pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Sunday, May 29, 2005

คำให้การของ Anakin

ผมชื่อ Anakin นะครับ

ไม่ต้องสนใจหรอกว่า ผมเป็นคนเดียวกับ Anakin Skywalker อัศวินคุณธรรมหนุ่มที่ถูกด้านมืดของ 'พลัง' ครอบงำจนกลายเป็น Darth Wader หรือเปล่า

ผมจะบอกให้นะ Anakin อย่างผมน่ะ มีตัวตนอยู่ทุกมิติเวลาและสถานที่ ไม่ต้องลงทุนไปตามหาผมในสมัยสงครามแห่งดวงดาว a long time ago in the galaxy far, far away หรอก

ผมอยู่รอบๆ ตัวพวกท่านนี่แหละ

หลายท่านคงพอรู้จักผมบ้างแล้ว คงรู้ดีว่า ผมเป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ถ้าจะให้พูดตรงไปตรงมาแบบไม่เขินอายก็ต้องบอกว่า ผมเป็นคนเก่ง มีพรสวรรค์มาแต่เด็ก ได้สัมผัส ได้เข้าถึง และเริ่มเรียนรู้การใช้ 'พลัง' มาตั้งแต่เป็นเด็กน้อย อาจารย์ปู่ผมเห็นแวว จึงดึงตัวมาฝึกฝน ขัดเกลา และผลักดันเข้าสังกัดสำนักอัศวินคุณธรรม

น่าเศร้าที่ไม่นานอาจารย์ปู่ต้องด่วนจากไปเสียก่อน ผมเลยตกเป็นเด็กฝึกหัดในความดูแลของอาจารย์หนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์เอกของอาจารย์ปู่ผมอีกที

อาจารย์หนุ่มคนนี้ รักผมมาก ดูแลผมเหมือนน้องชาย สั่งสอน 'วิถี' แห่งอัศวินคุณธรรมให้ผมทุกอย่าง ทั้งยังรักและเชื่อมั่นในตัวผมอย่างเปี่ยมล้นและจริงใจ

กาลเวลาผ่านไป ผมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้านความคิดและจิตใจ ก็ภายใต้การดูแลของอาจารย์หนุ่มผู้นี้ ผมใช้ 'พลัง' ได้เก่งขึ้นเรื่อยๆ เรียนรู้วิธีการใช้และควบคุม 'พลัง' หลายรูปแบบ ได้ออกปฏิบัติภารกิจสำคัญหลายครั้ง อย่างที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันไม่มีทางได้รับโอกาสเช่นนี้ ฝีมือก็ดูจะก้าวหน้า ก้าวหน้าจนผมคิดในใจว่า อีกไม่นาน ผมคงก้าวข้ามอาจารย์หนุ่มของผมได้ไม่ยาก

ผมมั่นใจในตัวผม ทั้งพลังฝีมือและพลังจิตใจ เวลานั้น ผมมั่นใจว่า ผมจะเดินตาม 'วิถี' แห่งอัศวินคุณธรรมได้อย่างสมเกียรติ และมีส่วนสำคัญในการสร้างความสงบสุขให้จักรวาลนี้ ผมเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่า ผมยึดถืออุดมการณ์และจิตวิญญาณที่เหล่าอัศวินคุณธรรมยึดถือ จิตวิญญาณที่ใส่ใจผู้อื่นเหนือตัวเอง เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม จิตวิญญาณที่เชื่อมั่นในวิถีประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และต่อต้านอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ

ผมใฝ่ฝันที่จะเปลี่ยนจักรวาลนี้ให้ดีขึ้น ให้เข้าใกล้กับสิ่งที่ผมเชื่อมั่นศรัทธา สงครามโง่ๆบ้าๆที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวและผลประโยชน์ต้องจบสิ้นลง ผมมั่นใจว่าผมจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างฝันที่ว่าให้เป็นจริง

ผมไม่เข้าใจว่าทำไม พวกสมาชิกสภาอัศวินคุณธรรมหลายคนถึงไม่ไว้ใจผม ไม่เชื่อมั่นใน 'พลัง' ของผม ทั้งที่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมา ผมทำได้ ปฏิบัติภารกิจสำคัญสำเร็จหลายชิ้น กระทั่งเคยช่วยชีวิตอาจารย์หนุ่มของผม หรือพวกนี้ตัดสินคนเพียงใช้อายุเป็นเกณฑ์ หรือคิดว่าผมเก่งเกินไป เลยอิจฉาตาร้อนในความสำเร็จ

แทนที่คนเหล่านี้จะใช้ 'พลัง' ที่อัดแน่นอยู่ในตัวผมให้เป็นประโยชน์ กลับมองข้ามไปเสียอย่างนั้น

ผมบอกแล้วว่า เรื่องอายุไม่ใช่ปัญหา เรื่องประสบการณ์ไม่ใช่ปัญหา ผมมีพรสวรรค์ เต็มเปี่ยมไปด้วย 'พลัง' ถ้าผมฝึกฝนขัดเกลาตัวเองให้เข้าที่ ผมมั่นใจว่า ผมไปได้ไกลกว่าเหล่าสมาชิกสภาอัศวินคุณธรรมหลายคน กระทั่งไกลกว่าอาจารย์ผม พวกนั้นตอนอายุเท่าผมมีปัญญาทำแบบผมตอนนี้ได้หรือเปล่า

ผมไม่ได้คิดเองเออเอง กระทั่งสมาชิกสภาอัศวินคุณธรรมหลายคนก็ล้วนเห็นพ้องกันว่า ในอนาคต ผมจะเป็นอัศวินคุณธรรมที่เก่งที่สุดเท่าที่จักรวาลนี้เคยมีมา ไม่ต้องอะไรมาก ถึงวันนี้ อายุไม่เท่าไหร่ เริ่มเข้าร่วมกลุ่มอัศวินคุณธรรมไม่นาน ผมก็ได้สัมผัสความสำเร็จ มีคนยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ มีที่นั่งในสภาอัศวินคุณธรรมแล้ว ร้อยปีจะมีคนอย่างผมสักกี่คน

แล้วทำไมไม่มอบความไว้ใจให้ผม ทำไมไม่เชื่อมั่นในตัวผม ทำไมไม่เลื่อนลำดับให้ผมทั้งที่รับผมเข้าสภา ทำไมต้องกีดกันผม

ผมเกลียดความไม่ไว้ใจ ความอยุติธรรม ยิ่งผมเชื่อมั่นใน 'พลัง' ตัวเอง ผมยิ่งเกลียดคนที่อิจฉาปิดกั้นไม่ให้ 'พลัง' ที่อัดแน่นในตัวผมถูกปลดปล่อยมาใช้ประโยชน์

ความไม่ไว้ใจและไม่เห็นคุณค่าที่เหล่าอาจารย์มอบให้ผม ผสานกับความเชื่อมั่นในพลังความเก่งของตัวเอง จนถึงขั้นเห่อเหิม ล้วนค่อยๆชักนำก้นบึ้งของจิตใจผมให้ลอยไปสู่ด้านมืดของ 'พลัง' ทีละน้อย ยิ่งผมต้องการพิสูจน์ตัวเองมากเท่าไหร่ ความยึดติดในตัวตนของผมก็ยิ่งมากเท่านั้น

จิตใจแบบอัศวินคุณธรรมเริ่มมัวหมองลงทีละนิด ขณะที่ถูกปรุงแต่งด้วยความสามานย์มากขึ้น

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเริ่มเอนเอียงเข้าสู่ 'ด้านมืด' ของ 'พลัง'

ทุกท่านก็รู้ว่า ผมเติบโตมาจากเด็กที่บริสุทธิ์ จากคนที่มีอุดมการณ์ มีคุณธรรมอย่างใสสะอาด ใฝ่ฝันถึงจักรวาลที่ดีขึ้น ผมไม่ได้เกิดมาชั่วโดยสันดาน ไม่มีเชื้อพันธุกรรมเลวๆ ผมโตมาในครอบครัวยากจน ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก แต่กลับต้องเสียแม่ที่เลี้ยงดูผมจากไอ้พวกชั่วทราม

ไอ้พวกนั้นมันไม่สมควรมีชีวิตอยู่ ผมเลยฆ่ามันด้วยมือของผมเอง ด้วยความโกรธแค้น ผมเอาชนะใจตัวเองไม่ได้ พ่ายแพ้ต่อด้านมืด ใจหนึ่งก็คิดว่าการใช้เลือดล้างเลือดขัดกับวิถีแห่งอัศวินคุณธรรม แต่อีกใจหนึ่งกลับคิดว่า จะมีอะไรสมควรไปกว่านั้นอีกละ

มันทำร้ายชีวิตผม ทำลายชีวิตแม่ผมอย่างไม่เป็นธรรม มันก็คู่ควรที่จะได้รับผลกรรมที่มันก่อ ทำไมต้องให้อภัยมันด้วย ผมต้องทำลายชีวิตมันคืน บางครั้ง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก็เป็นวิถีทางสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับพวกชั่วช้าที่ไม่ต้องเสียเวลาเอ่ยถึงตัวบทกฎหมาย

ความโกรธแค้นชักนำผมไปสู่ความเกลียดชัง ความรู้สึกโกรธเกลียดเช่นว่า มันพัดพาเราเข้าสู่ 'ด้านมืด' ได้ง่ายๆ

เมื่อคุณเลือกเดินเข้าสู่ด้านมืด ยากที่จะหลุดพ้นจากมัน หนำซ้ำ มันกลับยิ่งนำพาคุณพัวพันจมดิ่งมัวเมาไปกับสิ่งลวงต่างๆ อีกมาก

โลกด้านมืดมันเย้ายวน และมีพลังชักนำเรามากกว่าโลกด้านสว่าง อะไรจะตอบสนองสัญชาตญาณดิบของเราได้ดีไปกว่าความเกลียดชัง ความโกรธแค้น การทำลายล้าง และการไขว่คว้าหาอำนาจเพื่อยกให้ตัวเองสูงกว่าคนอื่น

แม้ผู้คนมักอ้างว่า ให้ได้อำนาจมาอยู่ในมือเสียก่อน โดยไม่ต้องเลือกวิถีทาง แล้วจึงค่อยนำอำนาจมาสร้างสรรค์สิ่งดี ผมยังไม่เคยเห็นมีใครทำสำเร็จสักราย ถ้าหนทางได้มาซึ่งอำนาจมันเต็มไปด้วยความชั่วช้าเสียแล้ว ตัวตนของคุณที่ยอมรับความชั่วช้านั้นได้ ก็ย่อมเปลี่ยนเป็นคุณเป็นคนใหม่ที่คุณธรรมด้อยลง แล้วเราจะไปคาดหวังสิ่งใดกับผลบั้นปลายที่สวยงาม งาช้างไม่งอกจากปากหมาหรอก

'วิถี' ที่เราเลือกเดินต่างหากที่สำคัญ มิใช่มองแต่เพียงจุดหมายปลายทาง ... 'วิถี' ที่ชอบ จึงจะนำมาซึ่ง 'ผลลัพธ์' ที่ชอบ

ถึงวันนี้ ผมรู้แล้วว่า วิถีแห่งความรัก ความสงบ ความสะอาด การให้อภัย การคิดพ้นไปจากตัวเอง ที่อาจารย์ผมพร่ำสอน ต่างหาก คือ 'วิถี' ที่แท้ ยากก็แต่มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ โดยธรรมชาติ ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า และความชั่วช้าอยุติธรรมรอบตัว

สมรภูมิในใจของตัวเองคือสมรภูมิที่ยากลำบากที่สุด

อย่างผมเองก็เคยมีความรักและรู้สึกดำดิ่งผูกผันไปกับคนรัก ผมอยากให้เขาอยู่กับผมไปชั่วชีวิต ผมจึงยอมไม่ได้หากจะมีสิ่งใดพรากเขาไปจากผม ตอนนั้นผมคิดว่า ใครคนอื่นหรือจักรวาลนี้จะมาสำคัญเท่าคนรักผมได้อย่างไร ถ้าให้ผมเลือก ผมก็ต้องเลือกชีวิตผมก่อน เลือกครอบครัวผมก่อน เลือกคนที่ผมรักก่อน

ผมเลือกที่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อรักษามันไว้ให้ได้

ความโกรธ ความเกลียด นำพาผมสู่ 'ด้านมืด' อย่างไร ความรักก็เช่นกัน ผมมีรักที่มืดมัว หลงใหล เป็นรักที่มีเส้นเขตแดนเพียงเฉพาะตัวเอง ... รักที่เห็นแก่ตัว

ทั้งหมดนี้ นำพาผมเข้าสู่ 'ด้านมืด' ของ 'พลัง' เส้นทางสู่ความสำเร็จที่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบของผมต้องพังทลายลง ... ด้วยมือของผมเอง

ความโกรธ ความเกลียด ความไม่ไว้ใจ ความพองโตในตัวตน กระทั่งความรักที่มืดมอด เปลี่ยนจิตใจที่ขาวสะอาดของผม ให้มืดดำ บ่อยครั้งเรื่องเล็กน้อยก็มีอิทธิพลเปลี่ยนชีวิตของคนๆหนึ่งให้เลือกเดินบนเส้นใหม่ได้ง่ายกว่าที่คิด หากเส้นทางนั้นเป็นหนทางสู่ความเสื่อม ก็น่ารันทดสังเวชใจและเสียดาย

ยิ่งคนที่มี 'พลัง' มาก มีพรสวรรค์มาก ยิ่งมีความมั่นใจในตัวเองมาก บางครั้งก็ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังกลับหลังหันมุ่งสู่เส้นทางที่ตนเองก็เกลียดชัง และเมื่อคนที่มี 'พลัง' อัดแน่นอยู่ในตัว เลือกใช้ 'พลัง' ล้นเหลือที่ตนมีไปในทางเสื่อม พลังแห่งการทำลายล้างยิ่งน่ากลัวมากขึ้นไปอีก

Anakin อย่างผมคนแล้วคนเล่าต้องตกเป็นเหยื่อของความโกรธ ความเกลียด ที่ได้รับอย่างอยุติธรรมจากผู้มีอำนาจ จากสภาพสังคมที่เน่าเฟะ เป็นความโกรธความเกลียดที่ทำลายความบริสุทธิ์ในใจ และหันเหให้เลือกใช้เส้นทางเดียวกันมาล้างแค้นเอาคืนจากผู้ที่ทำร้ายเขาในเบื้องแรก

จนใจค่อยๆ เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำ จน 'พลัง' ที่ล้นเหลือค่อยๆ แปรเปลี่ยนจาก 'ด้านสว่าง' สู่ 'ด้านมืด'

มี Anakin ในจักรวาลนี้กี่คนแล้ว ที่ถูก 'พลัง' ด้านมืดเข้าครอบงำ จนต้องกลายเป็น Darth Wader ทั้งที่เรายังอยู่ในวิสัยที่พลิกผันชะตากรรมของเขาได้

เพราะ Anakin อย่างผม ไม่ได้ชั่วช้าโดยสันดาน ยิ่งกว่านั้น กลับเต็มไปด้วย 'พลัง' ด้านสว่างอย่างเต็มเปี่ยมในเบื้องแรกเสียอีก ปีศาจร้ายในตัวผม มันถูกปลุกขึ้นมาโดยใครละ

มีคนเก่งอีกกี่คน มีเด็กที่มากด้วยพรสวรรค์อีกกี่คนในจักรวาลนี้ ที่เลือกเดินทางผิด เพราะความโกรธ ความเกลียด แบบผม

ในฐานะ Anakin ผู้หลงผิดมาก่อน ผมอยากฝากเรื่องราวของผมไว้เป็นบทเรียนในโอกาสที่มหากาพย์สงครามแห่งดวงดาวปิดฉากลง

สำหรับ Anakin ผู้มาทีหลัง ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วย 'พลัง' ที่อัดแน่นในตัว โปรดอย่าเลือก 'วิถี' ด้านมืด ในการสู้รบกับพลังชั่วช้าทั้งปวง อย่าต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยวิถีแห่งความเกลียด ความโกรธ ความแค้น จงยึดมั่นใน 'วิถี' ของอัศวินคุณธรรม

'วิถี' ที่ชอบเท่านั้น จึงจะนำมาซึ่ง 'ผลลัพธ์' ที่ชอบ

ที่สำคัญ Anakin ทั้งหลายเองก็ควรเรียนรู้วิถีแห่งความสงบ และมีขันติ ต้องเรียนรู้วิถีแห่งการจัดการ 'พลัง' ของตัวที่อัดแน่นพลุกพล่านอยู่ภายใน ต้องฝึกฝนความเยือกเย็นในจิตใจเพื่อดับความร้อนรุ่ม ต้องไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตัวตนมากเสียจนกลายเป็นความเหิมเกริมลำพอง หากต้องรู้จังหวะของการเชิดหน้าสู้ฟ้ากับจังหวะแห่งการโน้มตัวลงสู่ดินอย่างสมดุล

สำหรับ ผู้ที่อยู่รอบกาย Anakin ก็ต้องช่วยกันดูแลเขาให้ดี คนเก่งอย่าง Anakin ต้องการการใส่ใจอีกรูปแบบหนึ่ง ต้องปล่อยให้เขาเปล่งประกายความสามารถออกมาอย่างเต็มที่ อย่าขีดวงจำกัดการเติบโตของเขา ให้เขาได้ปล่อย 'พลัง' สร้างสรรค์ในตัวเองออกมา โดยมีเราเฝ้ามอง เป็นกำลังใจ ขัดเกลา และสร้างพลังทางบวกอยู่ห่างๆ ที่สำคัญ ต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะให้ Anakin น้อยๆ เติบใหญ่บนเส้นทางด้านสว่างของ 'พลัง'

คงไม่มีใครอยากเห็น 'พลัง' ที่ล้นเหลือของ Anakin อีกมากมายหลายคนต้องแปรเปลี่ยนเป็นพลังด้านมืด เพื่อตอบโต้ ความโง่ ความบ้า ความอยุติธรรม ที่เขาเคยได้รับ

เรามี Darth Wader มากพอแล้ว ช่วยกันรักษา Anakin ให้เติบใหญ่บนหนทางแห่งคุณธรรมดีกว่า

ทุกคนทั่วโลกคงรู้จุดจบของผมกันหมดแล้ว

ท่านไม่อยากรู้เหรอครับว่า จุดจบของ Anakin ที่ไม่ถูก 'ด้านมืด' เข้าครอบงำ แต่ถูกบ่มเพาะให้สุกงอมจากอาจารย์ที่ถึงพร้อม, มุ่งฝึกฝนเคี่ยวกรำ 'ด้านใน' ของตัวเอง, และเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ไร้เงื่อนไขให้หันสู่ด้านมืด จะเดินหน้าไปได้ไกลเพียงใด

แม้ว่ามันคงเป็นอนาคตที่ทอดไกลเกินกว่าที่ผมจะจินตนาการถึง แต่ผมมั่นใจว่า มันต้องเป็นอนาคตที่สวยงามและน่าตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน

Anakin S.

Saturday, May 28, 2005

กลับมาแล้ว

กลับจากถิ่นคาวบอยมาถึงบ้านนอกแล้วครับ

มาถึงก็ถูกทักทายด้วยพายุฝนฟ้าคะนอง เล่นเอาคิดถึงแดดจ้าฟ้าใสในถิ่นคาวบอยเสียแล้ว ยังไม่ทันไรเลย

ออกเที่ยวคราวนี้สนุกดีครับ ได้เปิดหูเปิดตา ไปเยี่ยมถิ่น Republican บ้าง อากาศถิ่นคาวบอยก็สุดแสนดี ตอนนี้ร้อนเหมือนเมืองไทยเลย ที่สำคัญ ท่านอาจารย์ที่กรุณาให้ที่สิงสถิตแก่ผม เมตตาทั้งทำและพาไปกินอาหารไทยสุดแสนอร่อยแทบทุกมื้อ ได้กินทั้งส้มตำ(จากมะละกอด้วยนะ) ข้าวหมูแดง ทะเลอบวุ้นเส้น แกงเนื้อ ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ห่อหมก ปลาดุกผัดเผ็ด ต้มยำกุ้ง ฯลฯ รวมทั้งได้ลิ้มรสสเต็กของแท้ เนื้อหนาเป็นนิ้วเป็นครั้งแรกในชีวิต (สเต็กที่เคยกินในโรงอาหารเป็นแค่แผ่นบางๆ)

ทำเอาคนอดอยากปากแห้งแต่ร่างอ้วนอย่างผม อิ่มและเอิบอย่างยิ่ง น้ำหนักขึ้นสองกิโลในเวลาไม่กี่วัน ช่วยต่อชีวิตชายหิวโซร่างอวบคนนี้ได้อีกพักใหญ่

ไปเที่ยวคราวนี้มีเรื่องตื่นเต้นด้วยนะครับ

เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว อาจารย์และลูกชายขับรถพาผมไปเที่ยวเมือง Austin ขากลับ ขณะรถวิ่งอยู่บนทางหลวงใกล้จะถึงเมืองที่พักเต็มที ก็เกิดเหตุการณ์น่าตื่นเต้นขึ้น เวลาขณะนั้นประมาณตีหนึ่งครึ่ง

ถนนที่รถวิ่งมีสองเลน มุ่งหน้าไปทางเดียวกัน มีรถบรรทุกวิ่งอยู่เลนขวา รถเราอยู่เลนซ้ายตามหลังรถบรรทุกแต่กำลังเร่งเครื่องเพื่อจะแซงหน้ารถบรรทุก ความเร็วตอนนั้นประมาณ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง

ขณะเหยียบเร่งเครื่องกำลังจะเข้าใกล้รถบรรทุก จู่ๆ กระจกหน้ารถก็พลันเห็นภาพวัตถุประหลาดในระยะประชิด วัตถุประหลาดมีสีน้ำตาลแก่ กำลังเคลื่อนไหวโยกไปมา มันจ่ออยู่หน้ากระจกรถในระยะเกือบชน ไอ้พวกเราก็ไม่ทันเห็นมาก่อน เพราะสีมันมืดกลืนไปกับความมืดรอบตัว

ลูกชายอาจารย์ซึ่งเป็นคนขับ เลยต้องรีบหักพวงมาลัยออกไปเลนขวาทันที ลองนึกภาพดูนะครับ รถวิ่งมาเร็วๆ เพื่อจะแซงรถบรรทุก แล้วเกือบจะชนเข้ากับวัตถุประหลาดที่ไม่ทันเห็นข้างหน้า พอหักเข้าขวาแบบกะทันหัน รถก็เสียการทรงตัว คราวนี้ข้างหน้าเป็นรถบรรทุกครับ รถเราเลยต้องรีบหักซ้ายกลับมาในอีกไม่กี่วินาที ไม่งั้นได้อัดตูดรถบรรทุกแน่นอน พอหักซ้ายกลับมา รถยิ่งเสียการทรงตัวหนัก ส่ายจนเกือบตกไหล่ทาง ต้องรีบหักขวาอีกรอบ

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเสี้ยววินาที ต้องชื่นชมลูกชายอาจารย์อย่างยิ่ง ที่ตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาดและมีสติ พวกเราเลยมีชีวิตรอดกลับมาได้หลังจากส่งเสียงร้องกันลั่น เซไปเซมา โชคดีที่รถไม่คว่ำไปเสียก่อน

ให้ทายว่า วัตถุประหลาดสีเข้มที่กลืนไปกับความมืดและโยกไปโยกมาเคลื่อนไหวอยู่ข้างหน้ารถ จนเราเกือบชน คืออะไร?

