pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Monday, April 25, 2005

อำลาดาวดวงนั้น

การตัดสินใจก้าวเดินออกจากชุมชนที่เรารักและผูกผันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องสนุก หากต้องตัดสินใจด้วยความกล้าหาญ

ยิ่งหากมีเพียงสองขาเท่านั้นที่ก้าวเดินพ้นรั้ว แต่หัวใจมิได้โบยบินตามด้วยแล้ว ความยากลำบากยิ่งเป็นทวีตรีคูณ

นี่ย่อมมิใช่การอำลาพร้อมรอยยิ้มยินดีแม้แต่น้อย

เพราะมิเพียงผู้จากลาจักร่ำอาลัยในส่วนลึก

ผู้อยู่เบื้องหลังก็ถูกทิ้งให้โศกตรมท่ามกลางสายลมแห่งชะตากรรมไม่ด้อยไปกว่ากัน

......

ผมไม่เคยเรียนกับเขา และเราไม่รู้จักกันมาก่อน

เคยได้ยินก็แต่ข่าวลือจากปากใครต่อใครว่าเขาเก่ง ... โคตรเก่ง

จนเมื่อผมเข้าทำงานในสำนักแห่งนั้น เมื่อห้าปีครึ่งที่แล้ว ... เราจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมงานกัน

เพื่อนร่วมงานมีมากมายนับร้อย เหตุใดผมถึงสนิทสนมกับเขาเป็นพิเศษ ?

ทั้งที่ดูเผินผ่าน เราทั้งสองไม่น่าจะสนิทสนมกันได้

มิใช่แค่เพราะเขาฝึกวิชาจากสำนักมิดเวย์ ซึ่งอยู่สุดขั้วความคิดกับผม อันส่งผลให้มุมมองต่อโลก โดยเฉพาะต่อโลกเศรษฐศาสตร์ของเราทั้งสองต่างกันราวฟ้ากับดิน

แต่ยังเพราะเขาเป็นสาวกของทีมนกกระเด้าลมทีมนั้น ทีมซึ่งห่างเหินจากความสำเร็จมายาวนานร่วมยี่สิบปี ขณะที่ผมเป็นสาวกทีมผีแดงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงตลอดทศวรรษหลัง (ขอสักดอกนึงก่อน)

เอาเข้าจริง เราเข้ากันได้ดีมาก และผมก็รู้สึกประทับใจเขาตั้งแต่แรกรู้จัก

ในฐานะเด็กปริญญาตรีที่พลัดหลงเข้าสู่ชุมเสือแดนสิงห์ก่อนวัยอันควร ใครเลยจะนึกว่าด็อกเตอร์หนุ่มใหม่หมาดจากสำนักมิดเวย์อันโด่งดังคับฟ้าจะใส่ใจให้ความเป็นกันเองกับผู้มาใหม่ถึงเพียงนั้น

เรากินข้าวกลางวันด้วยกันเป็นกิจวัตร แต่ไม่บ่อยนักที่เรากินข้าวเย็นและนั่งละเลียดเครื่องดื่มบางประเภทด้วยกันถึงดึกดื่น ด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่ควรเอ่ยถึง หากผมยังอยากรักษาชีวิตไว้

เราผลิตบทสนทนาร่วมกันจำนวนนับไม่ถ้วน มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ตั้งแต่เรท PG ไปจนถึง NC-17 ว่าด้วยโลกความจริงจนถึงความใฝ่ฝัน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างความสุขและสีสันในชีวิตการทำงาน

รู้จักกันได้ไม่นาน ผมสรุปได้อย่างง่ายดายว่าข่าวลือที่เคยได้ยินมาก่อนหน้าล้วนเป็นความจริง

เขาเป็นคนเก่ง ... โคตรเก่ง โคตรคม และเป็นของแท้ในวิถีและวิทยายุทธ์สายที่เขาคิดเขาเชื่อ

ผิดไปจากคนเก่งจำนวนมาก ผมไม่รู้สึกว่าเขาตัวใหญ่ หรือพยายามทำตัวให้พองโตแม้แต่น้อย

เขาเป็นคนธรรมดาโดยธรรมชาติ ไม่ถือตัว ไม่ใส่ใจหัวโขน เป็นตัวของตัวเอง รักครอบครัว รักตัวตนของเขา แม้ใครจะว่านักเศรษฐศาสตร์เป็นคนเลือดเย็น ยิ่งเพลงมวยสายเขาเลือดเย็นกว่าเพลงมวยสายผม แต่เขามีจิตใจที่มีชีวิต มีเยาวภาพ young at heart เสมอ และมีความเป็นมนุษย์สูง

แม้คนบางคนจะตั้งคำถามต่อเขาในบางมิติที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตนักวิชาการ แต่สำหรับความเป็นพ่อ และความเป็นมนุษย์แล้ว คงไม่มีใครต้องสงสัยอื่นใดอีก

เขาสนุกกับการแลกเปลี่ยนความเห็น โต้เถียง และเรียนรู้จากคนทุกรุ่นในหลายเรื่อง โดยไม่เกี่ยงอายุ ไม่เกี่ยงสถานะ ไม่เกี่ยงเพศ (แม้จะมีอคติทางเพศตรงข้ามบ้างนิดหน่อยก็ตาม - ขออีกดอก)

แต่สู้กันด้วยเหตุและผลล้วนๆ

กระนั้น การประมือกับเขาไม่ใช่เรื่องง่าย หากว่ากันด้วยเรื่องตรรกะ กำลังภายใน ความแข็งแกร่งเฉียบคมของเพลงมวย และความปราดเปรียวของเพลงดาบแล้ว ผมยกให้เขาเป็นยอดฝีมือติดอันดับเบญจภาคีของสำนักท่าพระจันทร์ ที่มียอดฝีมือร่วมร้อยคน

แม้มิใช่เรื่องง่าย แต่การปะทะสังสรรค์ทางความคิดกับเขานำมาซึ่งความสนุกเสมอ เพราะเขาเป็นคนใจกว้าง ชอบคิด ชอบฟัง ชอบถกเถียง ชอบแลกเปลี่ยน เรียกได้ว่าเป็นนักวิชาการโดยธรรมชาติและโดยสันดาน

บางคนเรียกเขาว่า นักวิชาการอารมณ์ศิลปิน เป็นนักเตะพรสวรรค์แห่งสนามวิชาการ เบสิคแน่น ลีลาพลิ้วไหว ครองบอลเชื่องเท้า จ่ายบอลงาม ยิงประตูคม โชว์สเตปให้ผู้ชมร้องซี้ดซ้าดอยู่บ่อยๆ เสียก็แต่ เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยวิ่ง ไม่ขยันซ้อม และยากจะคาดเดาไปเสียหน่อย

บางคนเรียกเขาว่า คันโตน่าแห่งแอนฟิลด์

ผมเห็นด้วย เขาเป็นศิลปินลูกหนังในสนามวิชาการ

และศิลปินลูกหนังอย่างเขามีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะทีมเยาวชนท่าพระจันทร์จำนวนมากมาย

ไล่เรียงนักเตะรุ่นใหม่ในโลกวิชาการสังกัดสำนักท่าพระจันทร์แล้ว ล้วนผ่านการบ่มเพาะจากเขาแทบทั้งสิ้น

......

ผมกับเขามีส่วนคล้ายกันไม่น้อยในบางมิติ

โดยเฉพาะความเป็นพวกขวางโลก ปากหมา ใจกบฎ ที่เขาเคยบ่นไว้ในจดหมายไฟฟ้าฉบับหนึ่งว่า สำนักเราตอนนี้มีคนแบบนี้น้อยเกินไป

แม้ลีลาท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ผมมิอาจเทียบเคียงได้ แต่ชะตากรรมที่เราได้รับคล้ายคลึงกัน จนผมเข้าใจและร่วมรับรู้ความทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่ได้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เขากับผมแลกเปลี่ยนความเห็นและโต้เถียงผ่านจดหมายไฟฟ้า ให้เป็นที่ระคายเคืองสายตาเพื่อนร่วมงานคนอื่นบ่อยครั้ง ไม่ว่าเรื่องคณะ เรื่องมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการโต้เถียงเรื่องวิชาการ และวิจารณ์บทความ

ยังความสนุกสนานครื้นเครงให้กับคนชอบเถียง ชอบเรียนรู้ อย่างเรามาก แต่น่าเสียดาย ที่ไม่ค่อยมีคนร่วมวงถกเถียงกับเราเท่าที่ควร

ผมชอบโต้แย้งกับเขา เพราะเขาชอบการโต้แย้ง ประโยคนี้ผมเลียนแบบเขา

จริงๆ ผมโต้เถียงกับเขาไม่บ่อยเท่ากับเถียงกับศิษย์รักอันดับหนึ่งของเขา

เพราะผมมักรู้สึกว่า กำลังภายในผมยังไม่แข็งแกร่งพอจะประมือกับยอดฝีมือระดับเขา เลยฝึกซ้อมแลกเปลี่ยนวิชากับลูกศิษย์รักของเขาเป็นประจำ

บรรยากาศแห่งการโต้แย้งด้วยเหตุและผลคือสิ่งที่งดงามที่สุดในโลกวิชาการ

น่าเสียดายที่นักวิชาการไทยจำนวนมากไม่เข้าใจความข้อนี้ มิหนำซ้ำ ยังชอบหลอกตัวเอง

น่าเสียดาย ที่เมื่อผมหวนกลับไปนั่งอ่านบทโต้แย้งระหว่างผมกับเขาที่ได้เก็บรวบรวมบางชิ้นไว้เป็นที่ระลึก ผมกลับพบว่า บรรยากาศอันงดงามเช่นว่าเลือนหายไปสิ้นจากสำนักแห่งนั้นในปัจจุบัน

ไม่เพียงเขาที่เปลี่ยนไปในวันนี้ ผมพบว่า ผมเองก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน

จากเด็กหนุ่มที่มองโลกในแง่ดี มีพลังความหวัง กลายเป็นคนเข้าใจและเริ่มยอมรับโลกที่โหดร้าย ขณะที่ความหวังความฝันถูกบั่นทอนทำลายไปมาก ในหนึ่งปีที่ผ่านมา

โลกวิชาการ เอาเข้าจริง ก็มิได้สูงส่งอะไรนัก ไม่แตกต่างจากสังคมที่เราพบเห็นทั่วไป ตำแหน่งวิชาการสูงๆมิใช่เครื่องการันตีความเป็นนักวิชาการแท้ที่เปี่ยมด้วยวัฒนธรรมวิชาการในสายเลือดและหัวใจ

ขวบปีที่ผ่านมา ณ สำนักแห่งนั้น เสียงเซ็งแซ่แห่งการโต้เถียงและตั้งคำถามค่อยๆเงียบหายไป

มีแต่เสียงแห่งความเงียบเข้ามาแทนที่

เมื่ออำนาจคุกคามเสียงเซ็งแซ่ ที่แม้ฟังดูหนวกหู แต่สร้างชีวิตชีวาให้กับชุมชน

คนชอบส่งเสียงดัง ส่งเสียงที่ผู้มีอำนาจไม่อยากได้ยิน ชอบโวกเวกโวยวาย ทำตัวไม่น่ารักเรียบร้อยอย่างเรา ก็สิ้นความสุข

เมื่อความทุกข์ในใจเลยพ้นจุดหนึ่ง การโหวตด้วยส้นตีนอาจเป็นทางออกสุดท้าย

นั่นคือ การเดินจากไป

......

เมื่อแรกที่รู้ข่าวว่าเขาตัดสินใจเดินจากไป หลังสิ้นความตกใจ ทุกคนที่รักเขาต่างพยายามฉุดรั้ง แต่ไม่สำเร็จ

ผมเชื่อมั่นว่า แม้จะกลัดแน่นด้วยความทุกข์ในใจ แต่หัวใจของเขาก็ยังอยู่ที่นี่ แม้ตัวจะจากไป

ผมกล้ารับประกันว่า เขารักและหวังดีกับสำนักแห่งนี้เสมอมา

แต่เมื่อนักเศรษฐศาสตร์สำนักมิดเวย์ตัดสินใจเลือกสิ่งใด นั่นแสดงว่า เขาได้ไตร่ตรองมันด้วยเหตุด้วยผลแบบ rational man ที่คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ครบถ้วนแล้ว และนั่นคงเป็นทางที่เขาคิดว่าดีที่สุดขณะนี้ ภายใต้ข้อจำกัดที่เขาเผชิญ

เมื่อเพื่อนเลือกแล้ว เราก็ทำได้แค่เป็นกำลังใจ และร่วมอวยพร

อวยพรให้เขาสนุกกับชีวิตใหม่ และผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก with flying colours

ร่วมตั้งความหวังว่า ในอนาคตข้อจำกัดที่เขาเผชิญจะเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้ rational man อย่างเขา เลือกทางเลือกใหม่ โดยหวนคืนสู่บ้านเก่า

ผมเชื่อมั่นว่า พลังอุลตร้าคงช่วยปกปักษ์รักษาเขา เมื่อรวมกับท่าไม้ตายไรเดอร์คิกของเขา คงรับมือชีวิตใหม่ภายภาคหน้าได้อย่างไม่ลำบากยากเย็น

แล้วเมื่อถึงวันนั้น เมื่อวันเวลาแห่งความสุขมาถึง เมื่อท้องฟ้าเปิดกว้างส่องสว่าง เราคงมีโอกาสได้กลับมาร่วมสนุกกันอีกครั้ง

......

30 เมษายนนี้ ดาวดวงหนึ่งกำลังจะหายลับไปจากฟากฟ้าแถบท่าพระจันทร์

แม้ดาวดวงหนึ่งลาลับไป ฟ้าจะยังคงเป็นฟ้า

... แต่ฟ้าผืนนั้น ก็ไม่มีวันเหมือนเดิม

Saturday, April 23, 2005

นักวิชาการในฝัน (4) : ขอคุยกับคุณปริเยศหน่อย

หมายเหตุก่อนอ่าน

โปรดอ่านสามตอนแรกก่อนนะครับ

นักวิชาการในฝัน (1):กรอบความคิด
นักวิชาการในฝัน (2):มุมมองของปลาในน้ำ
นักวิชาการในฝัน (3):ฝันของผม

.........................


ตั้งชื่อตอนเลียนแบบลุงไมค์ ไมเคิล ไรท์ แห่งมติชนเขาน่ะครับ เห็นขอคุยกับใครๆไปทั่ว

จริงๆ ก็อยากถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น เรื่องบทบาทนักวิชาการกับคุณปริเยศมานาน ตั้งแต่ครั้งแวะเวียนโพสต์ความเห็นในเวปผู้จัดการรายวัน โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใต้บทความอาจารย์รังสรรค์

คุณปริเยศเป็นคนเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย ดุจเดียวกับคุณชูวิทย์ตั้งใจขุดคุ้ยตำรวจ (ฮา)

จนกระทั่ง คุณ BF เขียน blog เรื่อง Blog ของ Professors ผมได้เข้าไปอ่าน เห็นคุณปริเยศโพสต์ความเห็นอย่างเอาการเอางาน (เช่นเคย)

อ่านแล้ว คนชอบเถียงอย่างผม คันมือคันไม้มาก อยากร่วมวง แต่พอเห็นคุณปริเยศภาคไม่ไว้หน้าใครแล้ว กลัวเหลือเกิน เพราะหมัดหนักมาก คิดว่าผลีผลามเข้าไปร่วมวง คงยังไม่เหมาะ เพราะควรจะคุยกันยาวๆ ค่อยๆไล่เรียงลำดับความคิด รออารมณ์ดีๆ จะดีกว่า เพราะต่างคนต่างหวังดีกับวงวิชาการทั้งคู่ แม้จะมีความคิดระหว่างทางแตกต่างกันบ้าง น่าจะสร้างบรรยากาศถกเถียงกันฉันท์มิตรมากกว่า คุยกันสั้นๆ โดยที่ไม่รู้จักกันมาก บางครั้งจะตัดสินอีกฝ่ายเอาอย่างไม่เป็นธรรม

ไม่นาน คุณปริเยศแวะเข้ามา blog ผม ผมเข้าไปอ่าน blog คุณปริเยศ สักพักเลยเกิดความรู้สึกว่านิสัยใจคอจริงๆคงใกล้เคียงกัน คุณปริเยศแถวนี้ก็ไม่ได้ดุเดือดเลือดพล่านนัก น่าจะลองคุยกันยาวๆ ในบรรยากาศดีๆ เสียหน่อย ผมเลยเขียนซีรี่ย์นักวิชาการในฝันขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เขียนให้คุณปริเยศอ่านนั่นแหละ

ถ้าคุณปริเยศอ่านระหว่างบรรทัด คงเข้าใจว่า ผมก็ได้แสดงความเห็นแย้งความคิดหลายส่วนของคุณไปแล้วในบทความสามตอนก่อน จะมีก็แต่ประเด็นเก็บตกเล็กน้อย และอยากสรุปความอีกนิดหน่อย

......

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด นักวิชาการในฝันของคุณปริเยศคือ คนที่มุ่งทำงานวิชาการตามมาตรฐานสากลอย่างจริงจัง ผลิตองค์ความรู้ใหม่ สร้างภูมิปัญญาบริสุทธิ์ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

เกณฑ์ที่คุณปริเยศให้ความสำคัญในฐานะเครื่องตัดสินความสำเร็จของภารกิจดังกล่าวก็คือ นักวิชาการไทยควรมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ที่มีมาตรฐานระดับสากล และนักวิชาการไทยควรมีตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเอง

ผมไม่เถียงครับ

เห็นด้วยว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยควรต้องใส่ใจกับการผลิตงานวิชาการ เป็นเรื่องที่ควรทำ อนาคตควรไปให้ถึงตำแหน่งศาสตราจารย์

แต่ถ้าอ่านบทความของผมสามชิ้นก่อน ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า

หนึ่ง มันมีภารกิจอื่นๆ ที่นักวิชาการควรทำหรือถูกคาดหวังให้ทำเช่นกัน และภารกิจเหล่านี้ก็มิได้ด้อยค่าจนน่าดูถูก เมื่อเทียบกับการครองตนอยู่บนหอคอยงาช้างผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์

และ สอง ความสำเร็จของนักวิชาการในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจบนหอคอยงาช้าง ขึ้นอยู่กับสภาพของ 'โลก' ที่เขาอยู่ ถูกหล่อหลอม และได้รับอิทธิพลจากมัน นักวิชาการแยกออกจากโลกไม่ได้ 'โลก' ที่ว่าหมายถึงโลกรอบตัว เช่น สภาพสังคม สถาบันในสังคม และโลกภายใน เช่น ประสบการณ์ วิธีคิด อุดมการณ์ ส่วนตัว

ผมอ่านความเห็นของคุณปริเยศหลายครั้ง คิดว่าความคิดที่คำนึงถึงสองประเด็นข้างต้นพร่องไปเสียหน่อย คุณปริเยศมักมองนักวิชาการไทยอยู่นอกโลกเหนือสังคม และคาดหวังนักวิชาการในระดับสูงเหนือมาตรฐานคนทั่วไป (ซึ่งก็ไม่ได้ว่าผิดนะครับ)

ที่สำคัญ บ่อยครั้ง คุณปริเยศออกจะดูถูกภารกิจด้านอื่นที่นอกเหนือจากการหน้าที่บนหอคอยงาช้างของนักวิชาการมากไปเสียหน่อย เช่น เขียนหนังสือที่เป็นความรู้พื้นฐานอ่านง่ายๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ฯลฯ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ ผมไม่ถือว่าทุเรศหรือน่าอาย หลายคนที่ทำก็ไม่ใช่เพราะมีปัญญาทำได้แค่นี้ แต่เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ส่วนตัวบางอย่างมากกว่า

ถึงตรงนี้แล้ว ผมคิดว่าคุณปริเยศคงเข้าใจแล้วว่าผมคิดอย่างไรในประเด็นเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าผมเข้าใจถูกกว่าคุณปริเยศนะครับ

ที่ผมอยากคุยกับคุณปริเยศเพราะ สมัยก่อน ผมก็คิดคล้ายๆกับคุณ ตั้งมาตรฐานของนักวิชาการไว้ในระดับสูงและคล้ายกัน แต่เมื่อเข้าสู่โลกวิชาการแล้ว ก็พอเข้าใจข้อจำกัดหลายอย่างมากขึ้น (แต่คนละอย่างกับต้องยอมรับมันนะครับ จริงๆที่ผมเขียนตอนก่อนๆก็ไม่ได้แปลว่าอย่าไปหวังอะไรมาก แต่อยากให้ประเมินสถานการณ์แบบรอบด้าน พยายามเข้าใจปัจจัยรอบตัว ข้อเท็จจริง ด้วยต่างหาก) นั่นประการหนึ่ง แต่อีกประการหนึ่งก็คือ เลิกยึดติด 'ขนบ' หลายอย่าง ที่ตนเคยใช้ตัดสินคุณค่าของความเป็นนักวิชาการที่เก่งและดี

อันหลังนี่ต่างจากอันแรกนะครับ

ผมชักไม่แน่ใจว่า 'ขนบ' ที่เรามักใช้ตัดสินคุณค่าความเป็นนักวิชาการในฝันแบบที่คุณปริเยศใช้ มันมีคุณค่าเพียงใด ภายใต้สภาพสังคมและคุณภาพของสถาบันเช่นที่เป็นอยู่

ถ้าใช้ภาษาแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็คือ กำหนดให้สถาบันของสังคมคงที่ ถูกกำหนดระดับคุณภาพมาแล้วอย่างนี้ นักวิชาการจะ optimize ตัวเองอย่างไร ให้ความสนใจกับภารกิจ x เท่าไหร่ y เท่าไหร่ดี ภายใต้เวลาและทรัพยากรที่จำกัด เพื่อให้สังคม(สำหรับบางคน - ตัวเอง)ได้ประโยชน์สูงสุด

ไม่แน่ใจว่า การอยู่บนหอคอยงาช้าง มัน maximize objective function given set of institutions และ constraints อื่นๆ ของผมได้หรือเปล่า

หมายถึงของผมคนเดียวนะครับ เพราะนักวิชาการแต่ละคน ก็มี objective function ต่างกัน ให้คุณค่า institutions ต่างกัน มี constraints ต่างกัน ให้คุณค่ากับ private interests และ public interests ต่างกัน

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ในความเป็นจริง สถาบันมันไม่ได้อยู่คงที่ แต่ภารกิจ x, y, z, ... ที่นักวิชาการทำ ส่งผลให้สถาบันเกิดการวิวัฒน์ในรอบต่อไปอีกด้วย เช่น การทุ่มเททำภารกิจ x ในวันนี้ อาจทำให้ในวันหน้าทำภารกิจ y ได้มากขึ้น เพราะสถาบันพัฒนาไปในทางที่ส่งเสริม y ในอนาคต

เราอาจแทนค่า x ด้วย ภารกิจเพื่อสังคม เช่น เพิ่มความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางวิชาการ พัฒนาวัฒนธรรมบางอย่าง แล้วแทนค่า y ด้วย ภารกิจทางวิชาการ เช่น ผลิตงานเขียนเชิงวิชาการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้แปลว่า ผมคิดว่า นักวิชาการไม่ต้องผลิตงานวิชาการนะครับ หรือต้องรอให้ฟ้าเปิด มีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ถูกต้องเหมาะสมก่อนค่อยทำ แต่ผมเห็นว่า นั่นเป็นภารกิจที่ต้องทำ แต่นั่นมิใช่ภารกิจเดียวที่เราจะใช้ชี้หน้าตัดสินนักวิชาการคนหนึ่งว่า ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

ที่ผมเขียนบทความสามตอนก่อน อาจดูเหมือนว่าผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ผลิตองค์ความรู้บนหอคอยงาช้าง ไม่ใช่นะครับ ยิ่งถ้าคุณต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้ความรู้ คุณยิ่งต้องทำงานวิชาการ ถ้าคุณต้องการสอนหนังสือให้ดี คุณยิ่งต้องผลิตงานวิชาการ แต่ผมอาจจะไฮไลท์ภารกิจส่วนอื่นมากหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนที่หมกมุ่นอยู่แต่ภารกิจบนหอคอยงาช้างได้มองเห็นโลกอีกด้านหนึ่งบ้าง และเห็นเหตุผลของคนที่ให้ความสำคัญกับภารกิจในโลกอีกด้านหนึ่งด้วยว่าเขาคิดอย่างไร เพราะอะไร

ว่ามันไม่ใช่เพราะความหลงผิด หรือเพราะผลประโยชน์ หรือเพราะความโง่ หรือเพราะความขี้เกียจ ของนักวิชาการที่สนใจภารกิจที่คุณปริเยศไม่ให้คุณค่าเท่าการผลิตงานวิชาการ แต่มันมีเรื่องราวและเหตุผลของมันเช่นกัน และงานเหล่านั้นก็มีคุณค่าในตัวเองเช่นกัน

ผมพยายามยกตัวอย่างมากมาย รวมทั้งประสบการณ์ส่วนตัว ให้คุณปริเยศลองนั่งคิดจริงๆ จังๆ (หรือเล่นๆ ก็ได้) เผื่อจะเกิดการสังเคราะห์ได้อะไรใหม่ๆ

เหมือนเพลงเฉลียงอ่ะครับ

โลกวิชาการยังมีอื่นๆ อีกมากมาย

'อื่นๆอีกมากมาย ที่ไม่รู้ อาจจะจริง เราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ ที่ยังไม่เห็น'

......


