเป็นเลิศ พูดเก่งมีพลัง ผมเคยไปนั่งเรียนวิชาที่ Wolff กับ Resnick สอนพร้อมกัน (พร้อมกันเลยนะครับ ไม่ใช่ผลัดกันบรรยาย) เลยได้ไอเดียเอาไปปรับใช้ โดยออกแบบวิชาสอนคู่กับภาวินพร้อมกันที่สำนักท่าพระจันทร์ ต่างกันก็คือ Wolff กับ Resnick เขาเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย (ช่วยกันด่า) แต่ผมกับภาวินสอนคู่กันแบบมองซ้ายมองขวา (ด่ากันเอง)

ส่วน Rick Edwards นี่ ผมมาไม่ทันเจอ เพราะเขาลาออกไปเป็นคณบดีวิทยาลัยสังคมศาสตร์ที่ University of Kentucky ตั้งแต่ปี 1991 โน่นแล้ว

ถือว่าโชคดีที่ชีวิตในสำนักหลังเขาของผมมีโอกาสได้เจอเหล่าอาจารย์ที่ 'สร้าง' สำนักนี้ขึ้นมาด้วยมือของเขา ผมเข้ามาได้ปีหนึ่ง Bowles กับ Gintis ก็ออกจากคณะ แต่ทั้งคู่ยังเป็น Professor Emeritus มาสอนอยู่ปีละตัว ส่วน Wolff กับ Resnick แม้จะเริ่มอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังสอนด้วยความมันและกวนเหมือนเดิม

ย้อนกลับไปสู่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้ายกับขวาในคณะ เมื่อเริ่ม 'หันซ้าย' อีกครั้ง

เมื่อฝ่ายขวาเห็นท่าเพลี่ยงพล้ำกลุ่มหนุ่มซ้ายที่สดมาก เลยคิดการไปเชิญ Leonard Rapping มาจาก University of Chicago เพื่อเป็นคณบดีเพื่อคานอำนาจ สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ต้องขอเกริ่นให้ฟังว่า ถ้า UMass Amherst สำนักหลังเขาของผมอยู่ค่อนไปทางซ้ายสุด สำนักชิคาโกก็อยู่ไปทางขวาสุด คนละขั้วความคิดกันอย่างสิ้นเชิงละครับ

พวกฝ่ายขวาในคณะหารู้ไม่ว่า ระหว่างช่วงสงครามเวียดนาม Rapping ได้ 'หันซ้าย' ไปเสียแล้ว ดังนั้นเมื่อ Rapping มาถึง ก็มาเข้าพวกส่งเสริมกลุ่มฝ่ายซ้ายในคณะ และยังพา James Crotty อาจารย์หนุ่ม นักเศรษฐศาสตร์มหภาคฝ่ายซ้าย มาร่วมด้วยอีกคน Rapping เสียชีวิตไปนานแล้ว ส่วน Crotty ตอนนี้ยังสอนอยู่ที่คณะ เป็นคุณลุงใจดี ขวัญใจนักศึกษา

เหล่านี้คือตัวละครสำคัญที่สร้างสำนักหลังเขาเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้าย หนึ่งในไม่กี่แห่งของสหรัฐอเมริกา ที่มีอายุยืนยาวกว่า 30 ปี ตัวละครเหล่านี้ยังโลดแล่นอยู่ที่สำนัก ผสมผสานตัวละครใหม่ๆ ที่สมาทานความเชื่อจากสำนักคิดที่แตกต่างกันอย่างหลายหลาก เราเลยได้คณะเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจขึ้นมาประดับวงการอีกแห่งหนึ่ง

ใครสนใจดูรายชื่อและความสนใจของอาจารย์แต่ละคนในปัจจุบัน ก็ลองเข้าไปดูหน้าตาและประวัติได้ ที่นี่

......

ลักษณะเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งของสำนักหลังเขาคือ กลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกมีบทบาทสำคัญในคณะอย่างแข็งขัน ในรูปขององค์กรนักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ (EGSO)

EGSO มีส่วนร่วมและพยายามมีส่วนร่วมในการบริหารและกำหนดทิศทางของคณะอย่างเข้มแข็ง มีอำนาจจัดสรรทุน TA กันเอง ไม่ให้อาจารย์มายุ่ง, มีตัวแทน EGSO เข้าร่วมเป็นกรรมการรับเข้าอาจารย์ใหม่ และสามารถออกเสียงโหวตเลือกผู้สมัครได้ด้วย, มีตัวแทน EGSO เป็นกรรมการรับเข้านักศึกษาปริญญาเอกใหม่, มีการประชุมร่วมกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษาในหัวข้อสำคัญ เช่น ออกแบบหลักสูตรใหม่ การออกแบบ Governance ใหม่ของคณะ ฯลฯ

ในช่วงเวลาที่ผมฝึกวิชาอยู่ที่สำนักหลังเขาจึงได้เห็น วิวาทะระหว่างอาจารย์และนักศึกษาหลายครั้ง เช่น ในการประชุมร่วมระหว่างนักศึกษาปริญญาเอกและอาจารย์ในคณะครั้งหนึ่ง คณบดีถึงกับร้องไห้กลางที่ประชุม ด้วยความสะเทือนใจ เมื่อมีการถกเถียงกันเรื่องนิยามของ 'เศรษฐศาสตร์การเมือง' ว่าครอบคลุมอะไร และวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเพศสภาพและเชื้อชาติของเธอ ถูกนักศึกษาบางคนกล่าวหาว่าไม่ใช่เศรษฐศาสตร์การเมือง

ผมได้เห็นการสู้รบระหว่างฝ่ายอาจารย์และนักศึกษาในกระบวนการรับอาจารย์ใหม่อย่างดุเดือด เพราะเสียงส่วนใหญ่ของนักศึกษาต้องการให้จ้างอาจารย์ Marxist แต่ฝ่ายอาจารย์ยืนกรานจะเลือกสายอื่น

ผมได้เห็นอาจารย์ร่วมคณะเขียนอีเมลเถียงกันอย่างมันหยดว่านิยามของ Marxist ที่ว่าคืออะไร ครอบคลุมถึงไหน และPaul Sweezy เป็น Marxist หรือไม่

ผมได้เห็นนักศึกษาเขียนอีเมลอัดกันเอง เรื่องกลยุทธการเคลื่อนไหวเรื่องการรับอาจารย์ใหม่ และการต่อสู้ในประเด็นการร่าง Governance ของคณะ

ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ ลักษณะส่วนตัว ทั้งในหมู่อาจารย์และนักศึกษา เป็นบรรยากาศเฉพาะของสำนักหลังเขาที่น่ารักอย่างยิ่ง แม้จะมีการเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ได้มีการถือเอามาเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้คนในสำนักหลังเขา แม้กระทั่งเด็กนักเรียนดูจะมีวุฒิภาวะมากกว่าเหล่าคนแก่ผู้คิดว่าตนทรงภูมิในประเทศไหแลนด์ (ศัพท์พี่บุญชิต)