มันคือ ก้นม้า ครับท่าน !!!

ใช่แล้วครับ ม้าครับท่าน ม้าหลงสีน้ำตาลแก่กำลังควบกุบๆกับๆ โดยไม่สนใจใคร อยู่บนถนนที่มีไว้สำหรับรถวิ่ง ณ กลางดึกประมาณตีหนึ่งครึ่ง วิ่งอยู่เลนเดียวกันกับรถเรา มุ่งหน้าเข้าเมืองเดียวกันเสียด้วย

ใครจะไปนึกไปฝันครับพี่ว่าชีวิตนี้จะได้เจอเรื่องแบบนี้ แต่มันเป็นไปแล้วครับ

สมเป็นเมืองคาวบอยของแท้จริงๆ

พี่ม้าเกือบทำผมชะตาขาดเสียแล้ว แต่ผมก็อดเป็นห่วงชะตากรรมของพี่ม้าไม่ได้ เพราะชีวิตแกอยู่บนเส้นด้ายโดยไม่รู้ตัว ควบท้านรกนะครับนั่น ไม่รู้ว่าต้องเจอรถไล่หลังอีกกี่คัน จะโดนชนเอาสักคันไหมหนอ

......

ผมกลับมาถึงเย็นวันศุกร์ นอนพักคืนหนึ่ง วันนี้วันเสาร์ก็ได้ฤกษ์ต้องออกแรงขนของย้ายสู่ที่พักใหม่ ที่ต้องรีบเพราะวันสุดท้ายที่ต้องย้ายออกคือเที่ยงวันจันทร์ และวันอาทิตย์คนไทยจะจัดบาบีคิวปาร์ตี้กัน ส่วนเช้าวันจันทร์ ใครจะตื่น

ผมอาศัยอยู่หอพักในมหาวิทยาลัยชื่อ Prince Hall ซึ่งเป็นหอของนักศึกษาที่เรียนชั้นสูงกว่าปริญญาตรี ผมอยู่ที่นี่มาตลอดตั้งแต่เริ่มมาฝึกวิชา ปกติ ปิดเทอมหน้าร้อน หอทุกแห่งในมหาวิทยาลัยจะปิดตาย นักเรียนปริญญาตรีทุกคนต้องขนของย้ายออกจากหอ มีเพียงหอเจ้าชายแห่งนี้ที่เปิดตลอดปี เพราะนักศึกษาโทเอกหลายคนต้องอยู่ทำงานต่อ

ซัมเมอร์นี้เป็นซัมเมอร์แรกของผมในรอบสี่ปีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่สำนักหลังเขา แทนที่จะกลับไปเที่ยวระเริงที่เมืองไทย เหตุเพราะพยายามจะขึ้นชกยกสุดท้ายให้สำเร็จ แต่ถึงวันนี้ไม่รู้ว่างานการจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูฟอร์มขณะนี้แล้ว อาการไม่ค่อยดี ไม่ค่อยขยันซ้อมเท่าที่ควร ออกอาการเหนื่อยล้า มัวแต่เมาหมัด เซไปเซมา แรงจูงใจหายไปอย่างน่าใจหาย ตอนนี้อยากกลับบ้านมากกว่านั่งทำงานอย่างรุนแรง หมดอารมณ์

เมื่อปีนี้ผมมีเหตุจำเป็นให้ต้องอยู่ตอนซัมเมอร์เป็นครั้งแรก มหาวิทยาลัยท่านก็เลยคิดจะซ่อมแซมอาคารหอเจ้าชายขึ้นมาซะงั้น สี่ปีก่อนมิทราบท่านมัวทำอะไรกันอยู่ครับ คงกลัวว่าชีวิตผมจะสุขสบายเกินไปไม่สมกับที่เกิดมาในเวลาตกฟากที่ต้องตกระกำลำบากอาบเหงื่อต่างน้ำตลอดทั้งชีวิต ผมก็เลยต้องลำบากอีกรอบ ระหกระเหินเร่รอนไปอยู่หอข้างๆ ที่ชื่อ Crampton Hall แต่ก็ยังดีที่ตึกอยู่ติดกัน

วันนี้ผมเลยต้องขนของทั้งหมดจากชั้นสามของหอเจ้าชายไปที่ห้องใหม่ที่อยู่ชั้นหนึ่งของ Crampton Hall โดยมีอุปกรณ์เคลื่อนย้ายคือ cart เล็กๆ ขนาดย่อมเยาว์หนึ่งอัน พื้นที่ผิวเล็กประมาณกระเป๋าเดินทางใบเล็กของผมเท่านั้นเอง

ผมต้องเก็บของในห้องแล้วขนขึ้น cart ลากออกจากห้องไปที่ลิฟท์ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของตึก ลงลิฟท์ไปชั้นใต้ดิน แล้วเดินทางตามทางเชื่อมใต้ดินไปโผล่ที่ใต้ดินของหอใหม่ ขึ้นลิฟท์จากชั้นใต้ดินของหอใหม่ไปที่ชั้นหนึ่ง แล้วขึ้นบันไดอีกหกขั้น เดินอีกประมาณสิบก้าว ก็จะถึงห้องใหม่ของผม

ผมขนสมบัติทั้งหมดที่มีด้วยตัวคนเดียว (นอกจากเที่ยวที่ขนตู้เย็นที่มีคุณลุงนักเรียนโข่งห้องตรงข้ามช่วยยก) เดินตามเส้นทางที่ว่ารวมทั้งสิ้น 9 รอบ ใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ชั่วโมงครึ่งแบบ non-stop แล้วก็มานั่งจัดของในห้องใหม่ต่ออีก

เล่นเอาเหนื่อยหอบ ปวดเนื้อเมื่อยตัวไม่ใช่น้อย เพราะไม่ได้ออกกำลังกายมานานแล้ว

แต่พอมาเห็นเพื่อนฝูงรอบตัว ขนกันหลายรอบ ใช้เวลาทั้งวัน บางคนขนวันเดียวยังไม่เสร็จ ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป กลายเป็นมาคิดใหม่ว่า นี่กูมาร่ำเรียนเมืองนอกสี่ปีแล้ว สมบัติมีแค่นี้เองเหรอวะเนี่ย แค่ใช้ cart เล็กๆ ขนคนเดียว 9 รอบก็เสร็จแล้ว 9 รอบนี่มีรอบเฉพาะโคมไฟรอบนึง เฉพาะตู้เย็นรอบนึง เฉพาะไมโครเวฟและชั้นรอบนึง ด้วยนะครับ

นึกอย่างนี้แล้วเลยลองสำรวจสมบัติที่ติดตัวว่าเรามีอะไรบ้าง พบว่าทั้งเนื้อทั้งตัวมีแค่ทีวี 14 นิ้วเครื่องนึง (มีคนให้) ตู้เย็น 1 เครื่อง (มีคนให้-เพิ่งมีเทอมนี้) ไมโครเวฟ 1 เครื่อง (มีคนให้-เพิ่งมีเทอมนี้) ชั้นวางของขนาดเล็กไว้วางไมโครเวฟ 1 ชิ้น (มีคนให้) ส่วนทีวีใช้วางบนตู้เย็นเอา นอกนั้น ผมก็มีแค่เสื้อผ้า หนังสือ ซีดี ยา เครื่องเขียน เครื่องนอน มีโคมไฟ 2 อัน (ผมชอบอยู่สว่างๆ) โทรศัพท์ 1 เครื่อง สายแลน สายโทรศัพท์ ปลั๊กต่อ จาน 3 ใบ ชาม 2 ใบ กระทะ 1 อัน หม้อต้มมาม่า 1 อัน ทัปเปอร์แวร์ 3 อัน ช้อน 5 คัน ส้อม 1 คัน มีด 2 ด้าม น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า สบู่ แชมพู และโน้ตบุ๊คหนึ่งเครื่อง

อยู่มาหลายปี มีสมบัติแค่นี้จริงๆ

รู้หรือยังว่าทำไมถึงอยากกลับเมืองไทยบ่อยๆ

......

ทิ้งท้ายวันนี้ด้วยเรื่องน่าดีใจครับ เพราะเพิ่งมีผู้อ่าน blog ท่านหนึ่งเขียนมาคุยกับปิ่น ปรเมศวร์ เป็นครั้งแรก หมายถึงส่งตรงไปที่อีเมลของปิ่น ปรเมศวร์ ที่ pinporamet@yahoo.com น่ะครับ

ปกติ ผมใช้ account นั้น เก็บไฟล์วิทยานิพนธ์ แต่เมื่อวานบังเอิญเข้าไป เลยเห็นจดหมายไฟฟ้านอนรออยู่หนึ่งฉบับ

ตื่นเต้นดีครับ ไม่เคยสวมวิญญาณปิ่น ปรเมศวร์ อ่านเมลมาก่อน

เจ้าของจดหมายบอกว่า ตอนแรกที่เห็นที่อยู่ใน blog เห็นเจ้าของ blog อยู่เมือง Amherst เลยคิดว่า เออ นี่อยู่ใกล้ๆ อาจารย์ปกป้องด้วย ตอนนั้นสงสัยว่าคุณปิ่นกับคุณปกป้องน่าจะรู้จักกันนะ ...

รู้จักดีทีเดียวครับ ใกล้ชิดสนิทสนมกันเสียจนน่าใจหาย นอนเตียงเดียวกันทุกคืน (ฮา)

Wednesday, May 25, 2005

หงส์แดงสู้ๆ

หลังจากลุ้นให้หงส์แดงผ่านแชมป์อิตาลี ต่อด้วยลุ้นระทึกให้หงส์แดงข้ามศพแชมป์อังกฤษ จนสำเร็จ

พวกเราก็ล้วนนั่งนับวันรอ

กระทั่ง ... วันนี้ ... วันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง

... นัดชิงชนะเลิศ UEFA Champions League ระหว่างหงส์แดงและปีศาจแดงดำ ...

เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกตื่นเต้นสุดขีดกับนัดชิงชนะเลิศ แม้ว่าผีแดงทีมรักจะไม่ได้มีส่วนเอี่ยวอะไรกับเขาเลยก็ตาม

เชื่อมั่นว่า 19.45 GMT นี้ สายตาหลายคู่แถวนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่เมืองไทย อเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อังกฤษ ต้องจับจ้องไปที่จุดหมายเดียวกัน นั่นคือ Ataturk Olympic Stadium ประเทศตุรกี

ตาหลายคู่ หัวใจหลายดวง ความชอบหลากหลาย มากมายความรู้สึก แต่สำหรับวันนี้ ผองเราล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน

ไม่ว่าจะรัก หรือเกลียดหงส์แดง ... คืนนี้หงส์ต้องคว้าแชมป์ !!!

นี่จะเป็นครั้งแรก ที่ผมต้องเปล่งเสียง You will never walk alone หน้าจอทีวี พร้อมส่งใจให้ทีมนกกระเด้าลมทีมนั้น

ไม่รู้อะไรดลใจ (ฮา)

ขอเชิญเพื่อนพ้องทั่วโลกร่วมตั้งตาเชียร์หงส์แดง และร่วมลงชื่อให้กำลังใจลิเวอร์พูลในเกมฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์นัดนี้

ไม่แน่ว่า ท่านอาจได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้โชคดี ส้มหล่นใส่จนเท้าบวม หากหงส์แดงเกิดคว้าแชมป์ขึ้นมาจริงๆ

... และ corgiman หน้ามืดตามัว เข้าสู่โหมด corgiman ภาคพี่มีแต่ให้

อดใจไม่ไหวแล้ว !!!

Friday, May 20, 2005

ทักทายจากถิ่นคาวบอย

ยามนี้ สำนักหลังเขาของผมเริ่มย่างเท้าเข้าสู่ความเงียบเหงาทีละนิดละน้อย

มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นผู้คนคนแล้วคนเล่าทยอยขนข้าวของ เดินทางกลับสู่บ้านเกิด เหตุเพราะสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของเทอม Spring 2005 ซึ่งมีวันเวลาที่มีความเป็น Spring สมชื่อประมาณไม่เกิน 20 วัน

เกลียดชีวิตที่บ้านนอกก็ตรงเรื่องอากาศนี่แหละ

จริงๆจะว่าไป อากาศที่เลวร้ายอีกด้านหนึ่ง กลับเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผมรีบร้อนอยากเรียนจบโดยไว

รีบอยากกลับไปที่ร้อนๆ น่ะครับ

ผมมาฝึกวิชาที่บ้านนอกตั้งแต่ Fall 2001 ผ่านพ้นหน้าหนาวแรกอย่างทุลักทุเล อากาศที่บ้านนอกของผมจะเริ่มหนาวตั้งแต่ครึ่งหลังของเทอม Fall (ช่วงปลายตุลาคม ต้นพฤศจิกายน) ไปจนเกือบหมดเทอม Spring (ช่วงปลายเมษายน) ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า หนาวเกือบทั้งปีนั่นเอง หนาวที่สุดก็ตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสยาวไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ยาวถึงเดือนมีนาคมเอาเลยก็มีบ่อย

อุณหภูมิช่วงหนาวปกติก็ประมาณ -20 ถึง -25 องศา c ถ้าหนักอาจไปถึง -30 องศา หรือกว่านั้น แต่อย่าลืมว่า ยังมีพี่ 'ลม' ตัวแสบอีกครับ เพราะสำนักหลังเขาของผมอยู่กลางหุบเขา พี่ลมเลยโหดร้ายหนัก พัดทีแทบจะฉีกเนื้อหนังเป็นชิ้นๆ เพิ่มความหนาวเหน็บขึ้นอีกในโลกความจริง

เจอปีแรกเข้าไป ก็กระอักโลหิตทางจมูก เกิดมาไม่เคยเจออะไรหนาวโคตรพ่อโคตรแม่ขนาดนี้เลย ตอนนั้นอยากตบกบาลเพื่อนรุ่นพี่หลายคนที่บอกว่า ปีนี้โชคดีที่ยังไม่ค่อยหนาวเหมือนปกติ

จนเข้าสู่ปีที่สอง ผมก็มาเข้าใจคำพูดของท่านเหล่านั้นอย่างแจ่มแจ้ง เพราะหน้าหนาวที่สองในชีวิตการเรียน มันโหดเหี้ยมซาดิสต์ผิดมนุษย์จะทานทน หนาวเกินกว่าปีแรกที่เกือบคร่าชีวิตผมหลายเท่า

มันเป็นหน้าหนาวที่หนาวยะเยือกที่สุดในรอบร้อยปี ประมาณนั้น มีพายุหิมะให้ผจญลูกแล้วลูกเล่า ต้องใช้ชีวิตอย่างยาวนานในอากาศที่หนาวเย็นเกินกว่าที่จะมีหิมะ ผมเพิ่งเข้าใจลำดับขั้นก็ความหนาวก็ที่นี่ เมื่อก่อนคิดว่า หิมะตกแปลว่าหนาวที่สุด ซึ่งไม่จริง เพราะอากาศที่หนาวเย็นที่สุดคืออากาศหนาวจัดแบบไร้หิมะต่างหาก

หน้าหนาวที่สองเป็นประสบการณ์สุดทรมาน ทำให้ผมเข้าใจว่า ที่แท้ นรกมันเย็น และเป็นสีขาว นรกไม่ได้ร้อนระอุ ด้วยสีแดงฉานอย่างที่เข้าใจ

จำได้ว่าปีนั้น มันหนาวจัดเสียจน โรงเรียนปิดบ่อยครั้ง เพราะเจอพายุหิมะถล่ม ผมเคยทำสถิติหมกตัวอยู่แต่ในห้องไม่สัมผัสอากาศภายนอกยาวนานนับอาทิตย์

หมดหน้าหนาวเทอมนั้น (Spring 2003) ผมก็ตั้งปณิธานกับตัวเองว่า นั่นคือหน้าหนาวสุดท้ายในชีวิต กูจะต้องรีบออกไปจากที่นี่ให้ได้โดยเร็วที่สุด เทอมต่อมา ผมถึงทุ่มสรรพกำลังทั้งปวง เพื่อให้สามารถสอบเค้าโครงข้อเสนอวิทยานิพนธ์ได้ จะได้กลับไปนั่งเขียนวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทย แล้วในหนึ่งปี ก็จะกลับมาหาอาจารย์ที่ปรึกษาสักหนึ่งเทอม โดยจะเลือกมาช่วง Fall ที่หนาวน้อยหน่อย

สุดท้าย ก็สามารถทำได้สำเร็จ ได้กลับเมืองไทยช่วงต้นมกราคม 2004 สามารถเบรกหนีหนาวหนักได้ทันท่วงที เพื่อนผมบอกว่า หลังผมกลับไปสักอาทิตย์หนึ่ง นรกอันเหน็บหนาวก็มาเยือน

ทีนี้พอกลับเมืองไทย ก็ดันไปเจอปัญหาใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องอากาศอันเลวร้าย เพราะที่เมืองไทย ผมกิจกรรมมากมาย ทั้งสอน ทั้งเขียน ทั้งทำหนังสือ ทั้งลุยโน่นนี่ ทำศึกในศึกนอก งานการเรียนเลยไม่ค่อยคืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งยังมีภาระหน้าที่ทางครอบครัวให้ต้องหาเงินรับผิดชอบ แถมช่วงหลัง เจอพญามารและมารผจญสารพัด สุดท้ายเลยต้องซมซานกลับมาบ้านนอกใหม่

กลับมาหน้าหนาวอีกแล้วครับท่าน

อุตส่าห์รอกลับมาใกล้สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ จะได้พ้นความหฤโหดเสียก่อน แต่อากาศปีนี้ดันทะลึ่งหนาวหนักตลอดเดือนมีนาคม (หรือเป็นเพราะผมย้ายมาจากอากาศ 35 องศา มาเจอ -25 องศา ทันที ไม่มีเวลาให้ปรับตัว ก็เลยรู้สึกหนาวหนัก) มาถึงใหม่ๆ เลือดทะลักออกจมูกทุกวัน ป่วยเป็นว่าเล่น โรคภูมิแพ้ประจำตัวที่เมื่อก่อนตอนอยู่บ้านนอกจะหายขาด แต่จะกำเริบตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็ดันเป็นตลอดไม่ยอมหายเหมือนเคย

แถมมารอบนี้ มีโอกาสได้สัมผัสพายุหมุนหิมะด้วย เป็นประสบการณ์ใหม่ในชีวิตที่สนุกสนานรื่นรมย์เสียจริง มันเป็นพายุหิมะที่หมุนวนรุนแรง หมุนทั้งวันกินเวลายาวนาน ยาวถึงตอนหิวจัดที่จำเป็นต้องออกไปหาอะไรกินพอดี ไม่มีทางเลือก เพราะหมกตัวมาทั้งวัน แทบไม่ได้กินอะไร ต้องเลือกท้องไส้ตัวเองก่อน จำใจออกไปให้พายุหิมะซัดหิมะเข้าหน้าเข้าตัวทีละดอก ๆ บันเทิงใจเสียจริง

ตอนนี้รอบเวลาที่ต้องมาอยู่บ้านนอกเลยผิดไปจากที่เดิมตั้งใจไว้ ก็เลยต้องพยายามทำงานให้หน้าหนาวที่เพิ่งผ่านไปเป็นหน้าหนาวสุดท้ายจริงๆ

......

จริงๆ แล้ว ปกติช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมจะเดินทางกลับบ้านกลับช่องกับเขาเช่นกัน แต่เทอมนี้ยังต้องฝังตัวเองอยู่ในบ้านนอกต่อไป เพราะภารกิจการเรียนยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นตามที่ตัวตั้งใจ

อยากกลับบ้านโว้ยยยยยยยยย !!!!!

