วิถีมังกรธรรม
วันนี้ขอนำงานเก่ามาเล่าใหม่หน่อยนะครับ
เผื่อคนแถวนี้ ยังไม่มีโอกาสได้อ่านกัน ไม่ใช่อะไรครับ เผอิญชอบงานเขียนชิ้นนี้ของตัวเองมาก (ฮา)
เนื้อหาที่ผมจะโพสต์ต่อจากส่วนเกริ่นนี้ คือคำนิยมที่ผมเขียนให้อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ในหนังสือ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก: แนวทางปฏิรูปเชิงบูรณาการในยุคหลังทักษิณ" (2548, openbooks) อันเป็นภาคสุดท้ายของไตรภาคของงานเขียนชุด Thaksinomics ของอาจารย์สุวินัย
ผมชอบหนังสือเล่มนี้นะครับ ทำไม? หาคำตอบได้ในคำนิยม
สำหรับแฟนข้อเขียนอาจารย์สุวินัย ตอนนี้อาจารย์เริ่ม series ใหม่ ว่าด้วยมูซาชิ ในวาระครบรอบสิบปีมูซาชิฉบับท่าพระจันทร์ series นี้ ผมยิ่งชอบหนักเข้าไปอีก สนุก คม เปี่ยมแง่คิด และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเองมากนะครับ โดยเฉพาะสำหรับสมาชิกแถวนี้ที่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญความเครียดจากการเรียนต่ออันหนักหนาสาหัส ผมชอบอ่านอาจารย์สุวินัยเขียนเรื่องปรัชญาตะวันออกมาก ยิ่งตอนหลังได้ฝึกมวยจีนภาคปฏิบัติกับอาจารย์ก็ยิ่งอ่านสนุกขึ้น
ลองเข้าไปอ่านดูตามลิงก์ข้างบนครับ เชื่อว่าหลายคนคงได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ สำหรับการต่อสู้ในสมรภูมิแห่งชีวิต
series ใหม่ เรื่องมูซาชิที่ว่านี้ เริ่มตั้งแต่ตอน พหุปัญญาของมูซาชิในคัมภีร์ห้าห่วง เป็นต้นไปครับ ส่วนตอนก่อนหน้านั้น เป็นบทความใน series Thaksinomics ที่รวมเป็นเล่มแล้วทั้งสามเล่ม
......
(คำนิยม)
- 1 -
จะว่าไป ผมรู้จักอาจารย์สุวินัยห่างๆ มาร่วมสิบสองปีแล้ว ครั้งแรกที่ผมกับอาจารย์เริ่มมีสัมพันธ์กันคือวันที่ผมซื้อหนังสือปรัชญาอภิมนุษย์มานั่งอ่านเมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย
ก่อนหน้านั้น ผมก็พอรู้จักอาจารย์บ้างผ่านบทบาทอาจารย์นักปฏิบัติการทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และในฐานะตัวตั้งตัวตีกลุ่มเพื่อนอานันท์ รวมถึงเจ้าของคอลัมน์มองอย่างตะวันออกในผู้จัดการรายวันยุคภูมิปัญญาเข้มข้น ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน
ด้วยความมุ่งมั่นอยากเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมเลยสนใจผลงานของอาจารย์คณะนี้เป็นพิเศษ เมื่อแรกอ่านหนังสือของอาจารย์สุวินัย นอกจากรู้สึกชื่นชมใน “วิถี” แบบสุวินัยแล้ว งานเขียนของอาจารย์ยัง “เปิด” โลกอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผม - ในฐานะเด็กบ้าการเมืองคนหนึ่งในขณะนั้น – ไม่เคย และ ไม่คิด ที่จะเข้าไปค้นหามาก่อน
จากปรัชญาอภิมนุษย์ ผมก็ตามอ่านงานเขียนของอาจารย์อีกหลายเล่ม จนถึงมูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์
