pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Friday, May 06, 2005

จากนิธิถึงเรื่องซ้ายๆขวาๆ (2) : มุมมองอีกซีกโลก

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์โง่ๆคนหนึ่ง ผมอ่านความคิดเห็นของคุณปริเยศในหัวข้อ 'คุยกับปิ่นเรื่องซ้ายๆ(ไม่ใช่มองซ้ายมองขวา)' แล้ว เลยค่อนข้างสับสนและงงงวย ในลำดับความคิดและตรรกะของคุณปริเยศ

นี่นั่งอ่านอย่างตั้งใจมาสองรอบแล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ระบบคิดของคุณปริเยศเป็นอย่างไร ต่างจากงานเขียนของปริเยศในอดีตที่ผมเข้าถึงได้ไม่ยาก และรู้สึกว่าระบบคิดดูจะมีความชัดเจนและคงเส้นคงวากว่านี้มาก แม้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่วิธีคิดปริเยศก็ชัดเจนและคงเส้นคงวาพอที่ผมจะวิจารณ์ต่อได้

แต่สำหรับงานชิ้นนี้ ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ... แต่นั่นเป็นความรู้สึกของผมคนเดียวนะครับ

และที่ผมรู้สึกเช่นนี้ ไม่ใช่ป้ายความผิดให้ปริเยศนะครับ อาจเป็นความผิดของผมเองก็ได้

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นไปได้จากหลายสาเหตุ ขอยกมาสักสองสาเหตุแล้วกันนะครับ

เหตุแรก อาจเป็นเพราะ ผมยังไม่ลุ่มลึกพอที่จะติดกลุ่มคนน้อยกว่าน้อยที่จะสามารถเข้าใจความคิดของปริเยศ ดังที่คุณฤษณรสเปรียบเปรยไว้

เหตุที่สอง ผมกลับนึกถึงวรรคทองอมตะนิรันดร์กาลของ Amore Vincit ที่มักร้องหา 'clear/acceptable/logically consistent methodology' แต่ที่ต่างก็คือ ในประเด็นเช่นนี้ คณิตศาสตร์ช่วยอะไรไม่ได้ แต่การตั้งต้นด้วยการเมืองว่าด้วย 'คำนิยาม' คือคำตอบของความต่าง

เป็นไปได้ว่า คุณปริเยศอาจเขียนด้วยตรรกะที่คงเส้นคงวาในตัวเอง ขณะที่ผมก็อ่านบทความของคุณปริเยศด้วยตรรกะอีกชุดหนึ่ง ซึ่งต่างกัน อ่านจากคนละโลก ด้วยความเข้าใจคนละแบบ ต่างวิจารณ์อีกฝ่ายจากการนั่งอยู่ในหัวสมองของตัวเอง ไม่ได้เข้าไปนั่งในหัวสมองของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วผลิตคำวิจารณ์

ดูเผินๆ เหมือนเรากำลังคุยหรือแลกเปลี่ยนเรื่องเดียวกัน แต่เอาเข้าจริง เรากำลังคุยคนละเรื่อง แม้จะมีคำศัพท์ชุดเดียวกันเป็นศูนย์กลาง

ประเด็นนี้สำคัญนะครับ เพราะถ้าจะเถียงกันต่อได้ ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ไอ้ที่เราเรียก ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายก้าวหน้า ทุนนิยม สังคมนิยม ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ ชุมชน และเสรีนิยม เนี่ย เรากำลังคุยเรื่องเดียวกันหรือเปล่า นิยามมันเหมือนหรือคล้ายกันไหม มิเช่นนั้น ก็เถียงกันไม่จบ กลายเป็นว่า คนหนึ่งปกป้องทุนนิยม อีกคนปฏิเสธทุนนิยม แต่...อ้าว ... ทุนนิยมที่คุยๆกันอยู่ เนื้อหามันต่างกัน หมายความต่างกัน นี่หว่า แค่เรียกเหมือนกันเฉยๆ

และเท่าที่ผมอ่านคุณปริเยศ และอ่านอาจารย์นิธิ ผมว่า นิยามที่ทั้งสองให้ต่อคำเหล่านี้มีความแตกต่างกัน รวมทั้งนิยามที่ผมให้ด้วยอีกคน เช่นนี้แล้ว การที่แต่ละฝ่ายต่างมีจุดยืนอยู่คนละมุมโลก เถียงกันอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องและไม่จบ