4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอาจารย์อาวุโสคนใดในคณะสำรากความอาวุโสมาเป็นธงนำในการถกเถียงกับคนรุ่นเด็กกว่า, ไม่มีอาจารย์คนใดฉ้อฉลใช้อำนาจรังแกศิษย์อ่อนวัยที่ทำตัวไม่น่ารักไม่ถูกใจตน, ไม่มีการเอ่ยอ้างความไว้วางใจหรือทำตัวเป็นผู้ผูกขาดความจริงเมื่อฝ่ายรากหญ้าเรียกร้อง Governance ที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาคมมากขึ้น, ไม่มีชี้หน้าว่ากล่าวกลุ่มผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงว่าสร้างความแตกแยก และทำลายทุนสังคมของชุมชน

การแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา บนหลักการแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยและเคารพความเท่าเทียม เป็น norm ของสำนักหลังเขา ศิษย์ในสำนักจึงถูกฝึกโดยไม่รู้ตัวให้ชินชากับพฤติกรรมเหล่านี้จนเป็นวิถีชีวิตปกติ ไม่มีใครถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครถือว่าหักหน้า ไม่มีใครถือว่าไม่ไว้ใจกัน ดังที่สำนักเศรษฐศาสตร์บางสำนักรับม่ายยยด้ายยย

ผู้มีอำนาจ ทั้งทักษิณและทักษิณีน่าจะลองมาใช้ชีวิต เปิดหูเปิดตา เรียนรู้โลกกว้างที่สำนักหลังเขาดูบ้าง แล้วจะหลงรักปิ่น ปรเมศวร์ มากขึ้นเอง เพราะปิ่นจะกลายเป็นเด็กเรียบร้อย น่ารัก และติ๋มไปเลย เมื่อเทียบกับเหล่าศิษย์ร่วมสำนัก

ผมได้พบเจอเพื่อนที่น่าสนใจมากมายจากหลากหลายประเทศ ตั้งแต่เลบานอน ซาอุ เบลเยี่ยม เยอรมัน แทนซาเนีย กานา มองโกเลีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ ตุรกี ฯลฯ อยู่ที่บ้านนอกแล้วอดนึกขำในใจไม่ได้ว่า ที่สำนักท่าพระจันทร์เรียกขานผมว่าเป็นฝ่ายซ้าย แต่หากอยู่ที่สำนักหลังเขา ผมอยู่ริมขวาโน่น พวกซ้ายๆ ต้องพวก Anarchist คอมมิวนิสต์โน่น เพื่อนผมหลายคนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศเขา หลายคนเคยมีส่วนร่วมในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องสิทธิมนุษยชน บ้างก็เป็นอาจารย์ บ้างเป็น NGOs กระทั่งเป็นทหารในกองทัพอเมริกันยังมีเลยครับ คิดดูว่ารวมกันแล้วหลากหลายขนาดไหน

ไม่ต้องพูดถึงว่า การเรียนในห้องเรียนจะถกเถียงกันมันขนาดไหน เพื่อนบางคนเป็นขาโหด เรียกว่า ส่ายหัวใส่อาจารย์ อัดอาจารย์ไม่ยั้งก็มี

......

ชีวิตแต่ละช่วงในสำนักหลังเขาของผมจึงมีเรื่องมันๆ และแปลกประหลาดอยู่เรื่อยๆ

ล่าสุด เพื่อน Ed เพิ่งเล่าให้ผมฟัง

ตอนมันสอบไล่วิทยานิพนธ์เสร็จ แก้เล่มเรียบร้อย ขึ้นชั้น 10 ตึก Thompson หมายจะเอาใบปะหน้าวิทยานิพนธ์ไปให้คณบดีเซ็นชื่อเป็นอันจบสมบูรณ์

ปรากฏว่าวันนั้นคณบดีไม่เข้า (ช่วงนั้นแกขาหัก เดินลำบาก) Ed ก็แวะไปห้องข้างๆ ที่พี่ Judy เลขาของคณบดีนั่งทำงานอยู่ หมายจะฝากใบปะหน้าไว้ให้คณบดีเซ็น พี่ Judy เป็นหญิงร่างอ้วน นิสัยดีมาก จิตใจงาม รักต้นไม้ ทำงานหนัก คุยเก่งเป็นที่สุด ใครขึ้นไปหาไม่ได้ลงมาง่ายๆ ต้องคุยกับแกต่ออีกยาว พี่แกรักนักเรียนเหมือนพี่น้องร่วมสายโลหิต

เมื่อ Ed ถามหาคณบดี Judy ก็บอกว่าช่วงนี้คณบดีคงไม่ค่อยเข้ามา เพื่อนผมก็หน้าเสีย Judy ถามว่ามีอะไรให้เขาช่วย เพื่อน Ed บอกว่าเอาใบปะหน้าวิทยานิพนธ์มาให้คณบดีเซ็น เท่านั้น Judy ก็ยิ้ม แล้วบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง สบายมาก เดี๋ยวเขาไปหาปากกาหมึกซึมก่อน

เพื่อนผมชักเห็นท่าไม่ดี เธอขอใบปะหน้า เธอหยิบปากกา ใช่แล้วครับ ... เธอกำลังจะจรดปากกาแล้วครับพี่น้อง

Ed ตกใจ รีบถามว่า จะทำอะไรเนี่ย แกตอบหน้าตาเฉยว่า ก็เซ็นให้ไง (ฮา)

Ed งงเป็นไก่ตาแตก บอกว่าพูดเป็นเล่นน่า พี่ Judy ตอบทันควันว่าเซ็นมาหลายคนแล้วน้อง แล้วแกก็สอนเพื่อน Ed ของผมว่า นี่ลายเซ็นคณบดีนี่ต้องตวัดตรงปลายตรงนี้นะ สำคัญมาก เซ็นช้าๆ ไม่ต้องรีบ จะได้สวยๆ

แกฝึกเซ็นจนคล่องแล้วครับพี่น้อง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แกเซ็นแหลกมาหลายงานแล้ว คณบดีบอกไว้เอง เอกสารบางประเภท เซ็นแทนได้เลย

เป็นไงครับ รู้จักคณบดีตัวจริงของสำนักหลังเขาหรือยัง !!!