สารภาพว่า ขณะนั้น ผมยังไม่รู้สึกดื่มด่ำลงลึกไปกับงานเขียนของอาจารย์มากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับงานเขียนของอาจารย์สาย “สมอง” คนอื่นๆ จะด้วยความเยาว์ หรือความสนใจส่วนตัว หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมรู้สึกตื่นเต้นกับการอ่านงานเศรษฐศาสตร์ งานรัฐศาสตร์ มากกว่างานเขียนสาย “จิตใจ” ของอาจารย์สุวินัย
เรียกได้ว่า อาจารย์สุวินัย “แง้ม” ประตูให้เข้าไปค้นหา “โลกภายใน” มาตั้งนานแล้ว แต่ผมยังไม่มีความกระหายพอที่จะเข้าไป ก็ได้แต่แอบดูอยู่ห่างๆ หน้าประตู แล้วโลดแล่นอยู่กับการพยายามเปลี่ยนแปลงโลกภายนอกตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ตลอดระยะเวลาสิบสองปีที่ผ่านมา
- 2 –
ผมห่างเหินจากการอ่านงานของอาจารย์สุวินัยไปพักใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่อาจารย์เขียนหนังสือชุดมังกรจักรวาล การถูกฝึกฝนให้เป็นนักสังคมศาสตร์ที่ใช้ระเบียบวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ และถูกสอนให้มีวิธีคิดแบบสมัยใหม่ ได้ “กัน” ผมออกจากอาจารย์ไปเรื่อยๆ แม้ความเคารพนับถือจะไม่ด้อยลงก็ตาม
แม้เมื่อผมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในฐานะนักศึกษา ก็ไม่ได้เรียนกับอาจารย์สุวินัย ทั้งที่ผมสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และตอนนั้น อาจารย์ก็สอนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่คณะ
โทษใครไม่ได้ เพราะผมเป็นคนเลือกที่จะไม่เรียนเอง ก็เมื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเมือง นักเรียนเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ย่อมต้องคิดถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิก เศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์ หรือเศรษฐศาสตร์สถาบัน ไม่ใช่บูรณาการศาสตร์ ที่ผสมผสานปรัชญาตะวันออก ตามวิถีแบบสุวินัย
เมื่อแรกเข้าเป็นอาจารย์ใหม่ ผมมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์สุวินัยบ้าง ตามโต๊ะอาหารและระเบียงทางเดิน แต่มิได้สนิทสนม เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางสังคมเสียมากกว่า นานๆ ครั้งจึงจะได้ถกเถียงกันเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ยิ่งเมื่ออาจารย์เผชิญวิกฤตใหญ่ จนเร้นกายจากสังคม ความสัมพันธ์ก็ดูห่างออกไป
เวลาผ่านไปสักพัก อาจารย์สุวินัยก็เริ่ม “กลับมา” ปรากฏการณ์ระบอบทักษิณทำให้เราได้คุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองไทย การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ภายใต้รัฐบาลทักษิณส่งผลให้อาจารย์เลือกที่จะหวนกลับมาสู่บทบาทคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันอีกครั้ง
และบัดนี้ งานเขียนทั้ง 3 ภาคได้ถูกนำมารวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ OPENBOOKS รวม 3 เล่มด้วยกัน โดยเล่มนี้ถือเป็นการปิดขบวนงานเขียนชุดนี้