ผมเห็นด้วยว่านักวิชาการต้องผลิตงานวิชาการ

แต่คำถามต่อมาก็คือ คำถามที่ผมตั้งไว้แล้วใน blog เมื่อวาน ว่าแล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินคุณค่างานวิชาการ หรืองานวิชาการที่ดีจะนิยามมันอย่างไร นี่ก็อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ยิ่งถ้าเราคิดพ้นไปจาก 'ขนบ' เดิม ที่ครอบวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อยู่ เราจะคิดต่อไปได้อีกมาก และเถียงกันต่อได้อีกมาก

รวมถึงคำว่า 'มาตรฐานที่เป็นสากล' ซึ่งเอาเข้าจริง ความเป็นสากลและระดับคุณค่าเป็นคนละเรื่องกัน หรือกระทั่งข้อจำกัดของภาษา ว่างานที่เป็นที่ยอมรับต้องเป็นภาษาอังกฤษ ที่นานาชาติเข้าถึงได้ ถึงที่สุด ภาษาไม่ได้เป็นตัววัดความเป็นของแท้ของนักวิชาการหรืองานวิชาการ แต่อยู่ที่เนื้อหา วิธีคิด โดยเฉพาะมุมมองต่อโลกมากกว่า

ผมก็อ่านบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำที่เป็นที่ยอมรับสูงในระดับสากลมาไม่น้อย งานหลายชิ้นก็ไม่ได้ช่วยให้เราปิ๊งหรือรู้สึกฉลาดขึ้นมากเท่ากับงานที่คมคายแต่แลดูไม่ซับซ้อนเท่า งานตามหน้าหนังสือพิมพ์ งานของนักวิชาการไทยบางคน กระทั่ง งานวรรณกรรม หรือการได้คุยกับสามัญชนธรรมดา

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ นั่งเขียนงาน และตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ แล้วนั่นคือจุดหมายปลายทางของมัน

ตีพิมพ์แล้วไง? คุณค่าของงานวิชาการไม่ได้อยู่ที่การตีพิมพ์แล้วเราสบายใจมีความสุข แต่งานต้องมีคุณค่าในตัวของมัน ไม่ว่าจะส่งไปตีพิมพ์ หรือได้ตีพิมพ์หรือไม่ หรือเขียนภาษาอะไร แน่นอนว่า การได้ตีพิมพ์ผลงานก็เป็นเรื่องดี เพราะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร พอเราอ่านวารสารชั้นนำเหล่านั้นก็มีโอกาสสูงกว่าที่จะได้อ่านงานที่มีคุณค่า ดีกว่าไปงมเข็มในมหาสมุทร

แต่สำหรับผม มันยังไม่จบแค่นั้น เพราะนั่นก็เป็นเพียงเกณฑ์หยาบๆอันหนึ่ง เหมือนที่บริษัทเลือกรับนักศึกษาจบจุฬา ธรรมศาสตร์ เลือกรับคนได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้ทั้งผมและคุณปริเยศคงเห็นเหมือนกันว่า นั่นไม่ได้เป็นตัวตัดสินความเป็นคนหรือเครื่องวัดความสามารถ ความดี ความเก่งของนักศึกษาคนนั้นๆ การพิสูจน์ความเป็นของแท้ของนักวิชาการก็เช่นเดียวกัน เราต้องมองข้ามพ้นไปจากเปลือกนอกเหล่านั้น

ตำแหน่งศาสตราจารย์ก็เช่นเดียวกัน

ตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้มีที่ทางตั้งอยู่ลอยๆ แต่อยู่ภายใต้ 'สถาบัน' และ 'ขนบ' บางอย่างในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย คือนักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นศาสตราจารย์น้อยเพราะโง่กว่านักนิติศาสตร์ที่มีศาสตราจารย์กันมากมาย แต่ตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งที่อำนาจในการอนุมัติอยู่ที่กระทรวงส่วนกลาง ซึ่งต่างจากเมืองนอกที่กระจายอำนาจให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีอำนาจอนุมัติเอง ซึ่งในเมืองไทย ระบบแบบนี้คล้ายๆกับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ที่คณะกรรมการมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอนุมัติกันเอง

ที่สำคัญ เกณฑ์การตัดสินตำแหน่งศาสตราจารย์มีการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินสูง ไม่มีกฎกติกาลายลักษณ์อักษรชัดเจน ผู้ประเมินต้องเป็นศาสตราจารย์ด้วยกันเอง ยิ่งสาขาไหน ศาสตราจารย์มีน้อย และได้มาด้วยความยากลำบาก ความรู้สึกเป็น Exclusive club (Professor club) ยิ่งสูง คงพอเดาได้ว่าผลจะเป็นทิศทางไหน ธรรมชาติของการเป็น Exclusive club มีแนวโน้มที่จะสร้าง Barrier to entry โดยตัวของมันอยู่แล้ว

การได้ตำแหน่งศาสตราจารย์มันก็มีการเมืองในตัวของมัน มีวิถีต่างกันในสาขาวิชาต่างๆ มีเรื่องเล่าลับๆมากมายเกี่ยวกับการได้และไม่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์

มาถึงคำวิจารณ์ของคุณปริเยศ ที่เทียบเคียงวงวิชาการเศรษฐศาสตร์กับวิทยาศาสตร์

ผมไม่มีความรู้เลยแม้แต่น้อย เลยไม่กล้าทึกทักสรุปเอาเอง ว่าแนวรบด้านนั้นสถานการณ์เป็นเช่นไร เอาเข้าจริงอาจไม่แตกต่างกันมากก็ได้

แต่ผมคิดว่าธรรมชาติของตัววิชาที่เป็น pure หรือ natural science กับ social science (หรือ study อาจจะถูกกว่า)มันต่างกัน ตั้งแต่วิธีการตั้งคำถาม วิธีการตอบคำถาม วิธีทำงาน ความยากง่ายในการเข้าถึง 'ความจริง' ตามขนบของวิชาการสายตน ความสามารถในการลดรูปความจริงเพื่อศึกษาอธิบายความจริงโดยที่คำอธิบายที่ได้ไม่เบลอจนเกินไป การถูกหล่อหลอมจากธรรมชาติของการเรียนวิชานั้นๆ เกณฑ์การทำงาน ระบบการตัดสินคุณค่า ซึ่งเรื่องพวกนี้โยงไปถึงความสัมพันธ์ของตัววิชาการกับสังคม ในระดับ รูปแบบ และการถูกคาดหวัง ในทางที่แตกต่างจากนักสังคมศาสตร์

ถ้าอ่านงานเขียนจริงๆจังๆของผม คงเห็นว่า ผมตั้งคำถามกับทิศทางของพัฒนาการเศรษฐศาสตร์ในแนวทางแบบที่เป็นอยู่มากพอสมควร ว่าต้นทุนมันสูงทีเดียว และทำให้เราสูญเสียความเป็นสังคมศาสตร์ แต่กลายเป็นนักเทคนิคที่สังคมตรวจสอบและร่วมเรียนรู้ได้ยากขึ้น

เอาเข้าจริง นักสังคมศาสตร์ก็ยังถกเถียงเรื่องระเบียบวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ในสายสังคมศาสตร์กันอยู่ไม่รู้จบ

ดังนั้นจะบอกว่า คุณภาพนักวิชาการไทยห่วยเพราะด้อยสามารถด้านคณิตศาสตร์ก็คงสรุปไม่ได้ เพราะมันมีวิถีทางเข้าถึงความจริงหลายทาง และงานวิชาการแบบเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นมรรคที่ดีที่สุดในการเข้าถึงความจริง ความเป็นสากลหรือเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นตัวกำหนดมาตรฐานไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณค่าที่แท้จริงของอะไรทั้งนั้น (เหมือนคนไทย 11 ล้านคน เลือกไทยรักไทย)

คำถามที่สนุกกว่าคือ ทำไมความคิดหนึ่งถึงกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ครอบโลกได้ ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขใด เพราะอุดมการณ์ใด แล้วมันมี implication อะไร นำเราไปสู่อะไร

......

ใครเคยเยี่ยมเยียนห้องทำงานของผมที่สำนักท่าพระจันทร์คงเคยเห็นรูปการ์ตูนสี่ช่อง ที่ติดหราอยู่หน้าประตูห้อง

ผมตัดมาจากหนังสือแบบเรียนกึ่งสำเร็จรูปของคุณเรณู ปัญญาดี ของสำนักพิมพ์มติชน

ขอเล่าจากความทรงจำนะครับ เพราะไม่ได้หยิบมาบ้านนอกด้วย(ของจริง เจ๋งกว่าที่ผมจะเขียนต่อจากนี้มาก)

ถ้าจำไม่ผิดชื่อการ์ตูนหน้านี้จะชื่อ นักวิชาไทยในฝัน ทำนองนี้แหละ

คนสี่คู่คุยกัน

ช่องแรก

"ผมอยากทำงานบนหอคอยงาช้าง ผลิตองค์ความรู้บริสุทธิ์ คิดค้นทฤษฎีใหม่"

"นั่นเขาเรียกว่า ชักว่าวทางปัญญา"

ช่องที่สอง

"ผมอยากนำความรู้ที่มีไปรับใช้เปลี่ยนแปลงสังคม เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ"

"นั่นเขาเรียกว่า กะหรี่ทางวิชาการ"

ช่องที่สาม

"ผมอยากให้ความรู้พื้นฐานกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเข้าถึงความรู้ได้ง่ายๆ"

"นั่นเขาเรียกว่า หมอนวดทางปัญญา"

ช่องที่สี่

"ผมอยากนำความรู้ไปรับใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคม"

"นั่นเขาเรียกว่า หมอนวดทางปัญญาแผนโบราณ"


นักวิชาการนั่งสำเร็จความใคร่ทางปัญญาอยู่คนเดียวไม่สนุกหรอกครับ มีความสุขอยู่คนเดียว

มาร่วมรักสมัครสมานกับสังคมแบบคู่รักดีกว่า

ทำอย่างไรให้ถึงพร้อมกันทั้งคู่ ไม่ใช่นักวิชาการชิงถึงสวรรค์อยู่ฝ่ายเดียว

เสือ ภ.(นามสมมติ) คงแนะนำว่า ต้องผ่านประสบการณ์จากทั้งสี่แบบข้างบนให้ช่ำชองก่อนไง

ลองคิดดูนะครับ

Friday, April 22, 2005

เปเปอร์ลวงโลก

เมื่อวานได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ว่าที่นักเรียน Oxford อนาคตนักวิชาการในฝันของวงการเศรษฐศาสตร์เมืองไทย

เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า มีกลุ่มนักเรียนปริญญาเอกคอมพิวเตอร์สังกัด MIT 3 คน สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเขียนบทความวิชาการขึ้นมา โปรแกรมมีชื่อว่า SCIgen - An Automatic CS Paper Generator

แค่เราพิมพ์ชื่อตัวเองใส่ช่องว่าง แล้วกด generate โปรแกรมจะสุ่มสร้างประโยค เลือกคำศัพท์วิชาการสวยหรูภูมิฐาน สร้างเปเปอร์ปลอมๆ ประทับชื่อเรา ภายใต้รูปแบบอลังการเหมือนบทความวิชาการอาชีพขึ้นมาทันที

ง่ายแค่ปลายนิ้ว

เข้าไปลองสร้างบทความวิชาการของตัวเอง กันได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

http://pdos.csail.mit.edu/scigen/

มหัศจรรย์ เหมือนจริง เหลือเชื่อ ดีไหมครับ

โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้จะสุ่มเลือกประโยคจากบทความวิชาการ แล้วทิ้งช่องว่างเพื่อเติมศัพท์เฉพาะทางวิชาการเข้าไประหว่างกระบวนการตีพิมพ์ แถมยังมีกราฟ รูปภาพ ที่ดูทรงภูมิปัญญาเสียด้วย แน่นอนว่า เนื้อหาของบทความล้วนเป็นเรื่องลวงโลก ไร้ใจความ ไม่มีความหมายใดๆ

มีแต่เปลือกนอกที่ดูดี เป็นวิชาการ ดูเผินผ่านแล้วเข้าใจยาก เท่านั้น

เรื่องราวยังไม่จบแค่นี้ครับ

คุณ Jeremy Stribling, Max Krohn และ Dan Aguayo แห่ง MIT ใช้โปรแกรม SCIgen ที่ว่าเขียนบทความวิชาการขึ้นมั่วๆ แล้วแกล้งลองส่งไปงานประชุมเชิงวิชาการของจริง ที่เปิดรับผลงานวิชาการ ให้ผู้เขียนมานำเสนอบทความ มีผู้วิจารณ์ และจะตีพิมพ์ผลงานภายหลัง

ปรากฎว่า 9th World Multi-Conference on Systemics, Cybernetics and Informatics(WMSCI)ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่ Florida, US ในเดือนกรกฎาคมนี้ ตอบรับหนึ่งในสองบทความลวงโลกเข้าสู่งานสัมมนาครับ

กลายเป็นโจ๊กระดับโลกของวงการวิชาการไปทันที

บทความวิชาก๊านวิชาการของทั้งสามที่ได้รับการตอบรับชื่อ "Rooter: A Methodology for the Typical Unification of Access Points and Redundancy."

มีเนื้อหาขึ้นต้นบทความว่า "Many scholars would agree that, had it not been for active networks, the simulation of Lamport clocks might never have occurred."

มีเนื้อความอย่าง "...the model for our heuristic consists of four independent components: simulated annealing, active networks, flexible modalities, and the study of reinforcement learning..." หรือ "...We implemented our scatter/gather I/O server in Simula-67, augmented with opportunistically pipelined extensions."

ทั้งชื่อ ทั้งเนื้อหาของบทความ ล้วนแต่ประกอบด้วยศัพท์แสงและสำนวน ที่โปรแกรมสุ่มเลือกมาประกอบกันเป็นเนื้อหามั่วๆ ทั้งสิ้น

โอวว์ ..พระเจ้า..จอร์ช.. มันยอดมากกกกก ...

ทั้งสามคนบอกว่า ทำเอาสนุก เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า งานสัมมนาเชิงวิชาการที่มุ่งแต่จะหาเงินอย่างเดียวมีอยู่จริง โดยไม่ได้มีการประเมินคุณภาพบทความที่นำเสนอแม้แต่น้อย

เขาส่งบทความลวงโลก เพื่อฉีกหน้ากากเวทีวิชาการลวงโลก

......

แต่อีกด้านหนึ่ง นอกจากเรื่องเล่านี้จะตีแผ่ความไร้คุณภาพของเวทีสัมมนาแล้ว ยังเปลือยช่องว่างระหว่างงานวิชาการกับสังคมนอกโลกวิชาการ ซึ่งนับวันจะถ่างออกไปเรื่อยๆ อีกด้วย

ปรากฏการณ์ตอบรับเปเปอร์ลวงโลกสะท้อนให้เห็นความยึดติดใน 'รูปแบบ' และ 'ขนบ' ในวงวิชาการ ซึ่งเป็นเปลือกนอกที่ไม่ได้ชี้วัดคุณภาพของงานวิชาการ หากเป็น 'ขนบ' ที่ตัดสินคุณค่างานวิชาการด้วยหน้าตา ศัพท์แสง รูปแบบ แทนที่จะเป็นเนื้อหาสาระ วิธีคิด หรือประสิทธิภาพในการสื่อสาร

พูดถึงประเด็นนี้แล้วนึกถึง เหตุผลที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไม่ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ เพราะผู้ประเมินให้เหตุผลว่า ท่านเขียนงานไม่มีเชิงอรรถ (ไม่มีเชิงอรรถ = ไม่ใช่งานวิชาการ !!!)หรือ หลายคนวิจารณ์อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในช่วงหลังว่าไม่ค่อยเขียนงานวิชาการ เอาแต่เขียนลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร(บทความหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร = ไม่ใช่งานวิชาการ !!!)

น่าคิดนะครับว่า นิยามของงานวิชาการคืออะไร? ตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยเหตุใด คำนิยามกระแสหลักของงานวิชาการจึงมีความหมายและที่ทางเป็นเช่นทุกวันนี้ ? และคำนิยามของงานวิชาการในทิศทางนี้ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคม แม้แต่ต่อวงวิชาการเอง ?

ใช่ครับ, ผมไม่เชื่อว่าเกณฑ์การตัดสินคุณค่าของงานวิชาการเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่กาลอดีต อยากรู้ว่า ก่อนที่ 'วิชาการ' จะกลายเป็น 'อาชีพ' หรือก่อนเกิดอาชีพ 'นักวิชาการ' นั้น เกณฑ์การตัดสินคุณค่าของงานวิชาการเป็นอย่างไร ?

เมื่อก่อน 'วิชาการ' มีความเป็นสินค้าสาธารณะกว่านี้หรือไม่ ? และเมื่อเกิด 'นักวิชาการ' ที่ต้องใช้ 'วิชาการ' เป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพแล้ว 'วิชาการ' มีระดับความเป็นสมบัติส่วนตัวหรือสินค้าสโมสรของเหล่านักวิชาการมากขึ้น ขณะที่มีความเป็นสมบัติสาธารณะลดลง อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ อย่างไร ?

มันมีกระบวนการที่พยายามทำให้งานวิชาการแลดูสูงส่งหรือไม่ เพื่ออะไร เพื่อรับใช้ใคร ? หรือมันเป็นไปเองโดยธรรมชาติ เมื่อมีพัฒนาการขององค์ความรู้ ? แล้วมันต้องสูงส่งขนาดไหน ถึงจะคู่ควรที่จะถูกเรียกว่างานวิชาการ ? ควรใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของงานวิชาการที่ดี ?

เราคงเคยได้ยินคำเหน็บแนมของหลายคนว่า งานวิชาการที่ขลัง เปี่ยมคุณค่า ชาวบ้านต้องอ่านไม่รู้เรื่อง ต้องเต็มไปด้วยศัพท์แสงทางเทคนิค มีเนื้อหารูปแบบตาม 'ขนบ' ที่แลดูวิชาการ เข้าใจกันเฉพาะใน Exclusive club วงแคบๆ เท่านั้นก็พอ

หากเข้าไม่ถึง อ่านไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ใช่ความผิดของคนเขียน แต่เป็นปัญหาด้านระดับสติปัญญาของคนอ่านต่างหาก

อ่านบทความห่วยๆ ไร้คุณค่า แต่แลดูขลัง บางชิ้นไม่รู้เรื่อง เลยพาลดูถูกว่าตัวเองโง่ ถือโทษเป็นความผิดของตัวเองเอาง่ายๆ เสียอย่างนั้น

ลองตั้งคำถามหนักๆ กับ 'ขนบ' ของโลกวิชาการกันสักทีดีไหม

เพราะ 'ขนบ' ที่ว่า ดูเหมือนจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้วงวิชาการกลายเป็นสโมสรผูกขาดของ 'ผู้(คิดว่าตน)รู้' วงแคบๆ เท่านั้น

ทั้งที่ความรู้ควรเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งกลุ่มคนวงกว้างและหลากหลาย ควรสามารถเข้าถึง เรียนรู้ และร่วมสนุกกับมันได้

แม้จะทำให้ 'อำนาจ' ของนักวิชาการลดลงก็ตาม

Wednesday, April 20, 2005

นักวิชาการในฝัน (3): ฝันของผม

แล้วนักวิชาการในฝันของผมเองมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

ตอบแบบง่ายๆ กวนๆ ก็ต้องเป็นนักวิชาการแบบที่ผมอยากเป็น และพยายามจะเป็น

ซึ่งอาจมีคุณค่าในสายตาของคนหนึ่ง แต่อาจไร้คุณค่าสำหรับอีกคนหนึ่งก็เป็นได้ ขึ้นกับ 'โลก'ของแต่ละคน ดังที่เคยคุยในตอนแรก

วิธีคิดและตัวตนของผมทุกวันนี้ได้รับอิทธิพลจากผู้คนจำนวนมาก ถูกหล่อหลอมมาจาก 'โลก' ในอดีตที่ผมได้เผชิญ เติบโตต่อยอดสังเคราะห์พัฒนามาเรื่อยๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว ประวัติศาสตร์ของสังคม วิกฤตที่เผชิญ หนังสือที่อ่าน บุคคลที่ได้เจอ มิตรสหายที่คบ ฯลฯ

ถ้าจะเข้าใจ 'ฝัน' ส่วนตัวของผม ก็ต้องเข้าใจ 'ผม'ระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะ 'ความฝัน' แยกไม่ออกจาก 'เจ้าของฝัน' และ 'โลก' ที่เจ้าของฝันอยู่และมีส่วนสร้างเขาขึ้นมา

แต่ละคนเข้ามาเป็นนักวิชาการด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าเหตุผลของใครเข้าท่ากว่าใคร หรือของใครมีคุณค่ามากกว่าใคร

ตั้งแต่เด็ก ผมใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิชาการ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลง 'โลก' ที่ผมอยู่ให้ดีขึ้น

ทุกวันนี้ก็ยังคิดเช่นนี้อยู่ แถมยังมั่นใจในจุดยืนนี้ยิ่งขึ้น

นี่คือฐานความคิดหลักที่ขีดเส้นใต้เรื่องทั้งหมดที่กำลังจะคุยกันต่อไปจากนี้นะครับ

ใช่ครับ, นักวิชาการในฝันของผมก็คือคนที่มีคุณสมบัติถึงพร้อมที่จะเปลี่ยน 'โลก' นี้ดีขึ้นได้ และสามารถต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างสมน้ำสมเนื้อโดยมีความรู้เป็นอาวุธ

......


