pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Tuesday, April 05, 2005

ประวัติศาสตร์ที่เป็นประชาธิปไตย

บ่อยครั้งที่เรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อาจมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์เล็กๆ โดยคนเล็กๆ ในสังคม

เกิดขึ้นเงียบๆ เพียงจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ กระเพื่อมขยายวง ออกสู่ผู้คนในวงกว้าง จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกว้างขวางใหญ่หลวงระดับสังคมในบั้นปลาย

อดคิดไม่ได้ว่า อย่าดูถูกพลังของคนเล็กๆ ธรรมดาๆ ที่มุ่งหวังที่จะทำสิ่งที่ดี แม้เขาเหล่านั้นจะเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียวหรือมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพียงหยิบมือ ทำตัวดุจไม้ซีกงัดไม้ซุง หรือแม้เขาเหล่านั้นจะห่างไกลจากศูนย์กลางแห่งอำนาจในโครงสร้างระดับบนของสังคม ก็ตามที

การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และดีงามหลายครั้งไม่จำเป็นที่ต้องมี 'อำนาจ' เสียก่อน และไม่จำเป็นที่ต้องเริ่มต้นจาก 'ผู้มีอำนาจ'

การปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญของไทยที่มีสัญลักษณ์รูปธรรมอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ก็มีที่มาเริ่มต้นจากการอดข้าวประท้วงของคุณฉลาด วรฉัตร หน้ารัฐสภาในปี 2537 แม้คนไทยจะเบื่อหน่ายระบบการเมืองเก่าแล้วก็ตาม แต่จำได้ว่า เสียงสนับสนุนคุณฉลาดตอนนั้นยังน้อยนิด ชนชั้นกลางเสียอีกกลับเบื่อหน่ายในบทบาทนักอดข้าวของคุณฉลาด โดยมองไม่ทะลุถึงเจตนาดีต่อประเทศชาติของท่าน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามช่วยชีวิตคุณฉลาดนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ที่มีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน ซึ่งตอนนั้น คนทั่วไปก็ไม่ได้ให้ความสนใจคาดหวังอะไรมากนักด้วยซ้ำ คิดว่าเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่คุณหมอประเวศมิได้คิดเช่นนั้น หากใช้โอกาสทำงานอย่างมีคุณภาพ

ต่อมา เมื่อคุณบรรหาร ศิลปอาชา ขึ้นเป็นนายกฯ ก็ต้องพยายามทำทีจะปฏิรูปการเมือง เพื่อรักษาอำนาจ ต่อสู้กับเสียงยี้จากชนชั้นกลาง ผลก็คือ นอกจากเราจะได้วุฒิสภาแต่งตั้งที่ดีที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว เรายังได้ คปก. (ผมจำชื่อที่ถูกสมบูรณ์ไม่ได้ น่าจะประมาณคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปการเมือง) โดยมีคุณชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน รับไม้ต่อจาก คพป. จนสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบใหม่เข้าสภา

เมื่อร่างฯเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง มาเจอสถาปนิกทางการเมืองชั้นเซียนอย่างอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่วมด้วยบทบาทชั้นเซียนในที่ประชุมของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำให้เราได้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มีหน้าตาก้าวหน้าแตกต่างจากร่างเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลตอนนั้น ผมยังจำภาพอาจารย์ชัยอนันต์ยกมือยกไม้ ใบ้หวยตัวเลขให้ข้างล่างโหวตตาม จากที่นั่งคณะกรรมาธิการใกล้บัลลังก์ประธานได้ติดตาถึงทุกวันนี้

สสร.ถือกำเนิดขึ้น และเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พร้อมๆ กับการเริ่มต้นของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กระทั่งประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ความอดทนต่อการเมืองเก่าเดินทางมาถึงขีดสุด เสียงสนับสนุนต่อการปฏิรูปการเมืองดังระงมทั่วประเทศ จนเกิดพลังสีเขียวร่วมผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน และคุณอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นหัวแรงสำคัญอย่างลงตัว จนในที่สุดก็ผ่านรัฐสภาไปได้ ถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจระดับบนทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ไร้การนองเลือด จนรัฐธรรมนูญใหม่เป็นสถาบันที่สร้างความเข้มแข็งให้คุณทักษิณและพลพรรคไทยรักไทยอยู่ทุกวันนี้

