แซยิด Roemer
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักหลังเขาของผมจัด conference หัวข้อ Capitalism, Socialism, and Democracy เพื่อเป็นเกียรติแก่ Roemer ในโอกาสที่มีอายุครบห้ารอบ
ท่านไม่ได้ตาฝาด และผมก็ไม่ได้สะกดชื่อผิดนะครับ ไม่ต้องงงงวย
เพราะ Roemer ของชาวสำนักหลังเขา มิใช่ David Romer ผู้แต่งตำรา Advanced Macroeconomics เครื่องมือหากินชิ้นสำคัญของ Corgiman และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของลูฟี่ หมวกฟาง
แต่ Roemer ที่เราคุ้นเคยคือ John Roemer เจ้าสำนัก Analytical Marxism คนนั้น
......
Roemer จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก UC Berkeley แล้วเข้าเป็นอาจารย์ประจำที่ UC Davis อย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1974-2000 กระทั่งเพิ่งย้ายไปประจำการที่ Yale University เมื่อห้าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน
หากขานชื่อนักเศรษฐศาสตร์ที่ประดิษฐ์ภูมิปัญญาใหม่หรือวิธีคิดใหม่ให้แก่วงวิชาการเศรษฐศาสตร์แล้ว สำหรับผม ย่อมมีชื่อของ John Roemer อยู่ในบัญชีนั้นเป็นลำดับต้นๆ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับวิธีคิด เครื่องมือ และมุมมองต่อโลกของเขาหรือไม่ ก็ยากที่จะปฏิเสธว่างานวิชาการของ Roemer มีความแปลกใหม่ เต็มไปด้วยนวัตกรรม และมี originality สูงมาก
แน่นอนว่า งานวิชาการที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมเป็นเป้าแห่งการโต้เถียงของวงการ
Roemer เป็น marxist แต่เป็น marxist ที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อย่าง Rational choice model, Game theory และ Walrasian General Equilibrium theory มาอธิบาย 'โลก' ของ Marx เช่น ทฤษฎีว่าด้วยชนชั้น ทฤษฎีว่าด้วยการเอารัดเอาเปรียบ (Exploitation) ของนายทุนต่อแรงงาน และความไม่เท่าเทียม (Inequality) ภายในระบบทุนนิยม ฯลฯ
เป็นเรื่องยากที่คนจะจินตนาการถึงการศึกษาเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ ด้วยเครื่องมือเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีระเบียบวิธีศึกษา (Methodology) แตกต่างจาก Orthodox Marxism อย่างสิ้นเชิง แต่นั่นมิใช่ John Roemer
หนังสือสร้างชื่อของ Roemer ซึ่งบุกเบิกถาง 'ทาง' ใหม่ ของเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์คือ Analytical Foundations of Marxian Economic Theory (1981), General Theory of Exploitation and Class (1982) และ Analytical Marxism (1986)
เหตุที่ Roemer เลือกใช้คำว่า Analytical Marxism ก็เนื่องจาก เขาเห็นว่า ระเบียบวิธีศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ตามแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เช่น การสร้างทฤษฎีจากโมเดลคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรม สามารถช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์และตอบคำถามที่ Marx หรือเหล่า Marxist ตั้งไว้ได้อย่างล้ำลึกขึ้นและฟังขึ้นกว่าเดิม
ที่สำคัญ Roemer เชื่อว่า เครื่องมือเหล่านั้นทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ตั้งอยู่บน 'ฐาน' ที่มีเหตุมีผลแข็งแกร่งและคงเส้นคงวาขึ้น
'ฐาน' ที่ว่า คือ การอธิบายปรากฏการณ์ระดับภาพรวม (เช่น ชนชั้น ระบบเศรษฐกิจ) โดยมีจุดตั้งต้นที่ 'ฐาน' ระดับจุลภาค (ในที่นี้คือ ปัจเจกบุคคล) หรือที่เราคุ้นกันในนาม Microfoundations นั่นเอง
ระเบียบวิธีศึกษาเช่นนี้ แตกต่างจากระเบียบวิธีศึกษาของ Orthodox Marxism อย่างชัดเจน
Orthodox Marxism อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นองค์รวม ไม่ได้มีจุดตั้งต้นที่ปัจเจกบุคคล หากมี 'ชนชั้น' เป็นจุดตั้งต้น ข้อสมมติในการวิเคราะห์แตกต่างจากข้อสมมติ 'สัตว์เศรษฐกิจ' แบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐาน และคำนึงถึงปัจจัยเชิงสถาบัน
จุดตั้งต้นของเรื่องเล่า วิธีการลำดับเรื่อง จุดเน้นของเรื่องเล่า และเป้าหมายของเรื่องเล่า ว่าด้วยทุนนิยมก็มีความแตกต่างกัน ทฤษฎีสร้างจากคนละ 'ฐาน' ความคิด
