นักวิชาการในฝัน (3): ฝันของผม
แล้วนักวิชาการในฝันของผมเองมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
ตอบแบบง่ายๆ กวนๆ ก็ต้องเป็นนักวิชาการแบบที่ผมอยากเป็น และพยายามจะเป็น
ซึ่งอาจมีคุณค่าในสายตาของคนหนึ่ง แต่อาจไร้คุณค่าสำหรับอีกคนหนึ่งก็เป็นได้ ขึ้นกับ 'โลก'ของแต่ละคน ดังที่เคยคุยในตอนแรก
วิธีคิดและตัวตนของผมทุกวันนี้ได้รับอิทธิพลจากผู้คนจำนวนมาก ถูกหล่อหลอมมาจาก 'โลก' ในอดีตที่ผมได้เผชิญ เติบโตต่อยอดสังเคราะห์พัฒนามาเรื่อยๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว ประวัติศาสตร์ของสังคม วิกฤตที่เผชิญ หนังสือที่อ่าน บุคคลที่ได้เจอ มิตรสหายที่คบ ฯลฯ
ถ้าจะเข้าใจ 'ฝัน' ส่วนตัวของผม ก็ต้องเข้าใจ 'ผม'ระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะ 'ความฝัน' แยกไม่ออกจาก 'เจ้าของฝัน' และ 'โลก' ที่เจ้าของฝันอยู่และมีส่วนสร้างเขาขึ้นมา
แต่ละคนเข้ามาเป็นนักวิชาการด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าเหตุผลของใครเข้าท่ากว่าใคร หรือของใครมีคุณค่ามากกว่าใคร
ตั้งแต่เด็ก ผมใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิชาการ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลง 'โลก' ที่ผมอยู่ให้ดีขึ้น
ทุกวันนี้ก็ยังคิดเช่นนี้อยู่ แถมยังมั่นใจในจุดยืนนี้ยิ่งขึ้น
นี่คือฐานความคิดหลักที่ขีดเส้นใต้เรื่องทั้งหมดที่กำลังจะคุยกันต่อไปจากนี้นะครับ
ใช่ครับ, นักวิชาการในฝันของผมก็คือคนที่มีคุณสมบัติถึงพร้อมที่จะเปลี่ยน 'โลก' นี้ดีขึ้นได้ และสามารถต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างสมน้ำสมเนื้อโดยมีความรู้เป็นอาวุธ
......
'โลก' ของผมในที่นี้ คือสังคมที่แวดล้อมผม มีเส้นเขตแดนไกลสุดแค่ปลายขอบสังคมไทย
ความคิดผมยังไปไม่ถึงโลกที่เป็นสากล ยังไม่มองโลกแบบไร้เส้นพรมแดน หวังทำอะไรเพื่อมนุษยชาติ ผมคิดได้แค่ว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนที่ผมอยู่มันดีขึ้นและน่าอยู่ขึ้นเท่านั้นเอง ไม่เคยคิดจะโกอินเตอร์ มองไม่เห็นและไม่คิดมองที่ทางของตัวเองในระดับสากลเลยแม้แต่น้อย
ไม่รู้ทำกรรมเวรอะไรไว้ ผมมีสันดานเป็นนักเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็ก โดยธรรมชาติเป็นคนไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่เดิม ชอบพยายามลงแรงเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้น (อย่างน้อยก็ให้ดีขึ้น 'ในสายตาของผม' ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีแท้ จริงแท้แค่ไหน)บางทีก็นึกอิจฉาเพื่อนรักบางคนที่มีธรรมชาติเป็นคนปล่อยวาง ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับอะไรรอบตัวมากมาย สมถะ สันโดษ บางเวลาก็อยากเป็นคนแบบนั้นบ้างเหมือนกัน แต่ทำไม่ได้
ผมชอบอ่านหนังสือการเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ตอนเด็กเลยหมกมุ่นว่าระบบการเมืองคือรากฐานของปัญหา เป็นต้นตอแห่งความเลวร้ายหลายอย่างในสังคมไทย ไม่ว่าปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม ฯลฯ
ตอนเด็กๆ ผมมักจะคิดว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือทางออกของประเทศ ถ้าจะเปลี่ยนประเทศนี้ ต้องเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจ แก้กฎหมาย บริหารประเทศแบบใสสะอาด คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ แรกสุดก็คิดว่าปัญหาเกิดเพราะนักการเมืองมันชั่ว ต่อมาก็คิดว่าเพราะระบบการเมืองมันเลว