ในเมื่อยังไม่ได้กลับบ้านเรา เพราะไม่มีรักรออยู่ แถมเทอมก็เพิ่งปิดอีก จะเอาอารมณ์ที่ไหนนั่งทำงานอยู่ได้

ว่าแล้วก็ออกท่องเที่ยวดีกว่า

วันนี้ ผมเลยหนีจากบ้านนอกบินข้ามรัฐมาอยู่ถิ่นคาวบอย บ้านเกิดพี่บุชสุดเกลียด ที่เรียนพี่เหลี่ยมสุดรัก แล้วครับ

เพิ่งมาถึงเมื่อดึกคืนนี้นี่เอง

มาเยี่ยมเยียนอดีตอาจารย์อาวุโสแห่งสำนักท่าพระจันทร์ที่เคารพรักยิ่งท่านหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ท่านใช้ชีวิตไปกลับระหว่างถิ่นคาวบอยกับกรุงเทพฯ

เครื่องบินแตะพื้นตอนสี่ทุ่ม มาถึงบ้านอาจารย์ ก็นั่งคุยเรื่องราวแถวท่าพระจันทร์กันยาว เพิ่งแยกย้ายกันเข้านอนเมื่อใกล้ตีสามนี้เอง

คุยกันเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของสำนักท่าพระจันทร์เป็นส่วนใหญ่ หลังจากไม่ได้คุยกันจริงจังมานานหลายปี (จริงๆ เมื่อก่อน ก็แทบไม่เคยคุยกันลึกซึ้งขนาดนี้)

ระหว่างคุย โดยเฉพาะหลังคุย ก็มานั่งนึกในใจว่า สติ ความเมตตา ความใจกว้าง ความมีเหตุมีผล ความเป็นผู้ใหญ่ เช่นที่มีอยู่ในตัวอาจารย์ท่านนี้นี่เอง คือสิ่งที่พร่องเลือนหายไปมากในสำนักแห่งนั้น ตั้งแต่อาจารย์ลาออกไป

ถ้าอาจารย์ยังอยู่แถวนั้น ในฐานะอาจารย์อาวุโสที่มีความเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง คงอาจมีส่วนช่วยฉุดรั้งไม่ให้สำนักแห่งนั้นมุ่งหน้าสู่วิถีแห่งความเสื่อมแบบขาดสติได้บ้าง ... น่าเสียดาย

แต่ท่ามกลางความเสียดาย การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ และรับฟังคำชี้แนะบางประการ กลับช่วยฟื้นคืนพลังของผมให้หวนคืนมาได้มากทีเดียว

บางครั้ง คนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความเข้าใจและกำลังใจ

ผมจะอยู่ที่ถิ่นคาวบอยแห่งนี้หนึ่งสัปดาห์นะครับ ห่างหายจากการอัพเดท blog ไปบ้าง ก็มิใช่เพราะไปรักษาแผลใจ ไร้พลังเขียน blog นะครับ โปรดเข้าใจ ถ้าวันหน้าเกิดอารมณ์อย่างนั้นจริง ไม่มีหนีหรอกครับ ยิ่งต้องเข้ามาเขียน ... มาอ้อน (ฮา)

ระหว่างนี้ อ่าน blog ของเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ แถวนี้ไปก่อนนะครับ ถ้าเหลือบตามองด้านข้างทางขวามือ จะเห็นชื่อสมาชิกใหม่ของชุมชนเพิ่มขึ้นอีกหลายคน ลองเวียนเข้าไปทักทายสมาชิกใหม่กันดูนะครับ ไว้วันหลังจะแนะนำให้รู้จัก

อ้อ ... แล้วอย่าลืมไปดู Star Wars III ด้วยนะครับ

สำหรับผม นี่เป็น Star Wars ภาคที่ดีที่สุด เต็มไปด้วยแง่คิดมากมาย ทั้งเรื่องการเมือง ไปจนถึงเรื่องสงครามภายในตัวตน เป็นการปิดตำนานสงครามแห่งดวงดาวได้อย่างหมดจดสมบูรณ์แบบ พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

และเร็วๆนี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด Anakin จะบุกมาให้การถึงที่นี่ !!!

Tuesday, May 17, 2005

'ประสงค์' ของ 'ทักษิณ'

เหตุเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ในรายการ 'นายกฯ(เทวดา)พบประชาชน(ธรรมดา)' ทางคลื่นวิทยุของกรมโฆษณาการ

ท่านผู้นำเทวดา ซึ่งแบ่งภาคมาสวมบทดีเจเทวดาทุกเช้าวันเสาร์ ได้ระเบิดความหงุดหงิดใส่สื่อมวลชน โดยมีจุดเริ่มจากการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อสามวันก่อนหน้า (ธรรมาภิบาลรัฐบาลไทยเสื่อม สอบตก 'คุมโกง' ธนาคารโลกให้แค่ '49 %') ไปจนถึง แถลงการณ์โต้ตอบของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรณีนายกฯให้สัมภาษณ์วิจารณ์การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์

เนื้อความตอนหนึ่งของรายการ 'คุย(คนเดียว)คุ้ย(แต่)ข่าว(ดี)' ภาคดีเจเทวดาไม่ไว้หน้าใคร มีว่า ...

" ... ความจริงผมไม่ได้มีอะไรกับหนังสือพิมพ์มติชน แต่วันนั้นบังเอิญพาดหัวข่าวขึ้นมา ทำให้เกิดความไขว้เขวเข้าใจผิด แต่ในเนื้อข่าวจริง ๆ เขาก็เสนอตรง ไม่มีอะไร ผมเพียงแต่ติงเรื่องพาดหัวข่าว ปรากฏว่า กลับไปออกแถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ผมตรวจชื่อกรรมการของสมาคมฯ แน่นอนครับ มีตัวแทนจากมติชนคนหนึ่ง คือ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ก็อยู่ในนั้น ก็ไม่ว่ากัน จะโจมตีกันก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ว่าโจมตีอย่างไรคำนึงถึงประเทศหน่อย ตอนประเทศแย่อย่างคราวที่ผ่านมานั้น พอประเทศพังก็ตกงาน เปิดท้ายขายของกันอุตลุด ..."

'ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์' ที่ว่า คือเจ้าของนามปากกา 'ประสงค์ วิสุทธิ์'

รองบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน, เจ้าของคอลัมน์ 'เดินหน้าชน' ในมติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์, ผู้อยู่เบื้องหลัง 'รายงานข่าวเจาะเชิงสืบสวน' ชิ้นแล้วชิ้นเล่าของเครือมติชน, อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, และอดีตคอลัมนิสต์นิตยสาร open ฯลฯ

แม้ปากท่านผู้นำจะบอกว่า 'ไม่มีอะไร' กับมติชน แต่ดูจากความอัดอั้นตันใจที่พรั่งพรูออกมาแล้ว เหมือนจะเก็บอาการไม่อยู่ว่า 'มีอะไร' กับนายประสงค์

... มีมากด้วย

เข้าใจได้ไม่ยากครับ เพราะคนความจำแม่นอย่างท่านผู้นำ มีหรือจะจดจำนักข่าวธรรมดาคนหนึ่งที่ทำให้ท่านผู้นำเทวดา 11 ล้านเสียงเกือบตกจากเก้าอี้ด้วยคดีซุกหุ้นไม่ได้

กว่าจะเอาตัวรอดมาได้ด้วยเลขเด็ด - เจ็ดต่อแปด - ก็ต้องหลั่งน้ำตาสังเวยความบกพร่องโดยสุจริตมาแล้ว

หลังนาทีที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ นอกจากท่านผู้นำเทวดาจะจดจำชื่อเสียงเรียงนามของนักหนังสือพิมพ์รุ่นกลางคนนี้ได้อย่างแม่นยำ ในฐานะผู้เปิดประเด็นคดีซุกหุ้นในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ผมเองก็ท่องชื่อ 'ประสงค์ วิสุทธิ์' ได้ขึ้นใจเช่นกัน

ต่างกันก็เพียงว่า คนหนึ่งท่องด้วยความแค้น ส่วนอีกคน ด้วยความเคารพนับถือ

......

ในฐานะแฟนพันธุ์แท้ของหนังสือพิมพ์มติชนมาตั้งแต่ประถม ผมได้ยินชื่อของ 'ประสงค์ วิสุทธิ์' มาตั้งแต่ก่อนหน้าข่าวคดีซุกหุ้น ในฐานะนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพของวงการสื่อมวลชนไทย

จุดเด่นที่สุดของ 'ประสงค์ วิสุทธิ์' คือ สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของหนังสือพิมพ์ไทย

นั่นคือ การรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

เด่นเสียจน นิตยสาร Time เคยยก 'ประสงค์ วิสุทธิ์' เป็นหนึ่งใน Stars of Asia เมื่อปี 2001

สื่อหนังสือพิมพ์เสียเปรียบสื่อวิทยุโทรทัศน์ในแง่ 'ความเร็ว' ในการนำเสนอข่าวสาร แต่มีข้อได้เปรียบคือ มีพื้นที่ในการนำเสนอ 'ความลึก' ของประเด็นข่าว ด้วยบทวิเคราะห์ที่เฉียบคม และหลักฐานข้อมูลที่แน่นหนา

หนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพ นอกจากจะนำเสนอข้อมูลที่ 'ลึก' และ 'ถูกต้อง' แล้ว ยังต้องเป็นผู้ 'กำหนด'วาระข่าวด้วย มิใช่แค่ 'วิ่งตาม'วาระข่าว ตามแต่แหล่งข่าวจะหลอกใช้เป็นเครื่องมือ หรือวิ่งวนตามกระแส หรือเวียนว่ายกับความขัดแย้งฉาบฉวยในสังคม

ในบางจังหวะ นอกจากสื่อมวลชนจะเกาะติดสถานการณ์ที่สังคมสนใจใคร่รู้แล้ว สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการนำสังคมและยกระดับความรู้ของสังคม ในแง่นี้สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างสูงในการยกระดับการเมืองเชิงวัฒนธรรมของสังคม

น่าเสียดายที่ปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ โดยเฉพาะความล้มเหลวของระบบการศึกษา ทำให้สื่อมวลชนในประเทศนี้ ลื่นไม่เท่าไล่ไม่ทันเหล่าผู้มีอำนาจ ซึ่งมีความสามารถเอกอุในการกำหนดวาระข่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตน อีกทั้ง สื่อมวลชนโดยเฉลี่ยยังด้อยความสามารถในการวิเคราะห์วิจารณ์ลึกลงไปถึงแก่นแท้เนื้อในของปรากฏการณ์ที่มองเห็นผิวนอก

ข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์โดยมาก จึงเป็นการร้อยเรียงเล่าเหตุการณ์ข้อเท็จจริงว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน แต่น้อยนักที่จะตอบคำถามว่า ทำไม สะท้อนอะไร และส่งผลสืบเนื่องอย่างไร

สื่อมวลชนจำนวนมากในสังคมไทยวิ่งตามข่าวที่ไม่เป็นสาระ ตื่นตูมไปกับพลุที่นักการเมืองจุดในแต่ละวัน มีหน้าที่ยื่นเครื่องอัดเทปใส่ปากคนโน้นทีคนนี้ที ไวต่อกลิ่นความขัดแย้งฉาบฉวย มีเพียงสื่อมวลชนจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยเท่านั้น ที่ทำการบ้านหนัก มองปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำงานวิจัยขนาดย่อมในสายข่าวที่ตนรับผิดชอบ และลงมือสืบสวนสอบสวนความไม่ชอบมาพากลในสังคมมาตีแผ่

ในจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยนั้น 'ประสงค์ วิสุทธิ์' ยืนอยู่หัวแถว

ตลอดชีวิตนักข่าวหลังพ้นรั้วนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ 'ประสงค์ วิสุทธิ์' ทำหน้าที่ค้นหาความจริงอย่างมืออาชีพเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทยมาโดยตลอด ด้วยธรรมชาติของนักข่าวเข้าสายเลือด ด้วยความซื่อสัตย์ในจรรยาวิชาชีพ และซื่อตรงต่อความจริง ไม่เคยมีนอกมีในกับอะไรและกับใคร ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีวาระซ่อนเร้น ว่ากันไปตามความจริงที่ปรากฏ

เป็นคนธรรมดา ที่ไม่เคยวิ่งเข้าใส่ความเด่นดัง เครือข่ายสายสัมพันธ์ หรือชื่อเสียงจอมปลอม ไม่เคยใช้หน้าที่เรียกหาประโยชน์เข้าตน ชีวิตแต่ละวันก็เพียงตั้งใจทำงานของตัวให้ดีที่สุด อย่างสมเกียรตินักข่าวธรรมดาคนหนึ่ง ด้วยความเป็นมืออาชีพและความตรงไปตรงมา ก็เท่านั้น

ง่ายเท่านั้นจริงๆ

ไม่แปลกใจที่ผู้นำบางคนย่อมไม่มีวันเข้าใจ 'วิถี' ที่ว่า เพราะเส้นทางเดินในชีวิตของคนทั้งคู่แตกต่างกันเหลือเกิน

......

ชีวิตผมสนุกโชคดีตรงที่มีโอกาสได้พบปะ 'ยอดคน' ที่น่าเคารพนับถืออยู่เนืองๆ ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติและวิธีคิดของคนเหล่านั้น

คนที่ผมเรียกว่า 'ยอดคน' นี่ ล้วนเป็นคนธรรมดาแบบเราๆ ท่านๆ แทบทั้งนั้น ไปเรียกเช่นนี้ให้เขาได้ยิน จะโดนค้อนโดนว่าเอาง่ายๆ ไม่เหมือน 'เดนคน' บางคน ที่ชอบยกหางตัวเองให้คนอื่นนับถือเป็น 'ยอดคน'

ประสบการณ์อันน้อยนิดของผมสรุปว่า 'ผู้ยิ่งใหญ่' ที่ผมเคยมีโอกาสได้พบเจอ ต่างมีคุณสมบัติร่วมกันคือ เป็นคนธรรมดา ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองอย่างดีที่สุดและเป็นมืออาชีพ ไม่ต้องร้องหาอำนาจวาสนา ไม่ยึดติดกับหัวโขนสิ่งสมมติ ไม่ต้องเฝ้ารอโอกาสทำดี ไม่คิดถึงเพียงเฉพาะตัวเองและคนรอบข้างตน

'ประสงค์ วิสุทธิ์' หรือพี่เก๊ของผม ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ผมเจอพี่เก๊ตัวเป็นๆ ครั้งแรกในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของคณะเศรษฐศาสตร์ ที่หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ จำได้ว่า อาจารย์เกษมสันต์ เป็นคนแนะนำให้ได้รู้จักกัน ไม่กี่ปีมานี้นี่เอง

คุยกันสั้นๆ แบบไม่นึกฝันว่า ในอนาคตจะมีจังหวะมีโอกาสได้โคจรมาพบกันบ่อยครั้งขึ้น

พี่เก๊เป็นนักข่าวที่มีความเป็นนักวิชาการสูงมากนะครับ ใฝ่รู้และทำงานหนัก ใครได้อ่านงานข่าวของพี่เก๊จะรู้สึกว่า นอกจากจะเป็นงานสืบสวนขนาดทำตำรวจอายได้ ยังมีมิติของความเป็นงานวิชาการ ที่แน่นหนาในข้อมูลข้อเท็จจริง ตรรกะลื่นไหลเข้มแข็ง ประเด็นเฉียบคม รวมไปถึงมีระเบียบวิธีศึกษาชัดเจนเพื่อตอบคำถามที่สงสัย

นักข่าวกับนักวิชาการมีภารกิจเดียวกัน คือตามล่าหา 'ความจริง' แม้โดยมากจะเป็นความจริงคนละระดับก็ตาม

ความเป็นนักวิชาการในตัวแบบไม่รู้เจ้าตัวรู้ตัวหรือไม่ ทำให้เรามักพบเห็นพี่เก๊ขึ้นเวทีอภิปรายสัมมนาเชิงวิชาการร่วมกับนักวิชาการได้อย่างไม่ขัดเขิน เป็นนักข่าวไม่กี่คนนะครับ ที่พูดจาได้แบบอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนยังอาย แกตะลุยมาหมดแล้ว ไม่ว่าคณะเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ ไม่ต้องพูดถึงนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์

เมื่อครั้งผมร่วมเป็นผู้จัดกำหนดการสัมมนาของกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันในช่วงเวลา 2 ปีครึ่ง เราเชิญพี่เก๊มาร่วมอภิปราย 2 ครั้ง ครั้งแรกว่าด้วยเรื่องกลุ่มทุนโทรคมนาคมไทย ครั้งหลังว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

พี่เก๊มาพร้อมกับข้อมูลและกรณีศึกษาที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งเป็นฝีมือเจาะข่าวในอดีตของเจ้าตัว

เช่น ต้นกำเนิดของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการมือถืออย่างบริษัท A (นามสมมติ) ใครอยากรู้ต้องไปค้นมติชนฉบับย้อนหลังดู จะรู้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ว่าเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทห้องแถว ที่ไม่มีตัวตน ผู้ก่อตั้งก็เป็นเพียงพนักงานธรรมดาของบริษัทเคเบิลทีวี I (นามสมมติ) ในอดีต (คุ้นๆวิธีการไหม) แต่เริ่มต้นก็กลับคว้าสัมปทานหลักพันล้านของกระทรวงคมนาคม ในยุคตนโตตัวเล็กเป็นรัฐมนตรีว่าการ (ข้อมูลอาจผิดได้ อาศัยความทรงจำล้วนๆ)

เมื่อมติชนตีพิมพ์ข่าว วันรุ่งขึ้น นาย T-sq (นามสมมติ) ถึงกับบุกมาชี้แจงถึงโรงพิมพ์ทีเดียวเชียวละ

ลองไปค้นดูครับ เป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกมาก แล้วจะเข้าใจวิธีคิดและพฤติกรรมของ 'คนที่คุณก็รู้ว่าใคร' ในปัจจุบัน

เวลาคณะผมหรือธรรมศาสตร์จัดรายการสัมมนาที่น่าสนใจ พี่เก๊มักโทรศัพท์มาหา เพื่อขอเปเปอร์มาอ่าน ขอเอกสารประกอบการสัมมนา หรือขอเทปฉบับเต็มไปนั่งฟัง

เวลาติดขัดสงสัยเรื่องทางเทคนิค พี่เก๊ก็มักมุ่งสู่มหาวิทยาลัย เพื่อปรึกษาไต่ถามนักวิชาการ ที่คณะผมก็มีแหล่งข่าวและแหล่งความรู้ของพี่เก๊หลายคน

ล่าสุดนี่ พี่ประสงค์ของผมเพิ่งสมัครเรียนนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ที่ธรรมศาสตร์เลยนะครับ นักโกงเมืองทั้งหลาย ระวังเนื้อระวังตัวกันไว้ แต่ตอนนี้ขอให้เจ้าตัวระวังเนื้อระวังตัวเองก่อน เพราะมัวแต่เจาะข่าวมากๆ อาจสอบตกได้ (ฮา)

......

ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพบปะกับพี่เก๊หลายครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมไปเป็นคอลัมนิสต์ให้ประชาชาติธุรกิจ และพี่เก๊และผมร่วมทีมคอลัมนิสต์ของ open ยุคเศรษฐกิจการเมือง เลยมีโอกาสได้ร่วมโต๊ะอาหารกันหลายครั้ง

สำหรับคนสอนหนังสือหากินอย่างผม โต๊ะอาหารของนักข่าวนี่ตื่นตาตื่นใจมากนะครับ เพราะสื่อมวลชนเป็นผู้อยู่แนวหน้าของสนามรบ ได้สัมผัสพบปะเหตุการณ์จริง ผู้คนจริง ทุกวัน เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรู้เบื้องหลังเบื้องลึกของตัวละครที่โลดแล่นอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์สารพัดกลุ่ม

เหล่านี้เป็นองค์ความรู้ที่นักวิชาการห่างเหิน แม้นักวิชาการจะมีชุดความคิด มีเครื่องมือในการวิเคราะห์ แต่ห่างไกลจากสถานการณ์จริง ผลกระทบจริง ตัวละครจริงของเรื่องราวเท่ากับนักข่าว ซึ่งถ้าจะทำการวิเคราะห์เชิงสถาบัน ที่เป็นความเฉพาะเจาะจงด้วยแล้ว ปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์

อย่างเรื่องแบ่งโซนสีหมู่บ้านในภาคใต้ ที่เป็นข่าวใหญ่โตช่วงหลังเลือกตั้ง ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความปากพล่อยของชายหน้าเหลี่ยมคนหนึ่งเท่านั้น บังเอิญชายเหลี่ยมคนนั้นดันมีอำนาจมากมาย เรื่องถึงยุ่ง เพราะมีเหล่าลูกขุนพลอยพยักมาก ยังดีที่ยอมกระโดดลงจากรถสิบล้อกัน

กินข้าวด้วยกันทีไร เป็นต้องได้ฟังความจริงอันโหดร้าย จนบางครั้ง กินข้าวไม่ลงเอาเลยทีเดียว และอดคิดในใจว่า ทำไมพวกมึงเลวกันได้ขนาดนี้วะ แต่หลายครั้งก็สนุกตื่นเต้น เพราะได้เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางการเมือง และเบื้องหลังเบื้องลึกของตัวละครที่โลดแล่นตามหน้าหนังสือพิมพ์

จะว่าไป การรวมกลุ่มอย่างหลวมๆ มานั่งวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาการเมืองเศรษฐกิจของบ้านเมือง และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน โดยมีผลประโยชน์ของสังคมไทยเป็นที่ตั้ง นี่มีประโยชน์มากเลยนะครับ

อย่างน้อย ปีที่ผ่านมา เราก็ได้ใช้พลังของแต่ละฝ่ายร่วมกันคัดค้านความไม่ถูกต้อง 2 เรื่องคือ แผนออกหวยซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล และ การเซ็นสัญญาระหว่างสถานีโทรทัศน์ช่องห้ากับบริษัทอาร์ทีเอ เรื่องหลังเป็นผลงานสืบสวนชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของพี่เก๊ในปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองเรื่องจบลงด้วยดี กรณีหวยหงส์จบลงด้วยการเป็นปาหี่ระดับโลก ส่วนเรื่องช่องห้าจบลงด้วยการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ และยกเลิกการเซ็นสัญญา

ขอเล่าประสบการณ์เรื่องกรณีผลประโยชน์ในช่องห้าหน่อยนะครับ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ

วันนั้น กลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันเชิญพี่เก๊มาร่วมวงอภิปรายเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน

ตอนเที่ยง พี่เก๊โทรมาหาผมว่า จะไปสายหน่อยนะ เพราะเพิ่งได้ข้อมูลเด็ดเกี่ยวกับสัญญาช่องห้า กำลังนั่งศึกษาอยู่ เดี๋ยวต้องรีบเขียนข่าวทิ้งไว้ แล้วจะเล่าให้ฟังทีหลัง

กว่าพี่เก๊จะมาถึงธรรมศาสตร์ วงอภิปรายก็ว่ากันไปครึ่งหนึ่งแล้ว ผมนั่งฟังอยู่ด้านล่าง มองขึ้นไปบนเวที เห็นพี่เก๊ก้มตาก้มตาอ่านเอกสารชุดหนึ่งอยู่ตลอดเวลา พอถึงคิวพูด แกก็พูด ว่าเสร็จแกก็ก้มอ่านต่อ

