pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Saturday, April 02, 2005

นักวิชาการในฝัน (1) : กรอบความคิด

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะคาดหวังบทบาทของนักวิชาการไทยไว้สูงยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสังคมอยู่ท่ามกลางความมืดบอดทางปัญญา ท่ามกลางความอับเฉาของวงวิชาการโดยรวม และท่ามกลางความป่วยไข้ของสถาบันต่างๆในสังคม

ความคาดหวังของผู้คนต่อบทบาทนักวิชาการในฝันมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนให้คุณค่าความสำคัญต่อภารกิจใดของนักวิชาการมากกว่ากัน

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการตั้งตาตั้งตาผลิตองค์ความรู้ใหม่อยู่บนหอคอยงาช้าง เพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญาบริสุทธิ์

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการมีบทบาททางสังคม เพื่อเติมเต็มกลไกที่พิกลพิการในสังคม เช่น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสังคม ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆ กระทั่งลงไปถึงระดับข้อเท็จจริง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการให้ความรู้พื้นฐานในระดับอ่านออกเขียนได้ในศาสตร์ที่ตนถนัดแก่สังคม ด้วยภาษาที่คุยกับสังคมรู้เรื่อง แบบไม่ต้องปีนบันไดเพื่อเข้าถึง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังข้อเสนอเชิงนโยบายจากนักวิชาการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เลยเถิดไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้กำหนดนโยบายด้วยตัวเอง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการต้องมีความสามารถในการเป็นนักบริหาร(การศึกษา)ที่ดี

นักวิชาการไทยเลยต้องมีหลายภาคในตัวคนเดียว ต้องทำตัวเป็นทั้งอาจารย์ผู้สอน นักวิจัย ทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงนโยบาย นักเขียน นักการเมือง สื่อมวลชน นักสืบ ผู้กำหนดนโยบาย นักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ

บทบาทที่หลากหลายตามความคาดหวังที่แตกต่างกันข้างต้น บ่อยครั้งก็มีความขัดแย้งกันเอง การใส่ใจปฏิบัติบทบาทหนึ่งอย่างเข้มแข็ง มีส่วนทำให้การทำหน้าที่ในบทบาทอื่นอ่อนแรงลง เช่น เมื่อต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านหรือสื่อมวลชนที่เต็มไปด้วยความอ่อนแอ เวลาในการอ่านหนังสือหรือทำวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ ก็ลดน้อยลง

หรือหากมัวแต่ผลิตงานที่ให้ชาวบ้านทั่วไปอ่านเข้าใจรู้เรื่อง สอนพื้นฐานวิชาการแก่สังคมวงกว้าง เวลาที่จะเอาไปเขียนงานขึ้นหิ้ง ลึกซึ้ง ยกระดับองค์ความรู้ในสายวิชาการของตัวเอง ก็ลดลง การยอมรับนับถือจากสังคมวงกว้างอาจจะมากขึ้น แต่ในหมู่เพื่อนร่วมวิชาชีพวงแคบของตัวเองอาจจะน้อยลง

ภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร ปรากฏการณ์ 'ได้อย่าง-เสียอย่าง' เช่นนี้ เป็นสิ่งที่นักวิชาการทุกคนต้อง 'แลก'

ซึ่งการตัดสินใจยอม 'แลก' อะไรกับอะไร หรือการจัดเรียงลำดับความสำคัญของบทบาทหน้าที่ต่างๆ ของแต่ละคน ก็สะท้อน 'ตัวตน' และ 'ความพึงใจ' (preference) ของผู้เลือกแต่ละคน ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ อย่างไร้รากไร้ที่มา หากเป็นผลพวงจาก 'โลก' ของตัวเอง โลกที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ ความเชื่อ อุดมการณ์ ระดับสภาพจิต ระบบการให้คุณค่า รสนิยม ฯลฯ ของแต่ละคนเอง

