pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Tuesday, October 25, 2005

พี่น้องครับ



พี่น้องครับ

ผมขอบอกเล่าเก้าสิบ 2 เรื่อง


1. หลังจากนิตยสาร open ของ บก.ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ประกาศลาพักร้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2548 ที่ผ่านมา

ขอแจ้งด้วยยินดีว่า อีกไม่ช้าไม่นานนิตยสาร open จะค่อยๆ กลับมาอย่างช้าๆ แม้จะยังไม่ใช่ภายใต้รูปแบบกระดาษดังเดิม

เร็ววันนี้ เตรียมพบกับ open online พร้อมคอลัมนิสต์หน้าเก่า (ที่ท่านคิดถึง) และหน้าใหม่ (ก็คนแถวนี้แหละ)

ระหว่างนี้เที่ยวชม http://www.onopen.com/ บางส่วนไปพลางก่อน

ความคืบหน้า จะแจ้งให้ทราบต่อไป ไม่ช้าเลย

โปรดอย่ารอคอย แต่จงติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน !

(ขอยืมมาใช้ ในฐานะ Friend of Matichon กับเขาเหมือนกัน)




2. หลังจากคอลัมน์ "มองซ้ายมองขวา" ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ของ ปกป้อง จันวิทย์ และภาวิน ศิริประภานุกูล ประกาศอำลาผู้อ่านด้วยตอนอวสาน เมื่อเดือนธันวาคม 2547

ขอแจ้งด้วยยินดีอีกเช่นกันว่า "มองซ้ายมองขวา" จะกลับมาประจำประชาชาติธุรกิจอีกครั้ง ในเดือนมกราคม 2549

มารอบนี้ ขอปรับคอลัมน์เป็นรายสัปดาห์ และนอกจากปกป้องกับภาวิน คนหน้าเดิม แล้ว ยังเสริมทีมให้ อภิชาต สถิตนิรามัย และนักเศรษฐศาสตร์ลึกลับมือดีอีกหนึ่งคน มาร่วม "มองซ้ายมองขวา" ให้คึกคักกันขึ้นอีก

โปรดอย่ารอคอย แต่จงติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน เหมียนเดิม !

Monday, October 24, 2005

ผู้หวดม์ (เรื่องสั้นมาก รางวัลซีไล้)

ริมบันไดทางลง สถานีรถไฟฟ้า

ผู้หมวด: ขอใบขับขี่หน่อย

คนขับ: ทำไมละหมวด

ผู้หมวด: จอดริมถนนได้ไง รอผู้โดยสารงี้ รถหลังติดหมด ผิดกฎหมาย

คนขับ: อ้าว คันหน้าผมตั้ง 5-6 คัน ยังจอดได้ ผู้หมวดไม่เห็นจับ

ผู้หมวด: ไม่กี่คัน ไม่เป็นไร หลายคันเกิน มันน่าเกลียด

คนขับ: มาเริ่มเอาคันผมเนี่ยนะหมวด

ผู้หมวด: เออสิ ... ข้างหน้าครบหกคันแล้ว ว่ามา จะเอาไง

คนขับ: ขอเหอะหมวด วันนี้เพิ่งวิ่ง ได้ไม่กี่ร้อยเอง ค่าน้ำมันยังไม่พอเลย ต่อไปผมไม่ทำแล้วครับ

ผู้หมวด: งั้นไม่เป็นไร เดี๋ยวเขียนใบสั่ง

คนขับ: โธ่ หมวด อย่าใจร้ายกันเลย เห็นใจเหอะ โอเค โอเค จ่ายก็ได้

(คนขับหยิบกระเป๋าสตางค์)

คนขับ: ไม่มีแบงค์ย่อยเลยหมวด มีแต่ใบละร้อย นี่ยอมให้แล้วนะ แต่มันไม่มีใบย่อยจริงๆ ดูสิเนี่ย ปล่อยไปแล้วกันนะ

ผู้หมวด: ปล่อยไม่ได้แล้ว เรียกแล้ว ปล่อยตอนนี้มันน่าเกลียด มันดูไม่ดี จับแล้วจับเลย

คนขับ: น่า ... หมวด ... น่า

(ผู้หมวดหยิบกระเป๋าสตางค์)

ผู้หมวด: มีทอนว่ะ

คนขับ: จนได้นะหมวด เอาเท่าไหร่ละ

ผู้หมวด: นิดหน่อยน่า เอ๊า เปิดประตูหน่อย บนถนนมันน่าเกลียด

(ผู้หมวดขึ้นไปนั่งเบาะหน้าในรถ)

คนขับ: ห้าสิบแล้วกันนะ

ผู้หมวด: ไม่มีแบงค์ห้าสิบว่ะ เหรียญสิบก็ไม่มี

คนขับ: งั้นสี่สิบแล้วกัน

ผู้หมวด: หกสิบเหอะ

คนขับ: ก็ได้

ผู้หมวด: โอเค ทีหลังเห็นหกคันจอดเรียงแล้วก็อย่าจอดอีก หลายคันเกิน มันน่าเกลียด

(ผู้หมวดลงจากรถแท็กซี่ คนขับสตาร์ทรถ เตรียมหักขวาออกถนน)

คนขับ: ขอบคุณหมวด ผมไปละ

ผู้หมวด: ไม่ต้องแล้ว ไม่ต้องไปไหนแล้ว รอคนอยู่นี่แหละ คันหน้าสุดมันออกพอดี


จากนั้น รถแท็กซี่คันที่เจ็ด ก็เลื่อนไปเป็นคันที่หก อีกไม่กี่อึดใจ รถคันที่เจ็ดคันใหม่ก็เทียบท่าริมถนน หมายรอผู้โดยสาร

แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดย่อมอยู่ในสายตาของผู้หมวดคนเก่ง ซึ่งรออยู่ในท่าเตรียมพร้อม

ผู้หมวดคนเดิมสาวเท้ามุ่งหน้าหาแท็กซี่คันที่เจ็ดใหม่นั้น พลางโบกไม้โบกมือ ไม่ให้หนีไปไหน

แล้วจุดเริ่มต้นของนิทานเรื่องนี้ก็เวียนวนมาอีกครั้ง ดำเนินเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงวันเงินเดือนออก

----------

คำถาม SMS ชิงรางวัล 1900-999-9999

หากท่านคิดว่า นิทานเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง กด 1 หากคิดว่าเป็นเรื่องแต่ง กด 2

หากท่านคิดว่า ฉากหลังของนิทานเรื่องนี้คือเมืองไหแลนด์ กด 1 หากคิดว่าคือประเทศไทย กด 2

Saturday, October 08, 2005

link ลิงก์ ลิงค์

ดึกคืนหนึ่งเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน

ผมตรวจแก้ต้นฉบับ BLOG BLOG เวอร์ชั่นสุดท้าย พร้อมกับพิสูจน์อักษรไปด้วย

เนื่องจากเป็นหนังสือเกี่ยวกับ BLOG ศัพท์แสงคอมพิวเตอร์อย่างคำว่า link จึงปรากฏอยู่หลายแห่ง

ผมเองก็ไม่มั่นใจว่า link ที่เป็นคำไทยมันสะกดอย่างไร ระหว่าง 'ลิงก์' หรือ 'ลิงค์'

พจนานุกรมที่บ้านผมก็มีแต่ของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2525 ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีคำนี้บรรจุอยู่เป็นแน่ เพราะหากเป็นศัพท์ที่ใช้กันใน พ.ศ.2548 กว่าจะได้รับการบรรจุเข้าในพจนานุกรม คงต้องรอถึงปี 2580 (ปีที่ผมเกษียณ) โดยประมาณ

ผมลองค้นคำใน google ผลก็คือมีผู้ใช้กันทั้ง 'ลิงก์' และ 'ลิงค์' ลองไปค้นในเว็บไซต์ของเนคเทคที่มีศัพท์บัญญัติของวงการคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่ปรากฏ

ด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถในการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตของตัว ผมไม่ละความพยายาม ตั้งหน้าตั้งตาหาหลักฐานยืนยัน กระทั่งเข็มนาฬิกาล่วงเลยถึงตีสาม ผมจึงยกธงขาวยอมแพ้ ได้แต่วงกลมคำว่า link ทุกแห่งในต้นฉบับไว้ แล้วปิดไฟนอน

นอน โดยมีคำว่า 'ลิงก์' และ 'ลิงค์' วิ่งวนไปมาในหัว

บ่ายวันรุ่งขึ้น ผมเอาต้นฉบับไปส่งที่บ้านสีฟ้า

เหยียบพ้นประตู ผมรีบตรงไปถามกิต กองบรรณาธิการฝีมือดีแห่ง OPEN ถึง link ที่หลอกหลอนผมตลอดคืน

กิต ซึ่งกำลังนั่งทำต้นฉบับ OCTOBER เล่ม 5 อย่างขะมักเขม้น เอื้อมมือไปหยิบพจนานุกรมฉบับมติชนข้างกาย

แล้วยื่นให้ผมดู

ลิงก์ [ลิ้ง] ก. เชื่อมโยง. (อ. link).

ลิงค์ น. เครื่องหมายเพศ; คำบอกเพศในไวยากรณ์ที่บอกให้รู้ว่าคำนั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง, ลึงค์ ก็ว่า. (บ., ส.).

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

นายนิติรัฐจะได้เลิกชวนไปดูลิงค์ของเขาเสียที

Friday, October 07, 2005

หมุดหมายชีวิต

วันนี้ก็ไม่ต่างออกไปจากวันนั้นหรือวันไหน

จะผิดแผกไปบ้างก็เพียงเป็นวันที่ทำให้ผมอายุครบ 28 ปีเต็ม ซึ่งก็ไม่ได้มีความหมายสลักสำคัญอะไรต่อชีวิตเป็นพิเศษ

ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ใครต่อใครต้องเฝ้ารอเวลา ให้เข็มนาฬิกาชี้บอกวันเวลาที่ตัวลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก เพื่อนั่งคิดพิศทวนชีวิตที่ผ่านมาในรอบปีหรือหลายปี

แต่สำหรับบางคน ชีวิตก็ต้องการหมุดหมายบางอย่าง เพื่อฉุดรั้งตัวเองให้หยุดพักจากความรีบเร่ง ความสับสน ความเคยชิน ความหลงใหล ความหมกมุ่น ความทนทุกข์ และอีกหลายความของชีวิต

... หยุดพักจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพื่อนั่งเงียบๆ พูดคุยกับโลกภายในของตัวเอง

ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนจำพวกนั้น

วันเกิดแต่ละปีจึงเป็นหมุดหมาย สำหรับการทบทวนชีวิตในช่วงที่ผ่านมา

เป็นเวลาแห่งการตรวจสอบอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของตัวเอง ต่อตัวเอง กระทั่งต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมข้างกาย

เป็นเวลาแห่งการทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านเกิดเข้ามาในหลายช่วงของชีวิต

เป็นเวลาแห่งการตั้งคำถามต่อตัวเอง และเทียบเคียงคำตอบ ณ เวลานี้ กับคำตอบ ณ เวลานั้น ว่าเราเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด

เป็นเวลาแห่งการเยี่ยมเยียนความฝันที่เคยวาดไว้เมื่อกาลเก่า

เป็นเวลาแห่งการวิพากษ์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เท่าที่คนมีอคติคนหนึ่งจะทำได้

เป็นเวลาที่จะวางแผนมองไปข้างหน้า พลางคิดในใจเงียบๆ ว่าปีหน้าเราอยากทำอะไร และทำไม

...

