สำนักหลังเขาของผม (1)
ความประทับใจที่สุดอย่างหนึ่งในการมาฝึกวิชาที่สำนักหลังเขาก็คือ บรรยากาศภายในสำนัก ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว
วันแรกของเมื่อสี่ปีก่อน ตอนผมก้าวขึ้นตึกสำนักเป็นครั้งแรก ก็เกิดความรู้สึกหลายอย่างผสมปนเปกันไป
รู้สึกทันทีเลยว่า ... สนุกแน่ๆ
จำได้ว่า ผมไปถึงก่อนเปิดเทอม บรรยากาศจึงค่อนข้างเงียบเหงา ผมเดินสำรวจแต่ละชั้น ก็แปลกใจปนขบขัน เพราะหน้าประตูห้องของอาจารย์แต่ละคน ติดการ์ตูนล้อการเมืองบ้าง ด่ารัฐบาลบ้าง เหน็บแนมระบบทุนนิยมบ้าง สนับสนุนกลุ่มรักร่วมเพศบ้าง บางคนก็เอารูปของตัวเองที่เอากิ้งก่ายักษ์พันรอบคอ เมื่อคราวไปเยือนแอฟริกามาติดโชว์ ดูแล้วเป็นที่ครื้นเครงบันเทิงใจยิ่งนัก
แม้จะรู้อยู่ว่าสำนักนี้เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง ที่เต็มไปด้วยฝ่ายซ้าย หนึ่งในไม่กี่แห่งในสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนั้น ก็นึกไม่ถึงว่า บรรยากาศมันจะแตกต่างจากเมืองไทยมากขนาดนี้
ได้กลิ่นไม่ธรรมดามากกว่าที่เตรียมใจรับมือไว้ ว่าอย่างงั้น
เดินไปถึงห้องคอมพิวเตอร์ ก็เจอรุ่นพี่ชาวอิหร่าน คุยไปคุยมาก็รู้ว่า เธอกำลังจะจบในอีกไม่กี่เดือนนี้แล้ว
คุยต่อไป ใจก็หายวูบ เพราะเธอบอกว่า เรียนที่คณะมา 11 ปีแล้ว !!!
เพิ่งมาเหยียบก็ขนหัวลุกแล้ว คิดในใจว่าแล้วกูจะจบไหมเนี่ย
เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกทำวิทยานิพนธ์เรื่องหนึ่ง ใช้เวลาสามปี เหลืออีกบทหนึ่ง แต่เริ่มรู้สึกหมดความท้าทาย และดันไปสนใจหัวข้อใหม่ เลยตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อ ทำเรื่องใหม่ที่ตื่นเต้นกว่าดีกว่า
แนวมากเลยครับพี่
ตอนหลังถึงได้รู้ว่า ที่สำนักหลังเขา ไม่มีขอบเขตบังคับว่าจะต้องเรียนให้จบภายในกี่ปี อยู่ไปได้เรื่อยๆ เรียนได้เรื่อยๆ เพราะเชื่อในปรัชญาการศึกษาที่ว่า การเรียนรู้ไม่ควรมีขอบเขต ไม่ควรมีการบังคับหรือเร่งรัดกัน อาจารย์บางคนถึงกับประกาศว่าถ้าจะเขียนวิทยานิพนธ์กับเขา ให้เตรียมไว้เลยว่าจะจบประมาณเกือบสิบปี เพราะเขาไม่เชื่อว่าการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นแค่เพียงบันไดไต่สู่ปริญญาเอก แต่งานต้องมีคุณค่า ต้องศึกษาให้ถึงแก่น ซึ่งถ้าจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องใช้เวลา
สมาชิกจำนวนมากก็คิดว่า ที่คณะนี้มีอาจารย์ที่มีวิธีมองโลกแตกต่างกันหลากหลายสำนัก มีวิทยายุทธ์จากหลากหลายคัมภีร์ ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาในการลิ้มลองวิชาสำนักต่างๆ ให้รู้ว่าตัวเองสนใจวิธีคิดแบบไหน อยากเขียนงานด้วยวิธีมองโลกแบบไหน และต้องใช้เวลาสังเคราะห์องค์ความรู้ที่หลากหลายให้เข้ากับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า ต้องใช้เวลาอีกเหมือนกัน
ปกติแล้ว นักเรียนที่นี่เลยสอบข้อเสนอวิทยานิพนธ์กันประมาณปีที่ 5 ค่าเฉลี่ยของการจบอยู่ที่ 7-8 ปี ซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น
