pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Friday, March 18, 2005

ปิ่น ปรเมศวร์

กรรมของคนชอบอ่านหนังสือ ก็คือ อยากเป็นนักเขียน หรืออยากทำหนังสือ

ผมเองก็รู้สึกอยากอย่างว่ามาตั้งแต่เด็ก

สมัยเรียนมัธยมก็มักเป็นคนดูแลเรื่องบอร์ดในห้องเรียน เขียนโน่นเขียนนี่ สรุปบทความดีสกู๊ปเด็ดมาขึ้นบอร์ดให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน บางทีก็เขียนเรียงความวันแม่ วันพ่อ วันสุนทรภู่ ส่งไปเรื่อย

ขึ้นมัธยมปลาย ก็เริ่มหัดเขียนคอลัมน์ซุบซิบ

ตอนมัธยม 4 หลังพฤษภาทมิฬ ก็คึกเสียจนส่งบทความ เขียนด้วยลายมือ ไปลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี 14 ตุลา ชื่อประมาณว่า "มาช่วยกันจรรโลงประชาธิปไตยกันเถอะ" (เชยดีไหม) ยาวประมาณ 1 หน้า A4 กองบรรณาธิการก็ใจดี เอาไปลงในหน้าจดหมายถึงบรรณาธิการให้

ยังจำได้เลยว่า ฝากไกรเสริมให้ช่วยส่ง fax ไปที่กรุงเทพธุรกิจให้

บทความนั้นมีเนื้อหาทำนองกระตุ้นให้คนสนใจการเมือง แม้การเมืองจะน้ำเน่าก็อย่าเดินหนี เพราะถ้าคนไม่เข้าไปช่วยขุดลอกคูคลองเน่าๆ ให้ใสสะอาด คลองก็ยังคงเน่าเหม็นอยู่อย่างนั้น แม้เนื้อตัวจะมอมแมมไปบ้าง ก็ต้องเสียสละกัน เนื้อความประมาณนั้น

ผมเขียนบทความนั้นด้วยนามปากกาแรกในชีวิต ... "ดอกอโศก" (เชยอีกแล้ว)

คิดนานแล้วนะครับนั่น

คือเป็นคนที่ใฝ่ฝันอยากมีนามปากกาเท่ๆ กับเขามาตลอด เห็นนักเขียนเขามีนามปากกาเพราะๆ เท่ๆ กันทั้งนั้น แต่ตอนนั้นคิดได้เท่านั้นจริงๆ ครับ

มาจากสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนผมน่ะครับ โรงเรียนผมมีฉายาว่าแดนอโศก มีต้นอโศกปลูกเรียงรายข้างสนามฟุตบอล ก็เลยเอามาดัดแปลง จำไม่ได้แล้วว่า ไปไงมาไงถึงออกมาเป็น "ดอก" อโศก ได้

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตอนลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กองบรรณาธิการดันลงผิดไปเป็น "ดอกโศก" ซะอีก หมดความหมายเลยครับนามปากกาผม ไร้รากไปเลย นึกแล้วยิ่งตลกใหญ่ คนนามปากกา "ดอกโศก" กลับมาเขียนวิจารณ์สังคม แทนที่จะเขียนนิยายประโลมโลกย์ ในหนังสือศาลาคนเศร้า

จบมัธยม 4 สอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ผมก็พักการเรียน หนีไปเอเอฟเอสที่ฮังการีหนึ่งปี

กลับเมืองไทยมา ก็เกิดอาการอยากเขียนเล่าประสบการณ์ 1 ปี ที่ประเทศฮังการี ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยได้ประมาณ 3 ปี

ผมเขียนไดอารี่ทุกวัน ตั้งแต่ไปจนกลับเลยครับ รวบรวมซื้อหนังสือเกี่ยวกับฮังการีหิ้วกลับเมืองไทยเต็มไปหมด

ก็มานั่งคิดว่าจะใช้นามปากกาอะไรดี (บอกแล้วว่าใฝ่ฝันอยากมีนามปากกาเพราะๆ เท่ๆ จริงๆ)

เผอิญได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า เจอมาสเตอร์สอนภาษาไทยรุ่นเดอะเข้า เลยไหว้วานมาสเตอร์ช่วยคิดนามปากกาให้