ปีนี้ไม่เหมือนช่วงหลายปีก่อน

ผมรู้สึกว่า ภารกิจประจำปีข้างต้นยากเย็นแสนเข็ญกว่าที่แล้วมา

เพราะก้าวสำคัญต่อไปในชีวิตกำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นาน? เพราะโลกภายนอกมันโหดร้ายขึ้นตามกาล กระทั่งกระทำชำเราโลกภายในของผมหนักหน่วงตามไปด้วย? เพราะตัวผมเองเริ่มเปลี่ยนแปลงหันเหจากทางสายหลักดั้งเดิมที่ใช้เดินมายาวนาน? หรือเพราะอื่นใดก็ตาม


โจทย์อาจยาก การตอบคำถามยิ่งไม่ง่าย กระทั่งคำตอบอาจผันเปลี่ยนไป

แต่อย่างน้อยผมก็ยังดีใจ ที่ผ่านไปอีกปี ตัวเองยังคงตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบ

เหมือนเช่นวันนี้ในทุกปีก่อน

Thursday, October 06, 2005

ท่องไปในโลกหนังสือ

แม้เมื่อวานต้องลากสังขารพาตัวเองไปหาหมอเพราะพิษไข้และภูมิแพ้กำเริบ แต่พอรุ่งเช้า อาการป่วยเริ่มทุเลา ผมก็ทนความเย้ายวนจากงานหนังสือวันแรกไม่ได้ ตัดสินใจขึ้นรถใต้ดินไปศูนย์สิริกิตติ์ฯ แทนที่จะนอนหลับพักผ่อนอยู่กับบ้าน

ไปถึงประมาณบ่ายโมงครึ่ง เดินดูหนังสือและเยี่ยมเยียนทักทายเพื่อนพ้องน้องพี่ จนถึงสองทุ่มครึ่ง

นี่คือรายชื่อหนังสือที่วันนี้ไปสอยมา

1. เงาจันทร์ในอัญประกาศ - มุกหอม วงษ์เทศ - มติชน

นักเขียนคนโปรดในเวลานี้ของผม คุณมุกหอมเขียนหนังสือด้วยมุมมองเฉียบคม ลึกซึ้ง วิพากษ์สังคมในระดับถึงแก่น ถ่ายทอดด้วยลีลาการเขียนหลากหลาย เต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบต้องขบ และอารมณ์ประชดเสียดสีเหน็บแหนมที่เหลือร้าย

เงาจันทร์ฯ เล่มนี้เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของเธอ ที่ตามติดต่อจาก พรมแดนทดลอง ที่พิมพ์โดย openbooks ทางสำนักพิมพ์มติชนยืนยันว่า เร็วๆ นี้ เราจะได้อ่านหนังสือรวมบทความจากคอลัมน์ คุยความคิด ในมติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์แน่นอน

2. ลื่นไม่เท่า ไล่ไม่ทันทักษิณ - นงนุช สิงหเดชะ - มติชน

งานเขียนที่รวบรวมจากคอลัมน์ในมติชนรายวันและมติชนสุดสัปดาห์ของบรรณาธิการข่าวหน้าหนึ่งของมติชนรายวัน นักข่าวอาชีพผู้สืบสานความเป็นมติชน

แม้เล่มนี้ผมเขียนคำนิยมให้คุณนงนุช (โดยที่ไม่เคยรู้จักกันเลย) แต่ก็ต้องควักกระเป๋าซื้อมาอ่านเอง

3. การเมืองสองฝั่งโขง - ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ - ศิลปวัฒนธรรม/มติชน

ดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียน ว่าด้วยการรวมกลุ่มทางการเมืองของ ส.ส.อีสาน ในช่วงหลังปฏิวัติ 2475 (2476-2494)

ในช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 ส.ส.อีสานเต็มไปด้วย ส.ส.คุณภาพ และมีบทบาทสำคัญ อย่างเตียง ศิริขันธ์, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, เลียง ไชยกาล ฯลฯ ต่างจาก ส.ส.อีสานในยุคหลังราวฟ้ากับเหว คำถามที่ผมสนใจมานานคือ ปัจจัยทางสถาบันอะไรที่ทำให้ ส.ส.อุดมการณ์ล้มหายตายจากจากภาคอีสาน แม้ยังไม่ได้อ่านงานชิ้นนี้ ผมก็หวังว่าจะช่วยให้ภาพของสภาพและบริบททางการเมืองในท้องถิ่นอีสานในยุคก่อน 2500 ได้ระดับหนึ่ง

4. ความยุ่งของการอยู่ - นิธิ เอียวศรีวงศ์ - ศิลปวัฒนธรรม/มติชน

หนังสือรวมบทความเล่มใหม่ของอาจารย์นิธิ เล่มนี้มีธีมว่าด้วยครอบครัวและชุมชน ธเนศ วงศ์ยานนาวา คำนำเสนอ

5. วู้...ผมอยู่นี่! - ดำรงค์ อารีกุล - มติชน

ผมเป็นแฟนหมง หงจินเป่า ของคุณดำรงค์มาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี เล่มนี้เป็นวีรกรรมล่าสุด (น่าจะเล่ม 9)ของหมง และเพื่อนพ้องชมรมกอดลมไว้อย่าให้หงอย

