pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Saturday, April 23, 2005

นักวิชาการในฝัน (4) : ขอคุยกับคุณปริเยศหน่อย

หมายเหตุก่อนอ่าน

โปรดอ่านสามตอนแรกก่อนนะครับ

นักวิชาการในฝัน (1):กรอบความคิด
นักวิชาการในฝัน (2):มุมมองของปลาในน้ำ
นักวิชาการในฝัน (3):ฝันของผม

.........................


ตั้งชื่อตอนเลียนแบบลุงไมค์ ไมเคิล ไรท์ แห่งมติชนเขาน่ะครับ เห็นขอคุยกับใครๆไปทั่ว

จริงๆ ก็อยากถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น เรื่องบทบาทนักวิชาการกับคุณปริเยศมานาน ตั้งแต่ครั้งแวะเวียนโพสต์ความเห็นในเวปผู้จัดการรายวัน โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใต้บทความอาจารย์รังสรรค์

คุณปริเยศเป็นคนเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย ดุจเดียวกับคุณชูวิทย์ตั้งใจขุดคุ้ยตำรวจ (ฮา)

จนกระทั่ง คุณ BF เขียน blog เรื่อง Blog ของ Professors ผมได้เข้าไปอ่าน เห็นคุณปริเยศโพสต์ความเห็นอย่างเอาการเอางาน (เช่นเคย)

อ่านแล้ว คนชอบเถียงอย่างผม คันมือคันไม้มาก อยากร่วมวง แต่พอเห็นคุณปริเยศภาคไม่ไว้หน้าใครแล้ว กลัวเหลือเกิน เพราะหมัดหนักมาก คิดว่าผลีผลามเข้าไปร่วมวง คงยังไม่เหมาะ เพราะควรจะคุยกันยาวๆ ค่อยๆไล่เรียงลำดับความคิด รออารมณ์ดีๆ จะดีกว่า เพราะต่างคนต่างหวังดีกับวงวิชาการทั้งคู่ แม้จะมีความคิดระหว่างทางแตกต่างกันบ้าง น่าจะสร้างบรรยากาศถกเถียงกันฉันท์มิตรมากกว่า คุยกันสั้นๆ โดยที่ไม่รู้จักกันมาก บางครั้งจะตัดสินอีกฝ่ายเอาอย่างไม่เป็นธรรม

ไม่นาน คุณปริเยศแวะเข้ามา blog ผม ผมเข้าไปอ่าน blog คุณปริเยศ สักพักเลยเกิดความรู้สึกว่านิสัยใจคอจริงๆคงใกล้เคียงกัน คุณปริเยศแถวนี้ก็ไม่ได้ดุเดือดเลือดพล่านนัก น่าจะลองคุยกันยาวๆ ในบรรยากาศดีๆ เสียหน่อย ผมเลยเขียนซีรี่ย์นักวิชาการในฝันขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เขียนให้คุณปริเยศอ่านนั่นแหละ

ถ้าคุณปริเยศอ่านระหว่างบรรทัด คงเข้าใจว่า ผมก็ได้แสดงความเห็นแย้งความคิดหลายส่วนของคุณไปแล้วในบทความสามตอนก่อน จะมีก็แต่ประเด็นเก็บตกเล็กน้อย และอยากสรุปความอีกนิดหน่อย

......

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด นักวิชาการในฝันของคุณปริเยศคือ คนที่มุ่งทำงานวิชาการตามมาตรฐานสากลอย่างจริงจัง ผลิตองค์ความรู้ใหม่ สร้างภูมิปัญญาบริสุทธิ์ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

เกณฑ์ที่คุณปริเยศให้ความสำคัญในฐานะเครื่องตัดสินความสำเร็จของภารกิจดังกล่าวก็คือ นักวิชาการไทยควรมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ที่มีมาตรฐานระดับสากล และนักวิชาการไทยควรมีตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเอง

ผมไม่เถียงครับ

เห็นด้วยว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยควรต้องใส่ใจกับการผลิตงานวิชาการ เป็นเรื่องที่ควรทำ อนาคตควรไปให้ถึงตำแหน่งศาสตราจารย์

แต่ถ้าอ่านบทความของผมสามชิ้นก่อน ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า

หนึ่ง มันมีภารกิจอื่นๆ ที่นักวิชาการควรทำหรือถูกคาดหวังให้ทำเช่นกัน และภารกิจเหล่านี้ก็มิได้ด้อยค่าจนน่าดูถูก เมื่อเทียบกับการครองตนอยู่บนหอคอยงาช้างผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์

