แม้อยู่ระหว่างปิดเทอมภาคฤดูร้อน แต่เวลานี้ ศิษย์เพื่อนและศิษย์พี่ของผมต่างเรียงหน้ากันสอบไล่วิทยานิพนธ์ราวกับเป็นเทศกาล
นี่เป็นสัญญาณเตือนว่า เพื่อนฝูงที่สนิทสนม 3 คน กำลังจะอำลาสำนักหลังเขาแห่งนี้ไป
ต้นสัปดาห์หน้า Arjun เพื่อนชาวอินเดียจะลงสนามครั้งสุดท้าย หลังจากฝึกวิชาที่นี่รวม 7 ปีเต็ม เจ้าตัวได้งานเรียบร้อยแล้ว กำลังจะย้ายไปสอนวิทยายุทธ์ต่อที่ UMass Boston Arjun ถือเป็นศิษย์คุณภาพเลิศของสำนักหลังเขา เป็นที่นับถือของเพื่อนฝูง มีความครบเครื่องทั้งความรู้ ความคิด ความรับผิดชอบ และนิสัยใจคอ
ย้อนกลับไปสัปดาห์ก่อนหน้า Andong สหายจีนสอบไล่วิทยานิพนธ์สำเร็จ รายนี้อยู่มา 6 ปี กำลังจะบินกลับเมืองจีนสัปดาห์หน้า เข้าใจว่าได้งานที่สถาบันวิจัย Marxism ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง
ผมไปนั่งให้กำลังใจ Andong สอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์มาด้วย นอกจากอยากเชียร์เพื่อนแล้ว ยังอยากไปดูเชิงการสอบไล่วิทยานิพนธ์ของสำนักหลังเขาด้วย เพื่อเตรียมขึ้นสังเวียนในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกล
การสอบจะเริ่มต้นด้วยการให้เจ้าตัวนำเสนองานที่ตัวเองนั่งทำอยู่กว่า 3 ปี ในเวลาครึ่งชั่วโมง จากนั้น คณะกรรมการทั้งสามก็ผลัดกันถามคำถามและออกความเห็นต่ออีกประมาณชั่วโมงครึ่ง โดยมากจะให้เกียรติกรรมการที่มาจากนอกคณะถามก่อนคนแรก การสอบของสหาย Andong มีเรื่องตื่นเต้นบ้าง ต้องเผชิญบทโหดเป็นระยะๆ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี บทสนุกเห็นจะเป็นตอนที่อาจารย์เถียงกันเองมากกว่า
หลังถามคำถามจนหายอยาก อาจารย์ที่ปรึกษาก็ส่งมอบกุญแจห้องทำงานให้ Andong และเพื่อนมิตรเข้าไปนั่งรอ ส่วนกรรมการปิดห้องคุยกันต่อ จากนั้นประมาณ 15-20 นาที อาจารย์ที่ปรึกษาเดินมาเปิดประตูห้องทำงาน ตรงเข้าจับมือและสวมกอดว่าที่ ดร. คนใหม่ แล้วเอ่ยปากชวน Dr.Andong และผองเพื่อนเข้าห้องไปเปิดแชมเปญฉลองร่วมกัน เรามีกัน 6 คน อาจารย์อีก 3 คน หมดเชมเปญขวดใหญ่ไป 2 ขวด รินฉลองกันด้วยถ้วยพลาสติกนี่ละ
งานเลี้ยงยังไม่เลิกรา เย็นวันเดียวกัน อาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิมเปิดบ้านทำอาหารเลี้ยงฉลอง ดร.ใหม่หมาด พวกเราก็ยกพลไปกินฟรีกันต่อ คุยกันสนุกสนานถึงดึกดื่น
จนถึงวันนี้ งานเลี้ยงก็ยังไม่เลิกรา คืนนี้ ท่าน ดร.Andong ผู้มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือเข็มกลัดประธานเหมาสีแดงสดที่อกเสื้อ จะเปิดบ้านทำบาร์บีคิวแบบเสฉวนให้พวกเราได้ลิ้มชิมรสก่อนเหินฟ้ากลับบ้าน
เจาะเวลาหาอดีตเมื่อกลางเดือนที่แล้ว Edsel เพื่อนสนิทชาวฟิลิปปินส์ร่วมรุ่นผมก็เพิ่งสอบไล่วิทยานิพนธ์ ได้ ดร. เรียบร้อยเป็นคนแรกของรุ่น โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปี เท่านั้น เจ้าตัวได้งานที่ UNDP กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา
......
