ท้องหิว ใจเหงา เข้า hemlock
รู้สึกเหมือนผมไหมครับว่า กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีที่ไป ไม่ค่อยมีที่ทางให้เลือกใช้ชีวิตได้หลากหลาย
หันซ้ายหันขวาในเมืองใหญ่ชื่อยาวเมืองนี้ ดูเหมือนว่า ทางเลือกในการใช้เวลาว่างและพักผ่อนอย่างรื่นรมย์ มีอยู่จำกัดเหลือเกิน นึกๆดูก็เห็นห้างสรรพสินค้าลอยมาเป็นลำดับแรก รูปแบบการนัดเจอเพื่อนฝูงของคนกรุงทั่วไปมักหนีไม่พ้นนัดกินข้าว ดูหนัง เดินช้อปปิ้ง
พื้นที่สีเขียวก็น้อย พิพิธภัณฑ์ก็ห่วย หอศิลปมีไม่กี่แห่ง ห้องสมุดก็ไม่ดึงดูดใจ แล้วเราจะไปคาดหวังอะไรกับคุณภาพชีวิตที่ดีและวัฒนธรรมการเรียนรู้ของผู้คน ในเมื่อขาดชุมชนทางปัญญา และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีคุณภาพ พ้นไปจากกระแสวัตถุ
ยังดีที่ช่วงหลัง เริ่มมีสถานที่ที่จัดกิจกรรมทางปัญญาหรือกิจกรรมทางเลือกมากขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ป๋วยเสวนาคาร ร้านหนังสือเดินทาง หอศิลป์ฯผ่านฟ้า(ศูนย์สังคีตศิลป์เดิม) ห้องเรวัต พุทธินันท์ ในหอสมุดกลางธรรมศาสตร์ ห้องสมุดมารวยของตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ พื้นที่ทางเลือกในการใช้เวลาว่างให้สนุกเลยค่อยๆเพิ่มขึ้น
แต่ก็ยังนับว่าน้อยมากจนเทียบไม่ได้กับเมืองใหญ่ทั่วโลก แม้เมืองเหล่านี้จะมีแสงสีจัดจ้านไม่แพ้กรุงเทพฯ แต่สำหรับคนมีรสนิยมอีกแบบก็มีพื้นที่ให้เขาจมจ่อมกับความชอบของเขาได้มากไม่แพ้กัน แม้จะมีคลับ บาร์ ห้างสรรพสินค้ามากมาย แต่ก็มีพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุด มากเสียจนเที่ยวชมไม่หวาดไม่ไหว
มองดูรอบกรุงเทพฯแล้ว คนกรุงเทพฯอย่างผมเลยมีพื้นที่ที่รู้สึกผูกผันน้อยแห่ง นอกจากธรรมศาสตร์แล้ว สถานที่ประทับใจและผูกผันที่สุดอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกันในระยะเดินถึง
เป็นตึกแถวสองชั้นห้องหนึ่งริมถนนพระอาทิตย์
เป็นสถานที่ที่ผมเอ่ยถึงบ่อยที่สุดใน blog นี้
Hemlock ครับ
......
สำหรับผม Hemlock เป็นมากกว่าร้านอาหาร แต่เป็นชุมชนทางปัญญาและวัฒนธรรมเล็กๆที่แสนงดงามและหลากหลาย
นอกจากอาหารจะอร่อยถูกปากแล้ว 10 ปีที่ผ่านมา Hemlock ไม่เคยไร้กิจกรรมทางปัญญา ไล่เรียงตั้งแต่การตั้งวงคุยเรื่องปรัชญา ถกปัญหาบ้านเมือง เปิดตัวหนังสือใหม่ ไปจนถึงงานแสดงภาพถ่าย งานศิลปะ และงานแสดงดนตรีเพราะๆ
ที่สำคัญ พี่ตู๋กับพี่เนตร สองเจ้าของร้านยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการพลิกฟื้นชุมชนบางลำพูให้เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เป็นชุมชนแห่งแรกๆในกรุงเทพฯ ที่สร้างเครือข่ายจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและทางปัญญา เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า วัฒนธรรมไม่ใช่ของไร้ชีวิตตายซากที่กระทรวงวัฒนธรรมหมกมุ่นเฝ้าปกปักรักษา หากวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่รอบตัวเราและรอบชุมชนเรา ... สนุก มีชีวิต มีสาระ มีภูมิปัญญา มีความเป็นมา มีความรื่นรมย์สุนทรีย์ เข้าถึงได้ และเป็นของเรา
