pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Monday, June 13, 2005

แผนที่แผ่นแท้ ? : การเมืองว่าด้วยแผนที่โลก

หากมีใครสักคนถามว่า 'โลก' ของเรามีหน้าตาอย่างไร ประเทศอะไรอยู่ตรงไหน ประเทศไหนมีขนาดใหญ่เล็กอย่างไร ผมเชื่อว่าหลายคนคงนึกจินตนาการไปถึง 'โลก' ที่มีหน้าตาและเนื้อหาดัง 'แผนที่โลก' ทั้งสองรูปข้างล่างนี้เป็นแน่

ก็เราเห็นแผนที่โลกหน้าตาเช่นนี้มาแต่เด็ก ทั้งในห้องเรียน และในหนังสือสังคมศึกษา จะมอง 'โลก' เป็นอื่นไปได้อย่างไรเล่า








แผนที่โลกที่แสดงให้ดูข้างบนถูกสร้างขึ้นจากระเบียบวิธีที่เรียกกันว่า The Mercator Projection (1569) โดย Gerardus Mercator แผนที่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อเด่นคือสามารถแสดงรูปร่างหน้าตาของแต่ละประเทศในโลกได้ใกล้เคียงกับรูปทรงจริงตามโลกที่เป็นทรงกลม

ความท้าทายสำหรับการเขียนแผนที่โลกคือ นักทำแผนที่จะคลี่ 'โลก' ทรงกลม ให้เป็น 'โลก' ทรงแบนอย่างไร โดยให้สามารถสะท้อน 'ความจริง' ของ 'โลก' ได้ดีที่สุด

ซึ่งการตอบโจทย์ดังกล่าว นักทำแผนที่ต้องเผชิญ 'ภาวะได้อย่าง-เสียอย่าง' (Trade-offs) ในระดับพื้นฐานคือ ต้องแลก 'ขนาดที่แท้จริง' กับ 'รูปทรงที่แท้จริง' ของแต่ละประเทศ นั่นคือ หากต้องการให้แผนที่โลกแสดงรูปทรงที่ถูกต้องของแต่ละประเทศมากขึ้น ก็ต้องยอมให้ขนาดของประเทศนั้นถูกต้องลดน้อยลง นั่นคือ สัดส่วนของประเทศนั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็จะถูกบิดเบือนเปลี่ยนขนาดไปจากสภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

เช่นนี้แล้ว เมื่อ Mercator World Map ซึ่งแพร่หลายจนกลายเป็นแผนที่มาตรฐานของคนทั่วโลก แสดงรูปทรงที่ใกล้เคียงกับความจริงได้ดี แผนที่โลกแบบดังกล่าวเลยบิดเบือน 'ขนาด' ของแต่ละประเทศไปมากทีเดียว สัดส่วนของขนาดประเทศหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศหนึ่ง ห่างไกลจาก 'ความจริง' ของ 'โลก'

ว่ากันให้ง่าย แผนที่โลกมาตรฐานที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และถูก 'ผลิตซ้ำ' มานับร้อยปี แพร่หลายไปทั่วโลกนั้น เอาเข้าจริง ไม่ได้แสดง 'ขนาด' ของแต่ละประเทศได้อย่างถูกต้อง หากในโลกความจริง ประเทศ A มีขนาดพื้นที่ผิวใหญ่กว่าประเทศ B เป็น 2 เท่า ขนาดของประเทศ A ในแผนที่ ก็ควรจะใหญ่กว่าประเทศ B เป็น 2 เท่า ด้วยเช่นกัน จึงจะบอกสัดส่วนของแต่ละประเทศในโลกได้ถูกต้องตรงตามจริงมากที่สุด

ซึ่งแผนที่โลกแบบสองรูปข้างบน ไม่มีคุณสมบัตินั้นแต่อย่างใด

ด้วยระเบียบวิธี Mercator projection เราจะพบว่า หากประเทศหนึ่งยิ่งมีพิกัดห่างไกลออกจากเส้นศูนย์สูตร (Equator)และเข้าใกล้กับขั้วโลก (poles)มากเท่าใด 'ขนาด' ที่แท้จริงของแต่ละประเทศ ยิ่งถูกบิดเบือนมากเท่านั้น