'โลก' ของผมในที่นี้ คือสังคมที่แวดล้อมผม มีเส้นเขตแดนไกลสุดแค่ปลายขอบสังคมไทย

ความคิดผมยังไปไม่ถึงโลกที่เป็นสากล ยังไม่มองโลกแบบไร้เส้นพรมแดน หวังทำอะไรเพื่อมนุษยชาติ ผมคิดได้แค่ว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนที่ผมอยู่มันดีขึ้นและน่าอยู่ขึ้นเท่านั้นเอง ไม่เคยคิดจะโกอินเตอร์ มองไม่เห็นและไม่คิดมองที่ทางของตัวเองในระดับสากลเลยแม้แต่น้อย

ไม่รู้ทำกรรมเวรอะไรไว้ ผมมีสันดานเป็นนักเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็ก โดยธรรมชาติเป็นคนไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่เดิม ชอบพยายามลงแรงเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้น (อย่างน้อยก็ให้ดีขึ้น 'ในสายตาของผม' ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีแท้ จริงแท้แค่ไหน)บางทีก็นึกอิจฉาเพื่อนรักบางคนที่มีธรรมชาติเป็นคนปล่อยวาง ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับอะไรรอบตัวมากมาย สมถะ สันโดษ บางเวลาก็อยากเป็นคนแบบนั้นบ้างเหมือนกัน แต่ทำไม่ได้

ผมชอบอ่านหนังสือการเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ตอนเด็กเลยหมกมุ่นว่าระบบการเมืองคือรากฐานของปัญหา เป็นต้นตอแห่งความเลวร้ายหลายอย่างในสังคมไทย ไม่ว่าปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม ฯลฯ

ตอนเด็กๆ ผมมักจะคิดว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือทางออกของประเทศ ถ้าจะเปลี่ยนประเทศนี้ ต้องเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจ แก้กฎหมาย บริหารประเทศแบบใสสะอาด คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ แรกสุดก็คิดว่าปัญหาเกิดเพราะนักการเมืองมันชั่ว ต่อมาก็คิดว่าเพราะระบบการเมืองมันเลว

ดังนั้น ความฝันจริงๆจังๆแรกสุดของผมคือ อยากเล่นการเมือง แล้วทำการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย ใสสะอาด และให้ความเป็นธรรมต่อคนเล็กคนน้อย ผู้ไร้อำนาจ

นั่นเป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งในช่วงต้นของการเดินทางทางความคิด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการติดตามข่าวการเมือง อ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง และยังมองเห็นความจริงเพียงระดับพื้นผิว

ผมถือว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นแรงขับที่สำคัญที่ทำให้ผมอยากเดินบนเส้นทางนี้ ผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์นองเลือดไทยฆ่าไทยเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย เลยอยากขจัดเงื่อนไขต่างๆ ที่สามารถนำมาซึ่งความรุนแรง ทางแก้คือ ต้องออกแบบระบบการเมืองที่คลี่คลายปัญหาได้ด้วยสันติวิธี ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเต็มที่ ลดทอนการใช้อำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

ต่อมา เมื่อสนใจการเมืองหนักขึ้น ผมเริ่มหันไปอ่านงานวิชาการ โดยเฉพาะตำรารัฐศาสตร์ และบทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยนักวิชาการ ผมก็เริ่มเรียนรู้ที่จะมองความจริงในระดับที่ลึกซึ้งกว่าพื้นผิว เริ่มมองความจริงในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ

งานวิชาการตามหน้าหนังสือพิมพ์ของนักวิชาการหลายคน มีส่วนเปิดประตูให้ผมก้าวสู่โลกวิชาการ จนหลงรักมันในที่สุด แม้คนที่ฝันอยากเห็นนักวิชาการนั่งทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างเพื่อผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์จะไม่ได้ให้คุณค่างานเหล่านี้นัก แต่ผมว่างานเหล่านี้มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมากทีเดียว ดูจากผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวผม และลูกศิษย์ของผมหลายคน ที่เริ่มต้นการเดินทางทางความคิดจากจุดนี้

จนเมื่อได้อ่านบทความวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นอกจากจะทำให้ผมหันมาสนใจเศรษฐศาสตร์ ยังส่งผลให้มุมมองต่อโลกของผมเปลี่ยนไป

จุดหักเหสำคัญอยู่ตรงที่อาจารย์รังสรรค์สอนให้ผมรู้จักแยกแยะ 'โลกแบบที่มันเป็นอยู่'กับ'โลกแบบที่เราอยากให้เป็น' ผมเริ่มมองเห็นความสำคัญของงานวิชาการ ในฐานะเครื่องมือผลิตคำอธิบาย 'โลกแบบที่มันเป็นอยู่' ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อก้าวข้ามไปสู่ 'โลกแบบที่เราอยากให้เป็น'

เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ต้องทำความเข้าใจกลไกของมันเสียก่อน ซึ่งงานวิชาการมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกได้ และปรุงแต่งวิถีการเคลื่อนไหวในลำดับต่อไป

นักวิชาการบางคนสนุกสนานในการทำความเข้าใจโลกเรื่องแล้วเรื่องเล่า พยายามเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นความจริงให้ใกล้ที่สุด ผ่านการพัฒนาทฤษฎี ต่อยอดโมเดล เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ แล้วคิดว่าหน้าที่ของตนจบแค่นั้น

ลึกๆแล้วคนกลุ่มนี้ พยายามแยกตัวเองออกจากสิ่งที่ศึกษา พยายามให้ตัวเองปลอดจากอคติ ให้ตัวเองมีความเป็นกลาง โดยมองกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงโลกว่าอยู่นอกเหนือจากหน้าที่ที่พวกเขาพึงกระทำ การเปลี่ยนโลกเป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง องค์กรเอกชน นักเคลื่อนไหวการเมือง ที่จะหยิบเอาองค์ความรู้บริสุทธิ์ที่นักวิชาการสร้างขึ้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปเอง

แต่นักวิชาการจำนวนหนึ่งคิดว่า หน้าที่ของพวกเขาไม่ได้จบแค่นั้น การเข้าใจโลกมิได้เป็นจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง แต่เป็นกระบวนการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลก

ดังวรรคทองของ Marx ที่เราพบเห็นบ่อยครั้ง

"The philosophers have only interpreted the world, in various ways; the point is to change it." (Marx (1854), Theses On Feuerbach)

ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญของนักวิชาการอยู่ตรงที่พยายามผลิตสร้างองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาเพื่ออธิบายโลกในหลากหลายรูปแบบ ในสาขาที่ตนถนัด ทั้งที่เพื่อใช้ความรู้เป็นอาวุธในการเปลี่ยนแปลงโลก ให้มันดีขึ้น เป็นจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้าย

คนกลุ่มนี้ไม่เชื่อว่าการครองตนเสมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่อยู่นอกโลกเหนือสังคมเป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นไปได้ หรือมีคุณค่า การมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยวิธีต่างๆ หรือเป็นนักวิชาการที่มี 'หัวใจ'ไม่ได้ลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นนักวิชาการของเขาลงแต่อย่างใด

ความเป็นกลาง ไร้อคติ ไม่เลือกข้าง ไม่มีอยู่จริง ถึงมี นักวิชาการก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่เลือกข้างได้ ด้วยเหตุผลที่ตนเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจ อีกทั้ง งานวิชาการเจือปนด้วยอคติเสมอ แม้จะมีระเบียบวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ตาม

(ความไม่เป็นกลางหรืออคติที่พูดถึงกันอยู่ตรงนี้ ไม่เกี่ยวกับการได้ผลประโยชน์หรือได้รับอามิสสินจ้างนะครับ คนละประเด็นกัน)

ทีนี้ มาถึงคำว่า 'การเปลี่ยนแปลงโลก'

ผมไม่ได้ให้ความหมายมันอย่างแคบ เพียงแค่การมีบทบาทในฐานะผู้กำหนดนโยบาย หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงโลกทำได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ศูนย์กลางแห่งอำนาจ แต่ผ่านการให้การศึกษาแก่สังคม บทความวิพากษ์วิจารณ์สังคม เสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย กระทั่งแบบวิถีการดำเนินชีวิต ฯลฯ

......

ชีวิตหลังเข้ามหาวิทยาลัย

จากการเฝ้าสังเกตบทบาทของนักวิชาการหลายคนในวัยเด็ก ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าภายใต้ความเป็นนักวิชาการ เราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากกว่าการเป็นนักการเมือง การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่จำเป็นต้องมีอำนาจ หากความรู้เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพกว่าการเอาตัวเข้าไปเกลือกกลั้วกับวิถีแห่งการแสวงหาอำนาจทางการ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการลดทอนมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเอง

เมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัย ได้สัมผัสโลกของวิชาการอย่างใกล้ชิดขึ้น ผมรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานกับมันเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเรียนมาก ยิ่งเข้าใจว่าเรารู้น้อยเหลือเกิน แล้วจะเอาองค์ความรู้อะไรไปเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

ผมเลยยิ่งอยากรู้ สะสมเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ให้กว้างขวางเท่าที่กำลังจะพึงมี พยายามสังเคราะห์หลอมรวมมาเป็นวิธีคิดแบบของเรา

ยิ่งเรียนมาก ฟังมาก อ่านมาก ก็ยิ่งตกหลุมรักโลกวิชาการ ความคิดอยากเป็นนักการเมืองก็เลือนหายไปเรื่อยๆ เริ่มเข้าใจว่า วิธีการเปลี่ยนแปลงโลกมันมีหลากหลาย และเอาเข้าจริง นักการเมืองก็ไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ดังใจ เนื่องจากมีข้อจำกัดมากมายไปหมด โดยเฉพาะไร้ซึ่งความเป็นอิสระที่จะใช้ศักยภาพของเราได้เต็มที่

ตอนช่วงปลายชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เคยเข้าไปลิ้มรสโลกการเมืองของจริงอยู่ชายขอบ แต่การนั่งอยู่ชายขอบในสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจสูงสุดก็ช่วยให้ได้รู้เห็นอะไรมากมาย เห็นของจริงว่าการเมืองที่แท้จริงเป็นอย่างไร สามารถฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาของประเทศนี้ได้เพียงใด

เข้าไปสัมผัสการเมืองแบบชิดใกล้แล้ว ผมกลับรู้สึกว่า คนเป็นนักการเมืองทำอะไรได้น้อยกว่าที่เราเคยคาดหวังมาก ชีวิตนักการเมืองไม่ง่ายเลย และขัดกับนิสัยและบุคลิกของผมอย่างมาก อีกทั้ง แม้มีอำนาจ ระบบราชการมันก็เทอะทะเกินกว่าจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ดังใจ

ชักรู้สึกไม่สนุก และรู้สึกไม่มีปัญญาจะทำหน้าที่นั้นได้

ให้คนที่เขาถนัด มีทักษะ และรู้สึกสนุก ทำหน้าที่นั้นดีกว่า

ผมอยากเปลี่ยนโลกในทางที่ผมใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ รักษาความเป็นเสรีชนได้ในระดับสูง

หันไปหันมา ก็ต้องเป็นนักวิชาการนี่แหละ

หากดูตัวเองเป็นเหยื่อ ผมก็ถูกเปลี่ยนแปลง จากนักวิชาการจำนวนมาก จนคลี่คลายพัฒนามาเป็นตัวตนอย่างทุกวันนี้

ใครว่าวิชาความรู้เปลี่ยนโลกไม่ได้ ใครว่านักวิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงโลกมิใช่การเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างจากบนลงล่างเท่านั้น นั่นไม่จีรังยั่งยืนเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่ฐานราก เปลี่ยนแปลงคน แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน เป็นการเปลี่ยนแปลงจากคนส่วนใหญ่ที่ไร้อำนาจ ใช้การต่อสู้เชิงวัฒนธรรมและความคิดเป็นหลัก

เมื่อคิดอย่างนี้ อาชีพไหนจะเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงโลกมากเท่าอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเจอคนรุ่นใหม่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามาทุกปี

ผมเลยคิดจะเปลี่ยนสังคมนี้ ด้วยการพยายามสร้างคนที่มีคุณภาพ ที่พร้อมจะร่วมมือกันเปลี่ยนสังคมนี้ด้วยกันในอนาคต

ไม่ได้แปลว่าต้องคิดเห็นเหมือนเรา ต้องมาทำงานกับเรา หรือต้องเปลี่ยนสังคมในทางที่เราต้องการนะครับ

คิดต่างได้ ต่างคนต่างทำได้ มีความฝันจะสร้างโลกไปทางไหนก็ได้

แต่ให้ตระหนักว่า สังคมนี้มีปัญหา ลึกซึ้งซับซ้อนกว่าพื้นผิวที่เราเห็น และในฐานะที่เราเป็นเจ้าของสังคมนี้ร่วมกัน ควรคิดแก้ไขมันให้ดีขึ้น ตามอัตภาพ

ผมคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดีสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่พลัดหลงอยู่ในกระแสสังคมรู้จักฉุกคิด ตั้งคำถาม ใฝ่รู้ที่จะศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมได้ เหนือสิ่งอื่นใด ให้เขามีจิตใจสาธารณะที่คิดพ้นไปจากตัวเอง เป็นมืออาชีพ และมีวัฒนธรรมอารยะในจิตใต้สำนึก เช่น เป็นประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม ยึดถือสิทธิมนุษยชน เกลียดชังการคอรัปชั่นและเอาเปรียบผู้อื่น ฯลฯ

อาจารย์มหาวิทยาลัยแตกต่างจากนักวิชาการตามสถาบันวิจัยตรงที่ต้องมีหน้าที่สอนหนังสือ ขณะที่นักวิจัยมีหน้าที่หลักคือเขียนงานวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยในฝันจึงต้องมีความเป็นครู ที่รักงานสอนด้วยเช่นกัน และทุ่มเทใส่ใจกับนักศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงโลก

ทีนี้ ถ้าจะสอนให้ดี ให้นักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด ภารกิจอื่นก็ต้องตามมา อาจารย์ก็ต้องติดตามพรมแดนความรู้ที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งในสาขาของตน ต้องผลิตงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือประยุกต์ทฤษฎีเพื่อมาอธิบายโลกแห่งความจริงและสอดคล้องกับสังคมที่เราอยู่ ไม่ใช่แค่งัดตำรามาเปิดสอนเพียงเท่านั้น อีกทั้ง ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดสื่อสารด้วย นอกจากนั้น การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักศึกษาก็ต้องมีตำราอ่าน มีงานวิจัยอ่าน ประกอบการเรียนการสอน

งานวิจัยที่ขึ้นหิ้งมันก็มีประโยชน์ของมันอยู่ แต่มันจะมีประโยชน์แท้จริงได้ ต้องลงมาจากหิ้ง ให้สังคมเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากมันได้

ยิ่งในสังคมที่ง่อยเปลี้ยทางปัญญา และการศึกษาที่มีคุณภาพแพร่หลายไม่ทั่วถึง ลำพังการมีหน้าที่สอนคนหน้าใหม่เพียงไม่กี่ร้อยคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในแต่ละปีไม่เพียงพอ อาจารย์มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการให้ความรู้แก่สังคมโดยรวม เพื่อสร้างการอ่านออกเขียนได้ในความรู้ตามสาขาที่ตนถนัด สังคมจะได้มีภูมิคุ้มกันตัวเอง

การปล่อยให้องค์ความรู้ถูกผูกขาดอยู่ในมือของ 'ผู้รู้'เพียงหยิบมือ ทำให้สังคมอ่อนแอ และวิชาการสาขานั้นๆ จะอ่อนแอลงในระยะยาว

ไม่ว่าศาสตร์อะไร องค์ความรู้ควรแพร่กระจายในวงกว้างให้มากที่สุด ให้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนต่างสาขาวิชา สามารถเข้าถึง แลกเปลี่ยน และตรวจสอบได้

ดังนั้น นักวิชาการจึงไม่ควรมีหน้าที่แค่ผลิตองค์ความรู้บริสุทธิ์ แต่ยังต้องมีหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ และให้บริการทางความรู้แก่สังคมวงกว้างด้วย โดยเฉพาะในสังคมที่ภูมิปัญญาอ่อนแอ และชาวบ้านที่ขาดโอกาสยังหิวโหยกับการแสวงหาความรู้พื้นฐานระดับชาวบ้าน

โดยส่วนตัว ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าคนไทยยังมีระดับความรู้ที่อ่อนแอ ขาดการอ่านออกเขียนได้ในวิชาการเบื้องต้นสาขาต่างๆ งานวิชาการขึ้นหิ้งที่มีเพียงคนหยิบมือเดียวเข้าถึง แม้จะได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับโลก จะมีคุณค่า(โดยเปรียบเทียบ และต่อสังคม)เพียงใด และคุณค่านั้นสำหรับใคร

แน่นอนว่า สำหรับนักวิชาการที่ดี ภารกิจแต่ละรูปแบบต่างมีคุณค่าในตัวของมัน แต่ภารกิจของนักวิชาการมิได้ลอยโดดออกไปจากสังคมที่ตนอยู่ หากมาตรฐาน คุณภาพ เนื้อหา ภารกิจ ของนักวิชาการหรืองานวิชาการในแต่ละสังคมก็แตกต่างกันไปตามสภาพและคุณภาพของสังคมนั้นๆ

ผมชื่นชมนักวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ก็เป็นความชื่นชมดุจเดียวกับนักวิชาการที่คลุกฝุ่นติดดินอยู่เบื้องล่าง

สำหรับผม ไม่มีความใฝ่ฝันที่จะขึ้นไปอยู่บนหอคอยงาช้าง และก็ไม่คิดที่จะคลุกฝุ่นอยู่ด้านล่างตลอดเวลา

ขอให้ชีวิตนักวิชาการอยู่บนสิ่งปลูกสร้างเล็กๆ ง่ายๆ ขนาดความสูงพอเหมาะพอดีก็แล้วกันนะครับ

ไม่เตี้ยเสียจนมองไม่เห็นว่าบนหอคอยงาช้างเขาทำอะไรคิดอะไรกันอยู่ พอให้ตะโกนคุยกับเขารู้เรื่อง

และไม่อยู่สูงเสียจนไม่กล้าหรือไม่มีปัญญากระโดดลงมาคลุกฝุ่นข้างล่างเป็นครั้งคราว เมื่อหัวใจเรียกร้อง

Monday, April 18, 2005

เฉลียง

ยามที่ผมต้องการให้จิตใจผ่อนคลายจากการทำงานหนัก ใกล้สอบ หรือเรื่องเครียดปวดหัวอื่นใด ผมมักเลือกใช้บริการยาขนานเอกประจำตัว

... บทเพลงของ 'เฉลียง' ครับ

ฟังเมื่อไหร่ ความสุขมันกลับมาได้ซะง่ายๆ

คือช่วงนี้ทำงานหนัก ใช้บริการพี่ๆ 'เฉลียง' บ่อย และเพิ่งฟังเทปคอนเสิร์ตสองครั้งสุดท้าย เลยคิดถึง 'เฉลียง' จนต้องเขียนถึงเสียหน่อย

ผมเป็นแฟน 'เฉลียง' มาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม ตอนกำลังวัยรุ่นเลยอ่ะครับ

เลยเป็นวัยรุ่นที่กรี๊ด 'เฉลียง' ผ่าเหล่าผ่ากอไป

ขึ้นรถพ่อไปเรียนหรือไปเที่ยว ต้อง 'เฉลียง' เท่านั้น จนน้องสาวผมเบื่อและเซ็ง

ชอบ 'เฉลียง' เลยต้องตามอ่านไปยาลใหญ่ ตามอ่านหนังสือของเหล่านักเขียนสำนักศิษย์สะดือ ที่มีพี่จิกและพี่จุ้ยเป็นเจ้าสำนักใหญ่ ถือเป็นช่วงต้นๆ ที่เริ่มหันมาอ่านหนังสือเล่ม นอกเหนือจากอ่านหนังสือการ์ตูน และหนังสือพิมพ์

พี่ๆ เหล่านี้มีส่วนทำให้ผมเริ่มรักการอ่าน รักการเขียน และเริ่มมองโลกด้วยสายตาเอียงๆ

......

