วิทยานิพนธ์
ไม่ได้เข้ามาเขียน Blog หลายวันเลยครับ กำลังโม่เขียนวิทยานิพนธ์อยู่
เสียดายโอกาสเหมือนกัน เพราะตอนนี้อากาศที่บ้านนอกดีมาก แม้ใบไม้ยังไม่ผลิ (จะหมดเทอม spring อยู่แล้วนะเนี่ย!) แต่แดดส่องฟ้าทุกวัน น่าเดินเล่น ไปเที่ยว หรือออกกำลังกายมาก แต่ไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นสักอย่าง
กลับต้องมานั่งปวดตาทั้งวัน
ดูจากสภาพอากาศแล้ว หากลมหนาวจะพัดหวนก็คงอีกเพียงยกเดียวเท่านั้น เห็นอากาศสดใสแบบ spring แล้ว อย่าคิดว่าการต่อสู้กับความหนาวเหน็บได้จบสิ้นลงแล้วนะครับ ผมอยู่ที่นี่มานานจนรู้แล้วว่า อากาศที่บ้านนอกไว้ใจไม่ได้ แปรปรวนเอาแต่ใจตัวเองเหลือเกิน (เหมือนใครหนอ) เพราะหลายครั้ง อากาศดีๆอยู่แท้ๆ วันดีคืนดีก็กลับมาหนาว บางทีจู่ๆ ก็หิมะตกอีก ตกมันเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี่แหละ ใครจะทำไม
ตอนนี้ผมกำลังรีบเขียนงานบทที่สามอยู่ครับ หลังจากเตรียมการด้านข้อมูล และได้ผลการศึกษาเบื้องต้นนอนรออยู่แล้ว
วิทยานิพนธ์ผมมีห้าบท มีบทหลักสามบทอยู่ตรงกลาง และมีบทขึ้นต้นกับปิดท้าย ตอนนี้ก็เพิ่งอีดิทบทนำกับบทที่สองเสร็จ จะได้ให้อาจารย์ทั้งสามนั่งอ่านและวิจารณ์ระหว่างผมเขียนบทที่สาม จะได้ไม่เสียเวลา
พยายามว่าสิ้นเดือนนี้จะเขียนบทที่สามให้เสร็จ แล้วเดือนหน้าจะย้ายไปทำบทที่สี่ต่อ (สุดท้ายแล้ว เย้ เย้) อันนี้คงต้องใช้เวลาหน่อย เพราะมีแต่ไอเดีย ตรรกะ และโครงร่างในใจ แต่ยังต้องอ่านกฎหมายและข้อมูลที่รวบรวมมาจากเมืองไทยอีกพอสมควร และยังต้องจัดระบบระเบียบความรู้อีก
ถ้าทำได้ดังหวัง ภายใน 3 เดือนข้างหน้าน่าจะพอได้ร่างแรก ขอให้สำเร็จด้วยเถิด
จะได้กลับบ้านเร็วๆ
จริงๆ ก็ไม่รู้จะขอไปทำไม ลำพังขอ งานจะเสร็จไหม ถ้าไม่ลงมือทำ
ผมคิดว่าปัญหาของหลายคนที่เขียนวิทยานิพนธ์คือ เมื่อเผชิญข้อมูลล้นเกิน แล้วจัดการไม่ถูก จัดระบบความคิดตัวเองไม่ได้ บางทีเสียดายข้อมูลหรือเนื้อหาที่เราได้อ่านได้ทำการบ้านมา บางทีอยากรู้อยากตอบคำถามอะไรเยอะแยะไปหมด งานก็เลยใหญ่โตกลายเป็น lifetime work ไป
กระบวนการเขียนวิทยานิพนธ์ต้องอ่านเยอะ เผชิญข้อมูลเยอะ หลายคนมักรออ่านค้นคว้าให้หมดครบถ้วน แล้วค่อยลงมือทำข้อมูล ทดสอบโมเดล หรือค่อยลงมือเขียน
ผมว่าไม่ต้องรีรอมากหรอกครับ ลองทำไปก่อนเลย อ่านไปก็ลองทำข้อมูลไป ลองทดสอบโมเดลไป (สำหรับคนที่ทำ Empirical work)ทยอยเขียนความคิดของเราไปเรื่อยๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องมีโครงร่าง มีตรรกะที่เข้มแข็ง และลำดับการดำเนินเรื่องอยู่ในใจเป็นเบื้องต้นก่อนนะครับ