วิญญาณนักข่าวชัดๆ เลยครับนั่น ดำดิ่งกับการค้นหาความจริง แบบไม่ไล่ไม่เลิก

พอสัมมนาเสร็จ พี่เก๊ก็มาคุยกับผมต่อในห้องทำงานผม พร้อมกับเอกสารปึกใหญ่ เอกสารที่ว่าเป็นข้อมูลดิบล้วนๆ เลยนะครับ ประกอบด้วยจดหมายและหนังสือราชการหลายฉบับ สัญญา รายงานของที่ปรึกษาการเงิน ฯลฯ คือมีทั้งข้อมูลดิบที่แหล่งข่าวส่งมาให้ และข้อมูลดิบที่พี่เก๊สั่งค้นเพิ่ม เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวให้สมบูรณ์

ว่าแล้ว พี่เก๊ก็อภิปรายไม่ไว้วางใจให้ผมฟังเป็นฉากๆ เป็นขั้นตอน (แบบรัวเร็วฟังไม่ทันตามสไตล์ประสงค์ตัวจริง - ฮา) พร้อมโชว์หลักฐานแต่ละชิ้นที่แกปะติดปะต่อกับเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นลำดับลื่นไหล

ผมก็ได้แต่ตะลึง ไม่ใช่แค่ตะลึงกับความโกงของข้าราชการและนักธุรกิจ แต่ยังตะลึงในความเก่งและความเป็นมืออาชีพของพี่เก๊ ... ครึ่งวันเองนะครับที่พี่เก๊ได้เอกสารปึกนี้มา มีเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงในการสังเคราะห์ก่อนมาพูดที่ธรรมศาสตร์

มืออาชีพเท่านั้นครับ ที่จับมั่นคั้นความจริงได้ถึงแก่นในเวลาจำกัดอันสั้นแบบนี้ ประสบการณ์ล้วนๆ เท่านั้น

หลังจากอภิปรายเดี่ยวเสร็จ พี่เก๊ก็ถามต่อถึงกลไกด้านตลาดการเงินบางประเด็น ผมก็ไปเชิญอาจารย์ท่านหนึ่งมาอธิบายความให้แกฟัง และถ้าจำไม่ผิด จุดหมายต่อไปของพี่เก๊ในวันนั้นคือคณะนิติศาสตร์ครับ เพื่อซักถามข้อกฎหมายบางประเด็น

และเข้าห้อง เรียนหนังสือภาคค่ำต่อ

วันรุ่งขึ้นมติชนก็พาดหัวรองเรื่องอื้อฉาวนี้ ตามมาด้วยเป็นพาดหัวใหญ่ในวันต่อมา พร้อมกับสกู๊ปข่าวอย่างละเอียด ตลอดช่วงอาทิตย์นั้น เป็นข่าวเดี่ยวของมติชน จากฝีมือของชายคนนี้อีกครั้ง

นับเป็นอีกครั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ในการค้นหาความจริง แบบไม่มีวาระซ่อนเร้นของผู้ชายคนหนึ่ง ส่งผลในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศนี้ไว้ได้

เท่าที่รู้จักกันมา ผมคิดว่า คุณูปการที่สำคัญยิ่งอีกอันหนึ่งของพี่เก๊ต่อวงการสื่อสารมวลชนไทยคือ การเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างรูปธรรมให้แก่นักข่าวรุ่นใหม่และรุ่นกลางหลายคนในมติชนรายวันและประชาชาติธุรกิจ เรื่อยไปจนถึงเหล่าศิษย์เก่าสำนักนั้น จนถึงในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

จนสัมผัสได้ถึงพลังห่วงโซ่แห่งความดี ที่ยึดมั่นในจรรยาวิชาชีพของนักข่าวที่มีอุดมการณ์

พี่ๆที่ผมรู้จักในประชาชาติธุรกิจหลายคนก็เดินมุ่งหน้าตามทางเดินที่พี่เก๊ถางไว้ เราจึงเห็นได้ว่า ประชาชาติธุรกิจเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวเจาะเชิงสืบสวนที่โดดเด่นที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างปีที่แล้ว ก็เป็นผู้จุดประเด็นเรื่องไข้หวัดนกขึ้นมาเป็นแห่งแรก และเกาะติดไม่ปล่อยแม้ในช่วงแรก รัฐบาลจะออกมาดาหน้าปฏิเสธ ปกปิดความจริงด้วยกลัวยอดส่งออกไก่ตกต่ำก็ตาม ผลเสียเป็นอย่างไร ทุกท่านก็รู้อยู่แก่ใจ

......

ในขณะที่ กระแสข่าวหมุนวนถั่งโถมรวดเร็วอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในแต่ละวัน นักหนังสือพิมพ์อาชีพธรรมดาคนหนึ่งนั่งทำงานเงียบๆ อยู่บนตึกไม่กี่ชั้นแถวประชาชื่น

ปฏิบัติภารกิจประจำวันด้วยการตรวจสอบค้นหาความจริงอย่างดีที่สุด เพื่อรายงานความจริงให้คนในสังคมนี้ได้รับรู้

มีหลักง่ายๆ แค่การเคารพความจริงที่ปรากฏ อย่างตรงไปตรงมา

ง่ายเท่านั้นจริงๆ

ไม่เคยเอ่ยปากทวงบุญคุณอะไร กับใคร กระทั่งกับสังคม

แม้ตัวเองจะต้องก้มดูใต้ท้องรถ ก่อนสตาร์ทเครื่องออกเดินทางก็ตาม

......

Sunday, May 15, 2005

love actually

'Love actually'

- pin poramet -


Yesterday I saw the movie.

It was the actually lovely 'Love actually'.

Unfortunately, love actually is 'not' all around ... here.

That's why I went through that 'Love actually' merely alone ......


......


Love is all around

by Reg Pregley


I feel it in my fingers
I feel it in my toes
Love is all around me
And so the feeling grows
It’s written on the wind
It’s everywhere I go, oh yes it is
So if you really love me
Come on and let it show

You know I love you, I always will
My mind’s made up by the way that I feel
There’s no beginning,
There’ll be no end
’cause on my love you can depend

I see your face before me
As I lay on my bed
I kinda get to thinking
Of all the things you said, oh yes I did
You gave your promise to me and i gave mine to you
I need someone beside me
In everything I do, oh yes I do

You know I love you, I always will,
My mind’s made up by the way that I feel
There’s no beginning,
There’ll be no end
’cause on my love you can depend

Got to keep it moving
Oh it’s written in the wind
Oh everywhere I go, yeah, oh well
So if you really love me, love me, love me

Come on and let it show
Come on and let it show
Come on and let it
Come on and let it (come and let it show, baby)
Come on, come on, come on let it show, baby
Come on and let it show
Come on and let it show, baby
Come on and let it show

Friday, May 13, 2005

เรื่องของนายหมาก

เมื่อวานผมเขียน blog เล่าเรื่อง John Roemer แล้วมีหลายส่วนพาดพิงไปถึงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ และรูปแบบของระบบเศรษฐกิจในอุดมคติของ Roemer

ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ผมได้รับคำถามที่น่าสนใจว่า "อะไรคือคำตอบสุดท้ายของเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซ์ในปัจจุบัน?" และ "ฉันทามติของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซ์ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ใด?"

ไม่รู้เหมือนกันครับ

อยากรู้เหมือนเจ้าของคำถามเช่นกัน แต่คิดไปคิดมา ก็สรุปเอาเองว่าคงไม่มีใครตอบได้ หรือถ้ามีคนเกิดคิดว่าตัวเองตอบได้ขึ้นมาจริงๆนี่ ผมคงลังเลว่าจะเชื่อผู้กล้าคนนั้นดีหรือเปล่า

คำถามแบบนี้ ถามง่าย แต่ตอบยากเหลือเกิน

และคำถามยากๆ ทั้งหลายในโลกนี้ มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปหรอกครับ

เวลาเราพูดถึง Marxist ต้องเข้าใจว่ามีทั้งพวกที่เป็นนักวิชาการ นั่งศึกษาทฤษฎี Marxism แล้วพยายามตอบคำถามว่า what is? what was? และ/หรือ what will be? พวกหนึ่ง เวลาผมพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์ ผมหมายถึงงานศึกษาของคนกลุ่มนี้

และมีทั้งพวกนักปฏิบัติการทางการเมือง ที่นำทฤษฎีบางส่วนไปปรับใช้ในโลกแห่งความจริง หรือผู้ที่ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากตัวทฤษฎี แล้วคิดเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบวิธีการต่างๆ และมีภาพฝันแตกต่างกัน อีกพวกหนึ่ง กลุ่มหลังนี้พยายามตอบคำถามว่า what should be?

ตัว Karl Marx เอง ก็มีบทบาทเป็นทั้งนักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางการเมือง สำหรับผม บทบาทที่โดดเด่นของ Marx คือบทบาทความเป็นนักวิชาการ ที่พยายามสร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองขึ้นมาเพื่ออธิบาย 'โลก' งานศึกษาความคิดของ Marx ส่วนใหญ่ศึกษาจากงานวิชาการที่ Marx เขียนเป็นหลัก และ Marx เองก็ไม่ได้มีบทบาทในฐานะนักปฏิวัติ ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วนำระบบเศรษฐกิจการเมืองในฝันในสมองของตนมาปรับใช้ในโลกแห่งความจริงแต่อย่างใด

Marx เป็นนักวิชาการนะครับ และพยายามเสนอทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานแบบประสบการณ์นิยม (Empiricism) เพื่อสร้างความ 'เข้าใจ' ปรากฏการณ์ในโลกแห่งความจริง และ 'ทำนาย' อนาคต จากระเบียบวิธีศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ของตน กระนั้น ความเป็นวิทยาศาสตร์ในงานศึกษาของ Marx ไม่ได้ใช้เครื่องมือคณิตศาสตร์เข้มข้น หรือโมเดลที่เป็นนามธรรม อย่างนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักยุคหลัง

หนังสือที่ใช้เป็นตำราตั้งต้นในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์ (Marxian Economics) คือ Capital ทั้งสามเล่ม ซึ่งเป็นตำราวิชาการ ไม่ใช่คู่มือปฏิบัติการทางการเมืองในการล้มล้างทุนนิยมและคู่มือเปลี่ยนผ่านสู่สังคมนิยมแต่อย่างใด (แต่ถ้าใครจะได้รับอิทธิพล หรือได้แรงบันดาลใจ จนคิดแบบนั้น ก็เป็นอีกเรื่องของคนเหล่านั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประเด็นของเราตอนนี้)

เอาเข้าจริง Marx ก็ไม่ได้เสนอรูปแบบหรือขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยม เพียงแต่เขาทำนายด้วยทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์ของเขาว่า ระบบทุนนิยมก็จะเกิดความขัดแย้งภายในตัวระบบจนล่มสลาย เหมือนดังชะตากรรมของระบบเศรษฐกิจอื่นก่อนหน้า และจะค่อยๆเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ 'อีกแบบ' ที่เรียกว่าระบบสังคมนิยม ซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแตกต่างไปจากระบบทุนนิยม

จุดเด่นของงานวิชาการของ Marx คือการอธิบาย 'กลไก' ของพัฒนาการของระบบทุนนิยม ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงจุดสุดท้าย กระทั่งสังเคราะห์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นส่วนที่ Marx ทำนาย ทั้งนี้ทั้งนั้น คำอธิบายว่าด้วยเส้นทางของประวัติศาสตร์การพัฒนา(หรือเดินหน้า)ของระบบเศรษฐกิจหรือสังคมต่างๆ จากอดีตถึงอนาคต Marx อธิบายด้วย 'มุมมองต่อโลก' หรือ 'กรอบความคิด' หรือ 'แว่นตา' แบบหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า ระเบียบวิธีศึกษาแบบมาร์กซ์ (Marxian methodology) ซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์ และคงเส้นคงวาระดับหนึ่ง

ทีนี้ Marx เชื่อว่า การปะทะกันระหว่าง 'พลังเก่า' กับ 'พลังใหม่' จะสังเคราะห์ไปสู่ผลลัพธ์ที่ก้าวหน้าขึ้นเสมอ นั่นคือ ความขัดแย้งภายในตัวระบบเองเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความก้าวหน้า

หากดูจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ Marx เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจากระบบหนึ่งสู่ระบบหนึ่ง (จากระบบดั้งเดิม สู่ระบบทาส สู่ระบบฟิวดัล จนถึงระบบทุนนิยม) สะท้อนการพัฒนาพลังการผลิต (เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทุนมนุษย์ที่สูงขึ้น) และยกระดับความสัมพันธ์ทางการผลิตระหว่างกลุ่มต่างๆ ให้สูงขึ้น เช่นนี้แล้ว ระบบเศรษฐกิจที่ตามหลังมา ซึ่ง Marx เรียกว่า 'สังคมนิยม' ย่อมมี 'เนื้อใน' ที่สูงกว่าทุนนิยม นั่นคือ เป็นสังคมที่มีพลังการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิต (ซึ่งเป็นฐานในการกำหนด superstructure ของสังคม อย่าง ระบบกฎหมาย ระบบการเมือง norm ของสังคม ฯลฯ อีกทีหนึ่ง) ที่ 'สูง'หรือ 'เหนือ' กว่าทุนนิยม

ซึ่งมันจะข้ามพ้นทุนนิยมไปถึงสังคมนิยมได้ คนในสังคมก็ต้องยกระดับตัวเองตามขึ้นมาด้วย ดังเช่นคนในระบบทุนนิยม มีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพข้ามเวลาตามพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีลักษณะแตกต่างจากคนในระดับฟิวดัล หากใช้ศัพท์ตามทฤษฎีแถบสีที่อาจารย์สุวินัยชอบใช้ ก็ต้องบอกว่า คนเฉลี่ยๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อยู่ใน 'มีม' ที่สูงกว่าคนเฉลี่ยๆในระบบฟิวดัล

คือความคิดและลักษณะของคนแต่ละยุค มันเป็นผลพวงของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้เขาเป็นเขาคิด (ซึ่งการที่เขาเป็นเขาคิดแบบนี้ ก็ส่งผลย้อนกลับไปกำหนดตัวระบบเศรษฐกิจอีกทีหนึ่ง) ความคิดและลักษณะของคนที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการเรื่อยไป ไม่หยุดยั้ง ตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะของระดับการพัฒนา

ดังนั้น ที่คนมักวิจารณ์ว่า ระบบสังคมนิยมเป็นไปไม่ได้ นั่นก็เพราะผู้วิจารณ์ติดกับกรอบของความคิดและลักษณะของคนที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาในแบบระบบทุนนิยม เหมือนที่คนในสมัยยุคกลางของยุโรปก็คิดไม่ได้หรอกว่า คนในศตวรรษที่ 20 จะมีเป้าหมายในชีวิต มีพฤติกรรมเช่นนี้ และ norm ของสังคม จะเปลี่ยนแปลงมาถึงเพียงนี้

ยุคกลางของยุโรปภายใต้ระบบฟิวดัลนี่ กินเวลายาวนานประมาณหนึ่งพันปีนะครับ ขณะที่ระบบทุนนิยมเรา ยังกินเวลาไม่กี่ร้อยปี ถ้านับตั้งแต่ช่วงที่พวก serf เริ่มผละออกจากระบบฟิวดัลเข้าสู่เมือง, ระบบ money rent เข้าแทนที่การเกณฑ์แรงงานและส่งส่วยที่เป็นของ, และรัฐชาติเริ่มกลับมาเข้มแข็ง ก็ช่วงคริสตศตวรรษที่ 14-16 หรือถ้านับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 18

ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแล้ว ระบบทุนนิยมแบบที่เขาเข้าใจกันในปัจจุบัน เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้นนะครับ ประวัติศาสตร์อาจจะยังเดินทางมาไม่ถึงจุดสิ้นสุด เหมือนดังที่ Francis Fuguyama ว่าไว้

ทีนี้ เมื่อ Marx มีจุดตั้งต้นในการศึกษาสังคม โดยมี 'ชนชั้น' เป็นแกนกลาง และเห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า (มีการสู้กันระหว่างพลังเก่าและใหม่จนสังเคราะห์ไปสู่สิ่งใหม่ และเกิดความขัดแย้งใหม่จนเกิดการสังเคราะห์ต่อไปไม่สิ้นสุด) ก็ไม่แปลกใจว่า ระบบเศรษฐกิจที่ Marx คิดว่าเป็นจุดสุดท้ายของประวัติศาสตร์คือระบบที่มันไม่มีชนชั้นอีกต่อไป คิดในแง่นี้ มันก็เป็นจุดปลายของตรรกะของเขา

โลกที่ไร้ชนชั้น และมีลักษณะรูปแบบดังอุดมการณ์ 'สังคมนิยม' ซึ่งมีสมาชิกของสังคมเชื่อมั่นอุดมการณ์ 'สังคมนิยม' ก็เป็นภาพฝันในอุดมคติของเขา แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปถึงได้ยังไง จะเปลี่ยนผ่านยังไง ว่าไปแล้ว ทฤษฎีของ Marx เข้มแข็งในการอธิบายสภาพและพัฒนาการของระบบทุนนิยม แต่สำหรับการทำนายอนาคตอันไกลแล้ว ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม

แล้วพวกระบบเศรษฐกิจที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็นระบบสังคมนิยม ซึ่งเคยเกิดขึ้นในโลกล่ะ จะมองมันอย่างไรดี?

ก็เป็นระบบเศรษฐกิจใน 'จินตนาการ' ของเหล่านักปฏิวัติทั้งหลาย ไม่ใช่ของ Marx

ระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียต ก็เป็น 'จินตนาการ' ของแกนนำพรรคบอลเชวิคในเบื้องต้น แล้วก็พัฒนาต่อมาตามตัวผู้นำในแต่ละยุคสมัยเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับ การปฏิวัติสังคมนิยมของจีน แน่นอนว่า จินตนาการของนักปฏิบัติการทางการเมืองเหล่านั้นไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับความคิดแบบ Marx จะได้รับอิทธิพลมาบ้าง ส่วนไหน และนำมาปรับเปลี่ยน ตีความ เมื่อเผชิญกับ 'โลก'ภายในของตัวเอง และสภาพความจริงและปัญหาของ 'โลก'ภายนอกที่ตนเผชิญอย่างไร นี่ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญกว่าการสรุปเอาดื้อๆ ว่า สังคมนิยมแบบที่ประเทศต่างๆอ้างว่าเป็น = ระบบเศรษฐกิจแบบ Marx

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิวัติที่เผชิญสภาพสังคมเศรษฐกิจดั้งเดิม ที่ต่างจากกรอบวิเคราะห์ของ Marx (ที่สร้างทฤษฎีจาก 'โลก' หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก) จินตนาการที่ใช้ก็ยิ่งมากไปด้วย จนพัฒนารูปแบบห่างไกลจากทฤษฎีของตัว Marx เอง อย่างประเทศรัสเซียตอนปฏิวัติ ระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมก็แค่หางอึ่ง อย่างประเทศจีนนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เป็นประเทศเกษตรกรรม

ยิ่งถ้า Marx ไปอยู่ในรัสเซีย ยุค Stalin คงร้องไห้ส่ายหัว หรือไปเห็นจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรมคงงงว่า มันจะนำไปสู่สังคมนิยมได้อย่างไร

Marx เป็นนักวิชาการนะครับ แต่เป็นนักวิชาการที่มีภาพนักปฏิวัติในสายตาคนทั่วไป

ใช่แล้ว, ที่ Marx มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในบางช่วงของชีวิต แต่ไม่ได้มีอิทธิพลในการปฏิวัติสังคมแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แบบนักปฏิวัติทั้งหลาย ที่สร้างภาพ Marx ให้เป็นอีกแบบหนึ่ง

การเป็นคนหลายมิติของ Marx ทำให้อำนาจในการตีความงานของ Marx หลากหลาย ยิ่งงาน Marx ในช่วงหนุ่มและแก่ก็ต่างกัน และ Marx เป็นทั้งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักคิด นักปฏิบัติการทางการเมือง เราจะมองเขาส่วนไหน ในเมื่องานเขียนแต่ละชิ้น มี 'ที่ทาง' และ 'สถานะ' และถูกสร้างขึ้นภายใต้ 'ขนบ' และ 'บริบท' ที่ต่างกัน

ผมก็ไม่ปฏิเสธว่า มีคนหลายคนได้แรงบันดาลใจจากการศึกษา Marx จนอยากเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น (ไม่ว่าระบบ ทุนนิยม/อำนาจนิยม/ระบบกษัตริย์/อภิสิทธิ์นิยม) ซึ่งก็สมาทานกับพลังของการเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆกัน (วิจารณ์/ปฏิรูป/ปฎิวัติ/ลุกฮือล้มล้าง)

หลายคนเข้าใจว่า คำตอบของเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์สมัยก่อน คือการโค่นล้มระบบทุนนิยม และสถาปนาระบบใหม่ ผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นคำตอบของใคร ก็คงมี Marxist หลายคนคิดเช่นนั้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างนั้นจากปัจจัยใด แต่ไม่แปลกใจแม้แต่น้อยว่าจะมีคนคิดอย่างนั้น กระนั้น Marxist จำนวนมากก็ไม่ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายแบบนั้น หรือถึงมี ก็คงต้องคุยเรื่อง 'วิธีการ' ซึ่งไม่ใช่ 'วิชาการ' กันยาว

ส่วนที่หลายคนมักกล่าวว่า ประวัติศาสตร์โลกได้พิสูจน์แล้วว่าระบบที่สร้างตามรากฐานของ Marx ล้มเหลว อันนี้ ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่านะครับ เพราะเหมือนกับว่า โลกเรายังไม่เคยอยู่ในระบบสังคมนิยมในฝันแบบ Marx นักคิดสังคมนิยมจำนวนมากผลิตงานวิชาการเพื่ออธิบายว่า ระบบเศรษฐกิจที่คนมักเข้าใจว่าเป็นสังคมนิยม แท้ที่จริง ไม่เข้าเกณฑ์ของความเป็นสังคมนิยม บางคนถึงขั้นเรียกระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียตว่าเป็นทุนนิยมโดยรัฐด้วยซ้ำไป