ผมไม่ใช่นักฟังเพลงเลยสักนิด แต่ผมชอบเพลง 'เฉลียง' ที่สุด

ฟังเพลิน ร้องเพราะ ความหมายดี มีท่วงทำนองลีลา ทั้งกวน เหน็บแนม ลึก ช่างคิด อบอุ่น คม น่ารัก

และมองโลกในแง่ดี

'เฉลียง' เป็นกลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดี ที่ยังหาใครมาทดแทนไม่ได้ หลัง'เฉลียง'เลิกรา ผมยังไม่เห็นจะมีดนตรีวงไหนที่ลงตัว มีเสน่ห์และเปี่ยมจินตนาการขนาด'เฉลียง'

นอกจากเพลงดีและเพราะแล้ว ลีลาบนเวทีของพี่ๆ'เฉลียง'ยังสุดยอด

ผมเคยดูคอนเสิร์ต'เฉลียง'สองครั้ง เป็นคอนเสิร์ตสองครั้งสุดท้ายของ'เฉลียง' คือ แก้คิดถึงสิบกว่าปีเฉลียง และเรื่องราวบนแผ่นไม้

นั่นเป็นเพียงสองครั้งในชีวิตที่ผมไปดูคอนเสิร์ต

และทั้งสองครั้งเป็นคอนเสิร์ตที่เป็นมากกว่าคอนเสิร์ต

สนุก ลงตัว พอดี จนอิ่ม

ทุกวันนี้ผมยังคิดถึงบรรยากาศสองวันนั้นอยู่เลย ความตราตรึงประทับใจมิรู้ลืมคือความรู้สึกแบบนี้นี่เอง

......

ปีที่แล้ว โชคดีได้มีโอกาสพบเจอ 'เฉลียง'ตัวเป็นๆ หนึ่งคน

ใฝ่ฝันมานานแล้วครับ ที่จะได้นั่งคุยกับกับพี่ๆ วง 'เฉลียง'

ตอนได้นั่งร่วมโต๊ะ ผมดีใจมาก ตื่นเต้นมาก แต่ไม่กล้าแสดงออกต่อหน้า กลัวแกด่าเอา

ปากตะไกรออกครับ พี่จุ้ยเนี่ย

วันนั้นนั่งกินข้าวกับพี่โญอยู่ที่ hemlock ที่ประจำ ดึกๆพี่จุ้ยก็ลงมาจากชั้นบน เลยมานั่งคุยกับเราทั้งสองต่อ ตอนนั้นพี่จุ้ยเพิ่งตัดสินใจลงมาจากเชียงใหม่ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ

พี่โญเลยแนะนำให้รู้จักกัน พี่จุ้ยก็คอลัมนิสต์เก่าของ open

นั่งคุยไปก็ฮาไป พี่จุ้ยเป็นคนอารมณ์ดี ตรงไปตรงมา ช่างคิดช่างจินตนาการ เหมือนตัวหนังสือและตัวโน้ตของพี่เขาไม่ผิดเพี้ยน

ตอนหนึ่ง แกเสนอให้พี่โญทำนิตยสารที่ 'ด่า' ทั้งเล่ม แต่ด่าแบบมีรสนิยม สนุก มีสาระ และด่าหลายๆ แบบ หลายระดับความรุนแรง

พี่จุ้ยว่า คนชมกันมันเยอะแล้ว ด่ากันซะบ้าง บ้านเมืองจะได้เจริญ จับผิดตั้งแต่นักการเมือง วิจารณ์ทุกวงการ ตั้งแต่วงการหนังสือ วงการการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม บทบรรณาธิการก็ให้บรรณาธิการด่าตัวเองว่าทำไมหนังสือออกช้า อะไรประมาณนี้

ส่วนเดียวในหนังสือที่จะชมแทนด่าก็คือ หน้าโฆษณา (ฮา) ฉะนั้น มาลงโฆษณากันเยอะๆ ถ้าไม่ลงจะด่าให้ (ฮาอีก)

โจทย์คือทำหนังสือที่ด่าทั้งเล่มอย่างไร ให้อ่านสนุก น่าติดตาม มีอารมณ์ขัน มีสไตล์ และมีรสนิยม

คิดแล้วพี่จุ้ยว่ายาก แต่ทำได้ และแกอยากอ่านมาก ทำให้อ่านหน่อย แกไม่อยากทำเอง

หลายเดือนต่อมา ที่งาน Happy Book Day ของสำนักพิมพ์มติชน เมื่อต้นปีนี้

ผมเจอกับพี่จุ้ยอีกครั้งที่หน้างาน ดีใจที่พี่จุ้ยอุตส่าห์จำผมได้ นึกชื่อก็ออกด้วย

เท่านั้นไม่พอ ดีใจที่แกไปอ่านหนังสือผมด้วย

โห ใครจะคิดครับว่าระดับ ศุ บุญเลี้ยง จะอ่าน คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ

ดีใจจริงๆ

พี่จุ้ยบอกว่าช่วงปีใหม่ไปค้างบ้านครูเทพที่เชียงใหม่มา เห็นหนังสือผม เลยถามครูเทพว่า ครูอ่านหนังสือแบบนี้ด้วยเหรอ(แบบหนายยยยมิทราบคับพี่ ??!!)ครูเทพบอกว่า จำไม่ได้แล้วว่าใครมาทิ้งไว้ (ฮือ ฮือ ครูเทพลืมผมเสียแล้ว)

แกบอกผมว่า ช่วงนั้นว่างๆ เลยนอนอ่าน อ่านไม่ครบทั้งเล่มนะ เพราะมันจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พี่จุ้ยบอกว่า ผมเขียนหนังสือให้คนแข็งแรงอ่าน คนอ่อนแออ่านไม่ไหวหรอก มันเหนื่อยยยยยย นี่บังเอิญช่วงปีใหม่ แกทำจิตใจให้ว่าง ละทิ้งความวุ่นวาย สภาพจิตใจพร้อม เลยพอรับมือไหว แต่ก็ยังอ่านรวดเดียวไม่ไหว ต้องค่อยๆเล็ม

นี่ละครับ คำวิจารณ์สไตล์ศุ บุญเลี้ยง

นึกถึงตอนคุยกับพี่หนึ่ง วรพจน์ ที่บ้านสีฟ้า ผมถามพี่หนึ่งว่า อ่านโอเพ่นเล่มใหม่หรือยัง แกบอกยิ้มๆ ว่า ยังเลย ช่วงนี้อ่อนแอ อ่านไม่ไหว หลังๆ โอเพ่นเขาทำให้คนแข็งแรงอ่าน

หลังจากพี่จุ้ยแนะนำให้ผมเพิ่มอารมณ์ขันลงไปในงานเขียน และฝึกลีลาให้พลิ้วกว่านี้ พี่จุ้ยก็เล่าให้ฟังต่อว่า ไม่ได้แค่อ่านอย่างเดียวนะ แกยังเอาเนื้อหาบางส่วนไปทดลองมาด้วย

มีบทหนึ่งในหนังสือ ผมเขียนเรื่องเกมยื่นคำขาด ซึ่งเป็นเกมที่นักเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองใช้ทดสอบว่า แท้จริงแล้ว คนมิได้มีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจเป็นสรณะ ดังข้อสมมติของสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐาน

พี่จุ้ยบอกว่า แกลองเอาเกมยื่นคำขาดไปเล่นกับเพื่อนมาด้วย ว่าแล้วแกก็ชวนผมคุยต่อเรื่องเกมยื่นคำขาด ไปจนถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ

ความฝันล่าสุดของพี่จุ้ยคือ เป็นนักธุรกิจอาชีพ เป็นนักธุรกิจแบบจุ้ยๆ

พี่จุ้ยตัวจริงเลยครับ ฟัง(อ่าน) คิด ถาม เขียน

แล้วลงมือทำ

ลงมือทำด้วยหัวใจที่เบิกบาน

และสายตาที่มองโลกเอียงๆ

... แบบ 'เฉลียง'

Saturday, April 16, 2005

วิทยานิพนธ์

ไม่ได้เข้ามาเขียน Blog หลายวันเลยครับ กำลังโม่เขียนวิทยานิพนธ์อยู่

เสียดายโอกาสเหมือนกัน เพราะตอนนี้อากาศที่บ้านนอกดีมาก แม้ใบไม้ยังไม่ผลิ (จะหมดเทอม spring อยู่แล้วนะเนี่ย!) แต่แดดส่องฟ้าทุกวัน น่าเดินเล่น ไปเที่ยว หรือออกกำลังกายมาก แต่ไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นสักอย่าง

กลับต้องมานั่งปวดตาทั้งวัน

ดูจากสภาพอากาศแล้ว หากลมหนาวจะพัดหวนก็คงอีกเพียงยกเดียวเท่านั้น เห็นอากาศสดใสแบบ spring แล้ว อย่าคิดว่าการต่อสู้กับความหนาวเหน็บได้จบสิ้นลงแล้วนะครับ ผมอยู่ที่นี่มานานจนรู้แล้วว่า อากาศที่บ้านนอกไว้ใจไม่ได้ แปรปรวนเอาแต่ใจตัวเองเหลือเกิน (เหมือนใครหนอ) เพราะหลายครั้ง อากาศดีๆอยู่แท้ๆ วันดีคืนดีก็กลับมาหนาว บางทีจู่ๆ ก็หิมะตกอีก ตกมันเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี่แหละ ใครจะทำไม

ตอนนี้ผมกำลังรีบเขียนงานบทที่สามอยู่ครับ หลังจากเตรียมการด้านข้อมูล และได้ผลการศึกษาเบื้องต้นนอนรออยู่แล้ว

วิทยานิพนธ์ผมมีห้าบท มีบทหลักสามบทอยู่ตรงกลาง และมีบทขึ้นต้นกับปิดท้าย ตอนนี้ก็เพิ่งอีดิทบทนำกับบทที่สองเสร็จ จะได้ให้อาจารย์ทั้งสามนั่งอ่านและวิจารณ์ระหว่างผมเขียนบทที่สาม จะได้ไม่เสียเวลา

พยายามว่าสิ้นเดือนนี้จะเขียนบทที่สามให้เสร็จ แล้วเดือนหน้าจะย้ายไปทำบทที่สี่ต่อ (สุดท้ายแล้ว เย้ เย้) อันนี้คงต้องใช้เวลาหน่อย เพราะมีแต่ไอเดีย ตรรกะ และโครงร่างในใจ แต่ยังต้องอ่านกฎหมายและข้อมูลที่รวบรวมมาจากเมืองไทยอีกพอสมควร และยังต้องจัดระบบระเบียบความรู้อีก

ถ้าทำได้ดังหวัง ภายใน 3 เดือนข้างหน้าน่าจะพอได้ร่างแรก ขอให้สำเร็จด้วยเถิด

จะได้กลับบ้านเร็วๆ

จริงๆ ก็ไม่รู้จะขอไปทำไม ลำพังขอ งานจะเสร็จไหม ถ้าไม่ลงมือทำ

ผมคิดว่าปัญหาของหลายคนที่เขียนวิทยานิพนธ์คือ เมื่อเผชิญข้อมูลล้นเกิน แล้วจัดการไม่ถูก จัดระบบความคิดตัวเองไม่ได้ บางทีเสียดายข้อมูลหรือเนื้อหาที่เราได้อ่านได้ทำการบ้านมา บางทีอยากรู้อยากตอบคำถามอะไรเยอะแยะไปหมด งานก็เลยใหญ่โตกลายเป็น lifetime work ไป

กระบวนการเขียนวิทยานิพนธ์ต้องอ่านเยอะ เผชิญข้อมูลเยอะ หลายคนมักรออ่านค้นคว้าให้หมดครบถ้วน แล้วค่อยลงมือทำข้อมูล ทดสอบโมเดล หรือค่อยลงมือเขียน

ผมว่าไม่ต้องรีรอมากหรอกครับ ลองทำไปก่อนเลย อ่านไปก็ลองทำข้อมูลไป ลองทดสอบโมเดลไป (สำหรับคนที่ทำ Empirical work)ทยอยเขียนความคิดของเราไปเรื่อยๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องมีโครงร่าง มีตรรกะที่เข้มแข็ง และลำดับการดำเนินเรื่องอยู่ในใจเป็นเบื้องต้นก่อนนะครับ

เวลาเราอ่านหนังสือ ไม่ควรอ่านจากหัวสมองที่ว่างเปล่า ความรู้มันจะกระจัดกระจาย ผมเห็นว่า แรกสุดตอนเริ่มคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ เราควรมีคำถามในใจว่าเราอยากตอบคำถามอะไร ตอบอย่างไร คาดว่าเรื่องราวดำเนินอย่างไร สมมติฐานคืออะไร ลำดับการใช้เหตุผลเป็นอย่างไร แล้วค่อยไปอ่านหนังสือหรืออ่านบทความวิชาการที่ชาวบ้านเขาเคยทำมาก่อน อ่านแล้วจะได้รู้ว่า งานชิ้นที่เราอ่านมันมีที่ทางอยู่ตรงไหนในภาพใหญ่ทั้งหมดของงานเรา เราจึงจะสามารถหยิบความรู้ใหม่ๆ ใส่โยงเข้ากับงานของเราได้ถูกช่องถูกลิ้นชักในหัวสมอง

การอ่านแบบมีเป้าหมายมีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านแบบว่างเปล่ามากนะครับ

เช่นนี้เราจะสามารถจัดระบบความคิดของเราได้มีประสิทธิภาพขึ้น นำองค์ความรู้ใหม่มาต่อยอดกับแกนความคิดเก่า ไม่ได้เริ่มจากความกลวงและว่างเปล่า แบบจับต้นชนปลายไม่ถูก

ต่อยอดไปสักพัก ลิ้นชักในสมองเริ่มเต็มแล้ว อย่ารีรอครับ

ลงมือเขียนเลย

ลงมือเขียน เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้งานเดินหน้า

แน่นอนว่า ร่างแรกๆที่เราเขียนยังไม่มีความสมบูรณ์สมใจหรอก แต่อย่างน้อยมันทำให้เราได้งานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ทำให้ชาวบ้านหรืออาจารย์สามารถวิจารณ์งานได้ และเป็นพื้นฐานที่เราสามารถแต่งเติมต่อในอนาคต ซึ่งงานแต่งเติมไม่ยากเท่าการวางฐานราก

เหนือสิ่งอื่นใด การเขียนช่วยให้เราได้จัดระเบียบความคิดตัวเอง

มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะอ่านงานวิชาการทุกชิ้นในโลกที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของเราได้ มันไม่มีทางที่เราจะเขียนงานที่ดีที่สุดได้ตั้งแต่ร่างแรก ไม่มีทางที่จะได้งานที่สมบูรณ์แบบไร้การแก้ไขในดาบเดียว ยิ่งถ้าทำงาน Empirical work คงรู้ดีว่า ไม่มีทางที่เราจะได้ผลดังคาดหวังในการทดสอบโมเดลครั้งแรก มันมีปัญหาทางเทคนิคให้ต้องแก้ไขต่อไปอีกมาก

เช่นนี้แล้ว จะเงื้อง่าราคาแพงทำไม

ลงมือเลย รีบแปรสิ่งที่อัดแน่นอยู่ในสมองออกมาเป็นตัวหนังสือหรือผลเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้

เขียนไปเรื่อยๆ อ่านไป ทำข้อมูลไป ทดสอบโมเดลไป เขียนไป ไม่ต้องให้ได้ทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมแล้วค่อยลงมือเขียน

มัวรอให้พร้อม กลัวจะรอเก้อ

เพราะความพร้อม มันจะเกิดขึ้นระหว่างทาง และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะลงมือทำแล้วต่างหาก

Tuesday, April 12, 2005

justice delayed

ไม่กี่วันก่อนขณะคุยโทรศัพท์ข้ามทวีป แม่ผมบอกว่าเพิ่งได้รับหมายศาลให้เป็นไปพยาน ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

คดีขโมยขึ้นบ้านครับ

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ผมถูกขโมยขึ้นบ้านกลางดึก คุณโจรตัดมุ้งลวดหลังบ้าน แล้วเอื้อมมือมาเปิดประตูครัว เยี่ยมชมบ้าน ยกเครื่องดีวีดีสุดรักที่ผมเพิ่งซื้อมาแค่เดือนเดียวไป (โธ่ เกิดมาเพิ่งจะมีดีวีดีกับเขา)

ผมคิดว่าคุณโจรคงหมายมั่นกับเครื่องเล่นดีวีดีเป็นหลัก เพราะบ้านอาผมที่อยู่ในรั้วเดียวกัน ก็โดนฉกเครื่องเล่นดีวีดีไปด้วยในคราวเดียวกัน

แต่บ้านผมโดนหนักกว่าครับ คุณโจรเอารถยนต์ไปด้วย

อ่านไม่ผิดครับ ผมโดนขโมยรถยนต์

ที่จอดไว้ในโรงรถ

ในบ้านตัวเอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

......

ผมเดาว่า เหตุการณ์คืนนั้นมันเป็นอย่างนี้ครับ

คุณโจรขโมยเครื่องดีวีดีในห้องรับแขก ขณะกำลังยก คงเหลือบเห็นกุญแจบ้านและกุญแจรถซึ่งวางไว้ข้างเครื่องเล่นดีวีดี คุณโจรเลยหยิบกุญแจรถ เก็บของที่ขโมยได้ใส่รถ แล้วไขกุญแจบ้าน เปิดประตู เข็นรถออกไปอย่างสบายใจ

เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณช่วงตีสองถึงตีสามครึ่งน่ะครับ

ที่รู้ก็เพราะ คืนนั้นผมนอนตอนตีสอง หลังได้ยินเสียงพ่อกลับบ้าน ส่วนคุณยายตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนตีสามครึ่ง พอคุณยายกลับเข้าห้องมานอน มองเห็นรถหายไปคันหนึ่ง (ห้องคุณยายผมอยู่ด้านหน้าบ้าน ติดกับโรงรถ มองจากหน้าต่างไป ก็จะเห็นรถจอดอยู่พอดี) เลยเรียกพี่พร ที่นอนอยู่ด้วยกัน ถามว่ารถหายไปไหน พี่พรก็ยังงัวเงียตอบไปว่า สงสัยน้องสาวผมไปรับเพื่อนที่สนามบินมั้ง

คุณยายอายุเกือบเก้าสิบของผม ไม่ยอมคลายสงสัย ลุกเดินไปดูที่ห้องรับแขก สักพักใหญ่ พี่พรเห็นคุณยายหายไปนาน เลยออกมาตามให้กลับไปนอน คราวนี้พี่พรสังเกตเห็นเครื่องดีวีดีหายไป เลยไปดูหลังบ้าน เห็นรอยตัดมุ้งลวด ประตูปิดไม่สนิท

เอาแล้วครับ ทีนี้เลยตกใจ ปลุกสมาชิกในบ้าน ผมเองเพิ่งนอนได้ไม่ถึงสองชั่วโมง

นึกแล้วก็เซ็งเหมือนกันที่นอนเร็ว เพราะปกติช่วงเวลาที่ขโมยขึ้น ผมยังไม่หลับ

เรารีบโทรแจ้งตำรวจ สายตรวจมาถึงก่อน ตามมาด้วยคณะร้อยเวร สมทบด้วยตำรวจอีกชุดหนึ่ง จนรุ่งเช้า ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานมาปิดขบวน

ช่วยกันทำงานดีครับ เราเลยต้องอธิบายเรื่องราวพร้อมชี้จุดเกิดเหตุต่างๆ ไม่ต่ำกว่าห้ารอบ

คนเซ็งจัดคือแม่กับน้องครับ เพราะเป็นรถที่ทั้งสองใช้ (ผมขับรถไม่เป็น ไม่ใช้รถ) แถมยังผ่อนธนาคารไม่หมดอีก เป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะที่บ้านมีปัญหาการเงินหนักหน่วงมาตลอดตั้งแต่ปี 2546 ไม่รู้จะซวยอะไรกันไม่จบไม่สิ้น

บ้าเหลือเชื่อนะครับ รถจอดอยู่ในบ้านแท้ๆ ยังโดนขโมยได้

ตำรวจดูแล้ว เดาว่าคุณโจรคงมีมากกว่าหนึ่งคน และน่าจะมีเด็กร่วมแก๊งค์ด้วย เพราะมีรอยนิ้วมือเรียวเล็กบนกล่อง UBC เหนือทีวี และบ้านอาผมที่ถูกตัดเหล็กดัด พื้นที่ว่างที่คุณโจรลอดเข้าบ้านผ่านเหล็กดัดก็มีขนาดเล็กนิดเดียว

ตอนเช้า ผมโทรไปรายการร่วมด้วยช่วยกัน ไม่เคยนึกฝันว่าวันหนึ่งจะได้ออกวิทยุเพื่อชุมชนกับเขา เล่าเรื่องราว พิธีกรยังตกใจ บอกว่า ไม่เคยเจอ ผมเลยยกบทเรียนให้ผู้ฟังว่า อย่าได้คิดทิ้งกุญแจรถ กุญแจบ้าน ไว้ที่ห้องรับแขกทีเดียว อย่าประมาท

ตำรวจบอกเราว่า คงหมดหวัง เพราะความเป็นไปได้ในการได้รถคืนจากโจรขโมยรถแทบเป็นศูนย์

ก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตารับความเซ็งในชะตากรรมไป

หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ครอบครัวผมเลยปฏิวัติพฤติกรรมกันยกใหญ่

ตอนดึก บ้านผมต้องปิดหน้าต่างทุกบาน ใส่กลอนทุกที่ ปิดม่านหมด ผมเองก็นอนไม่เต็มตาเป็นเวลาหลายเดือนมาก เสียงหมาเห่าต้องตื่นแทบทุกครั้ง คืนหนึ่งตื่นหลายรอบ ถือไม้พลองเดินสำรวจตรวจตรายามดึกรอบบ้าน (ไม่ได้เอามาจากไหนหรอกครับ ถอดมาจากไม้แขวนกางเกงทำงานในตู้เสื่อผ้า)บางคืน ลาดตระเวณเจอน้องชายลูกอาที่โดนขโมยขึ้นพร้อมกัน นั่นก็ลาดตระเวณเหมือนกัน

ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มันสร้างทุกข์ได้มากขนาดนี้เอง เพิ่งรู้ซึ้ง

อย่างน้อยๆ ประชาชนธรรมดา ผู้เสียภาษี ควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะนอนตาหลับนะครับ ท่านๆทั้งหลาย

......

