pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Friday, June 03, 2005

Filibuster

การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง (Federal Judge) กลายเป็นหนังการเมืองเรื่องยาวของประธานาธิบดีบุช ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาลเทอมแรก จนปัจจุบันก็ยังคั่งค้างคาราคาซังอยู่

ระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาถูกออกแบบให้มีการคานและดุลอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และฝ่ายตุลาการ อย่างโดดเด่นและขึงขัง

ตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง ประธานาธิบดีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้ง โดยเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาลงมติให้การรับรอง หากไม่ผ่าน ว่าที่ผู้พิพากษาที่ได้รับการเสนอชื่อก็จะไม่ได้รับการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ผู้พิพากษาศาลส่วนกลางมีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ซึ่งยาวนานกว่าวาระของฝ่ายบริหารและรัฐสภา และการถอดถอนผู้พิพากษาจะกระทำโดยรัฐสภา มิใช่ฝ่ายบริหาร ระบบเช่นนี้ทำให้ผู้พิพากษาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการตอบแทนทางการเมือง

เรื่องราวของหนังยาวเรื่องนี้มีอยู่ว่า ในช่วงปลายสมัยบุช 1 มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลส่วนกลางให้วุฒิสภารับรองจำนวนสูงถึง 218 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษาในศาลส่วนกลางระดับเขต (US District Courts) มีจำนวน 46 คนเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนกลาง (US Courts of Appeals)ซึ่งเป็นศาลที่มีความสำคัญสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา (US Supreme Court) ที่ผมต้องเรียกว่าศาล 'ส่วนกลาง' เพราะระบบศาลสหรัฐอเมริกานั้น แต่ละรัฐก็มีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาในแต่ละรัฐอยู่แล้ว

ในขณะนั้น พรรค Democrat คัดค้านผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนกลางจำนวน 10 คน อย่างแข็งขัน ด้วยข้อกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว (ในอเมริกาเขาเรียกว่า 'ขวาจัด') จนน่ากลัวเกินกว่าที่จะให้อยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต และผลิตคำพิพากษาที่จะเป็น 'บรรทัดฐาน' ในการตัดสินคดีในอนาคต

ทีนี้ เมื่อประธานาธิบดีเสนอชื่อเข้าสภา วุฒิสภาต้องลงมติรับรองผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทีละคน ก่อนลงมติก็ต้องมีการอภิปรายกันก่อน ซึ่งการอภิปรายในวุฒิสภานั้น จะให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภาอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการจำกัดเวลาในการอภิปรายของสมาชิก และไม่จำกัดขอบเขตเนื้อหาการอภิปรายของสมาชิก ตามกติกานั้น สมาชิกวุฒิสภาจะอภิปรายเรื่องอะไรก็ได้ ใช้เวลานานเท่าใดก็ได้

วุฒิสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นสภาที่ให้คุณค่ารัฐแต่ละรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารัฐนั้นจะใหญ่หรือเล็ก จะจนหรือรวย มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด มีประชากรมากหรือน้อย ทุกรัฐล้วนมีตัวแทนในวุฒิสภาเท่ากันคือ รัฐละ 2 คน รวมสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น 100 คน ซึ่งต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ที่มีจำนวนสมาชิกสภาเป็นสัดส่วนตามจำนวนประชากร รัฐใหญ่ที่มีประชากรมากก็มีที่นั่งในสภาผู้แทนฯมากตามไปด้วย

ในระบบการเมืองอเมริกัน การเลือกตั้งแต่ละระดับจึงสะท้อนความเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน สภาผู้แทนฯ เป็นตัวแทนของประชาชนตามเขตเลือกตั้งย่อย วุฒิสภาเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ระดับรัฐ ในขณะที่ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ระดับชาติ

ย้อนกลับมาเรื่องการอภิปรายในวุฒิสภาต่อ

เมื่อสมาชิกอภิปรายจนพอใจแล้ว หรือมีคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด (60 คน) เสนอปิดอภิปราย กระบวนการอภิปรายก็จะจบสิ้นลง แล้วเข้าสู่กระบวนการลงมติ

