pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Thursday, May 05, 2005

จากนิธิถึงเรื่องซ้ายๆขวาๆ (1) : ปริเยศอีกแล้วครับท่าน

ปริเยศอีกแล้วครับท่าน !

เมื่อวันก่อน ผมอุตส่าห์เขียนเรื่องเบาๆ ชวนคุยสนุกๆ แต่ปริเยศก็หาเรื่องทิ้งระเบิดไว้ตอนแสดงความเห็น วรรคหนึ่งเขียนว่า

“ ... สำหรับนักวิชาการทางสังคมศาสตร์รุ่นเดอะที่มีผลงานวิชาการและงานเขียน สม่ำเสมอ ผมนึกถึง 3คน

1) ชัยอนันต์ สมุทวณิช
2) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
3) นิธิ เอียวศรีวงศ์

ขออภัยที่ผมจะบอกว่า ใน3คน นิธิเชยที่สุด ช่วงปี2542-2546 นิธิเสนอแนวทางลดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกันต่อต้านแนวทางเสรีนิยม ผมเองคิดว่าสิ่งที่นิธิสนับสนุนและคัดค้านคือสิ่งเดียวกัน(โดยสาระสำคัญ) สะท้อนว่านิธิไม่เข้าใจเรื่องระบอบทุนนิยมจริงๆ และยิ่งงานเขียนเรื่องกบฎชาวนาในงานเขียนอธิบายเรื่อง 3จังหวัดภาคใต้ ผมรู้สึกว่านิธิเป็นพวกอนาธิปัตย์(ต่อต้านรัฐ)ยิ่งกว่าพวกชิคาโก”


ผมอ่านแล้ว เลยมีความเห็นโต้ตอบไปว่า

“ ... แปลกใจที่ปริเยศบอกว่าอาจารย์นิธิเชยที่สุด ทั้งที่ผมคิดว่าอาจารย์นิธิหัวก้าวหน้าที่สุดและซ้ายที่สุดในหมู่สามคนนี้

แถมเข้าทำนองยิ่งแก่ยิ่งซ้าย เหมือนอาจารย์ป๋วย อาจารย์เสน่ห์ ด้วยซ้ำ

จริงๆ ถ้าวัดความเชยแล้ว แหะๆ ... ผมว่าอาจารย์ผมต่างหากที่เชยที่สุด ถ้าเทียบกันสามคนนี้นะครับ

ผมเองเห็นต่างจากการตีความของคุณปริเยศ เพราะผมคิดว่าอาจารย์นิธิเข้าใจระบบทุนนิยมรอบด้านที่สุด เข้าใจมากกว่านักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

หลายบทความของอาจารย์นิธิทำเอาผมรู้สึกตะลึงว่าวิจารณ์เศรษฐศาสตร์ได้ถึงกึ๋น และจับเค้นแก่นเศรษฐศาสตร์ได้อย่างน่าทึ่ง (เหมือนที่คุณนิติรัฐรู้สึกตอนอ่านบทความเรื่องหลักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์เมื่ออาทิตย์ก่อน)

การวิจารณ์แก่นของวิถีคิดและวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์นิธิลึกซึ้งคมคายกว่าอาจารย์เกษียรที่ผมเคารพรักมาก คมคายกว่าในแง่ที่อาจารย์นิธิทำตัวเสมือนคนที่เข้าไปนั่งในหัวนักเศรษฐศาสตร์แล้ววิจารณ์ออกมาจาก position นั้น ได้เข้มข้นกว่าอาจารย์เกษียร

คือคุณปริเยศไม่ได้ขยายความความคิดตัวเอง ผมเลยไม่อยากวิจารณ์ต่อมาก เพราะมันตั้งต้นด้วยความไม่ชัด โดยเฉพาะที่บอกว่า

"นิธิเสนอแนวทางลดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกันต่อต้านแนวทางเสรีนิยม ผมเองคิดว่าสิ่งที่นิธิสนับสนุนและคัดค้านคือสิ่งเดียวกัน(โดยสาระสำคัญ) สะท้อนว่านิธิไม่เข้าใจเรื่องระบอบทุนนิยมจริงๆ"

ผมอยากรู้ว่า คุณปริเยศคิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันตรงไหน แนวทางเสรีนิยมของคุณปริเยศหมายความว่าอย่างไร จริงหรือที่ว่านิธิสนับสนุนและคัดค้านสิ่งเดียวกัน และระบบทุนนิยมจริงๆที่ว่ามันหน้าตาเนื้อหาเป็นอย่างไร

เห็นวันนี้เป็นวันหยุดที่เมืองไทย เลยหาอะไรให้ปริเยศทำหน่อย เดี๋ยวปริเยศจะมัวแต่หมกมุ่นเชียร์หงส์เพื่อเมม(ฮา)

ผมคิดว่าอาจารย์นิธิเป็นเสรีนิยม เช่นเดียวกับอาจารย์รังสรรค์ และผมเองก็ด้วย แต่ความเป็นเสรีนิยม(ทางการเมือง ทางสังคม ทางอุดมการณ์)ไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันกับการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ อย่างการเปิดเสรี แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

หยาบที่สุด เสรีนิยมทางการเมืองและทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน ถ้าละเอียดขึ้นหน่อย เสรีนิยมทางเศรษฐกิจไม่ควรถูกนิยามแคบๆแค่การเดินตามรอยนโยบายเสรีนิยมใหม่

