จาก 'ความจริง' ถึง 'การเมือง'
โดย ปกป้อง จันวิทย์
- 1 -
“Science tells us what we can know, but what we can know is little, and if we forget how much we cannot know we become insensitive to many things of great importance.” B. Russell (1946)
ที่คณะเศรษฐศาสตร์แห่งหนึ่ง อาจารย์ปิ่นและอาจารย์ป๊อปเปิดสอนวิชา ‘ระเบียบวิธีศึกษาทางเศรษฐศาสตร์’ (Economic Methodology) สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ซึ่งมักถูกพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า การทำงานวิชาการ ผลิตทฤษฎีต่างๆ คือความพยายามค้นหาและเข้าถึง ‘ความจริงสัมบูรณ์’ (ความจริงสูงสุดหนึ่งเดียว เป็นสากล)
เป้าหมายหลักของวิชานี้ก็เพื่ออธิบายว่า เหตุใดนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักจึงมองโลกต่างกัน มี ‘หลักคิด’ ต่างกัน มี ‘ทฤษฎี’ (ความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของปัจจัยต่างๆ) ต่างกัน และมี ‘ข้อเสนอเชิงนโยบาย’ (Policy Implication) ต่างกัน หากถอดรากไล่เรียงลงไปให้ลึกที่สุดเท่าที่ปัญญาของทั้งสองอำนวย จะอธิบาย ‘เหตุ’(รากฐาน)แห่งความแตกต่างเหล่านั้นอย่างไร
ชั่วโมงแรก อาจารย์ทั้งสองแนะนำวิชาให้นักศึกษาฟังว่า วิชานี้สนใจตอบคำถามว่า ทำไมนักเศรษฐศาสตร์สำนักหนึ่งถึงคิดอย่างนั้น เสนออย่างนั้น ทำไมเขาถึงพูดถึงเขียนอย่างที่เขาพูดเขาเขียน ทำไมเขาถึงคิดว่าสิ่งที่เขาพูดเขาเขียนมีความสำคัญ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีกสำนักหนึ่งอาจมองไม่เห็นความสำคัญของประเด็นเหล่านั้นอยู่ในสายตาแม้แต่น้อย ทำไมในคำอธิบายของคนกลุ่มหนึ่งถึงตัดปัจจัยบางอย่างทิ้ง รวมปัจจัยบางอย่างเข้า ขณะที่กลุ่มอื่นก็เลือกตัดเลือกสนใจปัจจัยที่ต่างกัน ทำไมสำนักหนึ่งจึงเลือกกระบวนการหนึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการศึกษา ขณะที่อีกสำนักหนึ่งเลือกอีกกระบวนการหนึ่ง ... ‘ทำไม?’
นักศึกษาคนหนึ่งไม่ได้ฟังจนเพลิน แต่ฉุกคิดขึ้นได้ จึงถามแทรกว่า “อ้าว อาจารย์พูดเหมือนกับว่า คนคิดต่างได้ สามารถศึกษาเหตุการณ์เดียวกัน ด้วยวิธีหลายแบบได้ มีหลายคำตอบได้ มีหลายข้อเสนอได้ แล้วยังงี้จะหาข้อสรุปยังไงว่าของใครถูก ของใครผิด จะรู้ได้ไงว่า อันไหนถูกที่สุด ดีที่สุด?”
อาจารย์ปิ่นตอบว่า ก็ไม่รู้ไง และไม่จำเป็นต้องรู้ ซึ่งความไม่รู้ว่าอะไรคือ ‘ความจริง’ ไม่ใช่เรื่องผิด หรือเป็นเรื่องโง่เขลา จะว่าไป แน่ใจหรือว่า ‘ความจริง’ มันมีอยู่จริง เผลอๆ คนที่หลงคิดว่าตัวรู้ ‘ความจริง’ เสียอีกที่โง่เขลา แล้วมันมีเกณฑ์ที่เป็นสากลที่วัดว่า อะไร ‘จริง’ อะไร ‘ไม่จริง’ หรือ?
