pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Friday, April 22, 2005

เปเปอร์ลวงโลก

เมื่อวานได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ว่าที่นักเรียน Oxford อนาคตนักวิชาการในฝันของวงการเศรษฐศาสตร์เมืองไทย

เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า มีกลุ่มนักเรียนปริญญาเอกคอมพิวเตอร์สังกัด MIT 3 คน สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเขียนบทความวิชาการขึ้นมา โปรแกรมมีชื่อว่า SCIgen - An Automatic CS Paper Generator

แค่เราพิมพ์ชื่อตัวเองใส่ช่องว่าง แล้วกด generate โปรแกรมจะสุ่มสร้างประโยค เลือกคำศัพท์วิชาการสวยหรูภูมิฐาน สร้างเปเปอร์ปลอมๆ ประทับชื่อเรา ภายใต้รูปแบบอลังการเหมือนบทความวิชาการอาชีพขึ้นมาทันที

ง่ายแค่ปลายนิ้ว

เข้าไปลองสร้างบทความวิชาการของตัวเอง กันได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

http://pdos.csail.mit.edu/scigen/

มหัศจรรย์ เหมือนจริง เหลือเชื่อ ดีไหมครับ

โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้จะสุ่มเลือกประโยคจากบทความวิชาการ แล้วทิ้งช่องว่างเพื่อเติมศัพท์เฉพาะทางวิชาการเข้าไประหว่างกระบวนการตีพิมพ์ แถมยังมีกราฟ รูปภาพ ที่ดูทรงภูมิปัญญาเสียด้วย แน่นอนว่า เนื้อหาของบทความล้วนเป็นเรื่องลวงโลก ไร้ใจความ ไม่มีความหมายใดๆ

มีแต่เปลือกนอกที่ดูดี เป็นวิชาการ ดูเผินผ่านแล้วเข้าใจยาก เท่านั้น

เรื่องราวยังไม่จบแค่นี้ครับ

คุณ Jeremy Stribling, Max Krohn และ Dan Aguayo แห่ง MIT ใช้โปรแกรม SCIgen ที่ว่าเขียนบทความวิชาการขึ้นมั่วๆ แล้วแกล้งลองส่งไปงานประชุมเชิงวิชาการของจริง ที่เปิดรับผลงานวิชาการ ให้ผู้เขียนมานำเสนอบทความ มีผู้วิจารณ์ และจะตีพิมพ์ผลงานภายหลัง

ปรากฎว่า 9th World Multi-Conference on Systemics, Cybernetics and Informatics(WMSCI)ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่ Florida, US ในเดือนกรกฎาคมนี้ ตอบรับหนึ่งในสองบทความลวงโลกเข้าสู่งานสัมมนาครับ

กลายเป็นโจ๊กระดับโลกของวงการวิชาการไปทันที

บทความวิชาก๊านวิชาการของทั้งสามที่ได้รับการตอบรับชื่อ "Rooter: A Methodology for the Typical Unification of Access Points and Redundancy."

มีเนื้อหาขึ้นต้นบทความว่า "Many scholars would agree that, had it not been for active networks, the simulation of Lamport clocks might never have occurred."

มีเนื้อความอย่าง "...the model for our heuristic consists of four independent components: simulated annealing, active networks, flexible modalities, and the study of reinforcement learning..." หรือ "...We implemented our scatter/gather I/O server in Simula-67, augmented with opportunistically pipelined extensions."

ทั้งชื่อ ทั้งเนื้อหาของบทความ ล้วนแต่ประกอบด้วยศัพท์แสงและสำนวน ที่โปรแกรมสุ่มเลือกมาประกอบกันเป็นเนื้อหามั่วๆ ทั้งสิ้น

โอวว์ ..พระเจ้า..จอร์ช.. มันยอดมากกกกก ...

ทั้งสามคนบอกว่า ทำเอาสนุก เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า งานสัมมนาเชิงวิชาการที่มุ่งแต่จะหาเงินอย่างเดียวมีอยู่จริง โดยไม่ได้มีการประเมินคุณภาพบทความที่นำเสนอแม้แต่น้อย

เขาส่งบทความลวงโลก เพื่อฉีกหน้ากากเวทีวิชาการลวงโลก

......