Anti-Hero มั่กๆ

ฯพณฯ ไม่ต้องทำตัวเป็นกรรมการคนที่สี่ ไม่ต้องคอยแก้ I แก้ We ไม่มียึกยัก สู้เอาเวลาไปใส่ใจงานในหน้าที่ที่สำคัญกว่าดีกว่า คณะจะได้เจริญรุ่งเรือง ไม่จมปลักดักดานใช้เวลากับงานไร้สาระ ไม่หมกมุ่นกับภาระงานสร้างความยุ่งยากโดยไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นเลิศทางวิชาการ

เพื่อนผมอีกคนก็เคยเจอ รายนี้จะให้อาจารย์ที่ควบตำแหน่ง Graduate Program Director เซ็นใบรับรองให้เร่งด่วน ปรากฏว่าอาจารย์เดินทางออกนอกเมืองพอดี อาจารย์ตอบมาทางอีเมลว่า ไม่ต้องกังวล ให้ไปหาคุณพี่ Doreen เลขาแกได้เลย เดี๋ยวจัดการให้เอง

เพื่อนผมก็ไปหาด้วยความงงว่าจะจัดการอะไรได้ ... ได้สิครับ พี่ Doreen แกเซ็นให้เลย เหมือนเด๊ะ

ผมเลยเพิ่งรู้ว่า เลขาสำนักหลังเขาแต่ละคนต้องฝึกการปลอมลายเซ็นต์เจ้านายกันไว้ทุกคน

นี่ถ้ามาทำงานที่คณะเศรษฐศาสตร์ แห่งเมืองไหแลนด์ โดนเล่นงานโทษฐานผิดระเบียบ ไม่เคารพกฎ ไม่ให้เกียรติ ทำลายทุนสังคม (หรือเปล่าวะ)ฯลฯ กันระนาว แต่ไม่รู้ทำไม ความเจริญก้าวหน้าและบรรยากาศทางวิชาการในรัฐเอกสารที่สมบูรณ์แบบอย่างสำนักไหแลนด์ถึงตกต่ำเอาๆ

อะไรกันหนอคือ สารัตถะของสถาบันวิชาการ ทำไมหนอบางคนเป็นอาจารย์มาแทบทั้งชีวิต ตำแหน่งวิชาการก็สูงๆ ยังตีความกันไม่แตกอีก

.....

จะใช้ชีวิตด้วยวัฒนธรรมของสำนักหลังเขาในเมืองไหแลนด์ได้ไหมหนอ ปิ่น ปรเมศวร์ เคยเฝ้าถามกับตัวเอง

จนปลายปีที่แล้ว เขาก็ได้คำตอบ !!!

Thursday, July 14, 2005

วันชื่นคืนสุขแต่หนหลัง (Good Old Days)

ช่วงนี้เกิดอารมณ์คิดถึงเมืองไทยอย่างแรง นั่งเปิดดูรูปที่เก็บๆ ไว้ในคอมพิวเตอร์แล้วดันนึกครึ้มอยากโพสต์รูปขึ้นมาก่อนนอน

รูปแรก

งานเปิดตัวหนังสือ 'คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2547 วันเดียวกับการย้ายบ้านครั้งที่ 4 ในชีวิต

งานจัดที่ร้านหนังสือ 'ริมขอบฟ้า' บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากขายหนังสือ ยังมีการตั้งวงคุยกันเรื่อง 'นายกไม่ใช่เทวดา คนธรรมดาไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ' โดย อ.วรากรณ์ ภาวิน ธร บก.ภิญโญ และปกป้อง

วันนั้นพี่โญถามคำถามได้โหดเหี้ยมมาก เช่น นักเศรษฐศาสตร์จะอธิบายเหตุการณ์กรือเซะอย่างไร ? เป็นต้น

ในรูป (จากซ้ายไปขวา) StrawHat (นั่งเก้าอี้) อดีตอาจารย์ที่ฮ็อตที่สุดในคณะ หัวหน้ากลุ่มเสือ (วันหลังผมกับ Kickoman จะรวมหัวกันเขียนเล่าเรื่องราวของเขาให้ผู้ชมได้อ่านกัน)

(แถวยืน) เฒ่า อาจารย์มือเยี่ยมแห่ง มธบ. นักเขียนฝีมือดีที่เล่นตัวที่สุดในโลก ไม่ยอมเขียน blog ไม่ยอมรวมเล่ม, เฮียฮาร์ท เพื่อนรักผม หนุ่มแบงก์กรุงเทพที่ยังโสด, One Life อาจารย์หนุ่มที่เพิ่งหายโสด (แฟนสวยด้วย), กระต่ายน้อย อาจารย์หนุ่ม ขวัญใจสาววัย seventeen ที่ฮ็อตที่สุดในคณะ (ทั้งที่หน้าตาก็ไม่ได้หล่อไปกว่าผมตรงไหน) ผู้ถีบส่ง StrawHat (อ้างแล้ว) ไปเกาะอันไกลโพ้นด้วยความชอกช้ำ, ไอ้บุ้ง (นาม); ไอ้เหี้ยบุ้ง (นาม) ก็เรียก, Dawdle Man อดีตยอด บก. Echo หนังสือในตำนานของนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ ธรรมศาสตร์

(แถวนั่ง) หญิง, ปกป้อง, แพรกับจุ๊บ คู่ผัวตัวเมียแห่งสำนักท่าพระจันทร์ ผู้กำลังจะไปฮันนีมูนต่ออีก 5 ปี ที่มิชิแกนเดือนหน้านี้, David Ginola ยอด blogger อีกคน, น้องปู สาวแบงก์กรุงเทพสุดน่ารัก

(ยืนเท่ขวาสุด) November Seabreeze blogger ที่เกียจคร้านที่สุดในโลก ไว้วันหลังจะเอารูปท่านมาโพสต์อีก ถ้ายังไม่รีบเขียน blog

(นั่งชันเข่าตรงกลาง) O เพื่อนรักอันดับหนึ่งของผม


รูปที่สอง

ภาวินกับปกป้องไป 'มองซ้ายมองขวา' ให้นักเรียนมัธยมงงเล่น ที่ค่ายนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ จัดโดย กรรมการนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มธ ที่ศูนย์รังสิต เมื่อปีที่แล้ว ก่อนแยกย้ายกันไปเรียน

เป็นการเดินทางที่จ่ายค่าแท็กซี่แพงที่สุดในชีวิต กว่า 400 บาท (เที่ยวเดียว) ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ คงเบิกได้ด้วยความยากลำบาก


รูปที่สาม

งานอภิปราย 'ซื้อสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล: ประเทศไทยได้อะไร' ที่ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ เมื่อกลางปีที่แล้ว

ถัดจากปกป้องคือ บก.ภิญโญ ต่อด้วย อ.ภราดร ตามด้วย อ.พิชญ์ แล้วก็เป็น Corgiman น่าเสียดายที่ช่างภาพใจร้าย แฟน blog เลยอดดูหน้าตาสุดน่ารักของเขาไปอย่างเฉียดฉิว

เป็นการขึ้นเวทีที่สนุกที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะได้อยู่บนเวทีกับขวัญใจผมทั้งนั้นเลย


รูปที่สี่

ด้วยจำนวนครูบาอาจารย์กว่า 90 คน ว่ากันว่า นี่คือคณะเศรษฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฝรั่งได้ยินทีไรเป็นต้องตาค้างทุกทีไป

แต่ประสิทธิภาพและผลงานเป็นอย่างไร ต้องให้ปริเยศตัดสิน (ฮา)

รูปนี้ถ่ายเมื่อครั้งสัมมนาอาจารย์ 2 ปีก่อน ขากลับเราแวะเยี่ยมชมสวนทุเรียนต้นเตี้ยของมหามิตรของอาจารย์สุขุม




รูปที่ห้า

กลุ่มเสือที่ผมคิดถึงใจจะขาด (แต่ยังไม่ครบฝูง)

ภาพนี้ถ่ายในงานเลี้ยงส่ง Corgiman เมื่อพฤษภาคม ปีนี้เอง

คนชูมือให้ของคือเจ้าตัว

ล้อมรอบด้วยเหล่าเสือ ทั้งเสือขาว เสือดำ เสือโคร่ง เสือลายพาดกลอน เสือปลา เสือกระดาษ และกระต่าย !!!