ความรวดเร็วปานกามนิตหนุ่มของนาย Ed เป็นข่าวโด่งดังโจษขานทั่วสำนักหลังเขา เพราะพ่อคุณเป็นรายแรกในรอบทศวรรษหรือสองทศวรรษที่ใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี หากนับย้อนไปสัก 30 ปี คงมีเพียง 2-3 คนเท่านั้น ที่คว้าปริญญาเอกได้ฉับไวเช่นนี้
อย่างที่ผมเคยเกริ่นให้ฟัง นักเรียนเอกสำนักหลังเขา ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี กว่าจะจบปริญญาเอก โดยมากจะลงสนามสอบข้อเสนอวิทยานิพนธ์กันประมาณปีที่ 5
7 ปี อย่างสหายอินเดียถือว่าปกติธรรมดา 6 ปีอย่างทายาทประธานเหมาถือว่าขยันขันแข็งกว่าคนอื่น ยิ่งมาเจอ 4 ปีอย่างเพื่อน Ed นี่ outlier ไปเลยครับท่าน
วันก่อนผมไปกินข้าวดวดเบียร์กับเพื่อนร่วมสำนัก เลยนั่งไล่กันว่า ศิษย์ร่วมสำนักคนไหนควรรับตำแหน่ง 'พี่ใหญ่' ที่ใช้ชีวิตที่สำนักยาวนานที่สุด นับไปนับมา พวกเรายกตำแหน่งศิษย์พี่ใหญ่ให้ ท่านพี่ Tony ครับ
เอกสารประวัติศาสตร์ชี้ว่า พี่ Tony เรียนที่สำนักมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s !!!
ถึงวันนี้วิทยานิพนธ์ยังไม่แล้วเสร็จ ตอนนี้ท่านก็อยู่ที่สำนัก ถ่ายทอดวิชาให้นักเรียนปริญญาตรีที่สำนัก ควบกับตำแหน่งอาจารย์ที่ปรึกษาของเหล่าเด็กปริญญาตรี ผมเจอแกที่คณะบ่อยๆ เพิ่งรู้วันก่อนนี่เองว่า ท่านยังมีชื่อเป็นนักเรียนอยู่ นึกว่าแกจบแล้วมาสมัครเข้าทำงาน
ถัดจากพี่ Tony ก็มาพี่ Mark ครับ ผมเคยมีบุญได้เจอตัวเป็นๆ 2 ครั้ง ท่านเป็นเพื่อนร่วมออฟฟิศของคุณ Ed ผมเคยจิ๊กหนังสือ Game Theory ของแกที่วางฝุ่นจับในออฟฟิศมาใช้เรียนเทอมหนึ่ง พี่ Mark นี่อยู่มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990s ช่วงต้น แหล่งข่าวรายงานว่า พี่ท่านเปลี่ยนหัวข้อวิทยานิพนธ์มาหลายหัวข้อแล้ว จนตอนนี้อาจารย์ที่ปรึกษาเกษียณพ้นคณะไปแล้ว แต่ท่านพี่ยังเฝ้าคณะอยู่ ไม่ไปไหน
ศิษย์พี่ในตำนานมิได้มีแค่ท่านทั้งสองนะครับ แต่พวกเราจนใจจะเอ่ยชื่อ เพราะท่านเหล่านั้นหายสาบสูญไป และกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก วันดีคืนดี ปู่คณะในตำนานเหล่านี้ก็ปรากฏตัวมาให้ได้เห็นกระจ่างเป็นบุญตา
ดังเช่นกรณีคลาสสิกของศิษย์พี่ท่านหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้)
ท่านพี่รายนี้ทำวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดียวกับสหาย Ed แกได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนสำนักหลังเขามา 16 ปีแล้ว ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าพี่แกเกิดทำลูกติดขึ้นมาตั้งแต่ตอนเรียนปี 1 ตอนนี้ลูกก็โตอายุ 16 ขวบ ใกล้บรรลุนิติภาวะเต็มแก่ จะเลือกตั้งได้แล้ว พ่อยังไม่ได้ ดร. เลย
เรื่องของเรื่องคือ แกหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยเป็นเวลา 5 ปีเต็ม ไม่มีใครสักคนรู้ว่าเขายังมีชีวิตหรือไม่ อยู่อย่างไร ทำมาหาเลี้ยงชีพเช่นใด แม้กระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ได้รับการติดต่อจากเขาอีกเลย วันดีคืนดี ท่านก็มาปรากฏตัวที่คณะซะงั้น เขากลับมาแล้ว กลับมาพร้อมทำวิทยานิพนธ์ต่อแล้วครับ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันอย่างยิ่ง
