pin poramet's blog

Enjoy the world of bloggers !!!

Thursday, March 31, 2005

สำนักหลังเขาของผม (2)

สำนักที่ผมฝึกวิชามีสถาบันวิจัยกึ่งอิสระที่มีชื่อว่า PERI (Political Economy Research Institute) อยู่เคียงข้างด้วย

ที่ว่ากึ่งอิสระก็เพราะไม่ได้สังกัดอยู่ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้แยกขาดออกไปเสียทีเดียว เพราะนักวิจัยส่วนใหญ่ก็คืออาจารย์เศรษฐศาสตร์ในสำนักของผมนั่นแหละ

สำนักนี้มีอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองของผมเป็น co-director มุ่งเน้นการทำวิจัยในสามวาระวิจัยหลักคือ (1) แรงงานและค่าจ้างเพื่อชีวิต (2) การพัฒนา สิ่งแวดล้อม และสันติภาพ และ (3) โลกาภิวัตน์ และเศรษฐศาสตร์มหภาค

เมื่อก่อน เหล่านักวิจัยก็อัดกันอยู่ในตึกคณะเศรษฐศาสตร์ จนเมื่อซัมเมอร์ปี 2003 PERI ก็ย้ายเข้าบ้านใหม่เมื่อ Gordon Hall สร้างเสร็จ ผมเองก็ย้ายตามไปนั่งทำงานที่นั่นตั้งแต่บัดนั้น

ใครอยากเห็นหน้าตาที่สวยโฉบเฉี่ยวของ Gordon Hall ก็เข้าไปดูได้ที่

http://www.umass.edu/peri/aboutus/gordonhall.htm

ดูรูปตึกแล้ว ก็เที่ยวชมกิจกรรมของ PERI ต่อด้วยนะครับ มีลิงก์ให้ไปอ่าน working paper งานวิจัย และงานสัมมนาวิชาการต่างๆ ทั้งยังสามารถดาวโหลดเนื้อหาของหนังสือ 2 เล่ม เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ที่กำลังจะตีพิมพ์เป็นเล่มอีกไม่กี่เดือนนี้ได้ฟรีด้วย (เล่มหนึ่งมีบทความวิชาการที่ผมเขียนร่วมกับเพื่อนอีกสองคนด้วย)

เยี่ยมชมสักพัก ก็คงจะพอเข้าใจมุมมองต่อโลกของคนแถวๆนี้

สิ่งที่มีค่าที่สุดของ Gordon Hall ไม่ใช่ความเท่ของตึก แต่ผมประทับใจแผ่นเหล็กขนาดใหญ่แผ่นหนึ่ง ซึ่งติดอยู่ที่กำแพงห้องโถงชั้นล่างมากที่สุด (ดูจากรูป คือรูปที่สามด้านขวามือ จะเห็นแผ่นเหล็กติดกำแพงอยู่)

ทำไมผมถึงประทับใจแผ่นเหล็กแผ่นนั้น ?

แผ่นเหล็กแผ่นนั้นจารึกชื่อบุคคล 'ทุกคน' ที่เกี่ยวข้องในการสร้าง Gordon Hall ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็น

'ทุกคน' จริงๆ ครับ

ถ้าเป็นที่เมืองไทย เราคงเห็นชื่อของผู้บริจาคเงินรายใหญ่ และชื่อผู้บริหารองค์กรในขณะนั้นอยู่ในแผ่นจารึกชื่อ แต่แผ่นจารึกชื่อใน Gordon Hall มีรายชื่อของทุกคน ไม่ว่าคนงานก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างไฟ ช่างทาสี ฯลฯ ไปจนถึง คนออกแบบ วิศวกร ผู้บริหาร ฯลฯ อย่างเท่าเทียมกัน เรียงตามลำดับตัวอักษรของส่วนงาน ไม่ใช่ชื่อผู้บริหารตัวใหญ่โตและอยู่หน้าสุด ส่วนคนงานไว้ท้ายอะไรอย่างนี้

ในชีวิตของผม เพิ่งเคยเห็นการจารึกชื่อคนงานทุกคนอย่างเป็นทางการบนผนังตึกเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คู่ควร เพราะคนเหล่านี้คือคนที่เหน็ดเหนื่อยที่สุด และออกแรงมากที่สุดในการก่อสร้าง ทั้งที่เป็นผู้ลงแรงใช้พลังแรงงานในกระบวนการผลิต แต่โดยมาก มักถูกมองเป็นเพียงปัจจัยการผลิตไร้ฝีมือราคาถูก

วันที่มีการทำพิธีเปิด Gordon Hall อย่างเป็นทางการ ผมก็นั่งอยู่ในพิธีที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังนั้นด้วย

นอกจากเหล่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย เหล่าอาจารย์ นักการเมืองท้องถิ่น แล้ว คนงานที่มีส่วนในการก่อสร้างตึกทุกคนในทุกส่วนงานยังได้รับเชิญเป็นแขกผู้มีเกียรติในวันนั้นด้วย

อาจารย์ผมที่เป็น co-director ขึ้นกล่าวขอบคุณเหล่าคนงานเป็นพิเศษ พร้อมบอกว่า ประตูที่นี่เปิดประตูต้อนรับพวกท่านเสมอ ชื่อของท่านได้ถูกจารึกไว้เป็นเกียรติคู่กับตึกแห่งนี้แล้ว ให้พาลูกหลานมาชื่นชม 'ผีมือ' ของท่านได้ทุกเมื่อ จงร่วมภูมิใจในผลผลิตที่สวยงามซึ่งท่านได้มีส่วนสร้างมันขึ้นด้วยมือของท่านเอง

สปิริตแห่งความเท่าเทียมและภราดรภาพเช่นว่า ทำให้ผมตกหลุมรักบรรยากาศในสำนักหลังเขาของผมอย่างยิ่ง

อย่างน้อยภายในก็รู้สึกอบอุ่น ท่ามกลางภายนอกที่เหน็บหนาว

สังคมเศรษฐกิจในอุคมคติอาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่ 'ชุมชน' ในอุดมคติไม่ยากเกินฝัน

มาช่วยลงมือสร้างกันดีไหมครับ

Wednesday, March 30, 2005

ขันติ

หายไปหลายวันครับ เพราะมัวแต่ไปวิ่งเล่นกับข้อมูลที่ใช้เขียนวิทยานิพนธ์อยู่

นั่ง 'เล่นของ' หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน มาสี่วันเต็มๆ เริ่มเห็นแสงสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเริ่มต้นแบบค่อนข้างมืดมน

หลายคนที่ 'เล่นของ' เพื่อค้นหาความจริงบ่อยๆ คงเข้าใจความรู้สึกขณะปฏิบัติการเป็นอย่างดี

ไว้วันหลัง ร่างกายแข็งแรงจะมาชวนคุยเรื่องปรัชญาว่าด้วยความจริง และปรัชญาว่าด้วยวิทยาศาสตร์ ท้าทายเหล่านักคิดยุครู้แจ้งเสียหน่อย

นักเศรษฐมิติบ่อยครั้งก็เล่นบทพระเจ้าได้ง่ายๆ

น่าคิดว่า 'ความจริง' เป็นสิ่งที่อยู่ตรงนั้น เป็นสากล มีหนึ่งเดียวรอให้เราค้นพบ หรือ 'ความจริง' เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น ไม่มีความเป็นสากล ต่างคนต่างมีของใครของมัน กันแน่

โลกทัศน์ว่าด้วย 'ความจริง' ของแต่ละคน มีความสำคัญสืบเนื่องต่อวิธีคิด วิถีคิด ตัวตน ความเชื่อ ความสนใจ ฯลฯ ของคนคนนั้น

จะว่าไป ท่าทีต่อ 'ความจริง' เป็นพื้นฐานของโลกทัศน์ด้วยซ้ำไป

เรื่องนี้ ไว้ค่อยว่ากันวันหน้า

มาเรื่องวันนี้ดีกว่า

เมื่อคืน ผมนั่ง 'เล่นของ' อยู่ในห้องคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศตั้งแต่สี่โมงเย็นถึงเที่ยงคืนกว่า แล้วจบลงพร้อมด้วยความเซ็งในผลสุดท้ายที่ได้ ทั้งที่ลงทุนลงแรงไปตั้งเยอะก่อนหน้านี้

หลังจากความเศร้าเคล้าตาลาย ก็กลับมานั่งสรุปประเด็นต่อที่หอ เพราะนัดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาไว้บ่ายวันนี้

นั่งเล่ากระบวนการและผลลัพธ์ทั้งหมดให้อาจารย์ฟัง พร้อมสีหน้าผิดหวังเล็กน้อย เพราะนั่งแก้ไขปรับปรุงฐานข้อมูลและระเบียบวิธีมาหลายวัน จนมั่นใจในกระบวนการ แต่กลับได้ผลลัพธ์ไม่เป็นดังหวัง

อาจารย์ฟังผมสักพักหนึ่ง จนถึงแก่นของเรื่อง แล้วหล่นคอมเม้นต์ประโยคแรกมาหนึ่งประโยค

ประโยคเดียวเท่านั้นครับ

แต่ชี้ทางสว่างให้ผมอย่างฉับพลัน เพราะเป็นการวิจารณ์สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่อย่างถึงแก่น อ่านขาดว่าเราหลงทางอยู่ตรงไหน และควรจะเดินกลับทางไหน เพื่อไปสู่จุดหมายที่ผมเองต้องการ แต่เดินออกจากมันไปโดยไม่รู้ตัว

ประโยคนี้แหละที่ผมต้องการ

คำวิจารณ์ที่ดีคือคำวิจารณ์ที่วิพากษ์กระบวนความคิดของเราได้อย่างถึงกึ๋น โดยใช้กระบวนความคิดของผู้ถูกวิจารณ์เองเป็นเครื่องมือ เหมือนเพลงยุทธ 'คืนหอกปักอก' ของมู่หยงฟุน่ะครับ การวิจารณ์โดยใช้กระบวนความคิดของเราเองข้ามไปวิจารณ์กระบวนความคิดของคนอื่นเป็นเรื่องไม่ยาก แต่สำหรับผม ไม่คมเข้มและมีประโยชน์ต่อผู้ถูกวิจารณ์เท่าวิธีแรก

วันนี้ผมเลยรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอาจารย์เอามากๆ ที่ทำให้ผมได้เดินทางต่อ หลังจากเมื่อวานรู้สึกว่าถึงทางตัน โชคดีว่าทางที่ผมหลงไปอยู่ไม่ไกลจากทางที่ผมอยากไปเท่าไหร่นัก

วันนี้เลยรู้สึกโล่งใจขึ้นมาก และยิ้มออก

ตอนเย็น ที่คณะมีงานสัมมนาวิชาการ หลังจากฟังเสร็จ อาจารย์พาไปเลี้ยงข้าวที่ร้านอาหารจีนต่อ

ลาภลอยแท้ๆ

อาจารย์ให้ช่วยสั่งอาหาร ผมเลยสั่งเป็ดมากินซะเลย อยากกินมานานแล้ว แต่ไร้ทุนทรัพย์

ผมก็สัตว์เศรษฐกิจนะครับ แถมเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตะกละเอาเรื่องอีกต่างหาก ฮิ ฮิ :)

อิ่มแปล้ กลับมาที่หอ วันนี้พักทำงานหนึ่งวัน เปิดเวปช่องเก้า ลองเปิดคลิปรายการสุดเกลียด 'สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน' ดู อยากรู้ครับว่า ทั้งคู่คิดอย่างไรกับคณะกรรมการสมานฉันท์ อยากรู้จริงๆ และอยากทดสอบตัวเองว่าเดี๋ยวนี้พัฒนาขีดความสามารถในการอดทนถึงระดับไหนแล้ว

ฟังแล้วบอกได้แต่ว่า นี่แหละครับ รายการที่ทำลายบรรยากาศสมานฉันท์ของสังคมอย่างแท้จริง ขนาดท่านนายกและท่านผู้นำฝ่ายค้านทำตัวเป็นตัวอย่างในรัฐสภาเมื่อวานนี้แล้วแท้ๆ จะว่าไป เมื่อวานนี้เป็นวันแรกที่ผมรู้สึกดีกับนายกทักษิณเอามากๆ ในรอบหลายปีเลยนะครับ มีวุฒิภาวะอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ผมพยายามฟังรายการด้วยขันติด้วยอยากรู้ว่า สมัคร-ดุสิต คิดอย่างไรกับแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ ที่เริ่มหันมาใฝ่หาสันติ คำนึงถึงความแตกต่าง และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

อยากรู้ว่า ท่านทั้งสองจะไปได้ไกลถึงขนาดไหน

เหลือเชื่อครับ ท่านทั้งสองไปได้ไกลกว่าที่ผมจินตนาการไว้มาก

ไกลเกินฝันครับ

และเกินจะรับได้

ผมพยายามเต็มที่แล้ว แต่รอบนี้ทนฟังได้ 8.13 นาทีครับ

เลยรู้ตัวว่า ยังต้องฝึกฝนการครองตนด้วยขันติต่อไปอีกมาก

เชิญนะครับทุกท่าน รายการนี้เป็นเครื่องมือฝึกความอดทนชั้นดี

ฝ่ายก้าวหน้าคนไหนที่สามารถทนฟังท่านทั้งสองจนจบรายการได้ด้วย 'จิตว่าง' ผมขอแสดงความนับถืออย่างสูงสุดไว้ตรงนี้เลยครับ

Friday, March 25, 2005

ท่านประธานที่เคารพ

ได้อ่านข่าวเหตุการณ์ความวุ่นวายในรัฐสภาระหว่างการอภิปรายนโยบายรัฐบาลเมื่อวานนี้แล้ว ก็รู้สึกเศร้าใจต่อบทบาทของท่านโภชิน ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานรัฐสภา

แม้หลายคนจะบอกว่าดูจากภูมิหลังแล้วไม่รู้สึกประหลาดใจแม้แต่น้อยก็ตาม

แต่ก็มองอีกมุมหนึ่งได้เหมือนกันว่า ก็ดีแล้ว ที่ท่านมาอยู่ในที่ที่สมควรจะอยู่ มารับใช้ท่านผู้นำอย่างเปิดเผย ดีกว่าหลอกตัวเองไปทำตัวเป็นตุลาการในองค์กรอิสระ

นักการเมืองอัจฉริยะอย่างท่านโภชิน จะเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งที่จะสร้างความลำบากใจให้พรรคไทยรักไทยในอนาคต

ครอบครองสภาเบ็ดเสร็จขนาดนี้ แต่รุกไล่อีกฝ่ายจนไม่เหลือที่ยืนอีกนี่อันตรายนะครับ กลไกที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ยามเกิดปัญหา มันจะพาลไม่ทำงานเอาเมื่อเราต้องการ อีกทั้งความไม่พอใจมันจะยิ่งอัดแน่น ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ระบายออกบ้าง ระเบิดออกที แรงทำลายล้างยิ่งน่ากลัว

นึกๆ ไป การเป็นประธานหรือผู้นำที่ดีเป็นเรื่องยากลำบากมากนะครับ

เป็นอะไรที่ผมไม่ถนัดเอาซะเลย เพราะโดยสันดานแล้ว เกิดมาเป็นฝ่ายค้าน มากกว่าฝ่ายบริหาร

เป็นโรคภูมิแพ้ผู้มีอำนาจมาตลอดชีวิต

การเป็นผู้นำนั้น เก่งอย่างเดียวไม่พอ ดีอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้อง 'เป็น' ด้วย

'เป็น' นี่นิยามอย่างไร ผมก็อธิบายลำบากเหมือนกัน คือลำพังใช้ 'ศาสตร์' อย่างเดียว มันไปไม่รอด ต้องมี 'ศิลป' ประกอบการทำหน้าที่ด้วย

พวกกอดตำรา กอดกฎระเบียบต่างๆ เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ คิดแบบติดกรอบ ไม่รู้จักยืดหยุ่น พลิกแพลง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่รู้จักซื้อใจชนะใจคน ตกม้าตายไปไม่รอดมาหลายรายแล้ว

'อำนาจ' มันใช้ปกครองคนได้อยู่ แต่มันใช้เข้าไปนั่งในหัวใจคนไม่ได้

ภายใต้คุณสมบัติอีกหลายอย่างที่ผู้นำพึงมี ผมคิดว่าการให้เกียรติคนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง

คนเก่งและคนดีจำนวนมาก ที่ล้มเหลวในการเป็นผู้บริหาร ก็เพราะขาดคุณสมบัติสำคัญนี้

เพราะมักคิดว่าตัวเองเก่งและดีอยู่คนเดียวในโลก ตัวเองเท่านั้นที่หวังดีต่อองค์กร ตัวเองเท่านั้นที่รู้ว่าองค์กรควรจะเดินไปทางไหน คนอื่นมันเลว มันชั่ว ไม่เก่งเท่า ไม่รู้จริง ใครขัดแย้งกับตัวก็มักหาว่ามีวาระซ่อนเร้นกันหมด

คิดอย่างนี้เลยไม่ชอบฟังเวลาถูกวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อไม่เปิดใจรับคำวิจารณ์ แม้จะเป็นคำวิจารณ์ที่บริสุทธิ์ ผู้นำเลยมักหมกอยู่แต่ในโลกของตัว ที่มีตนเป็นเจ้าโลกเจ้าจักรวาลผู้ยิ่งใหญ่

คนดีคนเก่งเลยกลายเป็นคนเพี้ยนเอาได้ง่ายๆ

สุดท้ายผู้นำที่เลวเลยต้องแบกโลกทั้งหมดไว้บนบ่าคนเดียว งานก็หนักเกินทน เพราะไม่เคยไว้ใจคนอื่นนอกจากตัวเอง ต้องให้เวลากับเรื่องที่ไม่เป็นสาระมากขึ้น แถมยังทำลายทุนสังคมในชุมชนที่ตนเป็นผู้นำอย่างช้าๆ

เป้าหมายหลักในการทำงานก็เปลี่ยนไป จากแทนที่จะทำงานเชิงรุกให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ กลับกลายเป็นต้องทำงานเพื่อพยายามปกป้องตัวเองท่าเดียว ต้องทำงานแบบตั้งรับ ระวังไม่ให้ตนเองทำผิดกฎผิดระเบียบให้คนอื่นกลับมาว่าเอาได้ ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง เพราะขาดซึ่งความไว้ใจ ที่ตนเองเป็นผู้แรกสร้าง

เมื่อเป็นอย่างนี้ ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรก็ไม่เกิด สถาบันก็ไม่พัฒนา เพราะความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ย่อมต้องการบรรยากาศแห่งการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของสมาชิกในชุมชน ระบบผู้นำเข้มแข็งเป็นระบบที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์อย่างร้ายกาจ ทำลายความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในองค์กรของสมาชิกระดับรากหญ้า ทั้งที่สมาชิกระดับรากหญ้าคือกลจักรตัวจริงที่ขับเคลื่อนสถาบันไปข้างหน้า

แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่นี่คือวิถีที่คนดีคนเก่งมักทำลายองค์กรของตนโดยไม่รู้ตัว

โดยเฉพาะสถาบันที่เรียกร้องความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูง ต้องใช้ภูมิปัญญามาก หากมีผู้นำประเภทนี้ ก็รังแต่จะพาไปสู่ความเสื่อม

แล้วผู้นำที่ดีควรจะมีความเป็นกลางหรือไม่ ?

ผมเป็นคนไม่ให้ความสำคัญกับ 'ความเป็นกลาง' เท่าไหร่ เพราะไม่เชื่อว่ามันมีจริง และไม่เชื่อว่ามันจำเป็นต้องมี

คนเป็นผู้นำเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่นะครับ

ตัวตนของประธานจะไม่เป็นกลางก็ไม่เป็นไร แต่ต้องเป็นมืออาชีพ ให้เกียรติสมาชิก และเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่างอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่พอตัวเองคิดเห็นอย่างหนึ่ง ก็ไปจำกัดสิทธิของอีกฝ่ายที่เห็นต่างจากตน มองอย่างดูถูก หรือเต็มไปด้วยอคติ

ไม่เป็นกลางได้ แต่ไม่ควรมีอคติ

ผู้นำที่ดีต้องมีขันติในการรับฟังสิ่งที่ตนเองไม่อยากได้ยิน

ผู้นำที่วางตัวเหมาะสม ต้องรู้จังหวะจะโคนในการแสดงตัวตนที่ไม่เป็นกลางของตนออกมา จะไปเถียงสมาชิกคำต่อคำในที่ประชุมดูจะไม่ใช่ที่ เพราะตัวเองมีฐานะเป็นผู้ควบคุมการประชุม โดยเฉพาะการประชุมที่ประกอบด้วยสมาชิกสองฝั่ง หากประธานทำตัวเอียงข้างอย่างชัดเจนขณะปฏิบัติหน้าที่ ถึงกับต่อปากต่อคำกับสมาชิกผู้ร่วมประชุม ภาพลักษณ์ย่อมดูน่าสมเพชอย่างแก้ตัวไม่ขึ้น

การวางตัวให้เหมาะสมเป็นเรื่องยากที่จะหาจุดลงตัว ถ้าไม่ใช่เป็นคนที่เกิดมาเป็นผู้นำโดยธรรมชาติแล้ว ยากที่จะซ่อนตัวเองไว้ใต้หน้ากาก เพราะเมื่อถูกท้าทายจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝัน ตัวตนที่แท้จริงก็จะเผยออก

อำนาจน่ากลัวก็ตรงนี้ ทำลายคนมามาก เพราะมันช่วยเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงอีกด้านให้สาธารณชนได้รับรู้

อีกคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้นำที่ดีต้องไม่เลือกใช้กฎเพื่อจุดมุ่งหมายซ้อนเร้นอะไรบางอย่าง และที่สำคัญกว่า ต้องไม่เลือกใช้กฎกับบางคน โดยเฉพาะคนที่ตนไม่ชอบหน้าหรือคิดเห็นต่างจากตน

อำนาจควรใช้ในทางสร้างสรรค์ มิใช่ทำลายล้าง

ถ้าจะอ้างหลักการ อ้างกฎระเบียบ ก็ต้องใช้ทุกกฎกับทุกคนในทุกเวลา

กฎมันถึงจะเป็นกฎ

พูดถึงกฎ กฎก็มีหลายประเภท มีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน ผู้นำที่ฉลาดต้องมองเนื้อแท้ของกฎให้ทะลุว่า กฎแบบใดเป็นสารัตถะสำหรับสถาบันนั้น กฎใดเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ กฎใดเป็น red tape กฎใดเป็นการสร้างภาระโดยไม่จำเป็นให้เกิดขึ้น

กฎเหล่านี้ควรหาทางยุบเลิกอย่างเป็นทางการ กฎกติกาเป็นสิ่งที่มีพลวัต และไม่ควรถูกมองเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาให้คงที่อยู่แล้ว

การตัดสินให้คุณค่าต่อกฎต่างๆ และการจัดลำดับความสำคัญของกฎกติกาต่างๆ ย่อมสะท้อนตัวตน วิสัยทัศน์ และความสามารถของผู้นำออกมา ผู้นำที่หมกมุ่นอยู่กับกฎที่ไร้สาระ ย่อมไม่สามารถนำพาความเจริญมาสู่สถาบันได้ เพราะต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรไปบังคับใช้กฎที่ไม่มีแก่นสาร แทนที่จะมุ่งปฏิรูป

บางครั้งการใช้กฎเล็กกฎน้อยที่ไม่เป็นสาระมาทำลายคนทำงาน เป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสีย Good Will เป็นสิ่งสำคัญภายในตัวองค์กร การนำพาองค์กรอย่างราบรื่นใช้แต่พระเดชไม่ได้ หากต้องซื้อใจลูกน้องด้วยพระคุณด้วย

ยิ่งใช้พระเดชบ่อยๆ ยิ่งเคยชินต่อการใช้อำนาจ และยิ่งง่ายต่อการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล

ผู้นำที่เก่งคือคนที่ได้รับความเคารพนับถือโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจ ลูกน้องยินดีทำงานให้เต็มหัวใจโดยไม่ต้องเอ่ยปากขอ สามารถทำให้คนที่ถูกปกครองรู้สึกเหมือนไม่ได้ถูกปกครอง

คล้ายกับที่คัมภีร์สงครามกล่าวไว้ว่า ชัยชนะที่แท้จริงจักเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้แพ้ไม่รู้สึกว่าตนคือผู้แพ้

ผู้นำที่ดีหาได้ที่ไหนครับ

ผมโหยหาเหลือเกิน

Thursday, March 24, 2005

หิมะ รถเมล์ และมือขวา

ตื่นเช้ามาวันนี้ (จริงๆ ต้องบอกว่าตื่นเที่ยงถึงจะถูก) รู้สึกเจ็บคอมาก เข้าห้องน้ำ เสลดเป็นเลือดจางๆ น้ำมูกก็เริ่มเป็นสีเขียว แสดงว่าป่วยอีกแล้ว

อากาศที่บ้านนอกกลับมาดีหนึ่งอาทิตย์เต็มๆ แต่เมื่อวานตอนกลางคืน จู่ๆ หิมะก็ตก ตอนดึก ผมหิว เลยเดินฝ่าหิมะออกไปกินพิซซ่าที่ร้านใกล้ๆ หอ เห็นว่าใกล้ๆ เลยไม่ได้ใส่หมวกและผ้าพันคอออกไป ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็น ประมาทนิดเดียวถึงกับออกอาการ

ตอนเย็น นั่งรถเมล์เอาเช็คไปเข้าธนาคารที่มีสาขาอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ห่างจากมหาวิทยาลัยสักสามสี่ป้าย เลยถือโอกาสช็อปปิ้งไปด้วยเลย

ผมเป็นคนขี้เกียจ นานๆ จะช็อปปิ้งสักที (เหมือนที่นานๆ จะซักผ้า ล้างจานที) เลยซื้อของตุนไว้เสียเยอะ แบกข้างละสามถุงได้ เสร็จก็เดินไปที่ป้ายรถเมล์ รอสักพัก ก็ขี้เกียจรอ

มองไปเห็นตึกสูงของมหาวิทยาลัยอยู่ลิบๆ เลยตัดสินใจลองเดินกลับดูดีกว่า

เป็นการตัดสินใจที่ผิดเอามากๆ ครับ

ผมแบกของสองมือด้วยความทรมาน บวกกับกระเป๋าข้างหลังอีกหนึ่งใบ ระยะทางที่ดูไม่ไกล เอาเข้าจริงมันไกลเหลือเกิน อากาศก็หนาวต่ำกว่าศูนย์องศา ถุงมือก็ไม่มี ของก็หนัก มือแข็งเย็นเฉียบ ปวดหลังด้วย

เพิ่งเคยเหงื่อออกทั้งที่อากาศหนาวต่ำกว่าจุดเยือกแข็งนี่แหละ

เหงื่อออกมากกว่าฝึกมวยจีนอยู่ในห้องอีก

เดินด้วยความทนทุกข์อยู่พักใหญ่ พอเดินมาถึงแยกสุดท้ายก่อนเลี้ยวขวาเข้าหอ ... มันก็มาครับ

จะอะไรอีกละครับ ก็รถเมล์สิครับ

วิ่งแซงผมต่อหน้าต่อหน้า เยาะเย้ยกันอย่างโหดร้าย

Golden Rule ของผู้โดยสารรถประจำทางทั่วโลกคือ ถ้ารอ มันจะไม่มา แต่เมื่อไหร่ที่เราไม่ต้องการ มันจะมาทันที

มาบ่อยด้วย

ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเดินด้วยความเซ็งต่อไป ปวดแขนเจ็บมือเหลือเกินแล้ว เหงื่อออกซิบๆ ได้แต่บอกตัวเองว่า อีกนิดเดียวๆ

มาถึงหน้าประตูหอ มือซ้ายวางของ เพื่อหยิบบัตรนักศึกษามารูดให้ประตูเปิด มือขวาทนถือของต่อ

รูดบัตรแล้ว ประตูไม่ยอมคลายล็อคครับ มันขึ้นว่า invalid card ลองรูดอีกสี่ครั้ง ก็ยังขึ้นเหมือนเดิม

ไอ้วันปกติ ก็ไม่เห็นจะเคยมีปัญหาอะไรเลย

ซวยอะไรอย่างนี้ อุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงที่ ดันเข้าหอไม่ได้อีก คนแถวนั้นก็ไม่มี เพราะอยู่ตรงทางเข้าด้านหลัง ลองวางของอีกมือลง ใช้มือขวาจับบัตรรูดบ้าง

คราวนี้เสือกได้ครับพ่อแม่พี่น้อง ทั้งที่ทำเหมือนเดิมทุกประการ

ให้มันได้อย่างนี้สิ !!! ตรรกะไหนวะเนี่ย ???