เท่าที่ผมได้สัมผัสกับนักวิชาการฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ไม่คิดว่า ระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียต จีน หรือยุโรปตะวันออก สร้างขึ้นตามรากฐานของทฤษฎี Marx คือ Marx ไม่เคยเสนอสูตรสำเร็จของ ระบบเศรษฐกิจสำเร็จรูปแบบ Marx เลยนะครับว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตีความกันไปทั้งนั้น

เราเรียกว่า เป็นระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียต แบบจีน แบบยุโรปตะวันออก (ซึ่งจะให้ถูก ต้องแยกตามรายประเทศ เพราะมีทั้งกลุ่มที่เดินตามทางโซเวียต และกลุ่มสายยูโกสลาเวีย) น่าจะถูกกว่า แล้ววิเคราะห์คุณลักษณะของแต่ละระบบไป เพราะระบบเศรษฐกิจแบบ (so-called)สังคมนิยมก็มิได้เป็นหนึ่งเดียว แต่หลากหลายทีเดียว

นักวิชาการฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ขณะนี้ก็ยังศึกษาประเด็นระบบเศรษฐกิจเปรียบเทียบว่ามีบทเรียนอะไรในอดีต จะผสมผสานจุดแข็งจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ เพื่อไปสู่ระบบเศรษฐกิจในฝัน(ของแต่ละคน)อย่างไร รวมทั้งศึกษาพัฒนาการของมัน โดยเฉพาะหลังจากยุคสงครามเย็นตายสนิทในปี 1991 และเมื่อเผชิญกับพายุนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

หลายคนก็วิเคราะห์พัฒนาการของระบบทุนนิยม ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่เราเผชิญ ซึ่งยุค Marx คงจินตนาการไม่ถึง เช่น การเคลื่อนย้ายทุนเสรี การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ภาพของระบบทุนนิยมชัดเจนและสอดคล้องกับโลกความจริงมากขึ้น

ต้องเข้าใจด้วยว่า Marx เสนอ general theory ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งโยงใยไปถึงความสัมพันธ์ของคนแต่ละกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อมันเป็นงานวิชาการ มันก็มีระเบียบวิธีศึกษาของมัน ซึ่งเราสามารถใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์อื่นๆ ได้ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเชิงโครงสร้างเท่านั้น

ปัจจุบันก็มี Marxist จำนวนหนึ่ง วิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เพศสภาพ ธุรกิจฟุตบอล ระบบการเงินโลก ประวัติศาสตร์ ฯลฯ โดยใช้ระเบียบวิธีศึกษาแบบ Marx เป็นเครื่องมือ เหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ โดยใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก เป็นเครื่องมือ

ทฤษฎี Marx มีสามแกนใหญ่ๆ คือ Labour theory of value, Crisis theory และ Historical materialism ขณะนี้ พวก Marxist จำนวนหนึ่ง ก็ศึกษาต่อยอดทฤษฎีเหล่านี้ต่อไป ตามความสนใจของตน และนำกรอบความคิดเหล่านี้ อธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก

บางคนก็สนใจ Dependency theory ซึ่ง Marx ก็แตะไว้บ้าง พัฒนาต่อยอดกันไป จนมีหนังสือที่เป็นหลักไมล์ใหม่ นั่นคือ Empire ของ Hardt และ Negri แม้อ่านไปอ่านมา จะแทบไม่เหลือคราบ Marx ก็ตาม

บางคนก็สนใจส่วนทฤษฎีว่าด้วยเงิน บทบาทของกลุ่มนายทุนผู้ให้กู้ ที่ Marx เขียนไว้ใน Capital เล่มสาม ก็ศึกษาต่อยอดไป

หลากหลายครับ เพราะมิติของ Marxian Economics กว้างขวางกว่าที่หลายคนเข้าใจมาก

สำนัก Marxism นี่ ไม่ได้มีสำนักที่ผูกขาดความคิดอยู่หนึ่งเดียวนะครับ แต่แยกย่อย สนใจ แตกเป็นหลายสำนัก หลากหลายทีเดียว

ที่น่าคิดก็คือ วงวิชาการไทยไม่ค่อยศึกษา Marxian Economics ในฐานะทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์

หน้าตาของ Marx ในสังคมไทย จึงเป็นไปในทางนักปฏิบัติการทางการเมืองมากกว่านักวิชาการ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี บอกได้แต่ว่า ความเข้าใจต่อทฤษฎี Marx ของเราในสังคมไทย ขาดหายไปมากมายหลายมิติ

ผมก็ไม่รู้ว่า ในมหาวิทยาลัยไทย เขาสอน Marxian Economics กันอย่างไร เพราะไม่เคยเรียน Marxism ในมหาวิทยาลัยไทยจริงๆ เพิ่งมาเรียนที่สำนักหลังเขา แต่จากที่มีโอกาสได้สนทนาธรรมกับฝ่ายซ้ายไทยหรือ Marxist ไทยจำนวนหนึ่ง ก็พบว่า ความเข้าใจของผม(ที่ถูกฝึกมาจากสำนักหลังเขา)กับเขาต่างกันพอสมควร ไม่ได้ว่าฝ่ายไหนถูกผิดนะครับ แค่ว่าไม่เหมือนกัน

อ้อ แล้วผมไม่ใช่ Marxist นะครับ แม้จะใช้ 'แว่นตา' แบบ Marx ในการอธิบายปรากฏการณ์บางอย่าง และมองโลกบางมุมอยู่เนืองๆ (ใน blog นี้ก็ด้วยเช่นกัน) แต่ก็เหมือนกับที่ผมใช้ 'แว่นตา' แบบนีโอคลาสสิกอธิบายบางเรื่อง มันแล้วแต่เรื่องน่ะครับ เพราะไม่มีทฤษฎีไหนสมบูรณ์แบบที่อธิบายได้ทุกเรื่องในโลก

ผมเป็นพวกรู้งูๆปลาๆ เที่ยวชมสำนักโน้นสำนักนี้ไปเรื่อย แต่ไม่ลึกซึ้งอะไรสักสำนัก

สุดท้าย ต่อคำถามที่ว่า ฉันทามติของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์ก(โดยส่วนใหญ่) ในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ใด?

เช่นกันครับ ตอบไม่ได้เพราะมันไม่มีฉันทามติ แล้วแต่คุณเป็นคนแบบไหน ถ้าเป็นนักวิชาการ ก็ยังแล้วแต่ว่า คุณสนใจทฤษฎีส่วนไหนของ Marxian Economics ถ้าเป็นนักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยิ่งฝันไปถ้าจะหาฉันทามติสำเร็จรูปร่วมกันได้

แต่ถ้าบังคับให้ตอบแบบเล่นคำ ฉันทามติ ที่ Marxist ทุกคนในยามนี้น่าจะเห็นพ้องต้องกัน น่าจะเป็น ....

Another world is possible.

หรือถ้าจะเพิ่มความเป็น subjective เข้าไปหน่อย ก็คงเปลี่ยนเป็น A better world is possible.

แต่ How? นี่ ชาติหนึ่งคงเถียงกันไม่จบ

ไม่มีหรอกครับ ฉันทามติอะไรนั่น

Thursday, May 12, 2005

แซยิด Roemer

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักหลังเขาของผมจัด conference หัวข้อ Capitalism, Socialism, and Democracy เพื่อเป็นเกียรติแก่ Roemer ในโอกาสที่มีอายุครบห้ารอบ

ท่านไม่ได้ตาฝาด และผมก็ไม่ได้สะกดชื่อผิดนะครับ ไม่ต้องงงงวย

เพราะ Roemer ของชาวสำนักหลังเขา มิใช่ David Romer ผู้แต่งตำรา Advanced Macroeconomics เครื่องมือหากินชิ้นสำคัญของ Corgiman และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของลูฟี่ หมวกฟาง

แต่ Roemer ที่เราคุ้นเคยคือ John Roemer เจ้าสำนัก Analytical Marxism คนนั้น

......

Roemer จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก UC Berkeley แล้วเข้าเป็นอาจารย์ประจำที่ UC Davis อย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1974-2000 กระทั่งเพิ่งย้ายไปประจำการที่ Yale University เมื่อห้าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

หากขานชื่อนักเศรษฐศาสตร์ที่ประดิษฐ์ภูมิปัญญาใหม่หรือวิธีคิดใหม่ให้แก่วงวิชาการเศรษฐศาสตร์แล้ว สำหรับผม ย่อมมีชื่อของ John Roemer อยู่ในบัญชีนั้นเป็นลำดับต้นๆ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับวิธีคิด เครื่องมือ และมุมมองต่อโลกของเขาหรือไม่ ก็ยากที่จะปฏิเสธว่างานวิชาการของ Roemer มีความแปลกใหม่ เต็มไปด้วยนวัตกรรม และมี originality สูงมาก

แน่นอนว่า งานวิชาการที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมเป็นเป้าแห่งการโต้เถียงของวงการ

Roemer เป็น marxist แต่เป็น marxist ที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อย่าง Rational choice model, Game theory และ Walrasian General Equilibrium theory มาอธิบาย 'โลก' ของ Marx เช่น ทฤษฎีว่าด้วยชนชั้น ทฤษฎีว่าด้วยการเอารัดเอาเปรียบ (Exploitation) ของนายทุนต่อแรงงาน และความไม่เท่าเทียม (Inequality) ภายในระบบทุนนิยม ฯลฯ

เป็นเรื่องยากที่คนจะจินตนาการถึงการศึกษาเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ ด้วยเครื่องมือเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีระเบียบวิธีศึกษา (Methodology) แตกต่างจาก Orthodox Marxism อย่างสิ้นเชิง แต่นั่นมิใช่ John Roemer

หนังสือสร้างชื่อของ Roemer ซึ่งบุกเบิกถาง 'ทาง' ใหม่ ของเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์คือ Analytical Foundations of Marxian Economic Theory (1981), General Theory of Exploitation and Class (1982) และ Analytical Marxism (1986)

เหตุที่ Roemer เลือกใช้คำว่า Analytical Marxism ก็เนื่องจาก เขาเห็นว่า ระเบียบวิธีศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ตามแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เช่น การสร้างทฤษฎีจากโมเดลคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรม สามารถช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์และตอบคำถามที่ Marx หรือเหล่า Marxist ตั้งไว้ได้อย่างล้ำลึกขึ้นและฟังขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญ Roemer เชื่อว่า เครื่องมือเหล่านั้นทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ตั้งอยู่บน 'ฐาน' ที่มีเหตุมีผลแข็งแกร่งและคงเส้นคงวาขึ้น

'ฐาน' ที่ว่า คือ การอธิบายปรากฏการณ์ระดับภาพรวม (เช่น ชนชั้น ระบบเศรษฐกิจ) โดยมีจุดตั้งต้นที่ 'ฐาน' ระดับจุลภาค (ในที่นี้คือ ปัจเจกบุคคล) หรือที่เราคุ้นกันในนาม Microfoundations นั่นเอง

ระเบียบวิธีศึกษาเช่นนี้ แตกต่างจากระเบียบวิธีศึกษาของ Orthodox Marxism อย่างชัดเจน

Orthodox Marxism อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นองค์รวม ไม่ได้มีจุดตั้งต้นที่ปัจเจกบุคคล หากมี 'ชนชั้น' เป็นจุดตั้งต้น ข้อสมมติในการวิเคราะห์แตกต่างจากข้อสมมติ 'สัตว์เศรษฐกิจ' แบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐาน และคำนึงถึงปัจจัยเชิงสถาบัน

จุดตั้งต้นของเรื่องเล่า วิธีการลำดับเรื่อง จุดเน้นของเรื่องเล่า และเป้าหมายของเรื่องเล่า ว่าด้วยทุนนิยมก็มีความแตกต่างกัน ทฤษฎีสร้างจากคนละ 'ฐาน' ความคิด

ประการสำคัญ ทฤษฎีมาร์กซ์มุ่งเสาะหาความจริงที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปกว่าผิวหน้าที่เห็น โดยใช้ตรรกะแบบ dialectic ที่เชื่อใน dialectic determinism, ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในตัวระบบ ซึ่งมีรากฐานจาก 'ความขัดแย้ง' ภายในตัวระบบ, และเชื่อว่าสถาบันต่างๆในสังคมเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจและอุดมการณ์ร้อยรัดอยู่

Orthodox Marxism ปฏิเสธ Methodological individualism คือ ไม่เชื่อว่าการศึกษาปรากฏการณ์ของสังคมสามารถลดรูปให้เหลือเฉพาะปัจจัยสำคัญที่กระบวนการใช้เหตุผลชี้ว่าคือแก่นแท้ได้ ความจริงไม่สามารถลดรูปให้เหลือเพียงพื้นฐานที่เล็กที่สุด (basic axiom) ที่เป็น 'ฐาน' ในการสร้างโลกความจริงขนาดใหญ่ขึ้นซับซ้อนขึ้นได้ เราไม่สามารถเข้าใจความจริงได้จากการทำความเข้าใจพื้นฐานที่เล็กที่สุดนั้น แล้วให้ลำดับเหตุผลต่อไปยังความจริงขนาดใหญ่กว่าหรือซับซ้อนกว่านั้นได้

พูดภาษาที่นักเศรษฐศาสตร์เข้าใจได้ง่ายหน่อยคือ ในบริบทนี้ ไม่เชื่อว่าปัจเจกบุคคลคือ representative agent ที่ทำให้เราเข้าใจภาพที่ใหญ่กว่าได้ เช่นนี้แล้ว วิธีคิดแบบ Microfoundations จึงไม่เป็นที่ยอมรับตั้งแต่ระดับปรัชญาพื้นฐานของมัน

ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา งานของ Roemer จึงเป็นที่โต้เถียงกันอย่างกว้างขวางและได้รับคำวิจารณ์อย่างเข้มข้นในหมู่นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ทางเลือก โดยเฉพาะเหล่านักเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ ประเด็นพื้นฐานของการโต้เถียงหนีไม่พ้นความเหมาะสมในการใช้ระเบียบวิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในการอธิบายทฤษฎีมาร์กซ์

ในระดับต่อมา คำวิจารณ์สำคัญที่ Roemer มักถูก Marxist สำนักอื่นตั้งคำถามคือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ของ Roemer ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการด้านแรงงาน (Labour process) ซึ่ง Marxist หลายสำนักเชื่อว่า เป็นต้นตอของการเอารัดเอาเปรียบในระบบทุนนิยม

ข้อสรุปของ Roemer ในเชิงทฤษฎีไปไกลถึงขั้นชี้ว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมในตลาดแรงงานไม่ใช่เงื่อนไขที่จำเป็น ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในระบบทุนนิยม หาก Roemer ให้ความสำคัญกับความไม่เท่าเทียมด้านสินทรัพย์ในฐานะเหตุของปัญหามากกว่า

ด้วยเหตุที่มิติด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายทุนกับแรงงานขาดหายไปในงานของ Roemer รวมถึง การไม่ได้สร้างทฤษฎีบนพื้นฐาน Labour theory of value ซึ่งเป็นหัวใจหนึ่งของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์

งานของ Roemer จึงมักถูกวิจารณ์ว่า ไม่ใช่งานแนว Marxist อยู่เนืองๆ

......

Woojin Lee ศิษย์เอกคนหนึ่งของ Roemer เป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการจัด conference ครั้งนี้ Woojin เพิ่งเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ล่าสุดที่สำนักหลังเขาของผม เมื่อปีที่แล้วนี้เอง

ในเอกสารประกอบการสัมมนา Woojin เขียนแนะนำผลงานและเล่าถึงมรดกที่ Roemer ทิ้งไว้ให้กับวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ รวมถึงพัฒนาการทางความคิดของ Roemer ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา

ผมขอย่นย่อคำให้การของศิษย์รัก Roemer มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

ความสนใจด้านวิชาการของ Roemer เริ่มต้นด้วยการพยายามตอบคำถามว่าด้วยระบบทุนนิยมและการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนต่อแรงงาน โดยใช้ General Equilibrium model ในการผลิตคำอธิบาย ทฤษฎีมาร์กซ์ของ Roemer จึงอยู่บนพื้นฐานของ Microfoundations

ต่อมา Roemer พยายามใช้โมเดลว่าด้วยชนชั้นของตนไปอธิบายระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มข้อสมมติว่าด้วยตลาดทุนที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect capital market) เข้าไปในโมเดล

Roemer สร้างทฤษฎีว่าด้วยการเอารัดเอาเปรียบ (Theory of Exploitation) โดยใช้ Game Theory ในการอธิบาย ข้อสรุปสำคัญที่ได้คือ รากฐานของการเอารัดเอาเปรียบในระบบทุนนิยมอยู่ที่ความไม่เท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน มิใช่ปัญหาความไม่เทียมเทียมกันในตัวกระบวนการแรงงาน

ตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา วาระวิจัยที่ Roemer สนใจมีอยู่ 3 ประเด็น คือ

หนึ่ง ทฤษฎีว่าด้วยการกระจายที่ยุติธรรม (Theory of distributive justice)

Roemer เสนอข้อเสนอว่าด้วยการกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกัน (Equality of Opportunity) ข้อเสนอเชิงนโยบายประการหนึ่งชี้ว่า สังคม(ในที่นี่ น่าจะเป็นรัฐ) ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือต่อความล้มเหลวของปัจเจกบุคคล ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าตัว แต่ไม่ควรให้ความช่วยเหลือต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของตน และอยู่ในวิสัยขอบเขตที่ตนรับผิดชอบ

ตัวอย่างเช่น รัฐควรช่วยเหลือคนตกงานเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะเป็น shock ที่ไม่คาดฝัน ที่เจ้าตัว(คนตกงาน)ไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่รัฐไม่ควรช่วยเหลือคนที่ถูกไล่ออกจากงาน เพราะไม่ขยัน ไร้ประสิทธิภาพ

(ตัวอย่างนี้ ผมยกเอง ไม่ได้เอามาจากข้อเขียนของ Woojin แต่ตรรกะของนักเศรษฐศาสตร์สายนี้เป็นอย่างนี้ ผมคงเข้าใจไม่ผิด)

สอง ทฤษฎีว่าด้วยกรรมสิทธิ์ส่วนรวมที่เป็นประชาธิปไตย (Theory of democratic public ownership)

ระบบเศรษฐกิจในฝันของ Roemer คือ สังคมนิยมแบบตลาดที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic market socialism) ซึ่งสินค้าเอกชนถูกจัดสรรผ่านกลไกตลาด โดยที่บริษัทเป็นสมบัติส่วนรวม แต่มีเป้าหมายเพื่อหากำไรสูงสุด แล้วนำกำไรมาจัดสรรแบ่งกันผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย รัฐมีบทบาทในการมีส่วนกำหนดรูปแบบและระดับการลงทุนในเศรษฐกิจ ผ่านกระบวนการวางแผนที่เป็นประชาธิปไตย เป็นต้น

สาม ทฤษฎีว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองของประชาธิปไตย (Theory of political economy in democracy)

Roemer เสนอกรอบความคิดว่าด้วยดุลยภาพที่เรียกว่า Partly Unanimity Nash Equilibrium ซึ่งเป็นดุลยภาพใน multi-dimensional policy space เพื่อใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์เศรษฐกิจการเมือง

สำหรับงานวิชาการประการหลังสุดนี้ ผมไม่เคยอ่านเลย เลยไม่รู้ว่าวิธีคิดของดุลยภาพที่ว่าเป็นอย่างไร

......

หากใช้เกณฑ์หยาบๆ ในการตัดสินว่า ใครเป็นซ้าย ใครเป็นขวา เราจะตัดสินตัวตนและผลงานของ Roemer อย่างไร เพราะเขาใช้เครื่องมือแบบขวา มาตอบคำถามแบบซ้าย และได้ข้อสรุปที่ค่อนไปทางซ้าย

จะพิพากษาใครเป็นซ้ายหรือขวา ควรดูที่วิธีทำงาน (เครื่องมือที่ใช้) หรือมุมมองต่อโลก หรืออุดมการณ์เบื้องหลังความคิดของเขากันแน่ ?

แล้วจะใช้เกณฑ์อะไร? วัดอย่างไร?

ถึงที่สุด ซ้ายหรือขวาก็เป็นเพียงสิ่งสมมติอีกอย่างหนึ่งในโลกวิชาการ ก็เท่านั้น

เป็นซ้ายหรือขวาจะไปสำคัญอะไร เพราะ Roemer ก็คือ Roemer เป็น Roemer มีคุณค่าสมบูรณ์ในตัวเอง อย่างไม่จำเป็นต้องจับยัดจัดกลุ่มให้เข้ากับฝั่งฟากไหน

...หากไม่มีคนเดิน ย่อมไม่เกิด 'ทาง'...

ไม่ว่าจะซื้อกรอบวิเคราะห์และบทวิเคราะห์ของ Roemer หรือไม่ แต่ยากที่จะปฏิเสธว่า Roemer ได้บุกเบิก 'ทาง' ใหม่ให้เราได้ใช้สมองเดินเล่นกัน

'ทาง' ที่ Roemer ถางช่วยให้เราเข้าใจระบบทุนนิยมในอีกแง่มุมหนึ่ง และเสนอแบบแปลนอีกแบบหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในอุดมคติบนรากฐานวิชาการ

ความสนุกในโลกวิชาการอยู่ตรงการเปิดใจกว้าง แล้วออกสำรวจท่องเที่ยวตาม 'ทาง' ที่หลากหลาย ที่ 'นักสร้างทาง' จำนวนมากสร้างขึ้น เช่นนี้เอง ... มิใช่หรือ?