สำหรับผม Hemlock เป็นชุมชนที่มีเสน่ห์แบบยากจะอธิบาย สมาชิกขาประจำก็หลายหลาก ทั้งอาชีพการงาน ทั้งวิธีคิดวิธีมองโลก และความสนใจ ตึกแถวสีขาวห้องเล็กๆ ห้องนี้ จึงเป็นเหมือนโลกที่กว้างใหญ่ มีอะไรให้ค้นหาและเรียนรู้มากมาย แถมเป็นการค้นหาและเรียนรู้อย่างสนุกรื่นรมย์ ... เคล้าแอลกอฮอล์นิดๆ พอให้สมองทำงานและคุยกันออกรส
ยิ่งดึก วงสนทนายิ่งออกรส การโต้เถียงยิ่งเผ็ดมัน แถมยังเป็นโอกาสได้กินฟรีเพราะเจ้าของร้านเริ่มเมาแล้ว (ฮา)
ผมมีความสุขเสมอยามก้าวขาเข้า Hemlock นะครับ เป็นความสุขแบบเดียวกับห้วงเวลานี้ ยามเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วพาตัวเองเข้าสู่ชุมชน blog ของพวกเรา
คล้ายกันที่ทั้งสองต่างเป็นชุมชนทางปัญญาที่หลากหลายและมีเสน่ห์ เป็นสถานที่นั่งพักผ่อนแบบได้สาระอย่างสนุกรื่นรมย์ ที่สำคัญ สมาชิกใจกว้าง รักความแตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างงดงามลงตัว
นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว Hemlock ยังเป็นสถานที่แห่งความหลังของผมครับ
ผมรู้จัก Hemlock มาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี แต่นานๆทีถึงจะมาใช้บริการ มาครั้งแรก เพราะมีเพื่อนแนะนำว่า ร้านนี้อาหารอร่อย บรรยากาศดี จัดร้านสวยงาม มีรสนิยม ...
ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับพาสาวมากินข้าว (ฮา)
เช่นนี้แล้ว ครั้งแรกที่ย่างเท้าเข้า Hemlock จึงเป็นภารกิจว่าด้วยหัวใจล้วนๆ มิใช่อะไรอื่น คือมาดูลาดเลาและหามุมโรแมนติกสำหรับพาสาวมากินข้าวน่ะครับ
นี่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลยนะครับเนี่ย อย่าไปฟ้องพี่เนตร-พี่ตู๋นะ
อนิจจา ... ภารกิจพาสาวมากินข้าวก็ล้มเหลว ในอีกไม่กี่วันต่อมา
ไม่ใช่เพราะสาวไม่ยอมมา แต่เพราะผมไม่กล้าเอ่ยปากชวน (ฮา)
......
ในดีมีเสีย ในเสียมีดี
แม้ภารกิจของหัวใจจะล้มเหลว แต่การได้มาสัมผัสลิ้มรสบรรยากาศของ Hemlock ก็ทำให้ติดอกติดใจ อยากมาอีก
จนกลายมาเป็นขาประจำ Hemlock กับเขาตอนเข้าเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์
แรกๆ ก็มาในฐานะเป็นผู้ติดตามอาจารย์จ้วนและพรรคพวก ที่นี่เป็นที่ประจำของอาจารย์จ้วน เพราะสนิทสนมกับพี่เนตร-พี่ตู๋ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ อดีต อมธ. และเป็นเพื่อนซี้กับอาจารย์พี่หมู สมาชิกคนสำคัญของก๊วนเรา
ตอนนั้น ก๊วนดึกของเรา มีอาจารย์จ้วนเป็นหัวหน้าเด็ก แล้วก็มีพี่หนุ่ม พี่นุช กับผม ตอนผมเข้ามาใหม่ พี่ต้นไปเรียนต่อ ผมก็รับช่วงเป็นเพื่อนแก้เหงาให้อาจารย์จ้วนต่อ ส่วนพี่หมูยังนั่งเขียนวิทยานิพนธ์อยู่ที่อังกฤษ ย้อนไปสมัยผมเข้าเป็นอาจารย์ใหม่ๆ กลุ่มอาจารย์รุ่นใหม่ในคณะยังมีไม่กี่คน ไม่เหมือนขณะนี้ ที่มีกันร่วม 15 คน
จากผู้ติดสอยห้อยตาม ผมก็เริ่มรู้จักกับขาประจำคนอื่นของ Hemlock มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการคุ้นหน้า มายิ้มให้ พยักหน้าทักทาย จนกระทั่งปักหลักนั่งคุยไปทั่ว สักพักก็ปีกกล้าขาแข็งไม่ต้องอาศัยอาจารย์จ้วนนำทาง ท้องหิวใจเหงาเมื่อไหร่ก็มุ่งตรงมาเอง
ไม่มีครั้งไหนที่มา Hemlock แล้วไม่เจอคนรู้จัก ต้องหาคนร่วมวงจนได้ ... แหงสิ ก็รู้จักเจ้าของร้านนี่หว่า ถ้าไม่เจอใคร ยังไงก็มีคนนั่งคุย