บางครั้งเรื่องราวบนโลกนี้ก็ไม่ต้องการเหตุผลอธิบาย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

หนึ่ง อย่าขี้เกียจ ให้ใส่หมวกและผ้าพันคอทุกครั้งก่อนออกข้างนอก

สอง อย่าขยัน ให้ทนรอรถเมล์ทุกครั้งหลังช็อปปิ้งเสร็จ

และ สาม ให้ใช้มือขวารูดบัตรเสมอ นี่มือนะไม่ใช่ตา จะได้ขวาร้ายซ้ายดี

เขียนอะไรวะเนี่ยวันนี้

กลับไปอ่านบรรทัดแรกครับ ... คนป่วยครับคนป่วย

Wednesday, March 23, 2005

สำนักหลังเขาของผม (1)

ความประทับใจที่สุดอย่างหนึ่งในการมาฝึกวิชาที่สำนักหลังเขาก็คือ บรรยากาศภายในสำนัก ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว

วันแรกของเมื่อสี่ปีก่อน ตอนผมก้าวขึ้นตึกสำนักเป็นครั้งแรก ก็เกิดความรู้สึกหลายอย่างผสมปนเปกันไป

รู้สึกทันทีเลยว่า ... สนุกแน่ๆ

จำได้ว่า ผมไปถึงก่อนเปิดเทอม บรรยากาศจึงค่อนข้างเงียบเหงา ผมเดินสำรวจแต่ละชั้น ก็แปลกใจปนขบขัน เพราะหน้าประตูห้องของอาจารย์แต่ละคน ติดการ์ตูนล้อการเมืองบ้าง ด่ารัฐบาลบ้าง เหน็บแนมระบบทุนนิยมบ้าง สนับสนุนกลุ่มรักร่วมเพศบ้าง บางคนก็เอารูปของตัวเองที่เอากิ้งก่ายักษ์พันรอบคอ เมื่อคราวไปเยือนแอฟริกามาติดโชว์ ดูแล้วเป็นที่ครื้นเครงบันเทิงใจยิ่งนัก

แม้จะรู้อยู่ว่าสำนักนี้เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง ที่เต็มไปด้วยฝ่ายซ้าย หนึ่งในไม่กี่แห่งในสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนั้น ก็นึกไม่ถึงว่า บรรยากาศมันจะแตกต่างจากเมืองไทยมากขนาดนี้

ได้กลิ่นไม่ธรรมดามากกว่าที่เตรียมใจรับมือไว้ ว่าอย่างงั้น

เดินไปถึงห้องคอมพิวเตอร์ ก็เจอรุ่นพี่ชาวอิหร่าน คุยไปคุยมาก็รู้ว่า เธอกำลังจะจบในอีกไม่กี่เดือนนี้แล้ว

คุยต่อไป ใจก็หายวูบ เพราะเธอบอกว่า เรียนที่คณะมา 11 ปีแล้ว !!!

เพิ่งมาเหยียบก็ขนหัวลุกแล้ว คิดในใจว่าแล้วกูจะจบไหมเนี่ย

เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกทำวิทยานิพนธ์เรื่องหนึ่ง ใช้เวลาสามปี เหลืออีกบทหนึ่ง แต่เริ่มรู้สึกหมดความท้าทาย และดันไปสนใจหัวข้อใหม่ เลยตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อ ทำเรื่องใหม่ที่ตื่นเต้นกว่าดีกว่า

แนวมากเลยครับพี่

ตอนหลังถึงได้รู้ว่า ที่สำนักหลังเขา ไม่มีขอบเขตบังคับว่าจะต้องเรียนให้จบภายในกี่ปี อยู่ไปได้เรื่อยๆ เรียนได้เรื่อยๆ เพราะเชื่อในปรัชญาการศึกษาที่ว่า การเรียนรู้ไม่ควรมีขอบเขต ไม่ควรมีการบังคับหรือเร่งรัดกัน อาจารย์บางคนถึงกับประกาศว่าถ้าจะเขียนวิทยานิพนธ์กับเขา ให้เตรียมไว้เลยว่าจะจบประมาณเกือบสิบปี เพราะเขาไม่เชื่อว่าการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นแค่เพียงบันไดไต่สู่ปริญญาเอก แต่งานต้องมีคุณค่า ต้องศึกษาให้ถึงแก่น ซึ่งถ้าจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องใช้เวลา

สมาชิกจำนวนมากก็คิดว่า ที่คณะนี้มีอาจารย์ที่มีวิธีมองโลกแตกต่างกันหลากหลายสำนัก มีวิทยายุทธ์จากหลากหลายคัมภีร์ ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาในการลิ้มลองวิชาสำนักต่างๆ ให้รู้ว่าตัวเองสนใจวิธีคิดแบบไหน อยากเขียนงานด้วยวิธีมองโลกแบบไหน และต้องใช้เวลาสังเคราะห์องค์ความรู้ที่หลากหลายให้เข้ากับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า ต้องใช้เวลาอีกเหมือนกัน

ปกติแล้ว นักเรียนที่นี่เลยสอบข้อเสนอวิทยานิพนธ์กันประมาณปีที่ 5 ค่าเฉลี่ยของการจบอยู่ที่ 7-8 ปี ซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น

เมื่อสองปีก่อน ตอนเกิดวิกฤตการณ์งบประมาณภาครัฐ มหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาถูกตัดงบประมาณจำนวนมาก สำนักของผมก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน จนเริ่มมีการส่งเสียงลอยลมมาว่า ควรจะกำหนดขอบเขตเวลาเรียนดีหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่ปี เพราะถ้ามีคนเก่าอยู่มาก ทุนก็เหลือน้อยลง โอกาสรับคนใหม่ก็ลดลงด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ปีไหน มีสิทธิอยู่ใน pool เพื่อทำงานแลกเงินเรียนทุกคน

แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ตกไป ด้วยเสียงไม่เห็นด้วย ทั้งฝ่ายนักศึกษา และฝ่ายอาจารย์เอง

พูดถึงเรื่องการให้ทุน อย่างที่บอก ทุกคนที่คณะผมตอบรับให้เข้าเรียน จะมีทุนให้ทุกคน แต่ต้องทำงานเป็นผู้ช่วยสอน (TA) หรือผู้ช่วยวิจัย (RA) ซึ่งแต่ละปี คณะจะได้รับเงินก้อนจากมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นทุนสำหรับจัดสรรต่อจำนวนหนึ่ง โดยส่วนมาก ถ้าเป็นที่มหาวิทยาลัยอื่น อาจารย์จะเป็นคนเลือกว่าจะให้ใครเป็น TA สอนอะไร นั่นคือ คณะเป็นผู้ตัดสินใจจัดสรรเงินให้ โดยนักศึกษาไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียง

แต่ที่คณะผม มีองค์กรนักศึกษาปริญญาเอกที่เรียกว่า EGSO ซึ่งบริหารตามหลักประชาธิปไตย (และสังคมนิยม !) โดยนักศึกษาปริญญาเอกทั้งหมดเป็นสมาชิก มีการเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆกันทุกต้นปีการศึกษา (โดยมาก จะเป็นการเสนอชื่อตำแหน่งต่างๆ แล้วใช้สิทธิรับรอง ไม่ได้ลงแข่งกัน มีประธานร่วมกันสามคน หนึ่งในนั้นเป็นนักเรียนปีหนึ่ง)

ทุกต้นปี คณะจะนำเงินก้อนที่ได้จากมหาวิทยาลัยทั้งหมดให้กับ EGSO ไปบริหารจัดสรรเงินทุนกันเองในหมู่นักเรียน พอเปิดเทอม EGSO ก็จะจัด Allocation Meeting เพื่อแบ่งทุนกัน โดยจะเขียนวิชาที่อาจารย์ต้องการ TA ทุก sec ไว้บนกระดานดำในห้องประชุม ให้สมาชิกจับสลากเบอร์ 1 ถึง 100 ใครได้เบอร์ 1 ก็มีสิทธิเลือกวิชาที่ตัวเองอยากสอนก่อน ไล่จนถึง 100 แล้วพอเทอม 2 ในปีการศึกษาเดียวกัน คนที่ได้เบอร์ 100 ก็จะได้สิทธิเลือกก่อนบ้าง

ถ้าปีไหนเงินน้อย ฝนก็อาจจะตกไม่ทั่วฟ้า บางคนอาจจะได้ทุนน้อยกว่าคนอื่น คือได้สอนไม่ครบ 3 sec ยกเว้นก็แต่นักเรียนปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาใหม่จะได้การันตี 3 sec เต็มจำนวนในปีแรก นี่เลยโยงไปถึงข้อเสนอที่เล่าให้ฟังข้างต้น เพราะสมาชิก EGSO ทุกคน ไม่เกี่ยงชั้นปี สามารถเข้าไปอยู่ใน pool TA ได้ทั้งหมด ปีไหนคนขอเป็น TA เยอะ ทุนก็อาจจะไม่พอ

ระบบเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายๆนะครับ แต่เป็นผลพวงของการต่อสู้ระหว่าง EGSO และอาจารย์ อย่างยาวนานนับสิบปี จนท้ายที่สุดฝ่ายนักศึกษาได้รับชัยชนะเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ระบบ pool รวมแบบนี้ยังไม่ได้นำมาใช้กับการจัดสรร RA แต่ตลอดสี่ปีที่ผมอยู่ ก็มีการต่อสู้เรียกร้องเรื่องการจัดระเบียบการจัดสรรทุน RA ให้โปร่งใส่และเป็นธรรมมากขึ้นตลอดเวลา สู้กันหนักๆ เป็นพักๆ แต่ตอนนี้อำนาจการเลือก RA ยังอยู่กับอาจารย์อยู่

เบื้องหลังความคิดของฝ่ายนักศึกษาก็คือ อยากออกแบบระบบที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน เพราะถ้าปล่อยให้อาจารย์เลือก TA หรือ RA ได้เอง ก็จะแอบทำกันลับๆ ไม่เปิดเผย พวก "เด็กเส้น" ก็จะมีโอกาสได้รับการติดต่อก่อน ด้านฝ่ายอาจารย์ก็มีความคิดว่า เขาเป็นเจ้าของเงิน ต้องการเลือกคนมาทำงานให้ ก็อยากได้คนที่เข้ากันได้ และรู้ฝีมือดี

แม้เรื่องการจัดสรรทุน RA ยังต่อสู้กันอยู่ (โดยรอมชอมกันได้บางเรื่อง) แต่เมื่อสองปีที่แล้ว มีเรื่องสนุกเรื่องหนึ่งคือ กรณีจัดสรรงานเฉพาะกิจ ที่มีค่าตอบแทนไม่มาก เช่น ขับรถรับส่งวิทยากรที่มาอภิปราย จัดระบบข้อมูลคนสมัครเข้าเรียน คุมสอบ ฯลฯ ปกติ อาจารย์ก็จะประกาศรับสมัครมาทางอีเมล์กรุ๊ปของ EGSO ใครสนใจก็ตอบกลับไปสมัคร แล้วอาจารย์ก็จะอีเมล์กลับมาบอกกับกรุ๊ปว่าได้คนแล้ว

EGSO ก็เห็นว่า วิธีแบบนี้ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม เพราะไม่มีใครรู้ว่ามีใครสมัครไปที่อาจารย์บ้าง และอาจารย์ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินว่าใครควรได้งาน

การเรียกร้องก็เกิดขึ้น โดยมีข้อเสนอให้ EGSO เป็นคนจัดสรรงานเฉพาะกิจเอง โดยจะจัดสรรให้กับผู้สมัครงานที่มีทุนน้อยที่สุดก่อน ไล่เรียงไป อย่างเปิดเผยโปร่งใส พวกที่เพิ่งได้งานประเภทนี้ก็ต้องกลับไปต่อแถวหลังสุด

ตอนแรกอาจารย์ไม่ยอม เพราะจะเน้นเร็ว สะดวก และเห็นว่าเป็นเงินเล็กน้อย ฝ่าย EGSO ก็ยีนยันไม่เห็นด้วย เพราะประชาธิปไตยคือกระบวนการ

เผอิญช่วงที่เถียงๆ กันอยู่ มีงานขับรถรับส่งวิทยากรคนหนึ่ง อาจารย์ก็ส่งเมล์มาที่ EGSO เชิญชวนให้สมัคร