เชื่อว่าคนที่ติดตามการเมืองในช่วงปี 2537 ตอนที่คุณฉลาดเริ่มอดข้าว คงไม่มีใครจินตนาการได้เลยว่า การณ์จะพลิกผันก้าวหน้ามาไกลได้ถึงเพียงนี้

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับบน ไม่จำเป็นต้องมีพระเอกหรืออัศวินม้าขาวทำหน้าที่พลิกฟื้นประเทศทั้งประเทศแบบวันแมนโชว์และไม่จำเป็นเป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจทางการจากเบื้องบน แต่มันมีปัจจัยมากมายร่วมกันกำหนด มีบทบาทของสามัญชนคนธรรมดาร่วมอยู่บนเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์เสมอ แม้จะมีบทบาทร่วมในฐานะฟันเฟืองเล็กๆตัวหนึ่ง ภายใต้หน้าที่ต่างๆ แต่ก็มีคุณค่าพอที่ทำให้ระบบทั้งหมดขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

จากการอ่านประวัติศาสตร์การเมืองทั้งของไทยและของบางประเทศ ผมพร่ำสอนตัวเองเสมอว่า อย่าดูถูกพลังของสามัญชนที่ไร้อำนาจ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม และอย่าดูถูกพลวัตของสังคม

ผู้คนในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้นำทางความคิดจำนวนมากไม่ได้มุ่งแสวงหาอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานตามศรัทธาของเขาเหล่านั้นอย่างเป็นธรรมชาติ เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ตนเผชิญไปเรื่อย จนสังเคราะห์เป็นวิถีทางต่อสู้เฉพาะตัวเอง ในกติกาที่ตนเป็นผู้เลือก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการต่อสู้ในระบบเดิมที่ครอบงำสังคมอยู่

สักวันก้าวเล็กๆ ของคนบางคน อาจเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของสังคมได้ ดูอย่างบทบาทของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม หรือคุณประยงค์ รณรงค์ เป็นอาทิ

การกระทำหนึ่งเป็น 'เหตุ' ให้เกิด 'ผล' ต่อเนื่องหลายอย่าง และผลเหล่านั้นก็กลายเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องต่อไปอีก ตามหลักอิทัปปัจยตา เช่นนี้เรื่อยไป ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นลอยๆ อย่างไร้รากไร้ที่มา ทุกอย่างเป็นกระบวนการแห่งเหตุและผล ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน

ผมหวนกลับมาคิดถึงเรื่องเหล่านี้อีกครั้ง เมื่อได้เห็นบทบาทของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

หลังจากเศร้าใจกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ และผิดหวังกับสังคมไทยอย่างแรง ผมกลับมารู้สึกมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะเกิดความหวังอย่างแรงกล้าจากคณะกรรมการชุดนี้ ได้ฟังคุณอานันท์สัมภาษณ์แล้ว รู้สึกว่า คณะกรรมการชุดนี้มีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ ให้สังคมไทยได้มากมาย เพราะคุณอานันท์ไม่ใช่เก่งและดีอย่างเดียว แต่ยังเต็มไปด้วยปฏิภาณและช่ำชองด้วยลีลาการทูต เป็นผู้นำที่ 'เป็น' ในการบริหาร นำพาไปสู่จุดหมาย และคุยพูดสื่อสารกับสังคม

ยิ่งได้เห็นท่าทีของคุณทักษิณในช่วงสองสัปดาห์มานี้ ผมรู้สึกชื่นชมมาก เพราะดูเหมือนว่าคุณทักษิณจะเข้าใจแล้วว่าในอดีต ตัวท่านเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างไร สัญญาณที่มาจากตัวผู้นำมีบทบาทอย่างสูงในช่วงสถานการณ์วิกฤต จะคลี่คลายก็ได้ ทำลายก็ได้เช่นกัน

ตัวท่านอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เมื่อสัญญาณประเภท โจรกระจอก ขีดเส้นตายให้จับให้ได้ ไม่เก็บไว้ทำพ่อ ตาต่อตาฟันต่อฟัน เกิดขึ้นบ่อยๆ ลิ่วล้อจำนวนมหาศาลก็พร้อมจะปฏิบัติตามสัญญาณที่ท่านส่งออกมา แม้ว่าท่านจะต้องการให้มันเลยเถิดถึงขั้นละเมิดความเป็นนิติรัฐและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครทราบได้