พวกรุ่น 15 ปี up ผมไม่รู้จักไม่กี่คนเอง แต่รุ่น 10 ปีนี่ รู้จักหลายคนทีเดียว
ปรัชญาการเรียนการสอนในคณะผมถือว่าแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ มากทีเดียว
ที่นี่ เราเรียนสอนกันอย่างเสรี แต่ละปี สำนักผมรับนักศึกษาประมาณ 10-14 คน เมื่อรับมาแล้ว ไม่มีการคัดคนออก ถือว่าหากคณะรับคนไหนแสดงว่าคนนั้นมีศักยภาพที่จะเรียนจบได้ ไม่ได้คิดประเภทรับมากก่อนแล้วไล่ออกคัดทิ้งภายหลัง แต่ก็มีบ้างที่ไม่ชอบแล้วลาออกไปเอง ใครสอบประมวลไม่ผ่าน ก็สอบกันไปเรื่อยจนผ่าน ใครอยากอยู่นานก็อยู่ไป ไม่มีเกณฑ์ขั้นสูงว่าต้องจบภายในกี่ปี
ถ้าคณะรับใครแล้ว นักเรียนทุกคนมีสิทธิจะเข้ามาอยู่ใน pool TA (ผู้ช่วยสอน) และ TO (สอนเองทั้งคอร์ส) ทุกคน ไม่ว่าเรียนอยู่ปีไหน แก่ขนาดไหนก็ตาม เรื่องนี้ผมเคยเล่าให้บ้างแล้วในตอน
สำนักหลังเขาของผม (1) (ส่วนถ้าอยากอ่านตอนสองประกอบ ก็อ่าน
ที่นี่ )
โดยทั่วไป เมื่อนักเรียนที่สำนักเรียนจบ Coursework และสอบประมวลวิชาได้เป็น Ph.D.Candidate แล้ว ก็อาจจะอยู่ที่สำนักต่ออีกสัก 1-2 ปี โดยสอนบ้าง นั่ง sit-in วิชาอื่นที่ตนไม่เคยเรียน คุยกับอาจารย์ เขียนเปเปอร์กับอาจารย์ เมียงมองหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ ล่าอาจารย์ที่ปรึกษาไปเรื่อย แล้วจากนั้น ก็โบยบินครับ บ้างก็กลับประเทศไปทำงาน บ้างก็หางานในอเมริกาทำ เป็นอาจารย์บ้าง เป็นนักวิจัยบ้าง เป็น NGOs บ้าง เป็นบรรณาธิการบ้าง มีจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ตั้งหน้าตั้งตาทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียวให้รีบจบๆ ไป
อาจารย์ในสำนักเองก็ไม่ได้ใส่ใจว่าใครจะทำวิทยานิพนธ์ที่ไหน ไปนั่งทำที่บ้านเกิดหรือทำที่อเมริกา เวลาจะเดินทางไปมาก็ไม่ต้องคอยรายงานอาจารย์หรือ ฯพณฯ คณบดี เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด เขาให้เกียรติกัน ถือว่าโตแล้ว รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ รับผิดชอบตัวเองได้ และเข้าใจว่าชีวิตของแต่ละคนก็มีหนทางของตัวเอง เผชิญข้อจำกัดที่ต่างกัน ที่สำคัญ เขาฉลาดและโตพอที่จะแยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องงี่เง่า อะไรเป็นสารัตถะของการทำงานวิชาการ
4 ปีในสำนักหลังเขา ผมรู้สึกว่าที่นี่เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลกนี้ ที่นี่มีเสน่ห์ของมัน มีลักษณะเฉพาะตัวของชุมชน มีวัฒนธรรมวิชาการที่น่าสนใจ บรรยากาศก็เต็มไปด้วยกลิ่นไอ (สังคมนิยม+เสรีนิยม)ประชาธิปไตย ปัญหาที่ทำลายการเรียนของผมก็คือ สภาพอากาศของบ้านนอกที่โหดร้ายและแปรปรวน หากอากาศแถวนี้ดีตลอดทั้งปี ผมจะเรียนด้วยความสุขที่สุดในโลก
......
