pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Tuesday, March 15, 2005

ฉัน...ร้ากกกกก...ธรรมศาสตร์

วันก่อน เพื่อนคนหนึ่งส่งลิงก์ข่าวจากเวปผู้จัดการมาให้อ่าน เป็นเรื่องของ เบอร์นาร์ด ยาโด แขกขายถั่วแห่งท่าพระจันทร์ ที่เพื่อนพ้องน้องพี่ ธรรมศาสตร์ คงรู้จักเป็นอย่างดี

37 ปี ของการขายถั่วอย่างซื่อสัตย์ เลี้ยงลูก 5 คน หลาน 12 คน ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลามาสองครั้ง เร็ววันนี้ เบอร์นาร์ดอาจจะต้องจากธรรมศาสตร์ไป พร้อมกับคนเดินขายของอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผล "เกะกะ"

ความเรียบร้อยสวยงาม (ในสายตาใคร?) ดูจะเป็นความฝันอันสูงสุดของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยราบคาบ ดูจะมีความสำคัญเหนือกว่า ความเคลื่อนไหว หลากหลาย มีชีวิตชีวา ที่แม้อาจดูไม่เรียบร้อย แต่มันมีตัวตน มีชีวิตจิตใจ มีเรื่องราว และเสน่ห์ของมัน

นับวันที่ทางของคนเล็กๆ ในสังคมที่หาเช้ากินค่ำ คนซึ่งห่างไกลจากความมีอภิสิทธิ์ ทั้งจากความด้อยสถานะทางสังคม หน้าที่การงาน การศึกษา เครือข่ายสายสัมพันธ์ทางสังคม ยิ่งถูกคุกคามและเบียดออกโดยระบบและความคิดฟอนเฟะแบบไทยๆ ซึ่งมองคนเล็กคนน้อยเป็นคนไม่เต็มคน และเป็นเหยื่อรายแรกๆ ที่ต้องถูกสังเวย แลกกับอะไรต่อมิอะไรที่ไม่เข้าท่า บ้าอำนาจ

วิธีคิดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากความคิดของอดีตพ่อเมืองสมัคร ที่ต้องการกวาดต้อนคนจนและหมาจรจัดในเมืองหลวงไปทิ้งต่างจังหวัด เมื่อคราวจัดประชุมเอเปค

วิธีคิดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากความคิดคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ที่หวังสร้าง "ความสวยงาม" ในเขตชั้นใน ขีดเส้น วางผัง แล้วจ้องขับไล่ผู้คนที่มีชีวิตเลือดเนื้อแลกกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้หน้าตาที่สวยงามไว้ขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ที่มี "ตัวตน" จริงๆ ในเขตพื้นที่เหล่านั้น

สุดท้าย เราจึงมักพบเห็นความสวยงามเรียบร้อย ที่ไร้ชีวิต ไร้จิตวิญญาณ ไร้ราก เต็มทั่วสังคมไทย ไม่ใช่แค่ตามสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังตามที่ทำงาน โรงเรียน ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ กระทั่งที่บ้าน

เมื่อไหร่ที่เราจะเห็น "คน" เป็น "คน" และมอง "คน" เท่ากับ "คน" โดยมองทะลุเปลือกที่ฉาบความเป็นคนภายนอกอย่างฉวยๆ ไม่ว่าฐานะ ตำแหน่ง เชื้อชาติ การศึกษา อาชีพการงาน ศาสนา ฯลฯ

คนทุกคนล้วนมีคุณค่าพอที่จะถูกเคารพอย่างเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกคุกคามความเป็นตัวตนของเขา ตราบที่ไม่สร้างความลำบากเดือดร้อนให้ใคร

การยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น ต้องไม่มาจากการกดคนอื่นให้ต่ำลง นั่นไม่ใช่วิถีของวิญญูชน

......


เมื่อวาน เพื่อนอีกคนหนึ่ง ส่งเนื้อความในกระทู้ว่าด้วยหอสมุดปรีดีฯ ในเวปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มาให้อ่าน

ผมก็เพิ่งรู้เองว่า ระเบียบการสมัครสมาชิกของหอสมุดปรีดีฯ ระบุว่า คนภายนอกที่จะเป็นสมาชิกห้องสมุดกลางได้นั้น ต้องมีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป และต้องจ่ายค่าสมาชิกปีละ 3,000 บาท

นี่คือมหาวิทยาลัยที่มีจุดกำเนิดเพื่อเป็นตลาดวิชาให้ประชาชนวงกว้างหรือครับ? .... ล้อเล่นน่าาาาา