สุขสันต์วันเกิด John Roemer ... ขอบคุณที่สร้าง 'ทาง' ใหม่ๆ มากว่า 30 ปี อย่างไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย

Tuesday, May 10, 2005

ท้องหิว ใจเหงา เข้า hemlock

รู้สึกเหมือนผมไหมครับว่า กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีที่ไป ไม่ค่อยมีที่ทางให้เลือกใช้ชีวิตได้หลากหลาย

หันซ้ายหันขวาในเมืองใหญ่ชื่อยาวเมืองนี้ ดูเหมือนว่า ทางเลือกในการใช้เวลาว่างและพักผ่อนอย่างรื่นรมย์ มีอยู่จำกัดเหลือเกิน นึกๆดูก็เห็นห้างสรรพสินค้าลอยมาเป็นลำดับแรก รูปแบบการนัดเจอเพื่อนฝูงของคนกรุงทั่วไปมักหนีไม่พ้นนัดกินข้าว ดูหนัง เดินช้อปปิ้ง

พื้นที่สีเขียวก็น้อย พิพิธภัณฑ์ก็ห่วย หอศิลปมีไม่กี่แห่ง ห้องสมุดก็ไม่ดึงดูดใจ แล้วเราจะไปคาดหวังอะไรกับคุณภาพชีวิตที่ดีและวัฒนธรรมการเรียนรู้ของผู้คน ในเมื่อขาดชุมชนทางปัญญา และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีคุณภาพ พ้นไปจากกระแสวัตถุ

ยังดีที่ช่วงหลัง เริ่มมีสถานที่ที่จัดกิจกรรมทางปัญญาหรือกิจกรรมทางเลือกมากขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ป๋วยเสวนาคาร ร้านหนังสือเดินทาง หอศิลป์ฯผ่านฟ้า(ศูนย์สังคีตศิลป์เดิม) ห้องเรวัต พุทธินันท์ ในหอสมุดกลางธรรมศาสตร์ ห้องสมุดมารวยของตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ พื้นที่ทางเลือกในการใช้เวลาว่างให้สนุกเลยค่อยๆเพิ่มขึ้น

แต่ก็ยังนับว่าน้อยมากจนเทียบไม่ได้กับเมืองใหญ่ทั่วโลก แม้เมืองเหล่านี้จะมีแสงสีจัดจ้านไม่แพ้กรุงเทพฯ แต่สำหรับคนมีรสนิยมอีกแบบก็มีพื้นที่ให้เขาจมจ่อมกับความชอบของเขาได้มากไม่แพ้กัน แม้จะมีคลับ บาร์ ห้างสรรพสินค้ามากมาย แต่ก็มีพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุด มากเสียจนเที่ยวชมไม่หวาดไม่ไหว

มองดูรอบกรุงเทพฯแล้ว คนกรุงเทพฯอย่างผมเลยมีพื้นที่ที่รู้สึกผูกผันน้อยแห่ง นอกจากธรรมศาสตร์แล้ว สถานที่ประทับใจและผูกผันที่สุดอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกันในระยะเดินถึง

เป็นตึกแถวสองชั้นห้องหนึ่งริมถนนพระอาทิตย์

เป็นสถานที่ที่ผมเอ่ยถึงบ่อยที่สุดใน blog นี้

Hemlock ครับ

......

สำหรับผม Hemlock เป็นมากกว่าร้านอาหาร แต่เป็นชุมชนทางปัญญาและวัฒนธรรมเล็กๆที่แสนงดงามและหลากหลาย

นอกจากอาหารจะอร่อยถูกปากแล้ว 10 ปีที่ผ่านมา Hemlock ไม่เคยไร้กิจกรรมทางปัญญา ไล่เรียงตั้งแต่การตั้งวงคุยเรื่องปรัชญา ถกปัญหาบ้านเมือง เปิดตัวหนังสือใหม่ ไปจนถึงงานแสดงภาพถ่าย งานศิลปะ และงานแสดงดนตรีเพราะๆ

ที่สำคัญ พี่ตู๋กับพี่เนตร สองเจ้าของร้านยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการพลิกฟื้นชุมชนบางลำพูให้เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เป็นชุมชนแห่งแรกๆในกรุงเทพฯ ที่สร้างเครือข่ายจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและทางปัญญา เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า วัฒนธรรมไม่ใช่ของไร้ชีวิตตายซากที่กระทรวงวัฒนธรรมหมกมุ่นเฝ้าปกปักรักษา หากวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่รอบตัวเราและรอบชุมชนเรา ... สนุก มีชีวิต มีสาระ มีภูมิปัญญา มีความเป็นมา มีความรื่นรมย์สุนทรีย์ เข้าถึงได้ และเป็นของเรา

สำหรับผม Hemlock เป็นชุมชนที่มีเสน่ห์แบบยากจะอธิบาย สมาชิกขาประจำก็หลายหลาก ทั้งอาชีพการงาน ทั้งวิธีคิดวิธีมองโลก และความสนใจ ตึกแถวสีขาวห้องเล็กๆ ห้องนี้ จึงเป็นเหมือนโลกที่กว้างใหญ่ มีอะไรให้ค้นหาและเรียนรู้มากมาย แถมเป็นการค้นหาและเรียนรู้อย่างสนุกรื่นรมย์ ... เคล้าแอลกอฮอล์นิดๆ พอให้สมองทำงานและคุยกันออกรส

ยิ่งดึก วงสนทนายิ่งออกรส การโต้เถียงยิ่งเผ็ดมัน แถมยังเป็นโอกาสได้กินฟรีเพราะเจ้าของร้านเริ่มเมาแล้ว (ฮา)

ผมมีความสุขเสมอยามก้าวขาเข้า Hemlock นะครับ เป็นความสุขแบบเดียวกับห้วงเวลานี้ ยามเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วพาตัวเองเข้าสู่ชุมชน blog ของพวกเรา

คล้ายกันที่ทั้งสองต่างเป็นชุมชนทางปัญญาที่หลากหลายและมีเสน่ห์ เป็นสถานที่นั่งพักผ่อนแบบได้สาระอย่างสนุกรื่นรมย์ ที่สำคัญ สมาชิกใจกว้าง รักความแตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างงดงามลงตัว

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว Hemlock ยังเป็นสถานที่แห่งความหลังของผมครับ

ผมรู้จัก Hemlock มาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี แต่นานๆทีถึงจะมาใช้บริการ มาครั้งแรก เพราะมีเพื่อนแนะนำว่า ร้านนี้อาหารอร่อย บรรยากาศดี จัดร้านสวยงาม มีรสนิยม ...

ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับพาสาวมากินข้าว (ฮา)

เช่นนี้แล้ว ครั้งแรกที่ย่างเท้าเข้า Hemlock จึงเป็นภารกิจว่าด้วยหัวใจล้วนๆ มิใช่อะไรอื่น คือมาดูลาดเลาและหามุมโรแมนติกสำหรับพาสาวมากินข้าวน่ะครับ

นี่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลยนะครับเนี่ย อย่าไปฟ้องพี่เนตร-พี่ตู๋นะ

อนิจจา ... ภารกิจพาสาวมากินข้าวก็ล้มเหลว ในอีกไม่กี่วันต่อมา

ไม่ใช่เพราะสาวไม่ยอมมา แต่เพราะผมไม่กล้าเอ่ยปากชวน (ฮา)

......

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี

แม้ภารกิจของหัวใจจะล้มเหลว แต่การได้มาสัมผัสลิ้มรสบรรยากาศของ Hemlock ก็ทำให้ติดอกติดใจ อยากมาอีก

จนกลายมาเป็นขาประจำ Hemlock กับเขาตอนเข้าเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์

แรกๆ ก็มาในฐานะเป็นผู้ติดตามอาจารย์จ้วนและพรรคพวก ที่นี่เป็นที่ประจำของอาจารย์จ้วน เพราะสนิทสนมกับพี่เนตร-พี่ตู๋ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ อดีต อมธ. และเป็นเพื่อนซี้กับอาจารย์พี่หมู สมาชิกคนสำคัญของก๊วนเรา

ตอนนั้น ก๊วนดึกของเรา มีอาจารย์จ้วนเป็นหัวหน้าเด็ก แล้วก็มีพี่หนุ่ม พี่นุช กับผม ตอนผมเข้ามาใหม่ พี่ต้นไปเรียนต่อ ผมก็รับช่วงเป็นเพื่อนแก้เหงาให้อาจารย์จ้วนต่อ ส่วนพี่หมูยังนั่งเขียนวิทยานิพนธ์อยู่ที่อังกฤษ ย้อนไปสมัยผมเข้าเป็นอาจารย์ใหม่ๆ กลุ่มอาจารย์รุ่นใหม่ในคณะยังมีไม่กี่คน ไม่เหมือนขณะนี้ ที่มีกันร่วม 15 คน

จากผู้ติดสอยห้อยตาม ผมก็เริ่มรู้จักกับขาประจำคนอื่นของ Hemlock มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการคุ้นหน้า มายิ้มให้ พยักหน้าทักทาย จนกระทั่งปักหลักนั่งคุยไปทั่ว สักพักก็ปีกกล้าขาแข็งไม่ต้องอาศัยอาจารย์จ้วนนำทาง ท้องหิวใจเหงาเมื่อไหร่ก็มุ่งตรงมาเอง

ไม่มีครั้งไหนที่มา Hemlock แล้วไม่เจอคนรู้จัก ต้องหาคนร่วมวงจนได้ ... แหงสิ ก็รู้จักเจ้าของร้านนี่หว่า ถ้าไม่เจอใคร ยังไงก็มีคนนั่งคุย

พูดถึงขาประจำ Hemlock นี่ หลากหลายวงการมากนะครับ ตั้งแต่ พวกอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ก็พวกธรรมศาสตร์ ที่เห็นบ่อยๆ ก็มีก๊วนเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เรื่อยไปจนถึงนักเขียน บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ นักร้อง นักแสดง พิธีกร ศิลปิน นักธุรกิจ นักดนตรี ช่างภาพ กระทั่งนักการเมือง ฯลฯ

เป็นความโชคดีที่ได้เปิดหูเปิดตาเปิดสมองตัวเอง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนหลายวงการ และเพื่อนอาจารย์ต่างคณะ

เร็วๆนี้ เกือบมีโอกาสได้ไปปฏิบัติภารกิจบางประการที่ไม่คาดฝัน เผอิญไม่ได้อยู่เมืองไทย เลยเข้าร่วมไม่ได้ ไม่อย่างนั้น คงได้มีอะไรสนุกๆมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จุดเริ่มต้นของเรื่องราวไม่คาดฝันนั้น ก็คงมีที่มาจาก Hemlock นี่แหละ

......

ชีวิตช่วงหลัง ผมผูกผันกับ Hemlock มากทีเดียว เพราะที่นี่เป็นที่พักพิงใจยามเหนื่อยล้าจากการทำงานและชีวิต เป็นที่นัดพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง เลี้ยงรับ เลี้ยงส่ง ตกลงธุรกิจ ปรึกษาเรื่องความรัก ฯลฯ

มีอยู่ช่วงหนึ่งผมได้มีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวเรื่องย้ายธรรมศาสตร์ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่มอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ 30 กว่าคน ก็ได้เห็นการลงแรงอย่างเอาจริงเอาจังของพี่ตู๋ในงานนี้ แม้มุมมองจะต่างกันบ้างบางเรื่อง แต่สิ่งที่เราฝันอยากเห็นธรรมศาสตร์เป็นไม่ต่างกัน พี่ตู๋หมดทุนส่วนตัวไปหลายสตางค์ทีเดียว กระนั้น จากการที่ผมได้เข้าไปอยู่ในสนามรบนั้นตั้งแต่ช่วงกลางเป็นต้นมา ผมก็ได้เห็นขนาดของหัวใจอันใหญ่โตและน่าเคารพของพี่ตู๋

ความผูกผันของผมกับ Hemlock เลยแน่นหนามากขึ้นไปอีก

Hemlock นี่เปลี่ยนชีวิตผมหลายอย่างนะครับ

กินเหล้ากินเบียร์เป็นครั้งแรกก็ที่นี่

มีหนังสือรวมเล่มของตัวเองครั้งแรกก็เพราะที่นี่

จะว่าไป ถือว่าผมเริ่มต้นชีวิตการขีดๆเขียนๆเป็นจริงเป็นจังก็เพราะ Hemlock นี่แหละ เช่นเดียวกับพี่หมูของผม

เหตุก็เพราะผมและพี่หมูเจอพี่โญที่นี่เป็นครั้งแรก

พี่โญก็เป็นขาประจำ Hemlock เหมือนกัน พี่หมูกับอาจารย์ภราดรรู้จักพี่โญก่อน เจอกันที่นี่นั่นเอง ทั้งคู่เป็นคนแนะนำให้ผมรู้จักพี่โญในดึกคืนหนึ่ง ตอนผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย

พี่หมูนี่เข้าไปเขียนใน open ก่อนผม ตั้งแต่แกจบปริญญาเอกกลับมาใหม่ๆ

ความหลังของพี่หมูกับพี่โญ เป็นอย่างนี้ครับ

วันหนึ่ง ขณะพี่หมูนั่งทำงานอยู่ เสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานก็ดังขึ้น

ปลายสายคือพี่โญ เป้าหมายคือชวนเป็นคอลัมนิสต์ ซึ่งเข้าใจว่าคงได้ยินเรื่องราวของพี่หมูแถวๆ Hemlock นั่นแหละ

(คอลัมนิสต์ open จำนวนมาก ตกเป็นของพี่โญที่ Hemlock นี่เอง)

พี่หมูก็เลยนัดพี่โญให้มาเจอกันที่ธรรมศาสตร์ เพื่อคุยรายละเอียด

ถึงวันนัด เมื่อพี่โญเปิดประตูห้องเข้าไป เสียงทักทายประโยคแรกจากปากพี่หมูก็คือ

"ไอ้เหี้ย มึงเองเหรอ !"

คือทั้งคู่เจอกันที่ Hemlock มาแล้วหลายครั้ง รู้หน้าค่าตา ไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนาม พี่หมูไม่เคยรู้ว่า นี่คือบรรณาธิการภิญโญผู้โด่งดังแบบลำบากๆ ข้างพี่โญก็ไม่รู้ว่านี่คืออาจารย์อภิชาต เจ้าของวิทยานิพนธ์สั่นสะเทือนแบงก์ชาติ

พูดถึงบรรณาธิการภิญโญแล้ว ก็อดรำลึกถึงยอดบรรณาธิการ ช่างทำหนังสือดีอีกคน ที่วนเวียนอยู่แถวนี้ไม่ได้

พี่แป๊ด ระหว่างบรรทัดครับ

เริ่มจากคุ้นหน้าคุ้นตากันก่อน จนตอนหลังถึงได้รู้ว่าพี่แป๊ดเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ และยิ่งทึ่งหนักไปอีกเมื่อรู้ว่า สำนักพิมพ์ของแกมีพนักงานประจำคนเดียว ... คือตัวเอง !

มืออาชีพมากครับ ลองไปหาหนังสือของสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดดูได้ว่ามืออาชีพและละเมียดละไมปานใด กระทบไหล่เขานี่เล่มโปรดผมเลยนะครับ อ่านแล้วไม่จุใจไปหาหนังสือที่พี่แป๊ดเป็นบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์อื่นอย่างมติชนต่อก็ได้ ... เคยโดนหรือยัง ?

ตอนรู้ใหม่ๆว่า พี่แป๊ดเป็นบรรณาธิการระหว่างบรรทัดนี่ ไม่รู้และไม่ได้สังเกตว่า สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดเป็นคนทำนิยายภาพ Turn left, Turn right (ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ผู้ชายเลี้ยวขวา) ของ Jimmy Liao ภาคภาษาไทย

หนังสือในดวงใจของผมเล่มหนึ่งเลยครับ ... มีความหลังครับ มีความหลัง

มารู้ตอนหลังแล้วนี่ ต้องชื่นชมทันทีเลยครับ คลาสสิกมาก ... mass production ยักษ์ใหญ่อย่างนานมี ปั๊มออกมามาก แต่ทำได้ไม่ใกล้เคียงกับสำนักพิมพ์เล็กๆอย่างระหว่างบรรทัดเลยนะครับ

ครั้งแรกที่บอกพี่แป๊ดไปว่าชอบหนังสือเล่มนี้มาก

นอกจากแกจะหล่นคำพูดว่า "ไม่น่าเชื่อ ! อ่านหนังสือแบบนี้ด้วยเหรอ?" แล้ว ผมยังจำสีหน้าแกได้ติดตาเลยครับ

สีหน้าตกใจประมาณเห็นมูราคามิหันมาเขียนหนังสือแนวแอ๊คชั่นล้างโลก หรือเห็นคำ ผกา ขวัญใจแกเปลี่ยน มาเขียนคอลัมน์แทน ฮ.นิกฮูกี้ ใน GM Plus ยังไงยังงั้น

คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจนะครับ ... ผมก็มีหัวใจกับเขาเหมือนกัน แม้บางห้วงยามจะถูกคนอื่นขโมยไปเก็บไว้บ้างก็ตาม (วิ๊วววว...)

......

กลับบ้านนอกมาได้เกือบสามเดือนแล้ว คิดถึง Hemlock มากเลยครับเนี่ย

คิดถึงทั้งอาหาร ทั้งบรรยากาศ และพี่ๆเพื่อนๆ

ไว้กลับเมืองไทยเมื่อไหร่ ขอเชิญชวนเพื่อนๆ ชุมชน blog แห่งนี้ ไปพบปะสังสรรค์กันที่ Hemlock นะครับ

ผมกับคุณ Grappa นั่งรอแถวนั้นเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วน corgiman นี่ต้องขอวีซ่าก่อน one life ต้องรอให้ขึ้นมาเมืองกรุง ด้าน 'กระต่ายน้อย' เสร็จจากภารกิจเล็มหญ้า(อ่อน)แถวข้าวสารคงปลีกตัวมาร่วมแจมได้

แล้วท่านจะรู้ว่า ร้านอาหารที่ทำให้อิ่มทั้งท้อง ทั้งสมอง เรื่อยไปจนถึงหัวใจ มีอยู่จริง !

Sunday, May 08, 2005

คุยเล่น

ชิบหายแล้วครับ !

เมื่อคืนผมฝันถึงปริเยศ ... ครั้งแรกในชีวิตเลยนะครับที่ฝันถึงคนไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า (ฮา) กระทั่งหน้าตาก็ไม่เคยเห็น

เอาใหญ่แล้วครับท่านผู้ชม มันบุกมาเถียงกับผมกระทั่งในฝัน

ผมเลยรู้ตัวว่าได้กลายเป็นโรค blog ขึ้นสมองไปซะแล้ว ท่าทางต้องแยกทางเดินกับปริเยศสักพักหนึ่ง ให้เขาได้มีเวลาไปเขียนห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ฉบับปริเยศ ได้คร่ำครวญถึงสาวๆบ้าง (ฮา)

โชคดีที่ในฝันยังไม่ถึงขนาดขึ้นภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วลายตาไปด้วยตัวอักษรจาก blog ผม แล้วทันใด หน้าจอก็ refresh เปลี่ยนเป็นเนื้อความจาก blog ปริเยศมาเถียงด้วย แต่ในฝันมีคุณลูฟี่ หมวกฟาง เป็นตัวเดินเรื่อง

เกิดปริเยศตัวจริงหน้าเหมือนคนในฝันผมขึ้นมาจริงๆนี่ ไม่เป็นแล้วครับครูบาอาจารย์ คิดว่าไปหากินทางอื่นจะรุ่งกว่า

แรงดลใจในฝันคงมาจากการที่เมื่อวานคุณลูฟี่ หมวกฟาง ซึ่งเพิ่งเดินทางไปฝึกวิทยายุทธ์เพิ่มเติมบนเกาะอันห่างไกล ได้เข้ามาแสดงความเห็นใน blog ผมเป็นครั้งแรก หลังจากชวนมาหลายครั้ง (เล่นตัวจริงๆ)

อย่างว่าละครับ ผู้ชายชวน คุณลูฟี่หมวกฟางก็มักอิดออดอย่างนี้ ไม่เหมือนยามสาวๆเอ่ยปาก ถึงไหนถึงกัน ตอนคุณลูฟี่ หมวกฟางเขียนแสดงความเห็นว่า มีทัศนะเหมือนคุณปริเยศหลายเรื่อง ผมก็นั่งอมยิ้มอยู่ในใจ ... รู้จักปริเยศน้อยไปเสียแล้ว นึกขำจนเก็บไปฝัน

ไว้วันหลังจะจับสองคนนี้มาเถียงกัน สนุกแน่ครับ ผมมั่นใจว่าจะดุเดือดกว่าผมเถียงกับปริเยศหลายเท่า

ไม่ต้องมาถามผมนะว่า คุณลูฟี่ หมวกฟางคือใคร จ้างก็ไม่บอก บอกได้แค่ว่า เขาคืออาจารย์หนุ่มที่มีรัศมีแห่งความอบอุ่นแผ่รอบตัว หัวกระไดห้องไม่เคยแห้ง เป็นขวัญใจนักศึกษา(สาวๆ)อันดับหนึ่ง เป็นผู้ที่เรานำสมญาของเขามาตั้งเป็นชื่อกลุ่ม ขนาดเสือน้อยในคราบกระต่ายขาวขวัญใจวัย 17 ยังเทียบไม่ติดอ่ะครับ คิดดูเองแล้วกัน

......