'โลก' ของใคร ก็ 'โลก' ของมัน

ด้านหนึ่ง ตัวตนของเราได้รับอิทธิพลจาก 'โลก' (สภาพสังคม กฎกติกาในสังคม ภูมิหลัง ประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยมของสังคม ฯลฯ) ที่เราเผชิญ พูดง่ายๆว่า 'โลก' มีส่วนสร้างเราขึ้นมา แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวเราก็มีส่วนย้อนกลับไปสร้าง 'โลก' เช่นกัน เช่น มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมภายนอก สร้างวัฒนธรรมใหม่ในสังคม ฯลฯ

'โลก' สร้าง 'เรา' และ 'เรา' ก็สร้าง 'โลก' ไปด้วยพร้อมๆกัน อย่างเคลื่อนไหวเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อเจอประสบการณ์ใหม่ โลกเราก็เปลี่ยน เราก็เปลี่ยน เราก็ไปเปลี่ยนโลกในทางที่ต่างไปจากเดิม เช่นนี้เรื่อยไป ความขัดแย้งของเรากับโลกจะเกิดการสังเคราะห์หลอมรวมพัฒนาสู่การเป็นเราใหม่กับโลกใหม่ เรื่อยไปไม่รู้จบ

เช่นนี้แล้ว 'โลก' ที่ว่า มันไม่ได้มีสากลหนึ่งเดียว รออยู่ตรงนั้น รอให้เราค้นพบมันด้วยวิถีทางค้นหาความจริงต่างๆ แต่ 'โลก' มีความหลากหลาย ต่างคนต่างมีของใครของมัน แม้แต่ละคนจะร่วมรับรู้บางมิติของโลกร่วมกันผ่านข้อเท็จจริงหรือประวัติศาสตร์ชุดเดียวกัน แต่มีอีกหลายมิติที่ต่างคนต่างมีพื้นที่เป็นของตนเอง

ส่วนหลังนี้เองที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน

โลกไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่แต่ละคน 'สร้าง' ขึ้นมา มันไม่มี 'โลก' ที่สัมบูรณ์ มีแต่ 'โลก' ที่สัมพัทธ์กับสิ่งอื่นๆ คุณค่าความหมายของมันไม่ได้เป็นความจริงแท้ที่เป็นสากล ตายตัว เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวพันกับสิ่งอื่น หากสัมพันธ์กับระบบการให้คุณค่าความหมายของสังคม ตัวตนมันไม่ได้มีความหมายอะไรโดยตัวของมันเอง แต่มีความหมายเพราะว่ามันแตกต่างจากสิ่งอื่นๆอย่างไรต่างหาก

ดังนั้น มันไม่มีเกณฑ์ที่จะบอกได้ว่า 'โลก' ของใคร ดีกว่า สวยกว่า มีคุณค่ากว่า ฟังขึ้นกว่า เข้มแข็งกว่า 'โลก' ของใคร

เพราะมันไม่มี 'โลก' ที่เป็นสากล ที่จริงแท้เหนือ 'โลก' อื่นๆ

เช่นกัน มันไม่มีเกณฑ์ที่เป็นสากล ที่ใช้ตัดสินว่า นักวิชาการแบบไหนมีคุณค่ามากกว่านักวิชาการแบบไหน ภาระหน้าที่ใดมีคุณค่าเหนือกว่าภาระหน้าที่ใด

เป็นเรื่องง่ายที่นักวิชาการที่อยู่ใน 'โลก' แบบหนึ่ง ซึ่งมีความพึงใจแบบหนึ่ง จะใช้เกณฑ์ของตัวเองไปตัดสินคุณค่าต่อบทบาทของนักวิชาการที่อยู่ใน 'โลก' อีกแบบหนึ่ง มีความพึงใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า หากใช้เกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ 'โลก' แบบที่หนึ่ง ไปตัดสินคุณค่าของ 'โลก' แบบที่สอง โลกแบบที่สองก็ย่อมไร้คุณค่าหรือมีคุณค่าด้อยกว่าอย่างแน่แท้

