pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Friday, April 08, 2005

ความทรงจำบนสวนทูนอิน (1)

Turn on, Tune in, Drop out

ปรัชญาฮิปปี้แห่งยุคบุปผาชนติดตระหง่านอยู่หน้าศาลาขนาดย่อม แวดล้อมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ในมุมหนึ่งของสวนทูนอิน ดอยโป่งแยง จังหวัดเชียงใหม่

ผมหมายถึง ‘สวนทูนอิน’ ที่เจ้าของตั้งชื่อตามวรรคหนึ่งของปรัชญาฮิปปี้ข้างต้น แม้ฟังอย่างผ่านเผิน จะคลับคล้ายภาษาเหนือคำหนึ่งก็ตาม

‘สวนทูนอิน’ ซึ่งเป็นที่พำนักและโรงช่างประดิษฐ์ตัวอักษรของพญาอินทรีย์แห่งวงวรรณกรรมไทย ผู้นำพาตัวเองเข้าสู่กระแสแห่งธรรมชาติ ณ หุบเขาแห่งนี้ เป็นเวลาร่วม 30 ปีแล้ว

ใช่ครับ, ผมหมายถึง

’รงค์ วงษ์สวรรค์

......

ผมสัมผัสงานเขียนของลุง’รงค์ ครั้งแรกจากคอลัมน์ 2 นาฑี ในมติชนสุดสัปดาห์ แต่ครั้งยังมีวงเล็บ (หนุ่ม) ต่อท้าย จากนั้น จึงเริ่มขุดกรุหนังสือเก่าของคุณย่าและคุณพ่อ ได้อ่านใต้ถุนป่าคอนกรีต เสเพลบอยชาวไร่ และเฟื่องนคร ก็คราวนั้น ต่อมา เลยกลายเป็นแฟนประจำหาซื้องานเขียนทั้งใหม่และเก่าของลุง’รงค์ มาอ่านเรื่อยมา

เชื่อว่า ผมก็เป็นเช่นเดียวกับหลายคน ที่เมื่อแรกสังสรรค์สายตากับผลงานของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาษาเพริศแพร้ว สำนวนเพรียวนม และท่วงทำนองที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์

สารภาพว่า ผมต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง กว่าจะก้าวเดินสู่โลกวรรณกรรมส่วนตัวของลุง’รงค์ได้ แต่เมื่อเข้าถึงแล้ว ทุกวันนี้ยังหาทางออกมิได้ – พูดให้ถูก - ยังนั่งนิ่งอยู่ตรงนั้น มือถือหนังสือแน่น อย่างไม่คิดจะลุกหนีไปไหน

อ่านงานของลุง’รงค์คราใด เป็นต้องดำดิ่งไปกับหลากหลายประสบการณ์ลูกผู้ชาย จมจ่อมกับชีวิตจริงของชนทุกชั้นตั้งแต่กะหรี่ ชาวไร่ ไปจนถึงผู้ดี นักการเมือง ดาราฮอลลีวู้ด ผ่านตัวละครที่มีชีวิตและเลือดเนื้อ ซึ่งถูกถ่ายทอดด้วยภาษาไพเราะ ชั้นเชิงคมคาย สำนวนคมกริบ คำบริภาษแสบทรวง ทั้งหมดนั้น กลั่นออกมาจากประสบการณ์จริงแห่งชีวิตที่โชกโชนตกผลึกของผู้เขียน

กระดาษเปื้อนหมึก ที่รวมกันเป็นฉากหน้าผลงานเขียนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น สามารถไล่ร่องรอยแห่งความทุ่มเท ความตั้งใจจริง และความเป็นมืออาชีพ ของผู้เขียนได้ไม่ยาก

งานเขียนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มิแตกต่างจากงานศิลปที่แฝงเร้นซ่อนรูปอยู่ในวรรณกรรม เป็นงานศิลปที่ผ่านการเจียระไนอย่างประณีตและละเมียดละไม เพื่อบำเรอผู้อ่านซึ่งเขารักยิ่ง ให้ได้รับอรรถรสสูงสุด

เมื่อ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียน, ผู้ประกาศตนเป็น Art labor อย่างเขา ตั้งใจเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้อ่านเสมอ ผู้อ่านที่เขาสำนึกในบุญคุณ และหล่นประโยคหนึ่งอย่างบ่อยครั้งว่า

ถ้าไม่มีผู้อ่าน ย่อมไม่มี’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในวันนี้

.......