ฝ่ายนักเรียนได้ที เลยส่งเมล์ตอบกลับไปหาอาจารย์ครับ เขียนเหมือนกันทุกคนว่า "ผม/ฉัน ...(ชื่อ)...... ขอ 'ไม่' สมัครงานนี้ จนกว่างานนี้จะถูกจัดสรรผ่านทาง EGSO"

รู้สึกว่าอาจารย์ผมจะได้เมล์ประมาณหกสิบฉบับน่ะครับ

ท้ายที่สุด ก็ต้องยอมให้ EGSO มีอำนาจจัดสรรงานเฉพาะกิจไป

ไม่กี่วันหลังจากนั้น นักเรียนกับอาจารย์เจอกันในห้องเรียน ก็ไม่มีอาการโกรธเคืองกันเลยนะครับ ต่อสู้เรื่องความคิดกันไป เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็คุยกันฉันท์มิตรเหมือนเดิม มีแซวกันสนุกๆ บ้างเป็นน้ำจิ้ม แต่ไม่เคยมีการลำเลิกอาวุโสจากฝ่ายอาจารย์ แถมไม่นานหลังจากนั้น ยังร่วมกันต่อสู้เรื่องอื่นอย่างการที่รัฐตัดงบการศึกษา คราวนี้เขียนจดหมายไปประท้วงร่วมกันทั้งอาจารย์ทั้งนักเรียน นั่งรถไปประท้วงร่วมกันหน้าสภาในบอสตันมาแล้ว

ก็อย่างว่าแหละครับ วิชาแรกที่ท่านสอนพวกผมก็คือ Marxian Economics นี่ครับ

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างชนชั้น

กงล้อประวัติศาสตร์มันก็หมุนวนอยู่อย่างนั้น

Tuesday, March 22, 2005

สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน

รายการโทรทัศน์ที่ผมเกลียดที่สุดรายการหนึ่งคือ สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน ทางช่อง 9 ที่ชอบเรียกตัวเองว่า modern 9

ใครที่ติดตามการเมืองไทยคงจำบทบาทของสองฝ่ายขวามหาอมตะนิรันดร์กาลคู่นี้ได้ โดยเฉพาะบทบาทในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สำหรับผม คุณสมัครเป็นโมฆะบุรุษทางการเมืองมานานแสนนานแล้ว

เช่นเดียวกับที่ทั้งคู่คงหงุดหงิดหากได้ฟังผมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสังคม ผมเองก็รู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งเวลาฟังความคิดเห็นของคนทั้งสอง

หงุดหงิดและน่ารำคาญ

ไม่ใช่ธรรมดา แต่หงุดหงิดและน่ารำคาญเอามากๆ ด้วย

แม้ทั้งคู่จะมีแฟนประจำอยู่จำนวนมาก เพราะความคิดและลีลาของคุณสมัครและคุณดุสิตคงถูกจริตกับสังคมขวาๆ แบบไทยๆ แต่คนที่รู้สึกหงุดหงิดและรำคาญคนทั้งสองคงมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ช่วงหลัง ผมเริ่มได้ยินได้เห็นข้อเสนอจากองค์กรประชาชน นักวิชาการบางคน และหนังสือพิมพ์บางฉบับ เรียกร้องให้ทางช่องเก้าถอด "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ออกจากผังรายการ

แม้ผมเองจะรำคาญคนทั้งสองอย่างยิ่ง แต่ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวแม้แต่น้อย

เพราะตรรกะในการ "กัน" คุณสมัครและคุณดุสิตออกจากโทรทัศน์ โดยเนื้อแท้แล้ว เป็นตรรกะชุดเดียวกันกับ ที่รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือแม้แต่คุณสมัครและคุณดุสิตในอดีตเอง ชอบใช้ในการ "กัน" กลุ่มพลังก้าวหน้าและฝ่ายต้านรัฐบาลออกจากสื่อสารมวลชน เช่น เซ็นเซอร์ข่าวการประท้วงรัฐบาล บีบนักจัดรายการที่ชอบวิจารณ์ผู้มีอำนาจให้พ้นหน้าจอ ฯลฯ

เมื่อไม่มีนิยามของความดี ความเหมาะสม ความถูกต้อง และรสนิยม ที่เป็นสากลให้ตัดสินได้ว่าอะไรดีกว่าอะไร วิธีคิดแบบไหนเหนือกว่าแบบไหน ก็ไม่ควรมีใครสถาปนาเอานิยามความดี ความเหมาะสม ความถูกต้อง รสนิยม หรือการตัดสินคุณค่า "ของตัวเอง" มาวางไว้เหนือของคนอื่น

การปล่อยให้ "ใคร" ไม่ว่ารัฐ หรือประชาสังคม มีอำนาจในการ "เซ็นเซอร์" สื่อสารมวลชน โดยอ้างความถูกต้อง เหมาะสม หรืออ้างผลประโยชน์ของประชาชน เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะง่ายที่จะมีการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ก็ในเมื่อนิยามของสิ่งเหล่านั้นมันลางเลือนเหลือเกิน

อีกทั้ง การเซ็นเซอร์ยังเป็นการดูถูกภูมิปัญญาของคนรับสารด้วย

สังคมประชาธิปไตยต้องเปิดกว้างและหลากหลายให้มากที่สุด มีพื้นที่ให้คนทุกกลุ่ม ทุกประเภท ทุกรสนิยม มีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ให้มากที่สุด

ใช่ครับว่า ที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายในสังคมไทยถูกปิดพื้นที่มาตลอด ในขณะที่ฝ่ายขวามีช่องทางแสดงออกมากมายอย่างเทียบกันไม่ได้ กระนั้น หากคนกลุ่มหนึ่งมีพื้นที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น ทางออกก็ไม่ใช่การหาทางเอาคืนโดยทำลายพื้นที่ของกลุ่มที่มีมากกว่า แต่อยู่ที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องรวมกลุ่มเพื่อต่อรองเพิ่มพื้นที่ส่วนของตนให้มากขึ้น

การต่อสู้ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งสภาพความขัดแย้งในแต่ละช่วงเวลาก็สะท้อนสภาพ อารมณ์ และพัฒนาการของสังคม ณ ช่วงเวลานั้น

ความขัดแย้ง การเคลื่อนไหวต่อสู้ และระดับอำนาจต่อรองของแต่ละกลุ่มยังมิได้หยุดนิ่ง แต่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เสียก็แต่ว่า สังคมไทยชอบเห็นความขัดแย้งเป็นเรื่องผิดปกติ และชอบหาโอกาส "กัน" อีกฝ่ายหนึ่งออกจากเวทีอย่างมักง่ายเสมอ แทนที่จะต่อสู้กันอย่างสมน้ำสมเนื้อ ด้วยเหตุและผล

ใครอยู่ที่สหรัฐอเมริกา คงเคยดูช่อง Fox News สถานีข่าวฝ่ายขวา ซึ่งน่าหงุดหงิดและน่ารำคาญ ไม่แพ้คุณสมัครและคุณดุสิต แต่ผมว่าสังคมอเมริกันเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งที่เกลียดได้ดีทีเดียว ไม่ชอบก็อย่าดู หรือหากดู ก็ไม่ต้องเชื่อ แต่ไม่ใช่หาทางทำให้มันไม่มีให้ดู เพราะมันมีคนที่เขาอยากดู และเชื่อสิ่งที่ต่างจากเรา สู้ฝึกคนให้ฉลาดพอที่จะรับสื่ออย่างมีสติและรู้เท่าทันดีกว่า

ในสังคมที่หลากหลาย ไม่มีทางที่เราจะถูกใจไปเสียทั้งหมดทุกเรื่อง ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่ถูกใจ อย่างมีขันติและรู้เท่าทัน

สำหรับท่านที่เกลียดคุณสมัครและคุณดุสิตเหมือนผม ทางเลือกหนึ่ง ก็คืออย่าไปเปิดดู หากต้องการแสดงออกทางการเมือง ก็อาจประท้วงเลิกดูช่องเก้า หรือไม่ซื้อสินค้าที่โฆษณาในรายการ ทางเลือกที่สอง หากต้องการเรียนรู้วิธีคิด หรือต้องการรับรู้สภาพอารมณ์ของคนกลุ่มนี้ ก็ลองเปิดใจรับฟัง ถ้าไม่เห็นด้วยก็โต้เถียงกับเขา หรือชี้แจ้งข้อเท็จจริงที่คิดว่าถูกบิดเบือน

สังคมไทยบางส่วนเริ่มโตพอที่จะ "รู้ทัน" และ "ตั้งคำถาม" กับคนทั้งสอง แต่ยังไม่โตพอในการเรียนรู้ที่จะ "อยู่ร่วม" กับความเห็นต่าง อย่างมีวุฒิภาวะตามครรลองประชาธิปไตย

ขันติต่อความต่างเป็นพื้นฐานสำคัญ

ด้วยตรรกะเดียวกัน ผมอดคิดต่อไม่ได้ว่า เมื่อไรหนอที่เราจะโตพอที่จะมีรายการ "สุลักษณ์-ใจ คิดตามวัน" ออกโทรทัศน์กับเขาเสียที

อยากดูมั่กม้ากกกกกก

Monday, March 21, 2005

right to life

เสรีภาพมีขอบเขตหรือไม่ เจตจำนงเสรีมีจริงหรือไม่ มีเส้นเขตแดน หรือไปได้ไกลแสนไกล ไม่สิ้นสุด

หากเราป่วยเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หาย ต้องอยู่อย่างทรมาน ใช้ชีวิตแบบคนเต็มคนก็ไม่ได้ แล้วถ้าเราตัดสินใจอย่างมีสติ โดยเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองลง เราควรมีสิทธิที่จะเดินไปตามเจตจำนงเสรีของตัวเองหรือไม่

คนเราควรมีเสรีภาพในการเลือกที่จะตายหรือไม่

คำถามข้างต้นกำลังเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนี้ เมื่อศาลรัฐฟลอริดายอมให้ถอดท่อส่งน้ำและอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตของ Terri Schiavo หญิงอายุ 41 ปี ตามคำขอของสามี แน่นอนว่า นั่นหมายถึงอีกชีวิตที่กำลังจะปลิดปลิว

Schiavo ป่วยเป็นโรคทางสมองมา 15 ปี เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ อ็อกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ จนเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า persistent vegetative state ซึ่งหมายความว่า สมองได้ตายไปแล้ว ฝ่ายสามีบอกว่า เธอแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่แบบเทียมๆ ที่มีเพียงแค่ลมหายใจ หากสมองทำงานไม่ได้แล้ว ก็ไม่ต้องการท่อต่างๆ มาเสียบตัวให้วุ่นวายไป

ไม่ต้องการหลอกตัวเอง และลวงโลกว่ายังมีชีวิตอยู่ ว่าอย่างงั้น

ศาลฟลอริดาตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาให้ถอดท่อส่งน้ำและอาหาร แต่ปัจจุบัน Schiavo ยังไม่สิ้นลมหายใจ ด้านฝ่ายพ่อและแม่ของเธอพยายามดิ้นรนไม่ยอมให้ลูกสาวตายตามความต้องการของตัว โดยยื่นคำร้องต่อศาลให้ตัดสินให้ย้ายลูกสาวไปที่โรงพยาบาลเพื่อใส่ท่อกลับมาเลี้ยงชีวิตเหมือนเดิม

กรณี Schiavo ก้าวไปไกลว่าความขัดแย้งทางความคิดภายในครอบครัว เมื่อฝ่ายรัฐสภาอเมริกันยื่นมือเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ โดยมีการผลักดันเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมฉุกเฉินของทั้งสองสภาตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อออกกฎหมายคัดค้านการเลือกที่จะตายดังกล่าว และมอบอำนาจแก่ศาลรัฐบาลกลางเข้ามาตัดสินใจทบทวนคดีนี้แทนศาลมลรัฐ ตัวตั้งตัวตีในการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาชีวิตของ Schiavo ทั้งที่เจ้าตัวไม่ต้องการคือ ผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร Tom DeLay

การพิจารณาเรื่องดังกล่าวในรัฐสภาเป็นไปอย่างรีบเร่ง เนื่องจาก ทุกนาทีมีความหมายต่อชีวิตของ Schiavo ร่างกฎหมายผ่านสภาทั้งสองอย่างไม่ยากเย็น ด้วยเสียงสนับสนุนของเหล่าสมาชิกพรรค Republican และสมาชิกส่วนหนึ่งของ Democrat โดยมีสมาชิกพรรคเดโมแครตบางส่วนตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐที่เข้ามาคุกคามชีวิตส่วนตัวและคุณค่าประชาธิปไตย รวมถึงกระบวนทางกฎหมายที่ผิดปกติและมีความเป็นส่วนตัวสูง

ไม่กี่ชั่วโมงมานี้ ประธานาธิบดีบุชเพิ่งลงนามในร่างกฎหมายที่ผ่านสภา ซึ่งระบุให้โอนคดีนี้มาทบทวนใหม่โดยศาลรัฐบาลกลาง ฝ่ายสนับสนุนให้ความเห็นว่าเป็นการถางทางไปสู่ "สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่" ของ Schiavo ในฐานะมนุษย์ แม้เจ้าตัวเลือกใช้ "สิทธิที่จะตาย" ก็ตาม