ลองเปลี่ยนคำว่า 'โลก' เป็นคำว่า 'ความจริง' ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างออกไป

ภายใต้พื้นฐานกรอบความคิดเช่นนี้ คำถามที่ว่า นักวิชาการที่ดีควรจะให้ความสำคัญต่อบทบาทใดมากที่สุด? หรือนักวิชาการที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร? ก็ดูจะไม่สำคัญมาก เพราะไร้ซึ่งคุณค่าที่เป็นสากล จะสำคัญก็สำหรับคนที่มีโลกทัศน์ต่อ 'ความจริง' ว่า มันมีความจริงแท้หนึ่งเดียวที่เป็นสากล ที่เหนือกว่าความจริงชุดอื่น อันนำไปสู่ความคิดที่ว่า นักวิชาการที่ดีต้องมีลักษณะแบบนักวิชาการในฝันของเขาเพียงเท่านั้น

ซึ่งผมไม่เห็นด้วย

นักวิชาการที่ดี กระทั่งงานวิชาการที่ดี มีคุณสมบัติได้หลากหลาย มีระบบการตัดสินคุณค่าที่หลากหลาย การไปชี้หน้าชี้นิ้วต่อว่าต่อขานคนที่มี 'โลก' หรือ 'ความพึงใจ' หรือ 'การตัดสินคุณค่า' แตกต่างจากเรา จึงดูจะไม่ค่อยเป็นธรรมและค่อนข้างใจแคบไปเสียหน่อย

อย่าเอาเกณฑ์ใน 'โลก' ของเรา ไปเที่ยวพิพากษาคนอื่นเสียง่ายๆ จะทุกข์ใจไปเสียเปล่าๆ และดูถูกคนอื่นในแง่ร้ายเกินไป

กัลยาณมิตรทางปัญญาของผมที่วนเวียนอยู่แถวๆ นี้หลายคนมักวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของนักวิชาการไทยอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งบางคนมักมองนักวิชาการเป็นมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่เป็นประดุจเทวดา ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคมไทย และคาดหวังให้นักวิชาการไทยต้องมีระดับศีลธรรมหรือระดับความรับผิดชอบที่สูงส่งเหนือคนทั่วไป ประหนึ่งว่าเขาไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกัน เผชิญกติกาเดียวกัน กับคนไทยทั่วไป

แต่หากอ่านความคิดของผมมาจนถึงตรงนี้แล้ว คงเห็นประเด็นสำคัญที่ผมต้องการจะสื่อ นั่นคือ

หนึ่ง ภาพของนักวิชาการในฝันก็หาได้มีหนึ่งเดียวเป็นสากล หากเกณฑ์การตัดสินคุณค่าของความเป็นนักวิชาการในฝันก็มีหลากหลาย มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งถูกที่สุด หรือมิใช่ของคนส่วนใหญ่ถูกที่สุด

สอง นักวิชาการไทยก็มิได้ลอยอยู่เหนือสังคม แต่ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่ง (เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น) ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพและสถาบันในสังคม ต้องทำงาน คิด และมีปฏิสัมพันธ์ภายใต้สังคมและสถาบันแบบไทยๆ แม้จะมีส่วนกำหนดและเปลี่ยนแปลงสังคมระดับหนึ่งก็ตาม นักวิชาการมีส่วนสร้าง 'โลก' แต่ก็ถูก 'โลก' ที่ตัวเองอยู่สร้างด้วย