อาการงงๆ แบบไม่รู้จะเถียงอะไร เถียงอย่างไร เริ่มต้นที่ตรงไหน ก็เลยเกิดขึ้น เหมือนที่เกิดกับผมตอนนี้ มันเลยไม่สนุกอย่างที่ควรจะเป็น เพราะยังไม่ได้ปรับฐานเข้าหากันก่อน เพื่อจะชำแหละความต่างในขั้นต่อไป

แล้วการคุยถึงนิยามของศัพท์พวกนี้เพื่อปรับฐานเข้าหากัน มันก็เป็นหนังเรื่องใหญ่และยาว เกินกว่าจะเขียนคุยกันใน blog ที่มีเป้าหมายเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องเรื่อยๆมาเรียงๆ อย่างไปดูชุดชั้นในผู้หญิงกับแฟนมา (ฮา)

ไว้ผมกลับเมืองไทย นัดเจอกันที่ hemlock จะดีกว่า

เขียนถึงตรงนี้ คุณนิติรัฐคงเซ็ง แล้วอุทานว่า อ้าว ใช้การตลาดหลอกกูให้รออ่าน แล้วไหงเสือกลงจากเวทีซะเฉยๆ

ยังไม่ลงครับ แม้ไม่แลกหมัด แต่ขอเต้นฟุตเวิร์คให้ชม 3-4 ประเด็น เป็นการเก็บตกปฏิกริยาของปริเยศ ดังนี้

คงเริ่มจากความผิดพลาดพลั้งเพลอของผม ที่การ์ดตกเปิดช่อง ดันไปเรียก ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายก้าวหน้า ให้คนที่มีความหลังกับมันได้ยิน (ฮา) ลืมไปว่าคุณปริเยศเป็นโรคภูมิแพ้ประเด็นว่าด้วยวิชาการและนักวิชาการ ได้อ่านทีไรเป็นต้องวิจารณ์ ผมเลยมักไม่ค่อยได้ทำงานทำการ ต้องมัวมานั่งเถียง เรียนไม่จบ เปิดเมมเลี้ยงชดเชยด้วย (ฮา)

คือคำพวกนี้เป็นคำสร้างปัญหานะครับ ถึงมีเกณฑ์ที่เห็นพ้องต้องกัน มันก็ subjective มากในการบอกว่าใครเป็นซ้ายใครเป็นขวา หรือใครซ้ายกว่าใคร แม้กระทั่งเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินความเป็นซ้ายเป็นขวาก็ยัง subjective ขึ้นกับกาลเทศะ ขึ้นกับสภาพสังคม ขึ้นกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ขึ้นกับสาขาวิชา ฯลฯ เช่น ซ้ายขวาทางเศรษฐศาสตร์ก็ต่างจากซ้ายขวาทางการเมือง ซ้ายขวาในสังคมไทยก็ต่างจากซ้ายขวาในสังคมอเมริกา เป็นต้น

ซ้ายหรือขวา มันขึ้นกับใครยืนข้างใคร แล้วหันหน้าไปทางไหน

นอกจากลำบากในการตีตราแล้ว ยังไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ถูกตีตราเท่าไหร่ มันทำลายบุคลิกปัจเจกที่สมบูรณ์ในแต่ละคน ซึ่งอาจต่างจาก stereotype ที่สังคมกำหนด

ปกติถ้าเขียนบทความหรืองานวิชาการ ผมจะหลีกเลี่ยงไม่ตีตราคนด้วยคำพวกนี้ แต่เห็นเป็นการตอบคำถามใต้เนื้อความ เลยไม่ระวังในการใช้เท่าที่ควร เลยเลือกใช้เกณฑ์หยาบๆนี้ เพราะคิดว่าคงช่วยให้ผู้อ่านพอเข้าใจความคิดผมได้ในเนื้อที่จำกัดแบบไม่ต้องอรรถาธิบายยาว กลายเป็นว่า ต้องมาเขียนยืดยาวหนักกว่าเดิม