ประวัติศาสตร์สำนักหลังเขาของผมก็น่าสนใจมาก
เมื่อก่อนสำนักหลังเขาของผมก็เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์เกรดรองธรรมดาทั่วไป สอนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพิ่งมาเริ่ม 'หันซ้าย' เอาเมื่อช่วงปลายสงครามเวียดนาม ประมาณ 1973-1975 ในขณะที่บรรยากาศสีแดงร้อนระอุทั่วสังคมอเมริกา และมีความขัดแย้งทางสังคม โดยเฉพาะการต่อต้านสงคราม เลยไปจนถึงวิถีการใช้ชีวิต และตั้งคำถามต่อลัทธิเจ้าโลกของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นทั่วไป
จุดพลิกผันสู่โฉมใหม่ของสำนักอยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการ 'ยกเครื่อง' คณะเศรษฐศาสตร์เสียใหม่ให้มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากสำนักอื่น มาจบเอาที่ความต้องการปรับคณะเชิงสังคมศาสตร์ให้กลายเป็น Berkeley แห่งภาคตะวันออก ประมาณนั้น (ตอนนั้น Berkeley เอียงซ้าย อาจารย์รุ่นต่อมาของสำนักหลังเขาหลายคนก็จบจาก Berkeley)
ความต้องการด้าน Demand ดังกล่าว มาตัดกับ Supply พอดี
เพราะห้วงเวลานั้น
Samuel Bowles ถูกปฏิเสธตำแหน่งถาวรที่ Harvard University จากกระแสกีดกันฝ่ายซ้ายในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอเมริกา (โปรดอ่าน
วิบากกรรมนักเศรษฐศาสตร์นอกคอก ของปกป้องประกอบ จะพอเห็นภาพและรับรู้บรรยากาศและอารมณ์ของวงการเศรษฐศาสตร์อเมริกาในขณะนั้น)
เหตุการณ์นี้เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อาจารย์เศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายหลายคนของ Harvard University ลาออก
Bowles เป็นคน Massachusetts โดยกำเนิด เกิดในครอบครัวมีชาติตระกูล พ่อเคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศอินเดีย มีเกร็ดน่าสนใจว่า สมัย Bowles เรียนเอกที่ Harvard เขาเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับอาจารย์อัมมารของเราด้วย
หลังจากออกจาก Harvard Bowles ได้มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลังเขาโดยบังเอิญ ผมจำไม่ได้แล้วว่า เขาเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย หรือคณบดีวิทยาลัยสังคมศาสตร์ แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยหลังเขาของผมยื่นข้อเสนอให้ Bowles มาเป็น Professor ที่นี่ และสอนเศรษฐศาสตร์อย่างที่เขาอยากสอน
Bowles กลับไปนอนคิดแล้วนึกสนุก เขาเห็นว่า มาคนเดียวคงไม่สามารถสร้างคณะเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่หลากหลายได้ เลยคิดจะมากันเป็นทีม เริ่มจากไปชวน
Herbert Gintis เพื่อนสนิทซึ่งเป็นอาจารย์ที่ Harvardด้วยกัน พร้อมทั้ง Richard Edwards ศิษย์เก่า Harvard อีกคนที่เพิ่งจบปริญญาเอกมาร่วมทีมปฏิวัติ เท่านั้นยังไม่พอ เขาไปชวน
Steven Resnick และ
Richard Wolff คู่หูจาก Yale University (ซึ่งต่อมาทั้งคู่ย้ายไปสอนที่ City College of New York ช่วงหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาสำนักหลังเขา)มาเสริมทัพ รวมเป็น 5 คน (ลองเข้าไปดูลิงก์ของ Resnick กับ Wolff จะเชื่อทันทีว่า เขาเป็นคู่หูกันจริงๆ)