6. กระบือบาล - ดำรงค์ อารีกุล - มติชน

บอกแล้วว่าผมเป็นแฟนงานเขียนคุณดำรงค์ เห็นหนังสือแกออกใหม่ไม่ได้ เป็นต้องซื้อ นี่เป็นผลงานเล่มใหม่ล่าสุดของเขา นิยายเรื่องยาวเรื่องนี้โปรยปกหน้าว่า "บางระจันยุคใหม่ที่ไม่มีวันตีแตก พวกเขาไม่ได้เอาควายไปรบ ... แต่รบเพื่อควาย" เมื่อรถไถเข้ายึดครองพื้นที่ทำนาในเขตอีสานใต้ คนรักควายอย่างใจเด็ด ผู้มีวลีประจำใจว่า "อย่าปล่อยให้เพื่อนควายตกงาน" เลยจำต้องสู้...เพื่อควาย

7. คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ" - ชาตรี ประกิตนนทการ - ศิลปวัฒนธรรม/มติชน

หนังสือเล็กๆ เล่มนี้มีสามส่วนหลักคือ ส่วนแรก วิเคราะห์ความหมายทางการเมืองและภาพสะท้อนเชิงอำนาจของคณะราษฎรผ่านงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ส่วนที่สอง บทวิเคราะห์ว่าด้วยลพบุรี เมืองทหารทันสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และส่วนที่สาม ความหมาย สัญลักษณ์ และมรดกตกทอดของงานฉลองรัฐธรรมนูญ

8. Underground Buleteen วารสารหนังสือใต้ดิน เล่ม 3-4 / สำนักพิมพ์ Shine

วารสารวรรณกรรมรายไตรมาส ที่กุมบังเหียนโดย วาด รวี อดีตเจ้าของร้านหนังสือใต้ดิน ชั้นสองโรงหนังสยาม ที่ปิดตัวไปเมื่อต้นปี คำโปรยปกบอกว่าเป็นหนังสือวรรณกรรมและสังคมสำหรับคนคอแข็ง เนื้อหาเข้มข้นและหนักแน่น เล่มสามมีธีมหลักว่าด้วยชะตากรรมของนิตยสารทางเลือก โดยใช้นิตยสาร OPEN เป็นกรณีศึกษา ส่วนเล่มสี่ว่าด้วยกวี

9. บริการรับนวดหน้า - ชาติ กอบจิตติ - สำนักพิมพ์หอน

ผลงานเรื่องสั้นชุดที่ 3 ของชาติ หลังจากชุดที่ 2 ออกสู่บรรณพิภพเมื่อปี 2532

10. นักเดินทางสู่ห้องเก็บของใต้บันได - จักรพันธุ์ กังวาฬ - สำนักพิมพ์หัวหอม(สารคดีหนุนหลัง)

1 ใน 8 รวมเรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายซีไรท์ปีนี้ ได้ยินมาหนาหูว่าผลงานของนักเขียนประจำกองบรรณาธิการสารคดีเล่มนี้เต็มไปด้วยความสดใหม่ ท้าทายให้ต้องลิ้มลองด้วยตัวเอง

11. ฝนตกตลอดเวลา - ปราบดา หยุ่น - สำนักหนังสือไต้ฝุ่น

นวนิยายใหม่ล่าสุดของพี่คุ่น แฟนหนังสืออย่างผมไม่ซื้อได้ไง

12. ที่อยู่ของหัวใจ - วรพจน์ พันธุ์พงศ์ - สำนักหนังสือไต้ฝุ่น

รวมความเรียงจากคอลัมน์เต้นรอบกองไฟของผู้เขียนใน GM แฟนเศษทรายในกระเป๋า พลาดไม่ได้

13. ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล - วินทร์ เลียววาริณ - สำนักพิมพ์ 113

เห็นมานานในมติชนสุดสัปดาห์ แต่ยังไม่อ่าน เพราะจะรออ่านรวดเดียวจากการรวมเล่ม ผู้เขียนบอกว่า นี่เป็นเล่มขยายของ "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" หนังสือแนวที่หลอมรวมอภิปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ ท้าทายให้อ่านอยู่เสมอ ยิ่งผู้เขียนคือวินทร์ด้วยแล้ว ไม่อ่านเห็นจะไม่ได้

14. ผ่านพบไม่ผูกผัน - เสกสรรค์ ประเสริฐกุล - สำนักพิมพ์สามัญชน

งานเขียนเล่มล่าสุดของอาจารย์เสก บทบันทึกห้วงคำนึงจากการเดินทางเล่มนี้รวบรวมจากคอลัมน์ใน Travel Guide


สำหรับ BLOG BLOG ของผมนั้น ยังอยู่ในโรงพิมพ์อยู่เลยครับ เสร็จไม่ทันเปิดงาน ตอนแรกได้รับแจ้งว่าจะแล้วเสร็จต้นสัปดาห์หน้า แต่วันนี้มีข่าวบอกว่า อาจจะได้เห็นวันเสาร์หรืออาทิตย์นี้ก็เป็นได้ ผมเองก็ไม่รู้แน่นอน

แฟน openbooks บูธหมายเลข W5 นะครับ อยู่บริเวณเวทีเอเทรียมเดิม (ตรงที่เมื่อก่อนมีเวทีให้นักเขียนขึ้นพูด) หนังสือใหม่ๆ ของ openbooks ส่วนใหญ่ยังไม่เสร็จ คาดว่าต้องรออีก 2-3 วัน แต่วันนี้เมื่อตอนเย็น OCTOBER เล่ม 5 ว่าด้วยพระราชอำนาจ-ไฟใต้ มาถึงแล้ว ที่จะทยอยตามมาคือ ภูมิปัญญามูซาชิ ของ อาจารย์สุวินัย, Niche ของ อาจารย์วรากรณ์, open dragon เล่มสาม เป็นต้น