ผมเห็นเหมือนคุณปริเยศว่า คำเหล่านี้เป็น 'วาทกรรม' แต่มันก็เป็น 'วาทกรรม' เช่นเดียวกับคำอื่นๆ เช่น ความรักชาติ ความจงรักภักดี เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มาตรฐานทางวิชาการ ฯลฯ

'วาทกรรม' มิใช่ 'ความจริงแท้' แต่ผู้ใช้มีอำนาจในการตีความ และมีอุดมการณ์อยู่เบื้องหลัง การเมืองว่าด้วย 'คำนิยาม' จึงเป็นประเด็นสำคัญในโลกวิชาการว่า นิยามแต่ละคำมันเคลื่อนผ่านข้ามเวลาอย่างไร มีการต่อสู้ช่วงชิงคำนิยามระหว่างกลุ่มอย่างไร สถานะของคำนิยามกระแสหลักถูกสถาปนาขึ้นอย่างไร ถูกท้าทายโดยใคร และมี implication อะไรต่อสังคม

นิยามของซ้ายและขวาก็เป็นวาทกรรมที่ถูกนำไปใช้หรือรับใช้อะไรบางอย่างเสมอมา ไม่ใช่เพียงถูกนำไปรับใช้สังคมนิยมอย่างที่ปริเยศตั้งข้อสังเกตเพียงเท่านั้น แน่นอนว่า ผู้สมาทานสังคมนิยมบางคนอาจใช้ แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็บอกเราว่า ความเป็นซ้าย และ/หรือ ความเป็นคอมมิวนิสต์ (เลือกกันเองนะครับว่าใครจะใช้ 'และ' ใครจะใช้ 'หรือ')ก็ถูกกลุ่มอำนาจนิยมใช้เป็นเครื่องมือทำลาย 'ฝ่ายก้าวหน้า' ในอดีต

มาถึงคำว่า 'ฝ่ายก้าวหน้า' นี่ก็เป็นอีกวาทกรรมหนึ่ง

ผมไม่คิดว่าคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า จะต้องดูถูกคนที่คิดไม่เหมือนตนไปด้วยพร้อมกันตรงไหน สำหรับคำนี้ ผมคิดเหมือนคุณฤษณรสมากกว่าว่า หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่เดิม ผมมองคล้ายกับคู่ตรงข้ามของพวกอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ชอบหรือไม่ไว้ใจการเปลี่ยนแปลง

ใช่ที่คุณฤษณรสบอกว่า ไม่แน่ว่าการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องนำไปสู่ความก้าวหน้าหรือไม่ อาจนำไปสู่การถอยหลังได้ แต่การเปลี่ยนแปลงมันมีพลังของการเดินหน้าอยู่คู่กัน จะเดินได้จริงหรือไม่ จะเดินไปข้างหน้าได้ไกลขนาดไหน ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เมื่อเผชิญกับโลกความจริงและข้อจำกัดต่างๆ แต่มันมี potential progress แฝงอยู่ในตัวด้วย

หลายคนคงคิดว่า ถ้าไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าแล้ว ทำไมเราจึงควรคิดเปลี่ยนแปลงแต่แรก ยิ่งถ้าไปถามพวกมาร์กซิสต์ยิ่งเชื่อมั่นกับการเปลี่ยนแปลงว่านำไปสู่ความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์ แม้ผลสัมฤทธิ์อาจไม่เกิด แต่มันมีพลังขับเคลื่อน และความขับเคลื่อนนี่เองที่เป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงให้ประสบผลสำเร็จในเวลาต่อๆไป และความก้าวหน้าในความหมายนี้มันไม่ใช่แค่การพัฒนาด้านวัตถุหรือสิ่งรูปธรรมเท่านั้น

ผมไม่คิดว่าการตั้งคำถามตีความแบบเล่นคำของคุณปริเยศเกี่ยวกับฝ่ายก้าวหน้าจะมีประโยชน์นัก เพราะตรรกะที่คุณปริเยศใช้มันค่อนข้างเป็นขาวดำ ไม่เปิดช่องให้ความเห็นอื่นมีพื้นที่หายใจ เช่น เชื่อว่าฝ่ายก้าวหน้ามีชุดความคิดหนึ่ง แล้วถ้าคนอื่นมีชุดความคิดที่แตกต่างคือพวกไม่ก้าวหน้า ฝ่ายก้าวหน้าเอง(แล้วแต่จะนิยามอย่างไร)ก็ใช่ว่าจะคิดเช่นนั้น เกรงว่าปริเยศจะคิดไปเอง เพราะเอาเข้าจริง ในฝ่ายก้าวหน้าในความหมายของพวกเชื่อในการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้มีเอกภาพ แต่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในประเด็นว่าจะเปลี่ยนอย่างไร