ทั้งห้ามาคุยกันว่าจะเริ่มต้นสร้างคณะเศรษฐศาสตร์ในฝันของพวกเขาอย่างไร คุยเสร็จ Bowles ก็ไปเจรจากับทางมหาวิทยาลัยว่า หากจะให้เขารับตำแหน่ง Professor ที่นี่ ต้องรับพรรคพวกเขาอีก 4 คนด้วยทั้งทีม แผนการของทั้งห้าคือจะร่วมกันสร้างคณะให้เป็นแหล่งวิชาเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่หลากหลาย
สุดท้ายมหาวิทยาลัยก็ตอบรับ อาจารย์หนุ่มทั้งห้าเข้ามาเป็นอาจารย์ที่สำนักหลังเขา และพลิกโฉมคณะจนวิวัฒน์มาเป็นเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ 30 ปีให้หลัง
สงครามสำคัญแรกเริ่มที่เลือดใหม่ฝ่ายซ้ายทั้งห้าต้องเผชิญก็คือ การเมืองในคณะ เกิดการงัดข้อระหว่างฝ่ายขวาเดิมกับฝ่ายซ้ายที่เข้ามาใหม่ การสู้รบกินเวลาไม่นาน ฝ่ายขวาก็ปราชัย ทางหนึ่งก็เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสนับสนุนการ 'หันซ้าย' และอีกเหตุผลสำคัญคือ พวกอาจารย์ผมทั้งหลายนี้สอนหนังสือดีมากนะครับ แม้ลีลาจะแตกต่างกัน แต่สุดยอดทั้งนั้น ทุกคนล้วนเป็นขวัญใจของนักศึกษา ตีตลาดเก่าแตกกระจุย
Bowles เป็นอาจารย์ที่ดีที่สุดที่ผมเคยเรียนด้วยที่นี่ (และดังที่สุดในสำนักหลังเขา)มาดนิ่ง ทรงภูมิ คมกริบ ไวมาก intellectual มาก ผมเคยเรียนเศรษฐศาสตร์สถาบันกับเขาก่อนที่เขาจะอำลาสำนักไปในปีต่อมา เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม ยังจำเย็นวันหนึ่ง ในห้องเรียน หลังพักขณะ Bowles กำลังจะเริ่มสอน เพื่อนคนหนึ่งวิ่งขึ้นมาบอกว่า John Rawls ตายแล้ว Bowles ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ขอเวลาออกไปทำใจนอกห้อง แล้วกลับเข้ามาสอนต่อ โดยเริ่มจากเล่าเรื่อง John Rawls ให้ฟังจากประสบการณ์ตรงของเขา
ส่วน Gintis คู่หูของ Bowles เป็นคนมีความรู้เต็มเปี่ยม originality สูงมาก ความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ เก่งโมเดล แต่ไม่มีความเป็นระบบระเบียบเท่าไหร่ แต่สอนหนังสือมัน เทคนิคเยอะ สอนสไตล์พวกอัจฉริยะที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง อยู่ในโลกส่วนตัว หลังๆ แกไปทดลองเล่นเกมกับสัตว์แล้ว สนใจอ่านพวกชีววิทยา โยงเข้ากับทฤษฎี Evolutionary Game ทางเศรษฐศาสตร์
ว่ากันว่า ตอน Gintis ประกาศเลิกเป็น Marxist แกถึงกับเอาหนังสือ Marx มาเผาทิ้งเลยทีเดียวเชียว
Wolff กับ Resnick คู่หู Marxist นี่ไม่ต้องพูดถึง ขวัญใจนักเรียนตลอดกาล ผลิตลูกศิษย์ Marxist จำนวนมาก เป็นเจ้าสำนัก Overdeterminist Marxism ที่ทั้งคู่คิดค้นขึ้นมา ว่ากันง่ายๆ ก็คือใส่วิถีคิดแบบ Post-Modernism เข้าไปในทฤษฎี Marx นักเรียนปริญญาตรีจะชอบทั้งคู่มาก เพราะสอนหนังสือสนุก ตื่นตาตื่นใจ ลีลาเป็นเลิศ พูดเก่งมีพลัง ผมเคยไปนั่งเรียนวิชาที่ Wolff กับ Resnick สอนพร้อมกัน (พร้อมกันเลยนะครับ ไม่ใช่ผลัดกันบรรยาย) เลยได้ไอเดียเอาไปปรับใช้ โดยออกแบบวิชาสอนคู่กับภาวินพร้อมกันที่สำนักท่าพระจันทร์ ต่างกันก็คือ Wolff กับ Resnick เขาเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย (ช่วยกันด่า) แต่ผมกับภาวินสอนคู่กันแบบมองซ้ายมองขวา (ด่ากันเอง)
ส่วน Rick Edwards นี่ ผมมาไม่ทันเจอ เพราะเขาลาออกไปเป็นคณบดีวิทยาลัยสังคมศาสตร์ที่ University of Kentucky ตั้งแต่ปี 1991 โน่นแล้ว