ประการสำคัญ ทฤษฎีมาร์กซ์มุ่งเสาะหาความจริงที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปกว่าผิวหน้าที่เห็น โดยใช้ตรรกะแบบ dialectic ที่เชื่อใน dialectic determinism, ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในตัวระบบ ซึ่งมีรากฐานจาก 'ความขัดแย้ง' ภายในตัวระบบ, และเชื่อว่าสถาบันต่างๆในสังคมเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจและอุดมการณ์ร้อยรัดอยู่
Orthodox Marxism ปฏิเสธ Methodological individualism คือ ไม่เชื่อว่าการศึกษาปรากฏการณ์ของสังคมสามารถลดรูปให้เหลือเฉพาะปัจจัยสำคัญที่กระบวนการใช้เหตุผลชี้ว่าคือแก่นแท้ได้ ความจริงไม่สามารถลดรูปให้เหลือเพียงพื้นฐานที่เล็กที่สุด (basic axiom) ที่เป็น 'ฐาน' ในการสร้างโลกความจริงขนาดใหญ่ขึ้นซับซ้อนขึ้นได้ เราไม่สามารถเข้าใจความจริงได้จากการทำความเข้าใจพื้นฐานที่เล็กที่สุดนั้น แล้วให้ลำดับเหตุผลต่อไปยังความจริงขนาดใหญ่กว่าหรือซับซ้อนกว่านั้นได้
พูดภาษาที่นักเศรษฐศาสตร์เข้าใจได้ง่ายหน่อยคือ ในบริบทนี้ ไม่เชื่อว่าปัจเจกบุคคลคือ representative agent ที่ทำให้เราเข้าใจภาพที่ใหญ่กว่าได้ เช่นนี้แล้ว วิธีคิดแบบ Microfoundations จึงไม่เป็นที่ยอมรับตั้งแต่ระดับปรัชญาพื้นฐานของมัน
ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา งานของ Roemer จึงเป็นที่โต้เถียงกันอย่างกว้างขวางและได้รับคำวิจารณ์อย่างเข้มข้นในหมู่นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ทางเลือก โดยเฉพาะเหล่านักเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ ประเด็นพื้นฐานของการโต้เถียงหนีไม่พ้นความเหมาะสมในการใช้ระเบียบวิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในการอธิบายทฤษฎีมาร์กซ์
ในระดับต่อมา คำวิจารณ์สำคัญที่ Roemer มักถูก Marxist สำนักอื่นตั้งคำถามคือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ของ Roemer ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการด้านแรงงาน (Labour process) ซึ่ง Marxist หลายสำนักเชื่อว่า เป็นต้นตอของการเอารัดเอาเปรียบในระบบทุนนิยม
ข้อสรุปของ Roemer ในเชิงทฤษฎีไปไกลถึงขั้นชี้ว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมในตลาดแรงงานไม่ใช่เงื่อนไขที่จำเป็น ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในระบบทุนนิยม หาก Roemer ให้ความสำคัญกับความไม่เท่าเทียมด้านสินทรัพย์ในฐานะเหตุของปัญหามากกว่า
ด้วยเหตุที่มิติด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายทุนกับแรงงานขาดหายไปในงานของ Roemer รวมถึง การไม่ได้สร้างทฤษฎีบนพื้นฐาน Labour theory of value ซึ่งเป็นหัวใจหนึ่งของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์
งานของ Roemer จึงมักถูกวิจารณ์ว่า ไม่ใช่งานแนว Marxist อยู่เนืองๆ
......
Woojin Lee ศิษย์เอกคนหนึ่งของ Roemer เป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการจัด conference ครั้งนี้ Woojin เพิ่งเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ล่าสุดที่สำนักหลังเขาของผม เมื่อปีที่แล้วนี้เอง
ในเอกสารประกอบการสัมมนา Woojin เขียนแนะนำผลงานและเล่าถึงมรดกที่ Roemer ทิ้งไว้ให้กับวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ รวมถึงพัฒนาการทางความคิดของ Roemer ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา
ผมขอย่นย่อคำให้การของศิษย์รัก Roemer มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
ความสนใจด้านวิชาการของ Roemer เริ่มต้นด้วยการพยายามตอบคำถามว่าด้วยระบบทุนนิยมและการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนต่อแรงงาน โดยใช้ General Equilibrium model ในการผลิตคำอธิบาย ทฤษฎีมาร์กซ์ของ Roemer จึงอยู่บนพื้นฐานของ Microfoundations
ต่อมา Roemer พยายามใช้โมเดลว่าด้วยชนชั้นของตนไปอธิบายระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มข้อสมมติว่าด้วยตลาดทุนที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect capital market) เข้าไปในโมเดล
