ก.ม.นอมินี ต้องแก้ให้บังคับใช้ได้จริง
ประชาไท 16 มกราคม 2550 – จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และเกิดกระแสคัดค้านจากหอการค้าต่างประเทศ จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ขัดต่อกระแสโลกาภิวัตน์หรือไม่นั้น
นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความเห็นในช่วงท้ายของการสัมมนาเรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจ ที่จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ว่า เรื่อง พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นมาตั้งแต่สมัยที่ใช้ ปว. 281 จนมาถึงเรื่องพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
“ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ประเทศเราเป็นประเทศเปิด รับการลงทุนตลอด แต่ที่ผ่านมาเราใช้วิธี ‘หลิ่วตา’ คือไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตัวกฎหมายก็เป็นไปเพื่อทางการเมือง ให้เห็นว่าเราปกป้องทุนชาติในความหมายที่มันสร้างคะแนนความนิยมทางการเมืองให้กับนักการเมืองของชาติได้”
เขากล่าวต่อว่า ในทางปฏิบัติ เราไม่ได้สนใจจะบังคับใช้กฎหมาย และเราก็เห็นนักธุรกิจต่างชาติ ทุนต่างชาติเข้ามาแล้วก็แปลงร่างเป็นทุนไทย เทสโก โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ ทุนไทยทั้งนั้น มีสัญชาติไทยทั้งนั้น แล้วก็ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายพ.ร.บ.ต่างด้าว
จนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมครม. มีมติให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเพิ่มนิยามความเป็นต่างด้าว จากเดิมที่พิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้น มาพิจารณาที่สิทธิการออกเสียง (Voting Right) ด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ให้คนไทยถือหุ้นแทน หรือเป็นนอมินี แต่แท้จริงบริหารโดยชาวต่างชาติ ก็จะถูกนิยามเป็นบริษัทที่เป็น ‘ต่างด้าว’
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า บริษัทที่มีสัญชาติเป็นต่างด้าว ไม่สามารถประกอบกิจการในบัญชีสามประเภทได้อย่างเสรี ประเภทที่ 1 และ 2 เป็นกิจการที่อาจกระทบถึงความมั่นคง ส่วนประเภทที่สามนั้น คือประเภทที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมจะแข่งขันกับต่างชาติ
นายปกป้องกล่าวว่า เขาเห็นว่ารัฐบาลก็พยายามด้วยการบังคับใช้กฎหมายให้มันจริงจังมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา เรานิยามแค่ความเป็นไทยโดยดูที่การถือหุ้น แต่เราไม่ได้ดูอีกขั้นว่า คนที่ถือหุ้นร้อยละ 51 นั้นเอาแหล่งเงินมาจากไหน หรือไม่ได้ดูเรื่องสิทธิการออกเสียง (voting right) อำนาจการจัดการบริหารบริษัท มันเป็นยังไง กฎหมายจึงพยายามแก้ตรงนั้นให้ใช้ได้จริง และมันเริ่มต้นที่เคสกุหลาบแก้ว
“แต่มันก็ใช่ ว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ มันอาจไม่ใช่ทางออก เราอาจต้องดูตั้งแต่ต้นเลยว่า ธุรกิจอะไรที่เราคิดว่าเราจะคุ้มครองต่อไป ปัญหาคืออะไรที่จะบังคับ อะไรที่จะเปิด ถ้าจะเปิดก็คือเปิด ไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ที่ผ่านมามีกฎหมายมาบังคับแล้วรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ก็เลือกที่จะหลิ่วตา เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการใช้วิจารณญาณ ก็ได้ส่วนเกินทางเศรษฐกิจ เพราะสามารถเลือกที่จะบังคับได้ว่าจะใช้กฎหมายกับใคร เมื่อไหร่”