เส้นทางเดินของหนังสือไตรภาคชุดนี้เอง ที่ทำให้อาจารย์สุวินัยและผม ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “คนร่วมทาง” ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จนในที่สุด ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส “โลก” และ “วิถี” แบบสุวินัย ด้วยประสบการณ์ตรง
ผมเคยเขียนไว้ในคำนิยมของหนังสือภาคสองว่า โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า หนังสือไตรภาคชุดนี้แสดงถึงการ “กลับมา” อย่างตกผลึก งดงามหมดจด และถึงพร้อม ของอาจารย์สุวินัย
ผมยังคงยืนยันประโยคดังกล่าว
อาจารย์เริ่มต้นภาคแรกของงานเขียนชุดนี้ด้วยการแกะรอยและชำแหละระบอบทักษิณ ซึ่งมิใช่เพียงตั้งคำถามในระดับความชอบธรรมเท่านั้น หากยังลงลึกถึงระดับความเป็นของแท้ของตัวระบอบและตัวตนของคุณทักษิณ ด้วยท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยความเมตตา และมุมมองที่แตกต่างเฉียบคม
ในภาคสอง อาจารย์พยายามอธิบายระเบียบวิธีคิดเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะกรอบวิธีคิดว่าด้วยการเมืองเชิงบูรณาการ และพื้นฐานที่สร้างมันขึ้นมา ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจระเบียบวิธีคิดที่อาจารย์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ระบอบทักษิณในเล่มแรกอย่างลึกซึ้งขึ้น บทสังเคราะห์ของอาจารย์สุวินัยถือเป็นความแปลกใหม่ที่ลึกซึ้ง และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาจารย์ช่วยถางทางนำพาสังคมไทยไปสู่ภูมิปัญญาใหม่
กระทั่งถึงภาคสุดท้าย อาจารย์สุวินัยได้เสนอทางออกต่อการเมืองไทย ด้วยข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึกของประเทศ ด้วยวิถีบูรณาการ โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับจิตวิญญาณของสังคมไทย เพื่อ “ข้ามพ้น” ระบอบทักษิณ
จริงๆ แล้ว ผมมีความเห็นว่า ข้อเสนอของอาจารย์สุวินัยก้าวไปไกลกว่าการข้ามพ้นระบอบทักษิณ หากเป็นการเตรียมตัวเพื่อข้ามพ้นระบบทุนนิยมด้วยซ้ำไป
น่าสนใจที่ทางออกของการเมืองไทยยุค “หลัง” ทักษิณ ในความเห็นของอาจารย์สุวินัย คือการหันกลับมาพัฒนาตัวคนที่ขั้นรากฐาน ซึ่งมิได้มีความหมายผิวเผินเพียงแค่การให้ความรู้ เพิ่มความสามารถในการใช้เหตุใช้ผล และยกระดับสติปัญญาเท่านั้น หากเป็นการพัฒนาถึงระดับจิตวิญญาณ ให้คนมีศักยภาพในการเข้าถึงความดี ความจริง และความจริง ในระดับจริงแท้ที่สุดให้ได้
สำหรับนักปฏิบัติการทางการเมืองระดับเข้มข้น เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้อาจดูเหินห่างไปจากชีวิตจริง ดูไกลตัวจนหลายคนละเลยไม่ให้ความสำคัญ เพราะคิดว่าโลกการเมืองกับโลกจิตวิญญาณไม่น่าจะประสานร่วมกันได้อย่างแนบแน่น
ผมเองก็เคยคิดเช่นนั้น จนถึงบ่ายวันหนึ่ง เมื่อสี่เดือนก่อน
- 3 –
หนังสือเล่มนี้มุ่งสร้างนักปฏิบัติการทางการเมืองในอุดมคติ ที่มีความเป็นพลเมือง มีจิตสำนึก มีสติปัญญา รู้จักตัวเอง รู้จักสังคม มีคุณธรรม ใจกว้าง ใส่ใจการพัฒนาจิตวิญญาณ มีโลกทัศน์แบบองค์รวม และพหุนิยม