คราวนั้นเหล่าสมาชิกวุฒิสภาพรรค Democrat ซึ่งหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคนได้รับการอนุมัติผ่านรัฐสภา จึงเลือกใช้กลยุทธ 'Filibuster' หรือการพูดมาราธอน อภิปรายเรื่อยไปไม่ยอมหยุด เพื่อลากยาวไม่ให้มีการลงมติ โดยอาศัยช่องว่างที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายได้ไม่จำกัดเวลาและหัวข้อ เพราะหากลงมติจริงก็มีแนวโน้มที่จะแพ้สูง เนื่องจาก Republican มีเสียงข้างมากในสภา โดยมี 51 ที่นั่ง

การอภิปรายครั้งประวัติศาสตร์ในสภาเมื่อพฤศจิกายน 2003 เริ่มต้นตั้งแต่เย็นวันพุธไปจบเอาเช้าวันศุกร์ ถึงกับต้องนำเตียงมาหลับนอนกันในสภาทีเดียว

สงครามการเมืองรอบนั้นจบลงด้วยการต่อรอง จนฝ่ายรัฐบาลต้องยอมถอนชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคนออก ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลส่วนกลางจึงยังว่างอยู่หลายตำแหน่ง

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยบุช 1

จนกระทั่ง ประธานาธิบดีบุชเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สอง กลับมาคราวนี้ บุชมาพร้อมกับเสียงในวุฒิสภาที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม เป็น 55 จาก 100 ที่นั่ง บุชได้เสนอชื่อบุคคลเจ้าปัญหาเมื่อครั้งกระโน้น 7 คน จาก 10 คน กลับเข้าสู่การอนุมัติจากวุฒิสภาใหม่อีกรอบ ด้วยอาจจะมั่นใจในเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่เพิ่มมากขึ้นของตัว

แน่นอนว่า ฝ่ายพรรค Democrat ย่อมแสดงท่าทีต่อต้าน โดยเฉพาะต่อต้านผู้พิพากษาขวาสุดโต่งที่ขนานนามกันว่า Gang of three นั่นคือ Janice Rogers Brown, William Pryor และ Priscilla Owen ที่บุชเสนอชื่อกลับเข้ามาอีกรอบ โดยเฉพาะคนหลังเป็นที่จับตามอง เนื่องจากเคยเป็นผู้พิพากษาศาล Texas ถิ่นของบุช ทั้งยังเป็นเพื่อนบุชอีกด้วย

ในฐานะที่พรรค Democrat มีเสียงข้างน้อยในสภา ก็เลยต้องงัดกลยุทธ Filibuster มาใช้เป็นไม้ตายในการต่อสู้เสียงข้างมากของ Republican อีกรอบหนึ่ง

แม้ Republican จะมีเสียงข้างมาก แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะปิดการอภิปรายได้ (มีแค่ 55 เสียง แต่ต้องใช้ 60 เสียง) ทำให้ไม่สามารถแก้เกม Filibuster ตามวิถีปกติตามรัฐธรรมนูญได้

มาคราวนี้ Bill Frist ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาของพรรค Republican จึงตอบโต้โดยขู่ว่าจะใช้เสียงข้างมาก(และช่องว่างทางเทคนิคบางประการ ที่สหรัฐอเมริกาก็มีเนติบริกรเหมือนกัน) แก้กติกาการใช้ Filibuster ในกระบวนการรับรองผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง โดยจะเปลี่ยนให้สามารถใช้คะแนนเสียง 51 เสียงขึ้นไป (Simple majority voting rule) ปิดการอภิปรายได้ เพื่อนำไปสู่การลงมติ

โดยตั้งชื่อปฏิบัติการนี้ว่า Nuclear option

ดีเดย์คือ หาก Democrat ใช้ Filibuster กับนาง Priscilla Owen ผู้พิพากษาแห่ง Texas เพื่อนของบุช ที่บุชเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนกลาง Frist จะผลักดัน Nuclear option เพื่อพิฆาต Democrat