รถหายในบ้านว่าบ้าแล้ว

มีบ้ากว่านั้นอีกครับ

เดือนหนึ่งผ่านไป ได้คืนครับ

บ้าดีไหมครับ

กลางดึกคืนหนึ่ง ประมาณตีสาม ผมนอนหลับอยู่ ได้ยินเสียงโทรศัพท์แว่วๆ ยังคิดว่าหูฝาด นอนต่อสักพัก โทรศัพท์ดังอีก เลยลงไปดูว่ามีสายมาจริงไหมหรือผมเป็นโรคจิตไปแล้ว

ตำรวจโทรมาครับ ถามว่าเป็นเจ้าของรถ Honda เลขทะเบียนนี้ใช่ไหม เขาว่าเจอรถแล้ว ให้รีบมาโรงพักด่วน

ปลุกแม่กับน้องสาว เราก็ยืมรถอาไปโรงพักกันตอนตีสามครึ่ง

เรื่องของเรื่องคือ ตำรวจตั้งด่านตรวจแถวคลองประปา ประชาชื่น เจอกลุ่มวัยรุ่นขับรถผิดสังเกต ไม่มีป้ายทะเบียน ด้านข้างมีร่องรอยโดนชนเป็นแถบยาว เลยเรียกหยุดตรวจ ปรากฎว่ายิ่งทำตัวมีพิรุธหนัก ตำรวจค้นเจอป้ายทะเบียนหลังรถ เช็ค สน.พบว่าเป็นรถที่โดนขโมย

เป็นกลุ่มวัยรุ่นครับ หัวโจกอายุยังไม่ขึ้นเลข 2 เลย มีลูกน้องอีกสามคน อ้างกับตำรวจว่าเป็นรถอา ซึ่งไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ คนหัวโจกโดนขัง ที่เหลือวันรุ่งขึ้นโดนส่งเข้าบ้านเมตตา

ตำรวจเล่าว่า พวกนี้เอารถไปจอดที่อู่รถแถวบางซื่อ ไม่ไกลจากบ้านผมที่อยู่แถบบ้านพักรถไฟ หลัง ปตท.สำนักงานใหญ่ เท่าไหร่ ขับเวียนๆวนๆอยู่แถวนั้น นี่ถ้าเป็นโจรอาชีพ รถผมคงถูกแยกส่วนขาย ไม่ก็คงอยู่แถวชายแดนไปแล้ว

ที่บ้ากว่านั้นอีกคือ เด็กหัวโจกที่ถูกจับได้ บ้านอยู่ติดๆกับบ้านผมเลยครับ เดินไม่ถึงห้านาที คนบ้านใกล้เรือนเคียงกันแท้ๆ ตำรวจสอบปากคำเบื้องต้นพบว่า ไม่ได้เรียนหนังสือ เจ้าของบ้านรับเลี้ยง ไม่มีพ่อแม่ เคยมีประวัติมาก่อน

ส่วนสภาพรถก็เละเทะเลยครับ พี่ๆทั้งหลายขับไปชนกันมาดูไม่ได้ ของในรถอยู่ครบ มีแต่เครื่องดีวีดีที่หายไป แถมคุณพี่ทั้งหลายเอารถไปทำโหลดเตี้ยอีก เปลี่ยนท่อไอเสียใหญ่เบ้อเริ่ม กลายเป็นรถซิ่งไป เสียงดีและดังมากนะครับ เครื่องแรงทีเดียว ขอบอก

ได้รถคืนก่อนปีใหม่ครับ แล้วเรื่องก็เงียบไป ตอนแรกก็โทรไปถามความคืบหน้าเรื่อยๆ แต่ตอนหลังก็เหนื่อยหน่ายครับ เพราะไม่มีอะไรคืบหน้าเลย

เวลามีคดี ร้อยเวรในวันเกิดเรื่องจะเป็นเจ้าของคดีครับ ทีนี้ ร้อยเวรคนหนึ่งเข้าเวรประมาณสัปดาห์ละครั้ง (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) เวลาเราโทรไปถามต้องเลือกวันให้ถูก เพราะทั้งสถานีจะรู้เรื่องอยู่คนเดียว มีช่วงหนึ่งท่านลาพักร้อน ตามด้วยหยุดปีใหม่ ต่อด้วยไปแต่งงาน ผู้รับผิดชอบคดีผมเลยหายไปพักใหญ่ ด้านผู้ต้องหาก็ยังไม่ยอมรับสารภาพ

ท่านตำรวจบอกว่า ต้องส่งลายนิ้วมือไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานรวมศูนย์ส่วนกลาง ที่ต้องรับเรื่องจากทั่วราชอาณาจักร เวลาผ่านไป ผลพิสูจน์หลักฐานรอบแรกเมื่อวันโดนปล้น ยังไม่ส่งกลับคืนมาที่ สน. เลยครับ นี่กว่าจะส่งลายมือใหม่ตอนจับได้ไปให้อีก กว่าจะจับคู่กันได้ คงต้องรออีกหลายเดือน

ดูเหมือนว่าสามัญชนตาดำๆ อย่างเราคงมีทางเลือกเดียวคือ รอคอยไปเรื่อยๆ

อย่างที่ผมต้องรอคอยเกือบหนึ่งปี เพื่อที่จะได้ไปศาลนัดแรก

......


Justice delayed is justice denied.

ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม นั่นเอง

กระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ เต็มไปด้วยความล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ กว่าจะลงโทษคนผิดต้องใช้เวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความผิดระดับใด เช่นเดียวกับที่กว่าคนบริสุทธิ์จะได้รับความเป็นธรรม ต้องใช้เวลายาวนานเช่นกัน

กติกาเช่นนี้ไม่จูงใจให้คนละชั่ว ทำดี และยังไม่คุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์อย่างที่ควรจะเป็น

Justice delayed เป็นต้นตอสำคัญที่ขีดเส้นใต้ความอยุติธรรมในสังคมไทย

'ประสิทธิภาพ' หายไปไหน ในกระบวนการยุติธรรมไทย?

Monday, April 11, 2005

Harvard Professor ถูกจับ

ศุกร์ที่แล้ว The Harvard Crimson หนังสือพิมพ์รายวันภายใน Harvard University ที่มีอายุยืนยาวมาตั้งแต่ 1873 ตีพิมพ์ข่าวฮือฮาว่า Martin L. Weitzman ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์แห่ง Harvard University วัย 63 ปี ถูกจับ

ไม่ใช่เพราะไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่เขาถูกจับในข้อหา ‘ขโมย’

ขโมยปุ๋ยครับ

ปุ๋ยขี้ม้า

เรื่องมีอยู่ว่า Prof.Weitzman โดนจับได้คาหนังคาเขาขณะพยายามขโมยปุ๋ยขี้ม้าใส่รถบรรทุก เหตุเกิดในฟาร์มม้าแห่งหนึ่งในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่า Rockport ในรัฐ Massachusetts แถมวันปฏิบัติการโจรกรรมยังเป็นวันเกิดของเขาด้วย

เจ้าของฟาร์มบอกว่า Prof.Weitzman ขโมยปุ๋ยขี้ม้าจากฟาร์มของเขา รวมมูลค่ากว่า 600 เหรียญสหรัฐ ตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ มาจนมุมเอาคราวนี้ โดยโดนหลานของเจ้าของฟาร์มที่ชื่อ Phil Casey จับได้

พอถูกจับได้ ท่านศาสตราจารย์บอกว่าจะยอมจ่ายเงินให้ ตอนแรกเสนอเงินให้หลานเจ้าของฟาร์ม 20 เหรียญ แต่โดนปฏิเสธ คราวนี้เลยยอมทุ่มจ่ายเพิ่มให้เป็น 40 เหรียญ (โอ้ น่าจะมาเรียนรู้วิธีเจรจาจากนักการเมืองไทยว่า ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เขาให้กันอย่างไร) แต่ Casey ก็ยังไม่ยอม ตอบกลับไปว่า เรียกตำรวจมาแล้ว ทำให้ท่านศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์หัวเสียเป็นอย่างยิ่ง

เท่านั้นไม่พอ สืบไปสืบมา ท่านอาจารย์ยังเป็นคนขโมยปุ๋ยจากที่ดินสาธารณะของชาวเมือง Rockport ช่วงหน้าหนาวปี 2546 อีกด้วย เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกว่า สังเกตว่า ปุ๋ยที่ถมที่สาธารณะไว้ค่อยๆหายไปเรื่อยๆ จนเกือบหมด แต่ตอนนั้นจับมือใครดมไม่ได้ ตอนนี้ท่านอาจารย์สารภาพว่าเป็นคนเอาไปเอง

รู้ข่าวแล้ว ชาวเมือง Rockport คงรู้สึกสมเพชเวทนา เพราะหัวขโมยระดับปัญญาชนก็ไม่ได้อาศัยอยู่ที่ในเมืองนี้ แต่อยู่ที่ Gloucester ซึ่งเป็นแหล่งบ้านช่องของพวกมั่งมี ยังอุตส่าห์มาสูบทรัพยากรของชาวบ้านเมืองเล็กๆ ไปอีก

ผมเข้าไปอ่าน Blog ของ Margaret Soltan, Professor of English ของ George Washington University เธอแต่งบทกลอนเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวนี้ไว้สนุกและแสบมากกกก ขอนำมาให้อ่านกัน

......

... WEITZMAN MARTIN ...

There was a professor in north New England
In north New England lived he,
And such was his love of the stallion’s manure, manure, manure,
That he turned robber all through the countrie.

“My name, I’ll attest it, is Weitzman Martin;
I’d counsel you keep it in mind.
If you have a steed and I’m driving nearby, nearby, nearby,
You would do well to watch its behind.”

For excrete was golden to Weitzman Martin,
And every spring evening he’d flit
Through the redolent acres along Lane’s Farm Way, Lane’s Farm Way, Lane’s Farm Way,
And place in his pickup the choicest horseshit.

Phil Casey, a farmer, had now had enough,
And determined to set him a trap.
He penned Weitzman’s pickup and called the police, the police, the police,
And told him forthwith to return all the crap.

“I’ll offer good money if you’ll let me go,”
The bold Weitzman Martin did say.
But Casey was anger'd and wouldn’t relent, relent, relent.
And now there’s a trial on the ninth day of May.

O Harvard is crimson and Gloucester is red.
How could such a thing have occurred?
A grand full professor on top of his game, his game, his game,
Brought low by the love of an animal’s turd.

......

สุดท้าย ให้ทายครับว่า Prof.Weitzman คนนี้สอนวิชาอะไร

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่จบจาก Swarthmore College, Stanford และ MIT คนนี้ สอนวิชา ...

เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติครับ !!!

เป็น-ไป-ได้ !!!

Saturday, April 09, 2005

ความทรงจำบนสวนทูนอิน (จบ)

Coming Soon ....

Friday, April 08, 2005

ความทรงจำบนสวนทูนอิน (1)

Turn on, Tune in, Drop out

ปรัชญาฮิปปี้แห่งยุคบุปผาชนติดตระหง่านอยู่หน้าศาลาขนาดย่อม แวดล้อมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ในมุมหนึ่งของสวนทูนอิน ดอยโป่งแยง จังหวัดเชียงใหม่

ผมหมายถึง ‘สวนทูนอิน’ ที่เจ้าของตั้งชื่อตามวรรคหนึ่งของปรัชญาฮิปปี้ข้างต้น แม้ฟังอย่างผ่านเผิน จะคลับคล้ายภาษาเหนือคำหนึ่งก็ตาม

‘สวนทูนอิน’ ซึ่งเป็นที่พำนักและโรงช่างประดิษฐ์ตัวอักษรของพญาอินทรีย์แห่งวงวรรณกรรมไทย ผู้นำพาตัวเองเข้าสู่กระแสแห่งธรรมชาติ ณ หุบเขาแห่งนี้ เป็นเวลาร่วม 30 ปีแล้ว

ใช่ครับ, ผมหมายถึง

’รงค์ วงษ์สวรรค์

......

ผมสัมผัสงานเขียนของลุง’รงค์ ครั้งแรกจากคอลัมน์ 2 นาฑี ในมติชนสุดสัปดาห์ แต่ครั้งยังมีวงเล็บ (หนุ่ม) ต่อท้าย จากนั้น จึงเริ่มขุดกรุหนังสือเก่าของคุณย่าและคุณพ่อ ได้อ่านใต้ถุนป่าคอนกรีต เสเพลบอยชาวไร่ และเฟื่องนคร ก็คราวนั้น ต่อมา เลยกลายเป็นแฟนประจำหาซื้องานเขียนทั้งใหม่และเก่าของลุง’รงค์ มาอ่านเรื่อยมา

เชื่อว่า ผมก็เป็นเช่นเดียวกับหลายคน ที่เมื่อแรกสังสรรค์สายตากับผลงานของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาษาเพริศแพร้ว สำนวนเพรียวนม และท่วงทำนองที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์

สารภาพว่า ผมต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง กว่าจะก้าวเดินสู่โลกวรรณกรรมส่วนตัวของลุง’รงค์ได้ แต่เมื่อเข้าถึงแล้ว ทุกวันนี้ยังหาทางออกมิได้ – พูดให้ถูก - ยังนั่งนิ่งอยู่ตรงนั้น มือถือหนังสือแน่น อย่างไม่คิดจะลุกหนีไปไหน

อ่านงานของลุง’รงค์คราใด เป็นต้องดำดิ่งไปกับหลากหลายประสบการณ์ลูกผู้ชาย จมจ่อมกับชีวิตจริงของชนทุกชั้นตั้งแต่กะหรี่ ชาวไร่ ไปจนถึงผู้ดี นักการเมือง ดาราฮอลลีวู้ด ผ่านตัวละครที่มีชีวิตและเลือดเนื้อ ซึ่งถูกถ่ายทอดด้วยภาษาไพเราะ ชั้นเชิงคมคาย สำนวนคมกริบ คำบริภาษแสบทรวง ทั้งหมดนั้น กลั่นออกมาจากประสบการณ์จริงแห่งชีวิตที่โชกโชนตกผลึกของผู้เขียน

กระดาษเปื้อนหมึก ที่รวมกันเป็นฉากหน้าผลงานเขียนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น สามารถไล่ร่องรอยแห่งความทุ่มเท ความตั้งใจจริง และความเป็นมืออาชีพ ของผู้เขียนได้ไม่ยาก

งานเขียนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มิแตกต่างจากงานศิลปที่แฝงเร้นซ่อนรูปอยู่ในวรรณกรรม เป็นงานศิลปที่ผ่านการเจียระไนอย่างประณีตและละเมียดละไม เพื่อบำเรอผู้อ่านซึ่งเขารักยิ่ง ให้ได้รับอรรถรสสูงสุด

เมื่อ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียน, ผู้ประกาศตนเป็น Art labor อย่างเขา ตั้งใจเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้อ่านเสมอ ผู้อ่านที่เขาสำนึกในบุญคุณ และหล่นประโยคหนึ่งอย่างบ่อยครั้งว่า

ถ้าไม่มีผู้อ่าน ย่อมไม่มี’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในวันนี้

.......

ปลายปีที่ผ่านมา

เมื่อรู้ว่าเหล่าสมาชิกบ้านสีฟ้าจะยกพลขึ้นสวนทูนอิน เพื่อเยี่ยมคารวะลุง’รงค์ ผมไม่ลังเลที่จะร่วมขบวนไปด้วย

เรา – พี่โญ พี่หนึ่ง พี่คุ่น คุณฝน คุณเอ๋ และผม – ออกเดินทางโดยรถไฟ จากสถานีสามเสน ในเย็นวันหนึ่ง เพื่อให้ทันสูดอากาศเช้ามืดที่เชียงใหม่

หลังร่วมสนุกกันในตู้เสบียงสักพัก (ใครที่ยังไม่เคย ลองใช้บริการตู้เสบียงของ รฟท. ยามหัวค่ำดู จะครึกครื้นกับความสนุกแบบไทยๆ ที่ท่านมิสามารถพบหาได้จากรถไฟที่ใดในโลก) เหล่าสมาชิกก็กลับมานั่งคุยกันต่อที่ตู้นอนถึงดึกดื่น

เช้ามืด เมื่อขบวนรถไฟแล่นผ่านสะพานขาวขนาดย่อม มุมโปรดของพี่คุ่น และผ่านป่าใหญ่สีเขียวสด ก็เป็นสัญญาณว่า เราใกล้ถึงเชียงใหม่เต็มที

หลังกินโจ๊กมื้อเช้าหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราก็แวะไปเยี่ยมเยียนครูเทพ เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอาชีพ ที่ไม่ว่าใครไปใครมาเชียงใหม่เป็นต้องแวะมาสังสรรค์ ชื่นชมผลงาน และเก็บเกี่ยวความสุขจากท่านเสมอ

บ้านรั้วอิฐของครูเทพ อยู่ใกล้กับวัดอุโมงค์ระยะเดินถึง สังเกตได้ง่ายดายเพราะประตูรั้วไม่เคยปิด เปิดต้อนรับผู้มาเยือน ไม่ว่าจะรู้จักกันเป็นส่วนตัวหรือไม่ ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้มาเยือนเชียงใหม่ที่ไร้ที่พักพิง สามารถอาศัยเรือนนอนหลังใหญ่ของครูเทพได้เสมอ แถมมีโต๊ะปิงปองให้เล่นพอเพลินอีกด้วย

แม้เราไปถึงแต่เช้า ครูเทพก็เริ่มต้นชีวิตตามปกติธรรมดาเรียบร้อยแล้ว เอ่ยทักทายคณะโอเพ่นเสร็จ ก็วางไม้กวาด ชวนเราชมการแสดงภาพเขียนประกอบเรื่องเล่ารอบเช้ามืดทันที

ภาพเขียนในวันนั้นเป็น collection ภาพนู้ด ที่ครูเทพเพิ่งวาดเสร็จไม่นาน พื้นที่แสดงภาพก็อาศัยวางบนพื้นบ้านนั่นเอง ครูเทพแสดงภาพนู้ดที่วาดจากนายแบบนางแบบจริงทีละภาพ พร้อมเล่าเรื่องที่มาที่ไปของภาพอย่างเต็มไปด้วยสีสัน

ตอนนี้สำนักพิมพ์มติชนได้ตีพิมพ์ภาพชุดดังกล่าว พร้อมเนื้อความประกอบ เป็นเล่มสี่สีสวยงามแล้ว ชื่อเล่มว่า ‘ศิลปินกับนางแบบ’ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือใกล้บ้านท่าน

ใครที่เคยได้ยินชื่อครูเทพคงรู้ว่า ท่านมิเพียงเป็นศิลปินนักวาดภาพหลากหลายสไตล์ อันโด่งดังและเปี่ยมด้วยจินตนาการบรรเจิด ท่านยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักเขียน นักวิชาการภูมิปัญญาพื้นถิ่น ที่สำคัญ ครูเทพยังเป็นนักเล่าเรื่อง นักเล่านิทาน และนักแสดงศิลป ตัวยง ที่หาตัวจับได้ยากของวงการ

ชมการแสดงเสร็จ ผมกับพี่โญนั่งคุยกับครูเทพต่อ ขณะที่สมาชิกที่เหลือเข้าเมืองเชียงใหม่ ตอนหนึ่ง ครูเทพบอกว่า ประเทศไทยมันจะเจริญแล้ว เพราะภาพเขียนที่เก็บไว้ในห้องแสดงภาพถูกขโมย ร้อยวันพันปี เปิดประตูบ้านประตูห้องไว้ตลอด ไม่เคยหาย เพิ่งมาหายเมื่อเดือนก่อน นี่ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีของวงการศิลปะไทย

คุยกันสักพัก ผมกับพี่โญก็ขอตัวไปนอนเอาแรง ตื่นมาใกล้เที่ยง กินข้าวที่ร้านข้างบ้านครูเทพเสร็จ ผมก็ไปเดินเล่นที่วัดอุโมงค์

อันที่จริง ผมเพิ่งมาเยี่ยมเยียนวัดอุโมงค์เมื่อเดือนก่อน เพราะปีที่แล้วขึ้นมาสอนที่มหาวิทยาลัยพายัพทุกวันเสาร์เป็นเวลาเกือบสามเดือน ตอนนั้นก็เคยถามพิกัดบ้านครูเทพจากหลวงพ่อที่วัดแล้ว แต่ไม่กล้าเข้าไปเยี่ยม ได้แต่ด้อมๆมองๆอยู่หน้าบ้าน

ผมเคยเข้าวัดอุโมงค์ครั้งแรกตั้งแต่สมัยประถม เมื่อครั้งมาเยี่ยมพ่อที่ตอนนั้นทำงานอยู่เชียงใหม่ แต่จำความอะไรไม่ได้ อาศัยดูรูปถ่ายเป็นพยานหลักฐาน

เมื่อเข้าวัดอุโมงค์อีกครั้งเมื่อเดือนก่อน ผมรู้สึกสงบอย่างประหลาด บรรยากาศแห่งความร่มรื่นและเป็นธรรมชาติของวัดอุโมงค์ดับความร้อนรุ่มในใจผมได้อย่างง่ายดายและมหัศจรรย์ ผมติดใจและหลงรักบรรยากาศที่นี่ตั้งแต่ตอนนั้น นับเป็นสถานที่ที่ผมประทับใจที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่

แท้จริงแล้ว เราเข้าถึงธรรมะได้ไม่ยากเลย ธรรมะอยู่ท่ามกลางธรรมชาตินี่เอง เสียดายก็แต่คนเมืองหลวงที่มีวิถีชีวิตรีบเร่งและมุ่งไขว้คว้าความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างไม่ลดละ ต้องวนเวียนอยู่ในกับดักที่พาตัวเองถอยห่างจากธรรมะหรือธรรมชาติไกลขึ้นเรื่อยๆ

หากกรุงเทพฯมีสถานที่แบบวัดอุโมงค์คงช่วยทำให้จิตใจร้อนรุ่มและเต้นแรงของเหล่าชาวกรุง ได้เยือกเย็นและเงียบเสียงลงบ้าง

ผมนึกถึงตอนฝึกมวยจีนกับอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ในเย็นวันหนึ่ง วันนั้น อาจารย์ฝึกท่าเดินช้าให้พวกเรา

การเดินช้าเป็นวัตรปฏิบัติที่สวนทางกับชีวิตประจำวันของคนเมืองหลวงอย่างแท้จริง เอาเข้าจริง ยากกว่าการเดินเร็วมากนัก นั่นก็เป็นบทเรียนล้ำค่าอีกบทหนึ่งที่ได้รับจากอาจารย์ผม

ฝึกตัวเองให้รู้จักเดินให้ช้าลงบ้าง

อิ่มเอมกับความสงบในวัดอุโมงค์พักใหญ่ ผมก็กลับมานั่งคุยกับครูเทพต่อ สักพักก็มีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มารับครูเทพไปวิจารณ์หนังเรื่อง Dreams ของอากิระ คุโรซาวา

ไม่นานพลพรรคที่เข้าเมืองเชียงใหม่ก็กลับมาพร้อมหน้า เรานัดรถสองแถวรับจ้างไว้ที่นี่ตอนบ่ายแก่ เพื่อขึ้นดอยโป่งแยงให้ทันช่วงเย็น ตามที่ได้นัดหมายกับลุง’รงค์ไว้

......