แฟนคุณ Grappa ไปเยี่ยมเจ้าตัวได้ที่บูธ Blue Scale (K14) ในแพลนนารีฮอล เจ้าตัวบอกว่าจะไปขายหนังสือทุกวัน ปีนี้สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดของคุณ Grappa ออกหนังสือใหม่ 2 เล่มคือ หนังสือเล่มใหม่ของคำ ผกา (ฮิมิโกะ ณ โตเกียว) และโลกนี้มันช่างยีสต์ ของแทนไท ประเสริฐกุล ที่บูธยังมีโปสการ์ดสวยๆ ผลงานการถ่ายภาพของสมิทธิ ธนานิธิโชติ อดีตช่างภาพ OPEN ขายด้วย

ส่วนแฟนสำนักหนังสือไต้ฝุ่นของคุณปราบดา แม้ไม่มีบูธของตัวเอง แต่หาหนังสือไต้ฝุ่นได้ที่บูธ openbooks, Blue Scale, นายอินทร์ และ Underground ครับ

ผมคงไปที่งานหนังสืออีกที เมื่อ BLOG BLOG พิมพ์เสร็จ ส่วนตอนนี้ขอตัวไปเล็มหนังสือก่อนนะครับ

Wednesday, October 05, 2005

พระราชอำนาจ

เชิญอ่าน (จริงๆ ควรบอกว่า "ต้องอ่าน")

1. พระราชอำนาจกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดย Etat de droit


ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ไม่ได้ลงมือเสียที ด้วยสาเหตุที่ผมยังรักอนาคตตนเอง ดังที่เราทราบกันดีว่าภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบ “ไทยๆ” เช่นนี้ การแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบากเพียงใด

ทว่าการแสดงความเห็นในเรื่องพระราชอำนาจตามสื่อต่างๆเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นความเห็นดูจะเทไปในทิศทางเดียวกันหมด เข้าใจว่ามีอีกหลายคนที่อยากแสดงความเห็นไปในทางตรงกันข้าม แต่คงไม่กล้าหรือมีอุปสรรคอยู่บ้าง ก็ในเมื่ออีกฝ่ายนั้นหาเกราะกำบังชั้นดีในนามของคำว่า “จงรักภักดี” เสียแล้ว หากเราเห็นค้านเข้า จะมิเป็น “ผู้ไม่จงรักภักดี” หรือ

ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอว่า ใครที่โดนข้อหา “ไม่จงรักภักดี” แล้ว จะโดนโทษทัณฑ์หนักหนาสาหัสเพียงใด แม้โทษทัณฑ์นั้นจะไม่ได้เป็นโทษทัณฑ์ทางกฎหมาย หากเป็นเพียงโทษทัณฑ์ทางพฤตินัย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีอานุภาพร้ายแรง

เมื่อผมคิดใคร่ครวญแล้ว ในฐานะคนสอนหนังสือ หากเราไม่แสดงความคิดเห็นบ้างก็ดูจะละเลยหน้าที่ไปอยู่ จึงตัดสินใจลงมือเขียน และโปรดเชื่อผมเถอะว่า จากการที่ผมมีโอกาสสนทนารอแยลลิสม์หลายคน ความเห็นของเขาเหล่านั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกับผม

เบื้องต้น ผมขอทำความเข้าใจใน ๒ ข้อ
ข้อแรก ผมพูดถึงระบอบไม่ใช่ตัวบุคคล ขอให้ท่านสร้างจินตภาพว่าเมืองไทยปกครองในระบอบนี้โดยอย่าพึ่งดูว่าใครเป็นกษัตริย์ ใครเป็นนายกฯ
ข้อที่สอง ผมแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาจะลบหลู่ดูหมิ่นผู้ใดหรือสถาบันใด

..........

-๑-
ประมุขของรัฐ

ในแต่ละรัฐมีประมุขของรัฐแตกต่างกันไป รัฐที่ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐ ย่อมหมายความว่า ประมุขของรัฐเป็นสามัญชนคนธรรมดา ตำแหน่งประมุขของรัฐไม่มีการสืบทอดทางสายเลือด โดยมากมักเรียกกันว่าประธานาธิบดี รัฐที่ปกครองในระบบรัฐสภา ประธานาธิบดีที่เป็นประมุขของรัฐ (Head of State) ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง หากเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of gouvernment) เช่น สิงคโปร์ เยอรมัน อิตาลี

ในขณะที่รัฐที่ปกครองในระบบประธานาธิบดี ตัวประธานาธิบดีย่อมเป็นทั้งประมุขของรัฐ (Head of State) และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of gouvernment) กล่าวคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารอย่างแท้จริง เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีลูกครึ่งที่ใช้ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีที่มีประธานาธิบดีและมีนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ (Head of State) นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of gouvernment) แต่ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารจริงๆร่วมไปกับนายกรัฐมนตรีด้วย เช่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส

ในส่วนของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร หมายความว่า ประมุขของรัฐเป็นเชื้อพระวงศ์ การสืบทอดตำแหน่งเป็นไปทางสายเลือด แน่นอนว่าประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขย่อมไม่มีทางปกครองในระบบประธานาธิบดีได้ เพราะตำแหน่งประมุขของรัฐสงวนไว้ให้กับพระมหากษัตริย์แล้ว พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย การบริหาร การตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง หากกระทำไปโดยความแนะนำขององค์กรอื่น ได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

กล่าวสำหรับไทยเรานั้น เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปกครองในระบบรัฐสภา หรือที่เรียกกันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Monarchie constitutionnel) ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Monarchie absolue)

-๒-
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทรงมีพระราชอำนาจในสองลักษณะ ได้แก่ พระราชอำนาจโดยแท้ของพระองค์เอง และพระราชอำนาจที่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พระราชอำนาจโดยแท้ ก็เช่น การแต่งตั้งองคมนตรี การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเทียรบาล การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระราชอำนาจในส่วนนี้จะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ หมวด ๒ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ในส่วนของพระราชอำนาจที่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็เช่น การลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติต่างๆ (มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มีประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ (ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ)

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเท่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่ทรงมีพระราชอำนาจบางอย่างบางประการตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญคืออะไร?