บทบาทของคุณทักษิณตั้งแต่กลับจากพักผ่อนที่ญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยิ่ง โดยเฉพาะบทบาทในรัฐสภาของทั้งคุณทักษิณและคุณอภิสิทธิ์ที่ต่างเป็นสุภาพบุรุษและถางทางสู่ความสมานฉันท์ในสังคมอย่างงดงาม แม้จะถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์รุนแรงอย่างการระเบิดที่หาดใหญ่ คุณทักษิณก็ยังคงวางตัวได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง การ์ดไม่มีตก

ในฐานะที่เพื่อนฝูงรอบตัวชอบเรียกผมว่าขาประจำคนหนึ่ง นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกดีกับนายกของผมอย่างมากๆๆ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

ขาประจำคนนี้ขอชมอย่างจริงใจ

หรือว่าการปรับเปลี่ยนบุคลิกส่วนตัว (เนื้อแท้จะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่ก็อีกเรื่อง แต่ภาพลักษณ์สาธารณะมีบทบาทสำคัญสำหรับการเมือง) เพียงเล็กๆน้อยๆแค่นี้เอง โดยหันมาฟังคนอื่น ไม่ใจร้อน ไม่พูดพล่อย ไม่ราดน้ำมันบนกองไฟ ไม่ด่ากลับเวลาถูกวิจารณ์ ไม่เอาแต่เล่นการเมือง ไม่หวงอำนาจ คือสิ่งเล็กๆ ที่ขาดหายไปจากรัฐบาลชุดก่อน จนเป็นเหตุให้เกิดผล ขยายวงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและตัวคุณทักษิณอย่างใหญ่โตต่อเนื่องตามมา

ถ้าท่านทำตัวเยี่ยงนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง เห็นทีผมต้องคืนคำพูดที่ทำนายว่า รัฐบาลจะอยู่ได้ไม่ครบสี่ปี เพราะจะไม่สามารถจัดการวิกฤตที่จะถั่งโถมเข้ามาในอนาคตได้ ตอนนี้คุณทักษิณเหมือนจะรู้แล้วว่า ระบบผู้นำเข้มแข็งเบ็ดเสร็จไม่สามารถจัดการปัญหาได้ หากการแก้วิกฤตต้องระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมให้มากที่สุด ไม่ใช่เล่นบทอัศวินม้าขาวที่ผูกขาดความจริงอยู่คนเดียว

สารภาพว่า ผมไม่เคยมีความหวังว่า คณะกรรมการสมานฉันท์จะพาตัวเองมาสร้างสถานะที่เข้มแข็งได้ไกลเพียงนี้

เมื่อครั้งที่กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมร่างจดหมายเปิดผนึกให้นายกขอโทษกรณีฆ่าผู้ชุมนุมที่ตากใบ (สำหรับผม มันไม่ใช่อุบัติเหตุ) และล่าลายเซ็นกัน ผมยังรู้สึกไม่ถูกใจเนื้อความในจดหมาย เพราะเห็นว่าเหตุการณ์มันใหญ่โตรุนแรงกว่าแค่จะมาเรียกร้องให้นายกขอโทษ มันหน่อมแน้มเกินไป ผมคิดว่านายกต้องลาออกด้วยซ้ำ ผมร่วมประชุมกับคณะปฏิบัติการอยู่ไม่กี่ครั้ง ก็ถอยตัวเองออกมาดูห่างๆ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพและด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง จนเมื่อกลุ่มอาจารย์ตัดสินใจเข้าพบนายก มีการมอบนกกระดาษและตั้งกรรมการสมานฉันท์นี้เพิ่มมาอีกชุดหนึ่ง ผมยิ่งรู้สึกหมดหวัง เพราะไม่คิดว่ามันจะแก้อะไรให้ดีขึ้นได้

ถึงวันนี้ ผมคิดใหม่ว่า ผมเข้าใจผิด

การเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรม ไม่สามารถแก้ได้ชั่ววันข้ามคืน แต่จุดเล็กๆ ที่อาจไม่ได้คาดหวังตั้งใจแต่ต้น มันอาจจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะเมื่อพลังเล็กๆที่เราร่วมกันสร้างขึ้น ปะทะสังสรรค์กับพลังที่หลากหลายในสังคม และปะทะเงื่อนไขใหม่ๆตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มันจะมีโมเมนตัมส่งต่อ และคลี่คลายไปโดยตัวของมันเอง อย่างที่ผู้เริ่มต้นไม่สามารถควบคุมมันได้