หาก Frist สามารถกดปุ่มยิงนิวเคลียร์ทำลาย Filibuster ได้สำเร็จ Filibuster ที่มีที่ทางยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันในฐานะเครื่องมือรับประกันคุณค่าของ 'เสียงข้างน้อย' ย่อมสูญสิ้นไป จากที่สมาชิกวุฒิสภาเพียงคนเดียวสามารถทำ Filibuster เพื่อขวางทางกฎหมายที่ตนไม่เห็นชอบอย่างรุนแรงได้ คราวนี้ เสียงข้างมากเกินครึ่งในวุฒิสภาก็สามารถลากไปไหนต่อไหนได้ตามใจชอบ เสียงข้างน้อยก็หมดความหมาย

การขู่ยกเลิก Filibuster จึงเป็นประเด็นถกเถียงที่เผ็ดร้อนในสังคมการเมืองอเมริกันเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว กระทั่งมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางของภาคประชาสังคม จัดตั้งกลุ่มและล่าลายเซ็นเพื่อ Save Filibuster ขึ้นมามากมาย

ที่หวาดกลัวกันที่สุดก็คือ เร็วๆ นี้คาดการณ์ว่า บุชจะได้เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศาลที่สำคัญที่สุด และทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญไปด้วยในตัว เพราะนาย William Rehnquist อาจจะลาออก เนื่องจากปัญหาสุขภาพที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง

นี่จะเป็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในรอบเกินสิบปี เพราะตำแหน่งนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต และมีองค์คณะเพียง 9 คน ซึ่งในอดีต การแต่งตั้งผู้พิพากษาแต่ละครั้ง เป็นการประลองกำลังครั้งสำคัญของ ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ตามนิยามอเมริกา) อย่างเข้มข้นดุเดือดทุกครั้ง และจะเป็นเครื่องชี้อนาคตของสังคมอเมริกันระดับหนึ่ง เพราะ 'ตัวตน' ของผู้พิพากษาที่ได้รับแต่งตั้งจะมีบทบาทสำคัญในการ 'ตีความ' กฎหมาย และ 'สร้าง' บรรทัดฐานใหม่ให้สังคมอเมริกัน ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกระทบวิถีชีวิตของผู้คนเดินถนนทั่วไป

เมื่อถึงวันนั้น Filibuster อาจเป็นทางออกสำคัญสำหรับการต่อรองทางการเมือง เพื่อแก้วิกฤตทางสังคมจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา

......


นักดูหนังคงรู้จักหนังการเมืองอารมณ์ดีคลาสสิกที่ชื่อ Mr.Smith goes to Washington (1939) ของ Frank Capra หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จัก Filibuster เพราะพระเอกในฐานะนักการเมืองมากคุณธรรมใช้ Filibuster หรือการพูดมาราธอนเป็นอาวุธต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสภา

ว่ากันง่ายๆ Filibuster คือ กลยุทธในการเตะถ่วงในชั้นอภิปรายพิจารณากฎหมาย เพื่อขวางไม่ให้เข้าสู่กระบวนการลงมติโดยใช้วิธีการต่างๆ โดยมากจะใช้การอภิปรายมาราธอน พูดไปเรื่อย ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับประเด็นอภิปราย เรียกว่าใช้การพูดฆ่าเวลาเพื่อฆ่ากฎหมาย

Filibuster ไม่ได้มีอยู่แค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังทำได้ในสหราชอาณาจักร แคนาดา ฯลฯ กระทั่งในเกาหลีใต้ ที่มีช่องทางการเตะถ่วงการลงมติ โดยให้สมาชิกรัฐสภาเดินออกไปยังที่ลงคะแนนโดยเคลื่อนไหวให้ช้าที่สุด เพื่อถ่วงเวลา ซึ่งเรียกว่า cow walk

สำหรับในสหรัฐอเมริกา การทำ Filibuster หลายครั้งถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ครั้งที่โด่งดัง เช่น

เมื่อปี 1935 นาย Huey Long ทำ Filibuster โดยเอาหนังสือ Shakespear คัมภีร์ไบเบิล สมุดโทรศัพท์ รวมไปถึงสูตรทำอาหาร มาอ่าน รวมเวลาทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง

ส่วนสถิติ Filibuster ยาวนานที่สุด เป็นของนาย Strom Thurmond ที่อภิปรายเตะถ่วง Civil Rights Act ในปี 1957 โดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง 18 นาที ว่ากันว่า นาย Thurmond ต้องเข้าห้องอบไอน้ำ เพื่อ dehydrate ตัวเองก่อนทำ Filibuster เพื่อให้ตัวเองสามารถพูดไปดื่มไป โดยไม่ต้องเข้าห้องน้ำ

กระบวนการทำ Filibuster ที่กินเวลายาวนานที่สุดอยู่ที่ 87 วัน โดยกลุ่มผู้คัดค้าน Civil Rights Act อีกฉบับหนึ่ง ผลัดกันพูดถ่วงเวลาในปี 1964

เมื่อปี 1992 นาย Alfonse D'Amato แอบมีแก่ใจร้องเพลง Deep in the Heart of Dixie ในห้องประชุมตอนตีห้า ขณะทำ Filibuster

อ่านเกร็ดเหล่านี้แล้วอาจรู้สึกขำขัน แต่แก่นของ Filibuster คือการเคารพความเห็นของเสียงส่วนน้อย เพื่อไม่ให้เกิดสภาพพวกลากมากไปในสภา ที่เสียงส่วนใหญ่ชนะทุกเรื่อง โดยที่ไม่ต้องใส่ใจเคารพความเห็นเสียงส่วนน้อยเลย

การทำ Filibuster ทำให้สมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างน้อย แม้เพียงเสียงเดียว สามารถขัดขวางกระบวนการออกกฎหมายหรือให้การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญได้ การมี Filibuster เป็นคำขู่ที่น่าเชื่อถือ (Credible threat) ของฝ่ายเสียงข้างน้อย ทำให้ฝ่ายเสียงข้างมากต้องประนีประนอมกับฝ่ายเสียงข้างน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Filibuster ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้โดยไม่เห็นหัวฝ่ายเสียงข้างน้อยเอาเสียเลย ไม่ใช่สอดไส้เสนอกฎหมายอะไรเข้าสภา หรือเอะอะไม่พอใจก็ยกมือขอปิดอภิปราย รวบรัดให้ลงคะแนน ซึ่งสุดท้ายตนก็ชนะทุกทีไป

วัฒนธรรมทางการเมืองที่ดูแปลกประหลาดอย่าง Filibuster กลับเป็นเครื่องมือที่บังคับให้นักการเมืองทั้งสองฝ่ายต้องทำงาน 'ร่วม' กัน ไม่สามารถหักหาญอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เห็นหัว แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการประนีประนอม แม้ฝ่ายตนจะมีเสียงข้างมากก็ตาม

ระบอบประชาธิปไตยมิใช่ระบอบของเสียงข้างมาก หากคือระบอบที่เสียงทุกเสียงควรได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน การเคารพคุณค่าของเสียงข้างน้อยสำคัญไม่แพ้การยอมรับในคำตัดสินของเสียงข้างมาก

คุณค่าเหล่านี้คือเหตุผลที่หลายคนพยายามจะรักษา Filibuster ไว้ ให้ปลอดภัยจาก Nuclear option

วิกฤต Filibuster มาคลี่คลายเอาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อสมาชิกสายกลางของทั้ง Republican และ Democrat พรรคละ 7 คน ประกาศรวมตัวกันตั้ง Group of 14 เพื่อ 'ผ่าทางตัน' วิกฤตการเมือง โดยลงสัตยาบรรณว่า จะขัดขวาง Nuclear Option แต่ก็จะสงวน Filibuster ไว้ใช้ในสถานการณ์พิเศษจริงๆ เท่านั้น โดยจะไม่ใช้ Filibuster กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการของวุฒิสภาอีก 3 คน (นั่นคือ กลุ่ม Gang of three ข้างต้น)