และ สอง ความสำเร็จของนักวิชาการในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจบนหอคอยงาช้าง ขึ้นอยู่กับสภาพของ 'โลก' ที่เขาอยู่ ถูกหล่อหลอม และได้รับอิทธิพลจากมัน นักวิชาการแยกออกจากโลกไม่ได้ 'โลก' ที่ว่าหมายถึงโลกรอบตัว เช่น สภาพสังคม สถาบันในสังคม และโลกภายใน เช่น ประสบการณ์ วิธีคิด อุดมการณ์ ส่วนตัว

ผมอ่านความเห็นของคุณปริเยศหลายครั้ง คิดว่าความคิดที่คำนึงถึงสองประเด็นข้างต้นพร่องไปเสียหน่อย คุณปริเยศมักมองนักวิชาการไทยอยู่นอกโลกเหนือสังคม และคาดหวังนักวิชาการในระดับสูงเหนือมาตรฐานคนทั่วไป (ซึ่งก็ไม่ได้ว่าผิดนะครับ)

ที่สำคัญ บ่อยครั้ง คุณปริเยศออกจะดูถูกภารกิจด้านอื่นที่นอกเหนือจากการหน้าที่บนหอคอยงาช้างของนักวิชาการมากไปเสียหน่อย เช่น เขียนหนังสือที่เป็นความรู้พื้นฐานอ่านง่ายๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ฯลฯ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ ผมไม่ถือว่าทุเรศหรือน่าอาย หลายคนที่ทำก็ไม่ใช่เพราะมีปัญญาทำได้แค่นี้ แต่เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ส่วนตัวบางอย่างมากกว่า

ถึงตรงนี้แล้ว ผมคิดว่าคุณปริเยศคงเข้าใจแล้วว่าผมคิดอย่างไรในประเด็นเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าผมเข้าใจถูกกว่าคุณปริเยศนะครับ

ที่ผมอยากคุยกับคุณปริเยศเพราะ สมัยก่อน ผมก็คิดคล้ายๆกับคุณ ตั้งมาตรฐานของนักวิชาการไว้ในระดับสูงและคล้ายกัน แต่เมื่อเข้าสู่โลกวิชาการแล้ว ก็พอเข้าใจข้อจำกัดหลายอย่างมากขึ้น (แต่คนละอย่างกับต้องยอมรับมันนะครับ จริงๆที่ผมเขียนตอนก่อนๆก็ไม่ได้แปลว่าอย่าไปหวังอะไรมาก แต่อยากให้ประเมินสถานการณ์แบบรอบด้าน พยายามเข้าใจปัจจัยรอบตัว ข้อเท็จจริง ด้วยต่างหาก) นั่นประการหนึ่ง แต่อีกประการหนึ่งก็คือ เลิกยึดติด 'ขนบ' หลายอย่าง ที่ตนเคยใช้ตัดสินคุณค่าของความเป็นนักวิชาการที่เก่งและดี

อันหลังนี่ต่างจากอันแรกนะครับ

ผมชักไม่แน่ใจว่า 'ขนบ' ที่เรามักใช้ตัดสินคุณค่าความเป็นนักวิชาการในฝันแบบที่คุณปริเยศใช้ มันมีคุณค่าเพียงใด ภายใต้สภาพสังคมและคุณภาพของสถาบันเช่นที่เป็นอยู่

ถ้าใช้ภาษาแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็คือ กำหนดให้สถาบันของสังคมคงที่ ถูกกำหนดระดับคุณภาพมาแล้วอย่างนี้ นักวิชาการจะ optimize ตัวเองอย่างไร ให้ความสนใจกับภารกิจ x เท่าไหร่ y เท่าไหร่ดี ภายใต้เวลาและทรัพยากรที่จำกัด เพื่อให้สังคม(สำหรับบางคน - ตัวเอง)ได้ประโยชน์สูงสุด

ไม่แน่ใจว่า การอยู่บนหอคอยงาช้าง มัน maximize objective function given set of institutions และ constraints อื่นๆ ของผมได้หรือเปล่า

หมายถึงของผมคนเดียวนะครับ เพราะนักวิชาการแต่ละคน ก็มี objective function ต่างกัน ให้คุณค่า institutions ต่างกัน มี constraints ต่างกัน ให้คุณค่ากับ private interests และ public interests ต่างกัน