ชะตากรรมของทีมปืนโตฤดูกาลนี้













Free Trade & Pareto Improvement ???

Wednesday, July 13, 2005

ชายผู้ดูหนังคนเดียว

ผมดูหนังคนเดียวมานานแล้ว

นานจนเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต

มีเว้นวรรคบ้างก็ช่วงวัยรุ่น ที่บ่อยครั้งมีเพื่อนน้ำเงิน-ขาว และเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเป็นเพื่อนร่วมโรง และบางห้วงเวลาที่มี 'ใครบางคน' อยู่ข้างกาย

ผมเป็นคนชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยที่การดูหนังยังไม่กลายเป็นแฟชั่นในการฆ่าเวลาของผู้คนในห้างสรรพสินค้า, ตั้งแต่โรงหนังมัลติเพล็กซ์ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นในกรุงเทพเมืองฟ้าอมร เห็นมีก็แต่โรงหนังยืนเดี่ยว ส่วนหนังโรงเล็กก็มีอยู่บ้างไม่กี่แห่ง แต่ไม่ต้องเอ่ยถามถึงคุณภาพของระบบเสียง, ตั้งแต่การเข้าโรงดูหนังควบวนรอบตลอดวันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แตกต่างจากเวลานี้ ที่หากเอ่ยถึงหนังควบ เสืออย่าง StrawHat คงนึกถึงแต่ ไทย-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น-ฝรั่ง ญี่ปุ่น-ญี่ปุ่น เทือกนั้นไป

นึกย้อนไป ผมไม่แน่ใจว่า อะไรดลใจให้ผมชอบดูหนัง รู้สึกเพียงว่า ผมมีความสุขและอิ่มเอมขณะดูภาพยนตร์ และผม - ในฐานะผู้ไร้สามารถในการ 'เสพ' และ 'สร้าง' ศิลปอย่างรุนแรง - มักเข้าข้างตัวเองเสมอว่า ภาพยนตร์เป็นศิลปะแขนงเดียวที่ผมสามารถสัมผัสและเข้าถึงมันได้

สาเหตุหนึ่งที่ผมรักหนังและเข้าถึงมันได้เร็วเกินวัย อาจเป็นเพราะยามเด็กเคยพัวพันอยู่ในแวดวงคนทำสื่อเป็นเวลา 6-7 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยเรียน ป.6 วิ่งเล่นกับกล้อง นั่งตากแอร์อยู่ในห้องตัดต่อ พ่นน้ำลายอยู่ในสตูดิโออ่านข่าว และผจญวัยกับทีมข่าวนอกสถานที่ไปทั่วเมืองไทย

มันคงซึมซาบเข้าสายเลือดไปบ้างเหมือนกัน

ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือแต่เด็ก เมื่อผมเริ่มดูหนังคนเดียวอย่างจริงจัง ผมเลยหันมาอ่านหนังสือหนัง เริ่มจากยืนอ่านตามแผง ไม่นานนักก็ควักเงินซื้อ จำได้แม่นว่านิตยสาร 'เอนเตอร์เทน' ฉบับแรกที่ผมซื้อคือเล่มหน้าปก Batman ภาคแรก ฉบับ Tim Burton ที่มีหน้า Jack Nicholson ที่แปลงโฉมเป็น Joker ยิ้มหราขึ้นหน้าปก ตอนนั้น ผมอายุได้ประมาณ 12 ขวบ

นับแต่นั้น ผมซื้อเอนเตอร์เทนตลอดแทบทุกเล่มอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนคุณประไพพรรณและคุณมงคลชัย ชัยวิสุทธิ์ ยกทีมมาตั้ง Cinemag ก็ตามอ่านทั้งสองมาเรื่อย

ผมเริ่มเรียนรู้เรื่องหนังจากนิตยสารเอนเตอร์เทนภายใต้การกุมบังเหียนของทั้งคู่นั่นแหล่ะ จากนั้นจึงเริ่มเล่นของหนักขึ้น อ่าน 'หนังและวีดีโอ' รายตัวเองสะดวก และต่อมาอ่าน 'ฟิลม์วิว' ของคุณสุทธากร สันติธวัช และเพื่อนพ้องนักวิจารณ์

กระทั่ง Cinemag เริ่มจืดชืด เนื้อหาอ่อนแรง ฟิลม์วิวปิดตัวเอง เอนเตอร์เทนกลายเป็นแค่หนังสือรายงานข่าววงการหนัง ผมก็ออกจากวงการหนังสือหนังอย่างสิ้นเชิง อาศัยเปิดพลิกตามแผง ยืมเพื่อนอ่าน ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหาข่าว กระทั่งเพิ่งกลับเข้าสู่วงการหนังสือหนังอีกรอบ เมื่อปีที่แล้วนี่เอง หลังจากได้ลิ้มรสอาหารสมองจานเด็ดอย่าง Bioscope

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นิตยสารในความทรงจำเหล่านั้น โดนกองทัพปลวกทำลายไปเกือบหมดสิ้น ระหว่างอภิมหาสงครามล้างโลกเมื่อหลายปีก่อน (ฝ่ายมนุษย์โลกสูญเสียนิตยสารยุค 'แรกอ่าน' ของผมไปหลายเล่ม, หนังสือเกี่ยวกับฮังการีส่วนหนึ่ง, หนังสือปกแข็งดีๆ จำนวนมาก และหนังสือการ์ตูนสุดรักตั้งแต่สมัยเด็กของผมจำนวนมหาศาล ทั้งหมดคือส่วนที่เก็บไว้นอกตู้หนังสือ จนผมเข็ดหลาบถึงทุกวันนี้) น่าเสียดาย ที่เชื้อไวรัสบนโลกมนุษย์ไม่สามารถกำจัดกองทัพปลวกได้ง่ายดายดุจดังที่เล่นงานมนุษย์ต่างดาวใน War of the Worlds

ช่วงผมบ้าหนัง ผมก็ค้นคว้าหาอ่านอย่างจริงจัง อ่านดะ รู้ประวัติมันไปทั่ว ใครกำกับหนังเรื่องอะไร หนังเรื่องใดได้รางวัลออสการ์ปีไหน หนังเรื่องนี้มีดีอะไร ฯลฯ ผมเคยส่งทายผลรางวัลออสการ์(ทุกสาขารางวัล)ของนิตยสารฟิลม์วิว ซึ่งใครทายถูกมากสาขาที่สุดมีรางวัลแจก ผมได้รางวัลที่ 2 และที่ 3 (หรือที่ 3 และ 4 ไม่แน่ใจเหมือนกัน) ติดกัน 2 ปีซ้อน ได้รางวัลเป็น Encyclopedia เกี่ยวกับหนังเล่มหนาปึ้กของเมืองนอกมาปีละเล่ม ตอนนี้ยังเก็บไว้บนชั้นหนังสือที่บ้านอยู่เลย