วันนี้ผมรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากพุง เพราะเพิ่งเขียนวิทยานิพนธ์บทที่สามจบไป

งานหลักๆ ตั้งแต่กลับมาบ้านนอกเมื่อสองเดือนก่อนก็คือ นั่งทำบทนี้เป็นหลักละครับ จนกระทั่งวันนี้ร่างแรกก็เสร็จเสียที

ช้ากว่าแผนการที่วางไว้สัปดาห์หนึ่ง ... ไม่แย่เกินไปนัก

ตอนนี้ผมมีร่างสามบทแรกอยู่ในมือ อาจารย์สองคนวิจารณ์สองบทแรกแล้ว ยังดีที่ให้แก้ไขแค่ปลีกย่อย ไม่เปลี่ยนโครงสร้างรากฐานของงาน ส่วนอาจารย์อีกคนยังขี้เกียจ มัวแต่ไปเที่ยว เพราะเทอมนี้เขา leave

ถึงวันนี้ก็ถือว่างานเสร็จไปประมาณ 55-60% แล้ว อีกสามเดือนที่เหลืออยู่ มีหน้าที่จัดการเขียนร่างบทที่สี่ให้เสร็จ หากสำเร็จ งานก็จะคืบหน้าเป็น 75-80% ซึ่งหลังจากให้อาจารย์ทั้งสามวิจารณ์ร่างและรับฟังคำชี้แนะแล้ว ผมก็จะกลับเมืองไทยไปนั่งแก้ไข ปรับปรุง และต่อเติม เนื้อหาให้สมบูรณ์และเนียนขึ้น หลังจากนั้น ก็จะกลับมาสอบปากเปล่าครั้งสุดท้าย เป็นอันจบสิ้นกระบวนการ

ตั้งใจจะแขวนสตั๊ดให้ได้ก่อนสิ้นปีปฏิทินนี้

นี่เป็นแผนการตามความฝันนะครับ ทำได้จริงหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ต้องดูกันต่อไป ฝันไว้ก่อน

นั่งทำงานติดๆกันมาพักหนึ่งแล้ว เลยว่าจะหยุดพักผ่อนช่วงสั้นๆ บ้าง แถมพรุ่งนี้หลังส่งร่างบทที่สามให้อาจารย์อ่านแล้ว อาจารย์ทั้งสองของผมก็จะควงคู่ไป conference ที่อาร์เจนตินาสัปดาห์หนึ่ง จากนั้น สัปดาห์ที่สามของพฤษภา เทอม spring ก็ปิดแล้ว จังหวะต่างๆ ช่างชวนให้อู้งานเหลือเกิน

เร็วๆ นี้ ผมอาจหายตัวไปเยือน Texas สักพัก เพื่อเยี่ยมเยียนอดีตอาจารย์ในคณะที่ผมเคารพรักอย่างสูงตามคำเชิญชวนของท่าน และหากไม่มีอะไรผิดพลาด อีกไม่นาน น้องชายผมคนหนึ่ง อดีตดาราหญ่ายในตำนานหนังไทย :) วางแผนจะมาเยี่ยมเยียนถึงถิ่น คงได้ไปเที่ยวแถวบอสตัน-นิวยอร์กกัน หลังจากสองปีที่แล้ว ได้ไปร่อนกับเจ้าเสือน้อยมารอบหนึ่งแล้ว

คาดว่าปลายเดือนกรกฎาคม คงเสนอหน้าพบปะเหล่า blogger ทั้งหลาย ที่ hemlock ได้

......

พูดถึง hemlock ผมมีเรื่องเจ็บช้ำน้ำใจมากเรื่องหนึ่ง

คือเมื่อวันพุธที่ผ่านมา กลุ่มเสือไปเลี้ยงส่ง 'ดาวดวงนั้น' ที่ hemlock ร้านประจำของพวกเรา

สายรายงานว่า นอกจากหมดไวน์ไปหลายขวดแล้ว ...

hemlock ยามไร้ปิ่น ปรเมศวร์ กลับมีบอลลูน !

ได้ข่าวว่าดาวสารพัดดวง ขอถ่ายรูปกันมันไปเลย นี่ถ้าไม่กลัวบาปนะ จะเอารูปแฟนใหม่น้องบอลลูนที่ปาปารัซซี่ส่งให้มาโพสต์ให้ดูทั่วกัน เผอิญตอนนี้ท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อยู่เลยมิกล้า กลัวนรกจะกินกบาล เพราะตอนนี้นรกก็กินไปครึ่งกบาลแล้ว

......

อ้อ ก่อนจบการคุยเล่นไร้สาระในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับแฟนเอฟเวอร์ตันด้วยนะครับ ที่ได้ไปแข่ง UCL ฤดูกาลหน้า อย่างสมศักดิ์ศรี สมกับที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งฤดูกาล

อ้าว โทษทีครับ ลืมไปว่าแถวนี้ไม่มีแฟนท็อฟฟี่สักคน มีแต่แฟนหงส์

งั้นขอถอนคำพูดก็แล้วกัน

ตอนนี้เริ่มมีกระแสจากแฟนหงส์ที่ทำใจไม่ได้ อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ถามชี้ช่องให้ corgiman ลดดีกรีของสัญญาที่ให้ไว้กับน้องๆ

ผมอยากบอกคุณ ratio scripta ว่า คุณจะดูถูก corgiman เกินไปแล้วนะครับ

ตั้งแต่คบกันมาหลายปี corgiman เป็นคนพูดคำไหนเป็นคำนั้นตลอด ไม่มีบิดพลิ้ว ไม่มีคืนคำ

ไม่เคยลดดีกรีคำสัญญากับผองเพื่อน

ไม่มีวันที่ corgiman จะทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองขนาดนั้นหรอกครับ

การันตีได้เลย (ฮา)

ตอนนี้ได้ข่าวว่าที่เมืองไทย ทั้งแฟนปืน แฟนผี แม้กระทั่งพวกไม่ดูบอล หันมาเชียร์หงส์แดงให้คว้าแชมป์ในคืนวันที่ 25 พฤษภา กันหมดแล้ว

ซ้อเจ็ดยังรายงานด้วยว่า หากหงส์ทำสำเร็จ จะมีคนบินด่วนกลับเมืองไทยอีกสองคน - คนหนึ่งบินจากบ้านนอก ส่วนอีกคนบินจากเกาะอันห่างไกล (ฮา)

Friday, May 06, 2005

จากนิธิถึงเรื่องซ้ายๆขวาๆ (2) : มุมมองอีกซีกโลก

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์โง่ๆคนหนึ่ง ผมอ่านความคิดเห็นของคุณปริเยศในหัวข้อ 'คุยกับปิ่นเรื่องซ้ายๆ(ไม่ใช่มองซ้ายมองขวา)' แล้ว เลยค่อนข้างสับสนและงงงวย ในลำดับความคิดและตรรกะของคุณปริเยศ

นี่นั่งอ่านอย่างตั้งใจมาสองรอบแล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ระบบคิดของคุณปริเยศเป็นอย่างไร ต่างจากงานเขียนของปริเยศในอดีตที่ผมเข้าถึงได้ไม่ยาก และรู้สึกว่าระบบคิดดูจะมีความชัดเจนและคงเส้นคงวากว่านี้มาก แม้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่วิธีคิดปริเยศก็ชัดเจนและคงเส้นคงวาพอที่ผมจะวิจารณ์ต่อได้

แต่สำหรับงานชิ้นนี้ ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ... แต่นั่นเป็นความรู้สึกของผมคนเดียวนะครับ

และที่ผมรู้สึกเช่นนี้ ไม่ใช่ป้ายความผิดให้ปริเยศนะครับ อาจเป็นความผิดของผมเองก็ได้

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นไปได้จากหลายสาเหตุ ขอยกมาสักสองสาเหตุแล้วกันนะครับ

เหตุแรก อาจเป็นเพราะ ผมยังไม่ลุ่มลึกพอที่จะติดกลุ่มคนน้อยกว่าน้อยที่จะสามารถเข้าใจความคิดของปริเยศ ดังที่คุณฤษณรสเปรียบเปรยไว้

เหตุที่สอง ผมกลับนึกถึงวรรคทองอมตะนิรันดร์กาลของ Amore Vincit ที่มักร้องหา 'clear/acceptable/logically consistent methodology' แต่ที่ต่างก็คือ ในประเด็นเช่นนี้ คณิตศาสตร์ช่วยอะไรไม่ได้ แต่การตั้งต้นด้วยการเมืองว่าด้วย 'คำนิยาม' คือคำตอบของความต่าง

เป็นไปได้ว่า คุณปริเยศอาจเขียนด้วยตรรกะที่คงเส้นคงวาในตัวเอง ขณะที่ผมก็อ่านบทความของคุณปริเยศด้วยตรรกะอีกชุดหนึ่ง ซึ่งต่างกัน อ่านจากคนละโลก ด้วยความเข้าใจคนละแบบ ต่างวิจารณ์อีกฝ่ายจากการนั่งอยู่ในหัวสมองของตัวเอง ไม่ได้เข้าไปนั่งในหัวสมองของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วผลิตคำวิจารณ์

ดูเผินๆ เหมือนเรากำลังคุยหรือแลกเปลี่ยนเรื่องเดียวกัน แต่เอาเข้าจริง เรากำลังคุยคนละเรื่อง แม้จะมีคำศัพท์ชุดเดียวกันเป็นศูนย์กลาง

ประเด็นนี้สำคัญนะครับ เพราะถ้าจะเถียงกันต่อได้ ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ไอ้ที่เราเรียก ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายก้าวหน้า ทุนนิยม สังคมนิยม ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ ชุมชน และเสรีนิยม เนี่ย เรากำลังคุยเรื่องเดียวกันหรือเปล่า นิยามมันเหมือนหรือคล้ายกันไหม มิเช่นนั้น ก็เถียงกันไม่จบ กลายเป็นว่า คนหนึ่งปกป้องทุนนิยม อีกคนปฏิเสธทุนนิยม แต่...อ้าว ... ทุนนิยมที่คุยๆกันอยู่ เนื้อหามันต่างกัน หมายความต่างกัน นี่หว่า แค่เรียกเหมือนกันเฉยๆ

และเท่าที่ผมอ่านคุณปริเยศ และอ่านอาจารย์นิธิ ผมว่า นิยามที่ทั้งสองให้ต่อคำเหล่านี้มีความแตกต่างกัน รวมทั้งนิยามที่ผมให้ด้วยอีกคน เช่นนี้แล้ว การที่แต่ละฝ่ายต่างมีจุดยืนอยู่คนละมุมโลก เถียงกันอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องและไม่จบ

อาการงงๆ แบบไม่รู้จะเถียงอะไร เถียงอย่างไร เริ่มต้นที่ตรงไหน ก็เลยเกิดขึ้น เหมือนที่เกิดกับผมตอนนี้ มันเลยไม่สนุกอย่างที่ควรจะเป็น เพราะยังไม่ได้ปรับฐานเข้าหากันก่อน เพื่อจะชำแหละความต่างในขั้นต่อไป

แล้วการคุยถึงนิยามของศัพท์พวกนี้เพื่อปรับฐานเข้าหากัน มันก็เป็นหนังเรื่องใหญ่และยาว เกินกว่าจะเขียนคุยกันใน blog ที่มีเป้าหมายเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องเรื่อยๆมาเรียงๆ อย่างไปดูชุดชั้นในผู้หญิงกับแฟนมา (ฮา)

ไว้ผมกลับเมืองไทย นัดเจอกันที่ hemlock จะดีกว่า

เขียนถึงตรงนี้ คุณนิติรัฐคงเซ็ง แล้วอุทานว่า อ้าว ใช้การตลาดหลอกกูให้รออ่าน แล้วไหงเสือกลงจากเวทีซะเฉยๆ

ยังไม่ลงครับ แม้ไม่แลกหมัด แต่ขอเต้นฟุตเวิร์คให้ชม 3-4 ประเด็น เป็นการเก็บตกปฏิกริยาของปริเยศ ดังนี้

คงเริ่มจากความผิดพลาดพลั้งเพลอของผม ที่การ์ดตกเปิดช่อง ดันไปเรียก ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายก้าวหน้า ให้คนที่มีความหลังกับมันได้ยิน (ฮา) ลืมไปว่าคุณปริเยศเป็นโรคภูมิแพ้ประเด็นว่าด้วยวิชาการและนักวิชาการ ได้อ่านทีไรเป็นต้องวิจารณ์ ผมเลยมักไม่ค่อยได้ทำงานทำการ ต้องมัวมานั่งเถียง เรียนไม่จบ เปิดเมมเลี้ยงชดเชยด้วย (ฮา)

คือคำพวกนี้เป็นคำสร้างปัญหานะครับ ถึงมีเกณฑ์ที่เห็นพ้องต้องกัน มันก็ subjective มากในการบอกว่าใครเป็นซ้ายใครเป็นขวา หรือใครซ้ายกว่าใคร แม้กระทั่งเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินความเป็นซ้ายเป็นขวาก็ยัง subjective ขึ้นกับกาลเทศะ ขึ้นกับสภาพสังคม ขึ้นกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ขึ้นกับสาขาวิชา ฯลฯ เช่น ซ้ายขวาทางเศรษฐศาสตร์ก็ต่างจากซ้ายขวาทางการเมือง ซ้ายขวาในสังคมไทยก็ต่างจากซ้ายขวาในสังคมอเมริกา เป็นต้น

ซ้ายหรือขวา มันขึ้นกับใครยืนข้างใคร แล้วหันหน้าไปทางไหน

นอกจากลำบากในการตีตราแล้ว ยังไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ถูกตีตราเท่าไหร่ มันทำลายบุคลิกปัจเจกที่สมบูรณ์ในแต่ละคน ซึ่งอาจต่างจาก stereotype ที่สังคมกำหนด

ปกติถ้าเขียนบทความหรืองานวิชาการ ผมจะหลีกเลี่ยงไม่ตีตราคนด้วยคำพวกนี้ แต่เห็นเป็นการตอบคำถามใต้เนื้อความ เลยไม่ระวังในการใช้เท่าที่ควร เลยเลือกใช้เกณฑ์หยาบๆนี้ เพราะคิดว่าคงช่วยให้ผู้อ่านพอเข้าใจความคิดผมได้ในเนื้อที่จำกัดแบบไม่ต้องอรรถาธิบายยาว กลายเป็นว่า ต้องมาเขียนยืดยาวหนักกว่าเดิม

ผมเห็นเหมือนคุณปริเยศว่า คำเหล่านี้เป็น 'วาทกรรม' แต่มันก็เป็น 'วาทกรรม' เช่นเดียวกับคำอื่นๆ เช่น ความรักชาติ ความจงรักภักดี เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มาตรฐานทางวิชาการ ฯลฯ

'วาทกรรม' มิใช่ 'ความจริงแท้' แต่ผู้ใช้มีอำนาจในการตีความ และมีอุดมการณ์อยู่เบื้องหลัง การเมืองว่าด้วย 'คำนิยาม' จึงเป็นประเด็นสำคัญในโลกวิชาการว่า นิยามแต่ละคำมันเคลื่อนผ่านข้ามเวลาอย่างไร มีการต่อสู้ช่วงชิงคำนิยามระหว่างกลุ่มอย่างไร สถานะของคำนิยามกระแสหลักถูกสถาปนาขึ้นอย่างไร ถูกท้าทายโดยใคร และมี implication อะไรต่อสังคม

นิยามของซ้ายและขวาก็เป็นวาทกรรมที่ถูกนำไปใช้หรือรับใช้อะไรบางอย่างเสมอมา ไม่ใช่เพียงถูกนำไปรับใช้สังคมนิยมอย่างที่ปริเยศตั้งข้อสังเกตเพียงเท่านั้น แน่นอนว่า ผู้สมาทานสังคมนิยมบางคนอาจใช้ แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็บอกเราว่า ความเป็นซ้าย และ/หรือ ความเป็นคอมมิวนิสต์ (เลือกกันเองนะครับว่าใครจะใช้ 'และ' ใครจะใช้ 'หรือ')ก็ถูกกลุ่มอำนาจนิยมใช้เป็นเครื่องมือทำลาย 'ฝ่ายก้าวหน้า' ในอดีต

มาถึงคำว่า 'ฝ่ายก้าวหน้า' นี่ก็เป็นอีกวาทกรรมหนึ่ง

ผมไม่คิดว่าคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า จะต้องดูถูกคนที่คิดไม่เหมือนตนไปด้วยพร้อมกันตรงไหน สำหรับคำนี้ ผมคิดเหมือนคุณฤษณรสมากกว่าว่า หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่เดิม ผมมองคล้ายกับคู่ตรงข้ามของพวกอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ชอบหรือไม่ไว้ใจการเปลี่ยนแปลง

ใช่ที่คุณฤษณรสบอกว่า ไม่แน่ว่าการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องนำไปสู่ความก้าวหน้าหรือไม่ อาจนำไปสู่การถอยหลังได้ แต่การเปลี่ยนแปลงมันมีพลังของการเดินหน้าอยู่คู่กัน จะเดินได้จริงหรือไม่ จะเดินไปข้างหน้าได้ไกลขนาดไหน ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เมื่อเผชิญกับโลกความจริงและข้อจำกัดต่างๆ แต่มันมี potential progress แฝงอยู่ในตัวด้วย

หลายคนคงคิดว่า ถ้าไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าแล้ว ทำไมเราจึงควรคิดเปลี่ยนแปลงแต่แรก ยิ่งถ้าไปถามพวกมาร์กซิสต์ยิ่งเชื่อมั่นกับการเปลี่ยนแปลงว่านำไปสู่ความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์ แม้ผลสัมฤทธิ์อาจไม่เกิด แต่มันมีพลังขับเคลื่อน และความขับเคลื่อนนี่เองที่เป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงให้ประสบผลสำเร็จในเวลาต่อๆไป และความก้าวหน้าในความหมายนี้มันไม่ใช่แค่การพัฒนาด้านวัตถุหรือสิ่งรูปธรรมเท่านั้น

ผมไม่คิดว่าการตั้งคำถามตีความแบบเล่นคำของคุณปริเยศเกี่ยวกับฝ่ายก้าวหน้าจะมีประโยชน์นัก เพราะตรรกะที่คุณปริเยศใช้มันค่อนข้างเป็นขาวดำ ไม่เปิดช่องให้ความเห็นอื่นมีพื้นที่หายใจ เช่น เชื่อว่าฝ่ายก้าวหน้ามีชุดความคิดหนึ่ง แล้วถ้าคนอื่นมีชุดความคิดที่แตกต่างคือพวกไม่ก้าวหน้า ฝ่ายก้าวหน้าเอง(แล้วแต่จะนิยามอย่างไร)ก็ใช่ว่าจะคิดเช่นนั้น เกรงว่าปริเยศจะคิดไปเอง เพราะเอาเข้าจริง ในฝ่ายก้าวหน้าในความหมายของพวกเชื่อในการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้มีเอกภาพ แต่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในประเด็นว่าจะเปลี่ยนอย่างไร

ผมคิดว่างานเขียนชิ้นนี้ของปริเยศใช้ตรรกะแบบขาว-ดำ มากทีเดียว

คือความคิดทางสังคมศาสตร์มันไม่ได้เป็น ขาว-ดำ หรือ 0-1 ไม่ใช่ว่า ถ้าวิจารณ์ตลาดคือพวกปฏิเสธทุนนิยมแล้วเอารัฐ มันไม่ใช่ตรรกะแบบบุชที่ว่า you are either with us or against us. มันมีช่องว่างระหว่างกลางอยู่มาก มีพื้นที่มากมายกว้างขวาง คนที่ตั้งคำถามกับทุนนิยม อาจไม่ใช่เพื่อปฏิเสธ แต่เพื่อปฏิรูป หรือคิดว่ากติกาแบบทุนนิยมมันไม่พอ หรือจะมีคนตั้งคำถามเพื่อปฏิเสธมันเลยก็ได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันหลากหลายกว่านั้น

ผมมักรู้สึกว่า วิธีคิดทำนองนี้เป็นปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์ที่มักถูกฝึกมาให้คิดแบบวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์สายอื่น เลยมักดึงข้อสรุปไปจบลงด้วยความคิดแบบทวิภาวะเสมอ ว่ามันต้อง ใช่/ไม่ใช่ เอา/ไม่เอา จริง/ไม่จริง ไม่ค่อยเป็นพหุนิยมเหมือนนักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ที่ความคิดกระเดียดไปทาง post-modern มากกว่า (หมายถึงโดยเปรียบเทียบน่ะครับ)

ในแง่นี้ ผมเลยไม่รู้สึกเหมือนคุณปริเยศว่า อาจารย์นิธิเคลมว่าชุดความคิดของแกเป็นความจริงแท้ ที่อยู่เหนือคนอื่น ผมเห็นว่าหน้าที่ที่แกทำตลอดก็คือการแสดงความเห็น แต่การแสดงความคิดของคนๆหนึ่งไม่ได้แปลว่าเขาถือตัวเองเป็นเจ้าโลกเจ้าจักรวาล แล้วดูถูกความเห็นคนอื่นว่าด้อยกว่า หรือพยายามผูกขาดความจริง

ผมเองกลับรู้สึกว่า เอาเข้าจริง นักเศรษฐศาสตร์เองต่างหาก ที่มักลืมตัว พลาดสรุปแบบนั้นเอาบ่อยๆ และชอบชี้หน้านักสังคมศาสตร์สายอื่นเอาง่ายๆ ก็ด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ทำให้หลงไปว่าตัวเข้าใจความจริงแท้

พื้นฐานแห่งความแตกต่างในประเด็นนี้อยู่ตรงที่ 'ทีท่าต่อความจริง' ผมคิดว่านักประวัติศาสตร์สายอาจารย์นิธิไม่ได้มองประวัติศาสตร์เป็นความจริงแท้ แต่เป็นเรื่องเล่าหนึ่ง ซึ่งอำนาจในการตีความและอำนาจในการเล่าเรื่อง อยู่ที่ผู้เล่าหรือผู้เขียน ใครเล่าเขียนได้ฟังขึ้นกว่าคนก็อาจจะเชื่อมากกว่า ก็เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าความคิดที่คนเชื่อมากกว่าคือความคิดที่ถูกเสมอ ท่าทีต่อความจริงของผู้ถูกฝึกในเป็นนักประวัติศาสตร์สายนี้จึงแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างมาก

ผมเองกลับไม่รู้สึกว่าอาจารย์นิธิหรือแม้แต่หมอประเวศชอบทำตัวเป็นผู้ผูกขาดความจริงแต่อย่างใด การเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อเป็นคนละเรื่องกับการดูถูกความคิดคนอื่นนะครับ มันไม่ใช่ขาว-ดำ 0-1 แบบนั้น คนๆหนึ่งสามารถเชื่อมั่นในความเชื่อตัวเองอย่างแรงกล้าได้พร้อมๆกับเปิดกว้างรับฟังความเชื่อของคนอื่นๆ