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ในความเป็นจริง สถาบันมันไม่ได้อยู่คงที่ แต่ภารกิจ x, y, z, ... ที่นักวิชาการทำ ส่งผลให้สถาบันเกิดการวิวัฒน์ในรอบต่อไปอีกด้วย เช่น การทุ่มเททำภารกิจ x ในวันนี้ อาจทำให้ในวันหน้าทำภารกิจ y ได้มากขึ้น เพราะสถาบันพัฒนาไปในทางที่ส่งเสริม y ในอนาคต

เราอาจแทนค่า x ด้วย ภารกิจเพื่อสังคม เช่น เพิ่มความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางวิชาการ พัฒนาวัฒนธรรมบางอย่าง แล้วแทนค่า y ด้วย ภารกิจทางวิชาการ เช่น ผลิตงานเขียนเชิงวิชาการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้แปลว่า ผมคิดว่า นักวิชาการไม่ต้องผลิตงานวิชาการนะครับ หรือต้องรอให้ฟ้าเปิด มีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ถูกต้องเหมาะสมก่อนค่อยทำ แต่ผมเห็นว่า นั่นเป็นภารกิจที่ต้องทำ แต่นั่นมิใช่ภารกิจเดียวที่เราจะใช้ชี้หน้าตัดสินนักวิชาการคนหนึ่งว่า ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

ที่ผมเขียนบทความสามตอนก่อน อาจดูเหมือนว่าผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ผลิตองค์ความรู้บนหอคอยงาช้าง ไม่ใช่นะครับ ยิ่งถ้าคุณต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้ความรู้ คุณยิ่งต้องทำงานวิชาการ ถ้าคุณต้องการสอนหนังสือให้ดี คุณยิ่งต้องผลิตงานวิชาการ แต่ผมอาจจะไฮไลท์ภารกิจส่วนอื่นมากหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนที่หมกมุ่นอยู่แต่ภารกิจบนหอคอยงาช้างได้มองเห็นโลกอีกด้านหนึ่งบ้าง และเห็นเหตุผลของคนที่ให้ความสำคัญกับภารกิจในโลกอีกด้านหนึ่งด้วยว่าเขาคิดอย่างไร เพราะอะไร

ว่ามันไม่ใช่เพราะความหลงผิด หรือเพราะผลประโยชน์ หรือเพราะความโง่ หรือเพราะความขี้เกียจ ของนักวิชาการที่สนใจภารกิจที่คุณปริเยศไม่ให้คุณค่าเท่าการผลิตงานวิชาการ แต่มันมีเรื่องราวและเหตุผลของมันเช่นกัน และงานเหล่านั้นก็มีคุณค่าในตัวเองเช่นกัน

ผมพยายามยกตัวอย่างมากมาย รวมทั้งประสบการณ์ส่วนตัว ให้คุณปริเยศลองนั่งคิดจริงๆ จังๆ (หรือเล่นๆ ก็ได้) เผื่อจะเกิดการสังเคราะห์ได้อะไรใหม่ๆ

เหมือนเพลงเฉลียงอ่ะครับ

โลกวิชาการยังมีอื่นๆ อีกมากมาย

'อื่นๆอีกมากมาย ที่ไม่รู้ อาจจะจริง เราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ ที่ยังไม่เห็น'

......


ผมเห็นด้วยว่านักวิชาการต้องผลิตงานวิชาการ

แต่คำถามต่อมาก็คือ คำถามที่ผมตั้งไว้แล้วใน blog เมื่อวาน ว่าแล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินคุณค่างานวิชาการ หรืองานวิชาการที่ดีจะนิยามมันอย่างไร นี่ก็อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ยิ่งถ้าเราคิดพ้นไปจาก 'ขนบ' เดิม ที่ครอบวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อยู่ เราจะคิดต่อไปได้อีกมาก และเถียงกันต่อได้อีกมาก

รวมถึงคำว่า 'มาตรฐานที่เป็นสากล' ซึ่งเอาเข้าจริง ความเป็นสากลและระดับคุณค่าเป็นคนละเรื่องกัน หรือกระทั่งข้อจำกัดของภาษา ว่างานที่เป็นที่ยอมรับต้องเป็นภาษาอังกฤษ ที่นานาชาติเข้าถึงได้ ถึงที่สุด ภาษาไม่ได้เป็นตัววัดความเป็นของแท้ของนักวิชาการหรืองานวิชาการ แต่อยู่ที่เนื้อหา วิธีคิด โดยเฉพาะมุมมองต่อโลกมากกว่า