แน่นอนว่า สำหรับคนชอบดูหนัง ตอนเด็กๆ ก็ต้องคิดฝันอยากเป็น 'นักทำหนัง' กับเขาบ้าง ... ผมก็เช่นกัน

นึกแล้วก็ 'เคย' คิดอิจฉาเพื่อนน้ำเงิน-ขาวของผมคนหนึ่ง ที่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียนเรียนห้องเดียวกัน คุยเรื่องหนังกันบ่อยๆ และทำละครเล่นละครเข้าค่ายลูกเสือมาด้วยกัน

จำได้ใช่ไหมครับว่า ดึกคืนหนึ่งของการเข้าค่ายลูกเสือ แต่ละกองร้อยต้องเล่น 'ละครรอบกองไฟ' สมัยเรียน ม. 2 และ 3 ผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับละครรอบกองไฟครับ ผมมีหน้าที่เขียนบท กำกับการแสดง และอำนวยการสร้าง แถม ... แหะๆ ... ร่วมแสดงเองด้วยครับ

รอบกองไฟ 2 ปีนั้น กองร้อยผมเล่นของหนักเลยนะครับ ขอบอก

ม.2 เราแสดงเรื่อง 'ราโชมอน' อดีตภาพยนตร์ Masterpiece ของอากิระ คุโรซาวา ที่นักดูหนังทุกคน 'ต้องดู' ผมดัดแปลงจากเวอร์ชั่นบทละครเวทีของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผมเล่นเป็นขุนโจรตาโจมารุ ซึ่งฉากที่ยากที่สุดไม่ต้องเดาก็ตอบได้ว่าคือฉากจอมโจรข่มขืนเมียซามูไรครับ อย่าลืมว่าแดนอโศกของผมนั้นโรงเรียนชายล้วนนะครับ หลังจากส่งบทให้มาสเตอร์แล้ว ก่อนแสดงจริง ต้องซ้อมข่มขืนให้คุณครูดูรอบหนึ่งก่อนครับ กลัวติดเรทหรืออย่างไรมิทราบได้

ส่วน ม.3 เราเล่นเรื่อง 'กับดัก' ดัดแปลงจากนิยายฆาตกรรมหักมุมของอกาธา คริสตี้ เรื่อง The Mousetrap ทีเด็ดของการแสดงปีนั้นคือ เราอัดเสียงพากย์ในสตูดิโอเลย มีดนตรีประกอบเรื่องด้วย (ช่วงนั้น โรงเรียนเพิ่งลงทุนสร้างสตูดิโอ มีห้องอัดเสียง เครื่องตัดต่อพร้อม)

ผมยังเก็บบทละครทั้งสองเรื่องไว้จนถึงทุกวันนี้ เรื่อง 'กับดัก' นี่ ยังเก็บเทปอัดเสียงที่ใช้เปิดตอนแสดงไว้เลย เปิดเมื่อไหร่ ขำเมื่อนั้น

วกกลับมาเรื่องเพื่อนผมคนนี้อีกทีหนึ่ง

หลังจบจากแดนอโศก ท่านก็เรียนต่อปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ แล้วก็ข้ามทะเลไปร่ำเรียนวิชาทำหนังถึงเมืองนอกเมืองนา กลับมาเมืองไทย เกือบได้เป็นผู้กำกับหนังกับเขาแล้ว บังเอิญเกิดเหตุหักมุมเสียก่อน ต่อมา เจ้าตัวหันเหเข้าสู่วงการหนังแผ่น แคสติ้งตัวนักแสดงสาวแล้ว นายทุนดันถูกตำรวจจับเสียก่อน ... เลยอดกำกับหนังอาร์เอ็กซ์ไปแบบเฉียดๆ แถมเกือบฉิวเข้าคุกเสียอีก

ถึงวันนี้ ผมไม่มีปัญญาและโอกาสได้เป็นคนทำหนังดังที่เคยฝันแล้ว เพราะชีวิตหักเหมาสิงสถิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแทน

ชีวิตที่เฉียดใกล้วงการหนัง(ไทย)ที่สุดมีเพียงครั้งเดียว เป็นหนึ่งในความทรงจำที่ลืมไม่ลง

จำหนังไทยในตำนาน ขวัญใจใครต่อใคร เรื่อง 'ปุกปุย' (2533) ได้ไหมครับ

ตอนนั้น ผมเป็นพิธีกรเด็กรายการจิ๋วแจ๋ว เคยถูกติดต่อให้ไปเทสต์หน้ากล้องเป็นพระเอกกับเขาด้วย ตอนนั้น ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ ยังเป็นบริษัทเล็กๆ ถ้าจำไม่ผิด ผมไปเทสต์หน้ากล้องที่ชั้นบนของโรงหนังแห่งหนึ่งแถวสะพานหัวช้าง น่าจะเป็นโรงหนังแมคแคนนา

ไปถึงก็เจอคุณอุดม อุดมโรจน์ ผู้กำกับ แกก็ให้ลองแสดงสีหน้าท่าทางพักหนึ่ง แล้วก็ให้อ่านบท บทที่ให้อ่านเป็นตอนว่าวกับชิชาเดินกลับบ้านตอนกลางคืนด้วยกัน จำได้เลาๆ ว่ามีตอนพูดถึงหิ่งห้อยด้วย

ไม่ต้องถามนะครับว่าผลเป็นอย่างไร

ต้องโล่งอกถอนหายใจแทนบริษัทไทฯ และชื่นชมคุณอุดมที่ตาแหลมและมีวิสัยทัศน์ ที่ไม่ดึงเอาหุ่นยนต์เดินได้อย่างกระผมเข้าไปข้องแวะกับหนังขวัญใจมหาชนเรื่องนี้ แต่หันไปเลือกน้องชายผมเป็นพระเอก จน 'ปุกปุย' เป็นหนังเด็กในตำนานของวงการหนังไทยตราบจนทุกวันนี้ (ตอนนี้ คุณพระเอกก็เป็น blogger อยู่แถวนี้แหล่ะ หากันเองทางขวามือ)

นั่นเป็นหนึ่งในสองครั้งที่มีประสบการณ์เทสต์หน้ากล้องกับเขา ส่วนอีกครั้ง อย่าให้เล่าดีกว่า !!!