ผลโพลชี้ว่า คนอเมริกันเห็นด้วยกับการถอดท่อของ Schiavo 56% ในจำนวนนี้ รวมถึง 54% ของผู้ตอบที่เป็นสมาชิกพรรค Republican และ 55% ของคนที่เข้าโบสถ์อย่างน้อยเดือนละครั้ง ด้าน Gallop poll ที่สำรวจเมื่อปี 2004 บอกว่า คนอเมริกัน 65% เห็นด้วยที่จะให้สิทธิแก่หมอในการช่วยให้คนไข้จากไปอย่างสงบ เมื่อเจอโรคร้ายที่รักษาไม่หายและต้องทนทุกข์ทรมาน ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวสูงขึ้นเมื่อเมื่อครั้งที่สำรวจเมื่อปี 1996 ที่มีคนเห็นด้วย 52%

จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันนี้ ลงข่าวหน้าหนึ่งว่าด้วยประเด็นโต้เถียงดังกล่าว และยกกรณีของนาย Andrew Turner Jr. ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย อายุ 73 ปี ที่เลือกที่จะตายอย่างสงบบนเตียงนอนของตน โดยถอดท่อช่วยส่งอาหารและน้ำออก นาย Turner ได้ประกาศให้สมาชิกในครอบครัวทราบถึงการตัดสินใจของเขาเมื่อวันแม่แห่งชาติปีที่แล้วว่า "นี่เป็นอาหารมื้อสุดท้ายของเขา" และยังกล่าวว่า ถ้าใครมีความเห็นอย่างไร เขาก็ยินดีฟัง แต่นี่คือคำตัดสินใจของเขาแล้ว หลังจากถอดท่อช่วย 5 สัปดาห์ เขาก็จากไปอย่างสงบสมความตั้งใจ

เชื่อแน่ว่า นอกจากกรณีของนาย Turner และนาง Schiavo แล้ว มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วไป ... และบ่อยครั้งขึ้น

นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ท้าทายมนุษยชาติ

เจตจำนงเสรีในการเลือกที่จะตายเป็นสิ่งผิดศีลธรรมหรือไม่ รัฐควรมีบทบาทในการแทรกแซงชีวิตและเจตจำนงเสรีของปัจเจกบุคคลระดับไหน ใครควรจะเป็นคนมีสิทธินิยามความเหมาะสมและขอบเขตของเสรีภาพ หรือไม่ควรมีใครทั้งนั้น

น่าสนใจว่านิยามของ "ศีลธรรม" และ "การตัดสินคุณค่า" ของ "สังคม" และของ "ปัจเจกบุคคล" เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายใต้กระแสสังคมที่เปลี่ยนไป และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่แยกออกจากกันมากขึ้น หรือสอดคล้องต้องกัน ?

เสรีภาพที่ไร้คุณค่าแห่งศีลธรรมหรือ? ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ?

"ชุมชนในจินตนาการ" อย่างรัฐ หรือแม้แต่ศีลธรรมและค่านิยมรวมหมู่ของสังคม ดูจะส่งผลต่อความเป็นความตายของชีวิตมากกว่าที่เราเคยคิดเสียแล้ว

ไม่แน่ใจว่าเราควรจะรู้สึกหวาดกลัว หรือนิยมยินดี

นิทานเรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง

Friday, March 18, 2005

ปิ่น ปรเมศวร์

กรรมของคนชอบอ่านหนังสือ ก็คือ อยากเป็นนักเขียน หรืออยากทำหนังสือ

ผมเองก็รู้สึกอยากอย่างว่ามาตั้งแต่เด็ก

สมัยเรียนมัธยมก็มักเป็นคนดูแลเรื่องบอร์ดในห้องเรียน เขียนโน่นเขียนนี่ สรุปบทความดีสกู๊ปเด็ดมาขึ้นบอร์ดให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน บางทีก็เขียนเรียงความวันแม่ วันพ่อ วันสุนทรภู่ ส่งไปเรื่อย

ขึ้นมัธยมปลาย ก็เริ่มหัดเขียนคอลัมน์ซุบซิบ

ตอนมัธยม 4 หลังพฤษภาทมิฬ ก็คึกเสียจนส่งบทความ เขียนด้วยลายมือ ไปลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี 14 ตุลา ชื่อประมาณว่า "มาช่วยกันจรรโลงประชาธิปไตยกันเถอะ" (เชยดีไหม) ยาวประมาณ 1 หน้า A4 กองบรรณาธิการก็ใจดี เอาไปลงในหน้าจดหมายถึงบรรณาธิการให้

ยังจำได้เลยว่า ฝากไกรเสริมให้ช่วยส่ง fax ไปที่กรุงเทพธุรกิจให้

บทความนั้นมีเนื้อหาทำนองกระตุ้นให้คนสนใจการเมือง แม้การเมืองจะน้ำเน่าก็อย่าเดินหนี เพราะถ้าคนไม่เข้าไปช่วยขุดลอกคูคลองเน่าๆ ให้ใสสะอาด คลองก็ยังคงเน่าเหม็นอยู่อย่างนั้น แม้เนื้อตัวจะมอมแมมไปบ้าง ก็ต้องเสียสละกัน เนื้อความประมาณนั้น

ผมเขียนบทความนั้นด้วยนามปากกาแรกในชีวิต ... "ดอกอโศก" (เชยอีกแล้ว)

คิดนานแล้วนะครับนั่น

คือเป็นคนที่ใฝ่ฝันอยากมีนามปากกาเท่ๆ กับเขามาตลอด เห็นนักเขียนเขามีนามปากกาเพราะๆ เท่ๆ กันทั้งนั้น แต่ตอนนั้นคิดได้เท่านั้นจริงๆ ครับ

มาจากสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนผมน่ะครับ โรงเรียนผมมีฉายาว่าแดนอโศก มีต้นอโศกปลูกเรียงรายข้างสนามฟุตบอล ก็เลยเอามาดัดแปลง จำไม่ได้แล้วว่า ไปไงมาไงถึงออกมาเป็น "ดอก" อโศก ได้

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตอนลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กองบรรณาธิการดันลงผิดไปเป็น "ดอกโศก" ซะอีก หมดความหมายเลยครับนามปากกาผม ไร้รากไปเลย นึกแล้วยิ่งตลกใหญ่ คนนามปากกา "ดอกโศก" กลับมาเขียนวิจารณ์สังคม แทนที่จะเขียนนิยายประโลมโลกย์ ในหนังสือศาลาคนเศร้า

จบมัธยม 4 สอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ผมก็พักการเรียน หนีไปเอเอฟเอสที่ฮังการีหนึ่งปี

กลับเมืองไทยมา ก็เกิดอาการอยากเขียนเล่าประสบการณ์ 1 ปี ที่ประเทศฮังการี ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยได้ประมาณ 3 ปี

ผมเขียนไดอารี่ทุกวัน ตั้งแต่ไปจนกลับเลยครับ รวบรวมซื้อหนังสือเกี่ยวกับฮังการีหิ้วกลับเมืองไทยเต็มไปหมด

ก็มานั่งคิดว่าจะใช้นามปากกาอะไรดี (บอกแล้วว่าใฝ่ฝันอยากมีนามปากกาเพราะๆ เท่ๆ จริงๆ)

เผอิญได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า เจอมาสเตอร์สอนภาษาไทยรุ่นเดอะเข้า เลยไหว้วานมาสเตอร์ช่วยคิดนามปากกาให้

ใครเป็นศิษย์เก่าแดนอโศก ไม่มีใครไม่รู้จัก "นนท์ ภราดา" (นามปากกาเช่นกัน) แน่นอนครับ มาสเตอร์เป็นเซียนภาษาประจำโรงเรียน เป็นบรรณาธิการตลอดกาลของวารสารแดนอโศก เป็นผู้ประพันธ์กลอนในนามโรงเรียนในทุกวาระเทศกาล ท่องวรรณคดีไทยได้เป็นเล่มๆ บทต่อบท

มาสเตอร์นนท์บอกว่าจะคิดให้ แต่ ... โทษนะครับ ... คิดให้เดี๋ยวนั้นไม่ได้นะครับ บอกผมว่าไว้อีกสองสามวัน เธอค่อยมาใหม่

โอ้ นามปากกาไม่ใช่ได้กันง่ายๆ นะครับ แต่ ... นามปากกาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา

ไม่กี่วันให้หลัง ผมกลับไปหามาสเตอร์นนท์ใหม่

ได้แล้วครับ

คราวนี้มาสเตอร์เขียนใส่กระดาษรอไว้เลยครับ พร้อมลายเซ็นต์นนท์ ภราดา อันสวยงาม

"จันทรกานต์ ปิ่นปรเมศวร์"

ครับ

"จันทรกานต์ ปิ่นปรเมศวร์"

" ... แปลว่า ดวงจันทร์อันเป็นที่รัก ที่ซึ่งเป็นที่ปักปิ่นปักผมของพระอิศวร ..." มาสเตอร์อธิบาย

ยอดไหมครับ มาสเตอร์นนท์ของผม

สิ้นการตบบ่า และคำอวยพรให้ผมแจ้งเกิดในบรรณพิภพได้สำเร็จ ผมก็ยกมือไหว้ขอบคุณ แล้วกล่าวลา

ไม่กล้าครับ ไม่กล้าใช้

มันอลังการเกินกว่าคนธรรมดากระจอกๆ อย่างผมจะใช้ได้ กลัวนามปากกามันแปดเปื้อนอ่ะครับ เป็นถึงที่ปักปิ่นปักผมของพระอิศวรเชียวนะครับ

ผมก็เลยยังไม่ได้แจ้งเกิดกับเขา โครงการเขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ในฮังการีก็ยังเป็นหมัน จนถึงวันนี้ ก็สิบปีแล้วครับ

ต่อมา เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ได้เจอเพื่อนสนิทคอเดียวกันจำนวนหนึ่ง ตอนปิดเทอมใหญ่กำลังจะขึ้นปีสอง ก็เลยรวมกลุ่มกันทำจุลสาร คิดเอง เขียนเอง ตอนนั้นอารมณ์อยากเขียนมันเก็บไว้ไม่อยู่แล้ว ต้องระเบิดออกมาให้ได้ หาทุนได้จำนวนหนึ่ง เราก็เริ่มต้นทำจุลสารชื่อ "เช้าใหม่" กัน

ไม่มีใครในกลุ่มที่มีความรู้เรื่องการทำหนังสือมาก่อน มีแต่ความอยากทำเท่านั้น

ลองผิดลองถูก แต่เป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าสำหรับผมจนถึงทุกวันนี้

นอกจากงานด้านบรรณาธิการแล้ว ผมเปิดคอลัมน์ชื่อ "ตะกร้าความคิด" เขียนความคิดวิพากษ์วิจารณ์สังคม ออกแนวโหดๆ ดุๆ แทงตรงแบบอาฮุย

แน่นอน ผมก็ยังอยากมีนามปากกากับเขาเหมือนเดิม คิดแล้วคิดอีก มานึกถึงชื่อที่มาสเตอร์นนท์อุตส่าห์คิดให้ผม เลยหาทางขุดนามปากกาเก่าที่ยังไม่เคยใช้มาลองดัดแปลงดู

ยังไงก็ไม่กล้าเอามาทั้งหมดครับ ผมเลยขอตัดเอานามสกุลมาใช้แล้วกัน

ขนาดนามสกุลก็ยังยาวอยู่เลยนะครับ

ผมเลยเอานามสกุลมาแบ่งวรรคตอนใหม่ ให้กลายเป็นชื่อ-นามสกุล แล้วใช้เขียนเรื่อยมาตั้งแต่บัดนั้น ตามวาระโอกาสต่างๆ แต่ไม่บ่อยนะครับ ซึ่งโดยมาก จะใช้เขียนบทความการเมืองแนวแทงตรง

นี่คือที่มาของ "ปิ่น ปรเมศวร์" ครับ

Thursday, March 17, 2005

นักเขียน

มีคนถามว่านึกยังไงถึงมาเขียน blog

ก็คนตกงานนี่ครับ ... OPEN เลิกไปแล้ว (ฮา)

จริงๆ ก็ไม่มีอะไรนอกไปจากหาอะไรสนุกๆ ทำเป็นเพื่อนกับการนั่งเขียนวิทยานิพนธ์ และอยากบันทึกความคิดส่วนตัวเก็บไว้อ่านเล่นในอนาคต

ยิ่งเห็นคุณ B.F.Pinkerton เขาเขียนแล้วสนุกคึกคักดี เลยอยากเลียนแบบเขาบ้าง ตอนแรกก็ไปลองๆ ใน bloggang ของ pantip แต่สติปัญญาไม่ถึง ยากเหลือเกิน เลยมาเขียนที่นี่แทน มันสำเร็จรูปเหมาะกับเด็กอนุบาลด้านคอมพิวเตอร์อย่างผมดี

พอเริ่มเข้าสู่โลกของ blog ได้เข้าไปอ่าน blog ของคนโน้นคนนี้ ผมพบช้างเผือกเต็มไปหมด

ไม่ใช่แค่ตะกร้า ... blog ก็สร้างนักเขียนครับ

ถ้าอนาคตมีโอกาสได้เป็นบอกอนิตยสาร ผมต้องชวนคุณ B.F. มาเขียนคอลัมน์แน่ๆ เขียนอะไรก็ได้ เพราะรอบรู้เหลือเกิน เขียนอะไรก็น่าอ่านไปหมด ครบทุกรสทุกอารมณ์ ได้ตั้งแต่เรื่องวิชาการ เศรษฐศาสตร์ การศึกษา การเมือง ต่างประเทศ ไปจนถึงศาสนา การวิ่ง ร้องเพลง ฯลฯ ใครไม่เชื่อ ลองไปอ่านกันดูตามลิงก์ข้างๆ

คุณ B.F. ส่งลิงก์ไดอารี่ของคุณแทนไท ประเสริฐกุล มาให้ลองอ่าน ผมเข้าไปนั่งอ่าน นั่งหัวเราะอยู่คนเดียว คนอะไรเขียนหนังสือเก่ง ทั้งยวน ทั้งยีสต์ เยี่ยมจริงๆ นี่ช้างเผือกเลยนะครับ เขียนเก่งทั้งพี่ทั้งน้อง(ทั้งพ่อทั้งแม่ด้วย) เข้าไปอ่านกันเองใน yeebud diary ครับ ถ้าเป็นหนังสือก็วางไม่ลง สดสุดๆ

คุยกับน้องรักคนหนึ่งทาง msn เจ้าตัวแอบส่ง blog ของตัวเองมาให้อ่าน เจอช้างเผือกอีกแล้วครับ

ลองดูฝีมือข้างล่างนี้

"...ผมไม่ชอบหน้าร้อน ไม่ชอบหน้าฝน และก็ไม่ชอบหน้าหนาว แต่ผมชอบฤดูกาล
ยินดีที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และ ความเป็นไปของเวลา
มันคอยบอกเสมอว่าโลกยังหมุน เวลายังคงทำหน้าที่ของมันอย่างสม่ำเสมอและมั่นคง"

ชอบเหมือนผมไหมครับ

เสียใจด้วยนะครับ เจ้าตัวขี้เขิน ไม่ยอมให้ทำลิงก์ เสียดายแทนคนอ่าน อดอ่านงานดีๆ

......


ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก สังเกตสังกา ครูพักลักจำ วิธีคิด วิธีเขียนของคนโน้นคนนี้อยู่เรื่อยๆ

"นักเขียน" ในดวงใจนี่มีหลายคนเลยครับ

ถ้าเป็นสายวิชาการ ก็ต้อง อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เขียนหนังสือดีกันทุกคน แต่คนละแนว คนละสไตล์ นี่ยังไม่ได้ชมความคมเข้มของเนื้อหานะครับ และไม่นานมานี้ ยอดฝีมืออีกคนเพิ่งคืนวงการหลังหายไปพักใหญ่ อาจารย์บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลาครับ

ส่วนรุ่นใหม่ ใครกินอาจารย์เพี้ยน นักเรียนนอก ของผมยาก อ่านทีไร ได้คิดทุกที ผมชอบบทความถั่วงอกของจานพิดมากๆๆ

สายนักหนังสือพิมพ์ ขวัญใจผมก็ต้องกาแฟดำ คนที่ต้องเขียนทุกวัน แล้วยังเขียนดีมีประเด็นทุกวัน นี่ไม่ง่ายนะครับ มิหนำซ้ำ ยังเขียนดีทุกวันมาหลายสิบปี ยิ่งไม่ง่ายใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงว่าคุณสุทธิชัย หยุ่น ต้องแบ่งเวลาไปบริหารองค์กรอีกด้วย

นอกจากนั้น ผมก็เป็นแฟนพี่ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ คม เข้ม กระชับ ข้อมูลแน่น ตรงไปตรงมา ลองตามอ่านข่าวที่พี่ประสงค์สืบสวนสิครับ มืออาชีพที่น่าคารวะที่สุด และผมก็ชอบลีลาของพี่ตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ ถ้ารุ่นใหญ่คนอื่น ผมก็ชอบคุณพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และคุณเสถียร จันทิมาธร ส่วนรุ่นใหม่ๆ ผมชอบคุณนงนุช สิงหะเดชะ มติชนทั้งนั้น

งานหนังสือพิมพ์ที่มีความเป็นวรรณกรรมต้องยกให้มติชนเขาครับ

คอลัมนิสต์กีฬา หาคนกินคุณพิษณุ นิลกลัด ยากมากนะครับ ผมเฉยๆ เวลาคุณพิษณุพากย์กีฬา แต่ถ้าสะบัดปากกานี่ สุดยอด ถ้าเป็นเรื่องฟุตบอล ก็ไม่มีใครกินคุณเอกราช เก่งทุกทางได้ ตอนคุณเอกราชมาเขียนคอลัมน์ใหม่ๆ สัปดาห์ละครั้งในมติชนรายวัน นี่สุดยอดมากเลยนะครับ แต่หลังๆ ดูเหมือนจะตกไป คงเขียนเยอะและงานเยอะเกิน

จริงๆ มีอีกคน ที่เขียนหนังสือสนุกและดีมากนะครับ อาจารย์วิมุตครับ ว่าที่อดีตอาจารย์คณะเศรษฐ มธ วิจารณ์บอลก็ดี วิจารณ์เศรษฐกิจก็ได้ เนื้อหาคม ลีลาเด็ด พริ้วมาก อารมณ์ขันเป็นเลิศ เสียดายไม่ค่อยขยันเขียน ถ้าเอาจริงจังกับการเขียนให้สม่ำเสมอนี่ ช้างเผือกของวงการแน่นอน

ด้านทางคอลัมนิสต์อาชีพ คุณวานิช จรุงกิจอนันต์ ยังสุดยอดอยู่นะครับ เขียนหนังสือเนียนเหลือเกิน ธีมแน่น ผมชอบจังหวะการเขียนของคุณวานิชมาก คุณนรา ผมก็ชอบครับ

แต่ถ้าเป็นรุ่นใหม่ ตอนนี้ที่ดีที่สุดในความเห็นผมคือ พี่คุ่น ปราบดา หยุ่น กับคุณมุกหอม วงษ์เทศครับ ผมชอบทั้งคู่มาก ผมชอบพี่คุ่นเขียนคอลัมน์มากเลยครับ สุดยอดมาพักใหญ่ๆ แล้ว ชื่นชมให้พี่โญฟังบ่อยๆ โดยเฉพาะ คอลัมน์หน้าศูนย์ใน OPEN แต่เจอตัวแล้วไม่กล้าชมต่อหน้า กลัวแกไม่เชื่อว่าผมชอบมากๆๆๆจริงๆ :) ส่วนคุณมุกหอม ผมทั้งทึ่งและชื่นชม ในวิธีคิดและกลวิธีการเขียนที่หลากหลาย อยากเรียกว่าเหมือนโรนัลดิญโญ่แห่งวงการคอลัมนิสต์ (ไม่รู้จะเปรียบยังไงดี เป็นโรดัลดิญโญ่ไปก่อนแล้วกันนะครับ) ผมอ่านบทความวิจารณ์ความคิดชาตินิยมคลั่งชาติใน OPEN แล้วหายป่วยเลย

นักเขียนอาชีพนี่ คนแรกต้องลุงรงค์ วงษ์สวรรค์ เลยครับ สำนวนภาษาที่เป็นเอกลักษณ์คงไม่ต้องอธิบายความอีกแล้ว ผสมกับความเป็นมืออาชีพที่ทุ่มเทชีวิตให้งานเขียนที่รักยิ่งน่าเคารพ ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ขึ้นสวนทูนอินเมื่อปีที่แล้ว ติดตามคณะ OPEN เขาไป ได้พบตัวจริงลุงรงค์ และเห็นห้องทำงานที่สร้างงานเขียนร่วมร้อยเล่มแล้ว สุดประทับใจ ในความเป็นลุงรงค์มาก เฉียบคมทั้งความคิดและอารมณ์ขัน เป็นมืออาชีพที่สง่างามอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น ผมชอบคุณชาติ กอบจิตติมาก โดยเฉพาะคำพิพากษาและพันธุ์หมาบ้า อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เป็นนักเขียนในดวงใจของผมมาช้านาน ยังมีคุณดำรงค์ อารีกุล อีกคน ใช่แล้ว ! ผมเป็นแฟนชมรมกอดลมไว้อย่าให้หงอย ของหมง หงจินเป่า แต่เล่มที่ผมชอบที่สุดคือ มีเท่าไหร่ให้หมดเลย ส่วนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีใครกินคุณวินทร์ เลียววาริณ ได้ สำหรับนักเขียนต่างชาติ ต้องโกวเล้งครับ ผมชอบชุดฤทธิ์มีดสั้นมาก โดยเฉพาะอาฮุย

ส่วนบรรณาธิการอาชีพนี่ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นมือหนึ่งเสมอ ผมเป็นอดีตสมาชิกช่อการะเกดคนหนึ่ง และเป็นแฟนคอลัมน์สิงห์สนามหลวงในเนชั่นสุดสัปดาห์ นอกจากนั้น ก็คุณเสถียร จันทิมาธร แห่งมติชนสุดสัปดาห์ พี่จอบ วันชัย แห่งสารคดี อาเรืองเดช จันทรคีรี รหัสคดี และ ... แหะๆ ... พี่โญ

เอาพอเพลินๆ เท่านี้ก่อนนะครับ คงมีนักเขียนโปรดที่ตกหล่นไปบ้าง ต้องขออภัย เพราะเขียนรวดเดียว

แล้วนี่ก็ถึงเวลาต้องไปเขียนวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งต่อแล้ว

Wednesday, March 16, 2005

แดดส่องฟ้า เป็นสัญญาวันใหม่

เป็นครั้งแรกตั้งแต่ผมกลับมาบ้านนอกเลยครับ ที่แดดส่องจ้า ฟ้าสีใส ติดต่อกันถึงสามวัน !!!

อากาศดี ไร้หิมะ ไร้เมฆครึ้ม ไร้ลมกรรโชก แม้จะยังหนาวเหน็บ แต่แดดจัดๆ ก็ช่วยให้ชีวิตอบอุ่นขึ้นเยอะทีเดียว

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเริ่มเปลี่ยนบรรยากาศ ออกจากห้องเล็กๆ ในหอ มานั่งทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา

เต็มเวลานี่หมายความว่า ตั้งแต่บ่ายๆจนถึงเที่ยงคืนของแต่ละวันเลยครับ

ไม่ได้ขยันทำงุดๆ ทั้งวันหรอกครับ ไม่ต้องเป็นห่วง ก็ทำบ้าง เล่นบ้าง คุยกับผู้คนบ้าง แต่มาอยู่ที่นี่มันมีบรรยากาศของการทำงานน่ะครับ และยังใกล้ downtown มากขึ้นอีก เดินไปซื้อของกินง่าย

ที่สำคัญ มันสบายกว่าอยู่ในหอครับ ก็ห้องทำงานผมใหญ่กว่าห้องพักในหอของผมอีก แถมในตึก ยังมีห้องครัวสมบูรณ์พร้อม มีน้ำท่าเลี้ยง อากาศก็ดีกว่า วิวก็สวยกว่า

ผมเลยขนรองเท้าแตะฟองน้ำ กางเกงขาสั้น มาเปลี่ยนซะเลย ทำชีวิตในห้องทำงานให้เหมือนอยู่บ้าน แล้วค่อยเดินกลับหอไปนอน วันแรกๆ เพื่อนฝูงและอาจารย์ก็ทำหน้างงๆ นิดหน่อย ที่อยู่ๆ มีคนใส่เสื้อยืดกางเกงบอลแมนยูรองเท้าแตะเดินไปเดินมาอยู่ในตึก

ยัง ... ผมยังไม่ได้เพี้ยนนะครับ แต่นี่เป็นสัญญาณว่า ผมกำลังจะเริ่มเดินเครื่องทำงานอย่างเต็มสูบแล้ว

เวลาทำงานหนัก ผมจะพยายามทำชีวิตให้สบายที่สุด จะได้ทุ่มเทกับงานได้เต็มที่ ถือคติว่าเหนื่อยแล้วต้องกินดีอยู่ดี

ใครรู้จักตัวจริงผม คงรู้ว่า หุ่นผมช่วงหลังๆ มันอ้วน พุงพลุ้ย นั่งใส่กางเกงยีนส์ทำงานแล้วมันอึดอัดๆ อ่ะครับ แถมต้องใส่รองเท้าผ้าใบที่ใช้เดินลุยหิมะอีก มันเลยไม่สบายเท้า ผมชอบถอดรองเท้าทำงาน หรือไม่ก็ไม่ผูกเชือกรองเท้า จะได้โล่งโปร่ง

กลับมาบ้านนอกได้สองอาทิตย์แล้ว ผมเพิ่งมาเริ่มต้นทำงานจริงๆ จังๆ สัปดาห์นี้เอง ตั้งท่าอยู่พักหนึ่ง เพิ่งจะสำเร็จ

รอแดดส่องฟ้าอยู่ครับ :)

สำหรับผม สิ่งที่ยากที่สุดไม่ได้อยู่ตอนทำงาน แต่อยู่ที่การเริ่มต้นต่างหาก ถ้ากัดฟันเริ่มต้นสำเร็จ มันจะมีโมเมนตัมของมันหนุนส่งต่อไปเอง

อีกอย่าง ผมหยุดทำงานนี้อย่างจริงจังไปนานพอสมควร พอจะกลับมาเลยต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อหาจังหวะของมันให้เจอ

เหมือนนักบอลที่เจ็บไปเป็นปีแล้วเพิ่งคืนสนามน่ะครับ ขาดสปีดต้น ขาดความฟิต สัญชาตญาณพร่องไป จับบอลก็ขาดๆเกินๆ ตามเกมก็ยังไม่ค่อยทัน

ที่สำคัญ ยิงประตูได้ไม่คมดังเดิม

ก็ได้แต่หวังว่าจะหาจังหวะของตัวเองเจอในเร็ววัน และไม่มี injury setback อีก

match อำลาสนามแล้วนี่ครับ .... อยากแขวนสตั๊ดเต็มแก่แล้ว

Tuesday, March 15, 2005

ฉัน...ร้ากกกกก...ธรรมศาสตร์

วันก่อน เพื่อนคนหนึ่งส่งลิงก์ข่าวจากเวปผู้จัดการมาให้อ่าน เป็นเรื่องของ เบอร์นาร์ด ยาโด แขกขายถั่วแห่งท่าพระจันทร์ ที่เพื่อนพ้องน้องพี่ ธรรมศาสตร์ คงรู้จักเป็นอย่างดี