ถือว่าโชคดีที่ชีวิตในสำนักหลังเขาของผมมีโอกาสได้เจอเหล่าอาจารย์ที่ 'สร้าง' สำนักนี้ขึ้นมาด้วยมือของเขา ผมเข้ามาได้ปีหนึ่ง Bowles กับ Gintis ก็ออกจากคณะ แต่ทั้งคู่ยังเป็น Professor Emeritus มาสอนอยู่ปีละตัว ส่วน Wolff กับ Resnick แม้จะเริ่มอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังสอนด้วยความมันและกวนเหมือนเดิม
ย้อนกลับไปสู่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้ายกับขวาในคณะ เมื่อเริ่ม 'หันซ้าย' อีกครั้ง
เมื่อฝ่ายขวาเห็นท่าเพลี่ยงพล้ำกลุ่มหนุ่มซ้ายที่สดมาก เลยคิดการไปเชิญ Leonard Rapping มาจาก University of Chicago เพื่อเป็นคณบดีเพื่อคานอำนาจ สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ต้องขอเกริ่นให้ฟังว่า ถ้า UMass Amherst สำนักหลังเขาของผมอยู่ค่อนไปทางซ้ายสุด สำนักชิคาโกก็อยู่ไปทางขวาสุด คนละขั้วความคิดกันอย่างสิ้นเชิงละครับ
พวกฝ่ายขวาในคณะหารู้ไม่ว่า ระหว่างช่วงสงครามเวียดนาม Rapping ได้ 'หันซ้าย' ไปเสียแล้ว ดังนั้นเมื่อ Rapping มาถึง ก็มาเข้าพวกส่งเสริมกลุ่มฝ่ายซ้ายในคณะ และยังพา James Crotty อาจารย์หนุ่ม นักเศรษฐศาสตร์มหภาคฝ่ายซ้าย มาร่วมด้วยอีกคน Rapping เสียชีวิตไปนานแล้ว ส่วน Crotty ตอนนี้ยังสอนอยู่ที่คณะ เป็นคุณลุงใจดี ขวัญใจนักศึกษา
เหล่านี้คือตัวละครสำคัญที่สร้างสำนักหลังเขาเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้าย หนึ่งในไม่กี่แห่งของสหรัฐอเมริกา ที่มีอายุยืนยาวกว่า 30 ปี ตัวละครเหล่านี้ยังโลดแล่นอยู่ที่สำนัก ผสมผสานตัวละครใหม่ๆ ที่สมาทานความเชื่อจากสำนักคิดที่แตกต่างกันอย่างหลายหลาก เราเลยได้คณะเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจขึ้นมาประดับวงการอีกแห่งหนึ่ง
ใครสนใจดูรายชื่อและความสนใจของอาจารย์แต่ละคนในปัจจุบัน ก็ลองเข้าไปดูหน้าตาและประวัติได้
ที่นี่ ......
ลักษณะเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งของสำนักหลังเขาคือ กลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกมีบทบาทสำคัญในคณะอย่างแข็งขัน ในรูปขององค์กรนักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ (EGSO)
EGSO มีส่วนร่วมและพยายามมีส่วนร่วมในการบริหารและกำหนดทิศทางของคณะอย่างเข้มแข็ง มีอำนาจจัดสรรทุน TA กันเอง ไม่ให้อาจารย์มายุ่ง, มีตัวแทน EGSO เข้าร่วมเป็นกรรมการรับเข้าอาจารย์ใหม่ และสามารถออกเสียงโหวตเลือกผู้สมัครได้ด้วย, มีตัวแทน EGSO เป็นกรรมการรับเข้านักศึกษาปริญญาเอกใหม่, มีการประชุมร่วมกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษาในหัวข้อสำคัญ เช่น ออกแบบหลักสูตรใหม่ การออกแบบ Governance ใหม่ของคณะ ฯลฯ
ในช่วงเวลาที่ผมฝึกวิชาอยู่ที่สำนักหลังเขาจึงได้เห็น วิวาทะระหว่างอาจารย์และนักศึกษาหลายครั้ง เช่น ในการประชุมร่วมระหว่างนักศึกษาปริญญาเอกและอาจารย์ในคณะครั้งหนึ่ง คณบดีถึงกับร้องไห้กลางที่ประชุม ด้วยความสะเทือนใจ เมื่อมีการถกเถียงกันเรื่องนิยามของ 'เศรษฐศาสตร์การเมือง' ว่าครอบคลุมอะไร และวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเพศสภาพและเชื้อชาติของเธอ ถูกนักศึกษาบางคนกล่าวหาว่าไม่ใช่เศรษฐศาสตร์การเมือง