ผมคิดว่างานเขียนชิ้นนี้ของปริเยศใช้ตรรกะแบบขาว-ดำ มากทีเดียว

คือความคิดทางสังคมศาสตร์มันไม่ได้เป็น ขาว-ดำ หรือ 0-1 ไม่ใช่ว่า ถ้าวิจารณ์ตลาดคือพวกปฏิเสธทุนนิยมแล้วเอารัฐ มันไม่ใช่ตรรกะแบบบุชที่ว่า you are either with us or against us. มันมีช่องว่างระหว่างกลางอยู่มาก มีพื้นที่มากมายกว้างขวาง คนที่ตั้งคำถามกับทุนนิยม อาจไม่ใช่เพื่อปฏิเสธ แต่เพื่อปฏิรูป หรือคิดว่ากติกาแบบทุนนิยมมันไม่พอ หรือจะมีคนตั้งคำถามเพื่อปฏิเสธมันเลยก็ได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันหลากหลายกว่านั้น

ผมมักรู้สึกว่า วิธีคิดทำนองนี้เป็นปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์ที่มักถูกฝึกมาให้คิดแบบวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์สายอื่น เลยมักดึงข้อสรุปไปจบลงด้วยความคิดแบบทวิภาวะเสมอ ว่ามันต้อง ใช่/ไม่ใช่ เอา/ไม่เอา จริง/ไม่จริง ไม่ค่อยเป็นพหุนิยมเหมือนนักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ที่ความคิดกระเดียดไปทาง post-modern มากกว่า (หมายถึงโดยเปรียบเทียบน่ะครับ)

ในแง่นี้ ผมเลยไม่รู้สึกเหมือนคุณปริเยศว่า อาจารย์นิธิเคลมว่าชุดความคิดของแกเป็นความจริงแท้ ที่อยู่เหนือคนอื่น ผมเห็นว่าหน้าที่ที่แกทำตลอดก็คือการแสดงความเห็น แต่การแสดงความคิดของคนๆหนึ่งไม่ได้แปลว่าเขาถือตัวเองเป็นเจ้าโลกเจ้าจักรวาล แล้วดูถูกความเห็นคนอื่นว่าด้อยกว่า หรือพยายามผูกขาดความจริง

ผมเองกลับรู้สึกว่า เอาเข้าจริง นักเศรษฐศาสตร์เองต่างหาก ที่มักลืมตัว พลาดสรุปแบบนั้นเอาบ่อยๆ และชอบชี้หน้านักสังคมศาสตร์สายอื่นเอาง่ายๆ ก็ด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ทำให้หลงไปว่าตัวเข้าใจความจริงแท้

พื้นฐานแห่งความแตกต่างในประเด็นนี้อยู่ตรงที่ 'ทีท่าต่อความจริง' ผมคิดว่านักประวัติศาสตร์สายอาจารย์นิธิไม่ได้มองประวัติศาสตร์เป็นความจริงแท้ แต่เป็นเรื่องเล่าหนึ่ง ซึ่งอำนาจในการตีความและอำนาจในการเล่าเรื่อง อยู่ที่ผู้เล่าหรือผู้เขียน ใครเล่าเขียนได้ฟังขึ้นกว่าคนก็อาจจะเชื่อมากกว่า ก็เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าความคิดที่คนเชื่อมากกว่าคือความคิดที่ถูกเสมอ ท่าทีต่อความจริงของผู้ถูกฝึกในเป็นนักประวัติศาสตร์สายนี้จึงแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างมาก