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Constitutional conventions” ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “Coutume constituitonnel” คือ กฎเกณฑ์ที่กำหนดประพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันบุคคลหรือองค์กรทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบรัฐธรรมนูญ

อีกนัยหนึ่ง บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นธรรมเนียมที่ประพฤติปฏิบัติกันมาจนเป็นที่ยอมรับว่าต้องปฏิบัติตาม

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ มีอะไรบ้าง?

วอลเตอร์ แบร์ซอต (ที่คอลัมนิสต์คนหนึ่งของสื่อที่ออกมาบอกว่าข้าจงรักภักดีอย่างหาใครมาเสมอเหมือนเป็นไม่มีมักยกขึ้นอ้างบ่อยครั้ง) กล่าวไว้ในตำราของเขาว่าพระมหากษัตริย์มีสิทธิในการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี มีสิทธิในการให้การสนับสนุน และสิทธิในการว่ากล่าวตักเตือน

ความข้อนี้เราพบเห็นว่าปรากฏอยู่จริงในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญไทย แม้รัฐธรรมนูญไทยจะไม่ได้กำหนดไว้แต่เป็นที่ยอมรับกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสิทธิดังกล่าว จะเห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สิทธิทั้งสามประการนี้อย่างสม่ำเสมอ เช่น การยุติความขัดแย้งทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พระบรมราโชวาทเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนพระบรมราโชวาท ๔ ธันวาคมของทุกปี

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันซึ่งมีระยะเวลายาวนาน เราพบว่าเกิดพระราชอำนาจที่ไม่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากเป็นพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ เช่น การยับยั้งร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์

บทบัญญัติในมาตรา ๙๔ ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยในร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้ง หากพระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกและพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

โดยธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบในร่างกฎหมายใด หรือไม่พระราชทานร่างกฎหมายใดคืนมาภายใน ๙๐ วัน รัฐสภาจะไม่นำร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาเพื่อยืนยันใหม่ แต่กลับให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปทั้งๆที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๔ อนุญาตให้รัฐสภามีอำนาจยืนยันร่างกฎหมายกลับไปใหม่ได้

กรณีการยับยั้งร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์ของไทยดังที่กล่าวมาข้างต้นแตกต่างจากของอังกฤษ กล่าวคือ ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอังกฤษ พระมหากษัตริย์จะไม่ใช้พระราชอำนาจในการไม่เห็นชอบร่างกฎหมายหรือการถวายคืนร่างกฎหมายกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ ปกติแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายเสมอ หากจะทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายก็ต้องมาจากคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

พึงสังเกตไว้ด้วยว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับพระบารมีของแต่ละพระองค์ เช่น สมัยรัชกาลที่ ๗ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน จะเห็นได้ว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแทบจะไม่มีเอาเสียเลย ขณะที่สมัยรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมากขึ้นในหลายกรณี ทั้งนี้เนื่องจาก ระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ประกอบกับพระจริยวัตรที่งดงามของพระองค์เอง

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยอมรับว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญนั้นมีจริงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พระราชอำนาจเช่นว่าก็ไม่อาจหลุดจากกรอบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้

-๓-
The King can do no wrong ทำไมถึง no wrong

ที่เราพูดๆกันว่า “The King can do no wrong” นั้น หมายความว่า The King ไม่ทำอะไรเลย The King จึง no wrong หากลงมาทำก็ต้องมีความผิดตามมา ใครที่เคยสงสัยว่าระบอบนี้ไม่มีความเสมอภาค เพราะ The King ทำอะไรก็ไม่มีทางผิดนั้นแสดงว่าเขาไม่เข้าใจระบอบดีพอ ที่บอกกันว่ากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดใดๆเลยนั้น เพราะกษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเองจึงไม่ต้องรับผิด หากเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างหาก

ต้องไม่ลืมว่า “อำนาจ” ย่อมเคียงคู่กับ “ความรับผิดชอบ” แล้วเราอยากให้ในหลวงมี “ความรับผิดชอบ” ในทางการเมืองให้แปดเปื้อนพระยุคลบาทอย่างนั้นหรือ

หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญบอกว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผู้ใดจะล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ไม่ได้ พระมหากษัตริย์จะไม่มีทางกระทำผิด แต่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้ถวายคำแนะนำนั้นเข้ามารับผิดแทน ความข้อนี้ย่อมหมายความว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้กระทำการใดๆด้วยพระองค์เอง แต่ทำตามคำแนะนำขององค์กรต่างๆ ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้”

คำกล่าวอ้างของนักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจโดยแท้ในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง จึงนับเป็นความเห็นที่ไร้เดียงสาที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็น

หากเรายืนยันให้เป็นไปตามที่นักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” และเจ้าของสื่อคนหนึ่งที่อ้างตนเป็นผู้จงรักภักดีกล่าวไว้ ต่อไปการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงคงไม่ต้องวิ่งฝ่ายการเมืองแต่วิ่งฝ่ายอื่นแทนกระมัง

แล้วขอบเขตความรับผิดชอบของฝ่ายการเมืองจะอยู่ที่ใด ในเมื่อฝ่ายการเมืองมีฐานที่มาจากประชาชน รับผิดชอบต่อประชาชน ทำผิดด่าได้ ขับไล่ได้ ไม่เลือกกลับเข้ามาใหม่ได้ แต่กลับตัดตอนลดทอนอำนาจเขาลง

