จาก StrawHat ถึง 'อยากตอบ' ภาคพิสดาร
ตอนนี้ผมกลับมาบ้านนอกแล้วครับ
ออกจากเมืองกรุงตอน 10 โมงเช้า ไปต่อรถต่อแรกที่บ้านสไปเดอร์แมน ต่อที่สองและสามที่ Hartford และ Springfield กว่าจะมาถึงบ้านนอกก็ปาเข้าไปสองทุ่มครึ่ง คราวนี้ไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้นเหมือนขาไป ขนาดรถจากนิวยอร์กเดินทางมาถึงช้ากว่ากำหนดสี่สิบนาทีเพราะรถติดเหลือเกิน รถคันต่อไปยังอุตส่าห์รออดีตผู้โดยสารตกยากอย่างผม
ที่บ้านนอกตอนนี้ร้อนเหลือเกิน ทำเอาคิดถึงห้องนอนแอร์เย็นๆ ของคุณกุ๊ เพื่อนน้ำเงิน-ขาวตั้งแต่สมัยประถม 5 ผู้ให้ที่ซุกหัวนอนแก่ผมยามอยู่เมืองกรุงตลอดเกือบสองอาทิตย์ หอผมที่บ้านนอกไม่มีแอร์ ต้องนอนเหงื่อไหลทุกวัน แถมห้องผมยังหันสู้ดวงอาทิตย์ หน้าต่างที่หอก็บานแคบ รู้สึกอึดอัดเอาเรื่อง ไปซื้อพัดลมมาก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่
ช่วงหน้าร้อน ผมเลยมาใช้ชีวิตอยู่ที่ออฟฟิศที่เปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืนเป็นหลัก มาหลบร้อนถึงตีสามตีสี่ แล้วค่อยกลับไปนอน ทำงานบ้าง ดูหนังบ้าง ถ้าไม่ติดที่ห้องทำงานผม เป็นที่วาง printer รวมของเหล่านักวิจัยที่สถาบัน ผมคงหอบผ้าผ่อนมานอนที่นี่แล้ว
......
กลับมาแล้ว ยังไม่ทันทำอะไร StrawHat เพื่อนรักเปิด blog ทั้งที เลยต้องเข้าไปแจมแสดงความเห็นให้คึกคักเสียหน่อย จ้องมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนไปเที่ยวเมืองกรุง
ใครสนใจตามเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง การปรับหลักสูตรคณะเศรษฐศาสตร์ กันได้ครับ มี StrawHat ปริเยศ Kickoman และผม สนุกสนานกันอยู่ ผมเลยยังไม่ได้อัพ blog ตัวเอง เขียนเถียงกับ StrawHat ยาวแล้ว
ไม่ได้มองซ้ายมองขวาด้วยกันมาครึ่งปีแล้วน่ะครับ ต้องขอสักหน่อย ปีหน้าฟ้าใหม่ มองซ้ายมองขวาอาจจะกลับมาในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง
......
เมื่อเช้า พี่พิชญ์ส่งอะไรสนุกๆ มาให้อ่าน รับกับกระแสข่าว A Day Weekly ปิดตัวเป็นอย่างดี ผมขอถือวิสาสะนำมาให้อ่านกัน
ถ้าผมเข้าใจที่มาของงานชิ้นนี้ไม่ผิด เรื่องราวมีอยู่ว่า ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ส่งคำถามถึงพี่พิชญ์ 3 คำถาม
และข้างล่างนี้ คือคำตอบที่พี่พิชญ์ส่งกลับไปครับ
อ่านแล้วมีอะไรให้คิดต่อเยอะดี ช่วยกันคิดดังๆ ก็ได้นะครับ จะได้ส่งคอมเม้นต์กลับไปให้แก เผื่อแกจะเปลี่ยนใจให้ของแจกเหมือน 'อยากตอบ' ใน A Day Weekly
ปีนี้คอลัมนิสต์ตกงานกันระนาว พี่พิชญ์นี่สองเล่มซ้อนแล้วนา สักวันอาจได้เห็น 'เพี้ยน นักเรียนนอก' หนีร้อนมาพึ่งเย็น เปิด blog กับเขาอีกคน (ฮา)
......
อยากตอบภาคพิสดาร สำหรับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
-พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ -
คำถามถึง อ.พิชญ์ ครับ
1. อะเดย์วิคลี่ย์ ถือเป็นสื่อทางเลือกไหมครับ?