ปลายปีที่ผ่านมา

เมื่อรู้ว่าเหล่าสมาชิกบ้านสีฟ้าจะยกพลขึ้นสวนทูนอิน เพื่อเยี่ยมคารวะลุง’รงค์ ผมไม่ลังเลที่จะร่วมขบวนไปด้วย

เรา – พี่โญ พี่หนึ่ง พี่คุ่น คุณฝน คุณเอ๋ และผม – ออกเดินทางโดยรถไฟ จากสถานีสามเสน ในเย็นวันหนึ่ง เพื่อให้ทันสูดอากาศเช้ามืดที่เชียงใหม่

หลังร่วมสนุกกันในตู้เสบียงสักพัก (ใครที่ยังไม่เคย ลองใช้บริการตู้เสบียงของ รฟท. ยามหัวค่ำดู จะครึกครื้นกับความสนุกแบบไทยๆ ที่ท่านมิสามารถพบหาได้จากรถไฟที่ใดในโลก) เหล่าสมาชิกก็กลับมานั่งคุยกันต่อที่ตู้นอนถึงดึกดื่น

เช้ามืด เมื่อขบวนรถไฟแล่นผ่านสะพานขาวขนาดย่อม มุมโปรดของพี่คุ่น และผ่านป่าใหญ่สีเขียวสด ก็เป็นสัญญาณว่า เราใกล้ถึงเชียงใหม่เต็มที

หลังกินโจ๊กมื้อเช้าหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราก็แวะไปเยี่ยมเยียนครูเทพ เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอาชีพ ที่ไม่ว่าใครไปใครมาเชียงใหม่เป็นต้องแวะมาสังสรรค์ ชื่นชมผลงาน และเก็บเกี่ยวความสุขจากท่านเสมอ

บ้านรั้วอิฐของครูเทพ อยู่ใกล้กับวัดอุโมงค์ระยะเดินถึง สังเกตได้ง่ายดายเพราะประตูรั้วไม่เคยปิด เปิดต้อนรับผู้มาเยือน ไม่ว่าจะรู้จักกันเป็นส่วนตัวหรือไม่ ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้มาเยือนเชียงใหม่ที่ไร้ที่พักพิง สามารถอาศัยเรือนนอนหลังใหญ่ของครูเทพได้เสมอ แถมมีโต๊ะปิงปองให้เล่นพอเพลินอีกด้วย

แม้เราไปถึงแต่เช้า ครูเทพก็เริ่มต้นชีวิตตามปกติธรรมดาเรียบร้อยแล้ว เอ่ยทักทายคณะโอเพ่นเสร็จ ก็วางไม้กวาด ชวนเราชมการแสดงภาพเขียนประกอบเรื่องเล่ารอบเช้ามืดทันที

ภาพเขียนในวันนั้นเป็น collection ภาพนู้ด ที่ครูเทพเพิ่งวาดเสร็จไม่นาน พื้นที่แสดงภาพก็อาศัยวางบนพื้นบ้านนั่นเอง ครูเทพแสดงภาพนู้ดที่วาดจากนายแบบนางแบบจริงทีละภาพ พร้อมเล่าเรื่องที่มาที่ไปของภาพอย่างเต็มไปด้วยสีสัน

ตอนนี้สำนักพิมพ์มติชนได้ตีพิมพ์ภาพชุดดังกล่าว พร้อมเนื้อความประกอบ เป็นเล่มสี่สีสวยงามแล้ว ชื่อเล่มว่า ‘ศิลปินกับนางแบบ’ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือใกล้บ้านท่าน