ยิ่งการให้ความรู้แก่สังคมเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืนด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ทั้งเวลาและลีลา สำหรับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะทำลายวัฒนธรรมคลั่งชาติ

ย้อนกลับไป คิดเล่นๆว่า ถ้าวันนั้น จดหมายเปิดผนึกเต็มไปด้วยความรุนแรง นายกอาจไม่สนใจเชิญพวกนักวิชาการพบ แต่อาจออกมาด่าซ้ำเติมไฟ ทางลงที่นายกเลือกอาจเป็นทางอื่น ถ้าอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และอาจารย์บรรเจิด สิงคเนติ แห่งนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่างจดหมาย ล่าลายเซ็นต์ และเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว ก็ไม่มีผลักดันอย่างเข้มแข็งในตอนต้น ถ้าไม่ได้อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกนักประสานงาน สุภาพอ่อนโยน ให้เกียรติคน แต่มีหลักการ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา การณ์อาจเคลื่อนไหวคลี่คลายเป็นอย่างอื่น ถ้าไม่บังเอิญอาจารย์สาวคนหนึ่งแห่งมหิดลคิดพับนกสันติภาพมอบให้นายก อาจไม่มีวัตถุเชิงสัญลักษณ์ให้เคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรมกันต่อ ถ้าคุณอานันท์ ไม่เสียสละยอมเหนื่อยลงมาเปลืองตัวเพื่อชาติอีกครั้ง พลังผลักดันภายในกรรมการชุดนี้คงไม่มีชีวิตชีวาและไม่สามารถดึงคนดีๆมาร่วมได้มากเท่านี้ หรือถ้านายกทักษิณใจแคบไม่ยอมรับคุณอานันท์ การตั้งกรรมการก็ไม่สำเร็จ หรือถ้าเชื่อตามข่าว หากนายกไม่บินไปทำตัวสงบๆที่ญี่ปุ่น อาจไม่คิดตกและกลับมาด้วยทีท่างดงามเท่านี้

ประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นด้วยประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า 'ถ้า...' มากมาย แม้จะเป็น 'ถ้า' หนึ่ง แต่ก็มีพลังให้เกิด 'ถ้า' ต่อๆ ไป ร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราว หรือหาก 'ถ้า' มันไม่เกิด เรื่องราวอาจพลิกหัวพลิกหากกลับไปอีกทางหนึ่งอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

เป็นบทเรียนสอนผมอีกครั้งว่า อย่าได้ดูถูกพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ โดยคนเล็กๆ ที่หลบมุมอยู่ในประวัติศาสตร์ และอย่าได้ดูถูกพลังแห่งประวัติศาสตร์ที่มันจะคลี่คลายปรับตัวของมันเองเป็นพลวัตเมื่อเผชิญกับสภาพความจริง เหตุเล็กๆ อาจนำไปสู่ผลที่ยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน

เหนือสิ่งอื่นใด การเข้าใจประวัติศาสตร์โดยใช้หลักอิทัปปัจยตายังช่วยให้เราตระหนักในกฎไตรลักษณ์ โดยเฉพาะเห็นถึงความไม่เที่ยง หากสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงลื่นไหล และยังช่วยลดอัตตา ให้หันมานับถือผู้อื่น เชื่อมั่นในพลังของคนธรรมดา อยู่กับปัจจุบัน ทำวันนี้ให้ดีที่สุดตามอัตภาพที่ตนมี

เช่นนี้ประวัติศาสตร์มิใช่เรื่องราวของชนชั้นสูง หากเป็นเรื่องราวของสังคม ที่คนเล็กคนน้อยเข้าถึงและมีส่วนร่วมทางตรงได้ ชนชั้นนำทางอำนาจวงแคบๆในประวัติศาสตร์ลดความสำคัญลง สามัญชนผู้ไร้อำนาจเพิ่มความสำคัญขึ้น

จนกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ให้เป็นประชาธิปไตยก็คงมิผิด