สองข้างทางของทางหลวงสายแม่ริม-สะเมิง-หางดง งดงามอย่างยิ่ง ริมทางเต็มไปด้วยรีสอร์ตสวยงาม ทางแยกไปน้ำตกสำคัญ สวนพฤกษศาสตร์ ไหนจะยังมีธารน้ำตกแม่สาไหลเรื่อยเคียงข้างถนนลาดยางคดเคี้ยวเส้นนี้อยู่เบื้องล่างด้วย

ชื่มชมธรรมชาติสองข้างทางและตั้งวงสนทนากันพักใหญ่ เราก็หักเข้าทางแยกขึ้นดอยโป่งแยง พื้นที่บริเวณสวนทูนอินเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเมืองหนาวของชาวบ้านแถบนี้ มองภาพมุมกว้าง เป็นภาพไร่ไม้ดอกทอดยาวสวยงาม

รถสองแถวลัดเลาะขึ้นเนินชัน แล้วมาหยุดล้อที่ไหล่เขา สายตาผมปะทะป้ายที่แขวนอยู่บนต้นไม้ใหญ่ เนื้อความว่า ‘สวนทูนอิน’ พร้อมชื่อเจ้าของสถานที่

รถขับผ่านทางเข้าสวนธรรมชาติขนาด 20 ไร่ ที่ปลูกสร้างและตกแต่งบนพื้นที่ดั้งเดิมอย่างรักษาธรรมชาติ ไม่มีการตัดไม้เดิมแม้สักต้น ไม่กี่อึดใจ คนขับก็พาเรามาหยุดอยู่ที่หน้าเรือนที่พักขนาดกะทัดรัด สองห้องนอน พร้อมห้องครัวและห้องน้ำ ที่ตกแต่งอย่างสวยเก๋ เรือนรับรองแขกแห่งนี้เป็นที่พำนักของพวกเรา

เก็บข้าวเก็บของ อาบน้ำอาบท่า ชมนกชมไม้ ฟังเสียงดนตรีไพร กันพักใหญ่ ฟ้ามืดแล้ว ฝนเริ่มโปรยปราย แม่บ้านก็ขึ้นมาตามพวกเรา สำรับพร้อม เจ้าบ้านเชิญ

เรือนที่พักและเรือนเขียนหนังสือของลุง’รงค์ อยู่ด้านล่างของสวนลงไปในหุบเขา ซึ่งต่ำระดับกว่าทางเข้าสวนและเรือนรับรองแขก ทางเดินสู่เรือนที่พักต้องเดินตัดเข้าป่าลงเนินไป มีไม้เล็กไม้ใหญ่ไม้ดอกตามรายทาง ไม่มีไฟฟ้า มีแต่เทียนทำหน้าที่บอกเส้นทาง

ต้นทางเดินลงสู่เรือนที่พัก มีป้ายไม้แขวนไว้เหนือระดับศีรษะ

เนื้อความสลักว่า

Writer’s Secret

ผมกำลังจะก้าวเดินสู่โลกลับของนักเขียนคนหนึ่งในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

หัวใจผมคงไม่เต้นแรงถึงเพียงนี้

หากบุคคลที่รออยู่สุดขอบทาง มิได้ชื่อว่า ... ’รงค์ วงษ์สวรรค์

Wednesday, April 06, 2005

สายลมแห่งชะตากรรม

ไม่อยากเชื่อว่าเขียน blog มาได้เกือบเดือนแล้ว

ที่จริง ทีแรกกะจะเขียนเล่นๆ สนุกๆ เล่าเรื่องใกล้ตัวสั้นๆ สบายๆ ประมาณไดอารี่ แต่เขียนไปเขียนมา หลังๆ เนื้อหาชักจะเข้าใกล้บทความ(ขนาดยาว)เข้าไปทุกทีแล้ว ไม่รู้มีคนอ่านบ้างหรือเปล่า ที่นอกจากกลุ่มเพื่อนผมไม่กี่คนน่ะครับ แล้วคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง เขียนวิจารณ์มาได้นะครับ ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวก็ไม่เป็นไร

เขียนไปเขียนมา ก็อดที่จะเขียนตามสันดานตัวเองไม่ได้

ตามสันดาน ผมเป็นพวกช่างคิดช่างวิจารณ์สิ่งรอบตัว เนื้อหาหน้าตา blog เลยออกมาเป็นอย่างนี้

และสันดานอีกอย่าง ... เขียนสั้นๆ ไม่เป็นครับ

ชอบทรมานคนอ่าน :)

สมัยเริ่มเขียนบทความลงกรุงเทพธุรกิจ ลำบากมากครับ เพราะเขาให้พื้นที่นิดเดียวด้านล่างสุดของหน้าสอง ถ้าจะให้เหมาะก็ต้องประมาณ 2 หน้า A4 อย่างมากก็ 2 หน้าครึ่ง แล้วจะไปเขียนอะไรได้เนื้อได้หนังละครับ

แรกๆ ผมเขียนบทความหนึ่งประมาณ 4-5 หน้าประจำ เลยมักต้องแบ่งลงเป็นสองตอน หรือไม่ก็ไปต่อหน้าข่าว เขียน 9 หน้าก็เคยมาแล้ว ต้องลงสามตอน ตอนเขียนที่นั่นมีเหตุให้ต้องกระทบกระทั่งกับคนคุมหน้าเป็นประจำ เพราะท่านชอบมาตัดบทความผมโดยไม่บอกไม่กล่าว บางทีตัดแล้วทำให้เนื้อความผิดไปเลยก็มี แถมบางครั้งหวังดีเปลี่ยนชื่อให้อีก

จนย้ายมา 'มองซ้ายมองขวา' ในประชาชาติธุรกิจ การทำงานที่นี่ดีมากครับ เพราะคนทำงานมืออาชีพ ให้เกียรติคนเขียน และยังให้พื้นที่มาก เกือบ 2/3 ของหน้าสอง ปกติก็ควรเขียนประมาณ 4 หน้า A4 แต่เป็นพวกได้คืบจะเอาศอกน่ะครับ ผมมักจะล่อไป 6-7 หน้า (ไม่ได้ตั้งใจนะครับ แต่เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา) บ่อยครั้งที่ส่งต้นฉบับไปแล้ว ต้องโดนโทรมาบอกให้ช่วยตัดเนื้อหาให้หน่อย บางทีตัดกันสดๆ รอกันเป็นประโยคเลย แต่ช่วงหลัง ก็เริ่มดีขึ้นนะครับ เริ่มหาจุดลงตัวได้

การทำหนังสือพิมพ์นี่ พื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมากครับ

ตอนเริ่มเขียนลงโอเพ่นก็เช่นเดียวกัน แรกๆ ก็เขียนยาวครับ แต่พี่โญโยกไปเป็น cover story ก็เลยไม่เป็นไร มาเริ่มคอลัมน์ 'กลับหลังหัน' เนื้อที่เป็นหน้าคู่ ผมก็มักจะเขียน 3 หน้าประจำ แต่คอลัมนิสต์โอเพ่นชอบเขียนยาวเกินกำหนดกันเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ได้คุมอะไรจริงจัง เพราะรู้อยู่แล้วว่าคุมยาก เป็นเสรีชนหรือเป็นศิลปินกันสูง

พี่โญมักขู่เสมอว่า ต่อไปคอลัมนิสต์คนไหนเขียนยาว จะไม่ให้ค่าต้นฉบับ แถมจะเก็บเงินเพิ่มอีก โทษฐานทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรกระดาษ

พูดถึงเรื่องการเขียนงานให้ลงตัวพอดีพื้นที่ ต้องยกให้พี่โญครับ รายนี้สั่งท่านได้ หน้ากระดาษเหลือกี่หน้า ปิดได้พอดีหมด ลองดูคำนำสำนักพิมพ์ที่พี่โญเขียนตาม pocketbook หลายเล่มของโอเพ่นได้ครับ ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เขียนหลังสุดก่อนส่งโรงพิมพ์ พี่โญก็เขียนตามพื้นที่กระดาษที่เหลืออยู่ให้พอดียก แถมยังเขียนได้ดีเสียด้วย

'จุดลงตัว' ในงานเขียน ต้องอาศัยทั้งฝีมือและประสบการณ์ ซึ่งมือสมัครเล่นอย่างผม ยังไม่เชี่ยวเอาเลย

เช่นเดียวกับ การหา 'จุดลงตัว' ในชีวิต

เมื่อก่อนผมก็เคยคิดว่า ชีวิตเข้าสู่จุดลงตัวแล้ว เพราะมันดำเนินไปตามเส้นทางที่ตนเองวาดฝันไว้ตั้งแต่ยังเด็กทีละขั้นๆ แต่ไม่นานก็มาเข้าใจสัจธรรมว่า ชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างนั้นหรอกไอ้น้อง พอมันลงตัวก็มีเหตุให้มีปัจจัยทั้งภายนอกภายในเตะมันออกจากดุลยภาพเรื่อยไป ตอนนี้ยังหาทางกลับไม่เจอเลย

อนิจจังครับอนิจจัง

ว่าไป ชีวิตคนเราก็ขึ้นอยู่กับสายลมแห่ง 'ชะตากรรม' ไม่น้อยนะครับ

แน่นอนว่า เรากำหนดชีวิตได้ด้วยตัวเอง แต่นั่นก็เพียงระดับหนึ่ง บ่อยครั้ง สายลมแห่งชะตากรรมก็พัดพาเราไปยังโลกที่เราไม่เคยพานพบ จนเราเองเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินเสียใหม่

แม้เป็นเรือใหญ่ที่เข้มแข็ง ก็ใช่ว่าจะไปถึงฝั่งที่เคยตั้งใจไว้ได้ ออกทะเลแล้ว ไม่รู้จะเจอคลื่นลมรุนแรงขนาดไหน ต้องเจอปัญหาระหว่างทางใดบ้าง เพียงแต่เรือที่เข้มแข็งกว่า อุปกรณ์เดินเรือดีกว่า และมีแผนที่เป้าหมายชัดเจนกว่า ก็คงมีศักยภาพที่จะฝ่าสายลมแห่งชะตากรรมให้ถึงจุดหมายปลายทางของตนมากกว่า

เราทำได้ก็แต่เตรียมพร้อมสร้างเรือของเราให้เข้มแข็ง ด้วยวัสดุคุณภาพ แต่จะไปบังคับคาดการณ์ทิศทางลมภายนอก เห็นทีจะไม่ได้

บางครั้ง สายลมแห่งชะตากรรมอาจพัดพาให้เรืออับปาง แต่อีกหลายครั้ง สายลมอาจพัดพาเราไปสู่โลกใหม่ ที่งดงามกว่าเดิมก็เป็นได้

คิดๆไป ชีวิตของคนก็ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ของสังคม ที่ผมเขียนไว้ในบทความข้างล่างหรอกครับ

บางครั้งเหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิต ที่เราเผชิญ อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงตัวตน เปลี่ยนความคิด กระทั่งเปลี่ยนโลกภายในของเราได้

เส้นทางที่เราเลือกเดินอยู่ในปัจจุบัน ก็มักได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ส่วนตัว ความประทับใจส่วนตัว ความสะเทือนใจส่วนตัว ที่เคยพบเจอในอดีต เมื่อเกิดเหตุหนึ่ง ก็นำเราไปสู่ผลหนึ่ง อันเป็นเหตุใหม่นำเราไปสู่ผลใหม่เรื่อยไปไม่รู้จบ

ผมเชื่อว่า ทุกคนต้องเคยเผชิญเหตุการณ์ที่เป็น 'จุดเปลี่ยน' ในชีวิต ซึ่งทำให้ตัวตนหรือวิธีคิดของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ หรือเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัวให้เราอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เป็นแรงขับเคลื่อนผลักดันอยู่เบื้องหลังการกระทำของเรา กระทั่ง มีอิทธิพลต่อนิสัยใจคอ บุคลิก มาตรฐานจริยธรรม แม้แต่รสนิยมส่วนตัว

สนุกดีนะครับ เวลาคุยกับใครๆ ว่า 'จุดเปลี่ยน' ในชีวิตของแต่ละคนคืออะไร ประสบการณ์ใดที่ทำให้เราเป็นเราอยู่ทุกวันนี้ ทำให้เราเดินบนเส้นทางที่เราเดินอยู่ทุกวันนี้

การถอดรากย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดของตัวตนและวิธีคิดของแต่ละคนเป็นเรื่องสนุก เพราะช่วยให้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น

ที่สำคัญ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง และได้อยู่กับตัวเอง

ถอดรากแล้ว ชีวิตท่านมีเงาร่างของใครทาบทับอยู่บ้างครับ?

Tuesday, April 05, 2005

ประวัติศาสตร์ที่เป็นประชาธิปไตย

บ่อยครั้งที่เรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อาจมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์เล็กๆ โดยคนเล็กๆ ในสังคม

เกิดขึ้นเงียบๆ เพียงจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ กระเพื่อมขยายวง ออกสู่ผู้คนในวงกว้าง จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกว้างขวางใหญ่หลวงระดับสังคมในบั้นปลาย

อดคิดไม่ได้ว่า อย่าดูถูกพลังของคนเล็กๆ ธรรมดาๆ ที่มุ่งหวังที่จะทำสิ่งที่ดี แม้เขาเหล่านั้นจะเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียวหรือมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพียงหยิบมือ ทำตัวดุจไม้ซีกงัดไม้ซุง หรือแม้เขาเหล่านั้นจะห่างไกลจากศูนย์กลางแห่งอำนาจในโครงสร้างระดับบนของสังคม ก็ตามที

การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และดีงามหลายครั้งไม่จำเป็นที่ต้องมี 'อำนาจ' เสียก่อน และไม่จำเป็นที่ต้องเริ่มต้นจาก 'ผู้มีอำนาจ'

การปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญของไทยที่มีสัญลักษณ์รูปธรรมอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ก็มีที่มาเริ่มต้นจากการอดข้าวประท้วงของคุณฉลาด วรฉัตร หน้ารัฐสภาในปี 2537 แม้คนไทยจะเบื่อหน่ายระบบการเมืองเก่าแล้วก็ตาม แต่จำได้ว่า เสียงสนับสนุนคุณฉลาดตอนนั้นยังน้อยนิด ชนชั้นกลางเสียอีกกลับเบื่อหน่ายในบทบาทนักอดข้าวของคุณฉลาด โดยมองไม่ทะลุถึงเจตนาดีต่อประเทศชาติของท่าน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามช่วยชีวิตคุณฉลาดนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ที่มีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน ซึ่งตอนนั้น คนทั่วไปก็ไม่ได้ให้ความสนใจคาดหวังอะไรมากนักด้วยซ้ำ คิดว่าเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่คุณหมอประเวศมิได้คิดเช่นนั้น หากใช้โอกาสทำงานอย่างมีคุณภาพ

ต่อมา เมื่อคุณบรรหาร ศิลปอาชา ขึ้นเป็นนายกฯ ก็ต้องพยายามทำทีจะปฏิรูปการเมือง เพื่อรักษาอำนาจ ต่อสู้กับเสียงยี้จากชนชั้นกลาง ผลก็คือ นอกจากเราจะได้วุฒิสภาแต่งตั้งที่ดีที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว เรายังได้ คปก. (ผมจำชื่อที่ถูกสมบูรณ์ไม่ได้ น่าจะประมาณคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปการเมือง) โดยมีคุณชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน รับไม้ต่อจาก คพป. จนสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบใหม่เข้าสภา

เมื่อร่างฯเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง มาเจอสถาปนิกทางการเมืองชั้นเซียนอย่างอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่วมด้วยบทบาทชั้นเซียนในที่ประชุมของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำให้เราได้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มีหน้าตาก้าวหน้าแตกต่างจากร่างเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลตอนนั้น ผมยังจำภาพอาจารย์ชัยอนันต์ยกมือยกไม้ ใบ้หวยตัวเลขให้ข้างล่างโหวตตาม จากที่นั่งคณะกรรมาธิการใกล้บัลลังก์ประธานได้ติดตาถึงทุกวันนี้

สสร.ถือกำเนิดขึ้น และเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พร้อมๆ กับการเริ่มต้นของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กระทั่งประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ความอดทนต่อการเมืองเก่าเดินทางมาถึงขีดสุด เสียงสนับสนุนต่อการปฏิรูปการเมืองดังระงมทั่วประเทศ จนเกิดพลังสีเขียวร่วมผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน และคุณอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นหัวแรงสำคัญอย่างลงตัว จนในที่สุดก็ผ่านรัฐสภาไปได้ ถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจระดับบนทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ไร้การนองเลือด จนรัฐธรรมนูญใหม่เป็นสถาบันที่สร้างความเข้มแข็งให้คุณทักษิณและพลพรรคไทยรักไทยอยู่ทุกวันนี้

เชื่อว่าคนที่ติดตามการเมืองในช่วงปี 2537 ตอนที่คุณฉลาดเริ่มอดข้าว คงไม่มีใครจินตนาการได้เลยว่า การณ์จะพลิกผันก้าวหน้ามาไกลได้ถึงเพียงนี้

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับบน ไม่จำเป็นต้องมีพระเอกหรืออัศวินม้าขาวทำหน้าที่พลิกฟื้นประเทศทั้งประเทศแบบวันแมนโชว์และไม่จำเป็นเป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจทางการจากเบื้องบน แต่มันมีปัจจัยมากมายร่วมกันกำหนด มีบทบาทของสามัญชนคนธรรมดาร่วมอยู่บนเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์เสมอ แม้จะมีบทบาทร่วมในฐานะฟันเฟืองเล็กๆตัวหนึ่ง ภายใต้หน้าที่ต่างๆ แต่ก็มีคุณค่าพอที่ทำให้ระบบทั้งหมดขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

จากการอ่านประวัติศาสตร์การเมืองทั้งของไทยและของบางประเทศ ผมพร่ำสอนตัวเองเสมอว่า อย่าดูถูกพลังของสามัญชนที่ไร้อำนาจ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม และอย่าดูถูกพลวัตของสังคม

ผู้คนในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้นำทางความคิดจำนวนมากไม่ได้มุ่งแสวงหาอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานตามศรัทธาของเขาเหล่านั้นอย่างเป็นธรรมชาติ เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ตนเผชิญไปเรื่อย จนสังเคราะห์เป็นวิถีทางต่อสู้เฉพาะตัวเอง ในกติกาที่ตนเป็นผู้เลือก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการต่อสู้ในระบบเดิมที่ครอบงำสังคมอยู่

สักวันก้าวเล็กๆ ของคนบางคน อาจเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของสังคมได้ ดูอย่างบทบาทของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม หรือคุณประยงค์ รณรงค์ เป็นอาทิ

การกระทำหนึ่งเป็น 'เหตุ' ให้เกิด 'ผล' ต่อเนื่องหลายอย่าง และผลเหล่านั้นก็กลายเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องต่อไปอีก ตามหลักอิทัปปัจยตา เช่นนี้เรื่อยไป ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นลอยๆ อย่างไร้รากไร้ที่มา ทุกอย่างเป็นกระบวนการแห่งเหตุและผล ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน

ผมหวนกลับมาคิดถึงเรื่องเหล่านี้อีกครั้ง เมื่อได้เห็นบทบาทของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

หลังจากเศร้าใจกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ และผิดหวังกับสังคมไทยอย่างแรง ผมกลับมารู้สึกมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะเกิดความหวังอย่างแรงกล้าจากคณะกรรมการชุดนี้ ได้ฟังคุณอานันท์สัมภาษณ์แล้ว รู้สึกว่า คณะกรรมการชุดนี้มีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ ให้สังคมไทยได้มากมาย เพราะคุณอานันท์ไม่ใช่เก่งและดีอย่างเดียว แต่ยังเต็มไปด้วยปฏิภาณและช่ำชองด้วยลีลาการทูต เป็นผู้นำที่ 'เป็น' ในการบริหาร นำพาไปสู่จุดหมาย และคุยพูดสื่อสารกับสังคม

ยิ่งได้เห็นท่าทีของคุณทักษิณในช่วงสองสัปดาห์มานี้ ผมรู้สึกชื่นชมมาก เพราะดูเหมือนว่าคุณทักษิณจะเข้าใจแล้วว่าในอดีต ตัวท่านเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างไร สัญญาณที่มาจากตัวผู้นำมีบทบาทอย่างสูงในช่วงสถานการณ์วิกฤต จะคลี่คลายก็ได้ ทำลายก็ได้เช่นกัน

ตัวท่านอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เมื่อสัญญาณประเภท โจรกระจอก ขีดเส้นตายให้จับให้ได้ ไม่เก็บไว้ทำพ่อ ตาต่อตาฟันต่อฟัน เกิดขึ้นบ่อยๆ ลิ่วล้อจำนวนมหาศาลก็พร้อมจะปฏิบัติตามสัญญาณที่ท่านส่งออกมา แม้ว่าท่านจะต้องการให้มันเลยเถิดถึงขั้นละเมิดความเป็นนิติรัฐและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครทราบได้

บทบาทของคุณทักษิณตั้งแต่กลับจากพักผ่อนที่ญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยิ่ง โดยเฉพาะบทบาทในรัฐสภาของทั้งคุณทักษิณและคุณอภิสิทธิ์ที่ต่างเป็นสุภาพบุรุษและถางทางสู่ความสมานฉันท์ในสังคมอย่างงดงาม แม้จะถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์รุนแรงอย่างการระเบิดที่หาดใหญ่ คุณทักษิณก็ยังคงวางตัวได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง การ์ดไม่มีตก

ในฐานะที่เพื่อนฝูงรอบตัวชอบเรียกผมว่าขาประจำคนหนึ่ง นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกดีกับนายกของผมอย่างมากๆๆ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

ขาประจำคนนี้ขอชมอย่างจริงใจ

หรือว่าการปรับเปลี่ยนบุคลิกส่วนตัว (เนื้อแท้จะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่ก็อีกเรื่อง แต่ภาพลักษณ์สาธารณะมีบทบาทสำคัญสำหรับการเมือง) เพียงเล็กๆน้อยๆแค่นี้เอง โดยหันมาฟังคนอื่น ไม่ใจร้อน ไม่พูดพล่อย ไม่ราดน้ำมันบนกองไฟ ไม่ด่ากลับเวลาถูกวิจารณ์ ไม่เอาแต่เล่นการเมือง ไม่หวงอำนาจ คือสิ่งเล็กๆ ที่ขาดหายไปจากรัฐบาลชุดก่อน จนเป็นเหตุให้เกิดผล ขยายวงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและตัวคุณทักษิณอย่างใหญ่โตต่อเนื่องตามมา