ใครที่เคยได้ยินชื่อครูเทพคงรู้ว่า ท่านมิเพียงเป็นศิลปินนักวาดภาพหลากหลายสไตล์ อันโด่งดังและเปี่ยมด้วยจินตนาการบรรเจิด ท่านยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักเขียน นักวิชาการภูมิปัญญาพื้นถิ่น ที่สำคัญ ครูเทพยังเป็นนักเล่าเรื่อง นักเล่านิทาน และนักแสดงศิลป ตัวยง ที่หาตัวจับได้ยากของวงการ

ชมการแสดงเสร็จ ผมกับพี่โญนั่งคุยกับครูเทพต่อ ขณะที่สมาชิกที่เหลือเข้าเมืองเชียงใหม่ ตอนหนึ่ง ครูเทพบอกว่า ประเทศไทยมันจะเจริญแล้ว เพราะภาพเขียนที่เก็บไว้ในห้องแสดงภาพถูกขโมย ร้อยวันพันปี เปิดประตูบ้านประตูห้องไว้ตลอด ไม่เคยหาย เพิ่งมาหายเมื่อเดือนก่อน นี่ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีของวงการศิลปะไทย

คุยกันสักพัก ผมกับพี่โญก็ขอตัวไปนอนเอาแรง ตื่นมาใกล้เที่ยง กินข้าวที่ร้านข้างบ้านครูเทพเสร็จ ผมก็ไปเดินเล่นที่วัดอุโมงค์

อันที่จริง ผมเพิ่งมาเยี่ยมเยียนวัดอุโมงค์เมื่อเดือนก่อน เพราะปีที่แล้วขึ้นมาสอนที่มหาวิทยาลัยพายัพทุกวันเสาร์เป็นเวลาเกือบสามเดือน ตอนนั้นก็เคยถามพิกัดบ้านครูเทพจากหลวงพ่อที่วัดแล้ว แต่ไม่กล้าเข้าไปเยี่ยม ได้แต่ด้อมๆมองๆอยู่หน้าบ้าน

ผมเคยเข้าวัดอุโมงค์ครั้งแรกตั้งแต่สมัยประถม เมื่อครั้งมาเยี่ยมพ่อที่ตอนนั้นทำงานอยู่เชียงใหม่ แต่จำความอะไรไม่ได้ อาศัยดูรูปถ่ายเป็นพยานหลักฐาน

เมื่อเข้าวัดอุโมงค์อีกครั้งเมื่อเดือนก่อน ผมรู้สึกสงบอย่างประหลาด บรรยากาศแห่งความร่มรื่นและเป็นธรรมชาติของวัดอุโมงค์ดับความร้อนรุ่มในใจผมได้อย่างง่ายดายและมหัศจรรย์ ผมติดใจและหลงรักบรรยากาศที่นี่ตั้งแต่ตอนนั้น นับเป็นสถานที่ที่ผมประทับใจที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่

แท้จริงแล้ว เราเข้าถึงธรรมะได้ไม่ยากเลย ธรรมะอยู่ท่ามกลางธรรมชาตินี่เอง เสียดายก็แต่คนเมืองหลวงที่มีวิถีชีวิตรีบเร่งและมุ่งไขว้คว้าความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างไม่ลดละ ต้องวนเวียนอยู่ในกับดักที่พาตัวเองถอยห่างจากธรรมะหรือธรรมชาติไกลขึ้นเรื่อยๆ

หากกรุงเทพฯมีสถานที่แบบวัดอุโมงค์คงช่วยทำให้จิตใจร้อนรุ่มและเต้นแรงของเหล่าชาวกรุง ได้เยือกเย็นและเงียบเสียงลงบ้าง

ผมนึกถึงตอนฝึกมวยจีนกับอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ในเย็นวันหนึ่ง วันนั้น อาจารย์ฝึกท่าเดินช้าให้พวกเรา

การเดินช้าเป็นวัตรปฏิบัติที่สวนทางกับชีวิตประจำวันของคนเมืองหลวงอย่างแท้จริง เอาเข้าจริง ยากกว่าการเดินเร็วมากนัก นั่นก็เป็นบทเรียนล้ำค่าอีกบทหนึ่งที่ได้รับจากอาจารย์ผม