นายปกป้องกล่าวว่า ทางออก ทางแก้ของมัน คือต้องดูว่าเราต้องการคุมอะไรบ้าง ในธุรกิจบริการ อะไรจะอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ อะไรที่จะเปิดไปเลยโดยที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ให้ทุนต่างชาติเข้ามาแทนได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซนต์ แล้วเลือกควบคุมการผูกขาดด้วยกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ต้องใช้ประกอบกัน เช่น พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2542 พ.ร.บ.ป้องกันการผูกขาด อันนี้จะช่วยลดการใช้วิจารณญาณ
แต่ถ้าเราแก้อยู่ในกรอบเดิม คือดูสามบัญชี และคุมสิทธิการออกเสียง (Voting Right) มันก็จะมีปัญหา เพราะจะมีบางธุรกิจในทางเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการเข้ามามีส่วนร่วมของต่างชาติ เราก็ต้องมาดูว่า ความจริงมันเป็นยังไง อะไรที่ต่างชาติมีอยู่แล้ว อะไรที่ต้องคุ้มครอง หรือคุ้มครองก็ต้องให้ชัดว่า transition period มันจะยาวนานขนาดไหน
เช่น ถ้าเปิดเสรีการเงินให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้เต็มที่ ภาคธนาคารของเราก็เจ๊ง แต่ถ้าไม่เปิดเลย ธนาคารไทยก็เป็นผู้มีอำนาจผูกขาดในตลาดผู้เล่นน้อยรายได้ (อนึ่ง ธุรกิจธนาคารไม่ได้อยู่ภายใต้ พรบ.ต่างด้าว 2542) จะหาจุดลงตัวที่ดีต่อสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างไร การเข้ามาของต่างชาติไม่ได้มีแต่เรื่องมิติเรื่อง GDP อย่างเดียว มันก็เป็นการแย่งชิงส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ระหว่างทุนต่างชาติกับทุนไทย มันก็มีโอกาสที่คนไทยจะตกงานและสู้ไม่ได้ มันมีหลายมิติ
“ประเด็นผมคือ ต้องนิยามให้ชัดว่าเราจะคุ้มครองอะไร ถ้าเราไม่คุ้มครองอะไรก็เปิดเสรีไปเลย อะไรที่ต้องคุ้มครองก็ต้องมีกฎกติกาที่โปร่งใสชัดเจน ถ้าต้องคุ้มครองก็ต้องมาดูว่า แค่ลำพังการดูผู้ถือหุ้น มันอาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริง ก็ต้องมาดูสิทธิการออกเสียง (Voting Right)”
เขากล่าวว่า ในความเป็นจริง เรื่องกุหลาบแก้วมันก็ผิดอยู่แล้วตั้งแต่พ.ร.บ.เก่า รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย ก็เล่นงานกุหลาบแก้วได้ เพราะผิดพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว 2542 มาตรา 36 มันก็เขียนไว้ชัดอยู่แล้ว ว่าการพยายามให้ถือหุ้นแทนมันผิดกฎหมาย มีบทลงโทษที่ชัดเจน
“ผมคิดว่า สิ่งที่ทำอยู่ ไมได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เราก็ได้ยินเสียงมายาวนานแล้วว่า ให้เล่นเรื่องนอมินีอย่างจริงจัง ให้เป็นเคสกุหลาบแก้ว แต่พอมาเล่นอย่างจริงจัง ก็มีเสียงค้านว่า เดี๋ยวทุนจะหนีไปไหน แต่ถ้าเราดูบัญชีสามจริงๆ ที่ผ่านครม.อาทิตย์ที่แล้ว ทุนเก่าก็ไมได้รับผลกระทบอะไร เพราะแค่ไปรายงาน ไปแจ้งว่าที่ผ่านมาทำผิด แค่แจ้ง ไม่ต้องปรับสัดส่วนสิทธิการออกเสียง”
“แต่ผมแค่กังวลกลุ่มทุนใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนภาคบริการ ต้องมาดูว่า มันจะคลุม ไม่คลุมอะไร นั่นน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ แล้วเราต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง ไม่ดัดจริต” เขากล่าวทิ้งท้าย