กลุ่ม 14 มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ฝ่าย Republican จะใช้เสียงข้างมากลากไป เพื่อใช้ Nuclear option ทำลาย Filibuster ได้ (Republican เหลือ 48 เสียง โดยหัก 7 เสียงของ Republican ออกไป) และยังมีขนาดใหญ่พอที่จะเสนอปิดอภิปราย หาก Democrat ดึงดันที่จะใช้ Filibuster พร่ำเพรื่อ (มีเสียง 62 เสียง ที่พร้อมจะเสนอปิดอภิปราย โดยเพิ่ม 7 เสียงของ Democrat เข้ามา)

สุดท้าย เมื่อดุลอำนาจในสภาเปลี่ยน อันเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของกลุ่มสิบสี่ ผู้นำของทั้งสองฝ่ายจึงตกลงร่วมกันปล่อย Gang of Three ให้เข้าสู่การลงมติ (ล่าสุด นาง Owen ได้รับการรับรองไปแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งสิ้นนับตั้งแต่บุชเสนอชื่อเธอครั้งแรกถึง 4 ปี กว่าจะได้รับการรับรอง) ส่วนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่ออีกสองคน คือ William Myers และ Harry Saad ซึ่งกำลังจะเข้าสู่กระบวนการของวุฒิสภาเร็ววันนี้ ยังไม่ได้ตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะเอาอย่างไร

......


ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาสามารถรักษามรดก Filibuster ที่มีอายุกว่า 200 ปี ไว้ได้ ในประเทศหนึ่งแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับเผชิญปรากฎการณ์ตรงกันข้าม

ฝ่ายค้านต้องควานหาสองเสียงอย่างยากลำบากเพื่อให้สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้

สมาชิกสภาผู้แทนฯฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ยื่นหนังสือแสดงความเห็นทางการเมืองในทางที่หัวหน้ารัฐบาลไม่ชอบใจ ต้องลุกลนกุลีกุจอถอนชื่อกันอย่างมือไม้สั่น เพียงแค่ท่านผู้นำออกมาส่งเสียงคำราม

ฯลฯ

นักออกแบบรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งใฝ่ฝันอยากเห็นระบบพรรคการเมืองสองพรรค ทั้งที่หลงลืมไปว่า ในประเทศตะวันตกที่เราชอบอ้างเขาหนักหนานั้น พรรคการเมืองมีสองพรรคใหญ่จากพัฒนาการที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่จากอคติของกฎหมายที่บั่นทอนพรรคเล็ก และทั้งสองพรรคก็มีความแตกต่างทางอุดมการณ์อย่างค่อนข้างชัดเจน ยากที่คนพรรคหนึ่งจะย้ายไปอีกพรรคหนึ่งได้โดยง่าย

ทั้งที่หลงลืมไปว่า ในประเทศที่มีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ ก็ยังเต็มไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากมาย ที่มีกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งกินความมากไปกว่าเพียงการแข่งกันเพื่อชนะเลือกตั้ง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สมัครเลือกตั้งลงสมัครอิสระ โดยไม่สังกัดพรรคได้ด้วย

ทั้งที่หลงลืมไปว่า แม้ ส.ส.ที่สังกัดพรรคก็มีอิสระที่จะแสดงความเห็นและลงคะแนนตามอุดมการณ์ความเชื่อของตน โดยไม่มีมติพรรคมาครอบงำเจตจำนงเสรี

หากกติกาทางการเมืองเอื้อให้เกิดระบบพรรคใหญ่สองพรรค แต่พรรคการเมืองทั้งสองหาได้มีความแตกต่างเชิงอุดมการณ์ แต่สมาชิกภายในพรรคไร้ซึ่งความเป็นอิสระ แต่อำนาจในพรรคถูกผูกขาดโดยผู้นำสูงสุดเพียงเท่านั้น แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่อยากสังกัดพรรคดำเนินการทางการเมืองได้อย่างอิสระ แต่ขาดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มแข็งและจริงจัง แต่รัฐมักบั่นทอนความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน ...

ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ภาพฝันของการเมืองในอุดมคติจักเกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง มิหนำซ้ำ การณ์อาจเลวร้ายลงกว่าเดิม