pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Sunday, April 03, 2005

นักวิชาการในฝัน (2): มุมมองของปลาในน้ำ

บางคนบอกว่า หากเราเป็นปลาที่ว่ายอยู่ในหนองน้ำ แม้จะรู้ความลึกของน้ำในหนอง รู้อุณหภูมิ และวิถีชีวิตภายในหนองน้ำอย่างดี แต่เราย่อมมองไม่เห็นขอบเขตของหนองน้ำว่ามันกว้างใหญ่หรือคับแคบเพียงใด อยู่แต่ในโลกเล็กๆของตัวเท่านั้น ไม่เหมือนกับนกที่บินอยู่บนฟ้า แล้วเห็นโลกที่กว้างใหญ่กว่าหนองน้ำเล็กๆ กระนั้น นกที่รู้ขอบเขตของหนองน้ำ ย่อมไม่เข้าใจวิถีชีวิตของน้ำในหนองอย่างแท้จริง เนื่องเพราะไม่เคยดำดิ่งลงไปใต้ผิวน้ำด้วยตัวเอง

ในฐานะปลาตัวหนึ่ง ที่เวียนว่ายอยู่ในหนองน้ำวิชาการ เลยอยากชวนคุยวิพากษ์วิจารณ์แวดวงวิชาการไทยด้วยสายตาแบบปลาๆ

(โชคดีที่ผมเลือกอุปมาอุปไมยเป็นปลาในน้ำแทนที่จะเป็นควายในทุ่ง ไม่งั้นต้องมองด้วยสายตาแบบควายๆ แทน)

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นพ้องกันก็คือ วงวิชาการไทยโดยรวมยังล้าหลัง ด้อยคุณภาพ เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล (ผมใช้คำว่ามาตรฐานสากลในฐานะจุดอ้างอิงเฉยๆนะครับ จะเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะให้คุณค่ากับมาตรฐานสากลขนาดไหน อย่างไร เป็นอีกประเด็นถกเถียงหนึ่ง)

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ตอบยากมากนะครับ เพราะปัญหาของวงวิชาการไม่ได้อยู่แค่นักวิชาการขี้เกียจ หรือโง่ แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ที่สัมพันธ์กับสถาบันอื่นในสังคมเต็มไปหมด ตั้งแต่ระดับ วัฒนธรรม ค่านิยม การเมือง เศรษฐกิจ โครงสร้างของระบบราชการ ฯลฯ

อย่างที่บอกเมื่อตอนที่แล้ว นักวิชาการไม่ใช่เทวดาที่ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคมไทย แต่ก็เวียนว่ายอยู่ในสังคมไทย เผชิญหน้าและถูกหล่อหลอมจากสถาบันแบบไทยๆ เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆในสังคม

รากความล้มเหลวของวงวิชาการไทยก็คือความล้มเหลวเชิงสถาบันของโครงสร้างใหญ่ในสังคมไทยนั่นเอง

เช่นนี้แล้ว เลยยากลำบากที่จะอธิบายสาเหตุของความล้มเหลว เพราะไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี เพราะปัญหาแต่ละปัญหาล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด

และการมองปัญหาโดยใช้สายตาที่เต็มไปด้วยภาพของสิ่งที่เรา “อยากให้เป็น” อาจทำให้เราไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ “เป็นจริง” ได้อย่างถ่องแท้นัก เพราะกระบวนการทำความเข้าใจกลไกที่ทำให้ “มันเป็นเช่นนั้นเอง” อาจพร่ามัวไป ถ้าเราต้องการจะให้ภาพฝันที่อยากให้เป็นเกิดขึ้นจริง ย่อมต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่จริงก่อนเป็นปฐม จึงจะพุ่งตรงไปที่เหตุแห่งทุกข์ได้ถูกต้อง

เรื่องเล่าต่อจากนี้ เป็นเรื่องเล่าจากปลาในน้ำ ที่มองโลกแบบที่มันเป็น เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ไม่ว่ามันจะตรงตามอุดมคติของเราหรือไม่ก็ตาม