พูดถึงขาประจำ Hemlock นี่ หลากหลายวงการมากนะครับ ตั้งแต่ พวกอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ก็พวกธรรมศาสตร์ ที่เห็นบ่อยๆ ก็มีก๊วนเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เรื่อยไปจนถึงนักเขียน บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ นักร้อง นักแสดง พิธีกร ศิลปิน นักธุรกิจ นักดนตรี ช่างภาพ กระทั่งนักการเมือง ฯลฯ
เป็นความโชคดีที่ได้เปิดหูเปิดตาเปิดสมองตัวเอง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนหลายวงการ และเพื่อนอาจารย์ต่างคณะ
เร็วๆนี้ เกือบมีโอกาสได้ไปปฏิบัติภารกิจบางประการที่ไม่คาดฝัน เผอิญไม่ได้อยู่เมืองไทย เลยเข้าร่วมไม่ได้ ไม่อย่างนั้น คงได้มีอะไรสนุกๆมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จุดเริ่มต้นของเรื่องราวไม่คาดฝันนั้น ก็คงมีที่มาจาก Hemlock นี่แหละ
......
ชีวิตช่วงหลัง ผมผูกผันกับ Hemlock มากทีเดียว เพราะที่นี่เป็นที่พักพิงใจยามเหนื่อยล้าจากการทำงานและชีวิต เป็นที่นัดพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง เลี้ยงรับ เลี้ยงส่ง ตกลงธุรกิจ ปรึกษาเรื่องความรัก ฯลฯ
มีอยู่ช่วงหนึ่งผมได้มีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวเรื่องย้ายธรรมศาสตร์ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่มอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ 30 กว่าคน ก็ได้เห็นการลงแรงอย่างเอาจริงเอาจังของพี่ตู๋ในงานนี้ แม้มุมมองจะต่างกันบ้างบางเรื่อง แต่สิ่งที่เราฝันอยากเห็นธรรมศาสตร์เป็นไม่ต่างกัน พี่ตู๋หมดทุนส่วนตัวไปหลายสตางค์ทีเดียว กระนั้น จากการที่ผมได้เข้าไปอยู่ในสนามรบนั้นตั้งแต่ช่วงกลางเป็นต้นมา ผมก็ได้เห็นขนาดของหัวใจอันใหญ่โตและน่าเคารพของพี่ตู๋
ความผูกผันของผมกับ Hemlock เลยแน่นหนามากขึ้นไปอีก
Hemlock นี่เปลี่ยนชีวิตผมหลายอย่างนะครับ
กินเหล้ากินเบียร์เป็นครั้งแรกก็ที่นี่
มีหนังสือรวมเล่มของตัวเองครั้งแรกก็เพราะที่นี่
จะว่าไป ถือว่าผมเริ่มต้นชีวิตการขีดๆเขียนๆเป็นจริงเป็นจังก็เพราะ Hemlock นี่แหละ เช่นเดียวกับพี่หมูของผม
เหตุก็เพราะผมและพี่หมูเจอพี่โญที่นี่เป็นครั้งแรก
พี่โญก็เป็นขาประจำ Hemlock เหมือนกัน พี่หมูกับอาจารย์ภราดรรู้จักพี่โญก่อน เจอกันที่นี่นั่นเอง ทั้งคู่เป็นคนแนะนำให้ผมรู้จักพี่โญในดึกคืนหนึ่ง ตอนผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย
พี่หมูนี่เข้าไปเขียนใน open ก่อนผม ตั้งแต่แกจบปริญญาเอกกลับมาใหม่ๆ
ความหลังของพี่หมูกับพี่โญ เป็นอย่างนี้ครับ
วันหนึ่ง ขณะพี่หมูนั่งทำงานอยู่ เสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานก็ดังขึ้น
ปลายสายคือพี่โญ เป้าหมายคือชวนเป็นคอลัมนิสต์ ซึ่งเข้าใจว่าคงได้ยินเรื่องราวของพี่หมูแถวๆ Hemlock นั่นแหละ
(คอลัมนิสต์ open จำนวนมาก ตกเป็นของพี่โญที่ Hemlock นี่เอง)
พี่หมูก็เลยนัดพี่โญให้มาเจอกันที่ธรรมศาสตร์ เพื่อคุยรายละเอียด
ถึงวันนัด เมื่อพี่โญเปิดประตูห้องเข้าไป เสียงทักทายประโยคแรกจากปากพี่หมูก็คือ
"ไอ้เหี้ย มึงเองเหรอ !"