37 ปี ของการขายถั่วอย่างซื่อสัตย์ เลี้ยงลูก 5 คน หลาน 12 คน ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลามาสองครั้ง เร็ววันนี้ เบอร์นาร์ดอาจจะต้องจากธรรมศาสตร์ไป พร้อมกับคนเดินขายของอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผล "เกะกะ"

ความเรียบร้อยสวยงาม (ในสายตาใคร?) ดูจะเป็นความฝันอันสูงสุดของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยราบคาบ ดูจะมีความสำคัญเหนือกว่า ความเคลื่อนไหว หลากหลาย มีชีวิตชีวา ที่แม้อาจดูไม่เรียบร้อย แต่มันมีตัวตน มีชีวิตจิตใจ มีเรื่องราว และเสน่ห์ของมัน

นับวันที่ทางของคนเล็กๆ ในสังคมที่หาเช้ากินค่ำ คนซึ่งห่างไกลจากความมีอภิสิทธิ์ ทั้งจากความด้อยสถานะทางสังคม หน้าที่การงาน การศึกษา เครือข่ายสายสัมพันธ์ทางสังคม ยิ่งถูกคุกคามและเบียดออกโดยระบบและความคิดฟอนเฟะแบบไทยๆ ซึ่งมองคนเล็กคนน้อยเป็นคนไม่เต็มคน และเป็นเหยื่อรายแรกๆ ที่ต้องถูกสังเวย แลกกับอะไรต่อมิอะไรที่ไม่เข้าท่า บ้าอำนาจ

วิธีคิดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากความคิดของอดีตพ่อเมืองสมัคร ที่ต้องการกวาดต้อนคนจนและหมาจรจัดในเมืองหลวงไปทิ้งต่างจังหวัด เมื่อคราวจัดประชุมเอเปค

วิธีคิดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากความคิดคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ที่หวังสร้าง "ความสวยงาม" ในเขตชั้นใน ขีดเส้น วางผัง แล้วจ้องขับไล่ผู้คนที่มีชีวิตเลือดเนื้อแลกกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้หน้าตาที่สวยงามไว้ขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ที่มี "ตัวตน" จริงๆ ในเขตพื้นที่เหล่านั้น

สุดท้าย เราจึงมักพบเห็นความสวยงามเรียบร้อย ที่ไร้ชีวิต ไร้จิตวิญญาณ ไร้ราก เต็มทั่วสังคมไทย ไม่ใช่แค่ตามสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังตามที่ทำงาน โรงเรียน ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ กระทั่งที่บ้าน

เมื่อไหร่ที่เราจะเห็น "คน" เป็น "คน" และมอง "คน" เท่ากับ "คน" โดยมองทะลุเปลือกที่ฉาบความเป็นคนภายนอกอย่างฉวยๆ ไม่ว่าฐานะ ตำแหน่ง เชื้อชาติ การศึกษา อาชีพการงาน ศาสนา ฯลฯ

คนทุกคนล้วนมีคุณค่าพอที่จะถูกเคารพอย่างเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกคุกคามความเป็นตัวตนของเขา ตราบที่ไม่สร้างความลำบากเดือดร้อนให้ใคร

การยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น ต้องไม่มาจากการกดคนอื่นให้ต่ำลง นั่นไม่ใช่วิถีของวิญญูชน

......


เมื่อวาน เพื่อนอีกคนหนึ่ง ส่งเนื้อความในกระทู้ว่าด้วยหอสมุดปรีดีฯ ในเวปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มาให้อ่าน

ผมก็เพิ่งรู้เองว่า ระเบียบการสมัครสมาชิกของหอสมุดปรีดีฯ ระบุว่า คนภายนอกที่จะเป็นสมาชิกห้องสมุดกลางได้นั้น ต้องมีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป และต้องจ่ายค่าสมาชิกปีละ 3,000 บาท

นี่คือมหาวิทยาลัยที่มีจุดกำเนิดเพื่อเป็นตลาดวิชาให้ประชาชนวงกว้างหรือครับ? .... ล้อเล่นน่าาาาา

การจำกัดสิทธิให้คนจบปริญญาตรีเท่านั้นถึงมีสิทธิเป็นสมาชิกห้องสมุดได้นี่มันทำลายปรัชญาธรรมศาสตร์ (ถ้ามี หรือถ้ายังมี)อย่างย่อยยับจนผมพูดไม่ออก มิต้องพูดถึงค่าสมาชิกรายปีที่นับว่าแพงสำหรับคนหาเช้ากินค่ำที่รักการเรียนรู้

แม้มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นป้อมปราการทางปัญญาของสังคมยังตัดสินคนง่ายๆ จากระดับการศึกษา และทำลายโอกาสในการเข้าถึงความรู้ของประชาชนด้วยมือตัวเอง ทั้งที่ตัวเองต้องมีหน้าที่ในการสร้างภูมิปัญญาให้สังคม มิหนำซ้ำ แท้ที่จริง คนกลุ่มที่สำนักหอสมุด "กันออก" คือกลุ่มที่ธรรมศาสตร์ยิ่งต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วยซ้ำ

สังคมแห่งความรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าคนจบต่ำกว่าปริญญาตรีเข้าห้องสมุดไม่ได้ ถ้าเราไม่เปิดโอกาสในการเข้าถึงความรู้สู่คนวงกว้างที่สุด ให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด โดยไม่คำนึงถึงฐานะ และระดับการศึกษาในระบบ

นับวัน มหาวิทยาลัยยิ่งกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าอภิสิทธิ์ชนมากขึ้นทุกที ในแต่ละปี มีเพียงคนโชคดีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศนี้เท่านั้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะที่ใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมากผลิต

เสรีภาพทุกตารางนิ้ว? ... ล้อเล่นอีกแล้ว มีพื้นที่ซะที่ไหนล่ะ?

......


เขียนถึงตรงนี้ ผมนึกถึงลุงไก่ขึ้นมาทันที

ตั้งแต่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ท่าพระจันทร์ในหลายบทบาทมาสิบปีเต็ม ลุงไก่เป็นคนที่ผมเคารพที่สุดคนหนึ่ง

ลุงไก่เป็นนักการ มีหน้าที่ดูแลตึก กินนอนอยู่ที่คณะ - ต่างไปจากข้าราชการหรือลูกจ้างทั่วๆไป - ผมเห็นลุงไก่ทำงานเต็มที่ รักในสิ่งที่ตัวเองทำ มีหัวคิดสร้างสรรค์ และเต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจที่ดีงาม รักการบริการให้คนอื่นมีความสุข

คนจำนวนมากมักดูถูกงานที่ตัวเองทำ ทำงานไปวันๆ เช้าชามเย็นชาม คิดแต่ว่าทำงานหนักหรือเบาก็ได้เงินเดือนเท่ากัน แล้วจะทำงานหนักไปทำไม? แต่นั่นไม่ใช่ลุงไก่

ผมนิยมชมชอบคนที่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่มั่ว และไม่ชุ่ย

คนแบบนี้หายากเหลือเกินในสังคมไทย ที่เต็มไปด้วยความชุ่ยและมั่ว ไม่นับความโง่และโกงนะครับ

คนเก่งคนดีเราพอมี แต่เราขาดมืออาชีพ

ผมว่าลุงไก่เป็นมืออาชีพคนหนึ่ง มากกว่าเจ้าหน้าที่ กระทั่งอาจารย์ในคณะนั้นหลายคน

การใช้ชีวิตด้วยวิถีธรรมะอย่างง่ายๆ ก็คือการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดให้ได้

ก่อนผมกลับมาบ้านนอก ผมได้รับข่าวร้ายคือ ลุงไก่ตัดสินใจลาออก เพราะทนกับความบ้าอำนาจ ดูถูกคน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ได้

"สถาบัน" ที่ไม่สามารถรักษามืออาชีพที่ทั้งเก่งและดีอย่างลุงไก่ไว้ได้ แสดงว่าต้องมีความป่วยไข้อะไรบางอย่าง หรือหลายอย่าง

ผมเสียใจ และรู้สึกผิดต่อตัวเองจนถึงทุกวันนี้ ที่ผมไม่มีส่วนต่อสู้เพื่อลุงไก่แม้แต่น้อย

ความเงียบไม่ได้หมายถึงแค่ข่าวดี แต่อาจหมายถึงคุณธรรมในใจที่เสื่อมถอยลง

น่าเสียดาย ที่ตอนนี้ เสียงแห่งความเงียบส่งเสียงดังที่สุด บริเวณนั้น

สันติประชาธรรมหายไปไหน? ในคณะที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของสันติประชาธรรม

......


นิทานทั้งสามเรื่องข้างต้น ล้วนสอนให้รู้ว่า

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน

..ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน.. !

...... ล้อเล่นน่าาาาาาา !!!!!

Monday, March 14, 2005

ประชาธิปไตยริมทาง

ชีวิตผมในช่วง spring break ยากลำบากกว่าปกติ เพราะโรงอาหาร ที่กินข้าวประจำของผม ปิดยาว ผมเลยต้องเดินเข้าเมืองไปหาอะไรกินบ่อยครั้งขึ้น จากหอเข้าไปใน downtown ก็ประมาณท่าพระอาทิตย์ไปท่าช้างน่าจะได้

เรียก downtown ให้โก้ไปอย่างนั้นแหละครับ เพราะบ้านนอกที่ผมอยู่ downtown กว้างขวางใหญ่โตเพียงหนึ่งแยกไฟเขียวไฟแดงเท่านั้นเอง

ระหว่างทางเดินเข้าเมืองไปหาของกิน ผมต้องเดินผ่านบ้านคนจำนวนมาก บ้านแถวนี้ขนาดกำลังกะทัดรัด เป็นบ้านชั้นเดียว ไม่มีรั้ว ไม่ได้หรูหราใหญ่โตเหมือนบ้านเศรษฐีใหม่แถบเอเชียตะวันออก หน้าบ้านมักมีสนามหญ้าเล็กๆ แน่นอนว่า ช่วงนี้มองไม่เห็นสีเขียว หากโพลนไปด้วยสีขาวของหิมะ

สองข้างทางที่ผมเดินผ่าน สังเกตดีๆ จะมีป้ายเล็กๆ ปักพ้นเหนือกองหิมะขาว หน้าบ้านแต่ละคน บางป้ายเขียนว่า 'Yes' for the future บางป้ายเขียนว่า No, not this new charter ผมเลยมีของเล่นสนุก เดินไปก็พลางนับคะแนนไปเล่นๆ ให้พอครึ้มอกครึ้มใจ

กลับมาที่ออฟฟิศ อ่านข่าวดู ถึงรู้ว่าช่วงสิ้นเดือนนี้ ที่บ้านนอกแห่งนี้จะมีการลงประชามติระดับเมือง(เล็กๆ) ว่าจะยอมรับ charter ใหม่ ที่จัดโครงสร้างอำนาจการบริหารเมืองเสียใหม่หรือเปล่า จะแทนที่ representative town meeting ด้วยคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งเก้าคนดีหรือไม่ จะแทนที่ select board ด้วย mayor ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเลยดีไหม

อิจฉาไหมครับที่คนที่บ้านนอกของผมมีสิทธิกำหนดชะตาชีวิตตัวเองโดยตรง แบบไม่ต้องให้ตัวแทนของเขาคอยคิดแทนโหวตแทนให้ สิทธิพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยไร้รากไร้ที่มาหรอกครับ คงมาจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่พลเมืองพึงมีพึงได้อย่างยาวนาน เมื่อสิทธิได้มาจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ คนก็ภูมิใจที่จะรักษา และกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม

คุณค่าจะยิ่งมากขึ้น ถ้ากิจกรรมที่เรามีส่วนร่วมมันส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราจริงๆ อย่างรัฐบาล(ท้องถิ่น)เมืองบ้านนอกเล็กๆ นี่ มีอำนาจดูแลเรื่องโรงเรียน ตำรวจ ดับเพลิง ถนนหนทาง โซนนิ่งการใช้พื้นที่ รวมถึงเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเขาโดยตรง

ย้อนกลับไปที่บ้านเรา

เราก็มีสิทธิที่ได้จากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาหลายครั้ง แต่ไม่รู้ทำไม คนไทยหลายคนถึงยอมคืนกลับไปให้ผู้มีอำนาจอย่างง่ายๆ บางครั้งอาจถูกปล้นกลับคืนไปโดยผู้มีอำนาจก็จริง แต่หลายครั้งเราก็ยื่นคืนให้เขาเองอย่างเซื่องๆ ยอมรับอะไรง่ายๆ อย่างสิ้นหวัง ไม่คิดต่อสู้

ส่วนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านระดับท้องถิ่นที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะอำนาจท้องถิ่นไม่ได้อยู่ในมือชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจในทางปฏิบัติที่เกี่ยวพันต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านธรรมดาอย่างสำคัญ เงินงบประมาณก็ไม่มี ต้องพึ่งพิงรัฐบาลกลาง อำนาจหน้าที่สำคัญก็ไม่มี อยู่กับราชการส่วนภูมิภาคเป็นส่วนมาก แล้วชาวบ้านจะอยากร่วมอย่างกระตือรือร้นทำไม ในเมื่อมันตอบไม่ได้ว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้นอย่างไร และการถ่ายโอนอำนาจ(บางส่วน) ก็เป็นแค่การเปลี่ยนมือจากราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค ไปยังนักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มทุนท้องถิ่นเท่านั้นเอง

ย้อนกลับมาที่บ้านเขาอีกที

น่าสนใจไหมครับ ที่บ้านอยู่ติดกัน แต่หลังหนึ่งประกาศตัว vote yes ส่วนอีกหลังบอกชัดๆว่าจะ vote no อย่างเปิดเผย