ผมเองกลับไม่รู้สึกว่าอาจารย์นิธิหรือแม้แต่หมอประเวศชอบทำตัวเป็นผู้ผูกขาดความจริงแต่อย่างใด การเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อเป็นคนละเรื่องกับการดูถูกความคิดคนอื่นนะครับ มันไม่ใช่ขาว-ดำ 0-1 แบบนั้น คนๆหนึ่งสามารถเชื่อมั่นในความเชื่อตัวเองอย่างแรงกล้าได้พร้อมๆกับเปิดกว้างรับฟังความเชื่อของคนอื่นๆ

ถ้าจะผูกขาดความจริง ต้องแบบทักษิณ 1 ที่พยายามสถาปนาความจริงในแบบของตนให้เป็นความจริงสูงสุด และคุกคามคนที่นิยามความจริงในทางที่ต่างจากที่ตนนิยาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ในทางบั่นทอนความจริงแบบของตน

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่อยากชวนคุยคือ ผมเห็นว่า อาจารย์นิธิไม่ได้ปฏิเสธตลาดโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ได้คิดว่าตลาดเป็นพระศรีอาริย์ต่างหาก และการปฏิเสธตลาดของนิธิก็มิใช่การหันไปหารัฐ เพราะเอาเข้าจริง นิธิเห็นว่า มันอาจจะน่ากลัวพอๆกัน

ผมตีความงานของอาจารย์นิธิแบบนี้มากกว่า คือไม่ไว้ใจทั้ง 'ตลาด' และ 'รัฐ'

จะเยียวยาปัญหาที่เกิดจากสองสถาบันนี้อย่างไร สองสถาบันนี้สร้างปัญหาในแง่มุมต่างๆอย่างไร ส่งผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในสังคมอย่างไร เหล่านี้เป็นโจทย์ที่อาจารย์นิธิชอบตั้งคำถาม ซึ่งทางออกของอาจารย์นิธิคือ หันไปหา 'ชุมชน' ในฐานะอีกสถาบันทางเลือกหนึ่ง

บทความในช่วงหลัง อาจารย์นิธิแสดงความเชื่อมั่นในกติกากำกับเศรษฐกิจที่เรียกว่า 'ชุมชน' ในฐานะทางออกที่อยู่ระหว่างรัฐกับตลาด ผมคิดว่าปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักให้ความสนใจในการศึกษากลไกการทำงานของสถาบัน 'ชุมชน' หรือ 'ทุนสังคม' มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เรื่องนี้คงคุยกันได้อีกยาวในวันหน้า และคุณ one life คงตอบคำถามได้เป็นอย่างดี เจ้าพ่อทุนสังคมครับคนนั้น

แต่ก็อีก การถกกันเรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจ การเมืองว่าด้วย 'คำนิยาม' ของคำว่า 'ชุมชน' และ 'ทุนสังคม' และจำเป็นที่จะต้องคุยกันเรื่องคำนิยามให้ชัดเจนกันแต่ต้น เพื่อให้เถียงกันต่อเป็นคนละเรื่องเดียวกันได้ดีและมีประโยชน์ขึ้น

เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ผมขอสรุปประเด็นปลีกย่อยที่เหลืออีกบางประเด็นสั้นๆ

หนึ่ง ผมไม่คิดว่าประสิทธิภาพกับความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ต้องแลกกัน ความเป็นธรรมมีผลเพิ่มพูนประสิทธิภาพได้ เรื่องนี้ผมเคยเขียนพื้นฐานความคิดไว้แล้ว ขอไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้ และใช่ว่า พวกที่เรียกตัวเองว่าซ้ายใหม่บางกลุ่มจะไม่ให้ความสนใจประเด็นว่าด้วยประสิทธิภาพบนเส้นทางสู่ความเท่าเทียมเลย แต่กลับเป็นประเด็นสำคัญในโลกวิชาการฝ่ายซ้ายให้ความสนใจมากในขณะนี้

สอง สังคมนิยมมักถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ เพราะสร้างจากพื้นฐานที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์

จริงๆ ต้องบอกว่า ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกขัดเกลาด้วยระบบทุนนิยมถึงจะถูก และทุนนิยมเสรีในความฝันของหลายคน โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ ก็เป็น utopia ไม่แพ้สังคมนิยมในฝันของหลายคน