การจำกัดสิทธิให้คนจบปริญญาตรีเท่านั้นถึงมีสิทธิเป็นสมาชิกห้องสมุดได้นี่มันทำลายปรัชญาธรรมศาสตร์ (ถ้ามี หรือถ้ายังมี)อย่างย่อยยับจนผมพูดไม่ออก มิต้องพูดถึงค่าสมาชิกรายปีที่นับว่าแพงสำหรับคนหาเช้ากินค่ำที่รักการเรียนรู้

แม้มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นป้อมปราการทางปัญญาของสังคมยังตัดสินคนง่ายๆ จากระดับการศึกษา และทำลายโอกาสในการเข้าถึงความรู้ของประชาชนด้วยมือตัวเอง ทั้งที่ตัวเองต้องมีหน้าที่ในการสร้างภูมิปัญญาให้สังคม มิหนำซ้ำ แท้ที่จริง คนกลุ่มที่สำนักหอสมุด "กันออก" คือกลุ่มที่ธรรมศาสตร์ยิ่งต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วยซ้ำ

สังคมแห่งความรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าคนจบต่ำกว่าปริญญาตรีเข้าห้องสมุดไม่ได้ ถ้าเราไม่เปิดโอกาสในการเข้าถึงความรู้สู่คนวงกว้างที่สุด ให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด โดยไม่คำนึงถึงฐานะ และระดับการศึกษาในระบบ

นับวัน มหาวิทยาลัยยิ่งกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าอภิสิทธิ์ชนมากขึ้นทุกที ในแต่ละปี มีเพียงคนโชคดีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศนี้เท่านั้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะที่ใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมากผลิต

เสรีภาพทุกตารางนิ้ว? ... ล้อเล่นอีกแล้ว มีพื้นที่ซะที่ไหนล่ะ?

......


เขียนถึงตรงนี้ ผมนึกถึงลุงไก่ขึ้นมาทันที

ตั้งแต่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ท่าพระจันทร์ในหลายบทบาทมาสิบปีเต็ม ลุงไก่เป็นคนที่ผมเคารพที่สุดคนหนึ่ง

ลุงไก่เป็นนักการ มีหน้าที่ดูแลตึก กินนอนอยู่ที่คณะ - ต่างไปจากข้าราชการหรือลูกจ้างทั่วๆไป - ผมเห็นลุงไก่ทำงานเต็มที่ รักในสิ่งที่ตัวเองทำ มีหัวคิดสร้างสรรค์ และเต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจที่ดีงาม รักการบริการให้คนอื่นมีความสุข

คนจำนวนมากมักดูถูกงานที่ตัวเองทำ ทำงานไปวันๆ เช้าชามเย็นชาม คิดแต่ว่าทำงานหนักหรือเบาก็ได้เงินเดือนเท่ากัน แล้วจะทำงานหนักไปทำไม? แต่นั่นไม่ใช่ลุงไก่

ผมนิยมชมชอบคนที่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่มั่ว และไม่ชุ่ย

คนแบบนี้หายากเหลือเกินในสังคมไทย ที่เต็มไปด้วยความชุ่ยและมั่ว ไม่นับความโง่และโกงนะครับ

คนเก่งคนดีเราพอมี แต่เราขาดมืออาชีพ

ผมว่าลุงไก่เป็นมืออาชีพคนหนึ่ง มากกว่าเจ้าหน้าที่ กระทั่งอาจารย์ในคณะนั้นหลายคน

การใช้ชีวิตด้วยวิถีธรรมะอย่างง่ายๆ ก็คือการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดให้ได้

ก่อนผมกลับมาบ้านนอก ผมได้รับข่าวร้ายคือ ลุงไก่ตัดสินใจลาออก เพราะทนกับความบ้าอำนาจ ดูถูกคน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ได้

"สถาบัน" ที่ไม่สามารถรักษามืออาชีพที่ทั้งเก่งและดีอย่างลุงไก่ไว้ได้ แสดงว่าต้องมีความป่วยไข้อะไรบางอย่าง หรือหลายอย่าง

ผมเสียใจ และรู้สึกผิดต่อตัวเองจนถึงทุกวันนี้ ที่ผมไม่มีส่วนต่อสู้เพื่อลุงไก่แม้แต่น้อย

ความเงียบไม่ได้หมายถึงแค่ข่าวดี แต่อาจหมายถึงคุณธรรมในใจที่เสื่อมถอยลง

น่าเสียดาย ที่ตอนนี้ เสียงแห่งความเงียบส่งเสียงดังที่สุด บริเวณนั้น

สันติประชาธรรมหายไปไหน? ในคณะที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของสันติประชาธรรม

......


นิทานทั้งสามเรื่องข้างต้น ล้วนสอนให้รู้ว่า

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน

..ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน.. !

...... ล้อเล่นน่าาาาาาา !!!!!