ในฐานะที่ผมถือว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติการทางการเมืองคนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ได้เปิดโลกอีกด้านให้เราได้มีโอกาสสำรวจตัวเองถึงส่วนที่ยังพร่องและมักละเลย
ผมเองเป็นคนชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เคยมีความฝันอยากเป็นนักการเมือง ที่ผ่านมา ผมมักหมกมุ่นอยู่กับความพยายามจะเปลี่ยนโลกภายนอกรอบตัวให้ดีขึ้นมาตลอด แม้จะไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่หันเหมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ยังไม่ทิ้งบทบาทนักปฏิบัติการทางการเมือง เล่นการเมืองนอกสภาด้วยการเขียนบทความ สอนหนังสือ และวิจารณ์สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย ตามโอกาสอำนวย บางจังหวะก็ต้องลงมือเคลื่อนไหวเองด้วย
สมัยผมเริ่มติดตามการเมืองใหม่ๆ ก็เริ่มต้นจากการมองการเมืองในเชิงอุดมคติ และชอบเรียกร้องว่านักการเมืองที่ดี “ควร” จะเป็นอย่างไร ระบบการเมืองที่ดี “ควร” จะเป็นอย่างไร ต่อมา เมื่อมาสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเมืองและเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ มุมมองก็เริ่มเปลี่ยนมาสนใจหาคำอธิบายสภาพการเมืองแบบที่เป็นอยู่จริง ให้ความสนใจกับ “ระบบ” “กติกา” หรือ “สถาบัน” เหนือตัวบุคคล ด้วยคิดว่าระบบเป็นเหตุที่ส่งผลต่อไปยังพฤติกรรมของตัวละครในตลาดการเมือง
ต่อมาเมื่อได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันแนววิวัฒน์ ก็เริ่มคิดได้ว่า ลำพังสถาบันหรือกติกาที่ดีอย่างเดียวไม่พอ หากคุณภาพของความพอใจ (Preference) ของคนในสังคม รวมถึงค่านิยมและวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อความสำเร็จของสถาบันที่ดี ระบบที่ดีโดยเฉพาะกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ดีเพียงลำพังมิอาจนำพาไปสู่การเมืองที่ดีได้
ทั้งนี้ ตัวกติกาหรือสถาบัน ฝั่งหนึ่ง กับ พฤติกรรม ความพอใจ และค่านิยมของคน อีกฝั่งหนึ่ง จะวิวัฒน์ร่วมกัน และส่งผลกระทบกลับไปกลับมากระทบกันและกัน พูดง่ายๆ คือ กติกาที่ดีอาจช่วยให้คนที่ใช้กติกานั้นมีคุณภาพขึ้น เมื่อคนดีขึ้น กติกาก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น ดีขึ้นไปอีก ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การออกแบบสถาบันให้ดีแล้วจบ แต่ต้องศึกษาด้วยว่าภายใต้บริบทแบบใดที่ตัวกติกากับตัวคนจะวิวัฒน์ร่วมกันได้ เพื่อนำพาสังคมไปสู่ระดับที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถึงวันนี้ ผมยิ่งกลับมาคิดใหม่ว่า ตัวคนมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองอย่างยั่งยืน การยกระดับคุณภาพจิตใจ หรือจิตวิญญาณของคนในฐานะสัตว์การเมืองมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ระบบการเมืองที่มีคุณภาพต้องการทั้งกติกาที่มีคุณภาพ และคนใช้กติกาที่มีคุณภาพและถึงพร้อม
คนที่มีคุณภาพควรมีลักษณะอย่างไร?