ทำจิ๋วแจ๋วได้ไม่กี่ปี ผมก็รู้ตัวว่าไม่มีปัญญาเล่นหนังเล่นละครกับเขาได้เลยแม้แต่น้อย ไม่ได้ถ่อมตัวด้วยนะครับ ไม่เชื่อถามใคร 4 คนที่เคยบุกบ้านผม จับผมมัดแข้งมัดขา แล้วขโมย 'เทปอัปยศ' ม้วนนั้นมาขืนใจดูต่อหน้าต่อตาผมก็ได้

ผมจบชีวิตในวงการบันเทิงด้วยสถิติเป็นตัวประกอบในละครซิทคอมชื่อดัง 1 เรื่อง (ตอน ม.1) ที่คุณพระเอกข้างบนเป็นพระเอก(อีกครั้ง) โดยมีผมรับเชิญเล่นบทหัวโจกแก๊งค์ตัวร้าย 1 ตอน เล่นได้แค่ตอนเดียว ผู้กำกับก็ตัดตัวละครผมทิ้งไปซะงั้น ในขณะที่ เหล่าลูกสมุนของผมกลับมีโอกาสได้กลับมาเล่นต่ออีกหลายตอน ยังดีที่พอได้มีส่วนร่วมกับเขาต่ออีกนิดหน่อย เพราะเหล่าลูกสมุนยังอุตส่าห์เอ่ยชื่ออ้างอิงถึงผมในละครเป็นครั้งคราว แม้ตัวจะไม่ปรากฏก็ตาม

เชื่อหรือยังว่าฝีมือมันไม่ธรรมดาจริงๆ เป็นสัญญาณเตือนนิ่มๆว่า กลับบ้านเถอะลูก อย่าฝืนลูก อย่าฝืน (ฮา)

เลยไม่มีว่อกแว่กครับ มุ่งวิชาการสถานเดียว ...

เมื่อก่อนเคยคิดว่าตัวเองพอจะเขียนวิจารณ์หนังได้ เพราะมีสันดานชอบวิพากษ์วิจารณ์ติดตัว แต่ช่วงหลังได้เห็นฝีมืองานเขียนวิจารณ์หนังของเหล่านักวิจารณ์รุ่นใหม่ เช่น Merveillesxx แล้ว เก็บปากกาเข้าฝักดีกว่า จะได้ไม่อายเขา ทำตัวเป็นนักอ่านนักดูที่ดีเห็นจะเหมาะสมกว่า

ชีวิตเดินหน้าผ่านไปหลายปี ถึงวันนี้ ผมก็ยังชอบดูหนังเหมือนเดิม และยังดูหนังคนเดียวเหมือนเดิม เหมือนเมื่อ 15 ปีก่อน

แต่ถ้าถามว่าตอนนี้ยัง 'ชอบ' ดูหนังคนเดียวอยู่หรือเปล่า ก็คงตอบได้เพียงว่า ...

ทำไงได้ละครับ

Tuesday, July 12, 2005

The Return of the Reds


We are ready to get them back !!!

Monday, July 11, 2005

24



เป็นอิสระเสียทีครับ !

ยังครับ ... ยังเขียนวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จ

แต่ ... แหะๆๆๆ ... เพิ่งดู 24 season 2 จบไปเมื่อวาน

ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของผมเอง ที่ดันทะลึ่งไปเช่า series นี้มาดู ทั้งๆ ที่เคยมีบทเรียนมาแล้วเมื่อครั้งดู season แรก

เมื่อวานสองแผ่นสุดท้ายของ season 2 ลอยมาทางไปรษณีย์ เวลา(ที่ควรจะต้องใช้ทำอย่างอื่น)ของผมก็จมหายไปกับมันรวม 6 ชั่วโมงเต็ม

ดูแล้วหยุดไม่ได้ครับ

ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของผมเอง

......

ผมเป็นคนชอบดูหนังมาแต่ไหนแต่ไร แต่ไม่เคยติด series ทางโทรทัศน์เรื่องไหนเป็นจริงเป็นจัง (จะว่าไป ไม่เคยสนใจดูเลย) ขนาด Friends อันโด่งดังก็เห็นแว่บๆ ทาง UBC ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้อะไร ผมดูแต่หนังโรง

พอดีช่วงปลายปีที่แล้ว เพิ่งเก็บตังค์ซื้อ DVD ได้เป็นเครื่องแรกในชีวิต (ซึ่งมันอยู่กับผมแค่เดือนเดียว แล้วก็โดนน้องโจรลักไปจากห้องรับแขกยามดึกพร้อมรถยนต์ ไม่ทันไรต้องซื้อใหม่อีกเครื่อง เหมือนเดิมเด๊ะ) ผมเลยกลับเข้าวงการดูหนังรอบใหม่ หลังจากลาเวทีชั่วคราว 2-3 ปี ช่วงเรียนต่อบ้านนอก เพราะไม่มีตังค์ บวกกับเทคโนโลยี VDO เริ่มล้าสมัยตกยุค เครื่องเล่น VDO ที่บ้านพังไป ร้านเช่า VDO ร้านประจำก็ปิดตัว จังหวะเลยไม่เป็นใจให้ดูหนังบ่อยเหมือนเคย

พอผมมี DVD ก็เริ่มเข้าสู่วงการ ไปคลอมถม สะพานเหล็ก สีลม กระทั่ง แม่สาย และเริ่มเป็นสมาชิกเวป thaidvd วันหนึ่งไปคลองถม เกิดนึกครื้มซื้อ series 24 season แรกมาลองดู เพราะได้อ่านกระแสชื่นชมอย่างรุนแรงจากสมาชิก thaidvd มากหน้าหลายตาแล้ว อยากพิสูจน์ด้วยตาตนว่ามันจะแน่สักแค่ไหนเชียว

เป็นเรื่องครับ เป็นเรื่อง

ตอนดึกนี่ ก็ได้ 24 นั่งเฝ้ายามเป็นเพื่อน ตอนเช้าก่อนออกไปทำงาน (ผมหมายถึงใกล้เที่ยง) ก็ขอสักตอนน่า

ติดหนึบสิครับ พิสูจน์ด้วยตาตนเห็นจะๆ แล้ว ทำเอาผมไม่กล้าไปซื้อ season 2 มาดูต่อ คุมตัวเองได้ที่ไหนละครับ ยิ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ใกล้จะกลับมาบ้านนอกเต็มแก่แล้ว ต้องเคลียร์ภารกิจหลายอย่างที่เมืองไทย ไม่สามารถปล่อยให้ตัวเองจมปลักกับ 24 ได้ ทางออกเดียวก็คือ อย่าไปซื้อมัน !!!

จนกลับมาบ้านนอก มาถึงช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ ผมไปสมัครสมาชิกเช่า DVD online (แบบที่เคยเขียนเล่าให้ฟังตอน The Time 100) ไว้เป็นเพื่อนยามปิดเทอม แรกๆ ก็เช่าหนังโรงมาดู ตอนหลังชักทนไม่ไหว ตัดสินใจเช่า 24 season 2 มาดูสักหน่อย

เป็นเรื่อง(อีกแล้ว)ครับ เป็นเรื่อง(อีกแล้ว)

ดูรวดเดียวหมดแผ่นใน 1 วันทุกที หนังชุดนี้ season หนึ่งจะมี 6 แผ่น แต่ละแผ่นมี 4 ตอน ตอนหนึ่งก็เท่ากับที่ฉายในทีวีอาทิตย์ละครั้ง รวมมี season ละ 24 ตอน

......

