pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Saturday, March 12, 2005

OPEN พักร้อน

ได้ข่าวมาจากเมืองไทยว่า OPEN เล่ม 50 ออกแล้ว หลังปล่อยให้แฟนๆ รอกันเสียนาน

ฉบับนี้เป็นฉบับอำลา ถ้าเรียกอย่างมีความหวังก็คือฉบับพักร้อน พักร้อนเพื่อรักษาความเหนื่อยล้าในใจหลังจากพี่โญกัดฟันสู้มาหลายยก

ผมเองก็ติดตาม OPEN มาแทบจะตั้งแต่เริ่ม สมัยปีแรกๆ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่มุ่งเน้น SME ก็ซื้อบ้าง ยืนอ่านตามแผงบ้าง ต่อมา OPEN ก็เพิ่มมิติศิลปวัฒนธรรมลงไปมากขึ้น สนใจหนัง ดนตรี ศิลปะ ก็ได้ซื้อบ่อยขึ้น เข้าสู่ยุค GM พร้อมการเข้ามาของพี่คุ่นและพี่หนึ่ง จนถึงยุคสุดท้าย ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจการเมืองเป็นหลัก ซึ่งเป็นยุคที่ผมชอบที่สุด

พูดแบบลำเอียงก็ต้องบอกว่า OPEN เป็นนิตยสารที่ผมอ่านสนุกที่สุดในปัจจุบัน ผมว่า OPEN มีเสน่ห์ที่หาจากหนังสือเล่มไหนได้ยาก เสน่ห์ที่ว่าก็มาจากเสน่ห์ในตัวของพี่โญ บอกอและเจ้าของ เป็นเสน่ห์ที่ผสมผสานความสนใจด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม อย่างลงตัว หนักแน่นด้วยเนื้อหา โฉบเฉี่ยวด้วยลีลา ไม่กลวง แต่ก็ไม่เชย มันยากที่มิติทั้งสองจะหลอมรวมกันได้ลงตัว แต่พี่โญทำได้ ทำได้ดี และทำได้อย่างเป็นธรรมชาติด้วย

ถ้าเป็นคน OPEN ก็คือพี่โญนี่แหละ เป็นคนที่น่าคบ จริงใจ คุยสนุก เฉียบคม มีสีสัน เข้าใจโลก ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า แกเป็นศิลปินนักคิด หรือเป็นนักคิดที่มีความเป็นศิลปินดี

โมเดลธุรกิจของ OPEN ยุคหลัง เป็นโมเดลที่น่าสนใจ OPEN เลือกที่จะสู้กับโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของธุรกิจนิตยสารด้วยโมเดลทำนองเศรษฐกิจพอเพียง ไม่หวังพึ่งโฆษณา แต่ลดต้นทุน ขายเนื้อหา หวังอยู่ได้ด้วยยอดขาย ยืนอยู่บนขาตัวเอง แม้พี่โญมีศักยภาพที่จะหาเงินด้วยวิธีที่ง่ายกว่านี้ พี่โญกลับเลือกวิธีที่ตัวเองสบายใจ และสามารถเป็นเสรีชนได้

แม้ไม่อยากให้หนังสือเลิก เพราะผมเองก็ยังสนุกกับกิจกรรมใน OPEN อยู่มาก แต่ก็เข้าใจความเหนื่อยยากที่พี่โญต้องโยนเงินทิ้งแม่น้ำไปทุกเดือน มิหนำซ้ำ ปัญหาปวดหัวทางธุรกิจบั่นทอนศักยภาพในตัวไปมาก ความล้าบวกกับเริ่มหมดความท้าทาย ทำให้พี่โญรู้สึกพอ ซึ่งจริงๆ พี่โญก็บ่นๆ เป็นสัญญาณมาพักหนึ่งแล้ว ติดอยู่ที่เหล่าคอลัมนิสต์และคนใกล้ชิดพยายามทัดทานไม่อยากให้วันนี้มาถึง

แต่ไม่มีอะไรในโลกที่ฝืนวิถีแห่งธรรมชาติได้ เมื่อถึงเวลา มันก็ถึงเวลา

ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสใกล้ชิดกับ OPEN ตลอดหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา จากแฟนหนังสือคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสวงใน นอกจากรู้สึกตื่นเต้น ยังรู้สึกตกหลุมรักความเป็น OPEN เข้าอย่างจัง และได้เรียนรู้เรื่องราวในธุรกิจหนังสือด้วย เหนือสิ่งอื่นใด ผมได้เพื่อนใหม่ที่มีคุณค่ามากมายหลายคน

นึกย้อนกลับไป ผมรู้จักพี่โญมาสองปีได้แล้ว เจอกันครั้งแรก ตอนปี 46 ช่วงที่ผมกลับเมืองไทยตอนปิดเทอม เราเจอกันที่ร้าน Hemlock ท่าพระอาทิตย์ (คอลัมนิสต์จำนวนมากของโอเพ่นมีจุดกำเนิดมาจากร้าน Hemlock นี้แหละ) ร้านประจำของผม และของพี่โญ เมื่อเจอกันพี่โญก็ชวนผมไปเป็นคอลัมนิสต์ เพราะเคยผ่านตางานของผมมาบ้างตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ตอนนั้น ผมไม่สามารถทำได้แม้จะดีใจมาก เพราะเพิ่งไปเรียน ลำพังเขียนลงกรุงเทพธุรกิจก็หมดเวลาแล้ว จึงผัดผ่อนเรื่อยมา จนเมื่อ OPEN เกิดปัญหาช่วงต้นปี 47 พี่โญได้คุยกับผม และชักชวนให้มาช่วยๆ กันหน่อย เมื่อหนังสือเล่มผมเรียบร้อย ผมก็เข้าสมทบเป็นส่วนหนึ่งของทีมคอลัมนิสต์และเขียนเรื่อยมา

นับเป็นความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับ "ทีมงาน" ชั้นดีอย่างทีม OPEN เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม

การจากไปก็ OPEN เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ชะตากรรมของสื่อทางเลือกในประเทศไทยช่างโหดร้ายนัก การดำรงอยู่ของสื่อทางเลือก ที่ไม่พัดไปตามกระแสทุน ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เสียสละ มาก ไม่มีระบบที่ช่วยให้สื่อที่มีคุณค่าแต่ไม่ทำเงินอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งในโลกทุนนิยม ต้องใช้พลังส่วนตัวของตนตามมีตามเกิดไป นอกจาก OPEN เราจึงเห็นร้านหนังสือใต้ดินของพี่เป้ต้องปิดตัวลงเมื่อต้นปี เห็นร้านหนังสือเดินทางของคุณหนุ่มอยู่อย่างยากลำบาก เห็นหนังสือ SCALE ต้องปิดตัวลง

กล่าวให้ถึงที่สุด ไม่ใช่แค่สื่อทางเลือกที่อยู่ยาก แต่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ถูกพัดพาตามกระแสสังคม คนที่ยืดหยัดเพื่อยึดมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อ ก็อยู่อย่างยากลำบากในสังคมนี้

นอกจากให้กำลังใจกันเองแล้ว เราจะช่วยกันทำอะไรได้มากกว่านี้บ้าง? จะสร้างเครือข่ายของเหล่าชนกลุ่มน้อยที่ไม่เดินตามรอยกระแสหลักอย่างไร?

จะหาที่ยืนตรงไหนในสังคมที่ไร้วัฒนธรรมเรียนรู้ ...