ในฐานะที่นักวิชาการต่างก็มีพื้นฐานเป็นสัตว์เศรษฐกิจเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม ขอเริ่มตรงนี้แล้วกัน

แต่การเลือกที่จะเริ่มตรงนี้ของผมไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญที่สุดนะครับ แค่เริ่มตรงนี้เพื่อโยงไปสัมพันธ์ตรงอื่นต่อเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของผมคือ ผลตอบแทนที่นักวิชาการไทยได้รับ มันน้อยเหลือเกินครับ และอยู่ภายใต้โครงสร้างผลตอบแทนที่บิดเบี้ยว

ถ้าเราเชื่อว่านักวิชาการมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจระดับหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป ประเด็นนี้สำคัญนะครับ เพราะไม่สามารถดึงดูดคนเก่งและคนดี ที่ไม่ได้ “อยาก” หรือ “หลงใหล” ในวิชาชีพนี้เข้ามาเป็นอาจารย์ได้

ลำพังคนที่ “อยาก” และ “หลงใหล” ในความเป็นนักวิชาการ ก็มีไม่มากพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ที่จะยกระดับมาตรฐานทางวิชาการให้สูงขึ้นดังหวังได้

หากมองโลกตามจริง มหาวิทยาลัยควรจะประกอบด้วยคนที่ทั้งเก่ง ทั้งดี และทั้งหลงใหล ในวิชาชีพนักวิชาการเข้าด้วยกัน ยิ่งหาคนที่มีทั้งสามองค์ประกอบในคนเดียวกันยิ่งยอด แต่โชคร้ายที่มันมีไม่มาก

เช่นนี้แล้ว คนเก่งจำนวนมากก็เลือกไปทำอาชีพอื่น เพราะในมหาวิทยาลัยรัฐ ผลตอบแทนของคนจบปริญญาเอกปัจจุบันน้อยกว่าคนจบปริญญาตรีหลายที่ด้วยซ้ำไปนะครับ เราจะบอกว่า ช่างมัน ไม่ง้อ ก็ดูจะเป็นความคิดที่คับแคบไปเสียหน่อย

ส่วนคนที่หลงใหลในวิชาชีพ แล้วเลือกมาเป็นอาจารย์ ก็ต้องใช้ชีวิตดิ้นรนไปตามยถากรรม เรียกว่า ต้องเสียสละยอมแบกรับความลำบากเป็นภาระต้นทุนส่วนตัว จะบอกว่า ตอนสมัครไม่มีใครเอาปืนจ่อหัวให้มาสมัคร มันก็ถูก แต่ถ้ามองในภาพรวมถึงโครงสร้างสิ่งจูงใจของตลาดแรงงานทั้งระบบแล้ว เช่นนี้ เราก็ไม่สามารถเอาปืนจ่อหัวให้เขาทำงานอย่างที่เราคาดหวังได้เช่นกัน

หากมองคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ คนก็ปรับพฤติกรรมเพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง (เช่น ทำงานหนักขนาดไหน ทำงานประเภทไหน ฯลฯ) ตามข้อจำกัดหรือกติกาที่ตัวเองเผชิญน่ะครับ นักวิชาการก็ไม่ต่างกันหรอก แน่นอนว่า คนที่ไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้ก็มี เพราะอาจมีระดับความเป็นสัตว์เศรษฐกิจต่ำกว่าคนอื่น หรือเผชิญข้อจำกัดหรือกติกาในชีวิตที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีมรดก มีคู่ครองรวย บ้านฐานะดีอยู่แล้ว หรือไม่มีลูกเมีย !!!