ผมก็อ่านบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำที่เป็นที่ยอมรับสูงในระดับสากลมาไม่น้อย งานหลายชิ้นก็ไม่ได้ช่วยให้เราปิ๊งหรือรู้สึกฉลาดขึ้นมากเท่ากับงานที่คมคายแต่แลดูไม่ซับซ้อนเท่า งานตามหน้าหนังสือพิมพ์ งานของนักวิชาการไทยบางคน กระทั่ง งานวรรณกรรม หรือการได้คุยกับสามัญชนธรรมดา

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ นั่งเขียนงาน และตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ แล้วนั่นคือจุดหมายปลายทางของมัน

ตีพิมพ์แล้วไง? คุณค่าของงานวิชาการไม่ได้อยู่ที่การตีพิมพ์แล้วเราสบายใจมีความสุข แต่งานต้องมีคุณค่าในตัวของมัน ไม่ว่าจะส่งไปตีพิมพ์ หรือได้ตีพิมพ์หรือไม่ หรือเขียนภาษาอะไร แน่นอนว่า การได้ตีพิมพ์ผลงานก็เป็นเรื่องดี เพราะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร พอเราอ่านวารสารชั้นนำเหล่านั้นก็มีโอกาสสูงกว่าที่จะได้อ่านงานที่มีคุณค่า ดีกว่าไปงมเข็มในมหาสมุทร

แต่สำหรับผม มันยังไม่จบแค่นั้น เพราะนั่นก็เป็นเพียงเกณฑ์หยาบๆอันหนึ่ง เหมือนที่บริษัทเลือกรับนักศึกษาจบจุฬา ธรรมศาสตร์ เลือกรับคนได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้ทั้งผมและคุณปริเยศคงเห็นเหมือนกันว่า นั่นไม่ได้เป็นตัวตัดสินความเป็นคนหรือเครื่องวัดความสามารถ ความดี ความเก่งของนักศึกษาคนนั้นๆ การพิสูจน์ความเป็นของแท้ของนักวิชาการก็เช่นเดียวกัน เราต้องมองข้ามพ้นไปจากเปลือกนอกเหล่านั้น

ตำแหน่งศาสตราจารย์ก็เช่นเดียวกัน

ตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้มีที่ทางตั้งอยู่ลอยๆ แต่อยู่ภายใต้ 'สถาบัน' และ 'ขนบ' บางอย่างในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย คือนักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นศาสตราจารย์น้อยเพราะโง่กว่านักนิติศาสตร์ที่มีศาสตราจารย์กันมากมาย แต่ตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งที่อำนาจในการอนุมัติอยู่ที่กระทรวงส่วนกลาง ซึ่งต่างจากเมืองนอกที่กระจายอำนาจให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีอำนาจอนุมัติเอง ซึ่งในเมืองไทย ระบบแบบนี้คล้ายๆกับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ที่คณะกรรมการมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอนุมัติกันเอง

ที่สำคัญ เกณฑ์การตัดสินตำแหน่งศาสตราจารย์มีการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินสูง ไม่มีกฎกติกาลายลักษณ์อักษรชัดเจน ผู้ประเมินต้องเป็นศาสตราจารย์ด้วยกันเอง ยิ่งสาขาไหน ศาสตราจารย์มีน้อย และได้มาด้วยความยากลำบาก ความรู้สึกเป็น Exclusive club (Professor club) ยิ่งสูง คงพอเดาได้ว่าผลจะเป็นทิศทางไหน ธรรมชาติของการเป็น Exclusive club มีแนวโน้มที่จะสร้าง Barrier to entry โดยตัวของมันอยู่แล้ว

การได้ตำแหน่งศาสตราจารย์มันก็มีการเมืองในตัวของมัน มีวิถีต่างกันในสาขาวิชาต่างๆ มีเรื่องเล่าลับๆมากมายเกี่ยวกับการได้และไม่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์

มาถึงคำวิจารณ์ของคุณปริเยศ ที่เทียบเคียงวงวิชาการเศรษฐศาสตร์กับวิทยาศาสตร์

ผมไม่มีความรู้เลยแม้แต่น้อย เลยไม่กล้าทึกทักสรุปเอาเอง ว่าแนวรบด้านนั้นสถานการณ์เป็นเช่นไร เอาเข้าจริงอาจไม่แตกต่างกันมากก็ได้