สังคมนิยมจะเกิดขึ้นได้จริง ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมนิยม อันนี้ต้องคุยกับอาจารย์สุวินัย ถ้าได้อ่าน series ที่แกเพิ่งเขียนจบไปสามเล่ม เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึกจะถกเถียงกันต่อได้สนุก (อย่าลืมอ่านคำนิยมในเล่มสามนะครับ - เพราะผมเขียนเอง (ฮา))

สาม มีหลายประโยคของคุณปริเยศที่ผมอ่านแล้วรู้สึกแปร่งๆ เช่น นักคิดฝ่ายซ้ายเท่ากับนักบวชในยุคมืดของยุโรป, ยิ่งนักวิชาการซ้ายมากเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่าเขาไม่เข้าใจโลก, การต่อต้านฉันทมติแห่งวอชิงตันโดยปฏิเสธรัฐ, และการทำเช่นนั้นเป็นความไร้เดียงสา ฯลฯ ไม่ค่อยเข้าใจตรรกะที่อยู่เบื้องหลังข้อความเหล่านี้น่ะครับ

ประเด็นสุดท้าย ที่เขียนเถียงกับคุณปริเยศนี่ ไม่ใช่เพื่อปกป้องนิธิ อย่างที่คุณบุญชิตฯ หรือคุณปริเยศมักคิดว่านิธิแตะไม่ได้นะครับ

ผมไม่เคยเชื่อว่าการเคารพนับถือคือการหลับหูหลับตาชื่นชมปกป้องกันไปเรื่อย และผมก็ไม่เคารพใครที่ 'คน' แต่เคารพที่ 'ความ' ยิ่งอาจารย์นิธิด้วยนี่ ยิ่งไม่รู้จักไม่เคยคุยกัน

คุณปริเยศวิจารณ์อาจารย์นิธิก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะมองมุมปริเยศ ตีความแบบปริเยศ แต่เมื่อผมตีความต่างและคิดต่าง ก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ผู้วิจารณ์เช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผมไม่ปฏิเสธว่า ผมเป็นคนที่มีความคิดสมาทานแนวคิดของอาจารย์นิธิ ซึ่งก็มีเหตุมีผลที่จะอธิบายได้เช่นกัน

จริงๆ ถ้าจะถกเถียงกันให้ได้คุณภาพ มันต้องคุยกันที่ตัวงานแต่ละชิ้นว่าทำไมปริเยศตีความแบบนี้ ทำไมผมตีความแบบนี้ หรือต้องทำงานวิจัยศึกษาความคิดของอาจารย์นิธิกันเลย ตอนนี้ผมก็อาศัยเขียนจากความทรงจำและความรู้สึก การถกเถียงมันก็ไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร

แต่ทั้งนี้ใช่ว่าวงวิชาการไทยทั่วไปจะเป็นอย่างนี้เสมอนะครับ เพราะที่คุณบุญชิตฯและคุณนิติรัฐเขียนแสดงความเห็นไว้ใน blog ของปริเยศเป็นเรื่องจริง

ประสบการณ์ผมในวงวิชาการไทยตลอดห้าปีที่ผ่านมาพบว่า วงวิชาการไทยก็ไม่ต่างอะไรจากสังคมไทย จะไปคาดหวังวัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ เมื่ออาจารย์เด็กวิจารณ์อาจารย์ผู้ใหญ่ทีไร น่วมกลับมาทุกที แพ้เพราะฝีมือไม่ว่ากัน แต่ที่แพ้เพราะถูกชกใต้เข็มขัดนี่รับไม่ไหว ตำแหน่งวิชาการสูงๆ ไม่ได้แปลว่าจะมีวัฒนธรรมวิชาการอยู่ในใจ บางคนเป็นขาประจำด่าทักษิณแต่ทำตัวบ้าอำนาจยิ่งกว่าทักษิณอีก

ผมอ่านความเห็นคุณนิติรัฐแล้วอินมาก โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

"...ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าวงวิชาการเปิดกว้าง ถ้ามันจะเปิดกว้างจริงก็คงกว้างแต่ในนาม ในภาพลักษณ์ ในความเคยชินที่เรารับรู้กันมาเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง นักวิชาการบางคนก็พยายามเป็น authority ในศาสตร์ของตน