หากเราเชื่อว่าคนมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ตลาดแรงงานภายใต้สัญญาจ้างแบบค่าจ้างคงที่ก็เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์หลังจากการทำสัญญาจ้างแล้ว เพราะนายจ้างไม่สามารถกำหนดระดับความตั้งใจความเอาใจใส่ในการทำงานได้ เกิดปัญหาทำงานต่ำกว่าที่คาดหวัง

ลองนึกภาพดูในระบบราชการที่คนจบปริญญาเอกที่ได้เงินเดือน 10,000 บาท หรือพนักงานมหาวิทยาลัยหลังออกนอกระบบได้เงินเดือนประมาณ 17,000 บาท ถ้าจะเลี้ยงชีวิตด้วยเงินเดือนเท่านี้ หากตัวคนเดียวแล้วใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่คิดมากถึงปมด้อยเมื่อเทียบกับเพื่อน ก็อาจอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นคนฐานะธรรมดา ต้องเลี้ยงครอบครัว และมีหนี้สินทั้งที่ตัวเองก่อ ซื้อรถซื้อบ้าน หรือหนี้สินที่ติดตามมาของครอบครัว ไม่มีทางอยู่ได้

เมื่อก่อนผมก็คิดแบบหนึ่งนะครับ แต่หลังจากต้องมาเผชิญปัญหาทางการเงินกับตัวเองแล้ว ก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะนักวิชาการไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในโลกวิชาการของตัวเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริง ที่ต้องสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับครอบครัว มีภาระในฐานะพ่อ แม่ หรือลูก ที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวด้วย

มีคนเคยเล่าให้ฟังว่า คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยกล่าวกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ทำนองว่า หากนักวิชาการต้องการรักษาตัวตนในอุคมคติไว้ให้ได้ มีทางเดียวคือต้องหาเมียรวย !

ที่ผ่านมา ระบบหรือสถาบันก็ปล่อยให้เหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องปากกัดตีนถีบเอาตัวรอดกันไปเอง โดยไม่ได้แก้ไขโครงสร้างสิ่งจูงใจที่จะเข้ามาช่วยแชร์ภาระต้นทุนส่วนตัวของอาจารย์ดังกล่าวแต่อย่างใด

อาจารย์จำนวนมากก็ต้องหารายได้เสริม ซึ่งก็เป็นรายได้สุจริตนะครับ โดยการสอนนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตามโครงการพิเศษต่างๆ และรับงานวิจัย ซึ่งโดยมากเป็นงานวิจัยเชิงนโยบายจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

ที่ต้องทำงานพวกนี้ ไม่ใช่หวังเป็นเศรษฐีนะครับ เพราะถ้าหวัง ก็คงไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่แค่ให้พอให้ตัวเองและลูกเมียอยู่อย่างไม่ยากลำบาก เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ และมีสมบัติที่จำเป็นในการใช้ชีวิตบ้างเท่านั้น

งานวิจัยเชิงทฤษฎีที่มุ่งสร้างองค์ความรู้บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า Basic Research มันถึงไม่ค่อยเกิด เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสงานประเภทนี้มันสูงมาก ผลตอบแทนจากงานประเภทนี้ต่ำมาก เมื่อเทียบกับงานวิจัยเชิงนโยบาย ที่วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานกำหนดนโยบาย อีกทั้ง งานประเภทนี้ใช้เวลาทำนาน และทำไปทำมา อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์สำเร็จตามต้องการก็ได้

การทำงานใช้สมองหนักๆ มันต้องมีสมาธิอย่างแรงกล้า ต้องจมจ่อมกับมัน และอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สบายพอควร ถ้ายังมัวต้องดิ้นรนเพื่อปัจจัยสี่อยู่อย่างทุกวันนี้ โอกาสในการเหลือพลังผลิตงานเช่นนี้ก็น้อยลง

อันนี้ยังโยงไปถึง ความล้มเหลวของสถาบันอื่นในสังคมอีกด้วย เพราะจะว่าไปแล้ว งานวิจัยเชิงทฤษฎีจำนวนมากที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องนั่งทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องมาถึงมือพวกเราหากเรามีผู้กำหนดนโยบายที่เข้มแข็ง มีระบบราชการที่เอื้อให้คนใช้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาได้ มีนักวิชาการประจำกระทรวงทบวงกรม

นี่เป็นงานที่เทคโนแครตควรจะทำกันเอง โดยให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นผู้วิจารณ์งานก็พอ

