pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Wednesday, October 05, 2005

พระราชอำนาจ

เชิญอ่าน (จริงๆ ควรบอกว่า "ต้องอ่าน")

1. พระราชอำนาจกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดย Etat de droit


ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ไม่ได้ลงมือเสียที ด้วยสาเหตุที่ผมยังรักอนาคตตนเอง ดังที่เราทราบกันดีว่าภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบ “ไทยๆ” เช่นนี้ การแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบากเพียงใด

ทว่าการแสดงความเห็นในเรื่องพระราชอำนาจตามสื่อต่างๆเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นความเห็นดูจะเทไปในทิศทางเดียวกันหมด เข้าใจว่ามีอีกหลายคนที่อยากแสดงความเห็นไปในทางตรงกันข้าม แต่คงไม่กล้าหรือมีอุปสรรคอยู่บ้าง ก็ในเมื่ออีกฝ่ายนั้นหาเกราะกำบังชั้นดีในนามของคำว่า “จงรักภักดี” เสียแล้ว หากเราเห็นค้านเข้า จะมิเป็น “ผู้ไม่จงรักภักดี” หรือ

ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอว่า ใครที่โดนข้อหา “ไม่จงรักภักดี” แล้ว จะโดนโทษทัณฑ์หนักหนาสาหัสเพียงใด แม้โทษทัณฑ์นั้นจะไม่ได้เป็นโทษทัณฑ์ทางกฎหมาย หากเป็นเพียงโทษทัณฑ์ทางพฤตินัย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีอานุภาพร้ายแรง

เมื่อผมคิดใคร่ครวญแล้ว ในฐานะคนสอนหนังสือ หากเราไม่แสดงความคิดเห็นบ้างก็ดูจะละเลยหน้าที่ไปอยู่ จึงตัดสินใจลงมือเขียน และโปรดเชื่อผมเถอะว่า จากการที่ผมมีโอกาสสนทนารอแยลลิสม์หลายคน ความเห็นของเขาเหล่านั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกับผม

เบื้องต้น ผมขอทำความเข้าใจใน ๒ ข้อ
ข้อแรก ผมพูดถึงระบอบไม่ใช่ตัวบุคคล ขอให้ท่านสร้างจินตภาพว่าเมืองไทยปกครองในระบอบนี้โดยอย่าพึ่งดูว่าใครเป็นกษัตริย์ ใครเป็นนายกฯ
ข้อที่สอง ผมแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาจะลบหลู่ดูหมิ่นผู้ใดหรือสถาบันใด

..........

-๑-
ประมุขของรัฐ

ในแต่ละรัฐมีประมุขของรัฐแตกต่างกันไป รัฐที่ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐ ย่อมหมายความว่า ประมุขของรัฐเป็นสามัญชนคนธรรมดา ตำแหน่งประมุขของรัฐไม่มีการสืบทอดทางสายเลือด โดยมากมักเรียกกันว่าประธานาธิบดี รัฐที่ปกครองในระบบรัฐสภา ประธานาธิบดีที่เป็นประมุขของรัฐ (Head of State) ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง หากเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of gouvernment) เช่น สิงคโปร์ เยอรมัน อิตาลี

ในขณะที่รัฐที่ปกครองในระบบประธานาธิบดี ตัวประธานาธิบดีย่อมเป็นทั้งประมุขของรัฐ (Head of State) และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of gouvernment) กล่าวคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารอย่างแท้จริง เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีลูกครึ่งที่ใช้ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีที่มีประธานาธิบดีและมีนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ (Head of State) นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of gouvernment) แต่ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารจริงๆร่วมไปกับนายกรัฐมนตรีด้วย เช่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส

ในส่วนของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร หมายความว่า ประมุขของรัฐเป็นเชื้อพระวงศ์ การสืบทอดตำแหน่งเป็นไปทางสายเลือด แน่นอนว่าประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขย่อมไม่มีทางปกครองในระบบประธานาธิบดีได้ เพราะตำแหน่งประมุขของรัฐสงวนไว้ให้กับพระมหากษัตริย์แล้ว พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย การบริหาร การตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง หากกระทำไปโดยความแนะนำขององค์กรอื่น ได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

กล่าวสำหรับไทยเรานั้น เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปกครองในระบบรัฐสภา หรือที่เรียกกันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Monarchie constitutionnel) ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Monarchie absolue)

-๒-
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทรงมีพระราชอำนาจในสองลักษณะ ได้แก่ พระราชอำนาจโดยแท้ของพระองค์เอง และพระราชอำนาจที่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พระราชอำนาจโดยแท้ ก็เช่น การแต่งตั้งองคมนตรี การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเทียรบาล การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระราชอำนาจในส่วนนี้จะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ หมวด ๒ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ในส่วนของพระราชอำนาจที่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็เช่น การลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติต่างๆ (มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มีประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ (ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ)

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเท่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่ทรงมีพระราชอำนาจบางอย่างบางประการตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญคืออะไร?