ถ้าฝันไปให้ไกลที่สุด ก็คือ คนที่มีวัตรปฏิบัติใกล้เคียงกับแก่นที่หนังสือเล่มนี้แนะนำ
ตั้งแต่เด็ก ผมมักชื่นชมคนที่มีบุคลิกเป็น “นักรบ” ต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างไม่กริ่งเกรง สู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ ไม่มุ่งหวังลาภยศเงินทอง ไม่แยแสเปลือกนอกจอมปลอมของสังคม มีความเป็นขบถอยู่ภายใน มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นและมีส่วนลงมือร่วมสร้างมัน มุ่งมั่นต่อสู้อย่างมืออาชีพ มีคุณธรรม และภาคภูมิใจในเกียรติของตัวเอง
น่าเศร้าที่ในสังคมอนุรักษ์นิยมเช่นสังคมไทย ต้นทุนของการเป็นนักรบสูงยิ่ง แทนที่จะได้รับคำชื่นชม กลับถูกมองด้วยสายตาแปลกแยก ถูกค่อนแคะว่าเป็นพวกงี่เง่า ไม่รู้รักษาตัวรอด ถูกมองว่าเป็นตัวสร้างปัญหาก่อความวุ่นวาย บ้างก็โดนตราหน้าและกลั่นแกล้งโดยผู้เสียประโยชน์หรือผู้เกลียดชังการเปลี่ยนแปลง เช่นนี้แล้ว การออกรบแต่ละครั้งย่อมเหนื่อยยากแสนเข็ญ
ผมเองก็ใฝ่ฝันอยากใช้ชีวิตตามวิถีของนักรบที่ดี แต่ที่ผ่านมายังนับว่าห่างไกลจากการเป็นนักรบที่ดี ยังเป็นไม่ได้ จะมีก็แต่ความมุ่งมั่น แต่ยังไม่ถึงพร้อมทางใจ และบางครั้งก็ใช้สมองในการต่อสู้ไม่มากนัก เพราะชอบแทงตรงแบบอาฮุย ไม่ต้องมีกระบวนท่าให้มากความ ที่สำคัญ มัวแต่สนใจทำศึกนอก แต่ไม่เคยให้เวลาเอาชนะศัตรูภายในใจตัวเองเลย
เพื่อนสนิทของผมรู้ดีว่า ผมมีปัญหาสุขภาพมาช้านาน แทบทุกครั้งที่ต้องออกศึกสู้รบ มักจบลงด้วยอาการล้มป่วย ด้วยความเป็นเด็ก ผมยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์บางเรื่องได้ มักเก็บความทุกข์ของสังคมเข้ามาแบกเป็นความทุกข์ส่วนตัว ง่ายที่จะรู้สึกผิดหวัง ล้มเหลวในการปล่อยวาง รับความกดดันไม่ค่อยได้ และเป็นโรคภูมิแพ้เวลาพายุขวาจัดคลั่งชาติพัดแรง และเวลาที่เห็นความขัดแย้งจบลงด้วยรอยเลือดแทนที่จะด้วยสันติ
ศัตรูในใจของผมคอยฉุดรั้งศักยภาพในการต่อสู้อยู่เนืองๆ ในอดีต เมื่อป่วยไข้ทางกาย ก็พึ่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่รักษาแบบแยกส่วน ซึ่งผมก็เข้าใจว่าไม่ใช่ทางออก เพราะไม่ได้รักษาเหตุแห่งทุกข์ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และจริงๆ ก็ชอบปล่อยผ่าน ไม่ค่อยใส่ใจดูแลตัวเองเท่าไหร่ จัดการความเครียดได้ไม่ดี ไม่ใส่ใจออกกำลังกาย จนช่วงหลังมีอาการผิดปกติทางกาย เช่น รู้สึกวิงเวียนโคลงเคลงบ่อยครั้ง แม้จะยังอายุไม่มาก
กระทั่งบ่ายวันหนึ่ง หลังเสร็จการทำศึกในสมรภูมิหนึ่ง ผมมีอาการเครียด เวียนศีรษะ จะเป็นลม ไปห้องพยาบาลที่ตึกโดม กินยา ก็ช่วยไม่ได้มาก ผมกลับมาที่ห้องทำงาน เดินสวนกับอาจารย์สุวินัยที่ริมระเบียงทางเดิน อาจารย์ทักทันทีว่าเป็นอะไร หน้าซีดมาก จับชีพจรและเลือดลมดูแล้ว เห็นท่าอาการไม่ค่อยดี เลยรีบแสดงท่ามวยจีนให้ผมทำตาม
ผมไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้เลยแม้แต่น้อย แม้ชอบดูหนังจีนแต่ก็ไม่เคยเชื่อในพลังของมัน ที่ไม่เชื่อก็เพราะไม่เคยเจอพลังของมันกับตัวเอง ตามสันดานนักวิชาการประสบการณ์นิยม สารภาพว่า ตอนแรก ผมก็ทำไปอย่างนั้น ด้วยท่าทีแหยงๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะช่วยอะไรได้ แต่ไม่อยากให้เสียน้ำใจความหวังดีของอาจารย์
แต่อาจารย์สุวินัยกลับเอาจริงเอาจัง คอยจับตาแก้ไขท่าให้ผมอย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการป่วย จนผมต้องเริ่มจริงจังและใส่แรงทุ่มเท ผมทำท่ามวยอยู่ประมาณหนึ่งธูป เหงื่อเริ่มออก เลือดลมสูบฉีด ผมหายจากอาการวิงเวียนเป็นปลิดทิ้ง จนไปร่วมงานเลี้ยงในคณะต่อได้ ท่ามกลางความประหลาดใจของเพื่อนอาจารย์จำนวนหนึ่งที่เพิ่งเห็นผมหน้าซีดตัวเย็นเมื่อไม่กี่นานมานี้
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสพลังมหัศจรรย์ของการฝึกมวยจีนเพื่อปรับสภาพภายในร่างกาย วันต่อมา ผมไปคุยกับอาจารย์สุวินัย เล่าอาการป่วยทางกาย ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพจิตใจ ที่มักเกิดขึ้นกับผมให้อาจารย์ฟัง
ด้วยความหวังดี กลัวผมอายุสั้น อาจารย์เลยกรุณาเปิดคอร์สเร่งรัดบำบัดจิตวิญญาณ ฟื้นฟูกำลังภายใน ให้ผมด้วยวิถีมวยจีนเชิงบูรณาการ ซึ่งเป็นการรักษาโรคแบบองค์รวม
อาจารย์บางท่านที่ได้เห็นอาการของผมดีขึ้นทันตาเมื่อบ่ายวันนั้น ก็ขอเข้าร่วมฝึกมวยจีนกันด้วย เราฝึกกันสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลาประมาณสี่เดือนก่อนที่ผมจะกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ต่อที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์
ท่วงท่าที่อาจารย์สุวินัยสอนมิได้มีเป้าประสงค์เพื่อการบริหารกายภายนอกเท่านั้น แน่นอนว่าท่าเหล่านั้นถือเป็นท่าออกกำลังกายก็ได้ แต่ยังมีคุณค่าในการบริหารอวัยวะภายใน เสริมพลังภายในตัว และฝึกจิตใจด้วย นอกจากนั้น อาจารย์ยังสอนศิลปะในการหายใจ ฝึกลมปราณ การทำสมาธิ การบริหารสมอง การบริหารฝ่ามือและนิ้วที่เป็นศูนย์รวมระบบประสาทในร่างกาย การเดินช้า เปิดจุดสำคัญในร่างกาย ท่าป้องกันตัว ฯลฯ ช่วงท้าย ยังแนะนำให้เราได้รู้จักหมากล้อมและฝึกสมาธิหมากล้อมอีกด้วย
ประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมา เคล็ดจำนวนมากอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว
ดังเช่นที่อาจารย์สุวินัยได้เขียนไว้ ความรู้บางประเภทอาจได้จากการอ่านและใช้เหตุผล แต่ความรู้บางประเภทต้องเกิดจากการปฏิบัติ ฝึกตน ต้องเคยมีประสบการณ์ตรงจึงจะเข้าถึงได้ ความรู้ที่ผมได้เรียนตลอดช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างหลัง ถึงวันนี้ผมตระหนักรู้ชัดเจนว่า ทำไมนักปฏิบัติการทางการเมืองควรฝึกฝนตัวเองด้านใน และใส่ใจเรื่องจิตวิญญาณ แม้จะเป็นวัตรปฏิบัติที่ดูแปลกแยกจากผู้คนทั่วไป แต่มิใช่เรื่องตลกไร้สาระ หากมีคุณค่าลึกซึ้ง
สี่เดือนผ่านไป สุขภาพกายของผมดีขึ้นมาก อาการเครียดไม่มาเยือน อาการวิงเวียนโคลงเคลงหายไป ความสามารถในการฝึกจิตเพื่อจัดการภาวะความเครียดดีขึ้นกว่าเดิมมาก นิ่งจนต่อสู้กับศัตรูภายในได้สูสีมากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยไม่ถูกมันครอบงำ ด้านอาจารย์บางท่านที่เป็นโรคเบาหวาน สภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นจนคุณหมอร้องทักและสั่งลดยา