คือทั้งคู่เจอกันที่ Hemlock มาแล้วหลายครั้ง รู้หน้าค่าตา ไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนาม พี่หมูไม่เคยรู้ว่า นี่คือบรรณาธิการภิญโญผู้โด่งดังแบบลำบากๆ ข้างพี่โญก็ไม่รู้ว่านี่คืออาจารย์อภิชาต เจ้าของวิทยานิพนธ์สั่นสะเทือนแบงก์ชาติ
พูดถึงบรรณาธิการภิญโญแล้ว ก็อดรำลึกถึงยอดบรรณาธิการ ช่างทำหนังสือดีอีกคน ที่วนเวียนอยู่แถวนี้ไม่ได้
พี่แป๊ด ระหว่างบรรทัดครับ
เริ่มจากคุ้นหน้าคุ้นตากันก่อน จนตอนหลังถึงได้รู้ว่าพี่แป๊ดเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ และยิ่งทึ่งหนักไปอีกเมื่อรู้ว่า สำนักพิมพ์ของแกมีพนักงานประจำคนเดียว ... คือตัวเอง !
มืออาชีพมากครับ ลองไปหาหนังสือของสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดดูได้ว่ามืออาชีพและละเมียดละไมปานใด กระทบไหล่เขานี่เล่มโปรดผมเลยนะครับ อ่านแล้วไม่จุใจไปหาหนังสือที่พี่แป๊ดเป็นบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์อื่นอย่างมติชนต่อก็ได้ ... เคยโดนหรือยัง ?
ตอนรู้ใหม่ๆว่า พี่แป๊ดเป็นบรรณาธิการระหว่างบรรทัดนี่ ไม่รู้และไม่ได้สังเกตว่า สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดเป็นคนทำนิยายภาพ Turn left, Turn right (ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ผู้ชายเลี้ยวขวา) ของ Jimmy Liao ภาคภาษาไทย
หนังสือในดวงใจของผมเล่มหนึ่งเลยครับ ... มีความหลังครับ มีความหลัง
มารู้ตอนหลังแล้วนี่ ต้องชื่นชมทันทีเลยครับ คลาสสิกมาก ... mass production ยักษ์ใหญ่อย่างนานมี ปั๊มออกมามาก แต่ทำได้ไม่ใกล้เคียงกับสำนักพิมพ์เล็กๆอย่างระหว่างบรรทัดเลยนะครับ
ครั้งแรกที่บอกพี่แป๊ดไปว่าชอบหนังสือเล่มนี้มาก
นอกจากแกจะหล่นคำพูดว่า "ไม่น่าเชื่อ ! อ่านหนังสือแบบนี้ด้วยเหรอ?" แล้ว ผมยังจำสีหน้าแกได้ติดตาเลยครับ
สีหน้าตกใจประมาณเห็นมูราคามิหันมาเขียนหนังสือแนวแอ๊คชั่นล้างโลก หรือเห็นคำ ผกา ขวัญใจแกเปลี่ยน มาเขียนคอลัมน์แทน ฮ.นิกฮูกี้ ใน GM Plus ยังไงยังงั้น
คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจนะครับ ... ผมก็มีหัวใจกับเขาเหมือนกัน แม้บางห้วงยามจะถูกคนอื่นขโมยไปเก็บไว้บ้างก็ตาม (วิ๊วววว...)
......
กลับบ้านนอกมาได้เกือบสามเดือนแล้ว คิดถึง Hemlock มากเลยครับเนี่ย
คิดถึงทั้งอาหาร ทั้งบรรยากาศ และพี่ๆเพื่อนๆ
ไว้กลับเมืองไทยเมื่อไหร่ ขอเชิญชวนเพื่อนๆ ชุมชน blog แห่งนี้ ไปพบปะสังสรรค์กันที่ Hemlock นะครับ
ผมกับคุณ Grappa นั่งรอแถวนั้นเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วน corgiman นี่ต้องขอวีซ่าก่อน one life ต้องรอให้ขึ้นมาเมืองกรุง ด้าน 'กระต่ายน้อย' เสร็จจากภารกิจเล็มหญ้า(อ่อน)แถวข้าวสารคงปลีกตัวมาร่วมแจมได้
แล้วท่านจะรู้ว่า ร้านอาหารที่ทำให้อิ่มทั้งท้อง ทั้งสมอง เรื่อยไปจนถึงหัวใจ มีอยู่จริง !
<< Home