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Constitutional conventions” ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “Coutume constituitonnel” คือ กฎเกณฑ์ที่กำหนดประพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันบุคคลหรือองค์กรทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบรัฐธรรมนูญ

อีกนัยหนึ่ง บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นธรรมเนียมที่ประพฤติปฏิบัติกันมาจนเป็นที่ยอมรับว่าต้องปฏิบัติตาม

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ มีอะไรบ้าง?

วอลเตอร์ แบร์ซอต (ที่คอลัมนิสต์คนหนึ่งของสื่อที่ออกมาบอกว่าข้าจงรักภักดีอย่างหาใครมาเสมอเหมือนเป็นไม่มีมักยกขึ้นอ้างบ่อยครั้ง) กล่าวไว้ในตำราของเขาว่าพระมหากษัตริย์มีสิทธิในการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี มีสิทธิในการให้การสนับสนุน และสิทธิในการว่ากล่าวตักเตือน

ความข้อนี้เราพบเห็นว่าปรากฏอยู่จริงในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญไทย แม้รัฐธรรมนูญไทยจะไม่ได้กำหนดไว้แต่เป็นที่ยอมรับกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสิทธิดังกล่าว จะเห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สิทธิทั้งสามประการนี้อย่างสม่ำเสมอ เช่น การยุติความขัดแย้งทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พระบรมราโชวาทเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนพระบรมราโชวาท ๔ ธันวาคมของทุกปี

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันซึ่งมีระยะเวลายาวนาน เราพบว่าเกิดพระราชอำนาจที่ไม่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากเป็นพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ เช่น การยับยั้งร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์

บทบัญญัติในมาตรา ๙๔ ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยในร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้ง หากพระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกและพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

โดยธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบในร่างกฎหมายใด หรือไม่พระราชทานร่างกฎหมายใดคืนมาภายใน ๙๐ วัน รัฐสภาจะไม่นำร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาเพื่อยืนยันใหม่ แต่กลับให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปทั้งๆที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๔ อนุญาตให้รัฐสภามีอำนาจยืนยันร่างกฎหมายกลับไปใหม่ได้

กรณีการยับยั้งร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์ของไทยดังที่กล่าวมาข้างต้นแตกต่างจากของอังกฤษ กล่าวคือ ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอังกฤษ พระมหากษัตริย์จะไม่ใช้พระราชอำนาจในการไม่เห็นชอบร่างกฎหมายหรือการถวายคืนร่างกฎหมายกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ ปกติแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายเสมอ หากจะทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายก็ต้องมาจากคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

พึงสังเกตไว้ด้วยว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับพระบารมีของแต่ละพระองค์ เช่น สมัยรัชกาลที่ ๗ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน จะเห็นได้ว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแทบจะไม่มีเอาเสียเลย ขณะที่สมัยรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมากขึ้นในหลายกรณี ทั้งนี้เนื่องจาก ระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ประกอบกับพระจริยวัตรที่งดงามของพระองค์เอง

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยอมรับว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญนั้นมีจริงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พระราชอำนาจเช่นว่าก็ไม่อาจหลุดจากกรอบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้

-๓-
The King can do no wrong ทำไมถึง no wrong

ที่เราพูดๆกันว่า “The King can do no wrong” นั้น หมายความว่า The King ไม่ทำอะไรเลย The King จึง no wrong หากลงมาทำก็ต้องมีความผิดตามมา ใครที่เคยสงสัยว่าระบอบนี้ไม่มีความเสมอภาค เพราะ The King ทำอะไรก็ไม่มีทางผิดนั้นแสดงว่าเขาไม่เข้าใจระบอบดีพอ ที่บอกกันว่ากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดใดๆเลยนั้น เพราะกษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเองจึงไม่ต้องรับผิด หากเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างหาก

ต้องไม่ลืมว่า “อำนาจ” ย่อมเคียงคู่กับ “ความรับผิดชอบ” แล้วเราอยากให้ในหลวงมี “ความรับผิดชอบ” ในทางการเมืองให้แปดเปื้อนพระยุคลบาทอย่างนั้นหรือ

หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญบอกว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผู้ใดจะล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ไม่ได้ พระมหากษัตริย์จะไม่มีทางกระทำผิด แต่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้ถวายคำแนะนำนั้นเข้ามารับผิดแทน ความข้อนี้ย่อมหมายความว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้กระทำการใดๆด้วยพระองค์เอง แต่ทำตามคำแนะนำขององค์กรต่างๆ ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้”

คำกล่าวอ้างของนักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจโดยแท้ในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง จึงนับเป็นความเห็นที่ไร้เดียงสาที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็น

หากเรายืนยันให้เป็นไปตามที่นักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” และเจ้าของสื่อคนหนึ่งที่อ้างตนเป็นผู้จงรักภักดีกล่าวไว้ ต่อไปการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงคงไม่ต้องวิ่งฝ่ายการเมืองแต่วิ่งฝ่ายอื่นแทนกระมัง

แล้วขอบเขตความรับผิดชอบของฝ่ายการเมืองจะอยู่ที่ใด ในเมื่อฝ่ายการเมืองมีฐานที่มาจากประชาชน รับผิดชอบต่อประชาชน ทำผิดด่าได้ ขับไล่ได้ ไม่เลือกกลับเข้ามาใหม่ได้ แต่กลับตัดตอนลดทอนอำนาจเขาลง

ย้ำอีกครั้งว่า “อำนาจ” กับ “ความรับผิดชอบ” เป็นของคู่กัน ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจโดยปราศจากการรับผิดชอบ และไม่มีผู้ใดอีกเช่นกันที่มีแต่ความรับผิดชอบโดยปราศจากอำนาจหน้าที่

-๔-
ความปิดท้าย

ปรากฏการณ์ที่คนแห่แหนไปฟังอภิปรายเรื่อง “พระราชอำนาจ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างท่วมท้นมิใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องที่เกินคาดคิด เอาเข้าจริงมันสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในตัวคนไทยมานานแสนนาน วัฒนธรรมที่ยอมสยบต่อ “อำนาจ” ใดอำนาจหนึ่ง วัฒนธรรมที่อยากสู้รบปรบมือกับ “อำนาจ” หนึ่งแต่ไม่มีปัญญา ก็ต้องวิ่งหาอีก “อำนาจ” หนึ่งเพื่อเป็นเกราะกำบัง วัฒนธรรมประเภทถูกรังแกมาจึงวิ่งหา “พี่ใหญ่” วัฒนธรรมไพร่ทาสที่เกลียดนายเก่าวิ่งหานายใหม่แต่อย่างไรก็ยังคงต้องเป็นทาสอยู่ดี

แต่อย่างน้อยผมก็เห็นสัญญาณที่ดีในกรณีที่ พล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ และคุณสุเมธ ตันติเวชกุล ไม่เข้าร่วมอภิปรายเรื่อง “พระราชอำนาจ” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรรมศาสตร์ เพราะเกรงว่าไม่เหมาะสมที่เข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นการเมือง แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าเจ้าของสื่อและนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” จะได้รับการโปรดปรานเท่าไรนัก

ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเป็นการประลองกันในเชิงอำนาจ ลองของกันว่าใครเจ๋งกว่าใคร เรียกได้ว่าทดสอบบารมีกับประชาชนเสียหน่อย อย่างที่เรารับรู้กันดีว่าบางครั้งเสือสองตัวก็ไม่อาจอยู่ถ้ำเดียวกันได้

พึงระวังว่า เมื่อช้างชนช้าง หญ้าแพรกอย่างเราๆก็แหลกราญ แน่นอนที่สุด ต้องมีคนที่ประสบเคราะห์กรรมจากการ “ชน” กัน เช่นกัน ต้องมีคนอีกกลุ่มที่เป็น “ตาอยู่” แปลงกายเป็นฮีโร่อยู่ร่ำไป

ที่น่ากังวล คือ ต่อไปจะเกิดสงครามการแย่งชิง “ความจงรักภักดี” ฝ่ายหนึ่งก็ว่าตนจงรักภักดี ไอ้นั่นต่างหากที่ไม่จงรักภักดี ในขณะที่อีกฝ่ายก็ว่าตนจงรักภักดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เอ็งนั่นแหละที่แอบอ้าง ซึ่งเริ่มเห็นลางๆแล้วจากเหตุการณ์ “แย่งกันเอาเหาไปใส่กบาลฝ่ายตรงข้าม” ด้วยการปิดรายการทีวีของเจ้าของสื่อ ตามมาด้วยฟ้องร้องกันไปมาระหว่างนายกฯกับเจ้าของสื่อ