ผมได้เห็นการสู้รบระหว่างฝ่ายอาจารย์และนักศึกษาในกระบวนการรับอาจารย์ใหม่อย่างดุเดือด เพราะเสียงส่วนใหญ่ของนักศึกษาต้องการให้จ้างอาจารย์ Marxist แต่ฝ่ายอาจารย์ยืนกรานจะเลือกสายอื่น
ผมได้เห็นอาจารย์ร่วมคณะเขียนอีเมลเถียงกันอย่างมันหยดว่านิยามของ Marxist ที่ว่าคืออะไร ครอบคลุมถึงไหน และPaul Sweezy เป็น Marxist หรือไม่
ผมได้เห็นนักศึกษาเขียนอีเมลอัดกันเอง เรื่องกลยุทธการเคลื่อนไหวเรื่องการรับอาจารย์ใหม่ และการต่อสู้ในประเด็นการร่าง Governance ของคณะ
ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ ลักษณะส่วนตัว ทั้งในหมู่อาจารย์และนักศึกษา เป็นบรรยากาศเฉพาะของสำนักหลังเขาที่น่ารักอย่างยิ่ง แม้จะมีการเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ได้มีการถือเอามาเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้คนในสำนักหลังเขา แม้กระทั่งเด็กนักเรียนดูจะมีวุฒิภาวะมากกว่าเหล่าคนแก่ผู้คิดว่าตนทรงภูมิในประเทศไหแลนด์ (ศัพท์พี่บุญชิต)
4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอาจารย์อาวุโสคนใดในคณะสำรากความอาวุโสมาเป็นธงนำในการถกเถียงกับคนรุ่นเด็กกว่า, ไม่มีอาจารย์คนใดฉ้อฉลใช้อำนาจรังแกศิษย์อ่อนวัยที่ทำตัวไม่น่ารักไม่ถูกใจตน, ไม่มีการเอ่ยอ้างความไว้วางใจหรือทำตัวเป็นผู้ผูกขาดความจริงเมื่อฝ่ายรากหญ้าเรียกร้อง Governance ที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาคมมากขึ้น, ไม่มีชี้หน้าว่ากล่าวกลุ่มผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงว่าสร้างความแตกแยก และทำลายทุนสังคมของชุมชน
การแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา บนหลักการแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยและเคารพความเท่าเทียม เป็น norm ของสำนักหลังเขา ศิษย์ในสำนักจึงถูกฝึกโดยไม่รู้ตัวให้ชินชากับพฤติกรรมเหล่านี้จนเป็นวิถีชีวิตปกติ ไม่มีใครถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครถือว่าหักหน้า ไม่มีใครถือว่าไม่ไว้ใจกัน ดังที่สำนักเศรษฐศาสตร์บางสำนักรับม่ายยยด้ายยย
ผู้มีอำนาจ ทั้งทักษิณและทักษิณีน่าจะลองมาใช้ชีวิต เปิดหูเปิดตา เรียนรู้โลกกว้างที่สำนักหลังเขาดูบ้าง แล้วจะหลงรักปิ่น ปรเมศวร์ มากขึ้นเอง เพราะปิ่นจะกลายเป็นเด็กเรียบร้อย น่ารัก และติ๋มไปเลย เมื่อเทียบกับเหล่าศิษย์ร่วมสำนัก
ผมได้พบเจอเพื่อนที่น่าสนใจมากมายจากหลากหลายประเทศ ตั้งแต่เลบานอน ซาอุ เบลเยี่ยม เยอรมัน แทนซาเนีย กานา มองโกเลีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ ตุรกี ฯลฯ อยู่ที่บ้านนอกแล้วอดนึกขำในใจไม่ได้ว่า ที่สำนักท่าพระจันทร์เรียกขานผมว่าเป็นฝ่ายซ้าย แต่หากอยู่ที่สำนักหลังเขา ผมอยู่ริมขวาโน่น พวกซ้ายๆ ต้องพวก Anarchist คอมมิวนิสต์โน่น เพื่อนผมหลายคนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศเขา หลายคนเคยมีส่วนร่วมในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องสิทธิมนุษยชน บ้างก็เป็นอาจารย์ บ้างเป็น NGOs กระทั่งเป็นทหารในกองทัพอเมริกันยังมีเลยครับ คิดดูว่ารวมกันแล้วหลากหลายขนาดไหน
ไม่ต้องพูดถึงว่า การเรียนในห้องเรียนจะถกเถียงกันมันขนาดไหน เพื่อนบางคนเป็นขาโหด เรียกว่า ส่ายหัวใส่อาจารย์ อัดอาจารย์ไม่ยั้งก็มี
......