อยากตอบ: อะเดย์วีคลี่ย์ถือเป็นสื่อทางเลือกอย่างแน่นอนที่สุดครับ เพราะอะเดย์วีคลี่ย์เป็นสื่อที่คนเลือกที่จะ(ไม่)ซื้อตั้งหลายเปอร์เซ็นต์เชียวนะ และคนทำก็เลือกที่จะ(ไม่)ผลิต(ต่อ) ... กร๊าก เห็นมะ อะเดย์วีคลี่ย์นี่แหละเป็นสื่อทางเลือกเห็นๆ แม้ว่าตอนนี้อะเดย์วีคลี่จะเป็นสื่อทางเลือกประเภททางใครทางมันไปแล้วก็ตาม
2. สื่อทางเลือกของไทยมีมากน้อยเพียงใด และพอจะจุดประกาย มีพลังในการชี้นำสังคมได้แค่ไหนครับ
อยากตอบ: ปัญหาสำคัญของสื่อทางเลือกทั้งหลายไม่ว่าจะมีมากมีน้อยเท่าไหร่ก็ตามเห็นจะอยู่ตรงที่เชื่อว่าตัวเองเป็นพลังชี้นำสังคมนั่นแหละครับ บางทีผมก็ออกจะสงสัยอยู่บ้างว่าสื่อทางเลือกจะเอาอะไรไปนำสังคมกันนักกันหนา และสื่อทางเลือกมีความเข้าใจในเรื่องของการ "ชี้นำ" และ "การนำ" ขนาดไหน ... ในสังคมที่ต้องการแต่จะ "อินเทรนด์" กันขนาดนี้
สื่อกระแสหลักนั้นบางทีอาจจะไม่ได้คิดในเรื่องของการชี้นำสังคมสักเท่าไหร่ ทั้งที่เขากำลังชี้นำสังคมอยู่แท้ๆ แต่เขาไม่ออกมาวางตัวว่าเขาเป็นผู้ชี้นำหรอกครับ เพราะมันไม่ใช่ทางของเขา
ที่พูดมานี้มิได้เจตนาจะเล่นคำ หากแต่ต้องการนำเสนอความเห็นว่าโลกสมัยนี้มีคนจำนวนมาก ที่ระแวงการนำ และกลัวจะถูกชี้นำ ทั้งที่ความจริงแล้วก็ถูกนำและถูกชี้นำโดยตลอดนั่นแหละครับ
สื่อทางเลือกของไทยมีมาก แต่จำนวนที่มากไม่ได้หมายความว่าจะต่อติดและต่อรองกับความยินยอมพร้อมใจที่คนจำนวนมากมีให้กับระบอบการเมืองเศรษฐกิจและสังคมได้
สื่อทางเลือกอาจทำหน้าที่รองรับความต้องการของคนที่ต้องการทางเลือก แต่สื่อทางเลือกจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่ต้องการทางเลือก หรือเชื่อว่าไม่มีทางเลือก? ... อันนี้แหละสำมะคัญนัก
สำมะคัญเพราะเราอาจรู้สึกว่าสื่อทางเลือกในปัจจุบันนั้นมีด้วยกันสองแบบ คือสื่อทางเลือกในแบบของการโต้ตอบ ท้าทายอำนาจรัฐและทุน กับสื่อทางเลือกในแบบของการใช้ชีวิต ซึ่งไม่ได้ฉายภาพว่าท้าทายใคร
ลองคิดให้กว้างขึ้นก็จะเห็นว่าคำว่าสื่อทางเลือกนั้นมิใช่เรื่องเล็กๆอีกต่อไป เพราะเรากำลังเจอสิ่งที่เรียกว่าคนละเรื่องเดียวกันนั่นแหละครับ ... ใครๆก็อยากเป็นทางเลือกทั้งนั้น
นอกเหนือไปจากนี้ สิ่งที่เรามักจะต้องเผชิญก็คือความเชื่อที่ว่าโลกนี้ต้องประกอบไปด้วยคู่ขัดแย้ง ดังนั้นทางเลือกจึงหมายถึงความขัดแย้งและการเผชิญหน้า ทั้งที่เรากำลังพบว่าทางเลือกอีกหลายๆทางนั้นอาจไม่ใช่เรื่องของการเผชิญหน้า หรือการทำให้คนอื่นดูด้อยกว่าเรา หรือผิดไปจากเรา หากแต่เป็นเรื่องของการหนีไปจากประเด็นความขัดแย้งก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่าแม้ว่าจะพูดกันเรื่องทางเลือก แต่ทางเลือกก็มีความเข้มข้นและเนื้อหาที่ต่างกันเช่นกัน
3. อาจารย์ช่วยชี้ช่องในการพัฒนาสื่อทางเลือกในยุคนายกฯทักษิณได้ไหมครับ