เวลาเราอ่านหนังสือ ไม่ควรอ่านจากหัวสมองที่ว่างเปล่า ความรู้มันจะกระจัดกระจาย ผมเห็นว่า แรกสุดตอนเริ่มคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ เราควรมีคำถามในใจว่าเราอยากตอบคำถามอะไร ตอบอย่างไร คาดว่าเรื่องราวดำเนินอย่างไร สมมติฐานคืออะไร ลำดับการใช้เหตุผลเป็นอย่างไร แล้วค่อยไปอ่านหนังสือหรืออ่านบทความวิชาการที่ชาวบ้านเขาเคยทำมาก่อน อ่านแล้วจะได้รู้ว่า งานชิ้นที่เราอ่านมันมีที่ทางอยู่ตรงไหนในภาพใหญ่ทั้งหมดของงานเรา เราจึงจะสามารถหยิบความรู้ใหม่ๆ ใส่โยงเข้ากับงานของเราได้ถูกช่องถูกลิ้นชักในหัวสมอง
การอ่านแบบมีเป้าหมายมีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านแบบว่างเปล่ามากนะครับ
เช่นนี้เราจะสามารถจัดระบบความคิดของเราได้มีประสิทธิภาพขึ้น นำองค์ความรู้ใหม่มาต่อยอดกับแกนความคิดเก่า ไม่ได้เริ่มจากความกลวงและว่างเปล่า แบบจับต้นชนปลายไม่ถูก
ต่อยอดไปสักพัก ลิ้นชักในสมองเริ่มเต็มแล้ว อย่ารีรอครับ
ลงมือเขียนเลย
ลงมือเขียน เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้งานเดินหน้า
แน่นอนว่า ร่างแรกๆที่เราเขียนยังไม่มีความสมบูรณ์สมใจหรอก แต่อย่างน้อยมันทำให้เราได้งานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ทำให้ชาวบ้านหรืออาจารย์สามารถวิจารณ์งานได้ และเป็นพื้นฐานที่เราสามารถแต่งเติมต่อในอนาคต ซึ่งงานแต่งเติมไม่ยากเท่าการวางฐานราก
เหนือสิ่งอื่นใด การเขียนช่วยให้เราได้จัดระเบียบความคิดตัวเอง
มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะอ่านงานวิชาการทุกชิ้นในโลกที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของเราได้ มันไม่มีทางที่เราจะเขียนงานที่ดีที่สุดได้ตั้งแต่ร่างแรก ไม่มีทางที่จะได้งานที่สมบูรณ์แบบไร้การแก้ไขในดาบเดียว ยิ่งถ้าทำงาน Empirical work คงรู้ดีว่า ไม่มีทางที่เราจะได้ผลดังคาดหวังในการทดสอบโมเดลครั้งแรก มันมีปัญหาทางเทคนิคให้ต้องแก้ไขต่อไปอีกมาก
เช่นนี้แล้ว จะเงื้อง่าราคาแพงทำไม
ลงมือเลย รีบแปรสิ่งที่อัดแน่นอยู่ในสมองออกมาเป็นตัวหนังสือหรือผลเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้
เขียนไปเรื่อยๆ อ่านไป ทำข้อมูลไป ทดสอบโมเดลไป เขียนไป ไม่ต้องให้ได้ทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมแล้วค่อยลงมือเขียน
มัวรอให้พร้อม กลัวจะรอเก้อ
เพราะความพร้อม มันจะเกิดขึ้นระหว่างทาง และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะลงมือทำแล้วต่างหาก
<< Home