ใครยังไม่เคยดู อ่านแล้วคงงงและอยากรู้ว่ามันเป็นหนังอะไร สนุกตรงไหน

24 เป็นหนังสืบสวนสอบสวนปนแอ็คชั่น ผสมการเมือง มีดราม่านิดหน่อย หักมุมไปมาตลอดทั้งเรื่อง มีพล็อตหลักและพล็อตรอง ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า

พระเอกของเรื่องคือ Jack Bauer นำแสดงโดย Kiefer Sutherland เป็นเจ้าหน้าที่ CTU (Counter-Terrorist Unit)ผู้ตงฉินกล้าหาญ พี่ Jack ต้องดวงซวยประสพเหตุหนักๆ ให้ต้องออกกำลังกายและกำลังสมองเสมอ อย่าง season แรก มีผู้ร้ายพยายามลอบสังหาร(ว่าที่)ประธานาธิบดีผิวดำ หรือ season 2 มีผู้ร้ายพยายามวางระเบิดนิวเคลียร์ใน LA เป็นต้น

ฟังดูเหมือนหนังแอ็คชั่นธรรมดาทั่วไปใช่ไหมครับ แต่ขอโทษนะครับ ไม่ใช่เลยครับ

เห็นชื่อมันไหมครับ ... 24

มันมาจาก 24 ชั่วโมงครับ

เหตุการณ์ทั้งหมดในหนังหนึ่ง season (24 ตอน) คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาจริงเพียง 1 วัน (24 ชั่วโมง) เท่านั้น ...

ว่ากันตามเวลาจริง (Real time)นาทีต่อนาที

อย่างตอนแรกของ season 2 คือเหตุการณ์ในช่วงเวลา 8 - 9 am ตอนที่สองคือเหตุการณ์ในช่วง 9-10 am เดินเรื่องเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

คิดได้ไงเนี่ย?

'คิดได้ไง' ว่ายากแล้ว แต่จะ 'ทำได้ไง' ก็ยากไม่แพ้กันนะครับ

โจทย์ของผู้สร้างที่ต้องเดินเรื่องตามเวลาจริงนี่ยากมากนะครับ จะทำอย่างไรให้เหตุการณ์ใน 1 วัน ที่เวลาจริงกับเวลาในหนังเท่ากัน มันเข้มข้นได้ทุกนาทีที่เวลาเดินไปข้างหน้า และดึงดูดผู้ชมให้ตามดูตลอดทั้ง season ก่อนผมดู 24 ผมก็นึกไม่ออก และคิดว่ามันจะทำได้อย่างไร จนกระทั่งมาดูด้วยตาตัวเองถึงได้รู้ว่า มันทำได้แฮะ ทีมผู้ผลิต 24 ทำได้ เชือดเฉือนกันมันหยด ตื่นเต้นระทึกใจทุกตอน หักมุมกันหัวหมุน ต้องลุ้นกันตลอด

series เรื่องนี้ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของหนังชุดทางทีวีของอเมริกาเลยนะครับ แนวมาก สดมาก กวาดรางวัลกันเพียบ ได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์จำนวนมาก ประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ 24 เป็นรายการโทรทัศน์ที่ดีที่สุดรายการหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

อย่างน้อยก็ทำเอาผมเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองเกี่ยวกับหนังชุดทางโทรทัศน์ของอเมริกาได้แล้วกัน

ผมต้องยกนิ้วให้กับทีมเขียนบทและทีมผู้กำกับแบบสุดใจ รวมถึงทีมนักแสดงที่เล่นกันได้อย่างยอดเยี่ยม

ที่ผมเขียนเล่าไปในนี้เทียบไม่ได้สักเสี้ยวของความยอดเยี่ยมของ series เรื่องนี้เลยนะครับ ผมไม่อยากเล่ามาก ให้รู้น้อยๆ ก่อนพิสูจน์ด้วยสายตาตัวเองดีกว่า แล้วจะอึ้ง-ทึ่ง-เสียวว่า 'คิดได้ไง' และ 'ทำได้ไง'

ช่วงสุดท้ายในชีวิตบ้านนอกของผม อย่าหวังเลยครับว่าผมจะเช่า season 3 มาดู ไม่มีทาง งานผมไม่เสร็จแน่ๆ แต่ไม่ต้องถามผมนะครับ ถ้ากลับบ้านเรา ไปคลองถมเมื่อไหร่ ผมจะซื้อ DVD เรื่องไหนมาดูเป็นเรื่องแรก

......

นี่เป็นครั้งแรกนะครับที่ผมเขียนอะไรแล้วหวังว่าคนอ่านจะไม่เชื่อตามผม

24 เป็นหนังชุดชั้นเยี่ยมที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมา สุดยอดทุกองค์ประกอบ

แต่เป็นหนังดีที่ผมไม่แนะนำให้ดูด้วยประการทั้งปวง

อย่าเริ่มนะครับ ... เราเตือนท่านแล้ว !!!

Thursday, July 07, 2005

คำสารภาพบาป (อันเต็มไปด้วยโฆษณาเห็นๆ)

โอ้ย ... เขียนหนังสือไม่เป็นแล้วครับ !!!

หยุดเขียนไปนานเกิน นี่ถ้าไม่ได้ 'อยากตอบ ภาคพิสดาร' ของพี่พิชญ์มาช่วยไว้ นับดูก็ร่วมสองอาทิตย์ได้

หายไปไหนเหรอครับ?

ไม่ได้ไปไหนหรอกครับ แต่นั่งหลังขดหลังแข็งทำงานชดใช้กรรม เหตุเพราะช่วงเดือนที่ผ่านมาหนีเที่ยวเยอะไปหน่อย

ปลายเดือนพฤษภาถ่อไป Texas กลับมาไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็แว่บไปอยู่ Washington DC เกือบสองอาทิตย์ โดนเพื่อนชิวมอมเบียร์ เพื่อนนะมอมไวน์ สนุกสนานเสียจนไม่อยากกลับบ้านนอก

แล้วจะเอาเวลาที่ไหนทำงานละคร้าบ ...

สุดสัปดาห์ก่อนเป็นวันหยุดยาว ผมเลยหอบหมอนผ้าห่มมานอนที่ออฟฟิศเสียเลย ไม่ใช่จะขยันอะไร แต่ขี้เกียจทนร้อนอยู่ที่หอ ไม่ได้มีโซฟาในห้องหรอกครับ ปูผ้าห่มนอนมันที่พื้นนั่นแหล่ะ สิงอยู่เป็นเวลา 3 คืน 4 วัน คืนแรกก็นึกเสียวอยู่เหมือนกัน ต้องอยู่ในตึกสามชั้นขนาดใหญ่คนเดียว คืนต่อมาก็ชิน นี่ว่าคืนวันศุกร์และวันเสาร์จะขนของมานอนอีก เย็นดี เสียก็แต่ตอนเช้าแดดส่องเข้ามาง่ายไปเสียหน่อย ระคายตาคนตื่นเที่ยงแบบผม

เวลาเรื้อสนามไปนาน ผมต้องอาศัยการอุ่นเครื่องพักหนึ่ง เพื่อเรียกความฟิต และปลุกวิญญาณเพชฌฆาต ให้จังหวะทำประตูกลับมาเฉียบคมดังเดิม

ภารกิจแต่ละวันในเวลานี้คือพยายามปั่นวิทยานิพนธ์ให้เรียบร้อย 'ระดับหนึ่ง' ก่อนกลับเมืองไทย ผมจะเดินทางออกจากบ้านนอกวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ กว่าจะไปถึงบ้านเราก็เลยเที่ยงคืนวันที่ 30 วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคมคงไปป่วนธรรมศาสตร์ได้ ระวังกันให้ดี !!!