ผมอ่านหรือฟังคำวิจารณ์ว่าด้วยบทบาทของนักวิชาการในฝันของเพื่อนผมหลายคนแล้ว พบว่า ด้านหนึ่งเขาก็มองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะส่วนมาก เพื่อนผมแถวนี้มักมีภาพนักวิชาการในฝันแบบหนึ่ง จนอาจจะลดทอนคุณค่าของนักวิชาการในฝันแบบอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยๆ เช่น ชอบวิจารณ์ว่านักวิชาการไทยมัวแต่ทำหน้าที่ทางสังคม เป็น pop academician เป็นนักตรวจสอบรัฐบาล แต่ละเลยการหมกตัวอยู่ในหอคอยงาช้าง ไม่ผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์ ไม่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเท่าที่ควร

แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มองนักวิชาการไทยในแง่ดีเกินไปโดยมิได้ตั้งใจ เพราะอย่างน้อยประเด็นของเขาก็คือ นักวิชาการไทยหลงผิดไปทุ่มเททำงานที่ไม่ควรจะใส่ใจ ควรหันมาเดินบนเส้นทางในฝันของเขากันดีกว่า (ซึ่งก็อาจจะถูกของเขา แต่ผิดสำหรับคนอื่น) ทั้งที่ในโลกแห่งความจริง มหาวิทยาลัยไทยยังล้าหลังรั้งท้ายจากข้อถกเถียงของพวกเขามากมายนัก

เพราะมหาวิทยาลัยไทยแทบจะไม่มีความเป็นมหาวิทยาลัย ซ้ำร้าย แทบไม่มีนักวิชาการอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยเลยต่างหาก

มหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยคนที่ไร้คุณสมบัติที่จะเป็นนักวิชาการในฝัน ไม่ว่าจะเป็นฝันแบบใดก็ตาม

ใช่ครับ ... ความจริงที่แสนเศร้าก็คือ มหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยคนที่ทั้ง สอนก็ไม่เก่ง ทำวิจัยก็ไม่เป็น วิจารณ์สังคมก็ไม่ได้ บริหารก็ไม่ได้เรื่อง เขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่อง จิตวิญญาณเพื่อสังคมไม่มี

อย่างที่บอกครับ นักวิชาการไม่ใช่เทวดาที่ลอยอยู่เหนือสังคม แต่ก็เป็นปุถุชนธรรมดาๆ ที่พฤติกรรมของเขาก็ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญจากสภาพสังคมและคุณภาพของสถาบันในสังคม ไม่ต่างจากกลุ่มชนอื่นในสังคม

ซึ่งสภาพสังคมและสถาบันแบบไทยๆ มักทำลายนักวิชาการในฝันทุกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ดึงดูดให้คนเก่งเข้าสู่วงวิชาการ ลอยแพคนที่เลือกเข้าสู่วงวิชาการด้วยใจรักให้ต้องใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ ที่สำคัญ ไม่เอื้ออำนวยต่อนักวิชาการในฝันที่เพื่อนผมหลายคนแถวนี้ใฝ่หา คือไม่เอื้ออำนวยให้คนที่อยากใช้ชีวิตบนหอคอยงาช้าง นั่งทำงานเชิงทฤษฎี ให้สามารถทำงานได้เต็มที่ และอยู่รอดได้

กระนั้น สถาบันที่ดี ที่จะทำให้ท้องฟ้าของนักวิชาการเป็นสีทองผ่องอำไพ ไม่ใช่สถาบันที่มีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ตีเส้นทางเดินไปสู่ความเป็นนักวิชาการในฝันแบบเดียวกัน แบบใดแบบหนึ่ง นะครับ แต่เป็นสถาบันที่ดีในความหมายที่สามารถส่งเสริมเอื้ออำนวยให้นักวิชาการในฝันแต่ละแบบ สามารถแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเจิดจรัส ตามวิถีแห่งตน

ให้นักวิชาการที่มี 'โลก' หลากหลายแตกต่างกัน สามารถบรรลุเส้นทางฝันของใครของมันได้

เช่นนี้เราจึงจะได้นักวิชาการในฝัน ไม่ว่าจะเป็นฝันแบบใดก็ตาม