ความแตกต่างเชิงทฤษฎีในระดับพื้นฐาน (Fundamental Theoretical Differences) เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง และยอมรับได้ ทั้งนี้ ความแตกต่างดังกล่าวเกิดขึ้นจากความแตกต่างหลายระดับ ตั้งแต่ความแตกต่างในระดับ ‘ระเบียบวิธีศึกษา’ (Methodology) ซึ่งหมายถึง (1) กระบวนการทางเทคนิคในการค้นหา ‘ความจริง’ หรือที่อาจารย์อัมมาร สยามวาลา เคยใช้คำว่า ‘วิธีการทำงาน’ และ (2) ‘มุมมองต่อโลก’ (World View) ที่อยู่เบื้องหลังทฤษฎีของแต่ละสำนัก
ความแตกต่างที่ว่ายังลงลึกไปจนถึงระดับ ‘วิถีคิด’ (Mode of Thought) ของแต่ละสำนักคิด ซึ่งหมายความถึง (1) วิถีที่ทฤษฎีถูกสร้างขึ้นและถูกนำเสนอ (2) วิถีในการชักจูงคนอื่นให้เข้าถึง ‘ความจริง’ และ ‘ความสมเหตุสมผล’ (Validity) ของข้อโต้แย้งของเรา (3) ท่วงทำนอง (Rhetoric) ที่ใช้ในการสื่อสาร และ (4) โครงสร้างเชิงตรรกะ (Logical Structure) ของข้อโต้แย้ง
กระนั้น รากแห่ง ‘ความแตกต่าง’ ในระดับที่ลึกที่สุด ซึ่งลึกลงไปกว่าระดับ ‘วิถีคิด’ คือความแตกต่างในเชิง ‘ญาณวิทยา’ (Epistemology) โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง ‘ท่าทีต่อความจริง’
อาจารย์ป๊อปพูดเสริมว่า เราอาจแยกกลุ่มคนที่มีท่าทีต่อความจริงแตกต่างกันได้อย่างหยาบๆ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่เชื่อว่า ความจริงสัมบูรณ์มีอยู่จริง มีความจริงแท้สูงสุดหนึ่งเดียว เป็นสากล ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ อยู่ตรงนั้น แยกขาดออกจากตัวตนของผู้ศึกษา รอให้เราค้นหาและเข้าถึง หน้าที่ของนักวิชาการก็คือ สร้างทฤษฎีที่สามารถช่วยให้เข้าถึงความจริงสูงสุดนั้นได้ เพื่อลดความห่างระหว่างตัวตนของเรากับความจริงที่อยู่ตรงหน้า วิธีการเข้าถึงความจริงอาจจะด้วยการใช้ประสบการณ์ ข้อมูลประจักษ์พยานข้อเท็จจริง (Empiricism) หรืออาจจะด้วยการใช้เหตุใช้ผล (Rationalism) เมื่อเชื่อว่าความจริงสัมบูรณ์มีอยู่จริง ก็ย่อมเชื่อต่อไปว่า มีวิธีที่ดีที่สุดหนึ่งเดียว (ทฤษฎีเดียว นิยามเดียว) ในการอธิบายความจริงนั้น
คนที่มีท่าทีต่อความจริงทำนองนี้ก็จะถามคำถามแบบที่นักศึกษาข้างต้นถาม เพราะให้ความสำคัญกับการเข้าถึงความจริงสูงสุดหนึ่งเดียวนั้น เชื่อว่าเข้าถึงได้ แต่คำถามเดียวกัน กลับเป็นคำถามที่คนอีกกลุ่มไม่ให้ความสำคัญและไม่สนใจที่จะตอบเลย เพราะไม่คิดว่ามันมีจริง เลยไม่รู้จะเข้าถึงอะไร