แต่ในความเป็นจริง ระบบราชการไทยไม่มีนักวิชาการพอ ไม่ได้กำหนดนโยบายกันด้วยปัญญาและองค์ความรู้ แต่ด้วยอำนาจ หรือความพอใจของผู้มีอำนาจแต่ละระดับไล่กันขึ้นไป

สถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นคลังสมองของระบบราชการยังไม่ค่อยมีภูมิปัญญาทำงานวิชาการด้วยตนเอง แต่ทำตัวเป็นได้แค่นายจ้าง ที่รับเงินงบประมาณแล้วจ้างต่อ เก็บค่าต๋งเท่านั้น ตลาดความต้องการนักวิชาการมาทำวิจัยเชิงนโยบายจึงมาก บวกกับงบประมาณในระบบราชการที่ตั้งงบกันสุรุ่ยสุร่าย เงินค่าจ้างจึงสูง บิดเบือนโครงสร้างผลตอบแทนทุกประเภท ทำให้อาจารย์ไม่อยากเสียเวลาทำงานเชิงทฤษฎีแต่มาทำงานเชิงนโยบายดีกว่า มันทำง่าย และจ่ายงาม (แต่ก็มิใช่ว่างานประเภทนี้ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงนะครับ)

เห็นได้ว่า ความล้มเหลวของสถาบันอื่นในสังคมก็ส่งผลต่อเนื่องมาสร้างความล้มเหลวของสถาบันวิชาการเช่นกัน

เหมือนอย่างระบบการเมืองและสื่อมวลชนที่อ่อนแอ ก็ในเมื่อฝ่ายค้านไม่ได้เรื่อง สื่อมวลชนจับประเด็นไม่ได้ วิเคราะห์เชิงลึกไม่เป็น นักวิชาการก็เลยถูกคาดหวังจากสังคมให้มีอีกบทบาทหนึ่งเพิ่มขึ้น นั่นคือ ต้องมาทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านและสื่อมวลชน ตรวจสอบผู้มีอำนาจ โดยใช้ความรู้เป็นอาวุธ

ถ้าไม่ทำ ก็ดูเหมือนสังคมไทย จะไร้สถาบันอื่นรองรับ จะมีก็สถาบันองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งก็ยังคงอ่อนแอเช่นเดียวกัน และในแง่การเมืองเชิงวัฒนธรรมแล้ว ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าสถาบันนักวิชาการ

ที่พูดอย่างนี้ ใช่ว่าสถาบันวิชาการจะเข้มแข็งอะไรหนักหนานะครับ ก็เตี้ยอุ้มค่อมกันไป

คราวที่ผมเป็นตัวตั้งตัวตี เคลื่อนไหวคัดค้านการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล เสียเวลาไปสามอาทิตย์เต็มๆ ตั้งแต่ร่างจดหมายเปิดผนึก เดินล่ารายชื่ออาจารย์ จัดสัมมนา เตรียมบทอภิปราย ต้องไปนั่งอ่านกฎหมายมากมาย นั่งอ่านรายงานการเงินของสโมสร สามอาทิตย์เพื่อมาสู้กับนโยบายปาหี่งี่เง่าที่ไร้เหตุไร้ผลด้วยเหตุด้วยผล

แต่ถ้าไม่ทำ พลังการต่อต้านในสังคมอาจอ่อนแอลง จนทำให้การคัดค้านไม่สำเร็จและสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติ ถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มันไม่มีผู้นำคนไหนจะดัดจริตคิดสั้นซื้อสโมสรฟุตบอลเมืองนอกโดยใช้เงินรัฐหรอกครับ แถมประชาชนจำนวนมากยังชื่นชมเสียอีก

ผมคิดว่าสังคมไทยยังต้องการบทบาทการมีส่วนร่วมในฐานะนักปฏิบัติการทางการเมืองของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อไปอีกนาน ซึ่งก็จำเป็นนะครับ เพราะในเมื่อพลังในระบบอ่อนแอ นักวิชาการมีพลังอิสระ ที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มผลประโยชน์ใด จึงมีค่า และสังคมไทยยังให้ค่ากับนักวิชาการในระดับสูงทีเดียว