ดังนั้น ความฝันจริงๆจังๆแรกสุดของผมคือ อยากเล่นการเมือง แล้วทำการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย ใสสะอาด และให้ความเป็นธรรมต่อคนเล็กคนน้อย ผู้ไร้อำนาจ
นั่นเป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งในช่วงต้นของการเดินทางทางความคิด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการติดตามข่าวการเมือง อ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง และยังมองเห็นความจริงเพียงระดับพื้นผิว
ผมถือว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นแรงขับที่สำคัญที่ทำให้ผมอยากเดินบนเส้นทางนี้ ผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์นองเลือดไทยฆ่าไทยเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย เลยอยากขจัดเงื่อนไขต่างๆ ที่สามารถนำมาซึ่งความรุนแรง ทางแก้คือ ต้องออกแบบระบบการเมืองที่คลี่คลายปัญหาได้ด้วยสันติวิธี ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเต็มที่ ลดทอนการใช้อำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
ต่อมา เมื่อสนใจการเมืองหนักขึ้น ผมเริ่มหันไปอ่านงานวิชาการ โดยเฉพาะตำรารัฐศาสตร์ และบทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยนักวิชาการ ผมก็เริ่มเรียนรู้ที่จะมองความจริงในระดับที่ลึกซึ้งกว่าพื้นผิว เริ่มมองความจริงในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ
งานวิชาการตามหน้าหนังสือพิมพ์ของนักวิชาการหลายคน มีส่วนเปิดประตูให้ผมก้าวสู่โลกวิชาการ จนหลงรักมันในที่สุด แม้คนที่ฝันอยากเห็นนักวิชาการนั่งทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างเพื่อผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์จะไม่ได้ให้คุณค่างานเหล่านี้นัก แต่ผมว่างานเหล่านี้มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมากทีเดียว ดูจากผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวผม และลูกศิษย์ของผมหลายคน ที่เริ่มต้นการเดินทางทางความคิดจากจุดนี้
จนเมื่อได้อ่านบทความวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นอกจากจะทำให้ผมหันมาสนใจเศรษฐศาสตร์ ยังส่งผลให้มุมมองต่อโลกของผมเปลี่ยนไป
จุดหักเหสำคัญอยู่ตรงที่อาจารย์รังสรรค์สอนให้ผมรู้จักแยกแยะ 'โลกแบบที่มันเป็นอยู่'กับ'โลกแบบที่เราอยากให้เป็น' ผมเริ่มมองเห็นความสำคัญของงานวิชาการ ในฐานะเครื่องมือผลิตคำอธิบาย 'โลกแบบที่มันเป็นอยู่' ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อก้าวข้ามไปสู่ 'โลกแบบที่เราอยากให้เป็น'
เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ต้องทำความเข้าใจกลไกของมันเสียก่อน ซึ่งงานวิชาการมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกได้ และปรุงแต่งวิถีการเคลื่อนไหวในลำดับต่อไป
นักวิชาการบางคนสนุกสนานในการทำความเข้าใจโลกเรื่องแล้วเรื่องเล่า พยายามเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นความจริงให้ใกล้ที่สุด ผ่านการพัฒนาทฤษฎี ต่อยอดโมเดล เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ แล้วคิดว่าหน้าที่ของตนจบแค่นั้น
ลึกๆแล้วคนกลุ่มนี้ พยายามแยกตัวเองออกจากสิ่งที่ศึกษา พยายามให้ตัวเองปลอดจากอคติ ให้ตัวเองมีความเป็นกลาง โดยมองกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงโลกว่าอยู่นอกเหนือจากหน้าที่ที่พวกเขาพึงกระทำ การเปลี่ยนโลกเป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง องค์กรเอกชน นักเคลื่อนไหวการเมือง ที่จะหยิบเอาองค์ความรู้บริสุทธิ์ที่นักวิชาการสร้างขึ้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปเอง
แต่นักวิชาการจำนวนหนึ่งคิดว่า หน้าที่ของพวกเขาไม่ได้จบแค่นั้น การเข้าใจโลกมิได้เป็นจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง แต่เป็นกระบวนการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลก
ดังวรรคทองของ Marx ที่เราพบเห็นบ่อยครั้ง
"The philosophers have only interpreted the world, in various ways; the point is to change it." (Marx (1854), Theses On Feuerbach)
ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญของนักวิชาการอยู่ตรงที่พยายามผลิตสร้างองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาเพื่ออธิบายโลกในหลากหลายรูปแบบ ในสาขาที่ตนถนัด ทั้งที่เพื่อใช้ความรู้เป็นอาวุธในการเปลี่ยนแปลงโลก ให้มันดีขึ้น เป็นจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้าย
คนกลุ่มนี้ไม่เชื่อว่าการครองตนเสมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่อยู่นอกโลกเหนือสังคมเป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นไปได้ หรือมีคุณค่า การมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยวิธีต่างๆ หรือเป็นนักวิชาการที่มี 'หัวใจ'ไม่ได้ลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นนักวิชาการของเขาลงแต่อย่างใด
ความเป็นกลาง ไร้อคติ ไม่เลือกข้าง ไม่มีอยู่จริง ถึงมี นักวิชาการก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่เลือกข้างได้ ด้วยเหตุผลที่ตนเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจ อีกทั้ง งานวิชาการเจือปนด้วยอคติเสมอ แม้จะมีระเบียบวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ตาม
(ความไม่เป็นกลางหรืออคติที่พูดถึงกันอยู่ตรงนี้ ไม่เกี่ยวกับการได้ผลประโยชน์หรือได้รับอามิสสินจ้างนะครับ คนละประเด็นกัน)
ทีนี้ มาถึงคำว่า 'การเปลี่ยนแปลงโลก'
ผมไม่ได้ให้ความหมายมันอย่างแคบ เพียงแค่การมีบทบาทในฐานะผู้กำหนดนโยบาย หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงโลกทำได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ศูนย์กลางแห่งอำนาจ แต่ผ่านการให้การศึกษาแก่สังคม บทความวิพากษ์วิจารณ์สังคม เสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย กระทั่งแบบวิถีการดำเนินชีวิต ฯลฯ
......
ชีวิตหลังเข้ามหาวิทยาลัย
จากการเฝ้าสังเกตบทบาทของนักวิชาการหลายคนในวัยเด็ก ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าภายใต้ความเป็นนักวิชาการ เราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากกว่าการเป็นนักการเมือง การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่จำเป็นต้องมีอำนาจ หากความรู้เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพกว่าการเอาตัวเข้าไปเกลือกกลั้วกับวิถีแห่งการแสวงหาอำนาจทางการ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการลดทอนมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเอง
เมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัย ได้สัมผัสโลกของวิชาการอย่างใกล้ชิดขึ้น ผมรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานกับมันเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเรียนมาก ยิ่งเข้าใจว่าเรารู้น้อยเหลือเกิน แล้วจะเอาองค์ความรู้อะไรไปเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้
ผมเลยยิ่งอยากรู้ สะสมเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ให้กว้างขวางเท่าที่กำลังจะพึงมี พยายามสังเคราะห์หลอมรวมมาเป็นวิธีคิดแบบของเรา