ผมเพิ่งเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก
พูดไปก็เท่านั้น ต้องลองลงมือทำด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจว่ามันช่วยเพิ่มความสมบูรณ์พร้อมในตัวอย่างไร และช่วยขับศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเราออกมาได้อย่างไร
“ความสามารถในการรบชนะ” ย่อมเกิดจากการขัดเกลาฝึกฝนตนเองอย่างถึงที่สุด และเอาชนะศัตรูภายในตัวเองก่อนเป็นเบื้องแรก ดังเช่นวิถีของมูซาชิ
แท้ที่จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้มิได้เพียงต้องการสร้างนักปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสร้างจุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ เพื่อปูทางให้กับการเมืองใหม่ยุคหลังทักษิณหรือหลังทุนนิยมเท่านั้น แต่ใครก็ตามที่เคยผ่านการเคี่ยวกรำด้วยวิถีเช่นนี้ย่อมมีคุณภาพ และยกระดับตัวเองมุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
และถ้าหากใครรู้จักอาจารย์สุวินัยและเฝ้ามองการใช้ชีวิตของอาจารย์อย่างใกล้ชิด คงไม่ลังเลที่จะกล่าวว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คือวัตรปฏิบัติและตัวตนที่แท้ของมังกรธรรมผู้นี้นั่นเอง
- 4 –
บทเรียนสำคัญบทหนึ่งในคัมภีร์ห้าห่วงของมูซาชิคือ จงต่อสู้เมื่อคิดว่าจะชนะ
ในช่วงที่เราคงคัดง้างกับการเมืองกระแสหลักในรัฐสภาไม่ได้มาก ด้านหนึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะหันหน้ามุ่งแสวงหาภูมิปัญญาใหม่ๆ โดยสนใจกับประเด็นฉาบฉวยทางการเมืองน้อยลง เข้าห้องสมุดกันมากขึ้น ฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองให้หนักขึ้น ติดตามพรมแดนความรู้ใหม่ๆ และค้นคว้าวิจัยแสวงหาทางเลือกเชิงนโยบายที่แตกต่าง
การออกรบต้องมีพักเป็นระยะ ไม่มีนักรบคนใดที่สามารถใช้กระบี่เล่มเดิม ท่วงทำนองเพลงดาบเดิมๆ แล้วรบชนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งรบมาก ดาบก็ยิ่งบิ่น คู่ต่อสู้จับทางได้ ทางกระบี่ก็ถูกแก้
เช่นนี้แล้ว สภาพการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่มาพร้อมกับชัยชนะถล่มทลายของพรรคไทยรักไทย นับเป็นช่วงที่เหมาะเจาะที่จะพักรบ กลับไปตีดาบเล่มใหม่ ฝึกฝนเพลงกระบี่ใหม่ๆ แสวงหาภูมิปัญญาใหม่ ฝึกจิตฝึกสมาธิให้เข้มแข็ง เพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการกลับมา
ไม่ใช่เรื่องตลก หากจะบอกว่า วิถีการต่อสู้ทางการเมืองที่ทรงพลังภายใต้สถานการณ์การเมืองเช่นนี้ อาจอยู่ที่การหวนย้อนคืนสู่โลกด้านใน จมดิ่งไปกับการเคี่ยวกรำตัวเอง ด้วยการฝึกมวยจีน ฝึกสมาธิ ฝึกลมหายใจ เล่นกู่เจิ้ง หรือเล่นหมากล้อม ก็เป็นได้
จะหยิบมุซาชิฉบับท่าพระจันทร์กลับมาอ่านใหม่อีกรอบเหมือนผม ก็เป็นความคิดที่ไม่เลว
มีนาคม 2548
......
<< Home