Roemer สร้างทฤษฎีว่าด้วยการเอารัดเอาเปรียบ (Theory of Exploitation) โดยใช้ Game Theory ในการอธิบาย ข้อสรุปสำคัญที่ได้คือ รากฐานของการเอารัดเอาเปรียบในระบบทุนนิยมอยู่ที่ความไม่เท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน มิใช่ปัญหาความไม่เทียมเทียมกันในตัวกระบวนการแรงงาน
ตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา วาระวิจัยที่ Roemer สนใจมีอยู่ 3 ประเด็น คือ
หนึ่ง ทฤษฎีว่าด้วยการกระจายที่ยุติธรรม (Theory of distributive justice)
Roemer เสนอข้อเสนอว่าด้วยการกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกัน (Equality of Opportunity) ข้อเสนอเชิงนโยบายประการหนึ่งชี้ว่า สังคม(ในที่นี่ น่าจะเป็นรัฐ) ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือต่อความล้มเหลวของปัจเจกบุคคล ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าตัว แต่ไม่ควรให้ความช่วยเหลือต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของตน และอยู่ในวิสัยขอบเขตที่ตนรับผิดชอบ
ตัวอย่างเช่น รัฐควรช่วยเหลือคนตกงานเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะเป็น shock ที่ไม่คาดฝัน ที่เจ้าตัว(คนตกงาน)ไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่รัฐไม่ควรช่วยเหลือคนที่ถูกไล่ออกจากงาน เพราะไม่ขยัน ไร้ประสิทธิภาพ
(ตัวอย่างนี้ ผมยกเอง ไม่ได้เอามาจากข้อเขียนของ Woojin แต่ตรรกะของนักเศรษฐศาสตร์สายนี้เป็นอย่างนี้ ผมคงเข้าใจไม่ผิด)
สอง ทฤษฎีว่าด้วยกรรมสิทธิ์ส่วนรวมที่เป็นประชาธิปไตย (Theory of democratic public ownership)
ระบบเศรษฐกิจในฝันของ Roemer คือ สังคมนิยมแบบตลาดที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic market socialism) ซึ่งสินค้าเอกชนถูกจัดสรรผ่านกลไกตลาด โดยที่บริษัทเป็นสมบัติส่วนรวม แต่มีเป้าหมายเพื่อหากำไรสูงสุด แล้วนำกำไรมาจัดสรรแบ่งกันผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย รัฐมีบทบาทในการมีส่วนกำหนดรูปแบบและระดับการลงทุนในเศรษฐกิจ ผ่านกระบวนการวางแผนที่เป็นประชาธิปไตย เป็นต้น
สาม ทฤษฎีว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองของประชาธิปไตย (Theory of political economy in democracy)
Roemer เสนอกรอบความคิดว่าด้วยดุลยภาพที่เรียกว่า Partly Unanimity Nash Equilibrium ซึ่งเป็นดุลยภาพใน multi-dimensional policy space เพื่อใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์เศรษฐกิจการเมือง
สำหรับงานวิชาการประการหลังสุดนี้ ผมไม่เคยอ่านเลย เลยไม่รู้ว่าวิธีคิดของดุลยภาพที่ว่าเป็นอย่างไร
......
หากใช้เกณฑ์หยาบๆ ในการตัดสินว่า ใครเป็นซ้าย ใครเป็นขวา เราจะตัดสินตัวตนและผลงานของ Roemer อย่างไร เพราะเขาใช้เครื่องมือแบบขวา มาตอบคำถามแบบซ้าย และได้ข้อสรุปที่ค่อนไปทางซ้าย
จะพิพากษาใครเป็นซ้ายหรือขวา ควรดูที่วิธีทำงาน (เครื่องมือที่ใช้) หรือมุมมองต่อโลก หรืออุดมการณ์เบื้องหลังความคิดของเขากันแน่ ?
แล้วจะใช้เกณฑ์อะไร? วัดอย่างไร?
ถึงที่สุด ซ้ายหรือขวาก็เป็นเพียงสิ่งสมมติอีกอย่างหนึ่งในโลกวิชาการ ก็เท่านั้น
เป็นซ้ายหรือขวาจะไปสำคัญอะไร เพราะ Roemer ก็คือ Roemer เป็น Roemer มีคุณค่าสมบูรณ์ในตัวเอง อย่างไม่จำเป็นต้องจับยัดจัดกลุ่มให้เข้ากับฝั่งฟากไหน
...หากไม่มีคนเดิน ย่อมไม่เกิด 'ทาง'...
ไม่ว่าจะซื้อกรอบวิเคราะห์และบทวิเคราะห์ของ Roemer หรือไม่ แต่ยากที่จะปฏิเสธว่า Roemer ได้บุกเบิก 'ทาง' ใหม่ให้เราได้ใช้สมองเดินเล่นกัน
'ทาง' ที่ Roemer ถางช่วยให้เราเข้าใจระบบทุนนิยมในอีกแง่มุมหนึ่ง และเสนอแบบแปลนอีกแบบหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในอุดมคติบนรากฐานวิชาการ
ความสนุกในโลกวิชาการอยู่ตรงการเปิดใจกว้าง แล้วออกสำรวจท่องเที่ยวตาม 'ทาง' ที่หลากหลาย ที่ 'นักสร้างทาง' จำนวนมากสร้างขึ้น เช่นนี้เอง ... มิใช่หรือ?
สุขสันต์วันเกิด John Roemer ... ขอบคุณที่สร้าง 'ทาง' ใหม่ๆ มากว่า 30 ปี อย่างไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย
<< Home