ดังนั้น ประเทศที่อยู่แถบเหนือของโลก (The Norths) ซึ่งโดยมากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป เลยดูใหญ่กว่าความเป็นจริง เมื่อเทียบกับประเทศแถบใต้ของโลก (The Souths) ที่โดยมากมักเป็นประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศในทวีปแอฟริกา และละตินอเมริกา

นอกจากนั้น Mercator World Map ยังจัดวางทวีปยุโรปไว้เป็นศูนย์กลางของโลก และเส้นศูนย์สูตร ซึ่งควรจะใช้แบ่งครึ่งโลกอย่างสมมาตรกันนั้น ก็มิได้อยู่ตรงกึ่งกลางของแผนที่ แต่อยู่ค่อนไปทางด้านล่างของแผนที่ ทำให้ประเทศแถบเหนือมีพื้นที่ในแผนที่มากถึงกว่า 60% ขณะที่พื้นที่ของประเทศแถบใต้ มีที่ทางในแผนที่เพียง 40% เท่านั้น ทั้งที่ในโลกความจริง มีขนาดใหญ่โตกว่ามาก

ไปๆมาๆ แผนที่โลก ซึ่งคนทั่วไปมักคิดว่าถูกจัดทำขึ้นด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงน่าจะสะท้อน 'ความจริง' ของ 'โลก' ได้แบบมีคำตอบหนึ่งเดียวและเป็นสากล เลยดูจะซ่อนเร้นความจริงบางด้าน และบิดเบือนความจริงบางด้านไป

......

ทราบไหมครับว่า Mercator World Map มิใช่แผนที่โลกหนึ่งเดียว ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น แต่แผนที่โลกถูกสร้างขึ้นมากมายหลายแบบ ด้วยระเบียบวิธีศึกษาที่ต่างกัน

วิธีที่แตกต่างจาก Mercator Map จนอาจเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้าม คือแผนที่โลกประเภทที่เรียกกันว่า Equal-Area Projection แผนที่โลกแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อให้แผนที่โลกแสดงสัดส่วน 'ขนาด' ของแต่ละประเทศที่ใกล้เคียงกับขนาดที่แท้จริงมากที่สุด

แผนที่โลกที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยระเบียบวิธีนี้ ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็น Peters World Map ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากแผนที่โลกในความทรงจำของเราทั้งหลาย ดังรูปข้างล่างนี้ครับ (หากต้องการดูรูปขนาดใหญ่ขึ้น ให้คลิกที่รูป)





Peters World Map เป็นผลงานการศึกษาของ Dr. Arno Peters นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ออกสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกเมื่อปี 1974 เฉพาะในประเทศเยอรมัน และตามมาด้วยฉบับภาษาอังกฤษ ในปี 1983 ซึ่งเป็นแผนที่โลกที่สร้างเสียงโต้เถียงในวงการแผนที่โลกได้ดังระงม

เนื่องจาก แผนที่โลกฉบับนี้ให้ความสำคัญกับ 'ขนาด' ที่ถูกต้องของแต่ละประเทศ เราจึงพบความแตกต่างระหว่าง Peters World Map และ Mercator World Map ดังเช่น

1. แผนที่มาตรฐานบิดเบือน 'ขนาด' ของ The Souths และ The Norths โดยแสดงพื้นที่ของประเทศแถบเหนือใหญ่โตกว่ามาก ทั้งที่ในความเป็นจริง ฝ่ายเหนือมีพื้นที่เพียง 18.9 million sq.miles ขณะที่ฝ่ายใต้มีพื้นที่ถึง 38.6 million sq.miles ดังนั้น ใน Peters World Map เราจะเห็นว่า แผนที่โลกสองมิติมีพื้นที่ให้ประเทศแถบใต้ในสัดส่วนใหญ่โตกว่าประเทศแถบเหนือมาก ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริง

2. ในแผนที่โลกฉบับมาตรฐาน ทวีบยุโรปมีขนาดในแผนที่ใหญ่กว่าทวีปอเมริกาใต้ ทั้งที่พื้นที่จริงของทวีปอเมริกาใต้มีขนาดใหญ่กว่าทวีปยุโรปเกือบ 2 เท่า (ยุโรปมีพื้นที่ผิว 3.8 million sq.miles ส่วนอเมริกาใต้มีพื้นที่ 6.9 million sq.miles) ที่สำคัญ แผนที่ดั้งเดิมจัดวางประเทศเยอรมัน ไว้ตรงกลาง ทั้งที่ประเทศเยอรมันอยู่ในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของโลก หากมองโลกจากมุมที่ใช้สร้างแผนที่ทั้งสองฉบับ

3. แผนที่โลกฉบับมาตรฐานแสดงรูปรัฐอลาสก้าของสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่า ของประเทศเม็กซิโก ทั้งที่ในความเป็นจริง ประเทศเม็กซิโกมีขนาดใหญ่กว่า (รัฐอลาสก้ามีขนาด 0.6 ส่วนเม็กซิโกมีขนาด 0.7 million sq.miles)

4. แผนที่โลกฉบับมาตรฐานแสดงรูปทวีปอเมริกาเหนือใหญ่กว่าทวีปแอฟริกา ทั้งที่ทวีปแอฟริกามีขนาดใหญ่กว่ามาก (ทวีปอเมริกาเหนือมีขนาด 7.4 million sq.miles ส่วนทวีปแอฟริกามีขนาด 11.6 million sq.miles)

5. แผนที่โลกฉบับมาตรฐานแสดงขนาดของกรีนแลนด์ใหญ่กว่าประเทศจีน ทั้งที่ ประเทศจีนมีขนาดถึง 3.7 million sq.miles ขณะที่กรีนแลนด์มีขนาดเพียง 0.8 million sq.miles เทียบกันไม่ได้เลย

6. เช่นเดียวกับประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ที่ดูใหญ่กว่าประเทศอินเดียในแผนที่ฉบับมาตรฐาน ทั้งที่สแกนดิเนเวียร์มีขนาดเพียง 0.4 million sq.miles ส่วนอินเดียใหญ่โตระดับ 1.3 million sq.miles

Peters World Map ปรับสัดส่วนที่ผิดส่วนตามตัวอย่างข้างต้น ให้ถูกต้องสอดคล้องกับโลกที่เป็นจริง


ผู้ที่ชื่นชอบแผนที่โลกฉบับ Peters ก็อ้างว่า แผนที่โลกฉบับนี้สะท้อนความเป็นจริงของโลกได้ถูกต้องกว่าฉบับหลักที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจาก แสดงขนาดพื้นที่ผิวของประเทศต่างๆ ได้ถูกต้องที่สุด ไม่มีประเทศมหาอำนาจไหน 'ใหญ่' เกินจริง อีกทั้ง แผนที่ฉบับนี้ส่งคืน 'ที่ทาง' ของประเทศกำลังพัฒนาแถบใต้ทั้งหลาย ให้มี 'พื้นที่' ใน 'โลก' ผืนนี้ ด้วยสัดส่วนที่ใหญ่โตขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

'แผนที่โลก' จึงกลายเป็นสมรภูมิของ 'การเมืองว่าด้วยการนิยาม' อีกสมรภูมิหนึ่ง เช่นเดียวกับ วาทกรรม ภาษา ฯลฯ

การเมือง อันเป็นศาสตร์ว่าด้วยการช่วงชิงอำนาจ รวมถึงอำนาจในการนิยาม จึงเวียนวนอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในแผนที่โลก

การ 'เลือก' ใช้แผนที่โลกแต่ละแบบ หรือ ชัยชนะของแผนที่โลกแบบหนึ่งเหนือแบบอื่นๆ จนกลายเป็นแผนที่โลกหลักมาตรฐาน ล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์เบื้องหลังแฝงซ่อนอยู่ มิใช่กระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ล้วน แบบไร้ตัวตน ไร้อำนาจ ไร้ความเชื่อ ไร้อุดมการณ์ แฝงอยู่เบื้องหลัง