ฝึกตัวเองให้รู้จักเดินให้ช้าลงบ้าง

อิ่มเอมกับความสงบในวัดอุโมงค์พักใหญ่ ผมก็กลับมานั่งคุยกับครูเทพต่อ สักพักก็มีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มารับครูเทพไปวิจารณ์หนังเรื่อง Dreams ของอากิระ คุโรซาวา

ไม่นานพลพรรคที่เข้าเมืองเชียงใหม่ก็กลับมาพร้อมหน้า เรานัดรถสองแถวรับจ้างไว้ที่นี่ตอนบ่ายแก่ เพื่อขึ้นดอยโป่งแยงให้ทันช่วงเย็น ตามที่ได้นัดหมายกับลุง’รงค์ไว้

......

สองข้างทางของทางหลวงสายแม่ริม-สะเมิง-หางดง งดงามอย่างยิ่ง ริมทางเต็มไปด้วยรีสอร์ตสวยงาม ทางแยกไปน้ำตกสำคัญ สวนพฤกษศาสตร์ ไหนจะยังมีธารน้ำตกแม่สาไหลเรื่อยเคียงข้างถนนลาดยางคดเคี้ยวเส้นนี้อยู่เบื้องล่างด้วย

ชื่มชมธรรมชาติสองข้างทางและตั้งวงสนทนากันพักใหญ่ เราก็หักเข้าทางแยกขึ้นดอยโป่งแยง พื้นที่บริเวณสวนทูนอินเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเมืองหนาวของชาวบ้านแถบนี้ มองภาพมุมกว้าง เป็นภาพไร่ไม้ดอกทอดยาวสวยงาม

รถสองแถวลัดเลาะขึ้นเนินชัน แล้วมาหยุดล้อที่ไหล่เขา สายตาผมปะทะป้ายที่แขวนอยู่บนต้นไม้ใหญ่ เนื้อความว่า ‘สวนทูนอิน’ พร้อมชื่อเจ้าของสถานที่

รถขับผ่านทางเข้าสวนธรรมชาติขนาด 20 ไร่ ที่ปลูกสร้างและตกแต่งบนพื้นที่ดั้งเดิมอย่างรักษาธรรมชาติ ไม่มีการตัดไม้เดิมแม้สักต้น ไม่กี่อึดใจ คนขับก็พาเรามาหยุดอยู่ที่หน้าเรือนที่พักขนาดกะทัดรัด สองห้องนอน พร้อมห้องครัวและห้องน้ำ ที่ตกแต่งอย่างสวยเก๋ เรือนรับรองแขกแห่งนี้เป็นที่พำนักของพวกเรา

เก็บข้าวเก็บของ อาบน้ำอาบท่า ชมนกชมไม้ ฟังเสียงดนตรีไพร กันพักใหญ่ ฟ้ามืดแล้ว ฝนเริ่มโปรยปราย แม่บ้านก็ขึ้นมาตามพวกเรา สำรับพร้อม เจ้าบ้านเชิญ

เรือนที่พักและเรือนเขียนหนังสือของลุง’รงค์ อยู่ด้านล่างของสวนลงไปในหุบเขา ซึ่งต่ำระดับกว่าทางเข้าสวนและเรือนรับรองแขก ทางเดินสู่เรือนที่พักต้องเดินตัดเข้าป่าลงเนินไป มีไม้เล็กไม้ใหญ่ไม้ดอกตามรายทาง ไม่มีไฟฟ้า มีแต่เทียนทำหน้าที่บอกเส้นทาง

ต้นทางเดินลงสู่เรือนที่พัก มีป้ายไม้แขวนไว้เหนือระดับศีรษะ

เนื้อความสลักว่า

Writer’s Secret

ผมกำลังจะก้าวเดินสู่โลกลับของนักเขียนคนหนึ่งในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

หัวใจผมคงไม่เต้นแรงถึงเพียงนี้

หากบุคคลที่รออยู่สุดขอบทาง มิได้ชื่อว่า ... ’รงค์ วงษ์สวรรค์