ผมมั่นใจว่า ทั้งสองหลังคงไม่ทำตัวผีไม่เผา เงาไม่เหยียบกันหรอก เพราะความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความแตกแยก ถึงขั้นไม่มองหน้า หรือเกลียดชังกันเป็นส่วนตัว น่าชื่นชมที่เขาสู้กันทางการเมืองอย่างยุติธรรมตรงไปตรงมา แยกแยะเรื่องความคิดและหลักการออกจากเรื่องส่วนตัวเป็น และถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ได้

ประชาธิปไตยจะทำงานได้ดี ขึ้นอยู่กับระดับของวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคม การเมืองเชิงวัฒนธรรมอาจสำคัญกว่าการเมืองที่อยู่บนฐานกฎหมายด้วยซ้ำไป การเมืองที่แท้คือการเมืองที่ลงไปถึงชีวิตของสามัญชนคนธรรมดา การเมืองไม่ใช่เรื่องในรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องของผู้มีอำนาจ แต่เป็นเรื่องของสามัญชนคนธรรมดา ของวิถีชีวิต ว่าจะจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรที่มีอย่างไร ต่อรองกันอย่างไร ใครควรได้อะไรเท่าไหร่ ใครควรมีอำนาจตัดสิน และคนที่มีสิทธิตัดสินมีที่มาสู่อำนาจนั้นอย่างไร เปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างไร

สังคมไทยจะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ และจะสร้างกลไกเปลี่ยนผ่านอย่างไร ให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรมหลักของสังคม แทนที่วัฒนธรรมอุปถัมภ์ วัฒนธรรมศักดินา

ประสบการณ์ที่ผมพบเจอในช่วง 3-4 เดือนหลังของชีวิตบอกว่า เราคงต้องทำงานหนักอีกมาก เพื่อให้ภาพฝันข้างต้นเกิดขึ้นจริง เพราะแม้แต่ชุมชนวิชาการ ที่พร่ำสอนสังคมให้เชื่อในหลักประชาธิปไตย เชื่อในเสรีนิยม เชื่อในธรรมาภิบาล เอาเข้าจริง ก็เป็นแค่การเทศนาสิ่งที่ตนไม่เชื่อเท่านั้น

ระบอบทักษิณอยู่รอบตัวเรานี่แหล่ะ มีอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่อาจารย์ขาประจำในมหาวิทยาลัย

Sunday, March 13, 2005

spring break

ตอนนี้มหาวิทยาลัยมีแต่ความเงียบสงัด ไม่มีการเรียนการสอน เด็กปริญญาตรีหายไปหมด ต้องย้ายออกจากหอ บางคนคงมุ่งหน้ากลับบ้าน แต่อีกจำนวนมากโขคงมุ่งลงใต้ หนีหิมะไประรื่นกับแสงแดดริมฝั่งทะล

น่าอิจฉาจริงๆ

แต่คนที่เพิ่งผ่าน year break อย่างผมคงไม่มีสิทธิไประรื่นอย่างเขา ต้องใช้เวลาในช่วง spring break หมกตัวจำศีล นั่งเขียนงานในห้องเล็กๆ บนชั้นสาม ของ prince dorm ที่ผมคุ้นเคย

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมย้ายตัวเองออกจากหอน้อยมาก ด้วยเหตุที่มีพายุหิมะมาเยี่ยมเยียนทักทายสองครั้งซ้อน ครั้งหนึ่งก็ร่วม 2 วัน

ตั้งแต่ย้ายถิ่นฐานกลับมาบ้านนอก ไม่ถึงครึ่งเดือน ผมโดนพิษหิมะทักทายอย่างต่อเนื่อง กลับมาถึงก็เจอพายุหิมะจนล้มป่วย เลือดออกจมูกทุกวัน ไม่ทันฟื้นตัวดี ก็เจอลูกต่อๆมา จริงๆแล้ว ผมว่า เทอม spring ที่บ้านนอกนี่มันไม่ใช่ spring แต่มันคือ winter ดีๆ นี่เอง กว่า spring จริงๆ จะมา ก็ล่วงเอาจนจะหมดเทอมเข้าไปแล้ว

อากาศแถบบ้านนอกที่ผมอยู่หนาวโหดร้ายเกือบทั้งปี ทำให้ชีวิตเมืองนอกผมดูจะไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเท่าไหร่ พูดให้ถูกก็คือ ผมไม่ชอบสิ่งแวดล้อมแถวนี้เอาซะเลย ถ้าไม่ติดที่สำนักที่ผมอยากมาฝึกวิชาตั้งอยู่ที่นี่ ผมคงพบเจอตัวเองอยู่แถบฝั่งตะวันตก มากกว่ามาหนาวสั่นอยู่ภาคอีสานแถวนี้

ใครที่ยังตัดสินไม่ได้ว่าจะไปเรียนที่ไหนดี หรือไม่ได้ต้องการเรียนที่สำนักไหนเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ ก็ดูปัจจัยอากาศเอาไว้บ้างก็ดีนะครับ ถ้าไม่ติดกับชื่อสำนักมากนัก ก็เลือกที่ที่ทำให้ชีวิตมีชีวิตชีวาดีกว่า อากาศดีๆ มีที่ไป ให้ได้เปิดหูเปิดตา

มาอยู่เมืองเล็กๆ มากไปก็ไม่ดี ชีวิตจะอับเฉาเสียเปล่าๆ ถ้ามีวินัยจริง ก็ไม่ต้องไปเชื่อวาทกรรมที่ว่า อยู่เมืองเล็กๆเงียบๆสงบๆสิดี จะได้ตั้งใจเรียนเต็มที่ ผมว่าเลือกเอาที่ๆ มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากๆ ดีกว่า ถ้าเราอยากเรียน ก็มีบรรยากาศที่ส่งเสริมให้ได้เรียนรู้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ต้องการพักผ่อนหรือเปิดหูเปิดตา ก็มีที่ให้เราเลือกที่จะไปได้ จำกัดชีวิตตัวเองหรือให้สิ่งแวดล้อมมาบังคับตัวเองไม่ดีหรอก ถ้าให้ผมแนะแนว ผมก็แนะให้ไปเรียนเมืองใหญ่ๆ อย่าง new york หรือ san francisco พวกนั้นจะดีกว่า มีอะไรให้ค้นหามากมาย ดีกว่าจะมาจับเจ่าอยู่แถบบ้านนอก ที่มีแต่ภูเขา

ใครรักสงบก็เชิญเถอะครับ แต่ผมชอบเมืองใหญ่ มีแสงสีมากกว่า

Saturday, March 12, 2005

OPEN พักร้อน

ได้ข่าวมาจากเมืองไทยว่า OPEN เล่ม 50 ออกแล้ว หลังปล่อยให้แฟนๆ รอกันเสียนาน

ฉบับนี้เป็นฉบับอำลา ถ้าเรียกอย่างมีความหวังก็คือฉบับพักร้อน พักร้อนเพื่อรักษาความเหนื่อยล้าในใจหลังจากพี่โญกัดฟันสู้มาหลายยก

ผมเองก็ติดตาม OPEN มาแทบจะตั้งแต่เริ่ม สมัยปีแรกๆ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่มุ่งเน้น SME ก็ซื้อบ้าง ยืนอ่านตามแผงบ้าง ต่อมา OPEN ก็เพิ่มมิติศิลปวัฒนธรรมลงไปมากขึ้น สนใจหนัง ดนตรี ศิลปะ ก็ได้ซื้อบ่อยขึ้น เข้าสู่ยุค GM พร้อมการเข้ามาของพี่คุ่นและพี่หนึ่ง จนถึงยุคสุดท้าย ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจการเมืองเป็นหลัก ซึ่งเป็นยุคที่ผมชอบที่สุด

พูดแบบลำเอียงก็ต้องบอกว่า OPEN เป็นนิตยสารที่ผมอ่านสนุกที่สุดในปัจจุบัน ผมว่า OPEN มีเสน่ห์ที่หาจากหนังสือเล่มไหนได้ยาก เสน่ห์ที่ว่าก็มาจากเสน่ห์ในตัวของพี่โญ บอกอและเจ้าของ เป็นเสน่ห์ที่ผสมผสานความสนใจด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม อย่างลงตัว หนักแน่นด้วยเนื้อหา โฉบเฉี่ยวด้วยลีลา ไม่กลวง แต่ก็ไม่เชย มันยากที่มิติทั้งสองจะหลอมรวมกันได้ลงตัว แต่พี่โญทำได้ ทำได้ดี และทำได้อย่างเป็นธรรมชาติด้วย

ถ้าเป็นคน OPEN ก็คือพี่โญนี่แหละ เป็นคนที่น่าคบ จริงใจ คุยสนุก เฉียบคม มีสีสัน เข้าใจโลก ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า แกเป็นศิลปินนักคิด หรือเป็นนักคิดที่มีความเป็นศิลปินดี

โมเดลธุรกิจของ OPEN ยุคหลัง เป็นโมเดลที่น่าสนใจ OPEN เลือกที่จะสู้กับโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของธุรกิจนิตยสารด้วยโมเดลทำนองเศรษฐกิจพอเพียง ไม่หวังพึ่งโฆษณา แต่ลดต้นทุน ขายเนื้อหา หวังอยู่ได้ด้วยยอดขาย ยืนอยู่บนขาตัวเอง แม้พี่โญมีศักยภาพที่จะหาเงินด้วยวิธีที่ง่ายกว่านี้ พี่โญกลับเลือกวิธีที่ตัวเองสบายใจ และสามารถเป็นเสรีชนได้

แม้ไม่อยากให้หนังสือเลิก เพราะผมเองก็ยังสนุกกับกิจกรรมใน OPEN อยู่มาก แต่ก็เข้าใจความเหนื่อยยากที่พี่โญต้องโยนเงินทิ้งแม่น้ำไปทุกเดือน มิหนำซ้ำ ปัญหาปวดหัวทางธุรกิจบั่นทอนศักยภาพในตัวไปมาก ความล้าบวกกับเริ่มหมดความท้าทาย ทำให้พี่โญรู้สึกพอ ซึ่งจริงๆ พี่โญก็บ่นๆ เป็นสัญญาณมาพักหนึ่งแล้ว ติดอยู่ที่เหล่าคอลัมนิสต์และคนใกล้ชิดพยายามทัดทานไม่อยากให้วันนี้มาถึง

แต่ไม่มีอะไรในโลกที่ฝืนวิถีแห่งธรรมชาติได้ เมื่อถึงเวลา มันก็ถึงเวลา

ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสใกล้ชิดกับ OPEN ตลอดหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา จากแฟนหนังสือคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสวงใน นอกจากรู้สึกตื่นเต้น ยังรู้สึกตกหลุมรักความเป็น OPEN เข้าอย่างจัง และได้เรียนรู้เรื่องราวในธุรกิจหนังสือด้วย เหนือสิ่งอื่นใด ผมได้เพื่อนใหม่ที่มีคุณค่ามากมายหลายคน

นึกย้อนกลับไป ผมรู้จักพี่โญมาสองปีได้แล้ว เจอกันครั้งแรก ตอนปี 46 ช่วงที่ผมกลับเมืองไทยตอนปิดเทอม เราเจอกันที่ร้าน Hemlock ท่าพระอาทิตย์ (คอลัมนิสต์จำนวนมากของโอเพ่นมีจุดกำเนิดมาจากร้าน Hemlock นี้แหละ) ร้านประจำของผม และของพี่โญ เมื่อเจอกันพี่โญก็ชวนผมไปเป็นคอลัมนิสต์ เพราะเคยผ่านตางานของผมมาบ้างตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ตอนนั้น ผมไม่สามารถทำได้แม้จะดีใจมาก เพราะเพิ่งไปเรียน ลำพังเขียนลงกรุงเทพธุรกิจก็หมดเวลาแล้ว จึงผัดผ่อนเรื่อยมา จนเมื่อ OPEN เกิดปัญหาช่วงต้นปี 47 พี่โญได้คุยกับผม และชักชวนให้มาช่วยๆ กันหน่อย เมื่อหนังสือเล่มผมเรียบร้อย ผมก็เข้าสมทบเป็นส่วนหนึ่งของทีมคอลัมนิสต์และเขียนเรื่อยมา

นับเป็นความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับ "ทีมงาน" ชั้นดีอย่างทีม OPEN เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม

การจากไปก็ OPEN เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ชะตากรรมของสื่อทางเลือกในประเทศไทยช่างโหดร้ายนัก การดำรงอยู่ของสื่อทางเลือก ที่ไม่พัดไปตามกระแสทุน ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เสียสละ มาก ไม่มีระบบที่ช่วยให้สื่อที่มีคุณค่าแต่ไม่ทำเงินอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งในโลกทุนนิยม ต้องใช้พลังส่วนตัวของตนตามมีตามเกิดไป นอกจาก OPEN เราจึงเห็นร้านหนังสือใต้ดินของพี่เป้ต้องปิดตัวลงเมื่อต้นปี เห็นร้านหนังสือเดินทางของคุณหนุ่มอยู่อย่างยากลำบาก เห็นหนังสือ SCALE ต้องปิดตัวลง

กล่าวให้ถึงที่สุด ไม่ใช่แค่สื่อทางเลือกที่อยู่ยาก แต่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ถูกพัดพาตามกระแสสังคม คนที่ยืดหยัดเพื่อยึดมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อ ก็อยู่อย่างยากลำบากในสังคมนี้

นอกจากให้กำลังใจกันเองแล้ว เราจะช่วยกันทำอะไรได้มากกว่านี้บ้าง? จะสร้างเครือข่ายของเหล่าชนกลุ่มน้อยที่ไม่เดินตามรอยกระแสหลักอย่างไร?

จะหาที่ยืนตรงไหนในสังคมที่ไร้วัฒนธรรมเรียนรู้ ...