ผมเห็นว่าเราไม่ค่อยให้น้ำหนักกับเรื่องของการบริหารสื่อทางเลือกสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องของการแสวงหารายได้และการเลี้ยงตัวเองของสื่อทางเลือก พูดง่ายๆก็คือเรายังไม่กล้าลุยเข้าไปจริงๆว่าถ้าไม่อยากวัดความสำเร็จของสื่อด้วยยอดขายและยอดโฆษณา เราจะวัดความสำเร็จของสื่อผ่านอะไร (ทางที่นิยมในสื่อทางเลือกก็คือ วัดด้วย "ความทรงจำและความคิดถึง" ว่าเคยมีหนังสือดีๆอยู่ในโลกแล้วก็หายไปจากแผง ... หรือบางทีผมว่าทางออกที่ดีก็คือการกำหนดระยะเวลาออกมาให้ชักเจนไปเลย อาทิ เราจะทำสื่อทางเลือกออกมาแค่สองปี หรือปีเดียว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจบางอย่าง แล้วหลังจากนั้นเราก็ลองดูต่อว่าเราจะทำอะไร ความคิดเช่นนี้อาจจะดีกว่าความเชื่อว่าสื่อและสื่อทางเลือกนั้นจะต้องอยู่คู่คนไทยเหมือนสบู่นกแก้วอะไรทำนองนั้น (ระวังโฆษณาแฝงแบบแอดเวอร์ทอเรี่ยลเช่นนี้ด้วยจะเป็นมันส์)
ทางเลือกต่อไปก็คือ เราจะมีวิธีอย่างไรในการสื่อสารกับคนจำนวนมากที่อยากอินเทรนแต่ไม่อยากถูกชี้นำ? เราจะข้ามพ้นเรื่องของคำว่า "หนักและไม่บันเทิง" ได้อย่างไร? ... เรื่องที่น่าเศร้าใจพอประมาณในวงการสื่อก็คือสื่อจำนวนไม่น้อยมักถูกกล่าวหาว่าเนื้อหาหนักไป ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าแปลกใจ ราวกับว่าการมีเนื้อหาที่หนักไปนั้นเป็นความผิดของสื่อ และราวกับว่าเรื่องทุกอย่างในโลกนั้นต้องง่ายและบันเทิงเข้าไว้ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เลยนึกถึงว่าสงสัยคงจะมีตำราเรียนอย่างเดียวกระมังที่สังคมอนุญาตให้พิมพ์ได้ (เอ่อ ... มีหนังสือธรรมะอีกอย่างที่พิมพ์ด้วยความศรัทธา และการบริจาคครับ)
สิ่งท้าทายประการสุดท้ายก็คือ เรื่องของการทำสื่อให้เป็นธุรกิจและการตั้งหลักว่าต้องไม่หนัก ต้องอ่านง่าย นำไปสู่เรื่องของการเซ็นเซอร์ตัวเองได้เช่นกัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูด เพราะมักจะมองว่าการเซ็นเซอร์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากอำนาจภายนอกองค์กร ขณะที่การเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นเกิดขึ้นภายใน เกิดขึ้นในหลายระดับ และเกิดขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุดท่ามกลางสภาวะตีบตัน
สิ่งที่เขียนมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าเรามิได้เผชิญกับปัญหาการแทรกแซงสื่อในแบบเดิมทั้งในเรื่องของทุนและอำนาจรัฐ (ไอ้ส่วนนี้มันเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้ว) หากแต่การเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยความบันเทิงและยอดขาย และการยังไม่สามารถแสวงหาทางออกในการอยู่รอดในการระดมทุนและบริหารจัดการทุนได้มากกว่าเงินบริจาคยังเป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญต่อไป
และในประการสุดท้ายผมเองก็อยากเห็นคำว่า "เครือข่าย" ของบรรดา "ภาคประชาชน" นั้นจะเป็นแค่ราคาคุย หรือ เป็นไปได้จริงในฐานะของทางเลือก ที่จะมีต่อเครือข่ายสื่อขนาดใหญ่ที่สามารถระดมทุนและสร้างยอดขายได้ ... ทุกที่ ... ทุกเวลาเช่นนี้ครับผม
หมายเหตุ: อยากตอบชิ้นนี้ไม่มีของรางวัลจะแจก เพราะช่วงนี้เป็นคอลัมนิสต์ตกยากครับ (อย่าไปเหมาว่าผมเป็นคอลัมนิสต์ทางเลือกเป็นอันขาด เพราะผมไม่ได้เลือกกับเขาเลยคร้าบ ...)
......
<< Home