link ลิงก์ ลิงค์
ดึกคืนหนึ่งเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน
ผมตรวจแก้ต้นฉบับ BLOG BLOG เวอร์ชั่นสุดท้าย พร้อมกับพิสูจน์อักษรไปด้วย
เนื่องจากเป็นหนังสือเกี่ยวกับ BLOG ศัพท์แสงคอมพิวเตอร์อย่างคำว่า link จึงปรากฏอยู่หลายแห่ง
ผมเองก็ไม่มั่นใจว่า link ที่เป็นคำไทยมันสะกดอย่างไร ระหว่าง 'ลิงก์' หรือ 'ลิงค์'
พจนานุกรมที่บ้านผมก็มีแต่ของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2525 ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีคำนี้บรรจุอยู่เป็นแน่ เพราะหากเป็นศัพท์ที่ใช้กันใน พ.ศ.2548 กว่าจะได้รับการบรรจุเข้าในพจนานุกรม คงต้องรอถึงปี 2580 (ปีที่ผมเกษียณ) โดยประมาณ
ผมลองค้นคำใน google ผลก็คือมีผู้ใช้กันทั้ง 'ลิงก์' และ 'ลิงค์' ลองไปค้นในเว็บไซต์ของเนคเทคที่มีศัพท์บัญญัติของวงการคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่ปรากฏ
ด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถในการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตของตัว ผมไม่ละความพยายาม ตั้งหน้าตั้งตาหาหลักฐานยืนยัน กระทั่งเข็มนาฬิกาล่วงเลยถึงตีสาม ผมจึงยกธงขาวยอมแพ้ ได้แต่วงกลมคำว่า link ทุกแห่งในต้นฉบับไว้ แล้วปิดไฟนอน
นอน โดยมีคำว่า 'ลิงก์' และ 'ลิงค์' วิ่งวนไปมาในหัว
บ่ายวันรุ่งขึ้น ผมเอาต้นฉบับไปส่งที่บ้านสีฟ้า
เหยียบพ้นประตู ผมรีบตรงไปถามกิต กองบรรณาธิการฝีมือดีแห่ง OPEN ถึง link ที่หลอกหลอนผมตลอดคืน
กิต ซึ่งกำลังนั่งทำต้นฉบับ OCTOBER เล่ม 5 อย่างขะมักเขม้น เอื้อมมือไปหยิบพจนานุกรมฉบับมติชนข้างกาย
แล้วยื่นให้ผมดู
ลิงก์ [ลิ้ง] ก. เชื่อมโยง. (อ. link).
ลิงค์ น. เครื่องหมายเพศ; คำบอกเพศในไวยากรณ์ที่บอกให้รู้ว่าคำนั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง, ลึงค์ ก็ว่า. (บ., ส.).
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน
นายนิติรัฐจะได้เลิกชวนไปดูลิงค์ของเขาเสียที
<< Home