เมื่อสองปีก่อน ตอนเกิดวิกฤตการณ์งบประมาณภาครัฐ มหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาถูกตัดงบประมาณจำนวนมาก สำนักของผมก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน จนเริ่มมีการส่งเสียงลอยลมมาว่า ควรจะกำหนดขอบเขตเวลาเรียนดีหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่ปี เพราะถ้ามีคนเก่าอยู่มาก ทุนก็เหลือน้อยลง โอกาสรับคนใหม่ก็ลดลงด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ปีไหน มีสิทธิอยู่ใน pool เพื่อทำงานแลกเงินเรียนทุกคน
แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ตกไป ด้วยเสียงไม่เห็นด้วย ทั้งฝ่ายนักศึกษา และฝ่ายอาจารย์เอง
พูดถึงเรื่องการให้ทุน อย่างที่บอก ทุกคนที่คณะผมตอบรับให้เข้าเรียน จะมีทุนให้ทุกคน แต่ต้องทำงานเป็นผู้ช่วยสอน (TA) หรือผู้ช่วยวิจัย (RA) ซึ่งแต่ละปี คณะจะได้รับเงินก้อนจากมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นทุนสำหรับจัดสรรต่อจำนวนหนึ่ง โดยส่วนมาก ถ้าเป็นที่มหาวิทยาลัยอื่น อาจารย์จะเป็นคนเลือกว่าจะให้ใครเป็น TA สอนอะไร นั่นคือ คณะเป็นผู้ตัดสินใจจัดสรรเงินให้ โดยนักศึกษาไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียง
แต่ที่คณะผม มีองค์กรนักศึกษาปริญญาเอกที่เรียกว่า EGSO ซึ่งบริหารตามหลักประชาธิปไตย (และสังคมนิยม !) โดยนักศึกษาปริญญาเอกทั้งหมดเป็นสมาชิก มีการเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆกันทุกต้นปีการศึกษา (โดยมาก จะเป็นการเสนอชื่อตำแหน่งต่างๆ แล้วใช้สิทธิรับรอง ไม่ได้ลงแข่งกัน มีประธานร่วมกันสามคน หนึ่งในนั้นเป็นนักเรียนปีหนึ่ง)
ทุกต้นปี คณะจะนำเงินก้อนที่ได้จากมหาวิทยาลัยทั้งหมดให้กับ EGSO ไปบริหารจัดสรรเงินทุนกันเองในหมู่นักเรียน พอเปิดเทอม EGSO ก็จะจัด Allocation Meeting เพื่อแบ่งทุนกัน โดยจะเขียนวิชาที่อาจารย์ต้องการ TA ทุก sec ไว้บนกระดานดำในห้องประชุม ให้สมาชิกจับสลากเบอร์ 1 ถึง 100 ใครได้เบอร์ 1 ก็มีสิทธิเลือกวิชาที่ตัวเองอยากสอนก่อน ไล่จนถึง 100 แล้วพอเทอม 2 ในปีการศึกษาเดียวกัน คนที่ได้เบอร์ 100 ก็จะได้สิทธิเลือกก่อนบ้าง
ถ้าปีไหนเงินน้อย ฝนก็อาจจะตกไม่ทั่วฟ้า บางคนอาจจะได้ทุนน้อยกว่าคนอื่น คือได้สอนไม่ครบ 3 sec ยกเว้นก็แต่นักเรียนปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาใหม่จะได้การันตี 3 sec เต็มจำนวนในปีแรก นี่เลยโยงไปถึงข้อเสนอที่เล่าให้ฟังข้างต้น เพราะสมาชิก EGSO ทุกคน ไม่เกี่ยงชั้นปี สามารถเข้าไปอยู่ใน pool TA ได้ทั้งหมด ปีไหนคนขอเป็น TA เยอะ ทุนก็อาจจะไม่พอ
ระบบเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายๆนะครับ แต่เป็นผลพวงของการต่อสู้ระหว่าง EGSO และอาจารย์ อย่างยาวนานนับสิบปี จนท้ายที่สุดฝ่ายนักศึกษาได้รับชัยชนะเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ระบบ pool รวมแบบนี้ยังไม่ได้นำมาใช้กับการจัดสรร RA แต่ตลอดสี่ปีที่ผมอยู่ ก็มีการต่อสู้เรียกร้องเรื่องการจัดระเบียบการจัดสรรทุน RA ให้โปร่งใส่และเป็นธรรมมากขึ้นตลอดเวลา สู้กันหนักๆ เป็นพักๆ แต่ตอนนี้อำนาจการเลือก RA ยังอยู่กับอาจารย์อยู่
