right to life
เสรีภาพมีขอบเขตหรือไม่ เจตจำนงเสรีมีจริงหรือไม่ มีเส้นเขตแดน หรือไปได้ไกลแสนไกล ไม่สิ้นสุด
หากเราป่วยเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หาย ต้องอยู่อย่างทรมาน ใช้ชีวิตแบบคนเต็มคนก็ไม่ได้ แล้วถ้าเราตัดสินใจอย่างมีสติ โดยเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองลง เราควรมีสิทธิที่จะเดินไปตามเจตจำนงเสรีของตัวเองหรือไม่
คนเราควรมีเสรีภาพในการเลือกที่จะตายหรือไม่
คำถามข้างต้นกำลังเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนี้ เมื่อศาลรัฐฟลอริดายอมให้ถอดท่อส่งน้ำและอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตของ Terri Schiavo หญิงอายุ 41 ปี ตามคำขอของสามี แน่นอนว่า นั่นหมายถึงอีกชีวิตที่กำลังจะปลิดปลิว
Schiavo ป่วยเป็นโรคทางสมองมา 15 ปี เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ อ็อกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ จนเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า persistent vegetative state ซึ่งหมายความว่า สมองได้ตายไปแล้ว ฝ่ายสามีบอกว่า เธอแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่แบบเทียมๆ ที่มีเพียงแค่ลมหายใจ หากสมองทำงานไม่ได้แล้ว ก็ไม่ต้องการท่อต่างๆ มาเสียบตัวให้วุ่นวายไป
ไม่ต้องการหลอกตัวเอง และลวงโลกว่ายังมีชีวิตอยู่ ว่าอย่างงั้น
ศาลฟลอริดาตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาให้ถอดท่อส่งน้ำและอาหาร แต่ปัจจุบัน Schiavo ยังไม่สิ้นลมหายใจ ด้านฝ่ายพ่อและแม่ของเธอพยายามดิ้นรนไม่ยอมให้ลูกสาวตายตามความต้องการของตัว โดยยื่นคำร้องต่อศาลให้ตัดสินให้ย้ายลูกสาวไปที่โรงพยาบาลเพื่อใส่ท่อกลับมาเลี้ยงชีวิตเหมือนเดิม
กรณี Schiavo ก้าวไปไกลว่าความขัดแย้งทางความคิดภายในครอบครัว เมื่อฝ่ายรัฐสภาอเมริกันยื่นมือเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ โดยมีการผลักดันเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมฉุกเฉินของทั้งสองสภาตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อออกกฎหมายคัดค้านการเลือกที่จะตายดังกล่าว และมอบอำนาจแก่ศาลรัฐบาลกลางเข้ามาตัดสินใจทบทวนคดีนี้แทนศาลมลรัฐ ตัวตั้งตัวตีในการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาชีวิตของ Schiavo ทั้งที่เจ้าตัวไม่ต้องการคือ ผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร Tom DeLay
การพิจารณาเรื่องดังกล่าวในรัฐสภาเป็นไปอย่างรีบเร่ง เนื่องจาก ทุกนาทีมีความหมายต่อชีวิตของ Schiavo ร่างกฎหมายผ่านสภาทั้งสองอย่างไม่ยากเย็น ด้วยเสียงสนับสนุนของเหล่าสมาชิกพรรค Republican และสมาชิกส่วนหนึ่งของ Democrat โดยมีสมาชิกพรรคเดโมแครตบางส่วนตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐที่เข้ามาคุกคามชีวิตส่วนตัวและคุณค่าประชาธิปไตย รวมถึงกระบวนทางกฎหมายที่ผิดปกติและมีความเป็นส่วนตัวสูง
ไม่กี่ชั่วโมงมานี้ ประธานาธิบดีบุชเพิ่งลงนามในร่างกฎหมายที่ผ่านสภา ซึ่งระบุให้โอนคดีนี้มาทบทวนใหม่โดยศาลรัฐบาลกลาง ฝ่ายสนับสนุนให้ความเห็นว่าเป็นการถางทางไปสู่ "สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่" ของ Schiavo ในฐานะมนุษย์ แม้เจ้าตัวเลือกใช้ "สิทธิที่จะตาย" ก็ตาม
ผลโพลชี้ว่า คนอเมริกันเห็นด้วยกับการถอดท่อของ Schiavo 56% ในจำนวนนี้ รวมถึง 54% ของผู้ตอบที่เป็นสมาชิกพรรค Republican และ 55% ของคนที่เข้าโบสถ์อย่างน้อยเดือนละครั้ง ด้าน Gallop poll ที่สำรวจเมื่อปี 2004 บอกว่า คนอเมริกัน 65% เห็นด้วยที่จะให้สิทธิแก่หมอในการช่วยให้คนไข้จากไปอย่างสงบ เมื่อเจอโรคร้ายที่รักษาไม่หายและต้องทนทุกข์ทรมาน ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวสูงขึ้นเมื่อเมื่อครั้งที่สำรวจเมื่อปี 1996 ที่มีคนเห็นด้วย 52%
จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันนี้ ลงข่าวหน้าหนึ่งว่าด้วยประเด็นโต้เถียงดังกล่าว และยกกรณีของนาย Andrew Turner Jr. ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย อายุ 73 ปี ที่เลือกที่จะตายอย่างสงบบนเตียงนอนของตน โดยถอดท่อช่วยส่งอาหารและน้ำออก นาย Turner ได้ประกาศให้สมาชิกในครอบครัวทราบถึงการตัดสินใจของเขาเมื่อวันแม่แห่งชาติปีที่แล้วว่า "นี่เป็นอาหารมื้อสุดท้ายของเขา" และยังกล่าวว่า ถ้าใครมีความเห็นอย่างไร เขาก็ยินดีฟัง แต่นี่คือคำตัดสินใจของเขาแล้ว หลังจากถอดท่อช่วย 5 สัปดาห์ เขาก็จากไปอย่างสงบสมความตั้งใจ
เชื่อแน่ว่า นอกจากกรณีของนาย Turner และนาง Schiavo แล้ว มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วไป ... และบ่อยครั้งขึ้น
นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ท้าทายมนุษยชาติ
เจตจำนงเสรีในการเลือกที่จะตายเป็นสิ่งผิดศีลธรรมหรือไม่ รัฐควรมีบทบาทในการแทรกแซงชีวิตและเจตจำนงเสรีของปัจเจกบุคคลระดับไหน ใครควรจะเป็นคนมีสิทธินิยามความเหมาะสมและขอบเขตของเสรีภาพ หรือไม่ควรมีใครทั้งนั้น
น่าสนใจว่านิยามของ "ศีลธรรม" และ "การตัดสินคุณค่า" ของ "สังคม" และของ "ปัจเจกบุคคล" เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายใต้กระแสสังคมที่เปลี่ยนไป และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่แยกออกจากกันมากขึ้น หรือสอดคล้องต้องกัน ?
เสรีภาพที่ไร้คุณค่าแห่งศีลธรรมหรือ? ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ?
"ชุมชนในจินตนาการ" อย่างรัฐ หรือแม้แต่ศีลธรรมและค่านิยมรวมหมู่ของสังคม ดูจะส่งผลต่อความเป็นความตายของชีวิตมากกว่าที่เราเคยคิดเสียแล้ว
ไม่แน่ใจว่าเราควรจะรู้สึกหวาดกลัว หรือนิยมยินดี
นิทานเรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง
<< Home