แต่ในสังคมที่เติบโตทางปัญญา มีวัฒนธรรมเรียนรู้ และมีสถาบันอื่นในสังคมที่เข้มแข็ง บทบาทตรงนี้ของนักวิชาการก็จะลดน้อยลงไปเองโดยอัตโนมัติ

ย้อนกลับมาเรื่องโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ล้มเหลวของการทำงานวิจัยอีกทีหนึ่ง

นอกจากเหตุผลว่าทุนวิจัยเชิงทฤษฎีมันทั้งมีน้อยและทั้งให้เงินน้อยแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ บรรยากาศงานวิชาการในมหาวิทยาลัยมันไม่มี

ที่ไม่มี เพราะนอกจากคนเก่งและคนดีที่ไม่หลงใหลอยากเป็นนักวิชาการใจจะขาดจะ “เลือก” ไม่เข้ามาแบกรับต้นทุนส่วนตัวแล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยไม่เป็นที่รวมของคนที่เก่งที่สุดอย่างที่ควรจะเป็นทั้งที่มีหน้าที่ต้องสอนคนรุ่นต่อๆไปอีก ยังมาจากสองเหตุผลสำคัญคือ

หนึ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องแบ่งเวลาไปทำงานที่ไม่เป็นสาระมากมาย โดยเฉพาะงานบริหาร ต่างจากอาจารย์เมืองนอก ที่ค่าตอบแทนก็สูงลิ่วแบบอยู่ได้สมศักดิ์ศรี และใช้เวลาทั้งหมดในการคิดและเขียนได้อย่างเต็มที่

แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องถูกงานบริหารกินเวลาไปมากมาย ประชุมกันบ่อยเหลือเกินในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ต้องทำงานแทนเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีศักยภาพจะทำงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งเราเห็นพวกอาจารย์ต้องมานั่งร่างจดหมาย นั่งนัดผู้อภิปรายในงานสัมมนาเอง ฯลฯ ที่สำคัญ ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาแบบราชการที่เต็มไปด้วยระเบียบหยุมหยิม ขั้นตอนมากมาย และสร้างภาระงานโดยไม่จำเป็นขึ้นมามาก

อันนี้ใครไม่เคยมาเจอกับตัวจะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึก จะบอกว่า งั้นก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน โลกความจริงก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น

การบริหารมหาวิทยาลัยในเมืองนอก ระดับคณะมีเจ้าหน้าที่แค่ 5-6 คน ก็ดำเนินงานในคณะได้อย่างราบรื่น ต่างจากมหาวิทยาลัยที่หลายคณะมีคนเกือบห้าสิบคน ยังนำคณะเดินหน้าไม่ได้ แถมยังฉุดกองหน้าอย่างอาจารย์ให้ต้องลงต่ำอีก

สอง ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เป็นผลพวงของสังคม เมื่อสังคมไทยไร้วัฒนธรรมเรียนรู้ ผู้คนก็ให้คุณค่าตัดสินคนแค่เปลือกนอกโดยดูที่วุฒิการศึกษาสูงๆ จากมหาวิทยาลัยดีๆ มองการศึกษาเป็นแค่บันไดไต่ไปสู่งานดีๆ เงินเดือนเยอะๆ ไม่ให้เห็นคุณค่าการศึกษาในฐานะเครื่องมือที่สร้างความเข้าใจโลก พัฒนาองค์ความรู้และวิธีคิด ซึ่งเป็นทั้งกระบวนการและจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง

บรรยากาศการเรียนรู้ในหมู่นักศึกษาเลยไร้ชีวิตชีวา เมื่อคนไม่ได้เรียนด้วยจิตใจที่เบิกบาน การเรียนการสอนก็ยกระดับไปอีกขั้นไม่ได้ พลังตรวจสอบคุณภาพอาจารย์จากฝ่ายนักศึกษาก็ต่ำ อาจารย์ที่สอนเช้าชามเย็นชาม หรือเตรียมสอนครั้งเดียวใช้ตลอดชีวิต แต่ข้อสอบง่าย เด็กจดง่าย ก็ได้คะแนนประเมินสูง ขณะที่คนที่สอนให้เด็กคิด อาจไม่เป็นที่สบอารมณ์