เบื้องหลังความคิดของฝ่ายนักศึกษาก็คือ อยากออกแบบระบบที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน เพราะถ้าปล่อยให้อาจารย์เลือก TA หรือ RA ได้เอง ก็จะแอบทำกันลับๆ ไม่เปิดเผย พวก "เด็กเส้น" ก็จะมีโอกาสได้รับการติดต่อก่อน ด้านฝ่ายอาจารย์ก็มีความคิดว่า เขาเป็นเจ้าของเงิน ต้องการเลือกคนมาทำงานให้ ก็อยากได้คนที่เข้ากันได้ และรู้ฝีมือดี
แม้เรื่องการจัดสรรทุน RA ยังต่อสู้กันอยู่ (โดยรอมชอมกันได้บางเรื่อง) แต่เมื่อสองปีที่แล้ว มีเรื่องสนุกเรื่องหนึ่งคือ กรณีจัดสรรงานเฉพาะกิจ ที่มีค่าตอบแทนไม่มาก เช่น ขับรถรับส่งวิทยากรที่มาอภิปราย จัดระบบข้อมูลคนสมัครเข้าเรียน คุมสอบ ฯลฯ ปกติ อาจารย์ก็จะประกาศรับสมัครมาทางอีเมล์กรุ๊ปของ EGSO ใครสนใจก็ตอบกลับไปสมัคร แล้วอาจารย์ก็จะอีเมล์กลับมาบอกกับกรุ๊ปว่าได้คนแล้ว
EGSO ก็เห็นว่า วิธีแบบนี้ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม เพราะไม่มีใครรู้ว่ามีใครสมัครไปที่อาจารย์บ้าง และอาจารย์ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินว่าใครควรได้งาน
การเรียกร้องก็เกิดขึ้น โดยมีข้อเสนอให้ EGSO เป็นคนจัดสรรงานเฉพาะกิจเอง โดยจะจัดสรรให้กับผู้สมัครงานที่มีทุนน้อยที่สุดก่อน ไล่เรียงไป อย่างเปิดเผยโปร่งใส พวกที่เพิ่งได้งานประเภทนี้ก็ต้องกลับไปต่อแถวหลังสุด
ตอนแรกอาจารย์ไม่ยอม เพราะจะเน้นเร็ว สะดวก และเห็นว่าเป็นเงินเล็กน้อย ฝ่าย EGSO ก็ยีนยันไม่เห็นด้วย เพราะประชาธิปไตยคือกระบวนการ
เผอิญช่วงที่เถียงๆ กันอยู่ มีงานขับรถรับส่งวิทยากรคนหนึ่ง อาจารย์ก็ส่งเมล์มาที่ EGSO เชิญชวนให้สมัคร
ฝ่ายนักเรียนได้ที เลยส่งเมล์ตอบกลับไปหาอาจารย์ครับ เขียนเหมือนกันทุกคนว่า "ผม/ฉัน ...(ชื่อ)...... ขอ 'ไม่' สมัครงานนี้ จนกว่างานนี้จะถูกจัดสรรผ่านทาง EGSO"
รู้สึกว่าอาจารย์ผมจะได้เมล์ประมาณหกสิบฉบับน่ะครับ
ท้ายที่สุด ก็ต้องยอมให้ EGSO มีอำนาจจัดสรรงานเฉพาะกิจไป
ไม่กี่วันหลังจากนั้น นักเรียนกับอาจารย์เจอกันในห้องเรียน ก็ไม่มีอาการโกรธเคืองกันเลยนะครับ ต่อสู้เรื่องความคิดกันไป เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็คุยกันฉันท์มิตรเหมือนเดิม มีแซวกันสนุกๆ บ้างเป็นน้ำจิ้ม แต่ไม่เคยมีการลำเลิกอาวุโสจากฝ่ายอาจารย์ แถมไม่นานหลังจากนั้น ยังร่วมกันต่อสู้เรื่องอื่นอย่างการที่รัฐตัดงบการศึกษา คราวนี้เขียนจดหมายไปประท้วงร่วมกันทั้งอาจารย์ทั้งนักเรียน นั่งรถไปประท้วงร่วมกันหน้าสภาในบอสตันมาแล้ว
ก็อย่างว่าแหละครับ วิชาแรกที่ท่านสอนพวกผมก็คือ Marxian Economics นี่ครับ
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างชนชั้น
กงล้อประวัติศาสตร์มันก็หมุนวนอยู่อย่างนั้น
<< Home