ย้ำอีกครั้งว่า “อำนาจ” กับ “ความรับผิดชอบ” เป็นของคู่กัน ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจโดยปราศจากการรับผิดชอบ และไม่มีผู้ใดอีกเช่นกันที่มีแต่ความรับผิดชอบโดยปราศจากอำนาจหน้าที่

-๔-
ความปิดท้าย

ปรากฏการณ์ที่คนแห่แหนไปฟังอภิปรายเรื่อง “พระราชอำนาจ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างท่วมท้นมิใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องที่เกินคาดคิด เอาเข้าจริงมันสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในตัวคนไทยมานานแสนนาน วัฒนธรรมที่ยอมสยบต่อ “อำนาจ” ใดอำนาจหนึ่ง วัฒนธรรมที่อยากสู้รบปรบมือกับ “อำนาจ” หนึ่งแต่ไม่มีปัญญา ก็ต้องวิ่งหาอีก “อำนาจ” หนึ่งเพื่อเป็นเกราะกำบัง วัฒนธรรมประเภทถูกรังแกมาจึงวิ่งหา “พี่ใหญ่” วัฒนธรรมไพร่ทาสที่เกลียดนายเก่าวิ่งหานายใหม่แต่อย่างไรก็ยังคงต้องเป็นทาสอยู่ดี

แต่อย่างน้อยผมก็เห็นสัญญาณที่ดีในกรณีที่ พล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ และคุณสุเมธ ตันติเวชกุล ไม่เข้าร่วมอภิปรายเรื่อง “พระราชอำนาจ” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรรมศาสตร์ เพราะเกรงว่าไม่เหมาะสมที่เข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นการเมือง แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าเจ้าของสื่อและนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” จะได้รับการโปรดปรานเท่าไรนัก

ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเป็นการประลองกันในเชิงอำนาจ ลองของกันว่าใครเจ๋งกว่าใคร เรียกได้ว่าทดสอบบารมีกับประชาชนเสียหน่อย อย่างที่เรารับรู้กันดีว่าบางครั้งเสือสองตัวก็ไม่อาจอยู่ถ้ำเดียวกันได้

พึงระวังว่า เมื่อช้างชนช้าง หญ้าแพรกอย่างเราๆก็แหลกราญ แน่นอนที่สุด ต้องมีคนที่ประสบเคราะห์กรรมจากการ “ชน” กัน เช่นกัน ต้องมีคนอีกกลุ่มที่เป็น “ตาอยู่” แปลงกายเป็นฮีโร่อยู่ร่ำไป

ที่น่ากังวล คือ ต่อไปจะเกิดสงครามการแย่งชิง “ความจงรักภักดี” ฝ่ายหนึ่งก็ว่าตนจงรักภักดี ไอ้นั่นต่างหากที่ไม่จงรักภักดี ในขณะที่อีกฝ่ายก็ว่าตนจงรักภักดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เอ็งนั่นแหละที่แอบอ้าง ซึ่งเริ่มเห็นลางๆแล้วจากเหตุการณ์ “แย่งกันเอาเหาไปใส่กบาลฝ่ายตรงข้าม” ด้วยการปิดรายการทีวีของเจ้าของสื่อ ตามมาด้วยฟ้องร้องกันไปมาระหว่างนายกฯกับเจ้าของสื่อ

เช่นนี้แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองย่อมไม่ตั้งอยู่ที่ “เหตุผล” หากโอนย้ายไปตั้งอยู่ที่ “กำลัง”

“กำลัง” ที่มีอาวุธเป็น “ความจงรักภักดี”

กล่าวสำหรับข้อโจมตีที่มีต่อทักษิณ ตัวผมเองปกติก็ไม่พิสมัยระบอบทักษิณเท่าไรนัก แต่งานนี้พูดได้เลยว่าผมสงสารทักษิณอย่างจับใจที่โดนศัตรูเล่นสกปรกแบบนี้ จะเล่นงานทักษิณ เกลียดขี้หน้ารัฐบาล (แม้บางคนจะเคยหลงรักมาก่อน เข้าทำนองเคยรักมาก ตอนนี้เลยเกลียดมาก) ก็ควรเล่นกันในกรอบ ทักษิณบริหารไม่ดีอย่างไร โกงอย่างไร ก็แจกแจงมาอย่าเอาเบื้องสูงมาแอบอ้างเพื่อยัดเยียดข้อหา “ไม่จงรักภักดี” ให้กับทักษิณ

ประวัติศาสตร์สอนให้เราเห็นแล้วว่าปรีดีเคยถูกกำจัดออกไปจากสารบบการเมืองไทยด้วยวิธีการสกปรก (แม้ผมจะไม่เคยคิดว่าทักษิณเทียบเท่าปรีดีเลยก็ตาม) สื่อบางค่ายทำตัวไม่ต่างกับสมัยก่อนที่มีการจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ไม่น่าเชื่อว่าสื่อค่ายนั้นเป็นสื่อที่ไฮเทคที่สุดในประเทศไทยแต่กลับใช้วิธีโบราณๆเช่นนี้

ลองคิดกันดู ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบ “ไทยๆ” อย่างที่เป็นอยู่ คิดหรือครับว่าทักษิณจะโง่ถึงขนาดที่จะ “ไม่จงรักภักดี”

ความจงรักภักดีน่าจะหมายถึงการปกป้องไม่ให้การเมืองเข้าไปข้องแวะองค์พระมหากษัตริย์มากกว่าที่จะแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อนำมาใช้เป็น “อาวุธ” ทิ่มแทงศัตรูของตน

กล่าวให้ถึงที่สุด สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และได้การยอมรับนับถือจากประชาชน ก็ต่อเมื่อสถาบันกษัตริย์แสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างสมเหตุสมผล ถูกที่ถูกเวลา การเชิญสถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมืองจึงควรใช้เมื่อยามจำเป็นจริงๆเท่านั้น