ตัวอย่างรูปธรรมแบบหยาบที่สุดคือพวกเดโมแครตกลางๆ ที่เชื่อในเสรีนิยม เช่น pro chioce ให้คนเลือกทำแท้งได้ แต่ก็สนับสนุนบทบาทภาครัฐด้านสวัสดิการสังคมมากกว่าส่งเสริมกลุ่มทุนหรือกลไกตลาดดังเช่นพวกรีพับลิกันกลางๆ

สำหรับผม นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งกันเอง ผมเองก็เป็นเสรีนิยมโดยสิ้นข้อสงสัย แต่ก็ไม่ได้สมาทานนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบทุนนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ประเด็นอยู่ตรงนี้ สำหรับคนเป็นเสรีนิยม บั้นปลายอยู่ที่ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเป็นเสรีอย่างแท้จริง หลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง (ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ, norm ของสังคม ฯลฯ)ให้คิด ทำ พูด ตัดสินใจ ได้อย่างเสรี เป็นตัวของตัวเอง และความเป็นปัจเจกมีความสำคัญ

ในแง่หนึ่ง รากและแก่นของเสรีนิยมมันผูกติดกับความเท่าเทียมด้วย อันนี้คนมักไม่ค่อยพูดถึง

รัฐจึงควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวให้น้อย ไม่คุกคามเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและทางการเมือง เพราะแต่ละคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจ

แต่ในด้านเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมมีส่วนบั่นทอนความเป็นเสรีนิยมที่แท้ เพราะมันไม่ทำให้คนหลุดพ้นไปสู่ความเป็นไทแก่ตัวเองได้ แต่สร้างพันธนาการทางเศรษฐกิจ ผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่ทางหนึ่งดูเหมือนคนมีเสรี และอีกทางเหมือนไม่เสรี

งงมั้ย ต้องงงแหละ เอาไว้วันหลังมาขยายความแล้วกันนะ ประเด็นอยู่ที่รูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมมันทำให้คนไม่เป็นเสรีอย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบหยาบๆ จากคำพูดหนึ่งที่ว่า in capitalist society you have a choice; being exploited or being unemployed

เลือกนะมันได้เลือก แต่ได้เลือกอะไรละ ประมาณนี้

ยิ่งทุนนิยมเติบใหญ่ ทุนยิ่งกระจุก expliotation ยิ่งมาก และคนถูก exploit ก็ยิ่งมาก และยิ่งทุนกระจุก อำนาจต่อรองของคนแต่ละกลุ่มต่างกันมาก นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อาจไม่ได้ส่งผลดีตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทำนาย (จริงๆมี argument อื่นอีกมาก)

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางเศรษฐกิจในทุกแง่นะ นั่นเป็นอีกประเด็นว่ารัฐควรจะเข้ามายุ่งอะไร ไม่ควรยุ่งอะไร มีเกณฑ์อย่างไร

แต่อย่างน้อย การปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมเสรี โดยไร้รัฐอย่างสิ้นเชิงไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา

แม้แต่ในความคิดของคนที่เป็นเสรีนิยม(บางคน)ก็ตาม

ทั้งนี้ การที่รัฐมีบทบาททางเศรษฐกิจ มิใช่ว่า คนจะไม่สามารถตัดสินใจทางเศรษฐกิจด้วย free choice อีกต่อไป มันไม่ใช่ either state or market

จริงๆในความหมายกว้าง เสรีนิยมทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับระบบทุนนิยมด้วยซ้ำ โมเดลของ economic governance ใหม่ๆ อย่าง market socialism หรือ democratic planning system เป็นประเด็นที่น่าคุยต่อ

โลกของระบบวางแผนส่วนกลางโดยรัฐอย่างสมบูรณ์ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกับทุนนิยมเสรีอย่างสมบูรณ์

เขาชอบว่า socialism เป็น utopia จริงๆ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก walrasian economics ก็ถูกสร้างบนรากฐานของ Utopian capitalism มิใช่ capitalism ในโลกแห่งความจริง

เช่นนี้แล้ว ..........”

ตามคาด ปริเยศ ก็เปิด blog ชวน ‘คุยกับปิ่นเรื่องซ้ายๆ(ไม่ใช่มองซ้ายมองขวา)’

และคุณปริเยศกลับมาขยายความต่อเพื่อความชัดเจนขึ้นใน blog แห่งนี้ว่า

“ ... ผมอยากจะสื่อว่า "นิธิเสนอแนวทางลดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกันต่อต้านแนวทางทุนนิยมเสรี ผมเองคิดว่าสิ่งที่นิธิสนับสนุนและคัดค้านคือสิ่งเดียวกัน(โดยสาระสำคัญ) สะท้อนว่านิธิไม่เข้าใจเรื่องระบอบทุนนิยมจริงๆ"

จริงๆแล้วที่ผมต้องการสื่อคือ นิธิเสนอแนวทางจำกัดบทบาทของรัฐในขณะเดียวกัน นิธิต่อต้านระบบทุนนิยมเสรีสมัยใหม่ ไม่ใช่ตัวความคิดเสรีนิยม ...”


เรื่องราวมันก็มีที่มาที่ไปเช่นนี้แล

อ่านปฏิกริยาของคุณปริเยศต่อคำวิจารณ์ของผมแล้ว ผมเลยขอแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

...ในตอนต่อไป