ถ้าท่านทำตัวเยี่ยงนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง เห็นทีผมต้องคืนคำพูดที่ทำนายว่า รัฐบาลจะอยู่ได้ไม่ครบสี่ปี เพราะจะไม่สามารถจัดการวิกฤตที่จะถั่งโถมเข้ามาในอนาคตได้ ตอนนี้คุณทักษิณเหมือนจะรู้แล้วว่า ระบบผู้นำเข้มแข็งเบ็ดเสร็จไม่สามารถจัดการปัญหาได้ หากการแก้วิกฤตต้องระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมให้มากที่สุด ไม่ใช่เล่นบทอัศวินม้าขาวที่ผูกขาดความจริงอยู่คนเดียว

สารภาพว่า ผมไม่เคยมีความหวังว่า คณะกรรมการสมานฉันท์จะพาตัวเองมาสร้างสถานะที่เข้มแข็งได้ไกลเพียงนี้

เมื่อครั้งที่กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมร่างจดหมายเปิดผนึกให้นายกขอโทษกรณีฆ่าผู้ชุมนุมที่ตากใบ (สำหรับผม มันไม่ใช่อุบัติเหตุ) และล่าลายเซ็นกัน ผมยังรู้สึกไม่ถูกใจเนื้อความในจดหมาย เพราะเห็นว่าเหตุการณ์มันใหญ่โตรุนแรงกว่าแค่จะมาเรียกร้องให้นายกขอโทษ มันหน่อมแน้มเกินไป ผมคิดว่านายกต้องลาออกด้วยซ้ำ ผมร่วมประชุมกับคณะปฏิบัติการอยู่ไม่กี่ครั้ง ก็ถอยตัวเองออกมาดูห่างๆ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพและด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง จนเมื่อกลุ่มอาจารย์ตัดสินใจเข้าพบนายก มีการมอบนกกระดาษและตั้งกรรมการสมานฉันท์นี้เพิ่มมาอีกชุดหนึ่ง ผมยิ่งรู้สึกหมดหวัง เพราะไม่คิดว่ามันจะแก้อะไรให้ดีขึ้นได้

ถึงวันนี้ ผมคิดใหม่ว่า ผมเข้าใจผิด

การเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรม ไม่สามารถแก้ได้ชั่ววันข้ามคืน แต่จุดเล็กๆ ที่อาจไม่ได้คาดหวังตั้งใจแต่ต้น มันอาจจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะเมื่อพลังเล็กๆที่เราร่วมกันสร้างขึ้น ปะทะสังสรรค์กับพลังที่หลากหลายในสังคม และปะทะเงื่อนไขใหม่ๆตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มันจะมีโมเมนตัมส่งต่อ และคลี่คลายไปโดยตัวของมันเอง อย่างที่ผู้เริ่มต้นไม่สามารถควบคุมมันได้

ยิ่งการให้ความรู้แก่สังคมเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืนด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ทั้งเวลาและลีลา สำหรับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะทำลายวัฒนธรรมคลั่งชาติ

ย้อนกลับไป คิดเล่นๆว่า ถ้าวันนั้น จดหมายเปิดผนึกเต็มไปด้วยความรุนแรง นายกอาจไม่สนใจเชิญพวกนักวิชาการพบ แต่อาจออกมาด่าซ้ำเติมไฟ ทางลงที่นายกเลือกอาจเป็นทางอื่น ถ้าอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และอาจารย์บรรเจิด สิงคเนติ แห่งนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่างจดหมาย ล่าลายเซ็นต์ และเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว ก็ไม่มีผลักดันอย่างเข้มแข็งในตอนต้น ถ้าไม่ได้อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกนักประสานงาน สุภาพอ่อนโยน ให้เกียรติคน แต่มีหลักการ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา การณ์อาจเคลื่อนไหวคลี่คลายเป็นอย่างอื่น ถ้าไม่บังเอิญอาจารย์สาวคนหนึ่งแห่งมหิดลคิดพับนกสันติภาพมอบให้นายก อาจไม่มีวัตถุเชิงสัญลักษณ์ให้เคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรมกันต่อ ถ้าคุณอานันท์ ไม่เสียสละยอมเหนื่อยลงมาเปลืองตัวเพื่อชาติอีกครั้ง พลังผลักดันภายในกรรมการชุดนี้คงไม่มีชีวิตชีวาและไม่สามารถดึงคนดีๆมาร่วมได้มากเท่านี้ หรือถ้านายกทักษิณใจแคบไม่ยอมรับคุณอานันท์ การตั้งกรรมการก็ไม่สำเร็จ หรือถ้าเชื่อตามข่าว หากนายกไม่บินไปทำตัวสงบๆที่ญี่ปุ่น อาจไม่คิดตกและกลับมาด้วยทีท่างดงามเท่านี้

ประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นด้วยประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า 'ถ้า...' มากมาย แม้จะเป็น 'ถ้า' หนึ่ง แต่ก็มีพลังให้เกิด 'ถ้า' ต่อๆ ไป ร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราว หรือหาก 'ถ้า' มันไม่เกิด เรื่องราวอาจพลิกหัวพลิกหากกลับไปอีกทางหนึ่งอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

เป็นบทเรียนสอนผมอีกครั้งว่า อย่าได้ดูถูกพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ โดยคนเล็กๆ ที่หลบมุมอยู่ในประวัติศาสตร์ และอย่าได้ดูถูกพลังแห่งประวัติศาสตร์ที่มันจะคลี่คลายปรับตัวของมันเองเป็นพลวัตเมื่อเผชิญกับสภาพความจริง เหตุเล็กๆ อาจนำไปสู่ผลที่ยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน

เหนือสิ่งอื่นใด การเข้าใจประวัติศาสตร์โดยใช้หลักอิทัปปัจยตายังช่วยให้เราตระหนักในกฎไตรลักษณ์ โดยเฉพาะเห็นถึงความไม่เที่ยง หากสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงลื่นไหล และยังช่วยลดอัตตา ให้หันมานับถือผู้อื่น เชื่อมั่นในพลังของคนธรรมดา อยู่กับปัจจุบัน ทำวันนี้ให้ดีที่สุดตามอัตภาพที่ตนมี

เช่นนี้ประวัติศาสตร์มิใช่เรื่องราวของชนชั้นสูง หากเป็นเรื่องราวของสังคม ที่คนเล็กคนน้อยเข้าถึงและมีส่วนร่วมทางตรงได้ ชนชั้นนำทางอำนาจวงแคบๆในประวัติศาสตร์ลดความสำคัญลง สามัญชนผู้ไร้อำนาจเพิ่มความสำคัญขึ้น

จนกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ให้เป็นประชาธิปไตยก็คงมิผิด

Sunday, April 03, 2005

นักวิชาการในฝัน (2): มุมมองของปลาในน้ำ

บางคนบอกว่า หากเราเป็นปลาที่ว่ายอยู่ในหนองน้ำ แม้จะรู้ความลึกของน้ำในหนอง รู้อุณหภูมิ และวิถีชีวิตภายในหนองน้ำอย่างดี แต่เราย่อมมองไม่เห็นขอบเขตของหนองน้ำว่ามันกว้างใหญ่หรือคับแคบเพียงใด อยู่แต่ในโลกเล็กๆของตัวเท่านั้น ไม่เหมือนกับนกที่บินอยู่บนฟ้า แล้วเห็นโลกที่กว้างใหญ่กว่าหนองน้ำเล็กๆ กระนั้น นกที่รู้ขอบเขตของหนองน้ำ ย่อมไม่เข้าใจวิถีชีวิตของน้ำในหนองอย่างแท้จริง เนื่องเพราะไม่เคยดำดิ่งลงไปใต้ผิวน้ำด้วยตัวเอง

ในฐานะปลาตัวหนึ่ง ที่เวียนว่ายอยู่ในหนองน้ำวิชาการ เลยอยากชวนคุยวิพากษ์วิจารณ์แวดวงวิชาการไทยด้วยสายตาแบบปลาๆ

(โชคดีที่ผมเลือกอุปมาอุปไมยเป็นปลาในน้ำแทนที่จะเป็นควายในทุ่ง ไม่งั้นต้องมองด้วยสายตาแบบควายๆ แทน)

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นพ้องกันก็คือ วงวิชาการไทยโดยรวมยังล้าหลัง ด้อยคุณภาพ เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล (ผมใช้คำว่ามาตรฐานสากลในฐานะจุดอ้างอิงเฉยๆนะครับ จะเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะให้คุณค่ากับมาตรฐานสากลขนาดไหน อย่างไร เป็นอีกประเด็นถกเถียงหนึ่ง)

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ตอบยากมากนะครับ เพราะปัญหาของวงวิชาการไม่ได้อยู่แค่นักวิชาการขี้เกียจ หรือโง่ แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ที่สัมพันธ์กับสถาบันอื่นในสังคมเต็มไปหมด ตั้งแต่ระดับ วัฒนธรรม ค่านิยม การเมือง เศรษฐกิจ โครงสร้างของระบบราชการ ฯลฯ

อย่างที่บอกเมื่อตอนที่แล้ว นักวิชาการไม่ใช่เทวดาที่ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคมไทย แต่ก็เวียนว่ายอยู่ในสังคมไทย เผชิญหน้าและถูกหล่อหลอมจากสถาบันแบบไทยๆ เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆในสังคม

รากความล้มเหลวของวงวิชาการไทยก็คือความล้มเหลวเชิงสถาบันของโครงสร้างใหญ่ในสังคมไทยนั่นเอง

เช่นนี้แล้ว เลยยากลำบากที่จะอธิบายสาเหตุของความล้มเหลว เพราะไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี เพราะปัญหาแต่ละปัญหาล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด

และการมองปัญหาโดยใช้สายตาที่เต็มไปด้วยภาพของสิ่งที่เรา “อยากให้เป็น” อาจทำให้เราไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ “เป็นจริง” ได้อย่างถ่องแท้นัก เพราะกระบวนการทำความเข้าใจกลไกที่ทำให้ “มันเป็นเช่นนั้นเอง” อาจพร่ามัวไป ถ้าเราต้องการจะให้ภาพฝันที่อยากให้เป็นเกิดขึ้นจริง ย่อมต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่จริงก่อนเป็นปฐม จึงจะพุ่งตรงไปที่เหตุแห่งทุกข์ได้ถูกต้อง

เรื่องเล่าต่อจากนี้ เป็นเรื่องเล่าจากปลาในน้ำ ที่มองโลกแบบที่มันเป็น เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ไม่ว่ามันจะตรงตามอุดมคติของเราหรือไม่ก็ตาม

ในฐานะที่นักวิชาการต่างก็มีพื้นฐานเป็นสัตว์เศรษฐกิจเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม ขอเริ่มตรงนี้แล้วกัน

แต่การเลือกที่จะเริ่มตรงนี้ของผมไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญที่สุดนะครับ แค่เริ่มตรงนี้เพื่อโยงไปสัมพันธ์ตรงอื่นต่อเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของผมคือ ผลตอบแทนที่นักวิชาการไทยได้รับ มันน้อยเหลือเกินครับ และอยู่ภายใต้โครงสร้างผลตอบแทนที่บิดเบี้ยว

ถ้าเราเชื่อว่านักวิชาการมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจระดับหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป ประเด็นนี้สำคัญนะครับ เพราะไม่สามารถดึงดูดคนเก่งและคนดี ที่ไม่ได้ “อยาก” หรือ “หลงใหล” ในวิชาชีพนี้เข้ามาเป็นอาจารย์ได้

ลำพังคนที่ “อยาก” และ “หลงใหล” ในความเป็นนักวิชาการ ก็มีไม่มากพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ที่จะยกระดับมาตรฐานทางวิชาการให้สูงขึ้นดังหวังได้

หากมองโลกตามจริง มหาวิทยาลัยควรจะประกอบด้วยคนที่ทั้งเก่ง ทั้งดี และทั้งหลงใหล ในวิชาชีพนักวิชาการเข้าด้วยกัน ยิ่งหาคนที่มีทั้งสามองค์ประกอบในคนเดียวกันยิ่งยอด แต่โชคร้ายที่มันมีไม่มาก

เช่นนี้แล้ว คนเก่งจำนวนมากก็เลือกไปทำอาชีพอื่น เพราะในมหาวิทยาลัยรัฐ ผลตอบแทนของคนจบปริญญาเอกปัจจุบันน้อยกว่าคนจบปริญญาตรีหลายที่ด้วยซ้ำไปนะครับ เราจะบอกว่า ช่างมัน ไม่ง้อ ก็ดูจะเป็นความคิดที่คับแคบไปเสียหน่อย

ส่วนคนที่หลงใหลในวิชาชีพ แล้วเลือกมาเป็นอาจารย์ ก็ต้องใช้ชีวิตดิ้นรนไปตามยถากรรม เรียกว่า ต้องเสียสละยอมแบกรับความลำบากเป็นภาระต้นทุนส่วนตัว จะบอกว่า ตอนสมัครไม่มีใครเอาปืนจ่อหัวให้มาสมัคร มันก็ถูก แต่ถ้ามองในภาพรวมถึงโครงสร้างสิ่งจูงใจของตลาดแรงงานทั้งระบบแล้ว เช่นนี้ เราก็ไม่สามารถเอาปืนจ่อหัวให้เขาทำงานอย่างที่เราคาดหวังได้เช่นกัน

หากมองคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ คนก็ปรับพฤติกรรมเพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง (เช่น ทำงานหนักขนาดไหน ทำงานประเภทไหน ฯลฯ) ตามข้อจำกัดหรือกติกาที่ตัวเองเผชิญน่ะครับ นักวิชาการก็ไม่ต่างกันหรอก แน่นอนว่า คนที่ไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้ก็มี เพราะอาจมีระดับความเป็นสัตว์เศรษฐกิจต่ำกว่าคนอื่น หรือเผชิญข้อจำกัดหรือกติกาในชีวิตที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีมรดก มีคู่ครองรวย บ้านฐานะดีอยู่แล้ว หรือไม่มีลูกเมีย !!!

หากเราเชื่อว่าคนมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ตลาดแรงงานภายใต้สัญญาจ้างแบบค่าจ้างคงที่ก็เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์หลังจากการทำสัญญาจ้างแล้ว เพราะนายจ้างไม่สามารถกำหนดระดับความตั้งใจความเอาใจใส่ในการทำงานได้ เกิดปัญหาทำงานต่ำกว่าที่คาดหวัง

ลองนึกภาพดูในระบบราชการที่คนจบปริญญาเอกที่ได้เงินเดือน 10,000 บาท หรือพนักงานมหาวิทยาลัยหลังออกนอกระบบได้เงินเดือนประมาณ 17,000 บาท ถ้าจะเลี้ยงชีวิตด้วยเงินเดือนเท่านี้ หากตัวคนเดียวแล้วใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่คิดมากถึงปมด้อยเมื่อเทียบกับเพื่อน ก็อาจอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นคนฐานะธรรมดา ต้องเลี้ยงครอบครัว และมีหนี้สินทั้งที่ตัวเองก่อ ซื้อรถซื้อบ้าน หรือหนี้สินที่ติดตามมาของครอบครัว ไม่มีทางอยู่ได้

เมื่อก่อนผมก็คิดแบบหนึ่งนะครับ แต่หลังจากต้องมาเผชิญปัญหาทางการเงินกับตัวเองแล้ว ก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะนักวิชาการไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในโลกวิชาการของตัวเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริง ที่ต้องสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับครอบครัว มีภาระในฐานะพ่อ แม่ หรือลูก ที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวด้วย

มีคนเคยเล่าให้ฟังว่า คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยกล่าวกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ทำนองว่า หากนักวิชาการต้องการรักษาตัวตนในอุคมคติไว้ให้ได้ มีทางเดียวคือต้องหาเมียรวย !

ที่ผ่านมา ระบบหรือสถาบันก็ปล่อยให้เหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องปากกัดตีนถีบเอาตัวรอดกันไปเอง โดยไม่ได้แก้ไขโครงสร้างสิ่งจูงใจที่จะเข้ามาช่วยแชร์ภาระต้นทุนส่วนตัวของอาจารย์ดังกล่าวแต่อย่างใด

อาจารย์จำนวนมากก็ต้องหารายได้เสริม ซึ่งก็เป็นรายได้สุจริตนะครับ โดยการสอนนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตามโครงการพิเศษต่างๆ และรับงานวิจัย ซึ่งโดยมากเป็นงานวิจัยเชิงนโยบายจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

ที่ต้องทำงานพวกนี้ ไม่ใช่หวังเป็นเศรษฐีนะครับ เพราะถ้าหวัง ก็คงไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่แค่ให้พอให้ตัวเองและลูกเมียอยู่อย่างไม่ยากลำบาก เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ และมีสมบัติที่จำเป็นในการใช้ชีวิตบ้างเท่านั้น

งานวิจัยเชิงทฤษฎีที่มุ่งสร้างองค์ความรู้บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า Basic Research มันถึงไม่ค่อยเกิด เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสงานประเภทนี้มันสูงมาก ผลตอบแทนจากงานประเภทนี้ต่ำมาก เมื่อเทียบกับงานวิจัยเชิงนโยบาย ที่วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานกำหนดนโยบาย อีกทั้ง งานประเภทนี้ใช้เวลาทำนาน และทำไปทำมา อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์สำเร็จตามต้องการก็ได้

การทำงานใช้สมองหนักๆ มันต้องมีสมาธิอย่างแรงกล้า ต้องจมจ่อมกับมัน และอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สบายพอควร ถ้ายังมัวต้องดิ้นรนเพื่อปัจจัยสี่อยู่อย่างทุกวันนี้ โอกาสในการเหลือพลังผลิตงานเช่นนี้ก็น้อยลง

อันนี้ยังโยงไปถึง ความล้มเหลวของสถาบันอื่นในสังคมอีกด้วย เพราะจะว่าไปแล้ว งานวิจัยเชิงทฤษฎีจำนวนมากที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องนั่งทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องมาถึงมือพวกเราหากเรามีผู้กำหนดนโยบายที่เข้มแข็ง มีระบบราชการที่เอื้อให้คนใช้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาได้ มีนักวิชาการประจำกระทรวงทบวงกรม

นี่เป็นงานที่เทคโนแครตควรจะทำกันเอง โดยให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นผู้วิจารณ์งานก็พอ

แต่ในความเป็นจริง ระบบราชการไทยไม่มีนักวิชาการพอ ไม่ได้กำหนดนโยบายกันด้วยปัญญาและองค์ความรู้ แต่ด้วยอำนาจ หรือความพอใจของผู้มีอำนาจแต่ละระดับไล่กันขึ้นไป

สถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นคลังสมองของระบบราชการยังไม่ค่อยมีภูมิปัญญาทำงานวิชาการด้วยตนเอง แต่ทำตัวเป็นได้แค่นายจ้าง ที่รับเงินงบประมาณแล้วจ้างต่อ เก็บค่าต๋งเท่านั้น ตลาดความต้องการนักวิชาการมาทำวิจัยเชิงนโยบายจึงมาก บวกกับงบประมาณในระบบราชการที่ตั้งงบกันสุรุ่ยสุร่าย เงินค่าจ้างจึงสูง บิดเบือนโครงสร้างผลตอบแทนทุกประเภท ทำให้อาจารย์ไม่อยากเสียเวลาทำงานเชิงทฤษฎีแต่มาทำงานเชิงนโยบายดีกว่า มันทำง่าย และจ่ายงาม (แต่ก็มิใช่ว่างานประเภทนี้ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงนะครับ)

เห็นได้ว่า ความล้มเหลวของสถาบันอื่นในสังคมก็ส่งผลต่อเนื่องมาสร้างความล้มเหลวของสถาบันวิชาการเช่นกัน

เหมือนอย่างระบบการเมืองและสื่อมวลชนที่อ่อนแอ ก็ในเมื่อฝ่ายค้านไม่ได้เรื่อง สื่อมวลชนจับประเด็นไม่ได้ วิเคราะห์เชิงลึกไม่เป็น นักวิชาการก็เลยถูกคาดหวังจากสังคมให้มีอีกบทบาทหนึ่งเพิ่มขึ้น นั่นคือ ต้องมาทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านและสื่อมวลชน ตรวจสอบผู้มีอำนาจ โดยใช้ความรู้เป็นอาวุธ

ถ้าไม่ทำ ก็ดูเหมือนสังคมไทย จะไร้สถาบันอื่นรองรับ จะมีก็สถาบันองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งก็ยังคงอ่อนแอเช่นเดียวกัน และในแง่การเมืองเชิงวัฒนธรรมแล้ว ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าสถาบันนักวิชาการ

ที่พูดอย่างนี้ ใช่ว่าสถาบันวิชาการจะเข้มแข็งอะไรหนักหนานะครับ ก็เตี้ยอุ้มค่อมกันไป

คราวที่ผมเป็นตัวตั้งตัวตี เคลื่อนไหวคัดค้านการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล เสียเวลาไปสามอาทิตย์เต็มๆ ตั้งแต่ร่างจดหมายเปิดผนึก เดินล่ารายชื่ออาจารย์ จัดสัมมนา เตรียมบทอภิปราย ต้องไปนั่งอ่านกฎหมายมากมาย นั่งอ่านรายงานการเงินของสโมสร สามอาทิตย์เพื่อมาสู้กับนโยบายปาหี่งี่เง่าที่ไร้เหตุไร้ผลด้วยเหตุด้วยผล

แต่ถ้าไม่ทำ พลังการต่อต้านในสังคมอาจอ่อนแอลง จนทำให้การคัดค้านไม่สำเร็จและสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติ ถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มันไม่มีผู้นำคนไหนจะดัดจริตคิดสั้นซื้อสโมสรฟุตบอลเมืองนอกโดยใช้เงินรัฐหรอกครับ แถมประชาชนจำนวนมากยังชื่นชมเสียอีก

ผมคิดว่าสังคมไทยยังต้องการบทบาทการมีส่วนร่วมในฐานะนักปฏิบัติการทางการเมืองของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อไปอีกนาน ซึ่งก็จำเป็นนะครับ เพราะในเมื่อพลังในระบบอ่อนแอ นักวิชาการมีพลังอิสระ ที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มผลประโยชน์ใด จึงมีค่า และสังคมไทยยังให้ค่ากับนักวิชาการในระดับสูงทีเดียว

แต่ในสังคมที่เติบโตทางปัญญา มีวัฒนธรรมเรียนรู้ และมีสถาบันอื่นในสังคมที่เข้มแข็ง บทบาทตรงนี้ของนักวิชาการก็จะลดน้อยลงไปเองโดยอัตโนมัติ

ย้อนกลับมาเรื่องโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ล้มเหลวของการทำงานวิจัยอีกทีหนึ่ง