เช่นนี้แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองย่อมไม่ตั้งอยู่ที่ “เหตุผล” หากโอนย้ายไปตั้งอยู่ที่ “กำลัง”

“กำลัง” ที่มีอาวุธเป็น “ความจงรักภักดี”

กล่าวสำหรับข้อโจมตีที่มีต่อทักษิณ ตัวผมเองปกติก็ไม่พิสมัยระบอบทักษิณเท่าไรนัก แต่งานนี้พูดได้เลยว่าผมสงสารทักษิณอย่างจับใจที่โดนศัตรูเล่นสกปรกแบบนี้ จะเล่นงานทักษิณ เกลียดขี้หน้ารัฐบาล (แม้บางคนจะเคยหลงรักมาก่อน เข้าทำนองเคยรักมาก ตอนนี้เลยเกลียดมาก) ก็ควรเล่นกันในกรอบ ทักษิณบริหารไม่ดีอย่างไร โกงอย่างไร ก็แจกแจงมาอย่าเอาเบื้องสูงมาแอบอ้างเพื่อยัดเยียดข้อหา “ไม่จงรักภักดี” ให้กับทักษิณ

ประวัติศาสตร์สอนให้เราเห็นแล้วว่าปรีดีเคยถูกกำจัดออกไปจากสารบบการเมืองไทยด้วยวิธีการสกปรก (แม้ผมจะไม่เคยคิดว่าทักษิณเทียบเท่าปรีดีเลยก็ตาม) สื่อบางค่ายทำตัวไม่ต่างกับสมัยก่อนที่มีการจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ไม่น่าเชื่อว่าสื่อค่ายนั้นเป็นสื่อที่ไฮเทคที่สุดในประเทศไทยแต่กลับใช้วิธีโบราณๆเช่นนี้

ลองคิดกันดู ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบ “ไทยๆ” อย่างที่เป็นอยู่ คิดหรือครับว่าทักษิณจะโง่ถึงขนาดที่จะ “ไม่จงรักภักดี”

ความจงรักภักดีน่าจะหมายถึงการปกป้องไม่ให้การเมืองเข้าไปข้องแวะองค์พระมหากษัตริย์มากกว่าที่จะแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อนำมาใช้เป็น “อาวุธ” ทิ่มแทงศัตรูของตน

กล่าวให้ถึงที่สุด สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และได้การยอมรับนับถือจากประชาชน ก็ต่อเมื่อสถาบันกษัตริย์แสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างสมเหตุสมผล ถูกที่ถูกเวลา การเชิญสถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมืองจึงควรใช้เมื่อยามจำเป็นจริงๆเท่านั้น

ผมมีข้อสงสัยให้เก็บไปคิดกันเล่นๆ
๑. ถ้านักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ น่าคิดว่าเขาจะออกมาเขียนหนังสือและอภิปรายต่อสาธารณะอย่างที่เขาทำอยู่หรือไม่
๒. ถ้าพระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งใครไปดำรงตำแหน่งจริง ต่อไปถ้าไม่ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกฯ แต่งตั้งรมต. แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้ ถามว่าเราจะเอาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบนี้หรือ ถามว่าเราจะเรียกระบอบนี้ว่าประชาธิปไตยได้เต็มปากเต็มคำหรือ ถามว่าเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ถามว่าเราจะยอมรับอีกล่ะหรือว่า “The King can do no wrong”

ผมไม่ให้คุณค่าต่อการกระทำของนักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” (หนังสือเล่มนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า “การตัดแปะ” งานเก่าๆของรอแยลลิสม์หลายๆคน เพียงแต่ว่าบังเอิญออกมาได้จังหวะเท่านั้น ลองจินตนาการว่าถ้าหนังสือเล่มนั้นออกมาตอนต้นปี ๒๕๔๔ จะแป้กมั้ย) และสื่อฉบับนั้นเท่าไรนัก

แต่ที่ผมให้ความสำคัญคือ ท่าทีของพสกนิกรชาวไทยทุกคนที่ควรเข้าใจให้ชัดว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องเป็นอย่างไร

ต้องไม่ลืมคำกล่าวของลอร์ด แอ็คตันที่ว่า “อำนาจทำให้คนเสื่อม อำนาจเด็ดขาดยิ่งทำให้คนเสื่อมอย่างเด็ดขาด” ย่อมใช้ได้กับทุกคน ทุกชนชั้น ไม่จำเพาะเจาะจงกับนายกรัฐมนตรี


2. รากเหง้าไทยในวิวาทะพระราชอำนาจ

โดย Greenmercy


3. พระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยในกฎหมายตราสามดวง

โดย Ratio scripta