ใครเป็นศิษย์เก่าแดนอโศก ไม่มีใครไม่รู้จัก "นนท์ ภราดา" (นามปากกาเช่นกัน) แน่นอนครับ มาสเตอร์เป็นเซียนภาษาประจำโรงเรียน เป็นบรรณาธิการตลอดกาลของวารสารแดนอโศก เป็นผู้ประพันธ์กลอนในนามโรงเรียนในทุกวาระเทศกาล ท่องวรรณคดีไทยได้เป็นเล่มๆ บทต่อบท

มาสเตอร์นนท์บอกว่าจะคิดให้ แต่ ... โทษนะครับ ... คิดให้เดี๋ยวนั้นไม่ได้นะครับ บอกผมว่าไว้อีกสองสามวัน เธอค่อยมาใหม่

โอ้ นามปากกาไม่ใช่ได้กันง่ายๆ นะครับ แต่ ... นามปากกาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา

ไม่กี่วันให้หลัง ผมกลับไปหามาสเตอร์นนท์ใหม่

ได้แล้วครับ

คราวนี้มาสเตอร์เขียนใส่กระดาษรอไว้เลยครับ พร้อมลายเซ็นต์นนท์ ภราดา อันสวยงาม

"จันทรกานต์ ปิ่นปรเมศวร์"

ครับ

"จันทรกานต์ ปิ่นปรเมศวร์"

" ... แปลว่า ดวงจันทร์อันเป็นที่รัก ที่ซึ่งเป็นที่ปักปิ่นปักผมของพระอิศวร ..." มาสเตอร์อธิบาย

ยอดไหมครับ มาสเตอร์นนท์ของผม

สิ้นการตบบ่า และคำอวยพรให้ผมแจ้งเกิดในบรรณพิภพได้สำเร็จ ผมก็ยกมือไหว้ขอบคุณ แล้วกล่าวลา

ไม่กล้าครับ ไม่กล้าใช้

มันอลังการเกินกว่าคนธรรมดากระจอกๆ อย่างผมจะใช้ได้ กลัวนามปากกามันแปดเปื้อนอ่ะครับ เป็นถึงที่ปักปิ่นปักผมของพระอิศวรเชียวนะครับ

ผมก็เลยยังไม่ได้แจ้งเกิดกับเขา โครงการเขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ในฮังการีก็ยังเป็นหมัน จนถึงวันนี้ ก็สิบปีแล้วครับ

ต่อมา เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ได้เจอเพื่อนสนิทคอเดียวกันจำนวนหนึ่ง ตอนปิดเทอมใหญ่กำลังจะขึ้นปีสอง ก็เลยรวมกลุ่มกันทำจุลสาร คิดเอง เขียนเอง ตอนนั้นอารมณ์อยากเขียนมันเก็บไว้ไม่อยู่แล้ว ต้องระเบิดออกมาให้ได้ หาทุนได้จำนวนหนึ่ง เราก็เริ่มต้นทำจุลสารชื่อ "เช้าใหม่" กัน

ไม่มีใครในกลุ่มที่มีความรู้เรื่องการทำหนังสือมาก่อน มีแต่ความอยากทำเท่านั้น

ลองผิดลองถูก แต่เป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าสำหรับผมจนถึงทุกวันนี้

นอกจากงานด้านบรรณาธิการแล้ว ผมเปิดคอลัมน์ชื่อ "ตะกร้าความคิด" เขียนความคิดวิพากษ์วิจารณ์สังคม ออกแนวโหดๆ ดุๆ แทงตรงแบบอาฮุย

แน่นอน ผมก็ยังอยากมีนามปากกากับเขาเหมือนเดิม คิดแล้วคิดอีก มานึกถึงชื่อที่มาสเตอร์นนท์อุตส่าห์คิดให้ผม เลยหาทางขุดนามปากกาเก่าที่ยังไม่เคยใช้มาลองดัดแปลงดู

ยังไงก็ไม่กล้าเอามาทั้งหมดครับ ผมเลยขอตัดเอานามสกุลมาใช้แล้วกัน

ขนาดนามสกุลก็ยังยาวอยู่เลยนะครับ

ผมเลยเอานามสกุลมาแบ่งวรรคตอนใหม่ ให้กลายเป็นชื่อ-นามสกุล แล้วใช้เขียนเรื่อยมาตั้งแต่บัดนั้น ตามวาระโอกาสต่างๆ แต่ไม่บ่อยนะครับ ซึ่งโดยมาก จะใช้เขียนบทความการเมืองแนวแทงตรง

นี่คือที่มาของ "ปิ่น ปรเมศวร์" ครับ