นอกจากเหตุผลว่าทุนวิจัยเชิงทฤษฎีมันทั้งมีน้อยและทั้งให้เงินน้อยแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ บรรยากาศงานวิชาการในมหาวิทยาลัยมันไม่มี

ที่ไม่มี เพราะนอกจากคนเก่งและคนดีที่ไม่หลงใหลอยากเป็นนักวิชาการใจจะขาดจะ “เลือก” ไม่เข้ามาแบกรับต้นทุนส่วนตัวแล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยไม่เป็นที่รวมของคนที่เก่งที่สุดอย่างที่ควรจะเป็นทั้งที่มีหน้าที่ต้องสอนคนรุ่นต่อๆไปอีก ยังมาจากสองเหตุผลสำคัญคือ

หนึ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องแบ่งเวลาไปทำงานที่ไม่เป็นสาระมากมาย โดยเฉพาะงานบริหาร ต่างจากอาจารย์เมืองนอก ที่ค่าตอบแทนก็สูงลิ่วแบบอยู่ได้สมศักดิ์ศรี และใช้เวลาทั้งหมดในการคิดและเขียนได้อย่างเต็มที่

แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องถูกงานบริหารกินเวลาไปมากมาย ประชุมกันบ่อยเหลือเกินในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ต้องทำงานแทนเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีศักยภาพจะทำงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งเราเห็นพวกอาจารย์ต้องมานั่งร่างจดหมาย นั่งนัดผู้อภิปรายในงานสัมมนาเอง ฯลฯ ที่สำคัญ ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาแบบราชการที่เต็มไปด้วยระเบียบหยุมหยิม ขั้นตอนมากมาย และสร้างภาระงานโดยไม่จำเป็นขึ้นมามาก

อันนี้ใครไม่เคยมาเจอกับตัวจะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึก จะบอกว่า งั้นก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน โลกความจริงก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น

การบริหารมหาวิทยาลัยในเมืองนอก ระดับคณะมีเจ้าหน้าที่แค่ 5-6 คน ก็ดำเนินงานในคณะได้อย่างราบรื่น ต่างจากมหาวิทยาลัยที่หลายคณะมีคนเกือบห้าสิบคน ยังนำคณะเดินหน้าไม่ได้ แถมยังฉุดกองหน้าอย่างอาจารย์ให้ต้องลงต่ำอีก

สอง ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เป็นผลพวงของสังคม เมื่อสังคมไทยไร้วัฒนธรรมเรียนรู้ ผู้คนก็ให้คุณค่าตัดสินคนแค่เปลือกนอกโดยดูที่วุฒิการศึกษาสูงๆ จากมหาวิทยาลัยดีๆ มองการศึกษาเป็นแค่บันไดไต่ไปสู่งานดีๆ เงินเดือนเยอะๆ ไม่ให้เห็นคุณค่าการศึกษาในฐานะเครื่องมือที่สร้างความเข้าใจโลก พัฒนาองค์ความรู้และวิธีคิด ซึ่งเป็นทั้งกระบวนการและจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง

บรรยากาศการเรียนรู้ในหมู่นักศึกษาเลยไร้ชีวิตชีวา เมื่อคนไม่ได้เรียนด้วยจิตใจที่เบิกบาน การเรียนการสอนก็ยกระดับไปอีกขั้นไม่ได้ พลังตรวจสอบคุณภาพอาจารย์จากฝ่ายนักศึกษาก็ต่ำ อาจารย์ที่สอนเช้าชามเย็นชาม หรือเตรียมสอนครั้งเดียวใช้ตลอดชีวิต แต่ข้อสอบง่าย เด็กจดง่าย ก็ได้คะแนนประเมินสูง ขณะที่คนที่สอนให้เด็กคิด อาจไม่เป็นที่สบอารมณ์

อาจารย์ไร้แรงกดดันให้ต้องพัฒนาตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะนักศึกษาไม่ใส่ใจตรวจสอบอย่างเข้มข้น อาจารย์จำนวนไม่น้อยเองก็หาได้เข้าใจปรัชญาการศึกษา ก็ตอนเรียนก็ผ่านประสบการณ์แบบนี้มาเหมือนกัน เลยสอนกันไปตามหน้าที่ เราเลยได้ความสัมพันธ์แปลกๆ ที่ทั้งคู่ต่างไร้คุณภาพ ไร้ปฏิสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ การเรียนการสอนแบบไทยๆ มันขาด passion จากทั้งสองฝ่ายอย่างมาก

เมื่อคนสนใจมองการศึกษาเป็นแค่เพียงบันไดไต่ฐานะทางสังคม ก็ต้องแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา เดิม ปริญญาตรีเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ตอนนี้ก็ไต่ระดับมาเป็นปริญญาโท โอกาสทำเงินจากการศึกษาระดับสูงก็มีมาก มหาวิทยาลัยเปิดโครงการพิเศษมากมายเพื่อรองรับความต้องการซื้อดังกล่าว คนแบบนักเรียนปริญญาตรีทั่วไปก็มาเรียนปริญญาโท การศึกษาระดับสูงที่มุ่งเรียนสอนองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น ก็กลายมาเป็น การศึกษาของมวลชนที่ไต่ระดับมาหาบันไดขั้นที่สูงขึ้นเท่านั้น แถมเป็นมวลชนที่มีอำนาจซื้อซะด้วย

อาจารย์และมหาวิทยาลัยเองก็ต้องแสวงหารายได้ ก็พาตัวเองมาตัดกับความต้องการดังกล่าวได้อย่างเหมาะเหม็ง โครงการที่เกิดขึ้นมากมายแต่ไร้คุณภาพส่วนใหญ่ก็ต่างเป็นที่ทางให้ทั้งสองฝ่ายสมยอมกัน อาจารย์ที่ตั้งใจสอนมากสอนยากสอนลึกก็ถูกประเมินไม่ดี จะใช้เกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการแบบเข้มข้นก็ไม่ได้ เพราะคนอาจสอบตกกันหมด ไม่มีคนเรียนแล้วจะหาเงินจากไหนในอนาคต อาจารย์เหล่านี้บางคนก็สอนได้แค่เทอมเดียว ก็ไม่ถูกเชิญอีก

ธุรกิจการศึกษาสร้างมาตรฐาน(ต่ำ)ทางการศึกษาใหม่ โดยทำลายทั้งฝ่ายคนเรียน คนสอน และสังคม

แต่โครงการดีๆ ที่มีคุณภาพก็มีนะครับ อย่าเหมาว่าโครงการปริญญาโททำขึ้นเพื่อหาเงินทั้งหมดและห่วยทั้งหมด

เขียนมายาวขนาดนี้แล้ว คงเห็นว่า ปัญหาของวงวิชาการไทยเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่แก้ไม่ง่ายเลย และเชื่อมโยงกับสถาบันอื่นนอกโลกวิชาการ และสภาพสังคมที่โลกวิชาการดำรงอยู่ร่วมกับมัน

จริงๆ ผมยังเขียนต่อไปได้เรื่อยๆ เป็นหนังเรื่องยาวได้สบาย เชื่อมโยงห่วงโซ่แห่งความล้มเหลวต่อไปได้ไม่รู้จบ จนเหมือนเป็นความผิดที่จับมือตัวการมาดมไม่ได้ ทุกคนมีส่วนต้องร่วมรับผิดพอๆ กัน

แม้หากกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าคือ ผลตอบแทนของอาจารย์น้อยเกินไปแล้ว วิธีแก้ก็ยังไม่ใช่เพิ่มเงินเดือนให้อาจารย์มากๆ แล้วปัญหาทุกอย่างจะจบนะครับ

เพราะนั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาในโลกป่วยไข้ขนาดใหญ่ใบนี้เท่านั้น

Saturday, April 02, 2005

นักวิชาการในฝัน (1) : กรอบความคิด

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะคาดหวังบทบาทของนักวิชาการไทยไว้สูงยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสังคมอยู่ท่ามกลางความมืดบอดทางปัญญา ท่ามกลางความอับเฉาของวงวิชาการโดยรวม และท่ามกลางความป่วยไข้ของสถาบันต่างๆในสังคม

ความคาดหวังของผู้คนต่อบทบาทนักวิชาการในฝันมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนให้คุณค่าความสำคัญต่อภารกิจใดของนักวิชาการมากกว่ากัน

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการตั้งตาตั้งตาผลิตองค์ความรู้ใหม่อยู่บนหอคอยงาช้าง เพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญาบริสุทธิ์

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการมีบทบาททางสังคม เพื่อเติมเต็มกลไกที่พิกลพิการในสังคม เช่น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสังคม ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆ กระทั่งลงไปถึงระดับข้อเท็จจริง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการให้ความรู้พื้นฐานในระดับอ่านออกเขียนได้ในศาสตร์ที่ตนถนัดแก่สังคม ด้วยภาษาที่คุยกับสังคมรู้เรื่อง แบบไม่ต้องปีนบันไดเพื่อเข้าถึง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังข้อเสนอเชิงนโยบายจากนักวิชาการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เลยเถิดไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้กำหนดนโยบายด้วยตัวเอง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการต้องมีความสามารถในการเป็นนักบริหาร(การศึกษา)ที่ดี

นักวิชาการไทยเลยต้องมีหลายภาคในตัวคนเดียว ต้องทำตัวเป็นทั้งอาจารย์ผู้สอน นักวิจัย ทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงนโยบาย นักเขียน นักการเมือง สื่อมวลชน นักสืบ ผู้กำหนดนโยบาย นักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ

บทบาทที่หลากหลายตามความคาดหวังที่แตกต่างกันข้างต้น บ่อยครั้งก็มีความขัดแย้งกันเอง การใส่ใจปฏิบัติบทบาทหนึ่งอย่างเข้มแข็ง มีส่วนทำให้การทำหน้าที่ในบทบาทอื่นอ่อนแรงลง เช่น เมื่อต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านหรือสื่อมวลชนที่เต็มไปด้วยความอ่อนแอ เวลาในการอ่านหนังสือหรือทำวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ ก็ลดน้อยลง

หรือหากมัวแต่ผลิตงานที่ให้ชาวบ้านทั่วไปอ่านเข้าใจรู้เรื่อง สอนพื้นฐานวิชาการแก่สังคมวงกว้าง เวลาที่จะเอาไปเขียนงานขึ้นหิ้ง ลึกซึ้ง ยกระดับองค์ความรู้ในสายวิชาการของตัวเอง ก็ลดลง การยอมรับนับถือจากสังคมวงกว้างอาจจะมากขึ้น แต่ในหมู่เพื่อนร่วมวิชาชีพวงแคบของตัวเองอาจจะน้อยลง

ภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร ปรากฏการณ์ 'ได้อย่าง-เสียอย่าง' เช่นนี้ เป็นสิ่งที่นักวิชาการทุกคนต้อง 'แลก'

ซึ่งการตัดสินใจยอม 'แลก' อะไรกับอะไร หรือการจัดเรียงลำดับความสำคัญของบทบาทหน้าที่ต่างๆ ของแต่ละคน ก็สะท้อน 'ตัวตน' และ 'ความพึงใจ' (preference) ของผู้เลือกแต่ละคน ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ อย่างไร้รากไร้ที่มา หากเป็นผลพวงจาก 'โลก' ของตัวเอง โลกที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ ความเชื่อ อุดมการณ์ ระดับสภาพจิต ระบบการให้คุณค่า รสนิยม ฯลฯ ของแต่ละคนเอง

'โลก' ของใคร ก็ 'โลก' ของมัน

ด้านหนึ่ง ตัวตนของเราได้รับอิทธิพลจาก 'โลก' (สภาพสังคม กฎกติกาในสังคม ภูมิหลัง ประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยมของสังคม ฯลฯ) ที่เราเผชิญ พูดง่ายๆว่า 'โลก' มีส่วนสร้างเราขึ้นมา แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวเราก็มีส่วนย้อนกลับไปสร้าง 'โลก' เช่นกัน เช่น มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมภายนอก สร้างวัฒนธรรมใหม่ในสังคม ฯลฯ

'โลก' สร้าง 'เรา' และ 'เรา' ก็สร้าง 'โลก' ไปด้วยพร้อมๆกัน อย่างเคลื่อนไหวเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อเจอประสบการณ์ใหม่ โลกเราก็เปลี่ยน เราก็เปลี่ยน เราก็ไปเปลี่ยนโลกในทางที่ต่างไปจากเดิม เช่นนี้เรื่อยไป ความขัดแย้งของเรากับโลกจะเกิดการสังเคราะห์หลอมรวมพัฒนาสู่การเป็นเราใหม่กับโลกใหม่ เรื่อยไปไม่รู้จบ

เช่นนี้แล้ว 'โลก' ที่ว่า มันไม่ได้มีสากลหนึ่งเดียว รออยู่ตรงนั้น รอให้เราค้นพบมันด้วยวิถีทางค้นหาความจริงต่างๆ แต่ 'โลก' มีความหลากหลาย ต่างคนต่างมีของใครของมัน แม้แต่ละคนจะร่วมรับรู้บางมิติของโลกร่วมกันผ่านข้อเท็จจริงหรือประวัติศาสตร์ชุดเดียวกัน แต่มีอีกหลายมิติที่ต่างคนต่างมีพื้นที่เป็นของตนเอง

ส่วนหลังนี้เองที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน

โลกไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่แต่ละคน 'สร้าง' ขึ้นมา มันไม่มี 'โลก' ที่สัมบูรณ์ มีแต่ 'โลก' ที่สัมพัทธ์กับสิ่งอื่นๆ คุณค่าความหมายของมันไม่ได้เป็นความจริงแท้ที่เป็นสากล ตายตัว เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวพันกับสิ่งอื่น หากสัมพันธ์กับระบบการให้คุณค่าความหมายของสังคม ตัวตนมันไม่ได้มีความหมายอะไรโดยตัวของมันเอง แต่มีความหมายเพราะว่ามันแตกต่างจากสิ่งอื่นๆอย่างไรต่างหาก

ดังนั้น มันไม่มีเกณฑ์ที่จะบอกได้ว่า 'โลก' ของใคร ดีกว่า สวยกว่า มีคุณค่ากว่า ฟังขึ้นกว่า เข้มแข็งกว่า 'โลก' ของใคร

เพราะมันไม่มี 'โลก' ที่เป็นสากล ที่จริงแท้เหนือ 'โลก' อื่นๆ

เช่นกัน มันไม่มีเกณฑ์ที่เป็นสากล ที่ใช้ตัดสินว่า นักวิชาการแบบไหนมีคุณค่ามากกว่านักวิชาการแบบไหน ภาระหน้าที่ใดมีคุณค่าเหนือกว่าภาระหน้าที่ใด

เป็นเรื่องง่ายที่นักวิชาการที่อยู่ใน 'โลก' แบบหนึ่ง ซึ่งมีความพึงใจแบบหนึ่ง จะใช้เกณฑ์ของตัวเองไปตัดสินคุณค่าต่อบทบาทของนักวิชาการที่อยู่ใน 'โลก' อีกแบบหนึ่ง มีความพึงใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า หากใช้เกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ 'โลก' แบบที่หนึ่ง ไปตัดสินคุณค่าของ 'โลก' แบบที่สอง โลกแบบที่สองก็ย่อมไร้คุณค่าหรือมีคุณค่าด้อยกว่าอย่างแน่แท้

ลองเปลี่ยนคำว่า 'โลก' เป็นคำว่า 'ความจริง' ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างออกไป

ภายใต้พื้นฐานกรอบความคิดเช่นนี้ คำถามที่ว่า นักวิชาการที่ดีควรจะให้ความสำคัญต่อบทบาทใดมากที่สุด? หรือนักวิชาการที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร? ก็ดูจะไม่สำคัญมาก เพราะไร้ซึ่งคุณค่าที่เป็นสากล จะสำคัญก็สำหรับคนที่มีโลกทัศน์ต่อ 'ความจริง' ว่า มันมีความจริงแท้หนึ่งเดียวที่เป็นสากล ที่เหนือกว่าความจริงชุดอื่น อันนำไปสู่ความคิดที่ว่า นักวิชาการที่ดีต้องมีลักษณะแบบนักวิชาการในฝันของเขาเพียงเท่านั้น

ซึ่งผมไม่เห็นด้วย

นักวิชาการที่ดี กระทั่งงานวิชาการที่ดี มีคุณสมบัติได้หลากหลาย มีระบบการตัดสินคุณค่าที่หลากหลาย การไปชี้หน้าชี้นิ้วต่อว่าต่อขานคนที่มี 'โลก' หรือ 'ความพึงใจ' หรือ 'การตัดสินคุณค่า' แตกต่างจากเรา จึงดูจะไม่ค่อยเป็นธรรมและค่อนข้างใจแคบไปเสียหน่อย

อย่าเอาเกณฑ์ใน 'โลก' ของเรา ไปเที่ยวพิพากษาคนอื่นเสียง่ายๆ จะทุกข์ใจไปเสียเปล่าๆ และดูถูกคนอื่นในแง่ร้ายเกินไป

กัลยาณมิตรทางปัญญาของผมที่วนเวียนอยู่แถวๆ นี้หลายคนมักวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของนักวิชาการไทยอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งบางคนมักมองนักวิชาการเป็นมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่เป็นประดุจเทวดา ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคมไทย และคาดหวังให้นักวิชาการไทยต้องมีระดับศีลธรรมหรือระดับความรับผิดชอบที่สูงส่งเหนือคนทั่วไป ประหนึ่งว่าเขาไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกัน เผชิญกติกาเดียวกัน กับคนไทยทั่วไป

แต่หากอ่านความคิดของผมมาจนถึงตรงนี้แล้ว คงเห็นประเด็นสำคัญที่ผมต้องการจะสื่อ นั่นคือ

หนึ่ง ภาพของนักวิชาการในฝันก็หาได้มีหนึ่งเดียวเป็นสากล หากเกณฑ์การตัดสินคุณค่าของความเป็นนักวิชาการในฝันก็มีหลากหลาย มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งถูกที่สุด หรือมิใช่ของคนส่วนใหญ่ถูกที่สุด

สอง นักวิชาการไทยก็มิได้ลอยอยู่เหนือสังคม แต่ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่ง (เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น) ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพและสถาบันในสังคม ต้องทำงาน คิด และมีปฏิสัมพันธ์ภายใต้สังคมและสถาบันแบบไทยๆ แม้จะมีส่วนกำหนดและเปลี่ยนแปลงสังคมระดับหนึ่งก็ตาม นักวิชาการมีส่วนสร้าง 'โลก' แต่ก็ถูก 'โลก' ที่ตัวเองอยู่สร้างด้วย

ผมอ่านหรือฟังคำวิจารณ์ว่าด้วยบทบาทของนักวิชาการในฝันของเพื่อนผมหลายคนแล้ว พบว่า ด้านหนึ่งเขาก็มองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะส่วนมาก เพื่อนผมแถวนี้มักมีภาพนักวิชาการในฝันแบบหนึ่ง จนอาจจะลดทอนคุณค่าของนักวิชาการในฝันแบบอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยๆ เช่น ชอบวิจารณ์ว่านักวิชาการไทยมัวแต่ทำหน้าที่ทางสังคม เป็น pop academician เป็นนักตรวจสอบรัฐบาล แต่ละเลยการหมกตัวอยู่ในหอคอยงาช้าง ไม่ผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์ ไม่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเท่าที่ควร

แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มองนักวิชาการไทยในแง่ดีเกินไปโดยมิได้ตั้งใจ เพราะอย่างน้อยประเด็นของเขาก็คือ นักวิชาการไทยหลงผิดไปทุ่มเททำงานที่ไม่ควรจะใส่ใจ ควรหันมาเดินบนเส้นทางในฝันของเขากันดีกว่า (ซึ่งก็อาจจะถูกของเขา แต่ผิดสำหรับคนอื่น) ทั้งที่ในโลกแห่งความจริง มหาวิทยาลัยไทยยังล้าหลังรั้งท้ายจากข้อถกเถียงของพวกเขามากมายนัก

เพราะมหาวิทยาลัยไทยแทบจะไม่มีความเป็นมหาวิทยาลัย ซ้ำร้าย แทบไม่มีนักวิชาการอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยเลยต่างหาก

มหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยคนที่ไร้คุณสมบัติที่จะเป็นนักวิชาการในฝัน ไม่ว่าจะเป็นฝันแบบใดก็ตาม

ใช่ครับ ... ความจริงที่แสนเศร้าก็คือ มหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยคนที่ทั้ง สอนก็ไม่เก่ง ทำวิจัยก็ไม่เป็น วิจารณ์สังคมก็ไม่ได้ บริหารก็ไม่ได้เรื่อง เขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่อง จิตวิญญาณเพื่อสังคมไม่มี

อย่างที่บอกครับ นักวิชาการไม่ใช่เทวดาที่ลอยอยู่เหนือสังคม แต่ก็เป็นปุถุชนธรรมดาๆ ที่พฤติกรรมของเขาก็ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญจากสภาพสังคมและคุณภาพของสถาบันในสังคม ไม่ต่างจากกลุ่มชนอื่นในสังคม

ซึ่งสภาพสังคมและสถาบันแบบไทยๆ มักทำลายนักวิชาการในฝันทุกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ดึงดูดให้คนเก่งเข้าสู่วงวิชาการ ลอยแพคนที่เลือกเข้าสู่วงวิชาการด้วยใจรักให้ต้องใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ ที่สำคัญ ไม่เอื้ออำนวยต่อนักวิชาการในฝันที่เพื่อนผมหลายคนแถวนี้ใฝ่หา คือไม่เอื้ออำนวยให้คนที่อยากใช้ชีวิตบนหอคอยงาช้าง นั่งทำงานเชิงทฤษฎี ให้สามารถทำงานได้เต็มที่ และอยู่รอดได้

กระนั้น สถาบันที่ดี ที่จะทำให้ท้องฟ้าของนักวิชาการเป็นสีทองผ่องอำไพ ไม่ใช่สถาบันที่มีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ตีเส้นทางเดินไปสู่ความเป็นนักวิชาการในฝันแบบเดียวกัน แบบใดแบบหนึ่ง นะครับ แต่เป็นสถาบันที่ดีในความหมายที่สามารถส่งเสริมเอื้ออำนวยให้นักวิชาการในฝันแต่ละแบบ สามารถแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเจิดจรัส ตามวิถีแห่งตน

ให้นักวิชาการที่มี 'โลก' หลากหลายแตกต่างกัน สามารถบรรลุเส้นทางฝันของใครของมันได้

เช่นนี้เราจึงจะได้นักวิชาการในฝัน ไม่ว่าจะเป็นฝันแบบใดก็ตาม