ผมได้ยินมาว่า นักวิชาการคนหนึ่งที่ตอนนี้ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง มีกิตติศัพท์ในการสร้างตนให้เป็น authority

เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จนได้เห็นเองครับ ถึงเริ่มเชื่อว่าจริง

อาจารย์ผมคนนึงที่ผมถือว่าเป็น 'ครู' แม้อายุระหว่างผมกะเค้าอายุจะห่างกันแค่สิบปีเอง เค้าเจอกับตัวเต็มๆครับ กับการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ

ครูของผมจบปริญญาเอกกลับมาไฟแรงมาก ไปร่วมอภิปรายกับแกบนเวทีเดียวกันเข้า เถียงกันไปกันมา

ต่อมาก็ยังมีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแกอีกต่างกรรมต่างวาระ

ปัจจุบันนักวิชาการท่านนั้นก็ยังคงผูกปีกลายเป็นคู่กัดกับ 'ครู' ของผมคนนี้อยู่

ระบบการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการบ้านเราไม่เอื้อให้เราวิพากษ์หรือเห็นแย้งกับนักวิชาการรุ่นใหญ่เท่าไรนัก ยิ่งจะเถียงกับรุ่นใหญ่ในสาขาเดียวกันแล้ว หากตระหนักถึงความเจริญก้าวหน้าในอนาคตนี่ยิ่งต้องพึงระวัง

ดูๆไปมันก็ไม่ต่างกับระบบราชการเท่าไร

ประเด็นนี้ยิ่งน่ากังวลต่อไปหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเต็มตัว

ออกนอกระบบ อาจทำให้เราอิสระทางการบริหาร งบประมาณ บุคลากร ผมเห็นด้วย

แต่ในส่วนของอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ผมเกรงว่าเราจะเปลี่ยนจากเดิมที่ 'ไม่อิสระจากนักการเมือง' มาเป็น 'ไม่อิสระจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์รุ่นใหญ่' แทน

ไม่ขัดข้องกับการประเมินผลงานในแต่ละปีเลยครับ (เดี๋ยวคุณปริเยศจะหาว่าผมเป็นพวกหอคอยงาช้างไม่ยอมเขียนงาน ๕๕๕)

แต่ผมกังวลกับการกลั่นแกล้งกันด้วยข้อหาที่อันตรายที่สุดในวงราชการไทย คือ ข้อหา 'เจ้านายหมั่นไส้'

เอาเข้าจริง จะว่าไปแล้วไม่ว่าจะวงการอะไรก็ตามในบ้านเราคงหนีไม่พ้นกับปัญหาทำนองนี้

เราไม่แยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว เราไม่เปิดโอกาสให้เถียงกัน เราเถียงกันแล้วเราไม่จบแต่เราเอาไปแค้นเคืองกันต่อ

บางที... มันอาจฝังลึกจนเกินเยียวยาแล้วครับ"


นี่คือปัญหาพื้นฐานของวงวิชาการไทย ที่สำคัญ พวกที่มักแยกแยะเรื่องส่วนตัวจากเรื่องงานไม่ได้ คือพวกรุ่นใหญ่ที่เวียนว่ายอยู่ในวงวิชาการมาเกิน 20 ปี เป็นเรื่องน่าเศร้านะครับกับความไร้วุฒิภาวะทางวิชาการ โดยการแสดงความใจแคบให้เห็นอยู่เนืองๆ มิหนำซ้ำ การใช้อำนาจกลั่นแกล้งด้วยความไม่ชอบหน้าพบเห็นได้ทั่วไป น้ำเน่าไม่แพ้วงการอื่นๆ

วันหลังจะชวนคุยเรื่องนี้ต่างหาก โดยเฉพาะเรื่องระบบประเมินของพนักงานมหาวิทยาลัยที่เตรียมตัวสำหรับการออกนอกระบบ ซึ่งอาจกระทบเสรีภาพทางวิชาการในหมู่คนรุ่นผม

ถ้าวันใดที่ผมตัดสินใจก้าวขาออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เหตุผลประการเดียวก็เพราะสิ้นความอดทนกับความเหลวแหลกพวกนี้ละครับ

และถึงวันนี้ พูดตรงไปตรงมาก็คือ ใช่ว่าวันนั้นจะเป็นไปไม่ได้