ประชาธิปไตยริมทาง
ชีวิตผมในช่วง spring break ยากลำบากกว่าปกติ เพราะโรงอาหาร ที่กินข้าวประจำของผม ปิดยาว ผมเลยต้องเดินเข้าเมืองไปหาอะไรกินบ่อยครั้งขึ้น จากหอเข้าไปใน downtown ก็ประมาณท่าพระอาทิตย์ไปท่าช้างน่าจะได้
เรียก downtown ให้โก้ไปอย่างนั้นแหละครับ เพราะบ้านนอกที่ผมอยู่ downtown กว้างขวางใหญ่โตเพียงหนึ่งแยกไฟเขียวไฟแดงเท่านั้นเอง
ระหว่างทางเดินเข้าเมืองไปหาของกิน ผมต้องเดินผ่านบ้านคนจำนวนมาก บ้านแถวนี้ขนาดกำลังกะทัดรัด เป็นบ้านชั้นเดียว ไม่มีรั้ว ไม่ได้หรูหราใหญ่โตเหมือนบ้านเศรษฐีใหม่แถบเอเชียตะวันออก หน้าบ้านมักมีสนามหญ้าเล็กๆ แน่นอนว่า ช่วงนี้มองไม่เห็นสีเขียว หากโพลนไปด้วยสีขาวของหิมะ
สองข้างทางที่ผมเดินผ่าน สังเกตดีๆ จะมีป้ายเล็กๆ ปักพ้นเหนือกองหิมะขาว หน้าบ้านแต่ละคน บางป้ายเขียนว่า 'Yes' for the future บางป้ายเขียนว่า No, not this new charter ผมเลยมีของเล่นสนุก เดินไปก็พลางนับคะแนนไปเล่นๆ ให้พอครึ้มอกครึ้มใจ
กลับมาที่ออฟฟิศ อ่านข่าวดู ถึงรู้ว่าช่วงสิ้นเดือนนี้ ที่บ้านนอกแห่งนี้จะมีการลงประชามติระดับเมือง(เล็กๆ) ว่าจะยอมรับ charter ใหม่ ที่จัดโครงสร้างอำนาจการบริหารเมืองเสียใหม่หรือเปล่า จะแทนที่ representative town meeting ด้วยคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งเก้าคนดีหรือไม่ จะแทนที่ select board ด้วย mayor ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเลยดีไหม
อิจฉาไหมครับที่คนที่บ้านนอกของผมมีสิทธิกำหนดชะตาชีวิตตัวเองโดยตรง แบบไม่ต้องให้ตัวแทนของเขาคอยคิดแทนโหวตแทนให้ สิทธิพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยไร้รากไร้ที่มาหรอกครับ คงมาจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่พลเมืองพึงมีพึงได้อย่างยาวนาน เมื่อสิทธิได้มาจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ คนก็ภูมิใจที่จะรักษา และกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม
คุณค่าจะยิ่งมากขึ้น ถ้ากิจกรรมที่เรามีส่วนร่วมมันส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราจริงๆ อย่างรัฐบาล(ท้องถิ่น)เมืองบ้านนอกเล็กๆ นี่ มีอำนาจดูแลเรื่องโรงเรียน ตำรวจ ดับเพลิง ถนนหนทาง โซนนิ่งการใช้พื้นที่ รวมถึงเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเขาโดยตรง
ย้อนกลับไปที่บ้านเรา
เราก็มีสิทธิที่ได้จากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาหลายครั้ง แต่ไม่รู้ทำไม คนไทยหลายคนถึงยอมคืนกลับไปให้ผู้มีอำนาจอย่างง่ายๆ บางครั้งอาจถูกปล้นกลับคืนไปโดยผู้มีอำนาจก็จริง แต่หลายครั้งเราก็ยื่นคืนให้เขาเองอย่างเซื่องๆ ยอมรับอะไรง่ายๆ อย่างสิ้นหวัง ไม่คิดต่อสู้
ส่วนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านระดับท้องถิ่นที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะอำนาจท้องถิ่นไม่ได้อยู่ในมือชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจในทางปฏิบัติที่เกี่ยวพันต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านธรรมดาอย่างสำคัญ เงินงบประมาณก็ไม่มี ต้องพึ่งพิงรัฐบาลกลาง อำนาจหน้าที่สำคัญก็ไม่มี อยู่กับราชการส่วนภูมิภาคเป็นส่วนมาก แล้วชาวบ้านจะอยากร่วมอย่างกระตือรือร้นทำไม ในเมื่อมันตอบไม่ได้ว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้นอย่างไร และการถ่ายโอนอำนาจ(บางส่วน) ก็เป็นแค่การเปลี่ยนมือจากราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค ไปยังนักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มทุนท้องถิ่นเท่านั้นเอง
ย้อนกลับมาที่บ้านเขาอีกที
น่าสนใจไหมครับ ที่บ้านอยู่ติดกัน แต่หลังหนึ่งประกาศตัว vote yes ส่วนอีกหลังบอกชัดๆว่าจะ vote no อย่างเปิดเผย
ผมมั่นใจว่า ทั้งสองหลังคงไม่ทำตัวผีไม่เผา เงาไม่เหยียบกันหรอก เพราะความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความแตกแยก ถึงขั้นไม่มองหน้า หรือเกลียดชังกันเป็นส่วนตัว น่าชื่นชมที่เขาสู้กันทางการเมืองอย่างยุติธรรมตรงไปตรงมา แยกแยะเรื่องความคิดและหลักการออกจากเรื่องส่วนตัวเป็น และถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ได้
ประชาธิปไตยจะทำงานได้ดี ขึ้นอยู่กับระดับของวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคม การเมืองเชิงวัฒนธรรมอาจสำคัญกว่าการเมืองที่อยู่บนฐานกฎหมายด้วยซ้ำไป การเมืองที่แท้คือการเมืองที่ลงไปถึงชีวิตของสามัญชนคนธรรมดา การเมืองไม่ใช่เรื่องในรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องของผู้มีอำนาจ แต่เป็นเรื่องของสามัญชนคนธรรมดา ของวิถีชีวิต ว่าจะจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรที่มีอย่างไร ต่อรองกันอย่างไร ใครควรได้อะไรเท่าไหร่ ใครควรมีอำนาจตัดสิน และคนที่มีสิทธิตัดสินมีที่มาสู่อำนาจนั้นอย่างไร เปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างไร
สังคมไทยจะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ และจะสร้างกลไกเปลี่ยนผ่านอย่างไร ให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรมหลักของสังคม แทนที่วัฒนธรรมอุปถัมภ์ วัฒนธรรมศักดินา
ประสบการณ์ที่ผมพบเจอในช่วง 3-4 เดือนหลังของชีวิตบอกว่า เราคงต้องทำงานหนักอีกมาก เพื่อให้ภาพฝันข้างต้นเกิดขึ้นจริง เพราะแม้แต่ชุมชนวิชาการ ที่พร่ำสอนสังคมให้เชื่อในหลักประชาธิปไตย เชื่อในเสรีนิยม เชื่อในธรรมาภิบาล เอาเข้าจริง ก็เป็นแค่การเทศนาสิ่งที่ตนไม่เชื่อเท่านั้น
ระบอบทักษิณอยู่รอบตัวเรานี่แหล่ะ มีอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่อาจารย์ขาประจำในมหาวิทยาลัย
<< Home