แต่ผมคิดว่าธรรมชาติของตัววิชาที่เป็น pure หรือ natural science กับ social science (หรือ study อาจจะถูกกว่า)มันต่างกัน ตั้งแต่วิธีการตั้งคำถาม วิธีการตอบคำถาม วิธีทำงาน ความยากง่ายในการเข้าถึง 'ความจริง' ตามขนบของวิชาการสายตน ความสามารถในการลดรูปความจริงเพื่อศึกษาอธิบายความจริงโดยที่คำอธิบายที่ได้ไม่เบลอจนเกินไป การถูกหล่อหลอมจากธรรมชาติของการเรียนวิชานั้นๆ เกณฑ์การทำงาน ระบบการตัดสินคุณค่า ซึ่งเรื่องพวกนี้โยงไปถึงความสัมพันธ์ของตัววิชาการกับสังคม ในระดับ รูปแบบ และการถูกคาดหวัง ในทางที่แตกต่างจากนักสังคมศาสตร์

ถ้าอ่านงานเขียนจริงๆจังๆของผม คงเห็นว่า ผมตั้งคำถามกับทิศทางของพัฒนาการเศรษฐศาสตร์ในแนวทางแบบที่เป็นอยู่มากพอสมควร ว่าต้นทุนมันสูงทีเดียว และทำให้เราสูญเสียความเป็นสังคมศาสตร์ แต่กลายเป็นนักเทคนิคที่สังคมตรวจสอบและร่วมเรียนรู้ได้ยากขึ้น

เอาเข้าจริง นักสังคมศาสตร์ก็ยังถกเถียงเรื่องระเบียบวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ในสายสังคมศาสตร์กันอยู่ไม่รู้จบ

ดังนั้นจะบอกว่า คุณภาพนักวิชาการไทยห่วยเพราะด้อยสามารถด้านคณิตศาสตร์ก็คงสรุปไม่ได้ เพราะมันมีวิถีทางเข้าถึงความจริงหลายทาง และงานวิชาการแบบเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นมรรคที่ดีที่สุดในการเข้าถึงความจริง ความเป็นสากลหรือเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นตัวกำหนดมาตรฐานไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณค่าที่แท้จริงของอะไรทั้งนั้น (เหมือนคนไทย 11 ล้านคน เลือกไทยรักไทย)

คำถามที่สนุกกว่าคือ ทำไมความคิดหนึ่งถึงกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ครอบโลกได้ ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขใด เพราะอุดมการณ์ใด แล้วมันมี implication อะไร นำเราไปสู่อะไร

......

ใครเคยเยี่ยมเยียนห้องทำงานของผมที่สำนักท่าพระจันทร์คงเคยเห็นรูปการ์ตูนสี่ช่อง ที่ติดหราอยู่หน้าประตูห้อง

ผมตัดมาจากหนังสือแบบเรียนกึ่งสำเร็จรูปของคุณเรณู ปัญญาดี ของสำนักพิมพ์มติชน

ขอเล่าจากความทรงจำนะครับ เพราะไม่ได้หยิบมาบ้านนอกด้วย(ของจริง เจ๋งกว่าที่ผมจะเขียนต่อจากนี้มาก)

ถ้าจำไม่ผิดชื่อการ์ตูนหน้านี้จะชื่อ นักวิชาไทยในฝัน ทำนองนี้แหละ

คนสี่คู่คุยกัน

ช่องแรก

"ผมอยากทำงานบนหอคอยงาช้าง ผลิตองค์ความรู้บริสุทธิ์ คิดค้นทฤษฎีใหม่"

"นั่นเขาเรียกว่า ชักว่าวทางปัญญา"

ช่องที่สอง

"ผมอยากนำความรู้ที่มีไปรับใช้เปลี่ยนแปลงสังคม เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ"

"นั่นเขาเรียกว่า กะหรี่ทางวิชาการ"

ช่องที่สาม

"ผมอยากให้ความรู้พื้นฐานกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเข้าถึงความรู้ได้ง่ายๆ"

"นั่นเขาเรียกว่า หมอนวดทางปัญญา"

ช่องที่สี่

"ผมอยากนำความรู้ไปรับใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคม"

"นั่นเขาเรียกว่า หมอนวดทางปัญญาแผนโบราณ"


นักวิชาการนั่งสำเร็จความใคร่ทางปัญญาอยู่คนเดียวไม่สนุกหรอกครับ มีความสุขอยู่คนเดียว

มาร่วมรักสมัครสมานกับสังคมแบบคู่รักดีกว่า

ทำอย่างไรให้ถึงพร้อมกันทั้งคู่ ไม่ใช่นักวิชาการชิงถึงสวรรค์อยู่ฝ่ายเดียว

เสือ ภ.(นามสมมติ) คงแนะนำว่า ต้องผ่านประสบการณ์จากทั้งสี่แบบข้างบนให้ช่ำชองก่อนไง

ลองคิดดูนะครับ