ผู้นิยม Peters Map ให้เหตุผลว่า แผนที่โลกมาตรฐานจัดทำขึ้นสมัยยุโรปครอบงำเป็นมหาอำนาจโลก เต็มไปด้วยอาณานิยมทั่วโลก จึงแฝงไปด้วย 'อคติ' ที่เอนเอียงไปทางผลประโยชน์ของประเทศแถบเหนือ

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมแผนที่ฉบับมาตรฐาน Mercator Map ถึงถูก 'เลือก' ให้ผลิตซ้ำรุ่นแล้วรุ่นเล่า และเผยแพร่ทั่วโลก จนกลายเป็นแผนที่โลกทางการของหลายประเทศในโลก

การผลิตซ้ำแผนที่มาตรฐานเป็นกระบวนการ 'ผลิตซ้ำ' ภาพลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของประเทศฝ่ายเหนือ ฝังอคติว่ายุโรปเป็นศูนย์กลางของโลก (มี Eurocentric bias) เข้าไปในมุมองต่อโลก (world view) ของผู้คนทั่วไปที่ถูกหล่อหลอมอย่างไม่รู้ตัวภายใต้กระบวนการ 'ผลิตซ้ำ' ที่ว่า

แผนที่โลกสองมิติที่เราเห็นแต่เด็กในห้องเรียนจึง 'ลวงตา' เราระดับหนึ่ง

แผนที่โลกที่ท้าทาย 'นิยาม' ดั้งเดิมมิได้มีเพียง Peters World Map เท่านั้นนะครับ แต่มีการผลิตสร้างแผนที่โลกขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ภายใต้ข้อสมมติตั้งต้นที่แตกต่างกัน ภายใต้ระเบียบวิธีศึกษาที่แตกต่างกัน ภายใต้เป้าหมายที่ต่างกัน ภายใต้จุดเน้นที่ต่างกัน ซึ่งแผนที่โลกแต่ละแบบก็นำพาเราไปสู่ 'ภาพ' ของโลก และ 'มุมมอง' ต่อโลกที่แตกต่างกัน ตามแต่เงื่อนไขตั้งต้นที่กำหนด เช่น Mollweide Map, Goode Map เป็นต้น

หนักไปกว่านั้น มีนักทำแผนที่ผลิตสร้างแผนที่แบบ Upside-down Map ที่เอาทวีปออสเตรเลียไปอยู่ด้านบน เอาขั้วโลกเหนือลงด้านล่าง อ้าว ... ใครบอกละครับว่าขั้วโลกเหนือต้องอยู่ด้านบนของโลกเสมอ โลกมันทรงกลมนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเรามองโลกจากมุมไหนมิใช่เหรอ จะมองโลกแบบกลับหัวบ้างไม่ได้เหรอ แต่ เอ... ใครบอกได้ว่าหัวของโลกมันอยู่ทิศไหนกันแน่ ทิศที่เราคิดว่าใช่ มันใช่จริงเหรอ หรือเพราะเราเองก็ถูกแผนที่โลกฉบับมาตรฐาน Mercator Map หล่อหลอมวิธีการ 'มอง' โลก หรือ 'จินตนาการ' โลก เข้าให้แล้วเช่นกันโดยไม่รู้ตัว

ลองดูหน้าตาของแผนที่โลกฉบับ Upside-down Map ดูครับ




......