อาจารย์ปิ่นแทรกต่อทันทีว่า ยังมีคนกลุ่มที่สอง ที่เชื่อว่า ความจริงแท้สูงสุดหนึ่งเดียวเป็นสากลนั้นไม่มี ความจริงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ ความจริงไม่สามารถแยกออกจากผู้ศึกษาได้ เพราะความจริงไม่ได้มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ อยู่ตรงนั้น รอให้เราค้นหาเข้าถึง แต่ความจริงมัน ‘ถูกสร้าง’ ขึ้นจากตัวผู้ศึกษาแต่ละคนเอง ความจริงจึงมีหลากหลาย แตกต่างกันตามภูมิหลัง ประสบการณ์ ความเชื่อ อุดมการณ์ วัฒนธรรม ค่านิยม ฯลฯ ของแต่ละคน ความจริงไม่มีความเป็นสากล เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า ความจริงของใครเหนือกว่าของใคร ความจริงของใครถูกที่สุด ดีที่สุด ความจริงของแต่ละคนต่างก็มีพื้นที่พร่าเลือน(Blind Area) แตกต่างกัน มีจุดตั้งต้นในการสร้างความจริงต่างกัน มีจุดมุ่งเน้นสำคัญแตกต่างกัน เช่นนี้แล้ว เราจึงมีทฤษฎีที่หลากหลาย ซึ่งมุ่งอธิบายความจริงหลากหลายรูปแบบ
เหตุที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าทฤษฎีใดเหนือกว่าทฤษฎีใดก็เพราะ มันไม่มีเกณฑ์กลางที่เป็นสากล ที่จะใช้ตัดสินทฤษฎีที่แตกต่างกัน เพราะเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินหรือทดสอบทฤษฎีแต่ละอันต่างก็เป็นผลผลิตหรือถูกออกแบบขึ้นภายใต้ตัวทฤษฎีนั้นๆ เอง พูดง่ายๆ ก็คือ ความจริงถูกสร้างมาจากทฤษฎีหนึ่งๆ และถูกตัดสินว่ามันจริงหรือไม่ ถูกหรือไม่ จากเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยตัวทฤษฎีนั้นเอง
- 2 -
ความขัดแย้งของสังคมไทยภายใต้ปรากฏการณ์ ‘ยิกทักษิณ’ ถ้ามองลึกลงไปจากปรากฏการณ์แย่งชิง ‘อำนาจ’ ทางการเมืองแล้ว สิ่งที่ขีดเส้นใต้ความขัดแย้งก็คือ การสู้รบช่วงชิง ‘ความจริง’ ของแต่ละฝ่าย แล้วพยายามทำให้สังคมเชื่อว่า ‘ความจริง’ ของใคร ‘จริง’ กว่ากัน นั่นเอง
จริงๆ แล้ว คุณทักษิณโกงหรือไม่? จริงๆ แล้ว ประชาธิปไตยหมายถึงอะไร? จริงๆ แล้ว การปฏิรูปการเมืองคืออะไร? จริงๆ แล้ว พรรคการเมืองต้องส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่? จริงๆ แล้ว ควรแก้รัฐธรรมนูญประเด็นไหน อย่างไร? จริงๆ แล้ว อะไรเป็นเส้นแบ่งระหว่างการเล่น ‘ใน’ กติกา กับ ‘นอก’ กติกา? จริงๆ แล้ว ความชอบธรรมหมายความว่าอย่างไร? จริงๆ แล้ว การกู้ชาติ คือการต่อต้านอะไร หรือส่งเสริมอะไร? จริงๆ แล้ว ชาติคืออะไร? จริงๆ แล้ว หากอยากได้ชื่อว่าหวังดีกับบ้านเมือง ต้องทำตัวอย่างไร? จริงๆ แล้ว ทางออกของวิกฤตการณ์การเมืองคืออะไร?
น่าคิดว่า ‘จริงๆ แล้ว’ มันมีคำตอบสูงสุดสำเร็จรูปหนึ่งเดียว เป็นสากล พิสูจน์ได้ ทุกคนยอมรับอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง หรือไม่ว่า ‘จริงๆ แล้ว’ มันมีไหม ไอ้ ‘จริงๆ แล้ว’ เนี่ย ... ‘ความจริง’ ในประเด็นต่างๆ ข้างต้น มี ‘นิยาม’ ที่จริงแท้เป็นสากลหรือไม่? และควรถูกนิยามโดยใคร?