ชีวิตลงตัวเมื่อไหร่ จะนัดสังสรรค์เหล่า bloggers ที่ Hemlock กันนะครับ หวังว่าเพื่อนสมาชิกคงแวะเวียนมาทำความรู้จักกันได้พร้อมหน้าพร้อมตา โปรดอย่าพลาดการรวมตัวครั้งสำคัญ !!!

กำหนดนัดหมายจะนัดกันผ่าน blog นี้อีกทีหนึ่ง คาดว่าคงสักกลางเดือนสิงหาคม เพราะเพื่อนสมาชิกบางคนกำลังจะไปเรียนต่อ ส่วนบางคนต้องกลับไปเรียนต่อ

จริงๆ เกือบสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมก็ไม่ได้ถึงขนาดนั่งอ่านนั่งแก้นั่งเขียนวิทยานิพนธ์ทั้งวันหรอกครับ แต่เวลาว่างที่กันไว้สำหรับเขียน blog ต้องเอาไปใช้ทำภารกิจสำคัญ นั่นคือ เตรียม 'ต้นฉบับ' หนังสือเล่มใหม่ของผมเองครับ

'ต้นฉบับ' ที่ว่าไม่ได้ไปหาจากไหนไกลหรอกครับ ... ใน blog ผมนี่แหล่ะ

ตอนนี้ 'ต้นฉบับ' ร่างแรกที่ผมเป็นบรรณาธิการให้ตัวเองเสร็จแล้ว คาดว่าจะออกสู่บรรณพิภพได้ในงานมหกรรมหนังสือฯ เดือนตุลาคมนี้

รายละเอียดและรูปแบบหนังสือที่ผมคิดไว้ ขออุบไว้ก่อนนะครับ แต่เอาเป็นว่า ผมพยายามยกชีวิตชีวาของชุมชน bloggers แห่งนี้ลงหนังสือเล่ม

ต้นฉบับเสร็จแล้ว, 'ของ' ที่ขอเพื่อนๆ แถวนี้ก็ได้มาบ้างแล้ว (ใครยังไม่ได้ส่ง 'ของ' ได้โปรด ได้โปรด !!!) แต่ที่ยังคิดไม่ออกคือชื่อหนังสือ และคำโปรยน่ะครับ มิตรรักแฟน blog ท่านใดมีไอเดียเด็ด ข้อเสนอเจ๋ง หรือคำแนะนำดีๆ ก็บอกกันได้นะครับ จะทิ้ง comment ไว้ในนี้ หรือจะอีเมลหาผมก็ได้ครับ

หลังจากจัดการหนังสือของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ภารกิจต่อไปก็คือ ต้องจัดเตรียมต้นฉบับให้หนังสืออีกเล่มหนึ่ง นั่นคือพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ของอาจารย์วรากรณ์ ใน series First, Best, Different ใครเป็นแฟน edutainment essays สีสด สามเล่มแรก โปรดติดตามเล่ม 4 ได้ตุลาคมนี้เช่นกัน เพิ่งเตรียมเสร็จไม่กี่วันนี้เอง เล่มนี้เนื้อหาสนุกมาก ใหม่สด ออกมาหนากว่าสามเล่มแรกนิดหน่อย

ไหนๆ ก็โฆษณาแฝงกันขนาดนี้แล้ว ขอต่ออีกหน่อยแล้วกัน

โปรดติดตามผลงานรวมเล่มของนักเขียนหน้าใหม่อีก 3 คนครับ ไม่ใช่สามคนไกล แต่เป็นสมาชิกชุมชน bloggers ของเรานี่เอง

เล่มแรกคือผลงานรวมเล่มว่าด้วยชีวิตนักเรียนนอกของ BF Pinkerton ที่ตอนนี้เจ้าตัวกำลังปั่นต้นฉบับอยู่ (หวังว่านะ)

ส่วนอีกเล่มคือ ผลงานดูโอของสองนักนิติหนุ่ม ลิฟท์กับออย เอ๊ย หม่ำกับเท่ง เอ๊ย Etat de droit กับ Ratioscripta เอ๊ย ถูกแล้ว เอ๊ย จะเอ๊ยทำไม เอ๊ย (อย่าลืมอ่านออกเสียงเหมือนแก๊งค์สามช่า)

ยัง ... ยังไม่หมด ... ปีหน้า ชาว bloggers จะออกอาละวาดต่ออีก

เริ่มต้นด้วยนักเขียนหนุ่ม(แต่หน้าเก่า - ไม่รู้ดีหรือซวยที่ต้องหน้าเก่าตั้งแต่ยังหนุ่ม !) ขวัญใจสาวๆ ละแวกนี้ อย่าง อาทิตย์ หรือ Tihtra จะมีผลงานรวมเล่มเล่มใหม่จากการเดินทางที่ไม่ธรรมดาของเขา โปรดติดตามเช่นกัน

เล่มต่อมา ถ้าพวกเราทำบุญมาพร้อมกันเมื่อชาติปางก่อนจริง อาจมีหวังได้อ่าน การเดินทาง(ที่ยังไม่รู้ว่าธรรมดาหรือไม่)ของแชมป์ยุโรปใหม่หมาดในการสู้ศึกลูกหนังฤดูกาล 2005/2006 ต้อนรับบรรยากาศฟุตบอลโลก ของนักเขียนวิจารณ์เกมลูกหนังที่ดีที่สุดเพลานี้อย่าง corgiman

ปิดท้าย ฝากมาจากปกป้อง เจ้าตัวบอกว่า คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ ภาค 2 (นามสมมติ) จะออกมาผลาญเงินเสี่ยภิญโญอีกครั้งปีหน้านี้เช่นกัน

อ้อ สำหรับแฟน openbooks ของพี่โญ คาดว่าภายในปีนี้ ชาว open จะกลับมาพบท่านทั้งหลายใน cyberspace แต่จะเป็นรูปโฉมใด อดใจรอครับ

ระหว่างนี้ อ่านหนังสือใหม่ๆ ของ openbooks ไปก่อนครับ


30 วัน - ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา









Business, Life, Thought - วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์














ข่าวเจาะ - เสนาะ สุขเจริญ












พรมแดนทดลอง - มุกหอม วงษ์เทศ














เห็นถั่วงอกเป็นดอกบัว - พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์













OPEN DRAGON เล่มสอง - ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (บรรณาธิการ)









The Chemistry of Movie: มหาลัยเหมืองแร่ - ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (บรรณาธิการ)













ดูหนังรอบโลก - พิมพกา โตวิระ









Celebrities: เรื่องลึกเบื้องหลัง คนดังสังคมโลก - วัชรี สายสิงห์ทอง









OPEN HOUSE 6: มีนา คาราโอเกะ - ปราบดา หยุ่น (บรรณาธิการ)