ชีวิตแต่ละช่วงในสำนักหลังเขาของผมจึงมีเรื่องมันๆ และแปลกประหลาดอยู่เรื่อยๆ
ล่าสุด เพื่อน Ed เพิ่งเล่าให้ผมฟัง
ตอนมันสอบไล่วิทยานิพนธ์เสร็จ แก้เล่มเรียบร้อย ขึ้นชั้น 10 ตึก Thompson หมายจะเอาใบปะหน้าวิทยานิพนธ์ไปให้คณบดีเซ็นชื่อเป็นอันจบสมบูรณ์
ปรากฏว่าวันนั้นคณบดีไม่เข้า (ช่วงนั้นแกขาหัก เดินลำบาก) Ed ก็แวะไปห้องข้างๆ ที่พี่ Judy เลขาของคณบดีนั่งทำงานอยู่ หมายจะฝากใบปะหน้าไว้ให้คณบดีเซ็น พี่ Judy เป็นหญิงร่างอ้วน นิสัยดีมาก จิตใจงาม รักต้นไม้ ทำงานหนัก คุยเก่งเป็นที่สุด ใครขึ้นไปหาไม่ได้ลงมาง่ายๆ ต้องคุยกับแกต่ออีกยาว พี่แกรักนักเรียนเหมือนพี่น้องร่วมสายโลหิต
เมื่อ Ed ถามหาคณบดี Judy ก็บอกว่าช่วงนี้คณบดีคงไม่ค่อยเข้ามา เพื่อนผมก็หน้าเสีย Judy ถามว่ามีอะไรให้เขาช่วย เพื่อน Ed บอกว่าเอาใบปะหน้าวิทยานิพนธ์มาให้คณบดีเซ็น เท่านั้น Judy ก็ยิ้ม แล้วบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง สบายมาก เดี๋ยวเขาไปหาปากกาหมึกซึมก่อน
เพื่อนผมชักเห็นท่าไม่ดี เธอขอใบปะหน้า เธอหยิบปากกา ใช่แล้วครับ ... เธอกำลังจะจรดปากกาแล้วครับพี่น้อง
Ed ตกใจ รีบถามว่า จะทำอะไรเนี่ย แกตอบหน้าตาเฉยว่า ก็เซ็นให้ไง (ฮา)
Ed งงเป็นไก่ตาแตก บอกว่าพูดเป็นเล่นน่า พี่ Judy ตอบทันควันว่าเซ็นมาหลายคนแล้วน้อง แล้วแกก็สอนเพื่อน Ed ของผมว่า นี่ลายเซ็นคณบดีนี่ต้องตวัดตรงปลายตรงนี้นะ สำคัญมาก เซ็นช้าๆ ไม่ต้องรีบ จะได้สวยๆ
แกฝึกเซ็นจนคล่องแล้วครับพี่น้อง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แกเซ็นแหลกมาหลายงานแล้ว คณบดีบอกไว้เอง เอกสารบางประเภท เซ็นแทนได้เลย
เป็นไงครับ รู้จักคณบดีตัวจริงของสำนักหลังเขาหรือยัง !!!
Anti-Hero มั่กๆ
ฯพณฯ ไม่ต้องทำตัวเป็นกรรมการคนที่สี่ ไม่ต้องคอยแก้ I แก้ We ไม่มียึกยัก สู้เอาเวลาไปใส่ใจงานในหน้าที่ที่สำคัญกว่าดีกว่า คณะจะได้เจริญรุ่งเรือง ไม่จมปลักดักดานใช้เวลากับงานไร้สาระ ไม่หมกมุ่นกับภาระงานสร้างความยุ่งยากโดยไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นเลิศทางวิชาการ
เพื่อนผมอีกคนก็เคยเจอ รายนี้จะให้อาจารย์ที่ควบตำแหน่ง Graduate Program Director เซ็นใบรับรองให้เร่งด่วน ปรากฏว่าอาจารย์เดินทางออกนอกเมืองพอดี อาจารย์ตอบมาทางอีเมลว่า ไม่ต้องกังวล ให้ไปหาคุณพี่ Doreen เลขาแกได้เลย เดี๋ยวจัดการให้เอง
เพื่อนผมก็ไปหาด้วยความงงว่าจะจัดการอะไรได้ ... ได้สิครับ พี่ Doreen แกเซ็นให้เลย เหมือนเด๊ะ
ผมเลยเพิ่งรู้ว่า เลขาสำนักหลังเขาแต่ละคนต้องฝึกการปลอมลายเซ็นต์เจ้านายกันไว้ทุกคน
นี่ถ้ามาทำงานที่คณะเศรษฐศาสตร์ แห่งเมืองไหแลนด์ โดนเล่นงานโทษฐานผิดระเบียบ ไม่เคารพกฎ ไม่ให้เกียรติ ทำลายทุนสังคม (หรือเปล่าวะ)ฯลฯ กันระนาว แต่ไม่รู้ทำไม ความเจริญก้าวหน้าและบรรยากาศทางวิชาการในรัฐเอกสารที่สมบูรณ์แบบอย่างสำนักไหแลนด์ถึงตกต่ำเอาๆ
อะไรกันหนอคือ สารัตถะของสถาบันวิชาการ ทำไมหนอบางคนเป็นอาจารย์มาแทบทั้งชีวิต ตำแหน่งวิชาการก็สูงๆ ยังตีความกันไม่แตกอีก
.....
จะใช้ชีวิตด้วยวัฒนธรรมของสำนักหลังเขาในเมืองไหแลนด์ได้ไหมหนอ ปิ่น ปรเมศวร์ เคยเฝ้าถามกับตัวเอง
จนปลายปีที่แล้ว เขาก็ได้คำตอบ !!!