หรือมันมีแต่ ‘ความจริง’ ที่แต่ละคนแต่ละฝ่าย ต่างล้วน ‘สร้าง’ มันขึ้นมา ด้วยมุมมอง ประสบการณ์ ภูมิหลัง ฐานะทางสังคม ค่านิยม อุดมการณ์ การถูกฝึกฝน การศึกษา แว่นตาที่ใช้มองโลก หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ความจริง’ ต่างถูกสร้างขึ้นตาม ‘โลก’ ของใครของมัน อย่างหลากหลาย
ฝ่ายหนึ่งก็ว่า คำพูดของตัวคือ ‘ความจริง’ อีกฝ่ายก็ว่า ไม่ใช่ ไม่จริง พวกนั้นโกหก ต้องของตัวต่างหากที่จริง ฝ่ายโน้นด่าว่าอีกฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพกติกา ขณะที่อีกฝ่ายก็บอกว่าฝ่ายนั้นต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพกติกา ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมและเสียงประชาชนหนุนหลัง
ผมไม่เชื่อว่า มันมีความจริงแท้สำหรับคำนิยามอย่าง ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘ความชอบธรรม’ หรือ ‘รัฐธรรมนูญที่ดี’ ฯลฯ เพราะต่างฝ่ายต่างให้คำนิยามที่ตนเชื่อว่า ‘จริง’ ตาม ‘โลก’ ของแต่ละคน หากมองให้ลึกลงไปจากระดับผิวหน้า การเมืองจึงไม่ใช่เพียงการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง หรือเศรษฐกิจ แต่ในระดับปรัชญา การเมืองคือการช่วงชิงอำนาจในการนิยาม ‘ความจริง’ ในประเด็นทางสังคมต่างๆ รวมถึง กระบวนการแผ่ขยาย และเข้าครองความคิดจิตใจของประชาชน ด้วยนิยาม ‘ความจริง’ ของตัวเอง พยายามผลัก ‘ความจริง’ ของตนให้กลายเป็น ‘ความจริง’ กระแสหลักของสังคมส่วนรวม
ปัญหาสำคัญก็คือว่า แล้วภาครัฐ หรือผู้มีอำนาจทางการเมือง เปิดพื้นที่ให้กับคนที่นิยามความจริงในทางที่แตกต่างจากตัวหรือไม่ ใครควรจะเป็นผู้มีอำนาจในการนิยามความจริง ผู้มีอำนาจ? ผู้มีทุน? ภาคประชาชน? กฎกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร? หรือไม่ควรมีฝ่ายใดเลย? แต่ให้กลุ่มพลังทางสังคมทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่ มีโอกาสต่อสู้ช่วงชิง ‘ความจริง’ กันอย่างเต็มที่ อย่างเปิดกว้างเสรีด้วยเหตุด้วยผล ในเวทีสาธารณะ เช่น การเลือกตั้ง และนอกเวทีสาธารณะ เช่น บนโต๊ะอาหาร และมีโอกาสผลิตบทสนทนาที่สร้างสรรค์ระหว่างกันได้เต็มที่ ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่เปิดกว้าง รอบด้าน ไม่มีปิดกั้น ไม่แทรกแซงสื่อสารมวลชน
ผมเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่เปิดพื้นที่ให้คนที่นิยามความจริงหลากหลายรูปแบบต่างมีที่ยืนของตัวเอง และต่อสู้ช่วงชิงการนิยาม ‘ความจริง’ ด้านต่างๆ กันอย่างเท่าเทียม ผู้มีอำนาจมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับนิยามความจริงแบบที่แตกต่างจากของตัว แต่ไม่มีสิทธิใช้อำนาจไปรังแกคุกคามคนที่เห็นต่างนิยามต่างจากตน เสียงส่วนใหญ่ก็คือเสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่เสียงสวรรค์ หากเป็นเพียงดัชนีชี้ว่า ในขณะหนึ่ง สังคมส่วนรวม(ส่วนใหญ่)นิยามหรือมีท่าที่ต่อความจริงในเรื่องนั้นๆ อย่างไร เสียงส่วนใหญ่มิใช่ความถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ใช่ผู้ถือครองความจริงสูงสุด และยังมีความเลื่อนไหล เป็นพลวัต เสียงส่วนใหญ่ในวันนี้อาจเป็นเสียงส่วนน้อยในวันหน้า
สังคมประชาธิปไตยต้องมีที่ทางให้เสียงข้างน้อยอย่างเต็มที่ เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องกระบวนการที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่ใช่แค่ระบอบคณิตศาสตร์ ตัดสินหาคนแพ้คนชนะในบั้นปลายด้วยการนับจำนวนอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเสียงข้างมาก ถูก เสียงข้างน้อย ผิด เสียงข้างมากอาจเป็นตัวตัดสินว่าสังคมจะเดินต่อไปอย่างไร ทางไหน และเป็นภาพสะท้อนของสภาพสังคมในช่วงขณะหนึ่ง แต่ไม่ใช่เครื่องมือแห่งการตัดสินคุณค่าของความดี ความงาม ความจริง