ถึงตรงนี้คงเห็นว่า แผนที่โลกฉบับมาตรฐาน ที่แพร่หลายกันมากที่สุด ก็มิใช่ 'ความจริงแท้' ที่ให้ 'ภาพ' ที่สมบูรณ์แบบของ 'โลก' ใบนี้ แต่ก็ถูกสร้างขึ้นก็ภายใต้ข้อสมมติบางอย่าง ระเบียบวิธีศึกษาบางอย่าง ซึ่งสะท้อน 'ความจริง' ด้านหนึ่ง และบิดเบือน 'ความจริง' อีกด้านหนึ่ง

นี่เป็นอีกตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้ว ระเบียบวิธีศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์สามารถสะท้อน 'โลก' แห่ง 'ความจริง' ได้มากเพียงใด เราสามารถขจัดคุณค่า ตัวตน การใช้วิจารณญาณ ความเชื่อ ค่านิยม ฯลฯ ออกไปจากการศึกษาได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ Subjectivity สามารถถูก 'กัน' ออกไปจากกระบวนการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้จริงหรือ?

โดยเฉพาะการ 'เลือก' ว่า จะกำหนดข้อสมมติอะไรในการศึกษาบ้าง ตัวแปรใดที่ถูก 'เลือก' เข้าใส่ในโมเดล ตัวแปรใดไม่ถูก 'เลือก' ทำไมถึง 'เลือก' ตัวแปรหนึ่ง แต่ตัดอีกตัวแปรหนึ่งทิ้ง ทำไมเราถึง 'เลือก' ระเบียบวิธีศึกษาหนึ่ง ไม่ 'เลือก' อีกระเบียบวิธีศึกษาหนึ่ง และทำไมระเบียบวิธีศึกษาแต่ละแบบนำมาซึ่ง 'ความจริง' หรือ 'หน้าตา'ของ 'ความจริง' ที่ต่างกัน ทั้งที่ระเบียบวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์มักถูกเอ่ยอ้างว่านำเราไปสู่ความจริงหนึ่งเดียวที่เป็นสากล แล้วเราจะ 'เลือก' โลกแบบใด เป็น 'โลก'แห่งความจริงของเราดี

'ภาพ' ของ 'โลก' แห่งความจริงที่ได้จากการศึกษา สุดท้ายก็มีส่วนหล่อหลอมมุมมองต่อโลกและวิถีคิดของเรา และหากกล่าวให้ถึงที่สุด 'ภาพ' ที่เรานึกว่าจริง มันก็มีที่มาจาก การ 'เลือก' หรือ การ 'สร้าง' มาด้วยตัวเรามีส่วนร่วมทั้งนั้น มันมิได้มี 'โลก' หน้าตาแบบนี้อยู่ก่อนแล้ว รอให้เราไปค้นหา แต่คนเรานี่แหละที่ไปสร้าง 'โลก' มันขึ้นมา จะด้วยอิทธิพลอะไรอยู่เบื้องหลังก็ตามแต่

และ 'โลก' ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการที่ต่างกัน ก็มีความหลากหลายมิได้มีหน้าตาและเนื้อหาเป็นหนึ่งเดียว ไม่มี 'โลก' ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

'โลก' แต่ละแบบที่ได้ ยังกลายเป็น 'กรอบ' ในการมองโลกของเราต่อไป ทั้งที่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่า 'แผนที่โลก' ที่ได้มันก็ล้วนเต็มไปด้วยข้อจำกัด และ 'โลก' ที่แตกต่างหลากหลายก็ยังมี implication สืบต่อไปในทางที่แตกต่างกัน เช่น ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อรับใช้อุดมการณ์ที่แตกต่างกัน

'แผนที่โลก' สอนอะไรแก่เราบ้างครับ?

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกอย่างไรกับประโยคในย่อหน้าที่สองของผมบ้างครับ ?

... ก็เราเห็นแผนที่โลกหน้าตาเช่นนี้มาแต่เด็ก ทั้งในห้องเรียน และในหนังสือสังคมศึกษา จะมอง 'โลก' เป็นอื่นไปได้อย่างไรเล่า

และหากใครบางคนเกิดอ่านเรื่อง 'แผนที่โลก' นี้ แล้วดันตั้งคำถามหรือเกิดจิตประหวัดไปถึง 'วิชาเศรษฐศาสตร์' แทนที่ 'แผนที่โลก' ขึ้นมา จะว่าคนนั้นเขา 'เพี้ยน' หรือเปล่าครับ ?