อาจารย์ไร้แรงกดดันให้ต้องพัฒนาตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะนักศึกษาไม่ใส่ใจตรวจสอบอย่างเข้มข้น อาจารย์จำนวนไม่น้อยเองก็หาได้เข้าใจปรัชญาการศึกษา ก็ตอนเรียนก็ผ่านประสบการณ์แบบนี้มาเหมือนกัน เลยสอนกันไปตามหน้าที่ เราเลยได้ความสัมพันธ์แปลกๆ ที่ทั้งคู่ต่างไร้คุณภาพ ไร้ปฏิสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ การเรียนการสอนแบบไทยๆ มันขาด passion จากทั้งสองฝ่ายอย่างมาก

เมื่อคนสนใจมองการศึกษาเป็นแค่เพียงบันไดไต่ฐานะทางสังคม ก็ต้องแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา เดิม ปริญญาตรีเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ตอนนี้ก็ไต่ระดับมาเป็นปริญญาโท โอกาสทำเงินจากการศึกษาระดับสูงก็มีมาก มหาวิทยาลัยเปิดโครงการพิเศษมากมายเพื่อรองรับความต้องการซื้อดังกล่าว คนแบบนักเรียนปริญญาตรีทั่วไปก็มาเรียนปริญญาโท การศึกษาระดับสูงที่มุ่งเรียนสอนองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น ก็กลายมาเป็น การศึกษาของมวลชนที่ไต่ระดับมาหาบันไดขั้นที่สูงขึ้นเท่านั้น แถมเป็นมวลชนที่มีอำนาจซื้อซะด้วย

อาจารย์และมหาวิทยาลัยเองก็ต้องแสวงหารายได้ ก็พาตัวเองมาตัดกับความต้องการดังกล่าวได้อย่างเหมาะเหม็ง โครงการที่เกิดขึ้นมากมายแต่ไร้คุณภาพส่วนใหญ่ก็ต่างเป็นที่ทางให้ทั้งสองฝ่ายสมยอมกัน อาจารย์ที่ตั้งใจสอนมากสอนยากสอนลึกก็ถูกประเมินไม่ดี จะใช้เกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการแบบเข้มข้นก็ไม่ได้ เพราะคนอาจสอบตกกันหมด ไม่มีคนเรียนแล้วจะหาเงินจากไหนในอนาคต อาจารย์เหล่านี้บางคนก็สอนได้แค่เทอมเดียว ก็ไม่ถูกเชิญอีก

ธุรกิจการศึกษาสร้างมาตรฐาน(ต่ำ)ทางการศึกษาใหม่ โดยทำลายทั้งฝ่ายคนเรียน คนสอน และสังคม

แต่โครงการดีๆ ที่มีคุณภาพก็มีนะครับ อย่าเหมาว่าโครงการปริญญาโททำขึ้นเพื่อหาเงินทั้งหมดและห่วยทั้งหมด

เขียนมายาวขนาดนี้แล้ว คงเห็นว่า ปัญหาของวงวิชาการไทยเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่แก้ไม่ง่ายเลย และเชื่อมโยงกับสถาบันอื่นนอกโลกวิชาการ และสภาพสังคมที่โลกวิชาการดำรงอยู่ร่วมกับมัน

จริงๆ ผมยังเขียนต่อไปได้เรื่อยๆ เป็นหนังเรื่องยาวได้สบาย เชื่อมโยงห่วงโซ่แห่งความล้มเหลวต่อไปได้ไม่รู้จบ จนเหมือนเป็นความผิดที่จับมือตัวการมาดมไม่ได้ ทุกคนมีส่วนต้องร่วมรับผิดพอๆ กัน

แม้หากกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าคือ ผลตอบแทนของอาจารย์น้อยเกินไปแล้ว วิธีแก้ก็ยังไม่ใช่เพิ่มเงินเดือนให้อาจารย์มากๆ แล้วปัญหาทุกอย่างจะจบนะครับ

เพราะนั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาในโลกป่วยไข้ขนาดใหญ่ใบนี้เท่านั้น