อัปลักษณะสำคัญประการหนึ่งของระบอบทักษิณก็คือ ใช้ความมีอำนาจเข้มแข็งเด็ดขาด แบบ ‘สมบูรณาญาสิทธิ์’ ในการสถาปนาความจริงของตนเป็นความจริงส่วนรวม พูดให้ง่ายคือทำตัวเป็นผู้ผูกขาดความจริงเพียงหนึ่งเดียว เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองรู้คือความจริงแท้ ใครคิดเห็นนิยามต่างจากตนคือ พวกไม่รู้ ไม่ฉลาด ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ไม่หวังดี โดยหาได้ตระหนักถึงข้อจำกัดของความจริงที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ไม่ตระหนักถึง ‘พื้นที่พร่าเลือน’ ของความจริงแบบของตน (โปรดอ่าน พิษทักษิณ ประกอบ)
อำนาจไม่ใช่ที่มาของความถูกต้องฉันใด ‘ความจริง’ ก็มิได้ถูกนิยามเบ็ดเสร็จโดยผู้มีอำนาจฉันนั้น
เช่นเดียวกัน เหล่านักสู้ที่ต่อต้านระบอบทักษิณ ก็ไม่ควรแปลงร่าง หรือถูกทำให้เป็นทักษิณ (thaksinized) เสียเอง โดยผูกขาด ‘ความจริง’ ไว้กับตัว ถือเอานิยามของตนเป็นจริงแท้ ว่าแนวทางของตนเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย ที่เห็นแก่ชาติบ้านเมือง ถูกที่สุด ดีที่สุด เพราะสังคมไม่จำเป็นต้องถูกผลักให้เลือก ‘ความจริง’ สองด้านว่า อันไหนจริงกว่ากัน เพราะ ‘ความจริง’ มันมีหลากหลายกว่านั้น และคนทุกคนมีสิทธินิยาม ‘ความจริง’ ของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องถูกบังคับให้เลือกข้าง โจทย์คือจะหลอมรวมความจริงหลายรูปแบบจากหลากหลายฝ่ายเข้าด้วยกันอย่างไรต่างหาก ไม่ใช่จะเลือกทางไหนในสองทางนี้
การต่อสู้กับระบอบทักษิณต้องระมัดระวังไม่ให้ตัวกลายเป็นทักษิณเสียเอง หรือต่อสู้ด้วยท่วงทำนองแบบทักษิณๆ มิเช่นนั้น แม้คุณทักษิณจะจากไป แต่อัปลักษณะประการนี้ของระบอบทักษิณจักยังคงอยู่
โจทย์ของการต่อสู้กับระบอบทักษิณ เพื่อไปสู่สังคมยุค ‘หลังทักษิณ’ ในความเห็นของผมคือ จะเปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างไร ให้นิยามความจริงของสังคมมีหลากหลาย ไม่ให้ฝ่ายใด ไม่ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจ กระแสสังคม เสียงส่วนใหญ่ แม้กระทั่ง กติกาลายลักษณ์อักษร เช่น รัฐธรรมนูญ และกติกาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ค่านิยม วัฒนธรรม ผูกขาดการนิยามความจริงไว้ฝ่ายเดียว
ย้ำอีกทีตรงนี้นะครับ ไม่แม้กระทั่งให้ 'กติกาลายลักษณ์อักษร' อย่าง รัฐธรรมนูญ ผูกขาดกำหนดนิยามความจริงไว้ฝ่ายเดียวตั้งแต่ต้น
ผมหมายความว่า รัฐธรรมนูญควรมีเป้าหมายในการออกแบบ 'กติกากำกับ' สำหรับการต่อสู้ช่วงชิงคำนิยามระหว่างแต่ละฝ่ายในสังคม ไม่ใช่มีเป้าหมายในการเป็นผู้ 'กำหนด' หรือ 'เขียน' คำนิยาม 'ความจริง' ด้านต่างๆ เสียเอง แล้วจำกัดให้สังคมเคลื่อนไหวต่อสู้กันในพื้นที่แห่ง 'ความจริง' แคบๆ ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ก่อนแล้ว
กลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าเป็นสถาบันทางการ ไม่ทางการ ข้างน้อย หรือข้างมาก ฯลฯ ควรมีพื้นที่อิสระในการต่อสู้แสดงพลังช่วงชิงการนิยามความจริงกันเอง ทั้งในและนอกเวทีสาธารณะ ในแต่ละช่วงเวลา ตามแต่สถานการณ์ ไม่ใช่ถูกจองจำโดนกำหนดผิดถูกจริงไม่จริงไว้แต่แรก ไม่ว่าจะโดยสถาบันใดก็ตาม
นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องคิด แต่เป็นโจทย์ที่ระบบการเมืองแบบวีรชนเอกชน แบบสมบูรณาญาสิทธิ์ทุกรูปแบบ แบบฟ้าประทาน แบบเนติเทวดา แบบอำนาจนิยม และแบบป๋าๆ ไม่มีทางให้คำตอบแก่เราได้
ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ 'มองซ้ายมองขวา' หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2549 อนึ่ง บทความฉบับนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมจากผู้เขียน