ถ้าจะผูกขาดความจริง ต้องแบบทักษิณ 1 ที่พยายามสถาปนาความจริงในแบบของตนให้เป็นความจริงสูงสุด และคุกคามคนที่นิยามความจริงในทางที่ต่างจากที่ตนนิยาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ในทางบั่นทอนความจริงแบบของตน

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่อยากชวนคุยคือ ผมเห็นว่า อาจารย์นิธิไม่ได้ปฏิเสธตลาดโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ได้คิดว่าตลาดเป็นพระศรีอาริย์ต่างหาก และการปฏิเสธตลาดของนิธิก็มิใช่การหันไปหารัฐ เพราะเอาเข้าจริง นิธิเห็นว่า มันอาจจะน่ากลัวพอๆกัน

ผมตีความงานของอาจารย์นิธิแบบนี้มากกว่า คือไม่ไว้ใจทั้ง 'ตลาด' และ 'รัฐ'

จะเยียวยาปัญหาที่เกิดจากสองสถาบันนี้อย่างไร สองสถาบันนี้สร้างปัญหาในแง่มุมต่างๆอย่างไร ส่งผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในสังคมอย่างไร เหล่านี้เป็นโจทย์ที่อาจารย์นิธิชอบตั้งคำถาม ซึ่งทางออกของอาจารย์นิธิคือ หันไปหา 'ชุมชน' ในฐานะอีกสถาบันทางเลือกหนึ่ง

บทความในช่วงหลัง อาจารย์นิธิแสดงความเชื่อมั่นในกติกากำกับเศรษฐกิจที่เรียกว่า 'ชุมชน' ในฐานะทางออกที่อยู่ระหว่างรัฐกับตลาด ผมคิดว่าปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักให้ความสนใจในการศึกษากลไกการทำงานของสถาบัน 'ชุมชน' หรือ 'ทุนสังคม' มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เรื่องนี้คงคุยกันได้อีกยาวในวันหน้า และคุณ one life คงตอบคำถามได้เป็นอย่างดี เจ้าพ่อทุนสังคมครับคนนั้น

แต่ก็อีก การถกกันเรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจ การเมืองว่าด้วย 'คำนิยาม' ของคำว่า 'ชุมชน' และ 'ทุนสังคม' และจำเป็นที่จะต้องคุยกันเรื่องคำนิยามให้ชัดเจนกันแต่ต้น เพื่อให้เถียงกันต่อเป็นคนละเรื่องเดียวกันได้ดีและมีประโยชน์ขึ้น

เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ผมขอสรุปประเด็นปลีกย่อยที่เหลืออีกบางประเด็นสั้นๆ

หนึ่ง ผมไม่คิดว่าประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ต้องแลกกัน ความเป็นธรรมมีผลเพิ่มพูนประสิทธิภาพได้ เรื่องนี้ผมเคยเขียนพื้นฐานความคิดไว้แล้ว ขอไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้ และใช่ว่า พวกที่เรียกตัวเองว่าซ้ายใหม่บางกลุ่มจะไม่ให้ความสนใจประเด็นว่าด้วยประสิทธิภาพบนเส้นทางสู่ความเท่าเทียมเลย แต่กลับเป็นประเด็นสำคัญในโลกวิชาการฝ่ายซ้ายให้ความสนใจมากในขณะนี้

สอง สังคมนิยมมักถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ เพราะสร้างจากพื้นฐานที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์

จริงๆ ต้องบอกว่า ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกขัดเกลาด้วยระบบทุนนิยมถึงจะถูก และทุนนิยมเสรีในความฝันของหลายคน โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ ก็เป็น utopia ไม่แพ้สังคมนิยมในฝันของหลายคน

สังคมนิยมจะเกิดขึ้นได้จริง ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมนิยม อันนี้ต้องคุยกับอาจารย์สุวินัย ถ้าได้อ่าน series ที่แกเพิ่งเขียนจบไปสามเล่ม เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึกจะถกเถียงกันต่อได้สนุก (อย่าลืมอ่านคำนิยมในเล่มสามนะครับ - เพราะผมเขียนเอง (ฮา))

สาม มีหลายประโยคของคุณปริเยศที่ผมอ่านแล้วรู้สึกแปร่งๆ เช่น นักคิดฝ่ายซ้ายเท่ากับนักบวชในยุคมืดของยุโรป, ยิ่งนักวิชาการซ้ายมากเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่าเขาไม่เข้าใจโลก, การต่อต้านฉันทมติแห่งวอชิงตันโดยปฏิเสธรัฐ, และการทำเช่นนั้นเป็นความไร้เดียงสา ฯลฯ ไม่ค่อยเข้าใจตรรกะที่อยู่เบื้องหลังข้อความเหล่านี้น่ะครับ

ประเด็นสุดท้าย ที่เขียนเถียงกับคุณปริเยศนี่ ไม่ใช่เพื่อปกป้องนิธิ อย่างที่คุณบุญชิตฯ หรือคุณปริเยศมักคิดว่านิธิแตะไม่ได้นะครับ

ผมไม่เคยเชื่อว่าการเคารพนับถือคือการหลับหูหลับตาชื่นชมปกป้องกันไปเรื่อย และผมก็ไม่เคารพใครที่ 'คน' แต่เคารพที่ 'ความ' ยิ่งอาจารย์นิธิด้วยนี่ ยิ่งไม่รู้จักไม่เคยคุยกัน

คุณปริเยศวิจารณ์อาจารย์นิธิก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะมองมุมปริเยศ ตีความแบบปริเยศ แต่เมื่อผมตีความต่างและคิดต่าง ก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ผู้วิจารณ์เช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผมไม่ปฏิเสธว่า ผมเป็นคนที่มีความคิดสมาทานแนวคิดของอาจารย์นิธิ ซึ่งก็มีเหตุมีผลที่จะอธิบายได้เช่นกัน

จริงๆ ถ้าจะถกเถียงกันให้ได้คุณภาพ มันต้องคุยกันที่ตัวงานแต่ละชิ้นว่าทำไมปริเยศตีความแบบนี้ ทำไมผมตีความแบบนี้ หรือต้องทำงานวิจัยศึกษาความคิดของอาจารย์นิธิกันเลย ตอนนี้ผมก็อาศัยเขียนจากความทรงจำและความรู้สึก การถกเถียงมันก็ไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร

แต่ทั้งนี้ใช่ว่าวงวิชาการไทยทั่วไปจะเป็นอย่างนี้เสมอนะครับ เพราะที่คุณบุญชิตฯและคุณนิติรัฐเขียนแสดงความเห็นไว้ใน blog ของปริเยศเป็นเรื่องจริง

ประสบการณ์ผมในวงวิชาการไทยตลอดห้าปีที่ผ่านมาพบว่า วงวิชาการไทยก็ไม่ต่างอะไรจากสังคมไทย จะไปคาดหวังวัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ เมื่ออาจารย์เด็กวิจารณ์อาจารย์ผู้ใหญ่ทีไร น่วมกลับมาทุกที แพ้เพราะฝีมือไม่ว่ากัน แต่ที่แพ้เพราะถูกชกใต้เข็มขัดนี่รับไม่ไหว ตำแหน่งวิชาการสูงๆ ไม่ได้แปลว่าจะมีวัฒนธรรมวิชาการอยู่ในใจ บางคนเป็นขาประจำด่าทักษิณแต่ทำตัวบ้าอำนาจยิ่งกว่าทักษิณอีก

ผมอ่านความเห็นคุณนิติรัฐแล้วอินมาก โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

"...ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าวงวิชาการเปิดกว้าง ถ้ามันจะเปิดกว้างจริงก็คงกว้างแต่ในนาม ในภาพลักษณ์ ในความเคยชินที่เรารับรู้กันมาเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง นักวิชาการบางคนก็พยายามเป็น authority ในศาสตร์ของตน

ผมได้ยินมาว่า นักวิชาการคนหนึ่งที่ตอนนี้ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง มีกิตติศัพท์ในการสร้างตนให้เป็น authority

เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จนได้เห็นเองครับ ถึงเริ่มเชื่อว่าจริง

อาจารย์ผมคนนึงที่ผมถือว่าเป็น 'ครู' แม้อายุระหว่างผมกะเค้าอายุจะห่างกันแค่สิบปีเอง เค้าเจอกับตัวเต็มๆครับ กับการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ

ครูของผมจบปริญญาเอกกลับมาไฟแรงมาก ไปร่วมอภิปรายกับแกบนเวทีเดียวกันเข้า เถียงกันไปกันมา

ต่อมาก็ยังมีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแกอีกต่างกรรมต่างวาระ

ปัจจุบันนักวิชาการท่านนั้นก็ยังคงผูกปีกลายเป็นคู่กัดกับ 'ครู' ของผมคนนี้อยู่

ระบบการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการบ้านเราไม่เอื้อให้เราวิพากษ์หรือเห็นแย้งกับนักวิชาการรุ่นใหญ่เท่าไรนัก ยิ่งจะเถียงกับรุ่นใหญ่ในสาขาเดียวกันแล้ว หากตระหนักถึงความเจริญก้าวหน้าในอนาคตนี่ยิ่งต้องพึงระวัง

ดูๆไปมันก็ไม่ต่างกับระบบราชการเท่าไร

ประเด็นนี้ยิ่งน่ากังวลต่อไปหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเต็มตัว

ออกนอกระบบ อาจทำให้เราอิสระทางการบริหาร งบประมาณ บุคลากร ผมเห็นด้วย

แต่ในส่วนของอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ผมเกรงว่าเราจะเปลี่ยนจากเดิมที่ 'ไม่อิสระจากนักการเมือง' มาเป็น 'ไม่อิสระจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์รุ่นใหญ่' แทน

ไม่ขัดข้องกับการประเมินผลงานในแต่ละปีเลยครับ (เดี๋ยวคุณปริเยศจะหาว่าผมเป็นพวกหอคอยงาช้างไม่ยอมเขียนงาน ๕๕๕)

แต่ผมกังวลกับการกลั่นแกล้งกันด้วยข้อหาที่อันตรายที่สุดในวงราชการไทย คือ ข้อหา 'เจ้านายหมั่นไส้'

เอาเข้าจริง จะว่าไปแล้วไม่ว่าจะวงการอะไรก็ตามในบ้านเราคงหนีไม่พ้นกับปัญหาทำนองนี้

เราไม่แยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว เราไม่เปิดโอกาสให้เถียงกัน เราเถียงกันแล้วเราไม่จบแต่เราเอาไปแค้นเคืองกันต่อ

บางที... มันอาจฝังลึกจนเกินเยียวยาแล้วครับ"


นี่คือปัญหาพื้นฐานของวงวิชาการไทย ที่สำคัญ พวกที่มักแยกแยะเรื่องส่วนตัวจากเรื่องงานไม่ได้ คือพวกรุ่นใหญ่ที่เวียนว่ายอยู่ในวงวิชาการมาเกิน 20 ปี เป็นเรื่องน่าเศร้านะครับกับความไร้วุฒิภาวะทางวิชาการ โดยการแสดงความใจแคบให้เห็นอยู่เนืองๆ มิหนำซ้ำ การใช้อำนาจกลั่นแกล้งด้วยความไม่ชอบหน้าพบเห็นได้ทั่วไป น้ำเน่าไม่แพ้วงการอื่นๆ

วันหลังจะชวนคุยเรื่องนี้ต่างหาก โดยเฉพาะเรื่องระบบประเมินของพนักงานมหาวิทยาลัยที่เตรียมตัวสำหรับการออกนอกระบบ ซึ่งอาจกระทบเสรีภาพทางวิชาการในหมู่คนรุ่นผม

ถ้าวันใดที่ผมตัดสินใจก้าวขาออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เหตุผลประการเดียวก็เพราะสิ้นความอดทนกับความเหลวแหลกพวกนี้ละครับ

และถึงวันนี้ พูดตรงไปตรงมาก็คือ ใช่ว่าวันนั้นจะเป็นไปไม่ได้

Thursday, May 05, 2005

จากนิธิถึงเรื่องซ้ายๆขวาๆ (1) : ปริเยศอีกแล้วครับท่าน

ปริเยศอีกแล้วครับท่าน !

เมื่อวันก่อน ผมอุตส่าห์เขียนเรื่องเบาๆ ชวนคุยสนุกๆ แต่ปริเยศก็หาเรื่องทิ้งระเบิดไว้ตอนแสดงความเห็น วรรคหนึ่งเขียนว่า

“ ... สำหรับนักวิชาการทางสังคมศาสตร์รุ่นเดอะที่มีผลงานวิชาการและงานเขียน สม่ำเสมอ ผมนึกถึง 3คน

1) ชัยอนันต์ สมุทวณิช
2) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
3) นิธิ เอียวศรีวงศ์

ขออภัยที่ผมจะบอกว่า ใน3คน นิธิเชยที่สุด ช่วงปี2542-2546 นิธิเสนอแนวทางลดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกันต่อต้านแนวทางเสรีนิยม ผมเองคิดว่าสิ่งที่นิธิสนับสนุนและคัดค้านคือสิ่งเดียวกัน(โดยสาระสำคัญ) สะท้อนว่านิธิไม่เข้าใจเรื่องระบอบทุนนิยมจริงๆ และยิ่งงานเขียนเรื่องกบฎชาวนาในงานเขียนอธิบายเรื่อง 3จังหวัดภาคใต้ ผมรู้สึกว่านิธิเป็นพวกอนาธิปัตย์(ต่อต้านรัฐ)ยิ่งกว่าพวกชิคาโก”


ผมอ่านแล้ว เลยมีความเห็นโต้ตอบไปว่า

“ ... แปลกใจที่ปริเยศบอกว่าอาจารย์นิธิเชยที่สุด ทั้งที่ผมคิดว่าอาจารย์นิธิหัวก้าวหน้าที่สุดและซ้ายที่สุดในหมู่สามคนนี้

แถมเข้าทำนองยิ่งแก่ยิ่งซ้าย เหมือนอาจารย์ป๋วย อาจารย์เสน่ห์ ด้วยซ้ำ

จริงๆ ถ้าวัดความเชยแล้ว แหะๆ ... ผมว่าอาจารย์ผมต่างหากที่เชยที่สุด ถ้าเทียบกันสามคนนี้นะครับ

ผมเองเห็นต่างจากการตีความของคุณปริเยศ เพราะผมคิดว่าอาจารย์นิธิเข้าใจระบบทุนนิยมรอบด้านที่สุด เข้าใจมากกว่านักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

หลายบทความของอาจารย์นิธิทำเอาผมรู้สึกตะลึงว่าวิจารณ์เศรษฐศาสตร์ได้ถึงกึ๋น และจับเค้นแก่นเศรษฐศาสตร์ได้อย่างน่าทึ่ง (เหมือนที่คุณนิติรัฐรู้สึกตอนอ่านบทความเรื่องหลักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์เมื่ออาทิตย์ก่อน)

การวิจารณ์แก่นของวิถีคิดและวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์นิธิลึกซึ้งคมคายกว่าอาจารย์เกษียรที่ผมเคารพรักมาก คมคายกว่าในแง่ที่อาจารย์นิธิทำตัวเสมือนคนที่เข้าไปนั่งในหัวนักเศรษฐศาสตร์แล้ววิจารณ์ออกมาจาก position นั้น ได้เข้มข้นกว่าอาจารย์เกษียร

คือคุณปริเยศไม่ได้ขยายความความคิดตัวเอง ผมเลยไม่อยากวิจารณ์ต่อมาก เพราะมันตั้งต้นด้วยความไม่ชัด โดยเฉพาะที่บอกว่า

"นิธิเสนอแนวทางลดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกันต่อต้านแนวทางเสรีนิยม ผมเองคิดว่าสิ่งที่นิธิสนับสนุนและคัดค้านคือสิ่งเดียวกัน(โดยสาระสำคัญ) สะท้อนว่านิธิไม่เข้าใจเรื่องระบอบทุนนิยมจริงๆ"

ผมอยากรู้ว่า คุณปริเยศคิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันตรงไหน แนวทางเสรีนิยมของคุณปริเยศหมายความว่าอย่างไร จริงหรือที่ว่านิธิสนับสนุนและคัดค้านสิ่งเดียวกัน และระบบทุนนิยมจริงๆที่ว่ามันหน้าตาเนื้อหาเป็นอย่างไร

เห็นวันนี้เป็นวันหยุดที่เมืองไทย เลยหาอะไรให้ปริเยศทำหน่อย เดี๋ยวปริเยศจะมัวแต่หมกมุ่นเชียร์หงส์เพื่อเมม(ฮา)

ผมคิดว่าอาจารย์นิธิเป็นเสรีนิยม เช่นเดียวกับอาจารย์รังสรรค์ และผมเองก็ด้วย แต่ความเป็นเสรีนิยม(ทางการเมือง ทางสังคม ทางอุดมการณ์)ไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันกับการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ อย่างการเปิดเสรี แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

หยาบที่สุด เสรีนิยมทางการเมืองและทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน ถ้าละเอียดขึ้นหน่อย เสรีนิยมทางเศรษฐกิจไม่ควรถูกนิยามแคบๆแค่การเดินตามรอยนโยบายเสรีนิยมใหม่

ตัวอย่างรูปธรรมแบบหยาบที่สุดคือพวกเดโมแครตกลางๆ ที่เชื่อในเสรีนิยม เช่น pro chioce ให้คนเลือกทำแท้งได้ แต่ก็สนับสนุนบทบาทภาครัฐด้านสวัสดิการสังคมมากกว่าส่งเสริมกลุ่มทุนหรือกลไกตลาดดังเช่นพวกรีพับลิกันกลางๆ

สำหรับผม นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งกันเอง ผมเองก็เป็นเสรีนิยมโดยสิ้นข้อสงสัย แต่ก็ไม่ได้สมาทานนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบทุนนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ประเด็นอยู่ตรงนี้ สำหรับคนเป็นเสรีนิยม บั้นปลายอยู่ที่ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเป็นเสรีอย่างแท้จริง หลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง (ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ, norm ของสังคม ฯลฯ)ให้คิด ทำ พูด ตัดสินใจ ได้อย่างเสรี เป็นตัวของตัวเอง และความเป็นปัจเจกมีความสำคัญ

ในแง่หนึ่ง รากและแก่นของเสรีนิยมมันผูกติดกับความเท่าเทียมด้วย อันนี้คนมักไม่ค่อยพูดถึง

รัฐจึงควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวให้น้อย ไม่คุกคามเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและทางการเมือง เพราะแต่ละคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจ

แต่ในด้านเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมมีส่วนบั่นทอนความเป็นเสรีนิยมที่แท้ เพราะมันไม่ทำให้คนหลุดพ้นไปสู่ความเป็นไทแก่ตัวเองได้ แต่สร้างพันธนาการทางเศรษฐกิจ ผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่ทางหนึ่งดูเหมือนคนมีเสรี และอีกทางเหมือนไม่เสรี

งงมั้ย ต้องงงแหละ เอาไว้วันหลังมาขยายความแล้วกันนะ ประเด็นอยู่ที่รูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมมันทำให้คนไม่เป็นเสรีอย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบหยาบๆ จากคำพูดหนึ่งที่ว่า in capitalist society you have a choice; being exploited or being unemployed

เลือกนะมันได้เลือก แต่ได้เลือกอะไรละ ประมาณนี้

ยิ่งทุนนิยมเติบใหญ่ ทุนยิ่งกระจุก expliotation ยิ่งมาก และคนถูก exploit ก็ยิ่งมาก และยิ่งทุนกระจุก อำนาจต่อรองของคนแต่ละกลุ่มต่างกันมาก นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อาจไม่ได้ส่งผลดีตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทำนาย (จริงๆมี argument อื่นอีกมาก)

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางเศรษฐกิจในทุกแง่นะ นั่นเป็นอีกประเด็นว่ารัฐควรจะเข้ามายุ่งอะไร ไม่ควรยุ่งอะไร มีเกณฑ์อย่างไร

แต่อย่างน้อย การปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมเสรี โดยไร้รัฐอย่างสิ้นเชิงไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา

แม้แต่ในความคิดของคนที่เป็นเสรีนิยม(บางคน)ก็ตาม

ทั้งนี้ การที่รัฐมีบทบาททางเศรษฐกิจ มิใช่ว่า คนจะไม่สามารถตัดสินใจทางเศรษฐกิจด้วย free choice อีกต่อไป มันไม่ใช่ either state or market

จริงๆในความหมายกว้าง เสรีนิยมทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับระบบทุนนิยมด้วยซ้ำ โมเดลของ economic governance ใหม่ๆ อย่าง market socialism หรือ democratic planning system เป็นประเด็นที่น่าคุยต่อ

โลกของระบบวางแผนส่วนกลางโดยรัฐอย่างสมบูรณ์ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกับทุนนิยมเสรีอย่างสมบูรณ์

เขาชอบว่า socialism เป็น utopia จริงๆ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก walrasian economics ก็ถูกสร้างบนรากฐานของ Utopian capitalism มิใช่ capitalism ในโลกแห่งความจริง

เช่นนี้แล้ว ..........”

ตามคาด ปริเยศ ก็เปิด blog ชวน ‘คุยกับปิ่นเรื่องซ้ายๆ(ไม่ใช่มองซ้ายมองขวา)’

และคุณปริเยศกลับมาขยายความต่อเพื่อความชัดเจนขึ้นใน blog แห่งนี้ว่า

“ ... ผมอยากจะสื่อว่า "นิธิเสนอแนวทางลดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกันต่อต้านแนวทางทุนนิยมเสรี ผมเองคิดว่าสิ่งที่นิธิสนับสนุนและคัดค้านคือสิ่งเดียวกัน(โดยสาระสำคัญ) สะท้อนว่านิธิไม่เข้าใจเรื่องระบอบทุนนิยมจริงๆ"

จริงๆแล้วที่ผมต้องการสื่อคือ นิธิเสนอแนวทางจำกัดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกัน นิธิต่อต้านระบบทุนนิยมเสรีสมัยใหม่ ไม่ใช่ตัวความคิดเสรีนิยม ...”


เรื่องราวมันก็มีที่มาที่ไปเช่นนี้แล

อ่านปฏิกริยาของคุณปริเยศต่อคำวิจารณ์ของผมแล้ว ผมเลยขอแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

...ในตอนต่อไป