ยิ่งเรียนมาก ฟังมาก อ่านมาก ก็ยิ่งตกหลุมรักโลกวิชาการ ความคิดอยากเป็นนักการเมืองก็เลือนหายไปเรื่อยๆ เริ่มเข้าใจว่า วิธีการเปลี่ยนแปลงโลกมันมีหลากหลาย และเอาเข้าจริง นักการเมืองก็ไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ดังใจ เนื่องจากมีข้อจำกัดมากมายไปหมด โดยเฉพาะไร้ซึ่งความเป็นอิสระที่จะใช้ศักยภาพของเราได้เต็มที่
ตอนช่วงปลายชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เคยเข้าไปลิ้มรสโลกการเมืองของจริงอยู่ชายขอบ แต่การนั่งอยู่ชายขอบในสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจสูงสุดก็ช่วยให้ได้รู้เห็นอะไรมากมาย เห็นของจริงว่าการเมืองที่แท้จริงเป็นอย่างไร สามารถฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาของประเทศนี้ได้เพียงใด
เข้าไปสัมผัสการเมืองแบบชิดใกล้แล้ว ผมกลับรู้สึกว่า คนเป็นนักการเมืองทำอะไรได้น้อยกว่าที่เราเคยคาดหวังมาก ชีวิตนักการเมืองไม่ง่ายเลย และขัดกับนิสัยและบุคลิกของผมอย่างมาก อีกทั้ง แม้มีอำนาจ ระบบราชการมันก็เทอะทะเกินกว่าจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ดังใจ
ชักรู้สึกไม่สนุก และรู้สึกไม่มีปัญญาจะทำหน้าที่นั้นได้
ให้คนที่เขาถนัด มีทักษะ และรู้สึกสนุก ทำหน้าที่นั้นดีกว่า
ผมอยากเปลี่ยนโลกในทางที่ผมใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ รักษาความเป็นเสรีชนได้ในระดับสูง
หันไปหันมา ก็ต้องเป็นนักวิชาการนี่แหละ
หากดูตัวเองเป็นเหยื่อ ผมก็ถูกเปลี่ยนแปลง จากนักวิชาการจำนวนมาก จนคลี่คลายพัฒนามาเป็นตัวตนอย่างทุกวันนี้
ใครว่าวิชาความรู้เปลี่ยนโลกไม่ได้ ใครว่านักวิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงโลกมิใช่การเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างจากบนลงล่างเท่านั้น นั่นไม่จีรังยั่งยืนเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่ฐานราก เปลี่ยนแปลงคน แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน เป็นการเปลี่ยนแปลงจากคนส่วนใหญ่ที่ไร้อำนาจ ใช้การต่อสู้เชิงวัฒนธรรมและความคิดเป็นหลัก
เมื่อคิดอย่างนี้ อาชีพไหนจะเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงโลกมากเท่าอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเจอคนรุ่นใหม่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามาทุกปี
ผมเลยคิดจะเปลี่ยนสังคมนี้ ด้วยการพยายามสร้างคนที่มีคุณภาพ ที่พร้อมจะร่วมมือกันเปลี่ยนสังคมนี้ด้วยกันในอนาคต
ไม่ได้แปลว่าต้องคิดเห็นเหมือนเรา ต้องมาทำงานกับเรา หรือต้องเปลี่ยนสังคมในทางที่เราต้องการนะครับ
คิดต่างได้ ต่างคนต่างทำได้ มีความฝันจะสร้างโลกไปทางไหนก็ได้
แต่ให้ตระหนักว่า สังคมนี้มีปัญหา ลึกซึ้งซับซ้อนกว่าพื้นผิวที่เราเห็น และในฐานะที่เราเป็นเจ้าของสังคมนี้ร่วมกัน ควรคิดแก้ไขมันให้ดีขึ้น ตามอัตภาพ
ผมคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดีสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่พลัดหลงอยู่ในกระแสสังคมรู้จักฉุกคิด ตั้งคำถาม ใฝ่รู้ที่จะศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมได้ เหนือสิ่งอื่นใด ให้เขามีจิตใจสาธารณะที่คิดพ้นไปจากตัวเอง เป็นมืออาชีพ และมีวัฒนธรรมอารยะในจิตใต้สำนึก เช่น เป็นประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม ยึดถือสิทธิมนุษยชน เกลียดชังการคอรัปชั่นและเอาเปรียบผู้อื่น ฯลฯ