แต่อีกด้านหนึ่ง นอกจากเรื่องเล่านี้จะตีแผ่ความไร้คุณภาพของเวทีสัมมนาแล้ว ยังเปลือยช่องว่างระหว่างงานวิชาการกับสังคมนอกโลกวิชาการ ซึ่งนับวันจะถ่างออกไปเรื่อยๆ อีกด้วย

ปรากฏการณ์ตอบรับเปเปอร์ลวงโลกสะท้อนให้เห็นความยึดติดใน 'รูปแบบ' และ 'ขนบ' ในวงวิชาการ ซึ่งเป็นเปลือกนอกที่ไม่ได้ชี้วัดคุณภาพของงานวิชาการ หากเป็น 'ขนบ' ที่ตัดสินคุณค่างานวิชาการด้วยหน้าตา ศัพท์แสง รูปแบบ แทนที่จะเป็นเนื้อหาสาระ วิธีคิด หรือประสิทธิภาพในการสื่อสาร

พูดถึงประเด็นนี้แล้วนึกถึง เหตุผลที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไม่ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ เพราะผู้ประเมินให้เหตุผลว่า ท่านเขียนงานไม่มีเชิงอรรถ (ไม่มีเชิงอรรถ = ไม่ใช่งานวิชาการ !!!)หรือ หลายคนวิจารณ์อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในช่วงหลังว่าไม่ค่อยเขียนงานวิชาการ เอาแต่เขียนลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร(บทความหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร = ไม่ใช่งานวิชาการ !!!)

น่าคิดนะครับว่า นิยามของงานวิชาการคืออะไร? ตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยเหตุใด คำนิยามกระแสหลักของงานวิชาการจึงมีความหมายและที่ทางเป็นเช่นทุกวันนี้ ? และคำนิยามของงานวิชาการในทิศทางนี้ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคม แม้แต่ต่อวงวิชาการเอง ?

ใช่ครับ, ผมไม่เชื่อว่าเกณฑ์การตัดสินคุณค่าของงานวิชาการเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่กาลอดีต อยากรู้ว่า ก่อนที่ 'วิชาการ' จะกลายเป็น 'อาชีพ' หรือก่อนเกิดอาชีพ 'นักวิชาการ' นั้น เกณฑ์การตัดสินคุณค่าของงานวิชาการเป็นอย่างไร ?

เมื่อก่อน 'วิชาการ' มีความเป็นสินค้าสาธารณะกว่านี้หรือไม่ ? และเมื่อเกิด 'นักวิชาการ' ที่ต้องใช้ 'วิชาการ' เป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพแล้ว 'วิชาการ' มีระดับความเป็นสมบัติส่วนตัวหรือสินค้าสโมสรของเหล่านักวิชาการมากขึ้น ขณะที่มีความเป็นสมบัติสาธารณะลดลง อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ อย่างไร ?

มันมีกระบวนการที่พยายามทำให้งานวิชาการแลดูสูงส่งหรือไม่ เพื่ออะไร เพื่อรับใช้ใคร ? หรือมันเป็นไปเองโดยธรรมชาติ เมื่อมีพัฒนาการขององค์ความรู้ ? แล้วมันต้องสูงส่งขนาดไหน ถึงจะคู่ควรที่จะถูกเรียกว่างานวิชาการ ? ควรใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของงานวิชาการที่ดี ?

เราคงเคยได้ยินคำเหน็บแนมของหลายคนว่า งานวิชาการที่ขลัง เปี่ยมคุณค่า ชาวบ้านต้องอ่านไม่รู้เรื่อง ต้องเต็มไปด้วยศัพท์แสงทางเทคนิค มีเนื้อหารูปแบบตาม 'ขนบ' ที่แลดูวิชาการ เข้าใจกันเฉพาะใน Exclusive club วงแคบๆ เท่านั้นก็พอ

หากเข้าไม่ถึง อ่านไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ใช่ความผิดของคนเขียน แต่เป็นปัญหาด้านระดับสติปัญญาของคนอ่านต่างหาก

อ่านบทความห่วยๆ ไร้คุณค่า แต่แลดูขลัง บางชิ้นไม่รู้เรื่อง เลยพาลดูถูกว่าตัวเองโง่ ถือโทษเป็นความผิดของตัวเองเอาง่ายๆ เสียอย่างนั้น

ลองตั้งคำถามหนักๆ กับ 'ขนบ' ของโลกวิชาการกันสักทีดีไหม

เพราะ 'ขนบ' ที่ว่า ดูเหมือนจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้วงวิชาการกลายเป็นสโมสรผูกขาดของ 'ผู้(คิดว่าตน)รู้' วงแคบๆ เท่านั้น

ทั้งที่ความรู้ควรเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งกลุ่มคนวงกว้างและหลากหลาย ควรสามารถเข้าถึง เรียนรู้ และร่วมสนุกกับมันได้

แม้จะทำให้ 'อำนาจ' ของนักวิชาการลดลงก็ตาม