ผมมีข้อสงสัยให้เก็บไปคิดกันเล่นๆ
๑. ถ้านักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ น่าคิดว่าเขาจะออกมาเขียนหนังสือและอภิปรายต่อสาธารณะอย่างที่เขาทำอยู่หรือไม่
๒. ถ้าพระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งใครไปดำรงตำแหน่งจริง ต่อไปถ้าไม่ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกฯ แต่งตั้งรมต. แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้ ถามว่าเราจะเอาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบนี้หรือ ถามว่าเราจะเรียกระบอบนี้ว่าประชาธิปไตยได้เต็มปากเต็มคำหรือ ถามว่าเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ถามว่าเราจะยอมรับอีกล่ะหรือว่า “The King can do no wrong”

ผมไม่ให้คุณค่าต่อการกระทำของนักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน “เบสต์ เซลเลอร์” (หนังสือเล่มนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า “การตัดแปะ” งานเก่าๆของรอแยลลิสม์หลายๆคน เพียงแต่ว่าบังเอิญออกมาได้จังหวะเท่านั้น ลองจินตนาการว่าถ้าหนังสือเล่มนั้นออกมาตอนต้นปี ๒๕๔๔ จะแป้กมั้ย) และสื่อฉบับนั้นเท่าไรนัก

แต่ที่ผมให้ความสำคัญคือ ท่าทีของพสกนิกรชาวไทยทุกคนที่ควรเข้าใจให้ชัดว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องเป็นอย่างไร

ต้องไม่ลืมคำกล่าวของลอร์ด แอ็คตันที่ว่า “อำนาจทำให้คนเสื่อม อำนาจเด็ดขาดยิ่งทำให้คนเสื่อมอย่างเด็ดขาด” ย่อมใช้ได้กับทุกคน ทุกชนชั้น ไม่จำเพาะเจาะจงกับนายกรัฐมนตรี


2. รากเหง้าไทยในวิวาทะพระราชอำนาจ

โดย Greenmercy


3. พระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยในกฎหมายตราสามดวง

โดย Ratio scripta

Tuesday, October 04, 2005

Pekkle's blog

เท่าที่ทราบ เพื่อนฝูงละแวกนี้หลายคนชอบถ่ายรูป ไม่ว่า Kickoman, Saruj และพี่บุญชิต

ผมถ่ายรูปไม่เป็น แต่มีเพื่อนเก่าแก่สมัยนุ่งขาสั้นคนหนึ่งชอบถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ

ที่เอามาเล่าสู่กันฟัง เพราะไม่กี่วันมานี้ เขาเพิ่งเปิด blog ครับ ... เป็น blog ว่าด้วยเรื่องราวการถ่ายรูป อุปกรณ์ถ่ายรูป และการเดินทางท่องเที่ยว(เพื่อถ่ายรูป)ของเขา

เยี่ยมชมทักทายกันได้ที่ Pekkle's blog นะครับ

ส่วนรูปถ่ายสวยๆ ของเจ้าตัวทั่วอเมริกา มีให้ชมที่ Galleries

หากใครแวะเวียนไปงานหนังสือ ซื้อ BLOG BLOG มาอ่านเล่น แล้วชอบภาพประกอบในหนังสือ ก็ขอให้ทราบว่า ภาพถ่ายเหล่านั้นเป็นฝีมือของเพื่อนผมคนนี้ จะได้ชื่นชมกันถูกตัว

งามงดขนาดไหน พิสูจน์ได้ที่ร้านหนังสือใกล้บ้านท่านโดยพลัน (ฮา)

Monday, October 03, 2005

เบญจภาคีปัญญาชนสาธารณะโลก

ตอนนี้ Foreign Policy และ Prospect กำลังร่วมกันสำรวจว่าใครคือปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของโลกในปัจจุบัน?

นิตยสารทั้งสองได้เลือกปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังมีเรี่ยวแรงเคลื่อนไหวทางสติปัญญา จำนวน 100 คน และให้ผู้อ่านทั่วโลกลงคะแนนเลือก 5 คน จากบัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น (หรือใครที่คิดอยากจะเลือกปัญญาชนสาธารณะที่ไม่อยู่ในบัญชีก็เขียนเลือกได้ 1 คน) บุคคลเหล่านี้เป็นนักคิดที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางความคิดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หรืออย่างน้อยก็ในภูมิภาค มิได้เด่นดังเพียงเฉพาะภายในประเทศของตน

ผู้จัดนิยาม 'ปัญญาชนสาธารณะ' ว่า คือผู้ที่มีความโดดเด่นในสาขาวิชาของตน มีความสามารถในการสื่อสารความคิดของตนกับสังคม และมีความคิดที่ส่งผลในการผลิตวิวาทะ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะภายในวงวิชาการสาขาตนเท่านั้น

หากสนใจดูรายชื่อปัญญาชนสาธารณะทั้ง 100 คน และร่วมลงคะแนนเสียง ก็เข้าไปได้ที่ The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals ลงคะแนนได้ถึงวันที่ 10 ตุลาคมนี้ครับ (วันเดียวกับวันประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์)

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดอยู่ใน Party List กับเขาด้วย ได้แก่ Gary Becker, Jagdish Bhagwati, Hernando de Soto, Kemal Dervis, Fan Gang, Paul Krugman, Jeffrey Sachs, Amartya Sen และ Lawrence Summers รวมถึง นักจิตวิทยาที่เคยได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์อย่าง Daniel Kahneman

ผมลงคะแนนเรียบร้อยแล้ว เลือกนักเศรษฐศาสตร์ไป 1 คน อีกคนไม่รู้ว่าจะนิยามว่าเป็นนักอะไรดี ส่วนที่เหลือเป็นนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ครับ