อาจารย์มหาวิทยาลัยแตกต่างจากนักวิชาการตามสถาบันวิจัยตรงที่ต้องมีหน้าที่สอนหนังสือ ขณะที่นักวิจัยมีหน้าที่หลักคือเขียนงานวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยในฝันจึงต้องมีความเป็นครู ที่รักงานสอนด้วยเช่นกัน และทุ่มเทใส่ใจกับนักศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงโลก
ทีนี้ ถ้าจะสอนให้ดี ให้นักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด ภารกิจอื่นก็ต้องตามมา อาจารย์ก็ต้องติดตามพรมแดนความรู้ที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งในสาขาของตน ต้องผลิตงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือประยุกต์ทฤษฎีเพื่อมาอธิบายโลกแห่งความจริงและสอดคล้องกับสังคมที่เราอยู่ ไม่ใช่แค่งัดตำรามาเปิดสอนเพียงเท่านั้น อีกทั้ง ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดสื่อสารด้วย นอกจากนั้น การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักศึกษาก็ต้องมีตำราอ่าน มีงานวิจัยอ่าน ประกอบการเรียนการสอน
งานวิจัยที่ขึ้นหิ้งมันก็มีประโยชน์ของมันอยู่ แต่มันจะมีประโยชน์แท้จริงได้ ต้องลงมาจากหิ้ง ให้สังคมเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากมันได้
ยิ่งในสังคมที่ง่อยเปลี้ยทางปัญญา และการศึกษาที่มีคุณภาพแพร่หลายไม่ทั่วถึง ลำพังการมีหน้าที่สอนคนหน้าใหม่เพียงไม่กี่ร้อยคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในแต่ละปีไม่เพียงพอ อาจารย์มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการให้ความรู้แก่สังคมโดยรวม เพื่อสร้างการอ่านออกเขียนได้ในความรู้ตามสาขาที่ตนถนัด สังคมจะได้มีภูมิคุ้มกันตัวเอง
การปล่อยให้องค์ความรู้ถูกผูกขาดอยู่ในมือของ 'ผู้รู้'เพียงหยิบมือ ทำให้สังคมอ่อนแอ และวิชาการสาขานั้นๆ จะอ่อนแอลงในระยะยาว
ไม่ว่าศาสตร์อะไร องค์ความรู้ควรแพร่กระจายในวงกว้างให้มากที่สุด ให้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนต่างสาขาวิชา สามารถเข้าถึง แลกเปลี่ยน และตรวจสอบได้
ดังนั้น นักวิชาการจึงไม่ควรมีหน้าที่แค่ผลิตองค์ความรู้บริสุทธิ์ แต่ยังต้องมีหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ และให้บริการทางความรู้แก่สังคมวงกว้างด้วย โดยเฉพาะในสังคมที่ภูมิปัญญาอ่อนแอ และชาวบ้านที่ขาดโอกาสยังหิวโหยกับการแสวงหาความรู้พื้นฐานระดับชาวบ้าน
โดยส่วนตัว ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าคนไทยยังมีระดับความรู้ที่อ่อนแอ ขาดการอ่านออกเขียนได้ในวิชาการเบื้องต้นสาขาต่างๆ งานวิชาการขึ้นหิ้งที่มีเพียงคนหยิบมือเดียวเข้าถึง แม้จะได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับโลก จะมีคุณค่า(โดยเปรียบเทียบ และต่อสังคม)เพียงใด และคุณค่านั้นสำหรับใคร
แน่นอนว่า สำหรับนักวิชาการที่ดี ภารกิจแต่ละรูปแบบต่างมีคุณค่าในตัวของมัน แต่ภารกิจของนักวิชาการมิได้ลอยโดดออกไปจากสังคมที่ตนอยู่ หากมาตรฐาน คุณภาพ เนื้อหา ภารกิจ ของนักวิชาการหรืองานวิชาการในแต่ละสังคมก็แตกต่างกันไปตามสภาพและคุณภาพของสังคมนั้นๆ
ผมชื่นชมนักวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ก็เป็นความชื่นชมดุจเดียวกับนักวิชาการที่คลุกฝุ่นติดดินอยู่เบื้องล่าง
สำหรับผม ไม่มีความใฝ่ฝันที่จะขึ้นไปอยู่บนหอคอยงาช้าง และก็ไม่คิดที่จะคลุกฝุ่นอยู่ด้านล่างตลอดเวลา
ขอให้ชีวิตนักวิชาการอยู่บนสิ่งปลูกสร้างเล็กๆ ง่ายๆ ขนาดความสูงพอเหมาะพอดีก็แล้วกันนะครับ
ไม่เตี้ยเสียจนมองไม่เห็นว่าบนหอคอยงาช้างเขาทำอะไรคิดอะไรกันอยู่ พอให้ตะโกนคุยกับเขารู้เรื่อง
และไม่อยู่สูงเสียจนไม่กล้าหรือไม่มีปัญญากระโดดลงมาคลุกฝุ่นข้างล่างเป็นครั้งคราว เมื่อหัวใจเรียกร้อง
<< Home